Skip to main content
sharethis

หมายเหตุ: นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เขียนบทความ "การเมืองใหม่" ภายใต้การต่อสู้ของพันธมิตรฯ ผ่านผู้จัดการออนไลน์ ชี้แจงการเมืองใหม่ระบอบ "คัดสรร 70 เลือกตั้ง 30" โดยผู้เขียนเชื่อว่านี่เป็นการชูธงการเมืองใหม่ของทั้ง 5 แกนนำต่อมวลชนและสาธารณชน จะเป็นการยกระดับการต่อสู้ของแกนนำและมวลชนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย


 


พร้อมกันนี้ สุรีย์ มิ่งวรรณลักษณ์ ยังเขียน วิพากษ์บทความ "การเมืองใหม่ฯ" ของสุริยะใส กตะศิลา โดยเห็นว่าแกนนำพันธมิตรฯ หาได้เป็นการยกระดับการต่อสู้ของมวลชนแต่อย่างใดไม่ เป็นการนำพามวลชน "การถอยหลังเข้าคลอง" มากกว่า และการเมืองใหม่ที่ว่า มีราคาที่ต้องจ่ายอย่างการปฏิวัติ รัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ รัฐบาลแห่งชาติหรือรัฐบาลเฉพาะกาล หรือไม่


 


ประชาไทเชิญท่านผู้อ่านติดตาม


 


000


 


1.


"การเมืองใหม่"


ภายใต้การต่อสู้ของพันธมิตรฯ


 


โดย สุริยะใส กตะศิลา


ที่มา ผู้จัดการออนไลน์ 25 มิถุนายน 2551


http://www.manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9510000074892


 



 


"ข้อเสนอที่ท้าทายของแกนนำพันธมิตรฯ ที่เสนอสูตรผสมของผู้เข้าสู่อำนาจในสัดส่วน 70:30 กล่าวคือเพิ่มกระบวนการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็น ร้อยละ 70 และลดที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งโดยวิธีการเลือกตั้งลงเหลือร้อยละ 30 จึงเป็นเพียงการนับหนึ่งหรือริเริ่มจุดประกายให้สังคมได้ขบคิดถกเถียงขยายผลในวงกว้างต่อไป"


 


000


 


ภายหลังพันธมิตรฯ สามารถเคลื่อนขบวนหลายแสนคนฝ่าด่านกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนสามารถเข้ามายึดพื้นที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลได้เป็นผลสำเร็จ โดยไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเลือดตกยางออกอย่างที่หลายฝ่ายวิตกกังวล หลังจากนั้น พันธมิตรฯ ได้ตั้งเวทีถาวรขนาดใหญ่ที่สะพานชมัยมรุเชฐ และมีการเปิดปราศรัยปกติคล้ายๆ กับการชุมนุมยืดเยื้อที่สะพานมัฆวานรังสรรค์


 


ประเด็นที่ได้รับความสนใจและถามไถ่จากสื่อมวลชน กระทั่งกลายเป็นข้อถกเถียงตามมาในวงกว้างก็คือ การเปิดประเด็นของ 5 แกนนำบนเวทีปราศรัย ที่ชูธงปลุกมวลชน "ร่วมสร้างการเมืองใหม่" พร้อมๆ กับการวิพากษ์วิจารณ์โจมตีการเมืองแบบระบบรัฐสภาในปัจจุบันที่ไม่สามารถเยียวยาหรือแก้ไขวิกฤตการณ์ของชาติได้อย่างเท่าทัน


 


การเมืองใหม่ ได้กลายเป็นวาทกรรมการเมืองที่หลายฝ่ายออกมาตีความ ขยายความ ตั้งข้อสังเกต หรือกระทั่งเคลือบแคลงว่าพันธมิตรฯ มีวาระพิเศษหรือวาระซ่อนเร้นจากการชูธงผืนใหม่ใบนี้หรือไม่


 


ผมในฐานะผู้ประสานงานพันธมิตรฯ ซึ่งพอมีความใกล้ชิดทางความคิดกับแกนนำพันธมิตรฯ ทั้ง 5 คน ทั้งในห้องประชุมและนอกห้องประชุม


 


ผมเห็นว่า การชูธง "ร่วมสร้างการเมืองใหม่" ของทั้ง 5 แกนนำต่อมวลชนพันธมิตรฯ และสาธารณชนนั้น ถือเป็นการยกระดับการต่อสู้ของแกนนำ และมวลชนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย


 


เป็นการยกระดับที่อาจดูเหมือนล้ำหน้า และเกินความเข้าใจของประชาชนทั่วไป แต่เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องพูด ต้องเสนอและต้องกล้าจุดประกาย ก่อนที่ทุกอย่างจะสายหรือ ถ้าเปรียบประเทศเป็นปลาก็เหลือแต่ก้างไว้ให้ลูกหลานเท่านั้น


 


เมื่อ 2-3 ปีที่แล้วถ้าเราย้อนไปดูการก่อเกิดของพันธมิตรฯ เคลื่อนไหวขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้พ้นจากตำแหน่งนายกฯ และเปิดโปงความเลวร้ายของระบอบทักษิณ โดยชูวาทกรรม "กู้ชาติ" นั้น แม้สุดท้าย พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องพ้นจากตำแหน่งโดยการรัฐประหาร และต่อมาระบอบทักษิณ ได้ถูกรื้อถอนไปในระดับหนึ่งก็ตาม


 


แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้ข้อยุติ ซ้ำร้ายหลังการเลือกตั้งได้รัฐบาลนอมินี ยิ่งพบชัดเจนว่าการเมืองไทยมีทิศทางกลับไปสู่ระบอบทักษิณ และความเป็นใหญ่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กระทั่งกลุ่มทุนการเมืองในนามพรรคไทยรักไทยเดิม


 


ด้วยเหตุดังนั้น การประกาศฟื้นพันธมิตรฯ ภาค 2 จึงเลี่ยงไม่พ้น แต่ภายใต้สถานการณ์ใหม่จึงดูเหมือนธงการต่อสู้ของพันธมิตรฯ จึงเป็นธงผืนใหม่และใบใหญ่กว่าเดิม คือธง "โค่นระบอบทักษิณ ไล่รัฐบาลหุ่นเชิด" ในความหมายของ "สงครามกู้ชาติครั้งสุดท้าย"


 


ในขณะเดียวกันก็ประกาศสงครามครั้งใหม่ คือ การชูธง "สร้างชาติ" ภายใต้วาทกรรมการเมืองใหม่ ไปให้พ้นระบบรัฐสภาของนักเลือกตั้ง หรือประชาธิปไตยแบบ 4 วินาที หรือลัทธิเลือกตั้งเป็นใหญ่


 


"การเมืองใหม่" ในความหมายของพันธมิตรฯ จึงเป็นการเมืองที่เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ลดอำนาจหน้าที่ของตัวแทนหรือผู้แทนลง เพิ่มบทบาทและอำนาจให้กับประชาชนมากขึ้น


 


คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ประชาธิปไตยแบบระบบรัฐสภา หรือประชาธิปไตยแบบผู้แทนได้ถูกประจานไปทั่วโลกว่ามีขีดจำกัดและไม่มีศักยภาพในการรับมือกับวิกฤตการณ์ของโลกในยุคทุนสามานย์เป็นใหญ่ กระแสการพัฒนาประชาธิปไตยในทางสากลทั่วโลกจึงเริ่มให้ความสำคัญกับการปรับปรุงปฏิรูประบอบประชาธิปไตยให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้นมากขึ้น


 


ในบางประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ไม่เพียงแต่ลดบทบาทและอำนาจในการตัดสินใจของผู้แทนลงเท่านั้น แต่ยังเพิ่มและถ่ายโอนเคลื่อนย้าย "อำนาจในการตัดสินใจ" ไปที่ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยโดยตรงมากขึ้น ในรูปแบบของการประชาพิจารณ์ (Public Hearing) และประชามติ (Referendum) มากขึ้น


 


การเมืองใหม่ในความหมายของประชาธิปไตยแบบใหม่ จึงไม่ใช่แค่ต้องให้ความสำคัญกับที่มาหรือกระบวนการในการตัดสินใจใช้อำนาจเท่านั้น หากแต่ต้องสร้างหลักประกันว่าประชาชนทุกสาขาอาชีพ ทุกชนชั้นจะเข้าถึงอำนาจในการตัดสินใจหรือกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ ชาวนา กรรมกรผู้ใช้แรงงาน คนจนในเมือง คนจนในชนบท ชนเผ่าชายขอบ พ่อค้าวาณิชย์ นักธุรกิจชนชั้นกลาง ผู้หญิง คนพิการ คนด้อยโอกาสทางสังคม เป็นต้น


 


กล่าวเช่นนี้ย่อมแน่นอนว่าไม่ใช่แค่สัดส่วนหรือที่นั่งในอำนาจนิติบัญญัติ (ส.ส.-ส.ว.)จะต้องมีองค์ประกอบและหลักประกันที่หลากหลายเท่านั้น ในขณะเดียวกันอำนาจบริหารก็ต้องมีพื้นที่ให้กับคนกลุ่มต่างๆ เหล่านั้นในระดับที่แน่นอนเช่นกัน


 


ข้อเสนอที่ท้าทายของแกนนำพันธมิตรฯ ที่เสนอสูตรผสมของผู้เข้าสู่อำนาจในสัดส่วน 70:30 กล่าวคือเพิ่มกระบวนการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็น ร้อยละ 70 และลดที่มาของผู้ดำรงตำแหน่งโดยวิธีการเลือกตั้งลงเหลือร้อยละ 30 จึงเป็นเพียงการนับหนึ่งหรือริเริ่มจุดประกายให้สังคมได้ขบคิดถกเถียงขยายผลในวงกว้างต่อไป


 


ทั้งนี้ ในรายละเอียดหรือโมเดลของ การเมืองใหม่ จึงจำเป็นที่ผู้รู้ นักวิชาการ สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย และภาคส่วนต่างๆ จะนำไปขบคิดขยายผลเพื่อก้าวพ้นลัทธิเลือกตั้งที่ทุนเป็นใหญ่ ประเทศซื้อได้ และประชาชนเป็นเพียงผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ว่านอนสอนง่ายเท่านั้น


 


ที่กล่าวมาข้างต้น หลายคนอาจสงสัยว่าจะเริ่มตรงไหนอย่างไร ต้องปฏิวัติ รัฐประหาร ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ ต้องตั้งรัฐบาลแห่งชาติหรือรัฐบาลเฉพาะกาล อย่างนั้นหรือ ผมกลับเห็นว่าวิธีการอาจไม่สำคัญเท่ากับหลักการ หากวันนี้สังคมเห็นความสำคัญและความจำเป็นเร่งด่วนว่าเราต้องร่วมร่วมกันสร้างชาติและสร้างการเมืองใหม่แล้ว รูปแบบวิธีการก็อาจไม่ใช่เรื่องยากและอาจง่ายเกินกว่าที่เราคิดและอาจไม่ถึงขั้นต้องรบราฆ่าฟันกันกลางเมืองอย่างที่หลายฝ่ายกังวล


 


วันนี้ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ขอเป็นผู้ถือธงนำ และประกาศเป็นพันธสัญญาในการต่อสู้ครั้งนี้ร่วมกับผู้รักความเป็นธรรมทั่วไป สงครามครั้งสุดท้ายโค่นล้มระบอบทักษิณจึงเป็นเพียงระยะผ่านสู่ สงครามอันศักดิ์สิทธิ์ คือการ ร่วมกันสร้างการเมืองใหม่ ให้ปรากฏเป็นจริง...


 


000


 


2.


วิพากษ์บทความ


"การเมืองใหม่ฯ"


ของสุริยะใส กตะศิลา


 


โดย สุรีย์ มิ่งวรรณลักษณ์


  



ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์


 


หลายคนย่อมสงสัยเป็นแน่ว่า "ร่วมสร้างการเมืองใหม่" จะเริ่มตรงไหนอย่างไร ต้องปฏิวัติ รัฐประหาร ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ ต้องตั้งรัฐบาลแห่งชาติหรือรัฐบาลเฉพาะกาล ซึ่งเป็นทั้งหลักการ วิธีการ ที่มีความสำคัญในตัวมันเองอย่างมิอาจแยกจากกันได้ในสภาพที่เป็นจริง ซึ่งเมื่อกระทำผ่านอำนาจนอกระบบ อำนาจรัฐประหาร ย่อมอันตรายยิ่ง


 


"สงครามอันศักดิ์สิทธิ์" ที่กล่าวอ้างกัน


จะกลายเป็นเพียง "สงครามบาป" หรือไม่?


 


000


 


บทความของสุริยะใส กตะศิลา ลงหนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์ ชื่อ "การเมืองใหม่ ภายใต้การต่อสู้ของพันธมิตรฯ" กล่าวถึง การเปิดประเด็นของ 5 แกนนำบนเวทีปราศรัย ที่ชูธงปลุกมวลชน "ร่วมสร้างการเมืองใหม่" พร้อมๆ กับการวิพากษ์วิจารณ์โจมตีการเมืองแบบระบบรัฐสภาในปัจจุบันที่ไม่สามารถเยียวยาหรือแก้ไขวิกฤตการณ์ของชาติได้อย่างเท่าทัน


 


ผู้เขียนมีคำถาม มีข้อสังเกต ข้อโต้แย้ง บางประการ



1.คำถามก็คือว่า ระบบรัฐสภานั้นเลวร้ายไปหมดเลยหรือ? ในยุคเงื่อนไขประวัติศาสตร์ยุคปัจจุบันทั้งในประเทศไทยและระดับสากล ผู้เขียนคิดว่าเป็นคำกล่าวอ้างที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของพัฒนาการทางการเมืองไทย และแน่นอนว่า ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่า เพียงระบอบรัฐสภาในปัจจุบันไม่สามารถเยียวยาหรือแก้ไขปัญหาวิกฤตชาติได้อย่างเพียงฝ่ายเดียว จึงจำเป็นต้องมีการเมืองนอกระบอบรัฐสภาทำหน้าที่ควบคู่กันไปด้วย แต่มิได้หมายความว่ายกเลิกการเมืองระบอบรัฐสภาหรือให้มีเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เช่นโควตาอ้อยอย่างที่สุริยะใสต้องการ


 


2.ขณะเดียวกัน ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ในแต่ละยุคสมัย ได้ชี้ให้เห็นในเชิงเปรียบเทียบระหว่างเผด็จการทหารอำมาตยาธิปไตย กับการเมืองระบอบรัฐสภาที่ผู้แทนต้องมาจากการเลือกตั้งว่า ใครฟังเสียงประชาชนมากกว่า ระบอบไหนเปิดให้มีการตรวจสอบถ่วงดุลได้มากกว่ากัน ระบอบไหนที่มีวาระแน่นอนที่เอื้อให้ประชาชนเปลี่ยนตัวแทนที่เขาเลือกตั้งได้ใหม่เมื่อเขาไม่พึงพอใจ ระบอบไหนที่สื่อสารมวลชนสามารถเปิดโปงความเหลวร้ายของชนชั้นปกครองได้มากกว่า ในเงื่อนไขที่เป็นจริง แน่นอนว่ามิใช่ระบอบเผด็จการทหาร-อำมาตยาธิปไตย


 


เปรียบเสมือน ในหมู่บ้านหนึ่งๆ สมาชิกในหมู่บ้านเขาอยากเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านเอง ชาวบ้านเขาไม่ต้องการผู้ใหญ่บ้านที่กรมการปกครองเลือกให้เขาแน่เลย ชาวบ้านเขาต่อรองกับผู้ใหญ้บ้านที่เขาเลือกเองได้มากกว่าผู้ใหญ่บ้านที่กรุงเทพฯแต่งตั้งให้


 


3. และบทเรียน รัฐบาล และสนช.ที่มาจาการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารคมช. ภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน ที่ผ่านมา ก็ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า มีกฎหมายกี่ฉบับที่ลิดรอนกดขี่ สิทธิเสรีภาพของประชาชน การออกกฎหมายนับร้อยฉบับ ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ไม่เปิดเผย ประชาชนไม่มีโอกาสรับรู้ ไม่มีฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจเหมือนเช่นปัจจุบัน อย่างนี้หรือทางเลือกที่ดีกว่าระบอบรัฐสภา


 


4. บทความสุริยะใส ยังกล่าวว่า เป็น การชูธง "ร่วมสร้างการเมืองใหม่" ของทั้ง 5 แกนนำต่อมวลชนพันธมิตรฯ และสาธารณชนนั้น ถือเป็นการยกระดับการต่อสู้ของแกนนำ และมวลชนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย


 


แต่ผู้เขียนกลับมองว่า หาได้เป็นการยกระดับการต่อสู้ของมวลชนแต่อย่างใดไม่ เป็นการนำพามวลชน "การถอยหลังเข้าคลอง" มากกว่า ย้อนยุคมากกว่า


 


และหาได้เป็นการลำหน้ามวลชนแต่อย่างใดไม่


 


การพัฒนาประชาธิปไตย องค์ประกอบที่สำคัญคือ ประชาชนมีสิทธิในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรของเขาเอง ซึ่งคนส่วนหนึ่งอาจจะว่าเขาโง่ก็ตามที่เลือกผู้แทนน้ำเน่า แต่ในด้านหนึ่งเขาก็คิดว่าเขาก็ฉลาดพอที่ไม่เอาผู้แทนราษฎรแบบสนช. ที่ผู้ยึดอำนาจทำการรัฐประหารมอบให้พวกเขาหรือพันธมิตรจะมอบให้พวกเขา


 


 5. "การเมืองใหม่" ในความหมายของพันธมิตรฯ จึงเป็นการเมืองที่เอาพันธมิตรเป็นศูนย์กลาง ลดอำนาจหน้าที่ของตัวแทนหรือผู้แทนลง เพิ่มบทบาทและอำนาจให้กับพันธมิตรมากขึ้น ใช่หรือไม่? และประชาชนก็กลายเป็นเพียงเครื่องมือ เป็นหมากเบี้ยทางการเมือง เหมือนเช่นก่อน รัฐประหาร 19 กันยายน ทีผ่านมา ใช่หรือไม่?


 6. บทความสุริยะใส ยังได้กล่าวถึง กลุ่มประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย ไม่เพียงแต่ลดบทบาทและอำนาจในการตัดสินใจของผู้แทนลงเท่านั้น แต่ยังเพิ่มและถ่ายโอนเคลื่อนย้าย "อำนาจในการตัดสินใจ" ไปที่ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจอธิปไตยโดยตรงมากขึ้น ในรูปแบบของการประชาพิจารณ์ (Public Hearing) และประชามติ (Referendum) มากขึ้น


 


แต่ที่สำคัญ ประเทศเหล่านั้น มีประชาธิปไตยระบอบรัฐสภาเป็นรากฐานที่สำคัญ มิใช่อำนาจนอกระบบ อำนาจรัฐประหาร อำนาจอำมาตยาธิปไตย มาแทนที่


 


ดังนั้น จึงมิควรกล่าวอ้างถึงว่าต้องสร้างหลักประกันว่าประชาชนทุกสาขาอาชีพ ทุกชนชั้นจะเข้าถึงอำนาจในการตัดสินใจหรือกำหนดทิศทางในการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ ชาวนา กรรมกรผู้ใช้แรงงาน คนจนในเมือง คนจนในชนบท ชนเผ่าชายขอบ พ่อค้าวาณิชย์ นักธุรกิจชนชั้นกลาง ผู้หญิง คนพิการ คนด้อยโอกาสทางสังคม เป็นต้น


 


ในเมื่อเพียงอำนาจพื้นฐานในการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรยังถูกบดบังกดทับ และหลักประกันพื้นฐานที่สำคัญของคนเหล่านี้ คือสิทธิแสรีภาพในการต่อรองอย่างเสรีมากกว่า เหมือนเช่น ชาวบ้านสามารถต่อรองเรื่องพรบ.ป่าชุมชนในทุกยุคทุสมัยของรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง แต่เขาไม่สามารถต่อรองกับสนช.ได้อย่างที่ควรจะเป็น พรบ.ป่าชุมชนฉบับสนช. จึงเป็นกฎหมายป่าไม้อีกฉบับหนึ่งที่กดขี่ชาวบ้าน


 


7. และท้ายสุด หลายคนย่อมสงสัยเป็นแน่ว่า "ร่วมสร้างการเมืองใหม่" จะเริ่มตรงไหนอย่างไร ต้องปฏิวัติ รัฐประหาร ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ ต้องตั้งรัฐบาลแห่งชาติหรือรัฐบาลเฉพาะกาล ซึ่งเป็นทั้งหลักการ วิธีการ ที่มีความสำคัญในตัวมันเองอย่างมิอาจแยกจากกันได้ในสภาพที่เป็นจริง ซึ่งเมื่อกระทำผ่านอำนาจนอกระบบ อำนาจรัฐประหาร ย่อมอันตรายยิ่ง


 


"สงครามอันศักดิ์สิทธิ์" ที่กล่าวอ้างกัน


จะกลายเป็นเพียง "สงครามบาป" หรือไม่?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net