Skip to main content
sharethis


วิทยากร (จากซ้ายไปขวา) สุภัตรา ภูมิประพาส, องค์ บรรจุน, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, สุรพงษ์ ชัยนาม และธเนศ อาภรณ์สุวรรณ


 


เมื่อวันจันทร์ที่ 1 ต.ค. 50 มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ จัดงานเสวนาเรื่อง "ปัญหาประชาธิปไตยของพม่า ไทย และอาเซียน" ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สืบเนื่องจากกรณีการเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ในพม่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา


ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวถึง บทบาทของสถาบันศาสนากับการเมืองพม่าไว้ผ่านบทความเรื่อง "พระพม่าคว่ำบาตรเผด็จการคณาธิปไตยทหาร" โดยกล่าวว่า ปรากฏการณ์ทางการเมืองในเดือนสิงหาคมและกันยายนที่ผ่านมาส่งผลให้พระพม่าลุกขึ้นมาคว่ำบาตร ใช้สันติวิธี จนนำไปสู่การปราบปรามอย่างรุนแรง  


ชาญวิทย์ชี้ให้เห็นถึงภาพประวัติศาสตร์พม่าว่า แต่เดิมพม่าก็มีระบบกษัตริย์แต่เมื่อพม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษแล้ว อังกฤษได้ทำให้ลายสถาบันกษัตริย์ลงเนื่องจากมีพลังมากและไม่สามาถรักษาไว้ให้เป็นสัญลักษณ์ได้เหมือนอาณานิคมอื่นๆ บทบาทนำจึงตกอยู่ที่สถาบันศาสนาไปโดยปริยาย 


อย่างไรก็ตาม อังกฤษได้แยกศาสนจักรออกจากอาณาจักร หรือทำให้รัฐบาลไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา และสถาบันสงฆ์ถูกละเลย ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่สงฆ์ เช่นเดียวกับความไม่พอใจใน "เจ้าต่างด้าว ท้าวต่างแดน" จนในที่สุด ความรู้สึกเหล่านี้ได้พัฒนาไปเป็น "ลัทธิชาตินิยมพม่า" ดังนั้น การต่อต้านก็เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ในหมู่คณะสงฆ์ และเราจะเห็นว่า พระสงฆ์ได้มีบทบาทต่อต้านเจ้าอาณานิคมอังกฤษโดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรม มีการตั้งองค์กรชาวพุทธ YMBA (Young Men Buddhist Association) เลียนแบบ YMCA ของชาวคริสต์ ซึ่งเราเคยได้ยินความสำเร็จของ YMBA ในกรณีการประท้วงใหญ่ที่เรียกว่า "กบฏเกือก" ต่อต้านต่างชาติที่สวมรองเท้าไปในบริเวณวัด 


ชาญวิทย์กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าในอดีตพระสงฆ์ในพม่าได้ทำเรื่องแบบนี้มาแล้ว ประท้วง คว่ำบาตร เมื่อเราดูเหตุการณ์ที่พระเรือนแสนออกมาเดินขบวนก็ย้ำว่า นี่คือภารกิจทางประวัติศาสตร์ของสงฆ์  


ส่วนสาเหตุที่พระสงฆ์ต้องขึ้นมาเป็นผู้นำในภารกิจนี้อีกครั้งเป็นเพราะประเทศพม่าก็เหมือนประเทศทั้งหลายในอุษาคเนย์ที่หลังสงครามโลกเป็นต้นมา ขบวนการประชาธิปไตยไม่ได้หยั่งรากลึกลงไปในสังคม โดยมีอุปสรรคที่สำคัญที่สุดคือ ระบอบคณาธิปไตย ซึ่งเกิดขึ้นทั่วไปในอุษาคเนย์ ไม่เว้นสยามประเทศไทย ภายใต้ระบอบคณาธิปไตยนั้น การเมืองการปกครองตกอยู่ในบางกลุ่มการเมือง ในบางคณะ บางประเทศก็เป็นเสนาอำมาตยาธิปไตยอย่างเปิดเผย เช่นกรณีอินโดนีเซีย กัมพูชา หรือเป็นอย่างอ้อมๆ เช่นที่ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย 


ชาญวิทย์กล่าวว่า ปัจจุบันแม้ลัทธิอาณานิคมต่างชาติจะหมดไป แต่ในอุษาคเนย์กลับเผชิญกับ "ลัทธิอาณานิคมภายใน" หรือ domestic colonialism นั่นคือสิ่งที่ทำให้เข้าใจได้ว่า ทำไมการเมืองภายในประเทศของหลายประเทศ จึงปั่นป่วนไร้เสถียรภาพ  


สุภัตรา ภูมิประพาส ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น นำเสนอข้อมูลเบื้องต้นว่า แม้พม่าจะเป็นประเทศที่ยากจนมากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่กลับมีกำลังพลเกือบ 500,000 นาย ถือว่าเป็นกองทัพที่ใหญ่เป็นอันดับ 10 ของโลก และมีงบด้านการทหารเป็นอันดับ 15 ในจำนวน 159 ประเทศ ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลทหารพม่าได้ใช้งบในการปราบปรามเพื่อนร่วมชาติเป็นส่วนใหญ่  


 


ส่วนสถานการณ์การประท้วงในปัจจุบันได้ทำให้มีการบอยคอตของประเทศต่างๆ ซึ่งอันที่จริงทำมาตลอดนับตั้งแต่เกิดการปรามปรามประชาชนเมื่อปี 1988 ซึ่งมีรายงานว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างต่ำ 3,000 คน ทั้งในส่วนของรัฐบาลสหรัฐฯ อียู หรือกระทั่งยูเอ็นก็มีการทำสรุปสถานการณ์เกี่ยวกับพม่าเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2005 ซึ่งถือว่าช้ามาก หลังจากนั้นมีมติให้ส่งทูตพิเศษของสหประชาชาติไปพม่า และได้รับอนุญาตให้พบนางอองซาน ซู จี 2 ครั้งเมื่อปีที่แล้ว แต่กลุ่มทหารพม่าก็ยังทำการปราบปรามรุนแรงกับกลุ่มกะเหรี่ยง ทำให้มีผู้อพยพทะลักเข้ามาประเทศไทยจำนวนมาก โดยสถิติเมื่อปีที่แล้วมีผู้อพยพจากพม่า 700,000 คน ในจำนวนนั้น 500,000 คนเข้ามาอยู่ในประเทศไทย


 


สุพัฒนากล่าวต่อถึงประเด็น Voice of voiceless ว่า หากสังเกตุให้ดีจะเห็นว่าคนพม่าพยายามส่งเสียงมาตลอด 19 ปีที่ถูกกดทับโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร โดยยกเหตุการณ์วันที่ 6 ต.ค. 2532 ที่นักศึกษาพม่าสองคนทำระเบิดปลอมขู่นักบินให้มาลงที่สนามบินอู่ตะเภา จากการที่เธอได้มีโอกาสพูดคุยกับนักศึกษาหนึ่งในนั้นหลังจากพ้นโทษ 5 ปี เขาบอกว่าที่ทำไปเพียงต้องการให้สังคมโลกหันมาสนใจปัญหาประชาธิปไตยในพม่า


 


วันที่ 10 มิ.ย. 2532 นักศึกษาพม่าจี้เครื่องบินสายการบินไทยไปลงอินเดีย เมื่อถึงที่หมายแล้วก็ยอมมอบตัว เพราะต้องการให้เป็นข่าว และสร้างความสนใจในประเด็นพม่า วันที่ 1-2 ต.ค.42 มีการบุกยึดสถานทูตพม่าที่ถนนสาทร โดยนักศึกษากลุ่มหนึ่งซึ่งต้องการสร้างความสนใจของโลกต่อพม่าเช่นกัน ท้ายที่สุดมีการนำตัวนักศึกษาขึ้นเครื่องบินไปส่งไว้ที่ชายแดน ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ค่อนข้างดี


 


วันที่ 24-25 ม.ค. 2543 มีบุกยึด รพ.ราชบุรี โดยมีนักศึกษาพม่าร่วมก่อการด้วย รัฐบาลชวน หลีกภัย ได้สั่งปราบ มีการตีพิมพ์ภาพกลุ่มก่อการ 10 คนที่ถูกยิงตายโดยยังใส่กุญแจมือ จนทำให้ไทยตกเป็นจำเลย และจนบัดนี้ก็ยังไม่มีการอธิบายใดๆ ทั้งสิ้น จากการได้พูดคุยกับคนที่ถูกจับเป็นตัวประกันในรพ. หลายคนระบุตรงกันว่านักศึกษาพม่าไม่ได้ทำร้ายอะไร เพียงบุกยึดเพื่อขอความร่วมมือโดยบอกว่าชายแดนกำลังขาดยาอย่างหนัก และกลุ่มของพวกเขาถูกโจมตี และตอนที่รัฐไทยสั่งยิงเข้าไป พวกนี้เป็นคนบอกให้ตัวประกันหมอบลงและเข้าไปคุ้มกันตัวประกัน


 


"เยธีฮา นักศึกษาคนที่เคยทำระเบิดปลอมเรียกร้องความสนใจจากโลก เมื่อปี 2532 ก็เป็น 1 ในนักศึกษาที่ถูกยิงตาย เราจำเป็นต้องสนใจเขา เพราะชายแดนเราติดกัน แล้วไม่สามารถหนีสถานการณ์แบบนี้ไปได้เลย"สุพัตรากล่าว


 


สุพัตรา กล่าวต่อถึงประเด็นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลทหารพม่าว่า ไม่มีฝ่ายใดเรียกร้องให้ทหารลงจากอำนาจ เพราะรู้ว่าเป็นไปไม่ได้ แต่เพียงเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองรวมถึงนางอองซาน ซู จี, ลดราคาเชื่อเพลิงและสินค้าอุปโภคบริโภค และเปิดการเจรจาเพื่อสร้างความสมานฉันท์ ซึ่งหากเกิดพัฒนาการในพม่าในด้านกระบวนการปรองดองแห่งชาติ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การขาดช่วงของปัญญาชนพม่า เนื่องจากส่วนใหญ่อพยพไปอยู่ต่างประเทศ และขบวนการนักศึกษาถูกปราบอย่างหนักมาตลอด มหาวิทยาลัยย่างกุ้งก็ถูกปิดบ่อยครั้ง ดังนั้น จึงมีฝ่ายที่เสนอว่ามหาเถรสมาคมของพม่าควรที่จะร่วมในกระบวนการทางการเมืองของพม่าด้วยหลังจากนี้


องค์ บรรจุน ประธานชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพฯ กล่าวว่า สิ่งที่กระทบกระเทือนจิตใจคนมอญคือ เมื่อสองสามวันนี้มีสื่อมวลชนบางสายเข้าใจผิด สร้างความเข้าใจที่ไม่ค่อยดีเกี่ยวกับชาวพม่าในไทย สร้างประวัติศาสตร์ซ้ำๆ เดิมๆ ว่า พม่าเป็นชนชาติที่โหดร้าย ทั้งที่คนที่เข้ามาต่างหากที่ถูกกระทำ โดยคนที่เข้ามาในขณะนี้ไม่ได้มีเฉพาะพม่า แต่มีทั้ง มอญ กะเหรี่ยง ไทใหญ่ คะฉิ่น ฯลฯ เพราะพม่าร่ำรวยทางชาติพันธุ์มี 200 กว่าชาติพันธุ์ เมื่อคนเหล่านี้เข้ามา คนไทยมองเขาว่าเป็นพม่าหลบหนีเข้าเมือง จะทำอะไรกับเขาก็ได้


"หลายกรณีที่นายจ้างทำกับเขาไม่ต่างกับที่เขาถูกกระทำในบ้านของตัวเอง เขาถูกทหารพม่ากระทำอย่างไร มาถึงเมืองไทยเราก็กระทำกับเขาอย่างนั้น"องค์ บรรจุน กล่าวและว่า เพื่อนคนต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายจำนวนมากต้องทำงาน 3 วันเลี้ยงปากท้องตัวเอง ที่เหลือทำงานเลี้ยงปากท้องตำรวจ กรณีผู้หญิงที่หน้าตาดีก็ถูกกระทำย่ำยีได้โดยง่าย


องค์ บรรจุน กล่าวต่อถึงการมีอัตลักษณ์ของตนเองว่า เคยมีอาจารย์ทางรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ทำวิจัยเรื่องงานวันชาติมอญ การสร้างประวัติศาสตร์ของคนมอญพลัดถิ่นในประเทศไทย แต่กลับมีคนมองว่า คนมอญกำลังสร้างรัฐนอกอาณาเขตรัฐของตนเอง เป็นความต้องการสร้างพลังของคนมอญนอกพื้นที่ ต้องการสร้างความมีตัวตนอย่างรุนแรง ทำไมรัฐไทยจึงปล่อยให้คนมอญทำเช่นนี้  


เขากล่าวต่อว่า เมื่อวานไปงานประชุมที่จะจัดงานรำลึกวันชาติมอญที่สมุทรสาคร แต่คนสมุทรสาครกลับได้รับข้อมูลว่า พวกเขาเป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นแรงงานต่างด้าว ถ้าไม่อยากให้มีแรงงานต่างด้าวอยู่ก็ต้องผลักดันออกไปให้หมด แต่ถ้าคิดว่าต้องมีแรงงานต่างด้าวไว้เพื่อทำงานน่ารังเกียจที่คนไทยไม่ทำ เช่นนั้นก็ควรมีมาตรการดูแลที่เหมาะสม สร้างความเข้าใจกัน


สุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูตหลายประเทศกล่าวว่า ประเด็นเร่งด่วนที่สุดสำหรับพม่าคือ ทำอย่างไรไม่ให้มีการใช้ความรุนแรง มีการเสียชีวิตเพิ่มเติมจากที่มีไปแล้ว ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อฝ่ายรัฐบาลทหารพม่ายอมเห็นถึงคุณประโยชน์ที่เขาจะพูดคุยกับฝ่ายประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย หรือเรียกร้องให้มีการปรึกษาหารือกัน และการจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ก็ไม่ได้อยู่ที่ความพร้อมของรัฐบาลพม่า เท่ากับความพร้อมของประชาคมระหว่างประเทศ ไทย อาเซียน สหประชาชาติ ต้องร่วมมือกันโน้มน้าว กดดันให้พม่าเห็นความจำเป็นในการหาทางประนีประนอมกันให้ได้เพื่อพม่าเข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตยอีกครั้ง ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองประเทศ


 


สุรพงษ์ กล่าวถึงความสัมพันธ์ไทย-พม่าว่า ไทยไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะมีบทบาท หรือไม่อาจมองข้ามปัญหาที่เกิดในพม่า เพราะเมื่อใดมีการปราบจะมีคนทะลักเข้ามาในไทยจำนวนมาก นอกจากนี้รัฐบาลของไทยควรเลิกล้มการมองปัญหาพม่าจากมิติเศรษฐกิจอย่างเดียว เพราะ 20 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะรัฐบาลไทยรักไทย มีนโยบายต่อพม่ามิติเดียวร้อยเปอร์เซ็นต์เรื่องการค้าการลงทุน ทั้งที่ยังมีประเด็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ด้วย


 


"ถ้ารัฐบาลแถลงนโยบายต่อสภาว่าจริยธรรม ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องสำคัญ นโยบายต่างประเทศก็ต้องสะท้อนสิ่งเหล่านี้ด้วย"  


 


นอกจากนี้ในส่วนของอาเซียนสุรพงษ์กล่าวว่า ผลกระทบภาพลักษณ์ของอาเซียนตกต่ำมากเนื่องจากปัญหาพม่า และขณะนี้อาเซียนตระหนักแล้วว่าต้องมีกฎบัตรที่ระบุว่า ประเทศสมาชิกใดที่ไม่เคารพพันธกรณี กฎกติกาของการเป็นสมาชิก จะมีบทลงโทษอย่างไร และคาดว่าถ้าเป็นที่ตกลงกันได้จะเป็นข้อตกลงที่จะเกิดขึ้นในการประชุมในเดือนพ.ย.นี้ที่สิงคโปร์ เหตุการณ์พม่ายังตอกย้ำให้อาเซียนเห็นด้วยว่า การจัดตั้งกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนของอาเซียนต้องมีขึ้น และต้องมีระบบการออกเสียง ซึ่งตลอด 40 ปีที่ผ่านมา อาเซียนใช้ระบบฉันทามติ


 


อ่านเพิ่มเติม


บทความ "ชาญวิทย์ เกษตรศิริ" - พระพม่า "คว่ำบาตร" คณาธิปไตยเผด็จการทหาร, ประชาไท, 2 ต.ค. 50

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net