Skip to main content
sharethis

 

พระสงฆ์และประชาชนชาวพม่าเดินขบวนอย่างสงบในกรุงย่างกุ้ง

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา (REUTERS/Democratic Voice of Burma)

 

สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า พระสงฆ์ในพม่าเดินนำมวลชนกว่า 3,000 คน ไปถามถนนที่เจิ่งนองด้วยน้ำฝนในกรุงย่างกุ้ง วานนี้ (21 ก.ย.) เพื่อสร้างแรงกดดันที่ท้าทายที่สุดต่อรัฐบาลทหารพม่าในรอบ 20 ปี หลังเหตุการณ์ 8888

 

โดยขณะพระสงฆ์ประมาณ 1,500 รูป เดินเท้าเปล่าเข้าไปในเมืองนั้น ได้เชื้อเชิญให้ประชาชนสองข้างทางจำนวนพอๆ กัน เข้าร่วมขบวนด้วย พวกเขาได้เดินฝ่าฝนและลุยน้ำ ซึ่งบางช่วงสูงถึงระดับเข่า เพื่อสวดมนต์เรียกร้องสันติภาพ

 

ประชาชนหลายร้อยคนทั้งจากสองข้างทางและริมหน้าต่างของบ้านเรือน ได้ปรบมือให้ระหว่างที่ขบวนของพระสงฆ์และประชาชนเหล่านี้เคลื่อนผ่าน

 

การประท้วงที่เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 19 สิงหาคมนั้น นับเป็นการท้าทายต่อระบอบทหารที่ใหญ่มากในรอบ 20 ปี โดยประเทศพม่าถูกทหารปกครองมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2505

 

ผู้เห็นเหตุการณ์กล่าวว่า ในการประท้วงครั้งล่าสุดที่ผ่านมา เริ่มต้นด้วยพระสงฆ์ประมาณ 500 รูป เดินเข้าสู่มหาเจดีย์ชเวดากอง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญของพม่า

 

แล้วพอพวกเขาเคลื่อนเข้าสู่ใจกลางเมือง จำนวนพระสงฆ์ก็เพิ่มขึ้นเป็น 1,500 รูป และประชาชนอีกประมาณ 1,500 คน ก็เข้าร่วมกับพวกเขา โดยมีกลุ่มสตรีประมาณ 100 คน ได้รวมกันเป็นโล่มนุษย์ปกป้องพระสงฆ์ที่ถือธงฉัพพรรณรังสี ซึ่งเป็นธง 6 สี ประจำพุทธศาสนา

 

พวกเขาหยุดที่ภายนอกศาลาว่าการกรุงย่างกุ้ง สถานที่ซึ่งพวกเขาเปล่งเสียงภาวนาว่า "ขอให้สันติและความมั่นคงปลอดภัยอยู่ยืนนาน ขออย่าให้ประชาชนต้องเป็นทุกข์เลย"

 

ผู้เห็นเหตุการณ์ยังกล่าวว่า ขบวนที่นำโดยพระสงฆ์ยังคงเดินต่อไป แม้จะเป็นเวลาค่ำ โดยพวกเขาได้ยืนสวดมนต์อยู่ที่ตลาดที่จอแจที่สุดของเมือง ก่อนที่จะกลับมาที่มหาเจดีย์ชเวดากอง สถานที่ซึ่งพวกเขาเริ่มต้นเดินขบวน เมื่อ 6 ชั่วโมงก่อนหน้านี้

 

เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (14 ส.ค.) มีผู้รายงานว่ามีพระสงฆ์ประมาณ 200 รูปสวดมนต์อยู่ทางทิศเหนือของกรุงย่างกุ้ง ทั้งนี้ พระสงฆ์ได้จัดการประท้วงรัฐบาลพม่าตลอดสัปดาห์นี้ ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นประท้วงรัฐบาลทหารครั้งใหม่ที่ดำเนินมาตั้งแต่เดือนที่แล้ว โดยเริ่มจากการที่ประชาชนไม่พอใจรัฐบาลที่ขึ้นราคาเชื้อเพลิง ทำให้ประชาชนจำนวนมากไม่มีเงินพอใช้จ่ายสำหรับค่ารถบัสเพื่อเดินทางไปทำงาน

 

"พระสงฆ์ออกมาเดินตามท้องถนน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลฟังและทำความเข้าใจกับประชาชนที่ประสบความเดือดร้อน" ออง นาย อู (Aung Naing Oo) นักวิเคราห์ชาวพม่า ซึ่งพำนักอยู่ในประเทศไทยกล่าว

 

พระสงฆ์ส่วนหนึ่งปฏิเสธที่จะรับการบริจาคของทหาร ซึ่งสำหรับชาวพุทธซึ่งถือว่าการทำทานทุกวันเป็นหน้าที่แล้ว กิริยาที่พระสงฆ์ปฏิเสธทหารเช่นนี้ถือเป็นวิธีการประณามระดับเดียวกับการคว่ำบาตร เลิกคบค้าสมาคมเลยทีเดียว

 

ทั้งนี้มีประชาชนมากกว่า 150 คน ซึ่งหนึ่งในจำนวนนี้เป็นอดีตผู้นำนิยมประชาธิปไตยรวมอยู่ด้วย ถูกรัฐบาลจับกุมนับตั้งแต่การประท้วงเริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนก่อน

 

ผู้นิยมประชาธิปไตยชาวพม่าได้เรียกร้องมาอย่างยาวนาน ให้มีการปฏิรูปประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยและปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ซึ่งถูกควบคุมตัวไว้ในบ้านพักของนางเป็นเวลากว่า 18 ปี

 

แต่การประท้วงล่าสุดที่หยิบยกประเด็นปากท้อง อย่างการถีบตัวสูงขึ้นของราคาอาหารและค่ายานพาหนะ ได้สร้างความตระหนักให้กับสังคมพม่า สังคมซึ่งมีความขัดแย้งสูงมาก ในประเด็นความขัดแย้งของกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งทำให้ประเทศนี้ถูกแบ่งเป็นเสี่ยงๆ อย่างยาวนานนับทศวรรษ

 

"พวกเราเฝ้ารอวันนี้มากว่า 45 ปีแล้ว" ชายมุสลิมชาวพม่า ซึ่งเฝ้ามองการประท้วงกล่าว

 

"ฉันรู้สึกตื่นเต้นดีใจ ที่เกิดเป็นชาวพุทธ" ผู้หญิงคนหนึ่งกล่าวด้วยน้ำตานองหน้าขณะปรบมือซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้กับพระสงฆ์ที่ออกมาประท้วงเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

 

ความยุ่งเหยิงที่ทวีขึ้นนี้ ได้ทำให้แรงกดดันจากนานาชาติขยายตัวตามไปด้วย โดยที่อังกฤษและสหรัฐอเมริกากล่าวว่า "รู้สึกตกใจ" ที่รัฐบาลทหารพม่าเข้ามาควบคุมการประท้วงที่ดำเนินไปอย่างสันติ

 

โดยทูตของสหรัฐอเมริกาและอังกฤษประจำสหประชาชาติกล่าวเตือนรัฐบาลทหารพม่าเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาให้อนุญาตให้ทูตพิเศษของสหประชาชาติ นายอิบราฮิม กัมบารีเข้าประเทศพม่าได้ "เร็วที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้"

 

นักวิเคราะห์กล่าวว่าการประท้วงดังกล่าว ได้กลายเป็นการประท้วงต่อต้านระบอบทหารที่ขยายตัวมากที่สุด นับตั้งแต่การต่อต้านเมื่อปี 1988 หรือ พ.ศ. 2531 ซึ่งในครั้งนั้นได้จบลงด้วยการที่ทหารยิงปืนเข้าใส่ฝูงชนที่ออกมาชุมนุมบนท้องถนน ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยหรืออาจจะหลายพันคน

 

หลังจากการต่อต้านในปี 1988 รัฐบาลทหารได้จัดการเลือกตั้งขึ้นในปี 1990 หรือ พ.ศ.2533 ซึ่งในครั้งนั้นนางอองซาน ซูจี แห่งพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตยชนะอย่างถล่มทลาย แต่รัฐบาลทหารก็ไม่เคยรับรองผลการเลือกตั้งนั้น

 

ทั้งนี้ พระสงฆ์ในพุทธศาสนาได้รับการยอมรับในสังคมพม่า ด้วยการที่พระสงฆ์ได้เข้าร่วมสนับสนุนการต่อต้านรัฐบาลทหารในปี 1988

 

การกระทำใดๆ ที่ต่อต้านพระสงฆ์ จะทำให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้จากประชาชนทันที ซึ่งจะทำให้รัฐบาลทหารพม่าหมดทางเลือกที่จะควบคุมการประท้วง

 

ขณะที่การประท้วงในกรุงย่างกุ้งจบลงอย่างสงบ แต่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา รัฐบาลทหารได้ใช้แก๊สน้ำตาและยิงปืนขึ้นฟ้าเพื่อยุติการประท้วงของพระสงฆ์ประมาณ 1,000 รูปที่เดินขบวนประท้วงในเมืองที่มีการขุดเจาะน้ำมันอย่างเมือง "ซิททเว" (Sittwe)

 

ทั้งนี้ มีรายงานการประท้วงรัฐบาลทหารพม่าตลอดสัปดาห์ โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 17 ก.ย. มีพระสงฆ์ประมาณ 500 รูป เดินขบวนที่เมืองเจ้าก์ปะด่าว (Kyaukpadaung) วันอังคารที่ 18 ก.ย. ประชาชนประมาณ 100 คนเดินขบวนในกรุงย่างกุ้ง (Yangon) และที่เมืองซิททเว (Sittwe) ตำรวจเตือนผู้ประท้วงให้สลายการชุมนุมด้วยแก้สน้ำตาและยิงปืนขึ้นฟ้า นอกจากนี้มีประชาชนหลายพันคนเดินขบวนในเมืองหงสาวดี หรือพะโค (Pegu) อองลัน (Aunglan) ปาโคะกู่ (Pakokku) และ มัณฑะเลย์ (

Mandalay)

 

และเมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา พระสงฆ์กว่า 2,000 รูปเดินขบวนในหลายเมืองทั่วพม่า ทั้งที่ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ แปร และซิททเว และเมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่ผานมา พระสงฆ์ประมาณ 1,300 รูปเดินขบวนในกรุงย่างกุ้งโดยผ่านมหาเจดีย์ชเวดากองและเจดีย์สุเล

 

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Thousands march in Yangon as pressure mounts on Myanmar, AFP, September 21, 2007

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net