Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อรรคพล สาตุ้ม

 

 

เสียงเชียร์ของกลุ่มเสื้อแดง กับ "เครื่องมือ" ในพัฒนาการทางการเมืองไทย

จากวันที่ 24 มิถุนา ในอดีตเป็นวันชาติ ซึ่งสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ชี้ให้เห็นถึง "ความสำเร็จและล้มเหลวของอุดมการณ์รัฐแบบใหม่ผ่านประวัติศาสตร์วันชาติ" ในบทความ "ประวัติศาสตร์วันชาติไทย จาก 24 มิถุนาถึง 5 ธันวา" [1] ก็มีการกล่าวถึงประวัติศาสตร์วันชาติดังกล่าว

 

และผมก็เริ่มตั้งต้นขยายความต่อว่า ความเปลี่ยนแปลงวันชาติ วันชาติเป็นวันต้นไม้ประจำปีของชาติ และ 28 กรกฏา ในอดีตเป็นวันกองทัพบก ฉลองชัยชนะอินโดจีน-การเปลี่ยนแปลงวันต้นไม้ประจำปีของชาติ และเริ่มต้นวันสิ่งแวดล้อมไทย โดยมองผ่านประวัติศาสตร์ดังกล่าวจาก วันที่ 24 มิถุนา, 28 กรกฏา, 4 ธันวา, 10 ธันวา และ Young PAD ในประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งผมนำเสนอการวิเคราะห์ถึง ระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมโดยภาพรวม

 

ในสถานการณ์เกี่ยวกับก่อนวันที่ 13 ธันวาคม 2551 ผมเขียนเรื่อง "เสียง ความทรงจำกับอำนาจ: เสียงโฟนอินของทักษิณในสนามกีฬา" ว่าด้วยเสียงเป็นสิ่งแยกไม่ออกจากประวัติศาสตร์และความทรงจำของการพูดต่อประชาชน มันจึงมี "ความหมาย" และกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ สะท้อนถึงอำนาจทางการเมือง ทางด้านโสตนิเวศ [2] และเสียงเชียร์ของประชาชน ต่อทักษิณ

 

ซึ่งผมจะนำข้อมูลบางด้านจากการถกเถียงของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลต่อธงชัย วินิจจะกูล เรื่อง "หลัง 14 ตุลา ในทัศนะของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" [3] โดยทัศนะของผม สิ่งที่สมศักดิ์ ชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลง "โครงสร้างอำนาจรัฐ" คือ หลัง 14 ตุลา 2516 ศูนย์กลางอำนาจไม่ได้อยู่ที่รัฐสภา ปรากฏการณ์ที่แสดงออกเด่นชัดที่สุด และมักพูดกัน คือ "นายกไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง" ซึ่งการได้รับเลือกตั้งให้มีเสียงข้างมาก ในสภาไม่ได้เป็นเงื่อนไขให้นายกรัฐมนตรี พรรคที่ได้รับเลือกตั้งให้เป็นเสียงมากที่สุดในสภา ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้มีอำนาจจริงๆ แม้แต่กรณีพี่น้องปราโมช (สำนวนสมศักดิ์) ก็เป็นรัฐบาลได้ด้วยการต้องได้รับการยอมรับ หรือเห็นชอบ โดยนัยจากอำนาจอื่นนอกสภา แม้แต่ตำรวจ ซึ่งไม่ได้มีกำลังจัดตั้งติดอาวุธแบบทหาร ก็ยังไม่ได้อยู่ใต้การควบคุมของรัฐบาลเต็มที่(ตำรวจไม่ได้เป็นเครื่องมือ)เหตุการณ์อย่างม็อบตำรวจบุกพังบ้านคึกฤทธิ์ ปราโมช ในปี 2518 หรือกรณีสล้าง บุนนาค ในเหตุการณ์ 6ตุลา เป็นต้น ตัวอย่างที่ดีของการที่รัฐบาลจากรัฐสภาควบคุมตำรวจไม่ได้จริงๆ

 

กระนั้น ผมคิดแตกหน่อความคิด ที่มีต่อสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ว่า deja vu : ทักษิณ V นายกฯพระราชทาน, พิบล-เผ่า V สฤษดิ์ [4] ทำให้ผม ครุ่นคิดเกี่ยวกับเรื่องบทเรียนทางประวัติศาสตร์จากยุคสฤษดิ์ ซึ่งในครั้งนั้น ใช้เครื่องมือ คือ ทหาร-เรื่องพระราชอำนาจ ทำให้เราเรียนรู้ การศึกษาความเหมือนและความแตกต่าง ในมุมมองของผม สะท้อนกลับไปเรื่องข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง14 ตุลา 2516 โดยนักศึกษา ฯลฯและ"เครื่องมือ" ทางการเมืองใหม่ของเสื้อเหลือง คือ รัฐบาลแห่งชาติ (มาตรา 7) ในความเกี่ยวข้องพระราชอำนาจ กับกรณี เครื่องมือของเสื้อแดง คือ ทักษิณ ซึ่งมาจากการเลือกตั้งทางประชาธิปไตย พบเจอกับรัฐประหาร ในวันที่ 19 กันยา 2551 คล้ายกับวันที่ 16 กันยา 2500 ยุคสฤษดิ์ โดยอายุประมาณ 6 ปีของรัฐบาลสฤษดิ์ และอายุประมาณ 5 ปีของทักษิณ ตามมาด้วยการถกเถียง รัฐประหาร 19 กันยา ก็มีข้อสังเกตต่างๆ นานา [5]

 

เมื่อต่อมาด้วย ชัยชนะของการเลือกตั้งโดยพรรคพลังประชาชน และโดนยุบพรรคตามมาล่าสุด เพราะเครื่องมือทางกฎหมาย โดยตุลาการภิวัฒน์ ดังกล่าว และจากนั้น ทหารแทรกแซงในเรื่องของรัฐประหารเงียบ [6] และการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อสีแดง ที่มีอารมณ์ ความรู้สึกของประชาชน คนไม่ใช่เครื่องมือ หรือ เครื่องจักร ไม่มีอารมณ์ และ "เครื่องมือ" คือ คน ก็ย่อมเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์และกาลเวลา โดยผม จะสะท้อนผ่านความทรงจำ อำนาจ บนถนนราชดำเนิน ผ่านบทสะท้อนของชาตรี ประกิตนนทการ และนิธิ เอียวศรีวงศ์ ในสถานการณ์ หลังทักษิณ ไม่โฟนอิน และอภิสิทธิ์ ว่าที่นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับ "เครื่องมือ" ซึ่งเราจะเข้าใจถึงเครื่องมือจับปลา เครื่องมือสำหรับปลูกต้นไม้ เครื่องมือทางการสื่อสาร คือโทรศัพท์ และเครื่องมือสำหรับวาดรูปภาพ โดยการนิยามง่ายๆ ว่า "เครื่องมือ" คำนี้ ถูกใช้ทางการเมือง เช่นว่า ใช้รัฐเป็นเครื่องมือ,ทหารเป็นเครื่องมือ,ใช้ประชาชน เป็นเครื่องมือ และสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือทางการเมือง ฯลฯ

 

ครั้นแล้ว การย้อนมองประวัติศาสตร์ ในการใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเครื่องมือทางการเมือง ผ่านสถาปัตยกรรมบนถนนราชดำเนิน และการเมืองไทย 14-6 ตุลา - พฤษภา และ "เครื่องมือทางการเมือง" มาถึงสมัยในปัจจุบัน ในทัศนะเชิงเปรียบเทียบกับอดีต ดังจะกล่าวถึงในเชิงพัฒนาทางการเมืองว่าเสียงเชียร์ทักษิณของคนเสื้อแดง เป็นพัฒนาการเมือง ด้านประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการทหาร และการรัฐประหารซ่อนรูป ในเครื่องมือทางการเมือง ที่มีชื่อว่า ทักษิณ กับการโฟนอิน (เครื่องมือ) เสียงของทักษิณให้เห็นถึง "อำนาจ และความทรงจำต่อทักษิณ" ว่าเป็นประเด็นสำคัญ ทำให้เกิดความพยายามไม่ให้ทักษิณ พูดความจริงวันนี้ ในรายการความจริงวันนี้ สัญจร ครั้งที่ 3 ณ สนามศุภชลาศัย ส่วนในโอกาสต่อไปจะเป็นเช่นไร ต้องติดตามมองผ่านอดีตก่อน แล้วย้อนเวลาสู่ปัจจุบัน

 

 

ย้อนมองเครื่องมือทางการเมืองใน 14 ตุลา บนถนนราชดำเนิน-ความเหมือน กับ ความแตกต่างของเครื่องมือของคนเสื้อแดง

 

ประเด็น 14 ตุลา มีการถกเถียงและนำเสนอกัน แง่มุมหลายแบบทั้งทางด้าน รัฐ,ชนชั้น ฯลฯ โดยผมเสนอ เรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และ ชาตรี ประกิตนนทการ "ความทรงจำ อำนาจ บนถนนราชดำเนิน" โดยผมเน้นย้ำ ประเด็น "เครื่องมือ" ดังจะขีดเส้นใต้ ต่อไปนี้

 

ราชาชาตินิยมประชาธิปไตย: ชัยชนะของสถาบันกษัตริย์บนถนนราชดำเนิน

 

สิ่งที่น่าสังเกตมากที่สุด ต่อกระบวนการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยของคนชั้นกลางใหม่ ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ..2516 คือ ในการต่อสู้กับเผด็จการทหาร ที่ยึดครองอำนาจรัฐ กลุ่มคนชั้นกลางใหม่เหล่านี้ กลับเลือกใช้สัญลักษณ์ของ "สถาบันกษัตริย์" มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการต่อสู้กับอำนาจรัฐ ซึ่งทำให้ไม่เพียงแต่รัฐบาลเผด็จการทหารเท่านั้น ที่อาศัยอ้างอิง ความชอบธรรมจาก "สถาบันกษัตริย์" แต่ขบวนการนักศึกษาปัญญาชนคนชั้นกลาง ที่เรียกร้องประชาธิปไตย ก็มีบทบาทสำคัญไม่แพ้กัน ในการยก "สถาบันกษัตริย์" ให้สูงเด่นมากยิ่งขึ้น

 

การยกพระราชดำรัสเฉพาะบางตอน ในกรณีสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 ขึ้นมาเพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ในการต่อต้านเผด็จการทหาร การหวังพึ่งพระบารมีโดยนำพระบรมฉายาลักษณ์ มาเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ จนมาถึงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัส ผ่านทางวิทยุและโทรทัศน์ ในตอนหัวค่ำของวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เพื่อให้ทุกฝ่ายระงับความรุนแรง และทรงแต่งตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เหล่านี้ได้กลายเป็นความทรงจำกระแสหลักอันหนึ่งที่ในบางมุม ก็เสมือนว่าสอดคล้องและหนุนเสริม กับความทรงจำว่าด้วยพลังมวลชน ต่อสู้เผด็จการ แต่ในอีกแง่หนึ่ง ความทรงจำนี้ ก็กลับแย่งชิงอำนาจนำ ในการอธิบายเหตุการณ์ 14 ตุลา ให้หลุดออกจากมือของประชาชนไปด้วยในเวลาเดียวกัน.. [7]

 

ประเด็น "เครื่องมือ" ดังกล่าวในการเมืองของไทย สมัยก่อน 14 ตุลาฯ 2516 คนที่เล่นการเมือง ก็คือข้าราชการ และวิธีการเล่นการเมืองก็ใช้เส้นสนกลใน วิ่งเต้นตามสายราชการ กับทำรัฐประหาร ส่วนพวกนายทุน หากต้องการส่งอิทธิพลต่อการเมืองและนโยบายอะไรต่างๆ ก็ต้องวิ่งเต้นกับข้าราชการนั่นแหละ จนกระทั่งมวลชนเดินเข้าสู่หน้าประวัติศาสตร์ และเมื่อ 14 ตุลาฯ (กรณี"บันทึกลับจากทุ่งใหญ่") หลังจากนั้นรูปแบบการเล่นการเมืองก็ปรับเปลี่ยนขยายตัวออกไป เพราะมวลชนไม่มีรถถัง จึงไม่สามารถก่อรัฐประหารได้ ไม่มีเส้นสายจึงไม่สามารถวิ่งเต้นอะไรกับใครเขาได้ รูปแบบการเล่นการเมืองของมวลชน จึงได้แก่การเลือกตั้งและการประท้วงบนท้องถนน และก็ชุมชนในจินตนากรรมแห่งชาติ ทั้งสองฝ่ายซ้ายกับขวานี้เอง ที่เข้าปะทะชนกันในพื้นที่รัฐชาติเดียวกันระหว่าง 14 ตุลาฯ 2516 - 6 ตุลาฯ 2519 เหนืออื่นใดเพื่อแย่งชิงรัฐ อันเป็นเดิมพันยอดปรารถนาและรางวัลสูงสุด ที่ต่างฝ่ายต่างต้องการได้มาไว้เป็นเครื่องมือที่ขาดเสียมิได้

 

ในการธำรงรักษาหรือเปลี่ยนแปลงสร้างสรรค์ชาติ และชุมชนในจินตนากรรมของตนให้ปรากฏเป็นจริง ดังกล่าวจากบทเรียนผ่านประวัติศาสตร์ โดยตั้งใจ(หรือไม่ตั้งใจ ก็ตาม) ต่อเครื่องมือทางการเมือง นำไปสู่ประเด็นที่ผม มองพัฒนาทางการเมืองของเครื่องมือ วันที่ 14 ตุลา บนถนนราชดำเนิน ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณา "มุมมองผ่านเครื่องมือ" ในเงื่อนไขของประเด็นสำคัญ คือ "ความเหมือนและความแตกต่าง" ในการมองปัญหา ว่า หลัง 14-6 ตุลา และพฤษภา 35(ประชาธิปไตยแบบไทยๆ) มีความผิดพลาดและล้มเหลว สะท้อนอะไรบ้าง ที่เหมือนเดิม และอะไรใหม่บ้าง โดยการพิจารณา และวิเคราะห์ ผ่านมุมมอง ซึ่งนิธิ เคยใช้วิธีวิทยาเกี่ยวกับความแตกต่าง ในการอธิบาย 14 ตุลา และพฤษภา 35 ที่ชื่อ "ชาตินิยมในขบวนการประชาธิปไตย" [8] ที่นำเสนอว่าแกนสำคัญของการเคลื่อนไหวของขบวนการประชาธิปไตย 14 ตุลานั้นเป็นเรื่องของชาตินิยม

 

ทั้งนี้ นิธิ เริ่มต้นบทความของเขาโดยการชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และ พฤษภาทมิฬ 2535 ตรงที่ว่า เหตุการณ์แรกนั้น มีเรื่องของอุดมการณ์ชาตินิยม เข้ามามีส่วนร่วมในการต่อสู้กับเผด็จการ (แม้ว่าทั้งสองเหตุการณ์เป็นการต่อสู้เผด็จการทั้งคู่) นิธิอธิบายว่า ชาตินิยมของไทยนั้นคือแนวคิดในเรื่อง ชาติ ศาสนา และ พระมหากษัตริย์ ที่ พระมหากษัตริย์ริเริ่มขึ้น นับตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเนื้อหาลัทธินี้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากเหตุการณ์ 2475 แต่อย่างใด นอกเหนือจากการเพิ่มเอาคำว่ารัฐธรรมนูญมาต่อท้าย และต่อมาเมื่อกองทัพเข้าครอบงำทางการเมือง คำว่ารัฐธรรมนูญก็ถูกตัดออก (เพิ่มประชาชน ในภายหลัง) และกองทัพก็เข้าคุมอุดมการณ์ดังกล่าว

 

เมื่อชาตินิยมมีความสำคัญ ในการเรียกร้องประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์ก็อยู่ในฐานะแกนกลางของอุดมการณ์ชาตินิยม และอุดมการณ์ในการสร้างความเป็นไทยนั้น (นั่นเป็นเครื่องมือทางการเมือง)โดยส่วนมากแล้วก็เป็นการผสมผสานระหว่างแนวคิดเรื่องเชื้อชาติ และ ความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ และในขณะเดียวกันก็จะต้องสร้าง "ศัตรูร่วม" ของชาติขึ้นมา นิธิ ชี้ให้เห็นว่า นอกเหนือจากการเรียกร้องรัฐธรรมนูญแล้ว การต่อสู้ในลักษณะของชาตินิยม อาทิ การต่อต้านสินค้าญี่ปุ่น และ อเมริกา นั้นก็มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา เพราะว่าการจะต่อสู้กับศัตรูของชาติ ซึ่งหมายถึงระบบทุนนิยมโลกที่ประสานตัวกับนายทุนขุนศึกได้นั้น ก็จำต้องมีประชาธิปไตย และในขณะเดียวกัน เหตุการณ์ความขัดแย้งหลัง 14 ตุลา ก็เป็นเรื่องของการเผชิญหน้าระหว่าง ชาตินิยมสองกระแส คือ ชาตินิยมกระแสใหม่ (นักศึกษาที่ไปร่วมกับพรรคคอมฯ) และชาตินิยมรูปแบบเก่า ขณะที่เหตุการณ์ พฤษภาทมิฬนั้น ประเด็นเรื่องชาตินิยมไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญในการต่อสู้กับเผด็จการ(แม้ว่า รสช. ทหาร จะชูเรื่องเอกราชและชาตินิยม แต่ชาตินิยมฝังอยู่กับเชื้อชาติ ตรงกันข้ามกับคนชั้นกลาง) [9] อิทธิพลของการอธิบาย ความทรงจำ อำนาจ บนถนนราชดำเนิน และชาตินิยมในขบวนการประชาธิปไตย ทั้งสองอย่างดังกล่าว มาจากรากฐาน ผลงานเกี่ยวกับชาตินิยม คือ Imagined Communities ของ Ben Anderson ซึ่งนิธิสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของ2535 ว่าชาติในมโนภาพของชนชั้นกลาง คือ หน่วยทางเศรษฐกิจการเมือง ที่ดำรงอยู่ท่ามกลางพึ่งพิงติดต่อกับประชาคมโลก(กระแสโลกาภิวัตน์) คนในชาติ แม้จะแตกต่างหลากหลาย แต่ก็เจริญเติบโตก้าวหน้าได้ด้วยการก้าวให้ทันโลก ความไม่เป็นประชาธิปไตย จึงเป็นอุปสรรคของการก้าวให้ทันโลก อุปสรรคหรือศัตรู จึงอยู่ที่ระบบการเมืองในประเทศ และการที่นักการเมือง และทหาร ในช่วงพฤษภา 35 ไม่เป็นเครื่องมือทางการพัฒนาประชาธิปไตย ต่อชนชั้นกลาง นี่เอง

 

จากการอธิบายภาพทางการเมืองดังกล่าว "ชาตินิยม เป็นเครื่องมือ" ที่มีใน14 ตุลา โดยทางตรงกันข้าม พฤษภา 35 (ก็ไม่มีประเด็น "เครื่องมือชาตินิยม"ที่ชัดเจน) บทบาทของจำลอง ศรีเมือง และสถาบันพระมหากษัตริย์ในการขจัดความขัดแย้งของชนชั้นกลาง ต่อ เผด็จการทหาร ซึ่งเครื่องมือสำคัญ คือสื่อสารมวลชน และการเรียกว่า ม็อบมือถือ ใช้โทรศัพท์มือถือ อื่นๆ ซึ่งพัฒนาการของประชาธิปไตย ที่ผ่าน 2535 จึงเป็นเครื่องมือต่อทางเศรษฐกิจ และวิกฤติเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา พัฒนาการทางการเมืองของมวลชนล่าสุด คือ ยื่นเรื่องร้องเรียนกับบรรดาองค์กรตรวจสอบอิสระ นอกจากการเลือกตั้ง และเดินขบวนประท้วงบนท้องถนนแล้ว ซึ่งรูปการนี้เกิดขึ้นหลังมีรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง พ..2540 โดยต่อมาบทบาทของนักการเมืองอย่างทักษิณ และพัฒนาการทางการเมืองการปรากฏการณ์ของสนธิ ไม่ว่าคำว่า อารยะขัดขืน(ถูกหยิบไปใช้อย่างลื่นไหล) ไม่เอาทักษิณ,ทักษิณคอรัปชั่น,ระบอบทักษิณ,เผด็จการรัฐสภาเสียงข้างมาก และทักษิณเหมือนสฤษดิ์ ต่างๆ นานา ในปี 2549 ผลรณรงค์ No Vote และเมื่อกลุ่มพันธมิตรไม่สามารถ ใช้เครื่องมือ คือนักการเมืองได้

 

ภาพของการเมือง ที่มีปรากฏการณ์เหมือนกับยุค 14 ตุลา 2516 ก็กลับมา "เครื่องมือชาตินิยม"(กู้ชาติ) ใช้เครื่องมือทหาร,สถาบันฯ,พรรคประชาธิปัตย์ ในกลุ่มพันธมิตร และกองทัพ ก็กลับมามีอำนาจบทบาทหลังรัฐประหารอีกครั้ง ดังกรณีเอกสารลับของทหาร (21 ก.ย. 50)เรื่องเล่าของราชาชาตินิยม โยงจากสงครามคอมมิวนิสต์ สมัย ตุลา 2519 ลงมาถึงความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบันว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ข้างหนึ่งของคู่ขัดแย้ง คือ กองทัพกับสถาบันพระมหากษัตริย์ อีกข้างหนึ่งของคู่ขัดแย้งเปลี่ยนจากพรรคคอมมิวนิสต์ในอดีต กลายมาเป็นพรรคไทยรักไทยกับอดีตสหายบางคนในพรรคไทยรักไทย เป็นการต่อสู้รอบใหม่กับพลังฝ่ายตรงข้ามที่มาปรากฏในรูปของประชาธิปไตยกระฎุมพี การต่อสู้นี้จะต้องช่วงชิงมวลชนให้ได้ [10]

 

สิ่งที่สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเสนอในบทความ "หลัง14 ตุลาฯ" ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างเรื่องโครงสร้างเชิงอำนาจ(รัฐ) ซึ่งโดยพื้นฐาน รัฐสภาได้กลายมาเป็นศูนย์กลางของอำนาจ ผู้ที่คุมรัฐสภาได้ก็สามารถควบคุมกลไกรัฐอื่นๆ(ควบคุมเครื่องมือได้) รัฐบาลไทยรักไทย เป็นการแสดงออกอย่างสำคัญที่สุด คือเรื่องการโยกย้าย นายทหารเป็นเรื่องของรัฐบาลเอง ไม่ใช่ของทหาร ซึ่งต่อมารัฐบาลสมัคร ก็ไม่สามารถควบคุม(เครื่องมือ)ทหารได้อีกแล้ว

 

ในด้านนโยบายประชานิยมของทักษิณ "การวิพากษ์วิจารณ์" โดย วอลเดน เบลโล ผู้ศึกษาวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ซึ่งเขียนหนังสือและมีการแปลเป็นไทย ชื่อว่า โศกนาฏกรรมสยามฯ "วอลเดน" วิจารณ์ไว้ปี 2549 ว่า "เปรียบเทียบนโยบายประชานิยม ที่ใช้กันอยู่ในอาร์เจนตินาและหลายประเทศในละตินอเมริกา ว่า มีความแตกต่างจากสิ่งที่นายกรัฐมนตรีทักษิณ นำมาใช้ในประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากนโยบายประชานิยมโดยหลักการแล้ว เป็นนโยบายที่ตอบสนองต่อผู้ไร้อำนาจ หรือคนกลุ่มต่างๆ ที่ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้ เช่น การปฏิรูปที่ดิน การเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า แต่สิ่งที่รัฐบาลทักษิณทำคือ การให้ประโยชน์เฉพาะอภิสิทธิ์ชนบางกลุ่ม ซึ่งมีอำนาจและเงินตราอยู่แล้ว"ทักษิณไม่ได้เป็นนักประชานิยม แต่เขาใช้วิธีการแบบประชานิยมที่คำนึงถึงอภิสิทธิ์ชนบางกลุ่มเท่านั้น" [11]

 

เมื่อย้อนดูแนวทางของพรรคไทยรักไทย ตั้งแต่ชื่อของพรรค ก็สะท้อนเรื่องชาตินิยม และนโยบายทางการเมือง เรื่องชาตินิยมเช่นเดียวกัน แต่ว่า มีความแตกต่าง คือ "ผู้นำ" ทางการเมืองจากการเลือกตั้ง บทบาทสูงเด่นมาก และกลับตาลปัตร จากประชานิยมที่โดนวิจารณ์จากวอลเดน กล่าวไว้ ซึ่งประชานิยมของทักษิณ มีพลังบวกกับชาตินิยม คล้ายกับการเข้าไปร่วมของประชาชน นักศึกษากับพรรคคอมมิวนิสต์ ในหลัง14 ตุลา แต่ไม่ใช่เหมือนกันทั้งหมด ซึ่งองค์ประกอบของการพัฒนาการ ระดับขั้นนโยบายประชานิยมทางเศรษฐกิจของพรรคไทยรักไทย-พรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทย ชะงักงัน แต่ว่าสะท้อนเหนือกว่าบทบาททางการเมืองรัฐบาลทหาร ในอดีตมาก ดังนั้น การเปรียบเทียบทักษิณกับรัฐบาลฉายาขิงแก่ ของสุรยุทธ จึงเห็นได้ชัดว่า นับตั้งแต่ประชานิยมของทักษิณ ด้านเศรษฐกิจ สะท้อนเป็นหอกข้างแคร่ กลับเข้ามาทิ่มรัฐบาลในยุค 2550 จนเปลี่ยนรัฐบาลเป็นฝ่ายพรรคพลังประชาชน(สมัคร ในอดีต 6 ตุลาในอดีตพูดถึงมือที่มองไม่เห็น) ซึ่งน่าสังเกตต่อมาว่า "ขณะวิกฤติเศรษฐกิจจากอเมริกา"จะมีผลต่อรัฐบาลว่าที่นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์(ชน) นั้นเอง

 

 

เครื่องมือทางการเมืองของคนเสื้อแดง

โดยต่อไปการขีดเส้นใต้ของผม ดังกล่าว จะสะท้อน "เครื่องมือของคนเสื้อแดง" พัฒนาการขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง ใช้ "เครื่องมือ" ทางการเมืองไม่ใช่แค่สถาบันพระมหากษัตริย์ เกิดความแตกต่างจาก 14 ตุลา บนถนนราชดำเนิน เพิ่มทักษิณ และพรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน และเพื่อไทย ต่อมาเป็น "เครื่องมือ"สำคัญ ในการรัฐประหาร 19 กันยา 2549 คือ ทหารขึ้นมา และใช้เครื่องมือ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ก็มีบทบาทชาตินิยม ตามด้วยรัฐธรรมนูญ 2550 (หลังรัฐประหาร) และยุบพรรคไทยรักไทย กลุ่มที่เป็นนักการเมือง เคยเป็นคน 6 ตุลา บางคนก็ยุติบทบาทชั่วคราวไป

 

และตามมาด้วย "การสร้างพรรคพลังประชาชน"(ไม่ใช่พรรคภาคประชาชน) และแรงหนุนจากกลุ่ม นปช. จนถึงเรื่อง "ทักษิณ" เป็นเครื่องมือทางการเมือง ในการรณรงค์ สำหรับการเลือกตั้งของพรรคพลังประชาชน ว่า "จะเอาทักษิณกลับบ้าน" ไม่ใช่แค่เครื่องมือชาตินิยมอย่างเดียว และผลพรรคไทยรักไทย-พลังประชาชน ในนโยบายประชานิยม เท่านั้น และแล้วทักษิณ ก็กลับมา - หนีไป (จนเกือบจะจนตรอกในปัจจุบัน) ซึ่งความเชื่อมั่นใจต่อทักษิณ (เครื่องมือ) ของจักรภพ สะท้อนผ่านหัวข้อ"ระบบอุปถัมภ์และประชาธิปไตยในการเมืองไทย" เป็นหัวข้อที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศตั้งให้แก่องค์ปาฐก… "…คุณจักรภพฝากความหวังไว้กับสองอย่าง หนึ่งคือการตื่นตัวของประชาชนเอง ซึ่งคุณจักรภพมองเห็นความตื่นตัวนั้นจากเสียงกว่า 40% ที่ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และสองคุณจักรภพคิดว่าต้องมีผู้นำที่เข้ามาจัดระเบียบ (ทางการเมือง) ใหม่ และคนคนนั้นคือคุณทักษิณ" (ทำลายระบบอุปถัมภ์และพัฒนาประชาธิปไตย) ในกลุ่มพรรคการเมือง-พวกทักษิณ ดังที่มีสะท้อนผ่านการเขียนของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ยกตัวอย่างว่า "ตอนที่คุณทักษิณจะต้องตัดสินใจว่า จะตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นหลังรัฐประหารหรือไม่ เพียงได้รับโทรศัพท์จากใครบางคนในกรุงเทพฯ คุณทักษิณก็ตัดสินใจไม่ตั้ง แสดงว่าคนที่คิดว่าการกระทำของเขา ขจัดอำนาจของระบบอุปถัมภ์ออกไป ถึงตอนที่ต้องตัดสินใจในช่วงวิกฤตที่สุด เขากลับตัดสินใจไปบน(ฐานคิด)ของระบบอุปถัมภ์" เป็นการประเมินพลังทางการเมืองไทย สะท้อนถึงปรากฏการณ์เสื้อแดง ในขณะที่เปิดเผยเครื่องมือทางการเมืองนี้ และรื้อสร้าง-ทำลาย "เครื่องมือ" และภาพลักษณ์ทักษิณไปในตัวของบทความนี้ด้วย หรือไม่ (คือไม่ไว้ใจเครื่องมือ คือนักการเมือง ชื่อทักษิณ แต่ไม่เท่ากับเอเอสทีวี-ผู้จัดการ)

 

"….ความเป็นเครื่องมือของนักการเมืองไม่เสียหายอะไร นักการเมืองเด่นๆ ทั้งหลายก็ล้วนเป็นเครื่องมือทั้งนั้น แต่คงไม่มีนักการเมืองคนไหน ที่ทำให้ผู้คนคิดว่าเป็นเครื่องมือของตนได้กว้างขวางเท่าคุณทักษิณ เป็นเครื่องมือเข้าถึงทรัพยากรกลางโดยตรงของประชาชนรากหญ้า เป็นเครื่องมือเข้าสู่อำนาจของก๊วนการเมืองต่างๆ เป็นเครื่องมือเข้าสู่อำนาจทางการเมืองของนักวิชาการ,บุคคลสาธารณะ,ปัญญาชน,และนายทุนนักธุรกิจกลุ่มหนึ่ง ฯลฯ ความศรัทธาที่ผู้คนมีต่อคุณทักษิณ จึงเป็นความศรัทธาต่อเครื่องมือ และโชคดีของคุณทักษิณด้วย ที่ไม่มีฝ่ายใดพร้อมจะเสนอทางเลือกของเครื่องมือมาแทนที่คุณทักษิณ ไม่ใช่ คมช.,ไม่ใช่พรรคเพื่อแผ่นดิน, ไม่ใช่นายพลทั้งหลาย,ไม่ใช่พันธมิตร, และไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์ (ทั้งหมดเหล่านี้ก็เป็นเครื่องมือเหมือนกัน แต่เป็นเครื่องมือที่ถูกใช้แคบกว่า) และตราบเท่าที่เป็นเช่นนี้ เราจึงต้องยังอยู่กับคุณทักษิณ หรือเงาของคุณทักษิณไปอีกนาน" [12]

 

อย่างไรก็ตาม บทความของนิธิ ผมนำมาเสนอสั้นๆ เพื่อเป็นความคิด ต่อ"เครื่องมือ" ไม่ได้มาแก้เกี้ยว แก้ตัว และจับผิด "นิธิ เอียวศรีวงศ์" ถึงแม้ ตอนท้ายของบทความ น่าจะสะท้อนว่า ไม่ไว้ใจเครื่องมือ ที่มีชื่อว่าทักษิณ ก็ตาม เนื่องจากขอบเขตความคิดของผมก็จำกัด เพียงนำแนวคิดว่าด้วย "เครื่องมือ" จากการอ่านผลงานของ "นิธิ" มาเป็น "โจทย์"การมองสิ่งที่มองไม่เห็น โดยรู้ตัว หรือไม่รู้ตัวของนิธิ ในประเด็นดังกล่าวแล้วขึ้น กับ"ผู้อ่าน"หลากหลาย จะตีความบทความ ซึ่งความสำคัญในประโยชน์ของ "เครื่องมือ" ที่ซ่อนอยู่ในบทความนิธิ เปรียบเทียบวิเคราะห์ ในความแตกต่าง กับ 14 ตุลา บนถนนราชดำเนิน-สนามศุภชลาศัย เป็นสิ่งที่เสียงของคนเสื้อแดง นำไปใช้เป็นประโยชน์ เพราะสิ่งนั้นเป็นเครื่องมือ ในการเมือง-โฟนอินของทักษิณ เพราะว่า ทักษิณเป็นเครื่องมือให้รากหญ้า และทักษิณไม่เหมือนสฤษดิ์ ที่มาจากทหาร โดยการรัฐประหาร เนื่องจากทักษิณมาจากการเลือกตั้ง แม้ทักษิณอาจจะมีลักษณะอุปถัมภ์แบบสฤษดิ์ แต่ว่าก็มีบริบทแตกต่างทางเศรษฐกิจ ระบบโลกาภิวัตน์ นโยบายประชานิยม(หรือนโยบายสาธารณะของทักษิณ จะทำลายระบบอุปถัมภ์ในปาฐกถาจักรภพ) และ การเมืองในการเลือกตั้ง พรรคไทยรักไทย-พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย และฝ่ายตรงกันข้าม เรื่องเล่าบันทึกลับทหาร-กลุ่มพันธมิตร(ที่ถูกเรียกม็อบมีเส้น) พรรคประชาธิปัตย์ ก็ใช้เครื่องมือกรณีปราสาทเขาพระวิหาร ในการเป็นฝ่ายค้าน ต่อรัฐสภา และอภิปราย รัฐบาลพรรคพลังประชาชน ที่กล่าวไปแล้วนั้น สะท้อนโจทย์ของเครื่องมือทางการเมือง คือสิ่งที่ท้าทาย และน่าสนใจมาก

 

 

หลังจากไม่มีเสียงโฟนอินของทักษิณ (เครื่องมือ) ในสนามศุภชลาศัย และการได้รับโหวตของอภิสิทธิ์

 

จากการโฟนอินในสนามราชมังคลากีฬาสถาน ที่ทักษิณพูดถึง "แน่นอน ไม่มีใครเอาผมกลับประเทศไทยได้ นอกจากพระบารมีที่จะทรงเมตตา หรือ(และ)พลังของพี่น้องประชาชนเท่านั้นการพูดประโยคดังกล่าว สะท้อนพระบารมี-อำนาจของภาษา ในเสียงโฟนอินของทักษิณ (ดั่ง"Language and Power") ถึงพี่น้องประชาชน โดยต่อมาการจัดงานครั้งล่าสุด ก็ถูกปิดกั้น "บล็อกสื่อ" ความจริงวันนี้ และตามด้วย ณ สนามกีฬาศุภชลาศัย จึงฉายเทปวิดีโอแทนการโฟนอิน โดยทักษิณกล่าวว่า"อย่าให้ผม(หมา)จนตรอก และการแสดงออกว่าด้วยความจงรักภักดี ฯลฯ" และวีระ หนึ่งในแกนนำ ก็กล่าวถึงการไม่มีโฟนอินว่า "เพื่อแลกกับตั้งรัฐบาล โดยการไม่โฟนอิน"

 

สะท้อนว่าทักษิณ และเสียงโฟนอิน เป็น "เครื่องมือ" (อำนาจ) แลกเปลี่ยนทางการเมือง ที่เชื่อว่าไม่ใช้เครื่องมือโฟนอินแล้ว จะได้ผลโหวตเป็นรัฐบาล โดยเอานายกรัฐมนตรีคนนอก พรรคเพื่อไทย หลังจากวันนั้น ที่สนามศุภชลาศัย ก็เกิดเหตุการณ์ควบคุมไม่ได้ และความหลากหลายของกลุ่มเสื้อแดง ทำให้มีท่าที่ สะท้อนออกมามากมาย แม้ว่าแกนนำ จะออกพูดเสียงออกทีวี พยายามไม่ให้บุกเข้ารัฐสภา และตามมาของการประเมิน หลายแบบ ว่าเป็นความผิดพลาด หรือความสำเร็จของ "เครื่องมือ" ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง และการไม่มีเสียงโฟนอิน ก็สะท้อนอำนาจของเครื่องมือก็ตาม

 

แต่ว่า พลังเสียง บรรยากาศของสนามกีฬา แสง-เงา องค์ประกอบศิลปะทางสุนทรียะ ส่งผลปลุกใจทางจิตวิทยาไม่ว่าการบริหารและจัดการ เวที จอภาพฉายถึงเทคโนโลยี และบทเพลง บทกลอนของจักรภพ(คล้ายส่งสารทักษิณในจักรภพ) อาจจะเสี่ยงคล้ายกรณีถูกฟ้องร้องของบทกลอน ที่ติดในมหาวิทยาลัยของ ม.น.ป. (คดีประวัติศาสตร์ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถึงชาวฟ้าจากข้าชาวดิน กรุงเทพฯ : เจริญวิทย์การพิมพ์, 2518) และเพลงของจิ้น กรรมาชน อื่นๆ คนเสื้อแดง คงไม่ลืมๆ แล้วเก็บไว้เป็นพลังอำนาจ เอาไว้ยังมีองค์ประกอบต่อประชาชน เพราะคนเสื้อแดง เชียร์อำนาจประชาธิปไตยและพรรคไทยรักไทย-พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย-ทักษิณ และแน่นอนว่า ยิ่งสื่อเอเอสทีวี ทำตัวเป็นศัตรูกับกลุ่มเสื้อแดง โดยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ไม่หยุดเอเอสทีวี-สนธิ,จำลอง ยังเป็นเป้าหมาย ต่อคนเสื้อแดง แน่ๆ เพราะการสร้างศัตรูทางการเมืองของเอเอสทีวี ทำให้เกิดปรากฏการณ์ ซึ่งคนเสื้อแดง ในใจลึกๆ มีศัตรูร่วมกัน คือ เอเอสทีวี อย่างช่วยไม่ได้ และเครื่องมือทางการเมืองของเอเอส ทีวี คือ สื่อ ประชาชน กองทัพ ประชาธิปัตย์ ซึ่งขึ้นมามีอำนาจในรัฐสภา จะไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะประชาธิปัตย์ สะท้อนน่าจะตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง ปรากฏตามข่าวดังกล่าว

 

 

เสียงเชียร์ของคนเสื้อแดง เป็น "เครื่องมือ" สำคัญต่อทักษิณ และเครื่องมือต่อมา ที่มีชื่ออภิสิทธิ์

เมื่อ "เครื่องมือ" ทางการเมือง ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะราชประชาสมาศัย ชาวต่างชาติ และถวายฎีกา อื่นๆ ทางการเมืองของกลุ่มเสื้อแดง และประชาชน ไม่ใช่มาตรา 7 เพราะกลุ่มคนเสื้อแดง (ประชาชน) สนับสนุนการยุบสภา เพื่อการเลือกตั้ง ไม่ใช่การรัฐประหารซ่อนรูป อย่างที่กลุ่มเสื้อแดง มีปัญหามาแล้ว ซึ่งความเงียบ เป็นพลังศักดิ์สิทธิ์ ได้เช่นกัน และมันก็ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ จัดการความจริง เสียงต่างๆ ในสังคม จึงเป็นความเงียบสงบ ก่อนจะเป็นเสียงชัยชนะที่กำลังจะมาถึงเฝ้ารอไว้หรือไม่ เพราะการแตกเสียงความสามัคคี ในเมื่อทักษิณยังอยู่เป็นสัญลักษณ์ พร้อมทั้งเป็นผู้นำของปฏิบัติการต่อแกนนำต่างๆ และติดตามโฟนอิน ครั้งต่อไป

 

อย่างไรก็ดี คนเสื้อแดง จะก้าวต่อไป ข้ามพ้น "เครื่องมือ"ในประชาธิปไตยหลัง 14 ตุลา บนถนนราชดำเนินหรือไม่? ทำให้ผมนึกถึงด้านกลับกัน ในการกล่าวถึงโอบาม่า บวกกับ มาร์ค (ชื่อเล่นของอภิสิทธิ์) ว่า โอบามาร์ค จะเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทย ซึ่งทำให้ผมนึกถึงหัวข้อการวิเคราะห์โอบามา ว่า อะไรเป็นการเปลี่ยนแปลง,อะไรเป็นอยู่เหมือนเดิม ก็คือความขัดแย้งซ่อน อยู่ในทางการเมืองไทย [13] ที่รอวันปะทุ นับตั้งแต่ประกาศผลโหวต ว่าให้ยุบสภา และทักษิณ เป็นสัญลักษณ์ หรือ "เครื่องมือ" ความเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบชาตินิยม โดยจะรู้ตัว หรือไม่รู้ตัวก็ตาม คนอย่างจักรภพ บวกกับทักษิณ เป็นเครื่องมือของคนเสื้อแดง และเสื้อแดง กับแกนนำ "รายการความจริงวันนี้สัญจร" ก็ดุจเป็นเหมือนน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า แก่พรรคเพื่อไทย ในการเตรียมการเลือกตั้ง ที่ให้มีเสียงมากกว่าเสียงปริ่มน้ำ เพราะว่า เครื่องมือทางการเมือง นอกจากทักษิณ การเลือกตั้ง เดินขบวน และยื่นเรื่องร้องเรียนกับบรรดาองค์กรตรวจสอบอิสระ แม้ว่าองค์กรบางแห่ง เช่น องค์กรสิทธิมนุษยชน พลังน้อยก็ตาม แต่น่าจะมีความหวังต่อไป

 

นั่นก็คือ วิกฤติการเมือง และวิกฤติเศรษฐกิจ ยังอยู่กับทุกคน และมุมมองด้านบวกว่า ทุกคนกำลังจะอยู่ในภาวะจุดเปลี่ยนสู่พัฒนาการทางการเมือง อาจจะดีขึ้นกว่าช่วง 2539-2540 ก็เป็นได้ เพราะว่า อุปมาการฟาดดาบของประชาธิปัตย์-พันธมิตร ฯลฯ นั้น จะรู้ตัว หรือไม่รู้ตัว ("อภิสิทธิ์" เป็นแค่เครื่องมือถูกชักใยโดยทหาร-พันธมิตร) เสียงสะท้อนผ่านสื่อทางเว็บบอร์ดของคนเสื้อแดง กล่าวประดุจว่า ดาบนั้น จะคืนสนองได้ ซึ่งอาวุธมีชีวิต ก็คือ คนเสื้อแดง นี่แหละ ร่างกายเป็นอาวุธในชีวิตประจำวัน เหมือนกับร่างกายของนักมวย ใช้ต่อสู้ คือ การสร้างสรรค์พลังชาตินิยม เฉกเช่นร่างเป็นชาติ และจิตวิญญาณเป็นประชาธิปไตย ก็ตาม ในการชูชาตินิยมเช่นเดียวกัน ซึ่งเสียงของคนสวมเสื้อแดง น่าจะเป็นการสร้างสรรค์ความงามทางพัฒนาการเมืองไทยให้ได้ [14] ไม่ได้เปล่าเปลือยทางความรู้ ด้านภูมิปัญญาทางการเมือง น่าจะเกิดการสร้าง พื้นที่แลกเปลี่ยนทางความคิดในทางการเมืองไทย

 

ขณะของการเปลี่ยนผ่านทางความคิดในการเมือง คือ การปะทะของภูมิปัญญา ระหว่างปัญญาชน รักชาติในเสื้อเหลือง และภูมิปัญญาชาวบ้าน บวกกับคนสวมเสื้อแดง รักชาติ ส่งเสียงระบายออกมา เช่น กรณีกลุ่มเพื่อนเนวิน-รัฐสภา สถานการณ์ในปัจจุบัน ก็รวมตัวกัน ที่สนามหลวงแล้ว ซึ่งความรักมาก ก็กลับมาเกลียดมากได้เช่นเดียวกัน เพราะเหรียญ มีสองด้าน ซึ่งอาจจะห้ามความรุนแรงฆ่าฟันมนุษย์กันอีกยาก

 

ดังนั้น โจทย์ของเสียงเสื้อแดง กับบันไดขั้นที่ก้าวต่อไป คือ คิดใหม่ทำใหม่ สร้าง "เครื่องมือ" เพื่อพัฒนากระบวนการ และขั้นตอน ประชาธิปไตยไม่ให้ถูกตัดตอน? ในความน่าจะเป็นไปได้ ตามแนวทางสันติวิธี เพื่อรอมีชีวิตไว้ ใช้ชีวิตตาม แต่ชื่นชอบ และเรียนรู้ติดตามการเมืองไทย ทั้งเสียงโฟนอินของทักษิณ จังหวะก้าวของแกนนำ และคนเสื้อแดง ถือธงประชาธิปไตย ซึ่งสถานการณ์ ทำให้คนเสื้อแดง และประชาชน ต้องอดทน จำใจอาจจะทดลองใช้ "เครื่องมือ" ที่มีชื่อว่า อภิสิทธิ์ (จะใช้ได้ หรือไม่ ก็ยังไม่รู้?) ในฐานะรัฐบาลของไทย ในทางเลือกจำกัด เหลือแค่เครื่องมือนี้ ซึ่งมีที่มาเกี่ยวข้องกลุ่มเสื้อเหลือง จึงเป็นปกติของเสื้อเหลือง จะมีปฏิกิริยา "เตือน" เพื่อควบคุมเครื่องมือ ที่มีชื่อว่าอภิสิทธิ์ แต่ก็ด้วยความเชื่อมั่นว่า ทำให้ภาพลักษณ์ ต่อนานาชาติ ว่าดูดีกว่ารัฐบาล จากการรัฐประหาร-ทหารอันชัดเจน จึงทำให้ในทางอ้อมคนเสื้อแดง และประชาชน ใช้เครื่องมือ คือรัฐบาล-อภิสิทธิ์ และการต่อสู้ในรัฐสภา ในฐานะฝ่ายค้านของพรรคเพื่อไทยไปก่อน ส่วนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในอนาคต และแล้ว ไม่นานของช่วงขณะเวลาแห่งการแสวงคำตอบ ในจินตนาการของทุกคน คิดต่ออนาคต เรื่องความเคลื่อนไหวจะปรากฏอีกครั้ง ประหนึ่งกับว่า เมื่อสายลมพัดธงปลิว สะบัด และคนเสื้อแดง ลุกมาสู้ ร่วมกันนำ รัฐนาวาแห่งประเทศไทย [15] และไม่ให้เหตุการณ์ซ้ำรอยประวัติศาสตร์ 6 ตุลา 2519 และฝากไว้อย่างหนึ่งในหัวใจ คือ ประชาชน

 

 

อ้างอิง

[1] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล "ประวัติศาสตร์วันชาติไทย จาก 24 มิถุนาถึง 5 ธันวา ใน ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 2 ฉบับที่ 2 เม.ย.-มิ.ย. 2547

 

[2] บทความนี้เขียนในช่วงหลายวัน หลังวันที่ 13 ธันวาคม 2551 เป็นสิ่งที่ผมคิดต่อจากปรัชญาประวัติศาสตร์ศิลปะแบบชาตินิยม: ปราสาทเขาพระวิหาร-อนุสาวรีย์ชัยฯ  http://www.prachatai.com/05web/th/home/12834 และ"24มิถุนา,28กรกฏา,4ธันวา, 10ธันวา" และ YoungPAD ผ่านประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมไทย (กำเนิดจากการสนทนากับผู้คน) http://www.prachatai.com/05web/th/home/14788 และเสียง ความทรงจำ กับอำนาจ: เสียงโฟนอินของทักษิณ ในสนามกีฬา http://www.prachatai.com/05web/th/home/14849 (ละครหมิ่นไม่มีจริงในสนามราชมังคลากีฬาสถาน)

 

แน่นอนว่าการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นประเด็นทางการเมือง ที่มีหลายคนโดนข้อหาทางกฎหมายดังกล่าว จึงเป็น"เครื่องมือ" และเรียนรู้เครื่องมือในการเคลื่อนไหว เช่น เรียกร้องยูเอ็น บทเรียนจากในอดีต และความจริงวันนี้สัญจร พยายามจะเรียกร้องต่อต่างชาติ ล่าสุดในสนามกีฬาศุภชลาศัย ต่างๆ

 

[3] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล deja vu: ทักษิณ V นายกฯพระราชทาน, พิบล-เผ่า V สฤษดิ์ http://somsakcouppostings.blogspot.com/2006/09/deja-vu-v-v-19-2549-2528.html

 

[4] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, "หลัง ๑๔ ตุลา ในทัศนะของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" ใน เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 24 ต.ค. 2548) http://www.midnightuniv.org/midnight2545/document95276.html

 

[5] ไชยันต์ รัชชกูล "รัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙": เราถกเถียงกันเรื่องอะไร (ฉบับร่าง) http://www.midnightuniv.org/forum/index.php?topic=1385.0

 

[6] Wall Street Journal: The 'Silent Coup'

http://online.wsj.com/article/SB122937186445607949.html

 

[7] ชาตรี ประกิตนนทการ "ความทรงจำ และ อำนาจ บนถนนราชดำเนิน" http://www.prachatai.com/05web/th/home/10934

 

[8] นิธิ เอียวศรีวงศ์, "ชาตินิยมในขบวนการประชาธิปไตย" ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 13 (11) (ก.ย. 2535) หน้า 180-201

 

[9] พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ "การเมืองไทยสมัยใหม่ สัปดาห์ที่ 9 (24 สิงหาคม 2550): "16 ตุลา 251?": จากความบกพร่องของพัฒนาการทางการเมือง สู่การเมืองภาคประชาชน การเมืองแห่งความทรงจำ และ การเมืองเชิงวัฒนธรรมว่าด้วย "วาทกรรมราชาชาตินิยม(ประชาธิปไตย)" www.polsci.chula.ac.th/pitch/modernthaipolitics2007/mt07l9.doc พิชญ์ ใส่เชิงอรรถไว้ว่าพึงสังเกตว่า เบน จบบทความ "บ้านเมืองของเราลงแดง: แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม". ของเขาในปี 1977 ว่า "ทั้งนี้เพราะประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ยกเว้นในกรณีของพรรคบอลเชวิคของเลนิน ได้แสดงเด่นชัดว่าไม่มีขบวนการปฏิวัติใดจะประสบชัยชนะได้ หากมิได้พิชิตหรือได้รับพรประทานของความเป็นนักชาตินิยม"

 

[10] ข้อสังเกต ไม่ใช่คำตอบ ต่อสิ่งที่นักวิชาการอย่างนิธิ เอียวศรีวงศ์ โดนวิจารณ์ เพราะการต้านทาน กับกระแสทักษิณ และไม่เอาทักษิณ(พูดง่ายๆว่าสองไม่เอา) นับตั้งแต่บทความของนิธิ ใน "บทความไม่มีชื่อ" ต่อเหตุการณ์เรื่องรัฐประหาร(ซึ่งเป็นความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์) จึงเท่ากับว่า นักวิชาการ พยายามเสนอเสียงเป็นกลาง(จริงหรือ?) และสิทธิ์ ที่จะไม่เลือก คือการเลือกอย่างหนึ่ง สะท้อนเสรีภาพของการไม่เลือก หรือ No Vote ก็ตาม (ในฐานะทางปรัชญาอัตถิภาวะนิยม ขยายความเป็นบทความได้เลย) ก็กลายเป็นดาบสองคม ที่นิธิ จะต้องรับไปเต็มๆ จึงเกิดนิธิ "ท้วงครู" เขียนบทความคัดค้าน ส.ศิวรักษ์ "เรื่องมาตรา 7" ซึ่งไม่เห็นด้วยก็ตาม และตามมาด้วยอภิสิทธิ์เป็นรัฐบาล

 

ส่วนนิธิ เอียวศรีวงศ์ ในฐานะปัญญาชนสาธารณะ ซึ่งการพูดกับสื่อสาธารณะ มีอำนาจและพลังต่อประชาชน ทำให้มีผลต่อการถูกวิจารณ์เป็นอีกประเด็นหนึ่งดังกล่าวนั้น ส่วนในทางด้านของผมคิดตั้งข้อสังเกตถึง Max Weber เรื่องความเป็นกลางทางค่านิยมในการศึกษาและวิชาการ ที่มีความป้องกันอคติในสถานการณ์ทางการเมืองยุคนั้น (อธิบายเพิ่มเติมสั้นๆว่า ผมไม่ถึงขั้นปกป้องนิธิ-ท้วงครูได้)ดังกล่าว และคำบรรยายของ เกษียร เตชะพีระ : "จาก 14 ถึง 6 ตุลา : สองชาตินิยมชนกัน"-กรณีเอกสารลับของกองทัพ-ราชาชาตินิยมและพรรคไทยรักไทย ซึ่งสะท้อนปฏิกิริยา ต่อประโยคที่ว่าด้วยการสู้กับสถาบันฯ(การอ้างอิงเอกสาร ถึงผู้ใช้นามแฝงว่าประดาบ) http://www.prachatai.com/05web/th/home/10817 และอรรคพล สาตุ้ม "นั่งสมาธิ ณ สนามหลวง" ก้าวที่กล้า วารสารนักศึกษา ปีที่ 5 ฉบับที่ 10 เมษายน 2549 และประภาส ปิ่นตกแต่ง กล่าวถึง ความเป็นไปของหลังรัฐประหาร 19 กันยา 2551 จากประชานิยม-เศรษฐกิจพอเพียง หลังเลือกตั้ง 23 ธันวา 2550 สมัครชูประชานิยมกลับมาด้วย และหนังสือของเขา บางคำจากผู้เขียนถึงช่วงประชานิยม โดยรัฐบาลสมัคร และบทเรียนที่เกิดขึ้นในชุมชน ซึ่งผ่านการเล่าของบทความชิ้นต่างๆ คงพอเป็นประโยชน์บ้าง ประภาส ปิ่นตกแต่ง "ก่อนภาคประชาชนล่มสลาย"

 

[11] วอลเดน เบลโล "ชูระบบเศรษฐกิจทางเลือก" ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 03 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3806 (3006) และ http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2006q3/2006july03p8.htm

 

[12] ผมนำเนื้อหา บทความมาเสนอบางส่วน เพื่อไม่ให้บทความนี้ยาวเกิน อ่านฉบับเต็มของนิธิ เอียวศรีวงศ์ "ทักษิณในปาฐกถาจักรภพ"มติชนรายวัน วันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11034 http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2008q2/2008may26p6.htm

 

[13] หัวข้อการวิเคราะห์เกี่ยวกับโอบามา Galston and Kristol see 2008 as turning point, to a point By Ruth Walker Special to the Harvard News Office http://www.news.harvard.edu/gazette/2008/11.13/99-postelection.html

 

[14] ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ "รัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และการเมืองไทย ในยุคสมัยแห่งเสียงของเสื้อผ้า" และนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ "วิชารัฐศาสตร์ไทย ในบริบทของประวัติศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง" ในรัฐศาสตร์สาร ปีที่ 21 ฉบับที่1 (2542)

 

[15] ล่าสุด ทักษิณ โฟนอินงานระดมทุน "ความจริงวันนี้" เปิดซ้ำสนามหลวง วีระเผยยอดคนร่วมไม่เข้าเป้า

http://prachatai.com/05web/th/home/14908

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net