Skip to main content
sharethis

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. และอุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงสื่อและองค์กรสื่อ เรียกร้องให้หยุดพฤติกรรมยั่วยุ ปลุกปั่น โฆษณาชวนเชื่อ เรียกร้องรักษามาตรฐานจรรยาบรรณทางวิชาชีพ ที่ต้องเคร่งครัดต่อหลักการ ความเที่ยงธรรม และความรับผิดชอบที่สูงกว่าประชาชนทั่วไป ที่ไม่มีอำนาจสื่ออยู่ในมือ และสูงกว่ากระบอกเสียงโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายต่างๆ


           


 


00000


 


4 พฤษภาคม 2551


 


เรียน สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมวิชาชีพสื่อมวลชน และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่เคารพ


 


 


วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก (3 พฤษภาคม) เป็นวันที่ทุกฝ่ายควรทบทวนถึงสิทธิเสรีภาพพื้นฐานในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การแสดงความคิดเห็น ตลอดจนฐานะการเป็นเวทีสาธารณะที่เอื้อต่อการสื่อสารระหว่างฝ่ายต่างๆเพื่อช่วยให้สังคมไทยเผชิญกับปัญหาด้วยสันติวิธี  แต่ขณะนี้มีร่องรอยว่า ระบอบประชาธิปไตยของไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่อันตรายจากความขัดแย้งทางการเมืองที่อาจทรุดลงเป็นความรุนแรง ปัจจัยหนึ่งที่ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้คือ สื่อมวลชน


 


ความแตกต่างทางความคิดเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย แม้ต่างกันคนละขั้วก็ยังเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้  แต่ตัวความแตกต่างนั้นเองมิได้เป็นเหตุให้เกิดความรุนแรง ตราบเท่าที่ความแตกต่างสามารถปะทะขัดแย้งกันได้อย่างสันติตามกระบวนการทางการเมือง กระบวนการทางศาล และกระบวนการทางปัญญาผ่านสื่อและเวทีวิชาการ


 


หากเมื่อใดที่กระบวนการเหล่านั้นไม่ทำงาน หรือกลายเป็นปัจจัยยุยงส่งเสริมความเกลียดชังเสียเอง ความแตกต่างก็จะกลายเป็นความรุนแรง


 


คนซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบสื่อและสื่อที่ไม่รับผิดชอบกำลังส่งผลกร่อนทำลายประชาธิปไตยสังคมไทยใน 3 ทางดังนี้


1.       สร้างความโกรธแค้นเกลียดชัง ปลุกปั่นสถานการณ์เสียเอง


 


2.       โฆษณาชวนเชื่อ เป็นกระบอกเสียงของฝักฝ่ายทางการเมืองอย่างสุดหัวใจ ให้ร้ายใส่ความคู่ต่อสู้ด้วยเล่ห์เพทุบายสารพัด


 


3.        ทั้งหมดนี้ดำเนินไปขณะที่ ผู้ประกอบวิชาชีพและองค์กรของสื่อมวลชนเฉยเมยต่อการละเมิดจรรยาบรรณสองประการข้างต้น หรือทำตัวลู่ตามลม เลือกปฏิบัติปกป้องเฉพาะพวก ลงโทษเฉพาะฝ่าย


 


สิ่งที่ดูจะหายไปในแวดวงสื่อมวลชนไทยที่ทำการทั้ง 3 ประการข้างต้น คือ มาตรฐานและจรรยาบรรณทางวิชาชีพ ที่ต้องเคร่งครัดกับหลักการ ความเที่ยงธรรม และความรับผิดชอบที่สูงกว่าประชาชนทั่วไปที่ไม่มีอำนาจสื่ออยู่ในมือ และสูงกว่ากระบอกเสียงโฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายต่างๆ


 


เมื่อประกอบกับอำนาจที่มากขึ้นทุกวัน ผลก็คือสื่อมวลชนของไทยจำนวนหนึ่งกลายเป็นอภิสิทธิ์ชนที่ใช้อำนาจทำร้ายผู้ไม่มีอำนาจสื่ออยู่ในมือ โดยที่คนในวิชาชีพด้วยกันไม่กล้าทักท้วงตรวจสอบ


 


สื่อมวลชนเช่นนี้นอกจากจะไม่เป็นคุณต่อประชาธิปไตยแล้ว ยังกลับจะเป็นโทษอีกด้วย เพราะก่อความโกรธ หนุนความหลง และใช้เหตุผลเพียงเพื่อเอาชนะ ส่งผลโน้มน้าวสาธารณชนอย่างผิดๆ และที่สุดสามารถจุดชนวนให้ความแตกต่างทางความเชื่อและความคิดเห็นกลายเป็นความรุนแรง


 


ขณะที่เสรีภาพของสื่อต้องได้รับการปกป้อง สังคมไทยต้องไม่ปล่อยให้สื่อใช้อำนาจของตนอย่างฉ้อฉลจนอาจนำไปสู่ความรุนแรง


           


ผู้ประกอบวิชาชีพและองค์กรของสื่อมวลชนควรจัดการดูแลปัญหา "สื่อเป็นพิษ" อันน่าวิตกนี้โดยด่วนที่สุด ทั้งควรให้สาธารณชนมีส่วนร่วมด้วย โดยที่รัฐบาลไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้แต่อย่างใด


 


 


 


ขอแสดงความนับถือ


                                                           


ชัยวัฒน์ สถาอานันท์                                              อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์


คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์                    คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


                                                           




-----------
หมายเหตุ  โพสต์ฉบับปรับปรุง เมื่อ 18.20 น. วันที่ 5 พ.ค.51



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net