Skip to main content
sharethis

ภฤศ ปฐมทัศน์ รายงาน


 


ในเวทีอภิปราย "ครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และอนาคตสังคมไทย" ณ อาคารชั้น 4 ห้องประชุมอาคารปฏิบัติการณ์คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา ในช่วงหนึ่งมีการเสวนาในหัวข้อ "ปัญหาคนจนและสังคมกับรัฐบาลรัฐประหาร" โดยมีชาวบ้าน นักศึกษา และนักสหภาพแรงงาน สะท้อนปัญหาของแต่ละกลุ่ม โดยต่างเห็นร่วมกันว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหน พวกเขาก็ยังคงถูกทำให้ "เงียบเสียง"


 


                           


รัฐประหารทำให้ ม.ออกนอกระบบได้ "กระชับ" ขึ้น


 


น.ส.เนตรชนก แดงชาติ นักศึกษาจากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตัวแทนจากเครือข่ายต้านมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ กล่าวว่าในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่พูดถึงเรื่องมหาวิทยาลัยออกนอกระบบน้อยมาก เป็นเพราะทั้งกฎอัยการศึกเอง อีกทั้งยังมีการเมืองจากภายในมหาวิทยาลัยมากดทับ


 


นอกจากนี้ ตัวนโยบายมหาวิทยาลัยออกนอกระบบของรัฐบาลชุดนี้ ก็ถูกโยนให้แต่ละมหาวิทยาลัยตัดสินใจกันเองโดยให้ไปตกลงกันว่าจะจัดการอย่างไร แต่ตัวผู้บริหารเองกลับไม่มีการบอกเรื่องมหาวิทยาลัยออกนอกระบบแก่นักศึกษา ทั้งยังเอาแต่ปกปิดข้อมูล


 


ในด้านผลกระทบจากมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ น.ส.เนตรชนก กล่าวว่า แม้ตอนนี้มหาวิทยาลัยยังไม่ออกนอกระบบแต่ก็มีการดำเนินการบางอย่างไปแล้ว เช่น เปิดหลักสูตรที่ตอบสนองต่อตลาดมากขึ้น หรือมีการแสวงหากำไรชัดเจน เช่น วิชาที่เกี่ยวกับปรัชญา ประวัติศาสตร์ หรือวัฒนธรรมจะถูกลดบทบาทลงกลายเป็นวิชาพื้นฐาน จะส่งเสริมแต่วิชาที่เรียนแล้วหากินได้อย่างเดียว ด้านองค์ความรู้ความถนัดหรือองค์ความรู้ของชาวบ้าน เช่น ทำอย่างให้โชว์ห่วยสู้กับห้างใหญ่ได้ หรือเรื่องการทอผ้าของชาวบ้าน ทำอย่างไรไม่ให้ลายผ้าถูกขโมยไปจดลิขสิทธิ์ เหล่านี้กลับไม่มีการพูดถึง


 


แต่หลักสูตรที่ตอบสนองต่อตลาดอย่างการเปิดภาคพิเศษเยอะขึ้นที่ภาคพิเศษนี้ค่าเล่าเรียนแพงมาก จะเปิดมาขึ้น จึงเป็นการตอบสนองต่อคนไม่กี่คนในสังคมที่มีปัญญาจ่ายค่าเล่าเรียนเท่านั้น


 


น.ส.เนตรชนก กล่าวอีกว่า ผลกระทบจากรัฐประหารต่อเรื่องนี้ นอกจากจะกระชับเวลาให้การออกนอกระบบเร็วขึ้นแล้วนั้น กฎอัยการศึกยังส่งปัญหาต่อการเคลื่อนไหวชุมนุม แม้แต่การล้อมวงพูดคุยกันก็มีสันติบาลมาคอยสอดส่อง มีโทรศัพท์จากทางผู้บริหารมาเตือนว่าชุมนุมเกิน 5 คนผิดกฎอัยการศึก แม้กระทั่งในตอนที่จัดงานของคณะรัฐศาสตร์ฯ เรื่องให้ข้อมูลร่างรัฐธรรมนูญ ผู้บริหารยังโทรมาอ้างว่า เชิญคนนอกมาพูดแต่ทำไมไม่เชิญคนในมา ซึ่ง น.ส.เนตรชนกเห็นว่าถ้าเรื่องนี้ไม่เชิญคนนอกมาเราจะรู้ข้อมูลได้อย่างไร สะท้อนว่าการเมืองภายในของระบบบริหารเองก็เข้ามากระทำต่อพวกเรา


 


สิ่งที่ควรจะช่วยกันคิดตอนนี้คือ จะบอกเพื่อนๆ น้องๆ ปี 1-2-3 อย่างไรดี จะสร้างความเข้าใจให้กับนักศึกษาด้วยกันในเรื่องนี้ได้อย่างไร แล้วนอกจากนี้จะต้องมาช่วยกันคิดว่า จะทำอย่างไรถึงจะสามารถต่อรองกับการเมืองภายในที่กดทับ น่าจะต้องเริ่มจากการต่อรองโดยใช้พลังผลักดันจากภายในต่อสู้กับมหาวิทยาลัยให้ได้เสียก่อน


 


 


สิ่งที่น่ากลัวหลัง รธน.ผ่าน คือ "พรบ.ความมั่นคง"


 


ด้านนายอินทอง ไชยลังกา จากเครือข่ายสื่อภาคประชาชน และเป็นนักจัดรายการวิทยุท้องถิ่น กล่าวว่า สื่อภาคประชาชนเองเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากรัฐบาลทหารที่มาจากการปฏิว้ติ เช่น เมื่อทำรัฐประหารแรกๆ มีการสั่งให้ปิดวิทยุชุมชน ถือเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการทำสื่อ เพราะเมื่อสมัยรัฐธรรมนูญ 2540 ยังให้สิทธิเสรีภาพของภาคประชาชนในด้านต้างๆ ทำให้เวลาองค์กรอะไรมีปัญหาทางชุมชนก็ให้สื่อช่วยตรงนี้ได้ ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2550 แม้จะระบุว่าเป็นของประชาชน แต่ก็ไม่จริง อย่างที่บอกว่าจะทำให้พื้นที่สื่อที่จะช่วยเหลือพี่น้องในชุมชนได้ ตอนนี้ไม่มีอีกแล้ว เพราะมาตราที่ 45 - 47 ในรัฐธรรมนูญปี 2550 มาควบคุมตรงนี้หมด ที่เลวร้ายที่สุดคือบทเฉพาะกาล มาตรา 309


 


นายอินทอง ยังได้พูดถึงกฏหมายอื่นๆ ที่เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร เช่น พรบ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่กระทบกับคนทำสื่อ และจะกระทบกับพี่น้องประชาชนต่อไปด้วย พรบ.การกระจายเสียงและแพร่ภาพแห่งประเทศไทย พรบ.ภาพยนตร์ และ วิดิทัศน์ พรบ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แหง่ชาติ พรบ.จดแจ้งการพิมพ์ ซึ่งจะกระทบกับทางโรงพิมพ์ พรบ.ปราบปรามวัตถุยั่วยุพฤติกรรมอันตราย ซึ่งอาจจะทำให้แค่คุณสักรูปอะไรที่ส่อไปในทางเพศไว้กับตัวก็คงโดนจับได้แล้ว หรือแม้แต่รูปที่ติดฝาบ้าน หรือตามที่ต่างๆ ก็อาจเกอดการกลั่นแกล้งกันโดยอาศัย พรบ.นี้ได้ พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และสังกัดวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการคมนาคม และ พรบ.ส่งเสริมภาพยนตร์ เป็นต้น


 


นอกจากนี้ในมาตรา 47 ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 บอกให้ยุบองค์กรสื่อเหลือเพียงองค์กรเดียว โดยที่ไม่ได้มีภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมคัดสรรกรรมการ แล้วคนพวกนี้ก็เข้าไปทำการร่าง พรบ. ของสื่อภาคประชาชนออกมา


 


แต่นายอินทองกล่าวว่า "สิ่งที่น่ากลัวที่สุด หลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านแล้ว คือ ร่าง พรบ.ความมั่นคงฯ"


 


ถ้าให้เทียบแล้วเรื่องกฎอัยการศึกยังพอมีความยุติธรรมอยู่บ้าง แต่เรื่อง พรบ.ความมั่นคง มันจะคอยปิดกั้นการรวมตัวเคลื่อนไหวอะไร เพราะตาม พรบ.นี้เขาสามารถจำหมายเลขทะเบียนรถแล้วสั่งห้ามรถทะเบียนนี้เคลื่อนย้าย หรือ แค่รถใส่เครื่องเสียงไว้บนกระบะหลังที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ที่ผ่านมาไม่มีการปรับ แต่คราวนี้ถ้าไปก็ถูกปรับ ซึ่งมันเป็นเรื่องไม่ถูกไม่ควรเลย


 


แล้วถ้ามีการตรวจค้นก็ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจเต็มที่ มีการเข้าตรวจค้นได้โดยไม่ต้องมีหมาย และสำหรับผู้ที่จะเรียกร้องสิทธิอะไร เขาก็มีอำนาจในการควบคุมตัวแกนนำ บล็อกไว้ที่บ้านควบคุมได้ 30 วัน


 


สุดท้ายนายอินทองได้แสดงความเห็นต่อสิ่งที่เกิดขึ้นว่า กฎหมายหมดนี้ ไม่เห็นมีการชี้แจงก่อน เป็นการผ่านร่างกฎหมายแบบรวบรัดอำนาจ กฏหมายอะไรที่ประชาชนอยากได้มันมักจะไม่ได้ แต่อะไรที่ไม่อยากให้มีมันจะผ่านการรับรองไปเร็วมาก ร่างกฎหมายที่กล่าวถึงเหล่านี้มีส่วนทำให้สื่อสารความลำบากของประชาชนได้ยากขึ้น เพราะในสถานการณ์แบบนี้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถสั่งระงับรายการวิทยุได้ด้วยวาจา ทั้งที่เมื่อก่อนยังดีกว่านี้คือการจะสั่งระงับต้องมีการออกหนังสือด้วย เราจึงยังสามารชี้แจงได้ แต่คราวนี้เพียงแค่เขาโทรศัพท์มาบอกให้หยุดรายการ นี่คือสิ่งที่จะประสบต่อชุมชนรวมถึงสื่อภาคประชาชนด้วย


 


 


ต้าน GMOs เครื่องทำลายเผ่าพันธุ์มนุษย์


 


นายดวงทิพย์ ธันตะพา จากเครือข่ายต้าน GMOs ได้ออกมาบอกว่า ในฐานะเกษตรกรรายย่อย เราสนับสนุนการพัฒนาทางเทคโนโลยีการเกษตรกร การรับความรู้จากโลกยุคโลกาภิวัฒน์ แต่ก็รู้สึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างกำลังถูกแปรรูปเป็นธุรกิจหมด ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของภาคการเกษตรกร เรื่องของการตัดต่อพันธุกรรมนั้นเสียดายในแง่ของการได้คิดค้นเทคโนโลยีตรงนี้ แทนที่จะได้นำมาใช้พัฒนา มันกลับกลายเป็นเครื่องทำลายเผ่าพันธุ์มนุษย์และมีผลกระทบกับโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวอย่างยิ่ง


 


ประเทศไทยเป็นสังคมที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลกอยู่แล้ว การนำเทคโนโลยีการตัดต่อพันธุกรรมตรงนี้มาใช้มันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์จากคนทั้งโลกเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่คนกลุ่มเดียว


 


โดยส่วนตัว นายดวงทิพย์เห็นว่ามันไม่จำเป็นต้องเอามาทดลอง เพราะพืชในประเทศไทย มีความสมบูรณ์ มีคุณค่าทางอาหารอยู่แล้ว ทางสหรัฐอเมริกาก็จะพยายามมาแย่งชิงของเราไป แล้วเอาไปจดว่าเป็นของเขา ซึ่งตรงนี้ดูเป็นการแย่งชิงทรัพยากรมากกว่า


 


ประเด็นการคัดค้านที่กระทรวงกระเกษตรมีการตกลงกับสมัชชาคนจนในตอนนั้น ตกลงกันว่า ให้ทำได้เฉพาะในห้องทดลองเท่านั้น ห้ามทดลองในพื้นที่เปิดเพราะมีความเสี่ยงต่อการผสมพันธุ์กับพืชพันธุ์ท้องถิ่น


 


 


แรงงานถูกลอยแพ


 


นายวิสุทธ์ มโนวงค์ ที่ปรึกษาสหแรงงานงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ จ.ลำพูน กล่าวว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันไม่สนใจกรณีแรงงานเท่าใดนัก มีแรงงานจำนวนมากที่ต้องพบกับการเลิกจ้าง การได้รับอุบัติเหตุจากการทำงาน เกิดโรคจากการทำงาน โดยที่ไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยจากที่ใดได้ และไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐเท่าที่ควร


 


นายวิสุทธ์ กล่าวถึงปัญหาถูกเลิกจากของคนงานว่า ตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 [1] นายจ้างสามารถจะหยุดงานเมื่อไหร่ก็ได้ โดยจ่ายค่าจ้างให้คนงาน 50% นอกจากนี้แรงงานบางที่ เช่น จ.ลำพูน ได้ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 149 บาท เดือนๆ นึงคำนวณดูแล้วได้แค่ 4-5 พันบาท พอแค่เลี้ยงตัวเองได้ แต่ไม่สามารถเลี้ยงลูกหลานและครอบครัวได้


 


กระทรวงแรงงานเองก็ยังเอื้อประโยชน์กับนายจ้าง โดยมีการออกกฎให้ลูกจ้างที่ทำงานไม่ถึง 8 ชั่วโมงให้ไปสะสมชั่วโมงทำงานในวันอื่น ซึ่งเกิดผลกระทบต่อลูกจ้าง ส่วนนายจ้างได้ประโยชน์ ถ้าสมมตินายจ้างบอกเดือนนี้ไม่มีงานทำ แต่เดือนหน้าให้ทำงานฟรีๆ คนงานก็เสียเปรียบอีก


 


นายวิสุทธ์ยังเป็นห่วงการรวมตัวกันของแรงงานว่าเป็นเรื่องยาก เพราะยังมีการแตกแยกภายในกันเอง ผลประโยชน์ภายในแรงงานก็เยอะ ส่วนการจะรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานก็ลำบากเพราะมีสิทธิถูกนายจ้างเลิกจ้างได้ง่าย แต่อยากจะบอกกับพรรคการเมืองว่า หากได้ฐานเสียงจากแรงงาน พรรคการเมืองนั้นจะอยู่ไปนานแน่ๆ


 


นายวิสุทธ์กล่าวทิ้งท้ายในเวทีว่า อยากให้เรื่องราวของการรักษาผลประโยชน์ของแรงงานด้วยกันเองมีการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย ควรจะมีการสอนในทุกระดับชั้น มีการเรียนรู้เรื่องการรวมตัว ทั้งนี้ยังมีแรงงานนอกระบบที่กฎหมายไม่คุ้มครองอยู่เหมือนกัน เช่น ผู้หญิงที่รับจ้างปักเย็บผ้า รับงานไปทำที่บ้าน เป็นต้น


 


 


ปฏิรูปที่ดินยังมีปัญหา


 


นายสุแก้ว ฟุงฟู ตัวแทนเครือข่ายที่ดินจากแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ พูดถึงปัญหาข้อพิพาทเรื่องที่ดินว่า กฎหมายคุ้มครองที่ดินเป็นกฎหมายคุ้มครองแต่เฉพาะคนรวยที่มีที่ดินมากๆ รัฐบาลเก่งแต่เรื่องทำหนังสือ แต่ไม่เก่งเรื่องอื่น รัฐบาลทหารก็เอาแต่นอนกินเงินเดือนอย่างเดียว ไม่ได้ช่วยแก้ไขอะไรเลย


 


กฎหมายเรื่องที่ดินเขียนมาแต่ไม่เคยเอามาปฏิบัติ คนที่จะได้เอามาปฏิบัติก็จะมีแต่คนรวย ๆ คนรวยจะมีที่ดินเยอะ แต่พี่น้องคนจนจะมีที่ดินน้อยหรือไม่มีที่ดินเลย ที่ดินที่จะไปปฏิรูปที่ดินคือจะเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร หรือที่ดินที่เป็น NPL


 


ในแง่ของการปฏิรูปที่ดินนั้น ไม่เคยมีการปฏิรูปที่ดินที่เป็น NPL หรือเป็นที่ดินรกร้าง แต่จะคอยเข้ามาปฏิรูปที่ดินของชาวบ้าน ส่วนชาวบ้านพอไม่มีที่ดินทำกิน ก็จำต้องกลายเป็นคนในระบบโรงงานอุตสาหกรรม แล้วต้องไปประสบปัญหาในภาคแรงงานอีก


 


ขณะเดียวกันการปฏิวัติรัฐประหารนั้น ทำให้เรื่องของผู้ที่มีปัญหาจากการปฏิรูปที่ดินได้รับการผลักดันให้มีการแก้ไขได้ยากขึ้น เพราะกลัวที่จะทำทุกสิ่งทุกอย่าง เนื่องจากสื่อก็อยู่ในมือของรัฐ คนเขียนกฎหมายก็รับใช้พวกนี้ อย่างกฎหมายที่ดินมาตรา 6 เรื่องที่ดินปล่อยรกร้างว่างเปล่า 5 ปี 10 ปี ถือว่า สละสิทธิไปแล้ว กฎหมายเขียนไว้ดี แต่ไม่เคยเอามาใช้ ตนเสนอว่าอยากจะผลักดันให้เอามาใช้ ให้เขียนลงไปในรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ


 


ตัวแทนจากแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ ได้เสนอทางออกว่า พี่น้องในภาคส่วนต่างๆ ต้องมาร่วมมือกัน อย่าอยู่อย่างโดดเดี่ยว และช่วยสนับสนุนให้มีการผลักดันเรื่องการปฏิรูปที่ดินรกร้างว่างเปล่า


 


 


กฎหมายป่าชุมชนยังถูกหมดเม็ด


 


นายอนันต์ ดวงแก้วเรือน จากเครือข่ายป่าชุมชน กล่าวว่า พรบ.ป่าชุมชนที่มีการรวบรวมรายชื่อเรียกร้องกันมานาน จนได้รับรายชื่อสนับสนุนถึง 50,000 รายชื่อ ได้เข้าไปในร่างพิจารณาในสมัยรัฐบาลทักษิณ ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นไปด้วยดี แต่จากเนื้อหาเดิมที่สนับสนุนให้พี่น้องได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้ที่ตนมีอยู่ภายใต้ชุมชนของตัวเอง ได้ถูกดัดแปลงไปโดย ส.ส. และวุฒิมาชิกซึ่งทำให้ พรบ.ฉบับนี้ย้อนกลับมาทำลายตัวเอง


 


โดยเมื่อ พรบ.นี้ผ่านร่างเข้าไปสู่วุฒิสมาชิก ก็โดนวิจารณ์เรื่องมาตรา 18 ที่บอกว่า ห้ามทำป่าชุมชนในเขตอนุรักษ์ ทำให้ชาวบ้านเริ่มหมดหวัง นอกจากนี้ยังเจอเรื่องถ้าจะใช้ไม้ต้องปลูกเองในพื้นที่นอกป่าชุมชน คือต้องอาศัยปลูกตามที่หัวไร่ปลายนา


 


นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไขที่ว่า ให้จัดตั้งป่าชุมชนในเขตอนุรักษ์ได้ เว้นแต่เขตป่าอนุรักษ์พิเศษ ซึ่งป่าอนุรักษ์พิเศษก็หมายถึงทุกที่ที่รัฐมนตรีเห็นชอบ ซึ่งถ้าจะมีกฎหมายออกมาในรูปแบบนี้คิดว่าอย่ามีดีกว่า คนที่ไม่หวังดีจะนำ พรบ.นี้ไปใช้เท่านั้น มันไม่ได้เอื้อประโยชน์จริงๆ กลายเป็นการเขียนกฎหมายมาทำลายตัวเอง ซ้ำร้ายกฏหมายที่ถูกวุฒิสมาชิกบิดเบือนออกมานี้อาจจะกลายเป็นการเพิ่มอำนาจให้หน่วยงานราชการในการควบคุมพื้นที่ได้มากกว่าเก่าด้วย


 


นายอนันต์ กล่าวแสดงความผิดหวังกับรัฐบาลชุดนี้ว่า แม้แต่พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ที่เคยเป็นประธาน "มูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่" มาก่อน ก็หวังว่าในฐานะของผู้ที่รักในธรรมชาติจะช่วยผลักดัน พรบ.ป่าชุมชน แต่ก็ไม่ได้เข้ามามีส่วนในกฏหมายป่าชุมชนครั้งนี้เลย นายอนันต์กล่าว


 


เชิงอรรถ


[1] พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 75 ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุด กิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวโดยเหตุหนึ่งเหตุใด ที่มิใช่เหตุสุดวิสัย ให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่า ร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้าง หยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน ให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบ ล่วงหน้าก่อนวันเริ่มหยุดกิจการตามวรรคหนึ่ง


 


อ่าน พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ทั้งหมด ที่นี่


 


ข่าวประชาไทย้อนหลัง


เสวนา "1 ปีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549": ไม่มีอะไรให้ประชาชน นอกจากการ "ชำระแค้น" อำนาจเก่า, ประชาไท, 21 กันยายน 2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net