Skip to main content
sharethis

 


 


ประชาไท - 22 ก.ย.48      สืบเนื่องจากการะประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีมติ 11 ต่อ 4 ให้ระบุห้ามจัดตั้งป่าชุมชนใน "พื้นที่อนุรักษ์พิเศษ" ไว้ในร่างพ.ร.บ. นั้น ความคืบหน้าในการประชุมวันนี้ มีการพิจารณาต่อเนื่องในประเด็นคำนิยามของคำว่า "พื้นที่อนุรักษ์พิเศษ" ซึ่งผลการประชุมในประเด็นเรื่องคำนิยามได้มอบหมายให้ตัวแทนกฤษฎีกาไปร่างถ้อยคำให้ชัดเจนอีกครั้งเพื่อนำเสนอในการประชุมครั้งต่อไป


 


อย่างไรก็ตามต่อประเด็นที่หลายฝ่ายกังวลว่า คำนิยามนี้อาจจะไปกีดกันให้คนออกจากป่า ซึ่งจะผิดไปจากหลักการสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมาธิการร่วมฯ ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมเห็นควรให้มีบทเฉพาะกาลที่ระบุถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการประกาศเขตพื้นที่อนุรักษ์พิเศษ และหากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ไม่สามารถประกาศพื้นที่อนุรักษ์พิเศษราว 19 ล้านไร่ได้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปีหลังพ.ร.บ.ป่าชุมชนประกาศใช้ ก็ให้ยุติการประกาศส่วนที่เหลือ เพื่อให้ชาวบ้านที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายสามารถขอจัดตั้งป่าชุมชนได้ โดยทาง ทส.ก็รับเงื่อนไขนี้ และมั่นใจว่าจะสามารถประกาศกันพื้นที่ 19 ล้านไร่ได้ทัน


 


นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบกับข้อเสนอของนายพนัส ทัศนียานนท์ กรรมาธิการร่วมฯ ที่ให้มีการแก้ไขเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ป่าชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งแต่เดิมนั้นแบ่งพื้นที่ป่าชุมชนออกเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่เพื่อการใช้สอยที่สามารถทำไม้ได้ และพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ โดยให้เปลี่ยนมาเป็นพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์ทั้งหมด และห้ามทำไม้โดยเด็ดขาด


 


"นอกจากประเด็นหลักๆ เหล่านี้แล้วก็ไม่มีอะไร คาดว่าประชุมกันครั้งหน้าอีกครั้งก็น่าจะจบได้ จากนั้นจะส่งให้ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาต่อไป" นายบัณฑูรกล่าว


 


อนึ่ง ร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน เป็นกฎหมายที่ประชาชน 50,000 คนเข้าชื่อเสนอกฎหมายเมื่อปี 2543 หลังจากมีความพยายามเรียกร้องเคลื่อนไหวกฎหมายนี้มากว่า 10 ปี ปลายปี 2544 ร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับประชาชนผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร แต่ในขั้นการพิจารณาของวุฒิสภา มีการปรับแก้ในหลักการสำคัญของกฎหมาย คือ " มิให้ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์สามารถจัดตั้งป่าชุมชนได้"  ทำให้เครือข่ายป่าชุมชนออกมาคัดค้านโดยระบุว่ามีพื้นที่อนุรักษ์จำนวนมากที่ประกาศทับชุมชนดั้งเดิม ต่อมาปี 2547 สภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขของวุฒิสภา จึงแต่งตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาแต่ไม่ทันแล้วเสร็จก็หมดสมัยรัฐบาลทักษิณ 1 จากนั้นคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้นำร่างกฎหมายฉบับนี้กลับมาพิจารณาเป็นการต่อเนื่อง กระทั่งรัฐสภามีการตั้งคณะกรรมาธิการ่วมกันชุดปัจจุบันขึ้นใหม่


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net