Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 25 ก.ย.เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด และเครือข่ายชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1 "หยุด! ยึดพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน เพื่อให้นายทุนเช่าป่า-เล หากิน" ระบุจากการที่รัฐบาลได้สานต่อโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน และนโยบายจัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ด้วยการนำร่องเปิดป่าอุทยานฯ 30 แห่งทั่วประเทศ


 


ให้นายทุนเช่าเพื่อทำธุรกิจการท่องเที่ยวแบบครบวงจร ทั้งที่พัก ร้านค้า และอื่นๆ โดยมีระยะเวลา 30 ปี ในราคาเพียงตารางเมตรละ 30 บาทต่อเดือน แต่เอกชนขอให้ลดค่าเช่าลงเหลือตารางเมตรละ 3 บาทต่อเดือน สำหรับในจังหวัดตรังได้เปิดให้เช่าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม รวมเนื้อที่ 1,910 ไร่ ในพื้นที่หาดฉางหลาง, หาดยาว, เกาะกระดาน, หาดหยงหลิง, หาดสั้น และเกาะมุกด์


 


ในอีกด้านหนึ่ง ชุมชนดั้งเดิม ซึ่งสืบทอดภูมิปัญญาในการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากป่ามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน กลับถูกรัฐบาลใช้กฎหมายและนโยบายป้ายสีว่าเป็นผู้บุกรุกทำลายป่า และขับไล่ออกจากบ้านและพื้นที่ทำกินของตนเอง โดยการจับกุมดำเนินคดีทางอาญาและแพ่ง เรียกค่าเสียหายรายละหลายล้านบาท ตลอดจนทำลายพืชผลทางการเกษตรและยึดที่ดิน


 


"เมื่อคนจนเหล่านั้นรวมตัวเรียกร้องให้รัฐบาลและส่วนราชการแก้ปัญหาพร้อมทั้งรับรองสิทธิในการจัดการทรัพยากร กลับบอกว่าไม่สามารถดำเนินการได้เพราะขัดกับกฎหมาย แต่เมื่อคนรวยต้องการหากินกับป่า กลับรีบแก้กฎหมายอุทยานฯ เพื่อเปลี่ยนหลักการและเจตนารมณ์ของการจัดการอุทยานฯ ให้สนองการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันก็เตรียมอพยพโยกย้ายชุมชนดั้งเดิมที่ก่อตั้งมาก่อนการประกาศเขตอุทยานฯ" แถลงการณ์ระบุ


 


ด้วยเหตุผลดังกล่าวเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด และเครือข่ายชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง ซึ่งได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายข้างต้น มีความเห็นว่าหากปล่อยให้รัฐบาลเปิดป่าให้นายทุนหากิน และยึดพื้นที่ทำกินของคนจนเช่นนี้ ประเทศไทยต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมหาศาล จนยากที่จะฟื้นฟูกลับมาให้อุดมสมบูรณ์เช่นเดิม นอกจากนี้จะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนดั้งเดิมและเจ้าหน้าที่รัฐรุนแรงขึ้น


 


ตลอดจนทำให้ชาวสวนและชาวประมงจำนวนมากต้องสูญเสียพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยสูญเสียความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของชาติ รวมทั้งทำให้ชุมชนดั้งเดิมไม่สามารถจัดการดูแลรักษาทรัพยากรได้อย่างเดิม สิ่งเหล่านี้ขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2540, 2550 ว่าด้วยสิทธิชุมชน และสิทธิมนุษยชน และขัดแย้งกับปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอย่างยิ่ง


 


โดยมีข้อเสนอ คือ 1.รัฐบาลต้องยกเลิกนโยบายเปิดอุทยานฯ ให้นายทุนเช่าเพื่อทำการท่องเที่ยว และยกเลิกการปรับแก้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ฉบับปี 2504 เพื่อสนองการท่องเที่ยวและยึดที่ดินจากชุมชนดั้งเดิม ตลอดจนแสดงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดดังกล่าวต่อสังคม


 


2.รัฐบาลและส่วนราชการต้องเคารพสิทธิชุมชน และเปิดโอกาสให้ชุมชนดั้งเดิมจัดการทรัพยากรตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน ตลอดจนตั้งใจแก้ปัญหาเขตอนุรักษ์ทับซ้อนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย และยกเลิกกฎหมายและนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาดังกล่าว


 


3.ขอให้สังคมร่วมกันตรวจสอบและผลักดัน ให้รัฐบาลยกเลิกแนวคิดเปิดป่าและทะเลให้นายทุนหากิน ตลอดจนสนับสนุนให้ชุมชนดั้งเดิมจัดการทรัพยากรและทำกินตามวิถีดั้งเดิมสืบไป


 


นอกจากนี้เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด และเครือข่ายชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง ยังได้สรุปข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการเปิดพื้นที่อุทยานให้เช่าเพื่อการท่องเที่ยวเอาไว้ดังนี้


 



อุทยานที่เปิดให้เช่าแล้ว


 


1.อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง รวมพื้นที่ 7 แห่ง รวมทั้งหมด 1,910 ไร่ ได้แก่บริเวณที่ทำการอุทยาน (หาดฉางหลาง) เนื้อที่ 809 ไร่ บริเวณหาดยาว เนื้อที่ 440 ไร่ บริเวณเกาะกระดาน เนื้อที่ 118 ไร่ บริเวณหาดหยงหลิน เนื้อที่ 53 ไร่ บริเวณหาดฉางหลาง (เพิ่มเติม) เนื้อที่ 179 ไร่ บริเวณหาดสั้น เนื้อที่ 162 ไร่ และบริเวณเกาะมุกด์ เนื้อที่ 149 ไร่


2.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา จ.กระบี่ 2 แห่ง คือพื้นที่ตั้งอุทยานแห่งชาติ 1 (เกาะรอก) เนื้อที่ 336 ไร่ บริเวณชายหาดอ่าวไม้ไผ่ ใกล้จุดที่ทำการอุทยานฯลันตา เนื้อที่ 26 ไร่


 


3.อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ มี 4 แห่งคือบริเวณหาดนพรัตน์ธารา พื้นที่ 5 ไร่ บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแห่งที่ 2 (สุสานหอย) เนื้อที่ 12 ไร่ บริเวณที่ราบเกาะปอดะใน เนื้อที่ 70 ไร่ และบริเวณอ่าวต้นไทร เกาะพีพีดอน เนื้อที่ 40 ไร่


4.อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จ.สตูล 4 จุด คือบริเวณอ่าวจาก เกาะตะรุเตา เนื้อที่ 80 ไร่ อ่าวเมาะและ เกาะตะรุเตา เนื้อที่ 40 ไร่ บริเวณอ่าวราชา เกาะราวี เนื้อที่ 30 ไร่ และบริเวณอ่าวตะโละปะเหลียน เกาะราวี เนื้อที่ 60 ไร่ 


 


5.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา บริเวณเกาะตาชัย เนื้อที่ 45 ไร่ บริเวณอ่าวงวงช้าง เกาะแปด พื้นที่ 40 ไร่


 


6.อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต บริเวณท่าฉัตรไชย หาดลายัน เนื้อที่ 70 ไร่ และบริเวณหัวแหลมอ่าวปอ เนื้อที่ 30 ไร่


 


7.อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จ.พังงา บริเวณพื้นที่ตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ลป.3 (ปาง) และบริเวณข้างเคียง และบริเวณพื้นที่ตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ลป.3 (ปาง) ต่อเนื่องไปทางทิศเหนือ


 


8.อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์             9.อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่


10.อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง                 11.อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์           


12.อุทยานแห่งชาติภูกระดึง                    13.อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย


14.อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน              15.อุทยานแห่งชาติเอราวัณ


16.อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก


 


            นอกจากนี้ ยังเหลืออีกหลายอุทยานที่ยังไม่เปิดเผยข้อมูล


 


แก้กฎหมายอุทยานเอื้อท่องเที่ยว


1.เปลี่ยนหลักคิดและเจตนารมณ์ของการจัดตั้งอุทยาน จาก "นันทนาการ" ไปสู่ "การท่องเที่ยว"


 


2.เปิดให้กลุ่มทุน บริษัทเอกชนสามารถเช่าพื้นที่ และดำเนินกิจการเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและที่พักแรม (ม.40)


 


3.เปิดช่องว่างทางกฎหมายโดยให้จ่ายค่าชดเชยค่าเสียหาย เมื่อกระทำการสร้างความเสียหายแก่ระบบนิเวศ ป่าไม้ และสัตว์ป่า ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ (ม.41)


 


4.ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการทำลายทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่าได้ (ม.34)


 


5.ใช้หลักการ "ประกาศพื้นที่อนุรักษ์ ไปก่อน กันเขตภายหลัง" (ม.9-12)


 


6.ประกาศ "วนอุทยาน" ตัดขาดกระบวนการมีส่วนร่วม ไม่มีการสำรวจและกันแนวเขต (ม.48) ในขณะที่ความเข้มข้นของการบังคับใช้กฎหมายเท่ากับอุทยานแห่งชาติ (ม.50)


 


7.กำหนดชุมชนที่ถูกอุทยานทับที่เป็น "เขตผ่อนปรน" ให้ชุมชนอยู่อาศัยได้ชั่วคราว (ม.4) โดยต้องเข้าร่วมโครงการอนุรักษักับรัฐ (ม.29) และเปิดทางให้เอกชนเข้าไปดำเนินกิจการท่องเที่ยวหรือหาผลประโยชน์ (ม.39)


 


8.ให้อำนาจอธิบดีและเจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจในการอพยพโยกย้ายประชาชนในเขตผ่อนปรน (ม.29) จะทำให้ชุมชนขาดเสถียรภาพในการตั้งถิ่นฐาน


 


 


 


 


แถลงการณ์ฉบับที่ 1


หยุด ! ยึดพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน เพื่อให้นายทุนเช่าป่า-เล หากิน


 


ตามที่รัฐบาลได้สานต่อโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน และนโยบายจัดตั้งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) โดยการนำร่องเปิดป่าอุทยานฯ 30 แห่งทั่วประเทศ ให้นายทุนเช่าเพื่อทำธุรกิจการท่องเที่ยวแบบครบวงจร ทั้งที่พัก ร้านค้า และอื่นๆ โดยมีระยะเวลา 30 ปี ในราคาเพียงตารางเมตรละ 30 บาทต่อเดือน แต่เอกชนขอให้ลดค่าเช่าลงเหลือตารางเมตรละ 3 บาทต่อเดือน สำหรับในจังหวัดตรังได้เปิดให้เช่าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม รวมเนื้อที่ 1,910 ไร่ ในพื้นที่หาดฉางหลาง, หาดยาว, เกาะกระดาน, หาดหยงหลิง, หาดสั้น และเกาะมุกด์


 


ในอีกด้านหนึ่ง ชุมชนดั้งเดิม ซึ่งสืบทอดภูมิปัญญาในการดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากป่ามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน กลับถูกรัฐบาลใช้กฎหมายและนโยบายป้ายสีว่าเป็นผู้บุกรุกทำลายป่า และขับไล่ออกจากบ้านและพื้นที่ทำกินของตนเอง โดยการจับกุมดำเนินคดีทางอาญาและแพ่ง เรียกค่าเสียหายรายละหลายล้านบาท ตลอดจนทำลายพืชผลทางการเกษตรและยึดที่ดิน เมื่อคนจนเหล่านั้นรวมตัวเรียกร้องให้รัฐบาลและส่วนราชการแก้ปัญหาพร้อมทั้งรับรองสิทธิในการจัดการทรัพยากร กลับบอกว่าไม่สามารถดำเนินการได้เพราะขัดกับกฎหมาย แต่เมื่อคนรวยต้องการหากินกับป่า กลับรีบแก้กฎหมายอุทยานฯ เพื่อเปลี่ยนหลักการและเจตนารมณ์ของการจัดการอุทยานฯ ให้สนองการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันก็เตรียมอพยพโยกย้ายชุมชนดั้งเดิมที่ก่อตั้งมาก่อนการประกาศเขตอุทยานฯ


 


ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด และเครือข่ายชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง ซึ่งได้รับผลกระทบจากกฎหมายและนโยบายดังกล่าว มีความเห็นว่าหากปล่อยให้รัฐบาลเปิดป่าให้นายทุนหากิน และยึดพื้นที่ทำกินของคนจนเช่นนี้ ประเทศไทยต้องสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมหาศาล จนยากที่จะฟื้นฟูกลับมาให้อุดมสมบูรณ์เช่นเดิม นอกจากนี้จะส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนดั้งเดิมและเจ้าหน้าที่รัฐรุนแรงขึ้น ตลอดจนทำให้ชาวสวนและชาวประมงจำนวนมากต้องสูญเสียพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยสูญเสียความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงของชาติ รวมทั้งทำให้ชุมชนดั้งเดิมไม่สามารถจัดการดูแลรักษาทรัพยากรได้อย่างเดิม สิ่งเหล่านี้ขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2540, 2550 ว่าด้วยสิทธิชุมชน และสิทธิมนุษยชน และขัดแย้งกับปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนอย่างยิ่ง ดังนั้น จึงมีข้อเรียกร้อง ดังนี้


 


1.รัฐบาลต้องยกเลิกนโยบายเปิดอุทยานฯ ให้นายทุนเช่าเพื่อทำการท่องเที่ยว และยกเลิกการปรับแก้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ฉบับปี 2504 เพื่อสนองการท่องเที่ยวและยึดที่ดินจากชุมชนดั้งเดิม ตลอดจนแสดงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดดังกล่าวต่อสังคม


 


2.รัฐบาลและส่วนราชการต้องเคารพสิทธิชุมชน และเปิดโอกาสให้ชุมชนดั้งเดิมจัดการทรัพยากรตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชน ตลอดจนตั้งใจแก้ปัญหาเขตอนุรักษ์ทับซ้อนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย และยกเลิกกฎหมายและนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ปัญหาดังกล่าว


 


3.ขอให้สังคมร่วมกันตรวจสอบและผลักดัน ให้รัฐบาลยกเลิกแนวคิดเปิดป่าและทะเลให้นายทุนหากิน ตลอดจนสนับสนุนให้ชุมชนดั้งเดิมจัดการทรัพยากรและทำกินตามวิถีดั้งเดิมสืบไป


 


ทั้งนี้ เราจะร่วมกับองค์กรภาคประชาชนอื่นๆ และผู้รักความเป็นธรรมในระดับภาคใต้และระดับชาติ ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด และเคลื่อนไหวตอบโต้อย่างต่อเนื่อง จนกว่ารัฐบาลจะยกเลิกนโยบายดังกล่าว


 


ขอแสดงความนับถือ


เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด, เครือข่ายชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง


25 กันยายน 51


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net