Skip to main content
sharethis


 


สุภัตรา ภูมิประภาส


 


จากบทความเดิมชื่อ : รางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจู 2551 แด่นักกฎหมายและ"นิติธรรมภิวัฒน์"แห่งปากีสถาน


 


มูเนอ เอ มาลิก (Muneer A. Malik) นักกฎหมายอาวุโสผู้นำทนายความและผู้พิพากษาออกมาต่อต้านรัฐบาลเผด็จการของนายพลมูชาราฟและเรียกร้องความเป็นอิสระของตุลาการในปากีสถาน เพิ่งได้รับการประกาศชื่อให้เป็นผู้ชนะรางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจู ประจำปี 2551 (The 2008 Gwangju Prize for Human Rights)


 


มูเนอ เอ มาลิก ได้รับเลือกให้เป็นผู้ชนะรางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจู ปี 2551 จากจำนวนผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ 21 คนจาก 10 ประเทศ คืออินโดนีเซีย  บังคลาเทศ  พม่า  จีน  อินเดีย  เกาหลี  ปากีสถาน  ศรีลังกา  ไต้หวัน  และเวียดนาม


 


ในการประกาศผลรางวัล เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2551 มูลนิธิอนุสรณ์สถานเหตุการณ์ 18 พฤษภาคมแห่งเมืองกวางจู[1] ประกาศว่า "มาลิก อดีตนายกสภาทนายความแห่งปากีสถาน [2] มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการนำการต่อสู้ของทนายความ ผู้พิพากษา และประชาชนชาวปากีสถาน เพื่อเรียกร้องความเป็นอิสระของตุลาการ..."


 


ท่ามกลางสถานการณ์รัฐประหาร ขณะที่นักกฎหมายในหลายประเทศกระโดดเข้าไปร่วมทำงานสนองนโยบายของรัฐบาลเผด็จการ  มาลิกเลือกที่จะยืนอยู่ตรงข้ามกับอำนาจเผด็จการของนายพลมูชาราฟที่ได้ฉีกกฎหมายสูงสุดของประเทศทิ้ง เขาออกมาต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหาร ที่เข้ามาแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม  สั่งปลดผู้พิพากษา และสั่งกักบริเวณประธานศาลที่ไม่สนองนโยบาย 


 


มาลิกออกมานำการเรียกร้องความเป็นอิสระของตุลาการ เรียกร้องนักกฏหมาย ทนายความ และผู้พิพากษาให้ยึดมั่นในหลักนิติรัฐ  และโชคดีที่การต่อสู้ของเขาไม่โดดเดี่ยว เพราะนักกฎหมาย ทนายความ และตุลาการของปากีสถานไม่ยอมก้มหัวให้รัฐบาลรัฐประหาร พวกเขาปฏิเสธอำนาจวาสนาที่มาจากการฉีกกฏหมายสูงสุดของประเทศ  มีทนายความ นักวิชาการด้านกฏหมาย และผู้พิพากษาจำนวนนับพันออกมาร่วมขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและดำรงไว้ซึ่งความเป็นอิสระของตุลาการและกระบวนการยุติธรรมของปากีสถาน


 


ผู้พิพากษาจำนวนมากประท้วงโดยการไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งของนายพลมูชาราฟที่ออกประกาศให้ผู้พิพากษาทุกคนมาทำการปฏิญานตนใหม่  และประชาชนออกมาสนับสนุนพวกเขา 


 


นับเป็นขบวนการตุลาการภิวัตน์ที่สง่างาม และได้รับการแซ่สร้องสรรเสริญไปทั่วประเทศ


 


และภายใต้กฏหมายเผด็จการของมูชาราฟ  มาลิกถูกจับกุมเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2550 ที่เมืองการาจี เขาถูกควบคุมตัวอยู่ 3 สัปดาห์ ในระหว่างนั้น เขาเกิดอาการป่วยอย่างรุนแรง เมื่อถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาล แพทย์แจ้งว่าพบสารพิษบางอย่างในร่างกายของเขา มีข้อสงสัยว่ามาลิกถูกวางยาพิษในระหว่างที่อยู่ภายใต้การควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่  และท่ามกลางข้อเรียกร้องกดดันจากองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆทั้งในและนอกประเทศ  รัฐบาลฯมีคำสั่งปล่อยตัวมาลิกในวันที่ 26 พฤศจิกายน  อย่างไรก็ตาม มาลิกต้องนอนพักรักษาตัวเป็นเดือนกว่าที่สุขภาพจะคืนสู่สภาวะปกติ


 


มาลิกยังคงนำการต่อสู้เรียกร้องเพื่อให้การดำเนินกระบวนการยุติธรรมและการใช้กฏหมายของปากีสถานกลับไปเริ่มต้นที่จุดเดิมก่อนที่จะเกิดการรัฐประหาร  เขาปฏิเสธกฎหมายทุกฉบับที่มาจากการใช้อำนาจเผด็จการ


 


การต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ประชาธิปไตยของมาลิกนั้น สอดคล้องกับเจตนารมณ์แห่งการต่อสู้ของชาวเมืองกวางจูเมื่อเดือนพฤษภาคม 2523 อันเป็นที่มาแห่งรางวัลสิทธิมนุษยชนกวางจู


 


เหตุการณ์สังหารหมู่ที่เมืองกวางจูเมื่อวันที่ 18 - 27 พฤษภาคม 2523 ถูกบันทึกไว้ว่าเป็นโศกนาฏกรรมการเมืองครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของเกาหลีใต้  


 


จุดเริ่มต้นของขบวนการต่อสู้ที่กวางจูเกิดขึ้นเมื่อคณะรัฐมนตรีประกาศขยายการใช้กฎอัยการศึกไปทั่วประเทศ  สั่งห้ามกิจกรรมทางการเมือง จับกุมคุมขังผู้ต่อต้าน และสั่งปิดมหาวิทยาลัย  เมื่อเกิดการต่อต้านและลุกลามไปทั่วประเทศ นายพลชุนดูวานส่งกองกำลังทหารพร้อมอาวุธครบมือออกไปประจำการตามเมืองต่างๆโดยมีโซล และกวางจู เป็นเป้าหมายหลัก  


 


ที่เมืองกวางจู นักศึกษาและประชาชนผนึกกำลังกันจับอาวุธขึ้นต่อสู้ปกป้องตัวเองจากการปราบปรามของทหาร แต่พวกเขาพ่ายแพ้ เมื่อการปราบปรามจบสิ้น กวางจูกลายเป็นสุสานฝังร่างผู้ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยจำนวนหลายพันคน และประชาชนอีกนับพันที่กลายเป็นผู้พิการ  โศกนาฏกรรมนี้ถูกเรียกว่าเป็น "การจลาจล" ในช่วงที่รัฐบาลชุนดูวานครองอำนาจ (พ.ศ. 2523- 2531)


 


เดือนสิงหาคม พ.ศ.2537 ชาวเมืองกวางจู ผู้รอดชีวิต และครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ฯ ได้ร่วมกันจัดตั้ง มูลนิธิอนุสรณ์สถานเหตุการณ์18 พฤษภาคม เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งการรำลึกถึงเหตุการณ์และสืบสานเจตนารมณ์ในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ ประชาธิปไตย และความสมานฉันท์ของประชาชนชาวกวางจู  และเพื่อร่วมทำงานสร้างสันติภาพและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน


 


วันที่ 18 พฤษภาคมปีนี้ มาลิก นักกฎหมายอาวุโสวัย 58 ปีที่ต่อสู้เพื่อดำรงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐแห่งปากีสถานจะขึ้นรับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ที่ชาวเมืองกวางจูสถาปนาขึ้นเพื่อสืบสานจิตวิญญานประชาธิปไตยและความสมานฉันท์ของขบวนการต่อสู้เพื่อเสรีภาพแห่งเมืองกวางจู


 


 


เชิงอรรถ


 


[1]The May 18 Memorial Foundation ก่อตั้งขึ้นโดยประชาชนเมืองกวางจู ในประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2537 เพื่อสืบสานเจตนารมณ์แห่งการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยของชาวกวางจูเมื่อเดือนพฤษภาคม 2523  ในการต่อสู้นี้ ประชาชนเมืองกวางจูหลายพันคนถูกสังหารโดยกองกำลังทหารภายใต้คำสั่งของรัฐบาลเผด็จการของนายพลชุนดูวาน


 


[2] The Supreme Court Bar Association ในปากีสถาน เป็นองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่คล้ายๆกับสภาทนายความในประเทศไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net