CBNA ฉบับที่ 4: ปัญหาจากกระบวนการพิสูจน์สัญชาติแรงงานจากประเทศพม่า

ชื่อรายงานฉบับเต็ม: CBNA ฉบับที่ 4: ปัญหาจากกระบวนการพิสูจน์สัญชาติแรงงานจากประเทศพม่าและข้อเสนอแนะต่อแนวทางการจัดระบบแรงงานข้ามชาติ

 

 

 

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2552 ณ สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน กรุงเทพฯ เครือข่ายปฎิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (Action Netwokr for Migrants - ANM) ร่วมกับองค์กรแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ได้จัดให้มีการเสวนาเรื่อง ปัญหาจากกระบวนการพิสูจน์สัญชาติแรงงานจากประเทศพม่า และข้อเสนอแนะต่อแนวทางการจัดระบบแรงงานข้ามชาติที่สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริง

 

นางสาวสาธิตา หน่อโพ เครือข่ายปฎิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ (ANM) กล่าวว่า หลังจากที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าได้ร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) เรื่องการจ้างแรงงาน เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2546 เพื่อจัดระบบแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยให้เป็นแรงงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ และการนำเข้าแรงงานข้ามชาติอย่างถูกกฎหมาย พบว่า การดำเนินการระหว่างปี 2546-48 ดำเนินไปอย่างล่าช้า เมื่อเทียบกับประเทศลาวและกัมพูชา ต่อมาในปี 2549 รัฐบาลไทยได้ดำเนินการสำรวจและพิสูจน์สัญชาติแรงงานจากประเทศพม่าอย่างจริงจัง แต่มีแรงงานข้ามชาติจากพม่าจำนวนไม่มากนักที่เข้าสู่กระบวนการดังกล่าว และไม่มีแรงงานคนใดเลยที่สามารถดำเนินการตามกระบวนการจนเสร็จสิ้นได้ ทำให้รัฐบาลไทยได้หันมาดำเนินการพิสูจน์สัญชาติแรงงานจากพม่าอีกครั้งหนึ่งในปี 2551

 

จากการติดตามอย่างต่อเนื่อง เห็นว่าอุปสรรคสำคัญที่ทำให้แรงงานข้ามชาติจากพม่าไม่สามารถหรือไม่เต็มใจเข้ารับการพิสูจน์สัญชาติในช่วงที่ผ่านมาได้ก็ คือ ปัญหาจากความเข้าใจในขั้นตอนการพิสูจน์สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและนายจ้างจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเรื่องการพิสูจน์สัญชาติจากรัฐบาลไทยได้

 

ส่วนนาย Thet Khai จาก National Coliation Government Union of Burma (NCGUB) อธิบายเพิ่มเติม ถึงผลกระทบในเรื่องความปลอดภัยของแรงงานข้ามชาติพม่า โดยเห็นว่า ปัญหาสำคัญที่แรงงานข้ามชาติจากพม่าในประเทศไทยไม่เต็มใจเข้ารับการพิสูจน์สัญชาติ มาจากปัญหาการเดินทางและเห็นว่ารัฐบาลพม่าได้จัดตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติบริเวณชายแดนไทย-พม่าเพียงสามจุดเท่านั้น คือ บริเวณเมืองเมียวดี ตรงข้ามอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เมืองท่าขี้เหล็ก ตรงอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และเมืองเกาะสอง ตรงข้ามจังหวัดระนอง ซึ่งแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในพื้นที่ห่างไกลชายแดน เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะไม่สามารถเดินทางไปยังที่ตั้งศูนย์ฯได้โดยสะดวก

 

นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องของปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิต กล่าวคือ การอพยพของแรงงานข้ามชาติจากพม่าบางส่วนเป็นผลมาจากปัจจัยทางการเมือง หรือการประหัตประหารในพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ เช่น กะเหรี่ยง ไทยใหญ่ มอญ  ฉะนั้นความกังวลต่อการดำเนินการพิสูจน์สัญชาติที่ประเทศต้นทางดูเสมือนว่าแรงงานแทบไม่มีหลักประกันว่า จะไม่ถูกรัฐบาลทหารพม่าดำเนินการข่มขู่หรือเอาผิดซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาได้

 

นาย Khun Win ชาวปะโอ ในฐานะตัวแทนแรงงานข้ามชาติ มีข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย 3 เรื่อง คือ ประการที่หนึ่ง ขอให้รัฐบาลไทยและพม่า เร่งจัดประชาสัมพันธ์เรื่องการพิสูจน์สัญชาติให้กับทั้งแรงงานจากประเทศพม่าและนายจ้างอย่างเข้มข้น รวมถึงชี้แจงรายละเอียด ขั้นตอนกระบวนการ และแนวทางการจัดการแรงงานข้ามชาติทั้งระบบในระยะยาว เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่แรงงานข้ามชาติที่พร้อมจะเข้าสู่ระบบดังกล่าว

 

ประการที่สอง ควรประสานงานกับรัฐบาลพม่าในการจัดทำเอกสาร หรือชี้แจงกระบวนการพิสูจน์สัญชาติที่ต้องดำเนินการในประเทศต้นทาง และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่แรงงานข้ามชาติที่จะเดินทางไปพิสูจน์สัญชาติว่า จะไม่มีผลกระทบทั้งในเชิงกฎหมายและอื่น ๆต่อตนและครอบครัว

 

ประการที่สาม ควรผลักดันให้มีการดำเนินการกระบวนการพิสูจน์สัญชาติแรงงานจากประเทศพม่าในประเทศไทย เช่นเดียวกับที่กระทำกับแรงงงานจากประเทศลาวและกัมพูชา เพื่อความสะดวกและสอดคล้องกับข้อเท็จจริงของแรงงานข้ามชาติ และลักษณะการจ้างงาน

 

ส่วนนายบัณฑิต แป้นวิเศษ โครงการสมานฉันท์แรงงานข้ามพรมแดน ได้เสนอเพิ่มเติมต่อรัฐบาลไทยเรื่องการจัดการแรงงานทั่วไปอีก 4 ประการ คือ ประการที่หนึ่ง ต้องคำนึงถึงภูมิหลังอันหลากหลายของแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าและครอบครัว ซึ่งมีทั้งที่เป็นคนไร้รัฐ ผู้หนีภัยสงคราม ผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ซ้อนปะปนกันอยู่สถานภาพของบุคคลเหล่านี้ทำให้มาตรการในการแก้ไขปัญหา เช่น การพิสูจน์สัญชาติ ไม่เป็นผล รัฐบาลไทยควรคำนึงถึงสถานการณ์การเมืองและสังคมในพม่าที่ยังอยู่ในสภาวะไม่มั่นคงและปลอดภัย

 

ประการที่สอง รัฐบาลต้องเปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศพม่า ตามความเป็นจริง เนื่องจากที่ผ่านมา แรงงานข้ามชาติจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงหรือหลุดจากกระบวนการจดทะเบียนเพื่อขออนุญาตทำงาน อีกทั้งไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการดำเนินการพิสูจน์สัญชาติด้วยตนเองได้

 

ประการที่สาม รัฐบาลต้องปรับระบบการจ้างงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์การย้ายถิ่นในภูมิภาค และสร้างกลไกคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่แรงงานสามารถเข้าถึงได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดมาตรการหรือบทลงโทษที่ชัดเจนต่อนายจ้างที่ยึดบัตรประจำตัวและใบอนุญาตทำงานของแรงงาน เพื่อป้องกันไม่ให้แรงงานต้องถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกละเมิดสิทธิดังที่เป็นอยู่

 

และประการที่สี่ กรณีแรงงานข้ามชาติบางกลุ่มที่อาจจะเข้าข่ายเป็นคนไร้รัฐ ไร้สัญชาตินั้น การผลักดันให้กลับประเทศต้นทางย่อมเป็นการส่งบุคคลไปสู่อันตรายหรือความตาย ซึ่งขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ดังนั้นรัฐบาลไทยควรมีนโยบายรับรองสถานะ รวมถึงกระบวนการพัฒนาสถานะและสิทธิของกลุ่มที่เข้าข่ายเป็นคนไร้รัฐต่อไป

 

 

 

ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน (Cross Border News Agency - CBNA) เป็นศูนย์ข่าวออนไลน์ภาคภาษาไทย จัดตั้งขึ้นมาโดยความร่วมมือขององค์กรที่ทำงานด้านแรงงานไทย คือ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และ Union Network International: Thai Liaison Council (UNI-TLC) กับ องค์กรที่ทำงานด้านแรงงานข้ามชาติ (แรงงานอพยพ) และผู้ลี้ภัยในประเทศไทย คือ ศูนย์ข้อมูลริมขอบแดน เพื่อนไร้พรมแดน และ โครงการสมานฉันท์แรงงานข้ามพรมแดน เมื่อ 2 ก.พ.52

 

กิจกรรมของศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน เป็นการรวบรวมข่าวภาษาไทย และนำเสนอบทวิเคราะห์ เกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ ด้านแรงงานทุกกลุ่มในประเทศไทย รวมถึงผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศพม่า ตลอดจนสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ภายในประเทศพม่าที่ส่งผลกระทบต่อการย้ายถิ่น

 

 

 "มุ่งส่งเสริมสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นในประชาชนทุกกลุ่ม เราเชื่อว่า สิทธิมนุษยชน คือ จุดเริ่มต้นแห่งสันติภาพ"

 

 

อ่านเพิ่มเติม

 

CBNA ฉบับที่ 1: แนวโน้มและทิศทางเศรษฐกิจการเมืองไทยปี 2552 http://www.prachatai.com/05web/th/home/15444

 

CBNA ฉบับที่ 2: สถานการณ์การย้ายถิ่นและความก้าวหน้าของนโยบายและการจัดการประชากรข้ามชาติhttp://www.prachatai.com/05web/th/home/15495

 

CBNA ฉบับที่ 3: ข้าวผัดกะเพรา
 
http://www.prachatai.com/05web/th/home/15552

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท