เอฟทีเอ ไทย-ญี่ปุ่น : ความพลิกผันก่อนนาทีสุดท้าย ไม่ส่ง สนช. พิจารณา ตาม ม.190

วันที่ 2 ต.ค. 50 รัฐบาลไทยและญี่ปุ่นได้มีการแลกเปลี่ยนเอกสารเกี่ยวกับข้อตกลงกันที่กรุงโตเกียวกันเป็นขั้นตอนสุดท้าย เพื่อให้ข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ไทย-ญี่ปุ่น หรือที่รู้จักกันในนาม "เจเทปป้า" (JTEPA) มีผลบังคับใช้ในต้นเดือน พ.ย.นี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ในวันที่ 18 ก.ย. เจเทปป้าได้เป็น "วาระจร" ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของไทย ทั้งที่เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมากต่อประเทศไทย

ก่อนหน้านั้น 1 วันคือวันที่ 17 ก.ย. กระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือด่วนที่สุด ส่งถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (หนังสือเลขที่ 1305/ 2007) ลงนามโดยนายนิตย์ พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเสนอเรื่องให้ ครม. เห็นชอบเสนอความตกลง JTEPA เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อขอความเห็นชอบในโอกาสแรก ก่อนการดำเนินการแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันเพื่อให้ความตกลง JTEPA มีผลใช้บังคับ

เหตุผลหลักประการหนึ่งที่กระทรวงการต่างประเทศอธิบายไว้ในจดหมาย คือ " ความตกลงเจเทปป้า น่าจะเข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาที่มีผลผูกพันด้านการค้าและการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ ตามมาตรา 190 วรรคสอง เนื่องจากมีข้อผูกพันเปิดเสรีทางด้านการค้า การค้าบริการ และการลงทุนที่ไม่ใช่ภาคบริการ ซึ่งเป็นการเปิดเสรีมากกว่าที่ไทยเคยผูกพันไว้ภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก"

แต่แล้วในเช้าวันที่ 18 ก.ย.50 กระทรวงการต่างประเทศได้จัดทำหนังสือด่วนที่สุดอีกฉบับหนึ่งส่งถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (หนังสือเลขที่ กต. 1305/ 2021) ลงนามโดยนายนิตย์ พิบูลสงคราม ขอให้ยกเลิกหนังสือของกระทรวงการต่างประเทศฉบับเมื่อวานนี้ (17ก.ย.) และได้เปลี่ยนแปลงข้อเสนอขอต่อ ครม.ว่า ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการแลกเปลี่ยนหนังสือทางการทูตกับฝ่ายญี่ปุ่นภายในวันที่ 2 พ.ย.50 โดยไม่ต้องเสนอสภานิติบัญญัติ เพื่อขอความเห็นชอบแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ในหนังสือของกระทรวงการต่างประเทศฉบับหลังนี้ไม่ได้ชี้แจงเหตุผลใดๆ ว่า 1. เพราะเหตุใดกระทรวงฯ จึงขอยกเลิกหนังสือฉบับแรกอย่างกะทันหันเช่นนั้น และ 2.เพราะเหตุใดจึงไม่ต้องเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาเพื่อขอความเห็นชอบก่อนแสดงเจตนาผูกพัน ทั้งที่ในจดหมายฉบับแรก ของกระทรวงการต่างประเทศได้ระบุชัดแจ้งแล้วว่า ตามรัฐธรรมนูญ 2550 ในมาตรา 190 วรรคสองจะต้องเสนอขอความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติก่อน

ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 18 ก.ย. มีข่าวเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ว่า พล.. สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พร้อมจะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหากหากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเข้าชื่อร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และศาลวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม ภาคประชาชนทั้งในไทยและญี่ปุ่นต่างออกแถลงการณ์และแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยที่ความตกลงฉบับนี้จะไม่ผ่าน สนช. แต่ความพยายามดังกล่าวก็ไม่เป็นผล อย่างไรก็ตาม แม้ความตกลงจะถือได้ว่าลงนามเสร็จสมบูรณ์แล้ว แต่ก็ยังมีความพยายามรวบรวมรายชื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 1 ใน 10 เพื่อยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ตีความกรณี ครม. ละเมิด ม.190 ไม่นำความตกลงฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของ สนช.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท