Skip to main content
sharethis



 


 


วันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน 2006 17:37น.


กิ่งอ้อ เล่าฮง, ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย


 


 


ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้แทบไม่เว้นแต่ละวัน ไม่เพียงส่งผลให้ประชาชนทั่วไปต้องอยู่อย่างหวาดผวาต่อเหตุการณ์ที่ไม่อาจจะคาดเดาได้เท่านั้น หากทว่ายังทำให้ความรู้สึกของผู้คนภายนอกตระหนักได้ถึงอันตรายจนแทบไม่อยากย่างกรายเข้ามา


 


แต่เชื่อหรือไม่ว่าที่บ้านบอเกาะ ต.สากอ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส กลับมีนักธุรกิจหญิงคนหนึ่งเดินทางเข้าออกมาพบปะกับชาวบ้านและกลุ่มผู้หญิง พร้อมเสียงทักทายอย่างอารมณ์ดีแทบทุกครั้งแม้ว่าจะมีอุปสรรคทางการสื่อสารบ้างก็ตาม แต่นั่นก็ไม่เป็นปัญหา


 


อมรา พวงชมภู กรรมการผู้จัดการบริษัทสยามแฮนด์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเสื้อแบรนด์ดังยี่ห้อ "แตงโม" คือผู้หญิงคนนั้น


 


และบรรทัดต่อถัดจากนี้ คือ มูลเหตุที่ทำให้เธอได้มีโอกาสเข้ามาสัมผัสผู้คนและพื้นที่ที่ถูกจัดให้อยู่ในโซนอันตรายที่สุดแห่งหนึ่งในเขตจังหวัดนราธิวาส


 


"พี่รู้จักกับท่านพล.ต.พิเชษฐ์ (พล.ต.พิเชษฐ์ วิสัยจร รองแม่ทัพภาค 4) สมัยเรียนอยู่ที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.)แล้วก็มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องต่างๆและมีความเห็นตรงกันในหลายๆเรื่องโดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็คิดว่า เราคนทำเสื้อห่วง บ้านห่วงเมืองได้หรือไม่"กรรมการผู้จัดการบริษัทสยามแฮนด์ กล่าว


 


ภายหลังการหารือไม่นานนัก เธอและครอบครัวก็ได้เดินทางเข้ามายังพื้นที่บ้านบอเกาะ ต.สากอ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาสเป็นครั้งแรกในชีวิต แม้จะรับทราบข้อมูลเบื้องต้นจากรองแม่ทัพภาคที่ 4 แล้วว่าพื้นที่นี้อยู่ในเขตอันตรายสูงสุด


 


"กลัวนะคะ แต่ใจลึกๆก็คิดว่า คนที่ละหมาดวันละ 5 เวลา จะฆ่าคนหรือทำร้ายคนมันเป็นไปไม่ได้ แล้วพอมาถึงที่นี่คนก็น่ารักมาก เขามาบอกว่า เขาเป็นคนไทย เรารักในหลวงนะ ให้บอกใครๆด้วย ประโยคนี้เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้คิดว่า เราต้องทำให้ได้"เจ้าของแบรนด์เสื้อแตงโม กล่าว


 


อมรา กล่าวว่าทำให้ได้ในความหมายของเธอ คือ ความพยายามที่จะสื่อรู้สึกให้คนไทยทั้งประเทศมีความรักต่อคนสามจังหวัดภาคใต้ ด้วยการจัดโครงการแตงโมสมานฉันท์โดยนำแตงโมไร้สารพิษที่ทหารได้เข้ามาสอนชาวบ้านในพื้นที่อ.สุไหงปาดีปลูกแล้วนำไปขายที่โรงงานผลิตเสื้อ จ.นครปฐมให้กับประชาชนทั่วๆไป โดยแตงโมดังกล่าวถูกขายจนหมดเกลี้ยงภายในพริบตา


 


"ยอมรับว่าการเดินเข้ามาที่นี่ลำบาก ชาวบ้านเองก็ลำบาก การจะให้เขารับทราบเหตุการณ์ข่าวสารเป็นไปได้ยาก ป่าแล้วป่าเล่าที่ขับรถผ่านเข้ามาเป็นป่ายาง หากมีอันตรายเกิดขึ้นจะไม่มีใครรู้เลย แล้วก็ชาวบ้านในนี้เขาไม่รู้โลกข้างนอก ดังนั้นใครบอกอะไรเขา โอกาสที่เรารับข่าวสารข้างนอกหลายๆด้านไม่มี เขาก็ต้องเชื่อข้อมูลข่าวสารด้านที่มาถึงเขาเท่านั้น"อมรา กล่าว


 


และย้ำว่าการเข้ามาส่งเสริมให้ชาวบ้านที่นี่ทำงานฝีมือไม่ได้สร้างความผิดหวังให้เลย เนื่องจากผู้หญิงส่วนใหญ่จะมีฝีมือเรื่องการปักเย็บอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อไปฝึกทักษะเพิ่มเติมจึงเรียนรู้ได้เร็ว


 


" 6 เดือนแรก พี่อยากให้เขาเย็บเสื้อตรงนี้ให้เข้าที่ก่อน เพราะเสื้อสมานฉันท์ฉลองสิริราชครบ 60 ปีจะทำไปจนถึงวันที่ 5 ธันวาคม แล้วการที่ชาวบ้านได้เย็บงานอย่างเดียวกันเป็นระยะเวลา 6-7 เดือนขึ้นไปจะทำให้เขาเกิดความชำนาญและมีฝีมือดีขึ้น ถือเป็นโชคดีของชาวบ้าน เราก็นั่งคิดอยู่เหมือนกันว่า ถ้าเปลี่ยนการผลิตเสื้อเพื่อธุรกิจมันก็จะเปลี่ยนอยู่เรื่อย ชาวบ้านจะฝึกได้ยาก"เธอเล่า


 


สำหรับวิธีการผลิตเสื้อแตงโมสมานฉันท์นั้น อมรา เล่าว่า ทางโรงงานจะส่งชิ้นส่วนของเสื้อมาที่นี่ แล้วให้ชาวบ้านเย็บอย่างเดียว


 


"ไม่ได้สิ้นเปลืองอะไร ไม่เป็นไรค่ะ ยิ่งให้ยิ่งได้รับ ความรู้สึกที่เขาคิดว่าคนไทยทั้งประเทศห่วงใยเขา ไม่ทิ้งขว้างเขา มันมีค่ามหาศาลมากกว่ากำไรไม่กี่สตางค์"เธอตอบเมื่อถูกถามเรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น


 


สำหรับการช่วยเหลือในการจัดทำโครงการพัฒนาอาชีพสตรีบ้านบอเกาะนั้น กรรมการผู้จัดการบรัทสยามแฮนด์ เล่าให้ฟังว่า ไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากทางกองทัพภาคที่ 4 และกลุ่มเพื่อนนักธุรกิจที่เข้ามาช่วยสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้างอาคาร


 


"เพื่อนๆนักธุรกิจด้วยกัน เช่น บริษัทดูราเกรส ก็ให้กระเบื้องปูพื้น บริษัทกระเบื้องโอลิม ปิคให้หลังคา ส่วนแกรนโฮมมาร์ทก็อุปถัมป์การก่อสร้าง คือ ทุกคนเขาก็ยินดีกับโครงการนะคะ เพียงแต่ยังหาเวลาลงมาไม่ได้"


 


"พี่อยากให้ธุรกิจหรือเอกชนเข้ามามีส่วนในการดูแลชุมชนและคนสามจังหวัดมากๆ สิ่งดีๆจะได้เกิดขึ้น อยากให้เขารู้ว่าชาวบ้านที่นี่อบอุ่นมาก ไม่ได้น่ากลัว แค่ขอโอกาส ได้เข้ามาเห็นเขารับฟังเขาบ้างเท่านั้นเอง"กรรมการผู้จัดการบริษัทสยามแฮนด์ กล่าว


 


อย่างไรก็ตาม แม้ช่วงต้นจะมีเสียงท้วงติงจากผู้คนรอบข้างไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ภาคใต้เนื่องจากเกรงจะมีอันตรายเกิดขึ้นแต่อมรา บอกว่า หากไปยุ่งที่อื่นก็ไม่ได้ช่วยอะไรใครเลย แต่ถ้าตรงนี้เป็นเรื่องความสงบสุขของแผ่นดิน และเป็นเรื่องที่ยังไม่มีใครทำ เมื่อทำแล้วจะเป็นการช่วยดูแลพสกนิกรของพระองค์ท่าน ในฐานะที่เป็นข้าแผ่นดินก็อยากจะทำให้ได้


 


"พี่ไม่เคยคิดมาก่อนเลยนะคะวันหนึ่งจะมาอยู่ตรงนี้ ปกติตัวเองจะทำงานพัฒนาชาวเขาที่อยู่ที่ อ.ลี้ จ.ลำพูน ให้กับครูบาชัยวงศาพัฒนาที่พระพุทธบาทห้วยต้ม พี่เป็นลูกศิษย์ท่านมาตั้งแต่ตอนเรียนปี 1 ที่ธรรมศาสตร์ ตอนนั้นประมาณปี 2518 ที่โน่นมีชาวเขาอยู่เป็นหมื่นคนๆ พอพระอาจารย์ละสังขาร พี่เป็นลูกศิษย์เลยต้องสานงานต่อ ด้วยการหารายได้ให้เขาด้วยการจ้างงาน ก่อสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แล้วก็สร้างโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรมให้พระเณรบนภูเขาได้มีโอกาสเรียนหนังสือ"


 


อมรา บอกว่า การทำงานกับชาวเขาและชาวไทยมุสลิมไม่มีความแตกต่างกัน แม้ชาติพันธุ์จะต่างกัน แต่ก็มีหลายอย่างเหมือนกัน ชาวเขาที่โน่น ไม่ทานเนื้อสัตว์ มีฝีมือในการปักเย็บ ก็เหมือนกับคนที่นี่ มีศิลปวัฒนธรรมของตนเอง แล้วก็มีฝีมือการปักเย็บไม่แพ้กัน


 


"เสื้อแตงโมสมานฉันท์ล็อตแรกที่ส่งกลับไปขาย 1,000 กว่าตัว 3 แสนกว่าบาท พี่บอกชาวบ้านว่า ให้เอาไปบำรุงมัสยิด จะไม่เอากลับกรุงเทพ พี่มีความเชื่อในเรื่องศาสนาค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นศาสนาใดก็ตาม แล้วคนที่นี่วิถีชีวิตผูกพันกับมัสยิดเหมือนกับชาวเขาที่โน่นผูกพันกับวัดพระพุทธบาทห้วยต้ม"


 


การลงทุนทำสิ่งใดก็ตามของนักธุรกิจส่วนใหญ่มักจะมองในเรื่องผลประโยชน์และกำไรเป็นหลัก แต่สำหรับกรรมการผู้จัดการสยามแฮนด์กลับบอกว่า


 


"พี่มาตรงนี้ คงไม่ใช่เรื่องกำไร มันอยู่ไกลจังเลยที่จะคิดไปถึง มันเป็นเรื่องของสันติภาพ ความสุข ความสงบที่เกิดบนแผ่นดินไทย และเป็นเรื่องของความรักที่อยากจะให้ผู้คนสื่อถึงกันมากกว่า พี่จะกันรายได้จากการจำหน่ายเสื้อตัวนี้ นำขึ้นทูลเกล้าฯ อีกส่วนหนึ่งเอาไว้ทำงานพัฒนาด้านสังคม คือ ชีวิตพี่ทำงานให้กับแผ่นดิน เวลาทำอะไรให้กับในหลวงและศาสนาจะไม่คิด อุทิศทุกอย่างถวายให้หมด"


 


เธอบอกว่า ทุกงานที่ทำไม่ว่าจะเป็นเบื้องหน้าหรืออยู่เบื้องหลังไม่เคยหวังอะไรและสังคมยังไม่รู้อะไรมากมายที่แตงโมทำ


 


"เราไม่ได้เอาหน้า งานช่วยเหลือชาวเขายังยาว เราทำไปเรื่อยๆหลายโครงการที่พอรู้ว่าเป็นโครงการที่พระองค์ท่านมีพระราชดำริ ต้องการให้ชาวบ้านอยู่กับบ้านไม่ต้องเคลื่อนย้าย อยู่กับพ่อแม่ญาติพี่น้อง เพราะความยากจน เราก็รับโครงการร่วมกับซีพี...ไม่เคยบอกใครค่ะ ความสุขของเราไม่ได้อยู่ที่ปิดทองหลังพระ แต่อยู่ที่การได้ทำ"กรรมการผู้จัดการบริษัทสยามแฮนด์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net