Skip to main content
sharethis

สมชาย หอมลออ
เลขาธิการ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)

ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)


เมื่อสองเดือนก่อนคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) โดยพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อุตส่าห์ไปนั่งหัวโต๊ะการประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งๆ ที่ไม่มีหน้าที่ และได้ผลักดันให้ ครม.รับร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ...จนสำเร็จ แม้จะมีเสียงท้วงติงใน ครม. บ้างเช่นจากตัวนายกรัฐมนตรีเอง แต่ในที่สุด ครม.ก็รับหลักการและส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฏีกาแก้ไขปรับปรุง


ร่างกฏหมายฉบับดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านจากเกือบจะทุกฝ่าย ทั้งสื่อมวลชน นักวิชาการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) องค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรสิทธิมนุษยชน ว่านอกจากจะเป็นกฎหมายที่หากออกมาจะละเมิดสิทธิมนุษยชน และสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างรุนแรงแล้ว  ยังจะทำให้ประเทศไทยมีสองรัฐบาล คือรัฐบาลหนึ่ง คือกองอำนาวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ที่มีกองทัพบกเป็นแกนนำ เนื่องจากผู้บัญชาการทหารบกจะดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการ กอ.รมน.โดยตำแหน่ง กับอีกรัฐบาลหนึ่งเป็นรัฐบาลพลเรือนที่จะมาจากการเลือกตั้ง ในลักษณะ "รัฐซ้อนรัฐ" จึงได้ตั้งเป็นข้อสังเกตว่า การที่ คมช.พยายามผลักดันกฏหมายที่มีความสำคัญและละเอียดอ่อนต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างยิ่งอย่างรีบเร่งเช่นนั้น มีเจตนาที่แอบแฝงเพื่อสืบทอดอำนาจของ คมช.หรือไม่


จากเสียงคัดค้านรอบทิศ ในที่สุดก็มีข่าวออกมาจากรัฐบาลว่า ได้จัดอันดับความเร่งด่วนของกฏหมายการรักษาความมั่นคงฯ เสียใหม่ โดยเปลี่ยนจากกฎหมายที่อยู่ในบัญชี ก. ซึ่งถือเป็นร่างกฎหมายที่เร่งด่วนที่สุด มาอยู่บัญชี ค. ซึ่งไม่เร่งด่วน


แต่แล้วจู่ๆ เมื่อวันอังคารที่ 16 ตุลาคมนี้เอง ที่ประชุม ครม. ซึ่งก็มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งหมาดๆ และเข้าประชุมด้วย ก็ผลักดันร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรที่คณะกรรมการกฤษฏีกาได้ขัดเกลาแล้ว ให้ผ่านความเห็นชอบของ ครม.เพื่อเสนอให้ สนช.พิจารณาจนได้ ทั้งยังระบุว่า จะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคมนี้ พร้อมกับอ้างว่า ได้มีการปรับปรุงแก้ไขแล้ว โดยเปลี่ยนให้นายกรัฐมนตรีเป็น ผอ.รมน. แทนที่จะเป็นผู้บัญชาการทหารบก ดังที่ระบุไว้ในร่างเดิม และอ้างว่าต้อง! เร่งตราออกมาเป็นกฎหมาย เพื่อจะได้ยกเลิกกฎอัยการศึกที่ยังประกาศคาอยู่ในหลายจังหวัด ตามคำเรียกร้องของบรรดานักการเมือง


ข่าวการผลักดันร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ ออกมา ประจวบเหมาะกับข่าวที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบาย ให้การต่อต้านการซื้อสิทธิขายเสียงเป็นวาระแห่งชาติ  และนายกรัฐมนตรีก็ได้แต่งตั้งให้ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลินเป็นประธานคณะกรรมการระดับชาติเพื่อปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว


จึงทำให้หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า กอ.รมน.จะถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของคนบางกลุ่ม เพื่อสกัดกั้นกลุ่มอำนาจเก่า ในการเลือกตั้งหรือไม่ และในที่สุดจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจของ คมช.หรือไม่


เมื่อมาพิจารณาจากเนื้อหาของร่างกฎหมายที่ได้มีการ "ปรับปรุง" แล้ว โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ จริงอยู่ แม้ตำแหน่ง ผอ.รมน.จะเปลี่ยนเป็นนายกรัฐมนตรี และการออกข้อกำหนดต่างๆ ที่จะกระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะให้เป็นอำนาจ ของ ครม. ก็ตาม แต่รอง ผอ.รมน.เป็น ผบ.ทบ. โดยตำแหน่ง. และกฎหมายกำหนดให้นายกรัฐมนตรีสามารถมอบอำนาจทั้งหมดให้ รอง ผอ.รมน.ได้


ยิ่งไปกว่านั้น ร่างกฎหมาย ยังคงสาระสำคัญหลายประการที่เป็นการจำกัดและลิดรอนอำนาจการตรวจสอบของศาล เช่น ในมาตรา 22 ที่ระบุว่า บรรดาข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามกฎหมายการรักษาความมั่นคงฯ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาปกครอง กล่าวง่ายๆ ก็คือ ใครที่เดือดร้อนจากข้อกำหนด ประกาศ และการกระทำตามกฎหมายดังกล่าวจะไปฟ้องร้องศาลปกครองว่า เพื่อขอความยุติธรรมไม่ได้


มาตรา 23 ก็กำหนดว่า เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว ไม่ต้องรับผิดทั้งทางอาญา ทางแพ่ง หรือทางวินัย ถ้าได้ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยเชื่อว่าเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฏหมาย ไม่ว่าคำสั่งนั้นจะถูกจะผิดอย่างไร เท่ากับเป็นการตัดอำนาจศาลยุติธรรมในการเยียวยาและประสาทความยุติธรรมต่อประชาชน


บทบัญญัติดังกล่าว นอกจากจะเป็นการส่งเสริมการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ไปในทางที่ผิดแล้ว ยังเป็นการขัดต่อหลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  ที่ยึดถือหลักการตรวจสอบถ่วงดุล โดยเฉพาะการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร โดยฝ่ายตุลาการ ซึ่งในปัจจุบันถือเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนจริงๆ


แล้วต่อจากนี้ประชาชนจะไปพึ่งพาใคร นอกจากต้องวิ่งเข้าซบผู้มีอำนาจในวงราชการ เพื่อให้ช่วยปกป้องคุ้มครองและอุปถัมภ์ค้ำจุน


ประเด็นที่ต้องอพิจารณาอย่างหนัก ดังที่ได้กล่าวไว้คือ การที่จะมีผู้ใช้ กอ.รมน.เป็นเครื่องมือทางการเมือง  กอ.รมน. มีกองทัพเป็นแกนนำ ดังนั้นเรื่องที่น่าห่วงใยที่สุดก็คือ กองทัพแห่งชาติในที่สุดก็ จะกลายเป็นเครื่องมือของนักการเมืองและ/หรือ คนในกองทัพที่เล่นการเมือง


การเมืองโดยกองทัพนั้นเป็นภัยอย่างยิ่งต่อการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย  เนื่องจากกองทัพเป็นขุมกำลังของชาติที่ใหญ่และมีพลังที่สุด แล้วเมื่อกองทัพมายุ่งเกี่ยวกับกิจการที่ไม่ใช่การป้องกันชาติ แต่เป็นกิจการเมืองและการบริการบ้านเมือง ในที่สุด กองทัพจะเปลี่ยนทุกสิ่งทุกอย่างให้เป็นแบบทหารหมด


มองดูอนาคตประชาธิปไตยไทยแล้ว น่าสลดหดหู่เสียจริงๆ ดังนั้น หาก สนช.ต้องการจะปฏิรูปการเมืองแล้ว ขอความกรุณาอย่าได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ.... ฉบับนี้เลย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net