Skip to main content
sharethis



ศรายุธ ตั้งประเสริฐ


เมื่อได้เห็นรายชื่อผู้ที่ได้รับการเสนอเข้ารับการสรรหาเพื่อเป็นวุฒิสมาชิก ตามรัฐธรรมนูญ 2550 จำนวนหลักพัน ทำให้ผู้เขียนหมดความสนใจและคาดเดาเอาว่า "ว่าที่ ส.ว.ผู้ทรงเกียรติ" ก็คงจะเหมือนในอดีต ที่ ส.ว.มาจากการแต่งตั้งก็คือ กลุ่ม "นายทุน ขุนทหาร ข้าราชการเกษียณ และนักวิชาการ" ที่จงรักภักดีต่อผู้ยึดกุมอำนาจรัฐในยุคสมัยนั้น


แต่เมื่อใช้ความพยายามพิจารณาดูโดยละเอียด ทำให้ได้พบว่ามีรายชื่อของบุคคลที่มีบทบาททางสังคมในภาพของ นักอุดมคติ นักคิด นักเขียน นักปฏิวัติ นักเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีประวัติศาสตร์ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ในอดีตพวกเขาถูกเรียกว่า "ฝ่ายก้าวหน้า" และในปัจจุบันถูกเรียกว่า "ภาคประชาชน" จำนวนไม่น้อยได้ ซุกซ่อนรวมอยู่ด้วย


คำถามที่บังเกิดขึ้นในใจของผู้เขียนคือ มีปัจจัยอะไรที่กำหนดให้พวกท่านตัดสินใจอย่างนี้ ?????


แม้การเมืองไทยจะต้องตกอยู่ภายใต้กรอบที่บิดเบี้ยวของรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ในทัศนะผู้เขียน มันไม่ได้เป็นการผิดแปลกแต่อย่างใด หากพวกท่านจะเสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็น ส.ส.หรือ ส.ว. เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้คัดเลือกเข้ามาเป็นปากเสียงในรัฐสภา แต่ในการสรรหา ส.ว. ครั้งนี้มีความแตกต่างในทางหลักการที่ไม่สามารถปล่อยให้ผ่านเลยไปได้


ข้าราชการชั้นสูง 7 คน ที่ถูกเรียกเป็นคณะกรรมการสรรหาฯ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากสถาบันตุลาการ สถาบันที่เปี่ยมไปด้วยความยุติธรรม มีความจัดเจนในเรื่องการจำแนกผิดถูกดีเลว จะเป็นผู้ที่นำเอาอำนาจอธิปไตยของประชาชนในการเลือกตั้ง ส.ว.ที่ถูกคณะรัฐประหาร 19 กันยา ปล้นชิง มาใช้ในนามของ "ความยุติธรรมและความดี"


คำถามมีอยู่ว่า "ความยุติธรรมและความดี" จะเข้ามาแทนที่ อำนาจอธิปไตยที่เคยเป็นของประชาชนได้อย่างไร ???


เมื่อมองจากปรากฏการณ์ที่ผ่านมาโดยสายตาของประชาชน คนเดินดิน สถาบันตุลาการยอมรับและทำงานร่วมกับผู้มีอำนาจรัฐด้วยดีมาโดยตลอด แม้จากกลุ่มที่ทำรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ สถาบันฯ ก็ยินดีเข้าร่วมอย่างเข้าขาและไม่มีอาการตะขิดตะขวงใดๆ


ดังนั้น ตาชั่งแห่งความยุติธรรมของเหล่าคณะกรรมการฯ จึงยังไม่อาจประทับตราให้ผ่านมาตรฐานโดยประชาชนได้


ในส่วนของ "ความดี" ที่คละคลุ้งอบอวลอยู่ในสังคมไทยก็กลายเป็นปัญหา การเลือกตั้งที่ผ่านมา คนชั้นสูง พยายามจูงใจให้ประชาชนเลือกคนดีและชี้ชวนให้มองข้ามเรื่องแนวนโยบายทางการเมืองไป แต่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมา คนดีที่ประชาชนเลือกสรรแล้ว กลับทำให้พวกเขาเกิดอาการคลื่นเหียนวิงเวียน ทำให้เห็นได้ชัดว่าความดีของประชาชนกับของพวกเขาช่างแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง


สิ่งที่น่ากังขาต่อมาก็คือ ในกระบวนการสรรหาฯ ก็คือ เกณฑ์ในการชั่งตวงวัดความดีความสามารถของผู้ที่ถูกเสนอตัวเข้ารับการสรรหา ว่ามีคุณสมบัติเพียงพอที่จะได้รับเกียรตินี้หรือไม่นั้น หากมนุษย์เป็นเพียงวัตถุมวลสาร ย่อมสามารถนำเอากระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาบ่งชี้คุณสมบัติได้ แต่ในเรื่องคุณค่าของความเป็นมนุษย์ อภิชนทั้ง 7 ท่าน ใช้กรอบคิดแบบไหนมาสร้างเกณฑ์นี้ขึ้น? พวกเขามีความกล้าพอที่จะเปิดเผยเกณฑ์และข้อมูลในการสรรหาต่อประชาชนหรือไม่? ผู้เข้ารับการสรรหาฯและประชาชนจะสามารถยอมรับเกณฑ์การพิจารณาหรือไม่? แวดวงวิชาการจะตื่นตะลึงต่อเกณฑ์ของคณะกรรมการสรรหาฯ ว่าเกณฑ์ดังกล่าวเป็นเครื่องมือทางสังคมศาสตร์ที่ก้าวหน้าอย่างยิ่งยวด หรือเป็นเพียงตลกร้ายอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้ก่อการรัฐประหาร 19 กันยา ฝากไว้ให้คนไทยได้คิดถึง


ในแวดวงวิชาการไทย การบัญญัติคำศัพท์ใหม่ๆ ให้ฮิตติดปากคน มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าผลงานทางวิชาการ ผู้เขียนจึงใคร่ขอบัญญัติศัพท์ใหม่ เพื่อใช้ในการเรียกกระบวนการสรรหา ส.ว. โดยอภิชน ทั้ง 7 คนนี้ว่า "ระบบสัตตาธิปไตย" (คำเตือน!!! ผู้เขียนหมายถึง "อำนาจอธิปไตยของคน 7 คน" และไม่ควรอ่านออกเสียงในที่สาธารณะ เนื่องจากว่าอาจมีคนใกล้เคียงพยักหน้าเห็นด้วย)


ย้อนกลับมายัง ฯพณฯ ว่าที่ วุฒิสมาชิก ฝ่ายก้าวหน้าทั้งหลาย ทำไมท่านจึงตัดสินใจเลือกเข้าทำหน้าที่นิติบัญญัติโดยกระบวนการที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ช่างขัดกับหลักการประชาธิปไตยที่พวกท่านเคยต่อสู้เพื่อให้ได้มา และช่างย้อนแย้งโดยสิ้นเชิงต่อภาพลักษณ์ของท่านที่ฉายต่อสังคมและคนทำงานทางสังคมรุ่นหลัง


ความเชื่อถือถือศรัทธาที่ประชาชนคนทุกข์ยากเคยมอบให้ท่านประดุจเป็นอาภรณ์ที่ปกคลุมผิวกายจากความร้อนหนาวที่ผ่านมา แต่ท่านกลับเปลื้องปลดอาภรณ์ที่อาจดูคร่ำคร่าขาดวิ่นและล้าสมัย เพื่อวอนขอและรอรับอาภรณ์อันดูสูงค่าจากผู้ทรงอำนาจ


หรือว่านี่คือตัวตนที่ซ่อนเร้นของท่านซึ่งในที่สุดก็ได้เปิดเปลือยออกมา สังคมอุดมคติที่ท่านใฝ่ฝันถึง บรรลุได้ด้วยการ "ทำแทน" ประชาชนซึ่งในสายตาของท่านไม่ยอมก้าวหน้าเสียที ดังนั้น นับแต่นี้ต่อไป "เรา" ขอกำหนดอนาคตประชาชน แทนการ "กำหนดอนาคตตนเอง" ของประชาชนที่ดูจะไม่เท่าทันทุนนิยม (สามานย์) เสียเหลือเกิน


และคำตอบของพวกท่านไม่ (เคย) ได้อยู่ที่หมู่บ้าน หากแต่อยู่ที่วุฒิสภา และท่านไม่ (เคย) ศรัทธาในพลังชุมชน แต่ท่านศรัทธาในมือ (อำนาจ) ที่มองไม่เห็นต่างหาก


ถ้าเป็นเช่นนี้ ผู้เขียนพอจะได้คำตอบเลาๆ แล้วว่า อะไรเป็นหลักประกันความมั่นใจที่ทำให้พวกท่านกล้าที่จะเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาฯ น่าจะเป็นการตัดสินใจลงทุนที่ท่านเห็นแล้วว่ามีความคุ้มค่าพอที่จะนำเอาภาพลักษณ์ชื่อเสียงของตนเองเข้ามาแลกเปลี่ยน


ท่านคงมีความเชื่อมั่นว่าสังคมไทยไม่มีใครที่จะมาตั้งคำถามถึงจุดยืนและหลักการ หรือหากมีก็ไม่เป็นการยากที่ท่านจะป้องกันตัวเองโดยการตอบโต้ผู้ตั้งคำถามว่าเป็นพวกซ้ายไร้เดียงสา, เป็นลิ่วล้อไอ้หน้าเหลี่ยม หรือวิธีการที่ดีที่สุดก็คือการนิ่งเฉย !! เพราะสังคมไทยพร้อมที่จะให้อภัย (ลืม) กับความเลวร้ายที่เกิดขึ้นได้เสมอ(โดยเฉพาะกับผู้มีอำนาจเท่านั้น !!!)


แต่การตัดสินใจในครั้งนี้ของพวกท่านได้ทำให้การสละชีวิตของเพื่อนมิตรผู้รักความเป็นธรรมของพวกท่านกลับกลายเป็นความตายที่แสนจะว้าเหว่และเบาหวิวอย่างเหลือทนในความรู้สึกของผู้เขียน


สุดท้ายนี้มันจะเป็นอะไรไปเล่า ถ้าใบหน้ายาวๆ ของผู้เขียนจะเปลี่ยนทรงเป็นรูปเหลี่ยมไปบ้าง ก็ในเมื่อใบหน้าของผู้คนที่มีความเห็นต่างจากพวกท่านอีกเป็นจำนวนมากรวมถึง เพื่อน (ในกลุ่มปีกซ้ายพฤษภา) ที่ผู้เขียนเคารพ 2 ท่าน ได้ถูกพวกท่านช่วยกันจับยัดใส่กรอบสี่เหลี่ยมไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว


 


หมายเหตุ
1.รายชื่อของผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็นวุฒิสมาชิกสามารถหาดูได้จาก http://www.ect.go.th


2.รายชื่อของผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็นวุฒิสมาชิกที่น่าจะดูเป็นฝ่ายก้าวหน้าสามารถดูได้จาก


2.1 บทความ ผู้นำภาคประชาชน:คุณคือใคร??? โดย สุรีย์ มิ่งวรรณลักษณ์ http://www.prachatai.com/05web/th/home/11008


2.2 ความเห็นของผู้อ่านจาก บทความ การเสนอตัวเป็น ส.ว. แต่งตั้ง ขั้นตอนต่ำสุดในความเสื่อมโทรมของผู้นำภาคประชาชน โดย ใจ อึ๊งภากรณ์


http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ID=10980&Key=HilightNews


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net