รายงานชุด "Power & Health": (8) เสรีนิยมใหม่ กับ โรคภัยไข้เจ็บ

เสรีนิยมใหม่ กับ โรคภัยไข้เจ็บ

การประชุมเอดส์โลกที่แวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ปี 1996 คือ "One World, one Hope" ในการประชุมนั้น มีการมองโลกในแง่ดีมากจนเกินไปต่อขนาดของการระบาดของโรค จริงอยู่มีความสำเร็จก้าวใหม่ของยาต้านไวรัสเป็นครั้งแรก มีผู้ป่วยจำนวนมากที่พูดถึงการให้ยาแบบค็อกเทล (ยาสามตัว) ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า อารมณ์ความรู้สึกแห่งความยินดีจึงอบอวลไปทั่ว นิตยสารนิวส์วีคถึงกับระบุว่า "สิ่งที่คุณต้องทำคือ ให้แค่มีชีวิตอยู่เพื่อรอยาตัวใหม่ออกมา"

อย่างไรก็ตามในช่วงเวลานั้น ราคายังไม่ใช่ประเด็นที่ตัดความหวังในแวนคูเวอร์ ราคายาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 20,000 ดอลลาร์ หากต้องการรักษา ยามี ...แต่การนำยาไปถึงที่ต่างๆ บนโลกใบนี้... ไม่มี

คุณหมอพอล ฟาร์เมอร์ กลับจากการประชุมนั้นไปเฮติด้วยความงุนงง เขาต้องเผชิญกับคนไข้ในทันที คนไข้ที่ไม่มีปัญญาเข้าถึงยาต้านไวรัสสูตรค็อกเทล คู่ขนานมากับการโจมตีของวัณโรค วัณโรคถูกโดดเดี่ยวในช่วงศตวรรษที่ 19 แม้มีการค้นพบการรักษาในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 แต่ตอนนี้มันหายออกไปจากการให้ความสำคัญทางการเมือง และกำลังเป็นประวัติศาสตร์ในโลกตะวันตก เหมือนที่เอชไอวี/เอดส์กำลังถูกให้ความสนใจขณะนี้ในวงการวิทยาศาสตร์ แต่แปลกแยกจากคนไข้ที่กำลังรอคอยความหวัง เรียกได้ว่าทั้งวัณโรคและเอชไอวีมีประวัติศาสตร์ที่คล้ายคลึงกัน

สำหรับคนที่ล้มเหลวในการรักษา ผู้เขียนพอใจที่จะเรียกว่า การรักษาที่ล้มเหลว คนเหล่านี้อยู่ในย่านฮาเล็มของมหานครนิวยอร์ค ในสลัมของกรุงริโอ เดอ จาเนโร และผู้ใช้ยาเสพติด ความแตกต่างทางรายได้ถูกปกปิดด้วยปรัชญาการโทษคนไข้ และเรื่องความคุ้มทุน (แพงเกินที่จะไปรักษาคนพวกนี้) คนไข้ที่ยากจนเหล่านี้กำลังทำให้การดื้อยาคงอยู่และทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้าย

นิตยสารวอลล์สตรีทเจอร์นัล พาดหัวว่า จัดการกับตัวเองซะที โดยระบุว่า อยากได้ยาก็ต้องทำตัวตามแพทย์สั่งดีๆกว่านี้ แสดงว่า แพทย์จะไม่ให้การรักษากับคนที่มีแนวโน้มจะล้มเหลวในการรักษา ซึ่งก็เหมือนกับอีกหลายๆประเทศ ข้อโต้แย้งนี้ใช้ไม่ได้กับเฮติ ที่ซึ่งการรักษาพยาบาลแทบจะไม่มี หรือในรัฐมิสซิสซิปปี้ที่บริการสาธารณสุขถูกตัดเงินงบประมาณด้านการรักษาพยาบาลในปี 1997 

ปัจจัยที่น่าวิตกเช่นที่เกิดขึ้นในนิวยอร์ค การระบาดของเชื้อดื้อยาวัณโรคกระจายไปมากแล้วจึงมีการทุ่มเงินหลายพันล้านเหรียญสหรัฐลงมา แล้วเราจะทำยังไงในขณะที่องค์การสาธารณสุขระหว่างประเทศไม่สนใจสถานการณ์ฉุกเฉินนี้ และสื่อมวลชนก็ยิ่งละเลยต่อความรุนแรงเชิงโครงสร้างนี้

เราจะตามไปดูความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ผลักดันเหยื่อให้ตกอยู่ความทุกข์ทรมานยิ่งกว่า เป็นเรื่องราวของ เซอร์เจีย ในไซบีเรีย เด็กหนุ่มที่ถูกส่งไปอยู่ในสถานกักกันฐานกระทำความผิดที่สถานกักกันที่ 33-Kemerovo เขาพบว่า เขาติดวัณโรคเชื้อดื้อยาที่ไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาสูตรพื้นฐาน แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ยังคงให้ยาสูตรเดิมทั้งๆ ที่มันไม่มีประสิทธิภาพในการรักษา

ปัญหาของรัสเซียไม่ใช่การขาดผู้เชี่ยวชาญ หรือความไม่มุ่งมั่นของเจ้าหน้าที่ (แม้จะได้รับเงินเดือนต่ำมาก แต่พวกเขาก็ยังทำงานกันอย่างเต็มที่) หรือการไม่มีสถานพยาบาล (ถึงแม้จะธรรมดาๆ แต่ก็ทำงานได้) และไม่ใช่เรื่องของการปิดลับ เพราะการระบาดของวัณโรคเป็นที่รับรู้ของกรมราชฑัณฑ์รัสเซีย (GUIM) เพราะคุกที่รัสเซียยอมรับความช่วยเหลือจากคนต่างชาติซึ่งต่างจากคุกในสหรัฐฯ

งบประมาณของกรมราชฑัณฑ์รัสเซียถูกลดลงนับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต ค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์ เหลือประมาณ 1 ใน 5 อาหารขาดแคลน ทำให้องค์กรอย่าง องค์การหมอไร้พรมแดน-เบลเยี่ยม ต้องเข้าไปช่วยให้ความช่วยเหลือด้านอาหารซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการรักษาวัณโรค กระทรวงที่รับผิดชอบไม่มียาใหม่ ไม่ต้องเสียเวลาพูดถึงยาสูตรสำหรับเชื้อดื้อยาซึ่งไกลเกินฝัน

ในมุมมองของนักสิทธิมนุษยชน อาจมีคนพูดว่า การล่มสลายของสหภาพโซเวียตเป็นตัวลั่นไกปัญหาสังคมในรัสเซียอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน คนไม่มีงานทำ รัฐไม่บริการสาธารณูปโภคอีกต่อไป บางคนก็ถือว่าเป็นเรื่องของกฎหมาย การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามนโยบายปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจขององค์กรโลกบาลอย่างธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟไม่ชัดเจน แต่ในความเป็นจริง คือ มีคนที่มีความสุขเพียงกลุ่มเล็กๆ โดยเฉพาะพวกกุมอำนาจรัฐที่ได้ประโยชน์จากการขายทรัพย์สินของรัฐ (พวกได้ประโยชน์จากการแปรรูป) คนจนที่ทุจริตในธนาคารเล็กน้อยกลับถูกจับกุม นักการเมืองที่ได้ประโยชน์พากันโอนทรัพย์สินออกไปนอกประเทศ โดยไม่สนใจว่ายังมีหน่วยงานอีกมากมายที่ไม่ได้รับเงินงบประมาณ สถานกักกัน Kemerovo ก็เหมือนกับเรือนจำอีกหลายร้อยแห่งทั่วรัสเซียที่ไม่ใช่เรื่องสำคัญอีกต่อไป แล้วก็ไม่มีนักการเมืองคนใดสนใจด้วย

จากประสบการณ์อันเลวร้ายของรัสเซีย นโยบายตามแนวเสรีนิยมใหม่ต้องได้รับการทบทวน ยุทธศาสตร์ที่คำนึงถึงแต่ความคุ้มทุนของธนาคารโลกทำให้การรักษา MDRTB ไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่ควรจ่ายอันดับแรก เพราะมันแพงเกินไป แต่เห็นว่า โครงการ Direct Observance treatment/short course (DOTS) ขององค์การอนามัยโลกที่บังคับให้ผู้ป่วยมากินยาต่อหน้า หลายเวลา วันหนึ่งต้องมาหลายครั้ง ควรทำมากกว่า

สุดท้าย ไม่ว่ามันจะไม่เหมาะกับสภาพความเป็นจริงแค่ไหน ผู้ต้องขังก็ยังคงถูกกักขังรวมติดเชื้อแล้วติดเชื้ออีก แล้วก็ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี ถูกยา จนเชื้อดื้อยา จนรักษาไม่ได้ในที่สุด ความจริงก็คือ การกินยาต่อเนื่องของผู้ป่วยดีมากๆ แต่อัตราการรักษาได้ต่ำมากๆ ผู้ต้องขังที่มีเชื้อดื้อยาเมื่อได้รับการปล่อยตัวจึงเป็นอันตรายต่อวงการสาธารณสุขโดยรวมอย่างยิ่ง ส่วนใครที่ยังต้องโทษก็ไม่มีความหวังอะไรนอกจากรอวันตาย คุณหมอฟาร์เมอร์เรียกนโยบายที่ล้มเหลวนี้ว่า วัณโรคเพื่อการลงโทษ

คนอย่าง เซอร์เจีย การต้องโทษจำคุกจึงเหมือนโทษประหารมากกว่า การเมืองแบบเสรีนิยมใหม่ที่โหดร้ายสรรหา "คำพิพากษาแบบใหม่" ให้กับเซอร์เจีย ในรูปของวัณโรค

เรื่องราวของ เซอร์เจีย ก็คล้ายๆกับนักโทษอีกร่วมล้านคน ที่อัตราการติดวัณโรคประมาณ 1 ใน 10 คือประมาณ 110,000 คน และตัวเลขการตายในคุกจากวัณโรคมากถึงร้อยละ 80 และ 1 ใน 4 เป็นวัณโรคเชื้อดื้อยา

ข้อมูลที่จะนำเสนอต่อไปนี้ จะวิเคราะห์ลึกลงไปถึงความเกี่ยวโยงกันระหว่างเรือนจำและวัณโรค "ขนาดของความจำเป็นเร่งด่วนหรือไม่" ที่ถูกสร้างขึ้นจากแนวคิดเรื่องตลาด ทำให้คนจำนวนมากถูกผลักไสออกไปและไม่ได้รับการรักษา นี่เป็นความจริงสำหรับผู้ต้องขัง

ในสหรัฐอเมริกา การศึกษาชิ้นหนึ่งชี้ว่า ร้อยละ 80 ของผู้ป่วยวัณโรคสามารถสาวประวัติไปได้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับเรือนจำ และ ร้อยละ 80 ของผู้ป่วยในเรือนจำช่วงการระบาดในทศวรรษ 1990 เป็นเชื้อดื้อยา

ประเด็นหลักคือ ในเรือนจำอยู่กันอย่างแออัดยัดเยียด ช่วงรัฐบาลเรแกนและรัฐบาลบุชผู้พ่อ ได้มีการประกาศ "สงครามต่อต้านยาเสพติด" แต่ไม่มีการจับผู้ค้าหลายใหญ่ รวมทั้งสถาบันการเงินที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้คนที่ถูกจับเข้าคุกก็เป็นพวกรายเล็กรายน้อย แล้วก็ติดยาเองเสียส่วนใหญ่ ทำให้ประชากรในคุกแออัดเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 60 กว่าช่วงก่อนหน้านี้

แน่นอนว่าปัญหาเอชไอวี/เอดส์ ส่วนหนึ่งเป็นปัจจัยของวัณโรค อย่างไรก็ตาม สาเหตุสำคัญมาจากการตัดงบประมาณด้านวัณโรค ความขาดแคลนในสถานพยาบาลของเรือนจำบวกเข้ากับความแออัดที่ลมถ่ายเทแทบไม่ได้ และมีพฤติกรรมรักเพศเดียวกันจำนวนมากทำให้วัณโรคระบาดอย่างรวดเร็ว ถ้าแยกกลุ่มชาติพันธุ์ เราจะพบว่า ผู้ชายแอฟริกันอเมริกันร้อยละ 7 อยู่ในคุก มากกว่าที่สัดส่วนที่พวกเขาอยู่ในมหาวิทยาลัยเสียอีก

ยุทธศาสตร์ที่ใช้จัดการกับปัญหาก็คือ DOTS ทำให้ปัญหาก็เหมือนกับที่อื่นในโลก ช่วงระหว่างปี 1985-1990 วัณโรคเพิ่มขึ้น 15 เท่า จนทำให้สาธารณะเพิ่งได้รับสัญญาณอันตราย การรักษาที่รอบด้านและใช้ค่าใช้จ่ายมากจึงถูกพิจารณานำมาใช้ จากนั้น มีการประเมินพบว่า สงครามต่อสู้กับยาเสพติดก่อนหน้านั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

เช่นเดียวกับที่เกิดในรัสเซีย ช่วงเวลาที่ เซอร์เจีย ถูกคุมขัง อัตราผู้ป่วยอยู่ที่ 676 คนต่อ 100,000 คน เป็นที่ 2 ตามหลังแค่สหรัฐอเมริกาเท่านั้น ช่วงระหว่างทศวรรษที่ 70-80 วัณโรคในเรือนจำเพิ่มขึ้น  10 เท่า มีการบันทึกว่า ผลการรักษาล้มเหลว ซึ่งก็ข้อสรุปทื่อๆว่า เป็นเพราะคนไข้ไม่ยอมกินยาต่อเนื่อง ความยากลำบากในเรือนจำ วัฒนธรรมการบังคับในเรือนจำ และไม่มีทุน ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม คุณหมอฟาร์เมอร์สรุปต่างออกไป ผู้ป่วยตระหนักในวัณโรคอย่างยิ่งและรู้ว่าต้องกินยาต่อเนื่อง หมอและเจ้าหน้าที่ในเรือนจำก็มุ่งมั่นเอาจริงเอาจังเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย ยิ่งไปกว่านั้น การระบาดของวัณโรคนอกเรือนจำก็เพิ่มขึ้น จาก 43 เป็น 93 คนต่อ 100,000 คน ด้วยเชื้อที่ทำให้ถึงตาย ทำให้รัฐบาลของนายบอริส เยลซินต้องโอนความรับผิดชอบจากกระทรวงมหาดไทยไปยังกระทรวงยุติธรรมซึ่งเห็นปัญหามากกว่า

อย่างไรก็ตาม เพราะเศรษฐกิจขาลงทำให้รัฐบาลต้องโยกเงินงบประมาณด้านสาธารณสุขไปใช้ในส่วนอื่นๆ พวกคนคุกในเรือนจำยิ่งไม่ต้องพูดถึง พวกเขาไม่ถูกเหลียวแลในสายตาของนักการเมืองอยู่แล้ว การควบคุมวัณโรคในเรือนจำจึงถูกมองว่า สิ้นเปลืองเงิน หรือพูดภาษาหรูๆคือ ไม่คุ้มทุน ให้ใช้แต่ยาเดิมๆ ที่พวกเขาดื้อแล้ว เช่น Inoziadin and Rifampicin ขณะนี้สถานการณ์ความเสี่ยงต่อโลกของสาธารณชนจึงน่าวิตกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

อะไรที่ควรต้องทำ แยกผู้ป่วยวัณโรคออกมาจากสิ่งแวดล้อมดังกล่าว แล้วเริ่มการรักษาที่มีประสิทธิภาพ แม้ว่าจะขาดแคลนงบประมาณ ประสบการณ์ในสหรัฐฯชี้ว่า เมื่อมาถึงอันตรายต่อสุขภาพของสังคมโดยรวม ความมุ่งมั่นทางการเมืองก็สามารถที่จะย้ายเงินจากส่วนอื่นมาได้ ปัญหาวัณโรคไม่ได้อยู่ที่การกินยาไม่ต่อเนื่องของผู้ป่วย แต่เป็นปัญหาของวงการแพทย์ที่ไม่เข้าใจมากกว่า

ในท้ายสุด การที่ทางการปล่อยนักโทษให้อยู่ในสภาพที่เพาะโรคและความตาย รัฐบาลมีความผิดฐานไม่ปกป้องประชาชน ศาลสูงสหรัฐมีคำสั่งลงโทษรัฐบาลสหรัฐฯในขณะนั้นฐานละเมิดรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขครั้งที่ 8

ถ้าจะไม่ทำให้วัณโรคเป็นการลงโทษ ต้องทำให้การรักษาพยาบาลเป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน แม้แต่คนกลุ่มนี้ซึ่งสังคมประณามว่า ขี้คุก ทัศนคติที่ผิดๆ ต้องถูกเปลี่ยนไป

ในเปรู ประเทศที่มีโครงการระดับชาติของตัวเองที่มีขึ้นมาเพื่อต่อสู่กับอัตราผู้ป่วยวัณโรคร้อยละ 50 ที่ดื้อยาวัณโรคสูตรแรกหมดแล้ว อย่างไรก็ตามปลายปี 90 องค์การอนามัยโลกยังแนะนำว่า MDRTB ควรเป็นความเร่งด่วนระดับรองเพราะประสิทธิภาพในการรักษา และราคาที่เปรูต้องจ่าย...มันไม่คุ้มทุน

คุณหมอพอล ฟาร์เมอร์หัวเสียกับข้ออ้างเช่นนี้มาก เพราะ ประการแรกเชิงคลินิก แพทย์ไม่ควรสั่งยาต่อไปทั้งที่รู้ว่ายานั้นไม่มีประสิทธิภาพในการรักษาต่อไปแล้ว สอง การระบาดในระดับท้องถิ่นอย่างรวดเร็วควรจะถือว่าเป็น MDRTB เพราะไม่มีใครรอดพ้นจากการระบาด และเมื่อถึงเวลานั้น โครงการ DOTS ก็ป้องกันไม่ได้ (โครงการที่ให้ผู้ป่วยมากินยาต่อหน้า จะได้วางใจได้ว่าผู้ป่วยกินยาอย่างต่อเนื่องจริง)

การวิเคราะห์นี้ทำให้เราต้องตั้งคำถามลงลึกถึงวาระของโลก การให้ประเทศใดประเทศหนึ่งใช้นโยบายที่เลวร้ายเพียงเพราะว่ามันคุ้มทุน กรณีของเปรู ไม่ให้ธนาคารโลกไม่ให้เปรูดำเนินโครงการรักษาผู้ป่วยในประเทศเพราะต้องเก็บเงินงบประมาณประเทศร้อยละ 20 ไว้จ่ายหนี้ต่างประเทศ ในช่วงเวลาใกล้ๆกัน ประเทศไทยก็เคยได้รับคำแนะนำจากธนาคารโลกที่ไม่สนับสนุนให้ดำเนินโครงการให้ยาต้านไวรัสแก่ผู้ติดเชื้อ เพราะว่า ...ไม่คุ้มทุน โดยที่ไม่เคยคิดหาหนทางอื่น เช่น ยาชื่อสามัญที่มีราคาถูกกว่าหลายเท่าตัว

ประการสุดท้าย ในทางศีลธรรม นโยบายกำลังเปลี่ยนยาให้เป็นสินค้าทำกำไร สร้างเม็ดเงิน และจะมีไว้เฉพาะสำหรับคนส่วนน้อยที่ร่ำรวยและมีความสุขเท่านั้น

 

รายงานชุด ‘Power & Health’

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท