Skip to main content
sharethis

นักสังเกตการณ์ (The Observers) : โครงการอบรมอาชีพ 4 เดือน ..ความสมัครใจที่ถูกบังคับ (ตอนที่ 1)


 


 


6 ตุลาคม 2550


 


แม้จะร่ำเรียนกฎหมายมา แต่ นักสังเกตการณ์ อย่างพวกเรา แทบจะไม่รู้จักคำว่า Habeas Corpus จากห้องเรียน การทำความรู้จัก-เข้าใจมันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เริ่มต้นตอนที่ นิปาดี พูดถึงมันในฐานะที่มันเป็นประเด็นของงานเรา


 


 


-1-


 


 


"..ตอนนั้นกำลังนอนอยู่ ประมาณตีห้า ก็มีเสียงเคาะประตู มีทั้งทหาร ตำรวจ อส. ..เขาเข้ามาในบ้าน-ค้นบ้าน-แล้วก็จับตัวไป (มีหมายจับ หมายค้นไหม) ไม่เห็นมีนะ มันเป็นยังไง (ได้ถามเขาไหมว่าจับข้อหาอะไร จับไปไหน) ..ถาม เขาบอกว่า เอาไปเดี๋ยวๆ ..ไม่รู้ว่าไปไหน.."


 


เด็กสาววัยยี่สิบเศษ แม่ของลูกวัยประมาณสามเดือน


ให้ข้อมูลถึงการจับกุมสามีของเธอไปเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2550


(ข้อมูลจากสมุดบันทึก 25 สิงหาคม, จ.ปัตตานี)


 


 


 


วันนั้น-โดยการประสานงานของคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ-พวกเรามีโอกาสได้พบกับกลุ่มญาติของ "ผู้ถูกควบคุมตัว" นอกจากผู้ชายที่เป็นพ่อ ปู่หรือตา หรือญาติแล้ว ก็คือแม่และเมียที่อุ้มลูกจูงหลานมา (พวกเราเหมือนอยู่ในเนอสเซอร์รีที่ไหนสักแห่ง) ทุกคนมีประสบการณ์ไม่แตกต่างกัน คือ ผู้ชายในครอบครัวถูกเอาตัวไปจากบ้านในช่วงเช้ามืดของเดือนกรกฎาคม บางคนอยู่ระหว่างทางจะไปร้านกาแฟหลังละหมาดเสร็จ เจ้าหน้าที่รัฐ ทหาร ตำรวจ อาสาสมัครรักษาดินแดนสนธิกำลังเข้าปิดล้อมหลายหมู่บ้าน โดยไม่มีการแสดงหมายค้น หมายจับ บางครอบครัวได้รับการบอกเล่าเพียงแค่ว่า "แค่ไปสอบถาม เดี๋ยวก็ปล่อยแล้ว"..แต่นับจากวันที่ถูกจับไป สามี-ลูกชาย-หลานชาย-พี่หรือน้องชายของพวกเธอ ยังไม่ได้กลับบ้าน


 


มันน่าจะเป็นปัญหาที่หนักหน่วงไม่แพ้กันสำหรับพวกเธอ-ทั้งการขาดรายได้จากการกรีดยางไปหนึ่งหรือสองแรงงานต่อวัน (หมายถึงเงิน 100-200 บาท/วัน) และการขาดที่พึ่งพิงทางจิตใจของครอบครัวสำหรับคนเป็นเมีย-แม่ และลูก ..เป็นเรื่องที่รู้ดีอยู่แก่ใจ - ภายใต้บรรยากาศความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงอ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ..ในความกลัว-การมี ปืน HK (Heckler & Koch), AK-46 หรือ 47, 9 หรือ 11 มม. M-16, เสื้อเกราะข้างตัว อาจช่วยให้ใครหลายคนสบายใจขึ้น แต่สำหรับชาวบ้านธรรมดาๆ แล้ว การอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตาของสมาชิกในครอบครัวเป็นความอบอุ่นใจอย่างหนึ่ง


 


 


 


-2-


 


 


" ..ผู้ที่สามารถเข้าร่วมโครงการนี้ได้มี 2 กรณีเท่านั้น ถูกควบคุมตัวเนื่องจากถูกซัดทอด กับผู้ที่เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดตรวจพบสารประกอบระเบิดตามร่างกายหรือเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และต้องเข้าร่วมด้วยความสมัครใจ" "..ทั้งสองกรณีเป็นหลักฐานที่พอฟ้องได้ ซึ่งเราเห็นว่า ถ้าปล่อยให้ถูกดำเนินคดีต่อไป ไม่น่าจะเกิดประโยชน์กับเขา เพราะอาจต้องใช้เวลาต่อสู้คดีนาน 3 ปี ต้องเสียค่าทนายและอาจต้องหาเงินมาประกันตัว ยิ่งหากศาลมีคำพิพากษายกฟ้องก็จะยิ่งไม่เกิดประโยชน์กับเขาเลย.."


พงษ์จรัส รวยร่ำ


อนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน


หนึ่งในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ที่มา : ดูเชิงอรรถ 1)


 


 


"เห็นด้วยกับคณะอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 [หมายถึง นายพงษ์จรัส และสุรสีห์ โกศลนาวิน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ] ที่มองว่า ผู้ที่ถูกควบคุมตัวเป็นผู้หลงผิด จำเป็นต้องนำมาเยียวยา"


พ.อ.อัคร ทิพย์โรจน์


โฆษกกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร หรือ พตท. (ที่มา : ดูเชิงอรรถ 1)


 


 


 


"ถ้า ผู้ถูกควบคุมตัว กระทำผิดจริง ก็สมควรต้องถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ถ้าเขาไม่ได้กระทำความผิด พวกเขาก็สมควรได้รับการปล่อยตัว"


            อังคณา นีละไพจิตร


วันที่ 26 สิงหาคม 2550 จ.ปัตตานี


 


 


 


ภายใต้ "แผนยุทธการพิทักษ์แดนใต้" ได้นำไปสู่ยุทธการปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายหลายสิบจุดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2550 เป็นต้นมา มีผู้ถูกควบคุมตัว (เจ้าหน้าที่รัฐ เรียก "ผู้ถูกเชิญตัว") จำนวนมาก รวมล่าสุดมากกว่า 1,000 คน (ข้อมูลสิงหาคม 2550) [1] การปิดล้อมและจับกุมนั้น เป็นการดำเนินการโดยอ้างพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 และพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยปราศจากหมายจับและหมายค้น และเพื่อการควบคุมตัวเพื่อซักถามได้เป็นเวลา 7 วัน ตามกฎอัยการศึก และอีก 30 วัน ตามพ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินฯ


 


โดยหลักการ ภายใต้กฎหมายพิเศษ 2 ฉบับดังกล่าว เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 37 วันที่ถือว่าเป็น การควบคุมโดยชอบด้วยกฎหมาย (ที่ยังมิได้หมายความว่า มันเป็นเรื่องถูกต้อง ชอบธรรมตามกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้หลักนิติธรรม-เราจะกลับมาพูดถึงประเด็นนี้อีกครั้งอย่างแน่นอน) แล้ว เจ้าหน้าที่รัฐควรต้องมีหลักฐานเพียงพอสำหรับการดำเนินการ 2 แนวทาง คือ "ปล่อยตัวไป" หรือ "ฟ้องเป็นคดีอาญา"


 


อย่างไรก็ดี "โครงการฝึกอบรม 4 เดือน" ที่ค่ายทหาร 3 แห่ง คือ ค่ายวิภาวดีรังสิต จ.สุราษฎร์ธานี ค่ายกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ จ.ชุมพร และค่ายรัตนรังสรรค์ จ.ระนอง ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อยืดระยะเวลา การควบคุมตัว ออกไป  ว่ากันว่า-เป็นความคิดที่ริเริ่มโดยกรรมการสิทธิมนุษยชน โดยนายพงษ์จรัส รวยร่ำ อนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 1 และนายสุรสีห์ โกศลนาวิน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่เสนอว่า "ควรนำผู้ถูกควบคุมตัว บางส่วน ไปฝึกอบรมอาชีพระยะเวลา 4 เดือน" โดยความร่วมมือของกองทัพภาคที่ 4 การกระทรวงแรงงาน และการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์" และการเข้าร่วมโครงการฯ ดังกล่าว ทั้งภาครัฐและเจ้าหน้าที่จากกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เกี่ยวข้องต่างยืนยันว่า เป็นไป "โดยสมัครใจ" [2] และมีองค์กรประสานงานหลักในพื้นที่คือมูลนิธิฮิลาลอาห์มัร[3]


 


แต่ข้อมูลจากญาติจากหลายครอบครัว พวกเราพบข้อเท็จจริงอีกด้านที่ว่า การเข้าร่วมโครงการดังกล่าว มิได้เป็นไปโดยสมัครใจ ทั้งหมดได้รับข้อเสนอจากเจ้าหน้าที่ว่า หากไม่เข้าร่วมโครงการฯ ก็จะถูกส่งตัวให้ตำรวจดำเนินคดีอาญา โดยจะไม่ได้รับการประกันตัว และเมื่อคดีไปถึงชั้นศาล จะใช้เวลานานมากกว่า 1 ปีขึ้นไป ต้องเสียเงินจำนวนมากสำหรับค่าทนาย การกลับบ้าน อาจทำให้ไม่ได้รับความปลอดภัย และเมื่อตัดสินใจเข้ารับการฝึกอบรมจะต้องเซนต์ชื่อเพื่อแสดงเจตนาว่า "สมัครใจ ยินยอมเข้ารับการอบรม โดยไม่มีใครบังคับ"


 


สองทางเลือกจากปากของเจ้าหน้าที่รัฐ-ลองทำเป็นลืมตัวเลข 203 คน ซึ่งเป็นจำนวนผู้ถูกควบคุมในค่ายทหารทั้ง 3 แห่งที่ปรากฎบนเวปไซต์ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร http://www.southpeace.go.th--ก็คงเดาได้ไม่ยาก ว่าชาวบ้านเลือกทางไหน..


 


แล้วเราจะเรียก การถูกบังคับให้เลือก ว่าเป็น ความสมัครใจ ยินยอม ได้อย่างไร พวกเขาเป็น ผู้ถูกควบคุมตัว ต่างหาก มิใช่ ผู้เข้ารับการฝึกอบรม


 


 


-3-


 


 


"..เขา [สามี] ก็บอกว่า อยู่ในนั้นก็สบายดี ตอนแรกเรียนทำผ้าบาติก ตอนนี้เปลี่ยนไปเรียนก่อสร้าง วันๆ ก็ไม่ได้ทำอะไร ..เบื่อ.. อยากกลับบ้าน คิดถึงฉัน คิดถึงลูก"


 


หญิงสาววัยยี่สิบเศษ ที่สามีถูกควบคุมตัว


ภายใต้โครงการฝึกอาชีพ 4 เดือน


จากสมุดบันทึกวันที่ 4 ตุลาคม 2550 มัสยิดกลาง จ.สงขลา


 


 


 


มันเป็น การควบคุมตัว แน่ๆ..


 


เพราะหาก ผู้เข้ารับการฝึกอบรม ต้องถูกจำกัดบริเวณอยู่เฉพาะในค่ายทหาร แม้ทางราชการจะพยายามยกตัวอย่างว่า ผู้รับการฝึกอบรม สามารถออกไปซื้อกับข้าวที่ตลาด ไปละหมาดใหญ่วันศุกร์ได้ ฯลฯ แต่คนฟังต้องอย่าลืมถามกลับไปด้วยว่า "แล้วต้องมีทหารควบคุมตัวไปด้วยใช่ไหม"


 


การชวนให้เชื่อถึงด้านดีๆ ของโครงการฯ ด้วยการบอกว่า ผู้ถูกควบคุมตัว จะได้รับค่าตอบแทนวันละ 100 บาท (เท่ากับค่าจ้างรับกรีดยางพอดีเลย) นั้น ก็เป็นคำบอกเล่าเพียงครึ่งเดียวของความจริง เพราะเงินจำนวน 100 บาทจะถูกหักด้วยค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าพาออกไปทำละหมาด ฯลฯ จนเหลือแค่ 25 บาทต่อวัน


 


โจทย์ข้อใหญ่ของใครหลายคนที่ทำงานในประเด็นความรุนแรงและความยุติธรรมในภาคใต้ รวมถึงนักสังเกตการณ์ ก็คือ แล้วการควบคุมตัวภายใต้โครงการอบรมวิชาชีพ 4 เดือนนี้ เจ้าหน้าที่ภาครัฐอาศัยกฎหมายอะไรมารองรับ และโจทย์ข้อใหญ่กว่าจากบรรดาคุณแม่และคุณภรรยาก็คือ หากอยากให้ลูกชาย/สามีกลับบ้าน จะต้องทำอย่างไร ..


 


โจทย์เดียวกันนี้ ก็ดังมาจากผู้ถูกควบคุมตัวในค่ายทหารทั้ง 3 จังหวัด พวกเขาอยากกลับบ้าน.. โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเขาต้องการกลับไปร่วมตรุษอีดิ้ลฟิตรี้ ซึ่งเป็นวันสำคัญของศาสนาอิสลามภายหลังเสร็จการประกอบศาสนกิจเดือนแห่งการถือศีลอด (หรือรอมฎอน ระหว่างวันที่ 13 กันยายน - 14 ตุลาคม) ก่อนหน้านี้ มีข่าวลือว่า ผู้ถูกควบคุมตัว อาจ "ได้กลับบ้านชั่วคราว" แล้วต้องกลับมาที่ค่ายทหารใหม่หลังเสร็จสิ้นพิธีตรุษอีดิ้ลฟิตรี้ แต่ข่าวอีกด้านก็ว่า "ไม่ได้"


 


วันที่ 2 ตุลาคม 2550 บางส่วนของผู้ถูกควบคุมตัวได้ยื่นหนังสือต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของค่ายรัตนรังสรรค์ จ.ระนอง และในวันที่ 3 ตุลาคม บางผู้ถูกควบคุมตัวได้ยื่นหนังสือต่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของค่ายกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ จ.ชุมพร และศูนย์ท่าแซะ จ.สุราษฎร์ธานี ..เนื้อความในหนังสือสรุปได้ใจความว่า พวกเขาต้องการกลับบ้าน


 


วันที่ 4 ตุลาคม ผู้ถูกควบคุมตัว ทั้ง 3 ค่ายทหาร ได้รับคำตอบว่า "ไม่อนุญาตให้กลับ"


 


วันที่ 5 ตุลาคม ญาติของผู้ถูกควบคุมตัวใน 3 ค่ายทหาร ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลจังหวัดระนอง ชุมพร และสุราษฎร์ธานีขอให้ดำเนินการไต่สวนว่ากรณีโครงการฯ ดังกล่าว เป็นการควบคุม/ขังที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่[4]


 


 


----------------------------------------------------------------


 


 


อ่านตอนที่ 2 (วันพรุ่งนี้)


นักสังเกตการณ์ : การควบคุม/ขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ..บทเรียนจากกรณีทนายความสมชาย นีละไพจิตร, ปางแดง, เปมิกา-หมอประกิตเผ่า, สุกรี อาดัม ฯลฯ (ตอนที่ 2)


 


 


 


เชิงอรรถ



 


1: ดูรายงาน: ฝึกอาชีพแนวร่วมป่วนใต้ เส้นทางสู่อิสรภาพ, 5 สิงหาคม 2550,


 


 


2: ดูรายงาน : ฝึกอาชีพแนวร่วมป่วนใต้ เส้นทางสู่อิสรภาพ, อ้างแล้ว


 


3: ยุทธวิธี "แช่แข็ง" ส่งแนวร่วมฝึกอาชีพ 4 เดือน, ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้, 8 สิงหาคม 2550, ดู


 


 


4: อ่านรายละเอียดประกอบได้จาก "การยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลไต่สวนว่า การควบคุมตัวตามโครงการฝีกอาชีพ 4 เดือน เป็นการควบคุมโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่, โดยมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา, 4 ตุลาคม 2550


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net