จาตุรนต์ ฉายแสง : ปาฐกถาอนาคตการเมืองไทย จากนี้ไปคือ "วิกฤต" ที่รออยู่

วันครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2550 เครือข่ายนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตย จัดงานปาฐกถาครบรอบ 1 ปีหลังรัฐประหาร เรื่อง "อนาคตการเมืองไทย : วิกฤตที่รออยู่" ณ โรงแรมสยามซิตี้ โดยมีนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย เป็นองค์ปาฐก

 

นายจาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวถึงบทเรียนที่พบในช่วง 1 ปีที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อ 19 กันยาว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แท้จริงแล้วก็คือปัญหาการเมืองไทยใยช่วงหลายสิบปี คือ มีคณะบุคคลที่ไม่ต้องการให้เกิดพัฒนาการในระบอบประชาธิปไตย ไม่ต้องการให้ประชาชนปกครองตัวเอง แต่ต้องการเป็นผู้กำหนดความเป็นไปของบ้านเมืองด้วยตนเอง โดยมีกำลังหลักคือข้าราชการประจำซึ่งนำโดยทหาร 

 

เขากล่าวว่า มีประเด็นที่น่าเสียดาย คือ การย้ายข้างของพลังประชาธิปไตย ปัญญาชนจำนวนหนึ่งย้ายข้างจากระบบประชาธิปไตยไปสู่เผด็จการ ทั้งยังดึงเอาฝ่ายตุลาการเข้าไปเสริมความเข้มแข็งของระบอบคณาธิปไตย

 

ไม่เพียงเท่านั้น ยังเกิดพัฒนาการที่ 'สื่อมวลชน' แสดงบทบาทเป็นผู้กำหนดความเป็นไปในบ้านเมืองมากที่สุดในประวัติศาสตร์ทางการเมือง โดยมีบทบาทในการค้ำจุนสิ่งที่เป็นอยู่และสิ่งที่เป็นไป

 

นายจาตุรนต์กล่าวถึงอนาคตทางการเมืองไทยว่า หลังการเลือกตั้ง หากไม่ใช่รัฐบาลที่อ่อนแอไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งอาจเป็นข้ออ้างในการยึดอำนาจครั้งใหม่ ก็อาจจะมีผลอีกแบบคือ เป็นรัฐบาลจากพรรคการเมืองใหญ่พรรคเดียว ซึ่งก็อาจจะได้รับการไม่ยอมรับในพันธมิตรและ คมช.เดิม

 

"มันจะเกิดภาวะการเมืองที่ไม่สมดุล ไม่ว่าแบบไหนก็จะเกิดความขัดแย้งอยู่ ยังไม่ลงตัวอยู่ ประเทศจะยังไม่เกิดศักยภาพในการพัฒนาต่อไป"

 

แต่นายจาตุรนต์ ได้กล่าวถึงคุณค่าจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไว้ว่า มีสิ่งที่ทำลายไม่ได้ คือประสบการณ์การเรียนรู้ของประชาชน ที่เรียนรู้ว่า ระบบรัฐสภา ระบบการเลือกตั้ง เรื่องพรรคการเมือง เรื่องนโยบายพรรค มีประโยชน์กับประชาชนอย่างไร เรื่องนี้ยังทำลายไม่ได้ และสะท้อนออกจากประชามติ และเชื่อว่า จะสะท้อนออกมาจากการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย

 

สำหรับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนั้น นายจาตุรนต์ได้เรียกร้องให้หน่วยงานทุกส่วนมีความเป็นกลาง และประกาศท้าว่า คมช.ควรจะออกมาประกาศว่า ตนเองจะเป็นกลางในการเลือกตั้ง และ คมช.ควรจะประกาศยกเลิกคำขอแกมบังคับที่มีต่อสื่อมวลชนทุกแขนงไม่ให้เสนอข่าวบุคคลหรือพรรคการเมืองใด

 

ยิ่งไปกว่านั้นคือ ผบ.ทบ. เมื่อเข้ามารับตำแหน่งใหม่แล้ว ก็ควรจะนำบรรดาผู้นำของตัวเองกลับกรมกองให้หมด และต้องประกาศเป็นกลางในการเลือกตั้ง

 

"ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ควรจะส่งเสริมให้ประชาชนเลือกพรรคการเมือง เลือกนโยบายพรรคการเมือง ให้ความสนใจกับพรรคการเมือง ไม่ใช่ขึ้นคำขวัญแบบเดิม เช่น เลือกตั้งทั้งที ต้องเอาคนดีเข้าสภา มันไม่พัฒนาไปไหน" นายจาตุรนต์กล่าว

 

ภายหลังการเลือกตั้ง ต้องมุ่งไปที่การแก้รัฐธรรมนูญขนานใหญ่โดยเร็ว ไม่ใช่บอกว่า ก็ให้บริหารไปสัก 4-5 ปีค่อยแก้ และควรสรุปบทเรียนทางตรงของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา เรียนรู้ความเสียหายที่เกิดจากการปกครองระบอบเผด็จการ หรือประชาธิปไตยครึ่งเสี้ยวครึ่งใบ

 

ภายหลังการปาฐกถา นายจาตุรนต์ได้ให้สัมภาษณ์นักข่าว โดยกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยกวับตำแหน่ง ผบ.ทบ.คนใหม่ว่า หวังว่าผบ.ทบ.จะประกาศนำเอาทหารกลับเข้ากรมกอง และประกาศยืนยันว่าจะไม่ยึดอำนาจรัฐประหารอีก เพราะจะทำให้บ้านเมืองเสียหายยับเยินอย่างที่เกิดขึ้นมาแล้ว

 

"เราก็อยากเห็นทหารรักษาเกียรติภูมิของกองทัพ ไม่มาทำให้บ้านเมืองเสียหายอย่างที่ได้ทำมามากแล้ว และต่อไปนี้ก็ทำตัวให้เป็นทหารอาชีพ พัฒนากองทัพ ป้องกันประเทศอย่างจริงจัง และไม่มาทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัด และไม่ทำในสิ่งที่สังคมโลกไม่ยอมรับ ก็จะช่วยฟื้นเกียรติภูมิของกองทัพขึ้นมได้ ก็หวังว่า ผบ.ทบ.คนใหม่จะนำเกียรติภูมิของกองทัพกลับคืนมา เป็นองค์กรที่ช่วยป้องกันประเทศ ไม่ใช่องค์กรที่จะทำลายประชาธิปไตยอย่างที่ผ่านมา" นายจาตุรนต์กล่าว

 

000

 

 

"อนาคตการเมืองไทย : วิกฤติที่รออยู่"

จาตุรนต์ ฉายแสง

ปาฐกถาครบรอบ 1 ปีหลังรัฐประหาร

 

 

 

ผมเคยวิจารณ์เกี่ยวกับการครบรอบรัฐประหารมาเกือบทุกเดือนที่ผ่านมา เมื่อมาถึงโอกาสครบรอบ 1 ปี จึงคิดว่าควรจะได้วิพากษ์วิจารณ์ครบรอบ 1 ปีของการรัฐประหาร เหมือนจะเป็นประเพณีก็ได้ โดยเฉพาะช่วงนี้กำลังเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมือง การเมืองกำลังเข้มข้น การแสดงความคิดเห็นในช่วงนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจความเป็นไปของบ้านเมือง

 

สิ่งที่ผมจะแสดงความคิดเห็นในวันนี้ จะเป็นทั้งการประเมินความสำเร็จ ความล้มเหลว ของ คมช.และรัฐบาล รวมทั้งมี ข้อเสนอ ความคิดเห็น ต่อการเมืองทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

 

ถ้าท่านฟังการประเมินในช่วงนี้ จะมีการพูดว่า สอบได้ สอบตก ดูเหมือนหลายฝ่ายจะมองกันว่า จากนี้ไปการเมืองไทยจะเริ่มคลี่คลาย พ้นจากวิกฤตไปแล้ว เพราะมีรัฐธรรมนูญแล้ว จะมีการเลือกตั้งแล้ว แต่ผมไม่เห็นว่าการเมืองกำลังจะคลี่คลายพ้นจากวิกฤต ผมกลับเห็นว่า เราไม่ได้กำลังก้าวพ้นวิกฤต แต่กำลังก้าวเข้าสู่วิกฤตที่หนักหน่วงยิ่งขึ้น สภาพการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่ต่อเนื่องกันมา คงจะทำให้พอคาดการณ์ไปข้างหน้าได้

 

ในเรื่องการวิเคราะห์อนาคตการเมืองไทย จำเป็นต้องพูดถึงอดีตบ้าง ที่สำคัญคือ เราอธิบาย 19 กันยายน 49 กันอย่างไร และอธิบายการเมืองไทยก่อนหน้านั้นเป็นอย่างไร

 

ก่อน 19 กันยา เกิดความไม่พอใจนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 จากความไม่พอใจนั้น ได้มีการพัฒนา เผยแพร่ความคิด ตั้งแต่ความคิดในลักษณะที่เป็นอนาธิปไตย ไม่ต้องยึดถือกฎเกณฑ์กติกาอะไรทั้งนั้น ขอให้ได้สู้กับรัฐบาลไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ตาม นี่เป็นความคิดแบบหนึ่ง ความคิดนี้ไม่มีอิทธิพลมากนัก ความคิดที่มีบทบาทมากกว่าคือความคิดแบบ 'คณาธิปไตย' คือหมู่คณะของบุคคลเป็นใหญ่ สะท้อนออกจากความคิดว่า 'เรา' ไม่เชื่อการเลือกตั้ง 'เรา' ไม่เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่จะคิดอะไรได้

 

'เรา' ในที่นี้หมายถึงกลุ่มคนนั้นสามารถกำหนดความเป็นไปของบ้านเมืองได้ ไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญโดยรัฐสภา แก้โดยคนไม่กี่คนก็ได้แล้ว เป็นแนวความคิดที่บางท่าน โดยเฉพาะนักวิชาการจะพูดถึงว่า เป็นความคิดแบบอภิสิทธิ์ชน หมายถึง คณะบุคคลคณะเล็กๆ มีอำนาจตัดสินใจมากกว่าประชาชนทั้งประเทศ  มีการตั้งคำถามว่า จะเอาราษฎรอาวุโสท่านนี้ไปเทียบกับหนึ่งเสียงเหมือนประชาชนทั่วไปได้อย่างไร พูดไปพูดมา ความหมายก็คือ ขอให้คนบางคนมีคุณค่า มีความหมายต่อบ้านเมือง มากกว่าประชาชนทั้งประเทศ

 

ความคิดเหล่านี้ เป็นการปูทางสร้างความชอบธรรมให้กับระบอบที่นักวิชาการมักเรียกกันว่า 'อำมาตยาธิปไตย' คือพวกทีมีฐานะสูง มีตำแหน่ง มีอำนาจมากๆ ในสังคม เป็นผู้กำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง

 

ก่อน 19 กันยา ซึ่งก็มีผลต่อเนื่องมาด้วย มีปรากฏการณ์ในสังคมการเมืองไทยที่สำคัญและน่าผิดหวัง น่าเสียดายมากคือ การที่พลังประชาธิปไตยในอดีต และโดยเฉพาะปัญญาชนที่เคยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ได้ย้ายข้างไปสนับสนุนแนวความคิดแบบคณาธิปไตย อำมาตยาธิปไตย หรือแม้กระทั่งแนวความคิดแบบเผด็จการ ถึงแม้ว่าจะพูดอยู่ว่า "ไม่เห็นด้วย แต่ก็จำเป็น" แต่ในที่สุดแล้ว ก็คือการย้ายข้างไปสนับสนุนเผด็จการนั่นเอง

 

การพิจารณาความคิดและการดำเนินการต่างๆ เหล่านี้ ก็นำไปสู่การยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และนำไปสู่การฉีกรัฐธรรมนูญ ล้มระบอบรัฐธรรมนูญ ล้มระบอบรัฐสภา ผม หรืออีกหลายท่านคงเคยอธิบายว่า ที่เขาต้องฉีกรัฐธรรมนูญ จริงๆ เขาไม่ได้สนใจเนื้อหาอะไรของรัฐธรรมนูญมากหรอก แต่ว่าเขาจะยึดอำนาจจากรัฐบาล กฎหมายมันไม่ให้ รัฐธรรมนูญก็ไม่ให้ เพราะฉะนั้นก็ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ นี่ก็เป็นความจริง

 

แต่ถ้าเรามองย้อนหลังไป เราจะพบว่ามันไม่ใช่แค่นั้น ที่ฉีกรัฐธรรมนูญ ล้มระบอบรัฐธรรมนูญ ล้มรัฐสภาไป ไม่ใช่แค่เป็นอุปสรรคต่อการยึดอำนาจรัฐประหาร ก็เลยต้องฉีกแล้วนิรโทษกรรมตัวเอง แต่ว่ามาถึงปัจจุบัน ผมคิดว่า การที่ยึดอำนาจแล้วฉีกรัฐธรรมนูญ โดยรวมๆ แล้วมันเป็นเรื่องที่กลุ่มคณะบุคคลดังที่ได้กล่าวมานั้น ไม่ได้เชื่อถือในระบอบรัฐธรรมนูญ เช่นหมายถึง ปกครองโดยกฎหมายสูงสุด คนต้องเท่าเทียมกัน อยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน กำหนดว่าประชาชนจะต้องมาปกครองประเทศได้อย่างมีส่วนร่วมโดยรัฐธรรมนูญ เขาไม่เชื่อในระบอบนี้ ไม่เชื่อถือในระบบรัฐสภา ไม่เชื่อถือการเลือกตั้ง ไม่เชื่อถือเรื่องการที่ประชาชนจะมีผู้แทนของตัวเองมาปกครองประเทศ เพราะเห็นว่าประชาชนยังโง่อยู่ ประชาชนเห็นแก่อามิสสินจ้าง ประชาชนซื้อได้

 

ที่สำคัญคือ ไม่เห็นด้วย ไม่ยินยอม และไม่ต้องการเห็นการพัฒนาของระบบนักการเมือง ไม่เห็นด้วย รับไม่ได้กับการที่ประชาชนจะรู้จักบอกว่า บ้านเมืองต้องไปทางนี้ ถ้าพรรคการเมืองต้องการได้รับเลือก ต้องมีนโยบายเหล่านี้มาถึงจะเลือก แล้วพอพรรคการเมืองสร้างนโยบายขึ้นมาแล้ว ประชาชนเลือกแล้วเอานโยบายนั้นไปใช้ ยิ่งเป็นเรื่องที่กลุ่มอภิสิทธิ์ชน คณาธิปไตย ทั้งหลายเหล่านี้รับไม่ได้ ยอมไม่ได้

 

พร้อมๆ กันนั้น การรัฐประหารและสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นทำให้เห็นว่า ในสังคมไทยยังมีผู้มีอำนาจที่ไม่เห็นความสำคัญของหลักนิติรัฐ ไม่เห็นความสำคัญของหลักนิติธรรม และพูดกันไปก็คือ ไม่ได้เห็นความสำคัญและสาระของสิทธิเสรีภาพของประชาชน

 

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา หมายถึง 19 กันยาและหลังจากนั้น ความจริงก็คือปัญหาการเมืองไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมานั่นเอง คือการที่คณะบุคคลไม่ต้องการให้เกิดพัฒนาการของระบอบรัฐธรรมนูญ ระบบรัฐสภา ไม่ต้องการให้ประชาชนปกครองตัวเอง ต้องการเป็นผู้กำหนดความเป็นไปของบ้านเมืองด้วยตนเอง กำลังหลักคือ ใช้ข้าราชการประจำ นำโดยทหาร และนำเอานักธุรกิจ นายทุนบางส่วน ที่ต้องพึ่งพิงเขา

 

จะมีความแตกต่างจากในอดีตอยู่บ้าง ที่สำคัญก็คือ มีการย้ายข้างของพลังประชาธิปไตยที่เคยเป็นประชาธิปไตยและปัญญาชน มีการดึงเอาฝ่ายตุลาการเข้ามามีบทบาทในการเสริมความเข้มแข็งของระบอบอนาธิปไตย และเกิดพัฒนาการที่ 'สื่อมวลชน' แสดงบทบาทเป็นผู้กำหนดความเป็นไปในบ้านเมืองมากที่สุดในประวัติศาสตร์ทางการเมือง โดยมีบทบาทในการค้ำจุนสิ่งที่เป็นอยู่และสิ่งที่เป็นไป

 

ถ้าถามว่า อะไรสำเร็จ อะไรไม่สำเร็จ ในรอบ 1 ปี รัฐบาลก็ยังไม่ครบ 1 ปีดี ผมคงจะไม่สามารถไปให้คะแนนว่ารัฐบาลสอบตกหรือสอบได้ หนึ่งคือ ผมไม่ใช่อาจารย์ที่ไปคอยให้คะแนนใคร และถึงแม้ใครเป็นอาจารย์ก็ไม่ควรให้คะแนนรัฐบาลนี้ได้ เพราะรัฐบาลนี้ส่งกระดาษเปล่าตลอด จะให้คะแนนสอบตกสอบได้ได้อย่างไร

 

การเกิดขึ้น การดำรงอยู่ ของรัฐบาลปัจจุบันนี้ เป็นตัวปัญหาเองอยู่แล้ว การมีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นปัญหาเองอยู่แล้ว ในการที่ทำให้ประเทศไม่เป็นที่ยอมรับ รัฐบาลนั้นย่อมไม่สนใจว่าประชาชนคิดอย่างไร ต้องการอะไร เป็นธรรมชาติของมันอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น รัฐบาลนี้ไม่ได้ช่วยทำอะไรให้สถานการณ์ที่แย่ลงจากการยึดอำนาจเปลี่ยนประเทศเป็นเผด็จการ ให้มันดีขึ้นหรือค่อยยังชั่วหน่อย และไม่มีอะไรที่ต้องไปประเมินมากกว่านี้

 

ส่วนข้ออ้าง 4 ข้อของ คมช. (การทุจริตคอรัปชั่น ความแตกแยกในสังคม การแทรกแซงองค์กรอิสระ การหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) ผมพูดมาหลายรอบแล้วว่าล้มเหลวหมด คนไม่ค่อยพูดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับ คมช. คือ ข้ออ้างสำคัญกว่านั้นของเขา ที่ไม่ใช่ 4 ข้อ ก็คือ การประกาศเหตุผลของการยึดอำนาจ และชื่อของคณะที่ยึดอำนาจ

 

ชื่อของคณะที่ยึดอำนาจ 'คปค.' (คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) คือการอ้างว่าตัวเองจะเข้ามาปฏิรูปการเมืองไทยให้เป็นประชาธิปไตย ตอนนี้ผ่านมาหนึ่งปี เห็นได้ชัดว่าภารกิจตามชื่อของ คปค.นั้น ล้มเหลวสิ้นเชิง เป็นเพียงการตั้งชื่อโก้ๆ ขึ้นมาเพื่อผลทางการเมืองชั่วคราว แล้วก็สลายตัวไป แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น คมช. (คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) ถ้าเราไม่ลืมก็จะพบว่า ภารกิจที่อ้างโดยการตั้งชื่อนั้น จริงๆ มันเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยไปฝากความหวัง คนที่เอาดอกไม้ไปให้ก็บอกว่า ดีนี่ เพราะคุณจะมาปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย

 

เสร็จแล้ว ภารกิจนี้ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง พูดแต่ล้มเหลวก็ไม่เชิง นักวิชาการบางท่านออกมาบอกว่า รัฐบาลสอบตก คมช.พอสอบผ่าน พูดเพื่อบรรทัดฐานแบบหนึ่ง ผมพูดบรรทัดฐานคนละแบบ มาบอกว่าล้มเหลวอะไรไปบ้างแล้ว ความจริงต้องบอกว่า คมช.เขาทำสำเร็จในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่เขาไม่ได้อ้างเป็นตัวหนังสือ ไม่ได้พูดออกมาอย่างชัดเจน คมช.ได้ประสบความสำเร็จอย่างมากในเรื่องต่อไปนี้

 

หนึ่ง ได้ทำให้ประชาธิปไตยของประเทศถอยหลังไปหลายสิบปี นี่คือสิ่งที่เขาต้องการจะทำ และเขาทำสำเร็จ ได้ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเสียหายอย่างยับเยินจากการที่ทำให้ประเทศเป็นที่ไม่ยอมรับ ไม่เชื่อถือ และคนไม่มาลงทุน และได้ตั้งรัฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีประสิทธิผล ไม่สนใจความเดือดร้อนของประชาชน

 

คมช.ได้ยึดอำนาจอธิปไตยไปจากปวงชน ผ่านไปหนึ่งปี ได้คืนอำนาจอธิปไตยเพียงบางส่วน หลายส่วนยังอยู่กับเขา ผู้มีอำนาจ ผู้ที่จะมีอำนาจต่อไปซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง มาจากการแต่งตั้ง มันมีสายระโยงระยางกับคณะผู้ยึดอำนาจ คมช.ได้ประสบความสำเร็จในการทำลายความเป็นนิติรัฐของประเทศ นี่ได้ทำลายอย่างสิ้นเชิง ตอนนี้ก็ยังไม่ฟื้น ประเทศไทยยังคงไม่เป็นนิติรัฐ ไม่มีการใช้หลักนิติธรรมในการบริหารปกครองประเทศ ได้สร้างและเสริมระบอบอำมาตยาธิปไตยขึ้น โดยมีการดึงเอาฝ่ายตุลาการเข้ามาร่วมด้วย แล้วก็จะทำให้ส่งผลกระเทือนต่อความเป็นกลางและอิสระของฝ่ายตุลาการในที่สุด ความจริงมีบ้างแล้ว และจะมีมากขึ้นต่อไป

 

นอกจาก คมช.จะทำให้เกิดระบบที่พรรคการเมือง ระบบรัฐสภา ไม่มีบทบาทมากแล้ว ยังต้องอาศัยพึ่งพาระบบราชการและคณะบุคคล ที่อาจจะต้องเรียกว่า 'อภิสิทธิ์ชน' ทั้งหลาย ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

 

หนึ่งปีมานี้ ยังได้ทำให้ระบบพรรคการเมืองและพรรคการเมืองอ่อนแอโดยทั่วหน้ากัน ระบบพรรคการเมืองถูกทำลายไปอย่างมาก ถูกทำให้สูญเสียศักยภาพ ลดความเข้มแข็งลงไปอย่างมาก ได้ทำให้การที่บ้านเมืองจะถูกกำหนดโดยประชาชนผ่านระบบพรรคการเมืองสูญเสียศักยภาพไปอย่างมาก และคมช.ก็ได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในการทำลายบุคคล กลุ่มบุคคล โดยเฉพาะสิ่งที่เขาเรียกว่า 'กลุ่มอำนาจเก่า'

 

จริงๆ แล้วนี่คือความสำเร็จที่เขาตั้งใจจะทำ ในส่วนข้ออ้าง 4 ข้อ เป็นเพียงข้ออ้าง แล้วชื่อ คปค. ที่บอกว่าจะปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย ก็เป็นเพียงข้อความที่นำมาใช้ประโยชน์ทางการเมืองสั้นๆ เท่านั้น

 

ถามว่ามีอะไรมารองรับสิ่งที่ผมพูดไป ว่าได้เกิดความสำเร็จเหล่านี้ มีมากมายหลายอย่าง พอพูดโดยสังเขปก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยา เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เราก็ได้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญที่ส่งเสริมความเข้มแข็งของระบอบอำมาตยาธิปไตย อำนาจไม่ได้อยู่ที่ประชาชน เราเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคการเมือง ก็คือมีการพยายามแยกสลายพรรคการเมืองบางพรรค มีการห้ามพรคการเมืองทั้งหลายทำกิจกรรม ห้ามสมาชิกพรรคการเมืองเข้าไปร่วมในกระบวนการทางการเมืองที่สำคัญคือกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ห้ามประชาชนทั้งประเทศตั้งพรรคการเมือง ทั้งๆ ที่บอกว่ากำลังจะมีการเลือกตั้งอยู่ในอีกไม่กี่เดือน มีการยุบพรรคการเมืองบางพรรคไป เป็นพรรคการเมืองที่มีผู้สนับสนุนมากที่สุด และมี ส..มากที่สุดจากการเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ

 

มาถึงวันนี้ เกิดอะไรกับพรรคการเมือง นอกเหนือจากสิ่งที่ได้พูดไปแล้ว ท่านก็จะเห็นการผลักดันโดยผู้มีอำนาจให้เกิดการจับขั้วทางการเมือง เพื่อเป็นพรรคการเมือง มีการจับขั้วรวมตัวกันอย่างสับสน ไม่รู้ว่ามีนโยบายอะไร ไม่รู้ว่ามีทิศทางทางการเมืองตรงกันหรือไม่อย่างไร ความสับสนนั้นก็สะท้อนออกมาจากผู้ที่กำลังไปรวมตัวกำลังพูดอยู่เอง

 

ที่บอกว่าประชาธิปไตยเมืองไทยย้อนหลังไปหลาย 10 ปี สิ่งที่แสดงอย่างหนึ่งในช่วงที่เป็นเผด็จการมากๆ คือ ตำแหน่ง ผบ.ทบ.จะเป็นเรื่องใหญ่ และเป็นที่สนใจมาก ในอดีตเป็นอย่างนั้น มาในสองเดือนมานี้ เราก็จะเห็นข่าวการตั้ง ผบ.ทบ.ว่าใครจะเป็น ผบ.ทบ.อยู่ตามหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์รายวันและรายสัปดาห์ ข่าวทีวี เต็มไปหมด

 

เมื่อใดที่ข่าว ผบ.ทบ.เป็นเรื่องใหญ่จนกลบข่าวอื่นไปหมด ข่าวความเดือนร้อนของประชาชน ข่าวการเลือกตั้ง ฯลฯ สู้ข่าว ผบ.ทบ.ไม่ได้ นั่นแสดงว่ากองทัพยังคงมีบทบาทอยู่มากในทางการเมือง และเป็นเรื่องน่าเสียดายมากที่ข่าวเรื่องใครจะมาเป็น ผบ.ทบ. เขาวิเคราะห์ให้เหตุผลกัน ไม่ได้บอกว่า ใครจะมาพัฒนากองทัพได้ดีกว่ากัน ใครจะเป็นกำลังสำคัญในการป้องกันประเทศได้ดีกว่ากัน แต่มันอยู่ที่ว่า ใครจะมาจัดการในสิ่งที่เรียกว่าเป็นอำนาจเก่าได้ดีกว่า ใครจะทำให้การเมืองนิ่งได้ดีกว่า ใครจะรับมือกับการต่อสู้ของประชาชนได้ดีกว่ากัน นี่เป็นข่าวที่เกิดขึ้นในช่วงหนึ่งเดือนสองเดือนมานี้

 

เรื่องการตั้ง ผบ.ทบ. เป็นการทำลายเกียรติภูมิของกองทัพเป็นอย่างมาก เป็นผลสะสมมาจากการยึดอำนาจรัฐประหาร และการดำเนินการหลังจากนั้น เป็นการทำลายเกียรติภูมิของกองทัพ ทั้งๆ ที่ทหารส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นดีเห็นงามไปด้วยกับการยึดอำนาจรัฐประหาร และการที่จะมีบทบาทในทางการเมืองต่อไป นี่ก็หวังว่าใครที่มาเป็นผบ.ทบ.แล้วจะรู้หน้าที่ของตัวเอง

 

สิ่งที่รองรับว่าได้เกิดอะไรขึ้น หรือ คมช.ประสบความสำเร็จอะไรไปบ้าง ที่บอกว่าทำให้ระบบพรรคการเมืองอ่อนแอ ระบบรัฐสภาแย่ลง ก็คือการประโคมข่าวว่าการเลือกตั้งจะเต็มไปด้วยการซื้อเสียง ภาพความชั่วร้ายของพรรคการเมือง นักการเมืองก็จะถูกเสนอมาก ถูกขยายความมากโดยผู้มีอำนาจทั้งหลาย โดยเฉพาะผู้ที่เชื่อมโยงกับการยึดอำนาจ ทั้งๆ ที่ความจริง สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับพรรคการเมือง สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการเลือกตั้ง เป็นผลของการรัฐประหารและการดำเนินการทางการเมืองของคณะที่ยึดอำนาจทั้งนั้น ที่ต้องการให้เกิดอย่างนี้ ความจริงก็คือเพื่อปูพื้นฐานสร้างความชอบธรรมไว้กับอนาคตข้างหน้า เวลาที่จะยึดอำนาจอีก

 

ส่วนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น เราก็จะเห็นว่า เขาจะพูดถึงเรื่องการเลือกตั้งนี้จะไม่เป็นกลาง ไม่ยุติธรรม เน้นเรื่องการใช้เงินซื้อเสียง มีการพูดกันแล้วว่าแนวโน้มของรัฐบาลที่จะเกิดขึ้น ก็จะเป็นรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ ขาดประสิทธิภาพ

 

โดยรวมๆ แล้ว เรากำลังจะเดินไปเจอกับอะไร จะขอพูดในสองส่วนคือ การเลือกตั้ง และรัฐบาลหลังเลือกตั้ง

 

แนวโน้มการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ก่อนการเลือกตั้งคงจะมีความพยายามสกัดกั้นทำลายพรรคการเมืองบางพรรคต่อไปอีก การเลือกตั้งนี้ไม่มีทางจะเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมไปได้เลย นี่เราดูจากการทำประชามติ การใช้บทบาทของ กกต. ที่มาพูด มาบอกว่าจะจัดการอยู่แต่กับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ ผู้ที่เป็น กกต.อยู่ก็เป็นคนร่างรัฐธรรมนูญเอง มีความผูกพันใกล้ชิดไปกับการที่จะทำให้รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นแบบนั้น การลงประชามติโดยที่กลไกของรัฐมีบทบาทไม่เป็นกลางอย่างชัดเจนเต็มไปหมด ตั้งแต่ คมช. รัฐบาล ทหาร กองทัพ มหาดไทย

 

จากการลงประชามติอย่างนั้น เรายังไม่เห็นเลยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้อะไรจะดีขึ้นบ้าง กกต.ก็ยังชุดเดิมอยู่ ผู้นำกองทัพบางคนพูดหลังการทำประชามติว่า ภาคนี้ไม่ประสบความสำเร็จ ขอแก้ตัวอีกสัก 3 เดือน 6 เดือน แก้ตัวอะไร จัดการดูแลประชาชนไม่ได้ ให้ลงประชามติตามที่ต้องการไม่ได้ มีการขอกำลัง กอ.รมน.เข้าไปเสริมในหลายพื้นที่เต็มไปหมด การยกเลิกกฎอัยการศึก ทำท่ายกเลิกบางจังหวัด แถมจะเพิ่มบางจังหวัด เราจะมีการเลือกตั้งในขณะที่มีกฎอัยการศึกอยู่ใน 20 กว่าจังหวัด โดยที่จังหวัดส่วนใหญ่ที่กำหนดให้มีกฎอัยการศึก มาจากการดูว่า พื้นที่ไหนเป็นฐานสำคัญทางการเมืองของพรรคการเมืองที่ต้องการจะจัดการ

 

ในระหว่างนี้ ก็จะมีการสกัดกั้นพรรคการเมืองอย่างที่ได้พูดไปแล้ว การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจึงไม่มีหลักประกันความน่าเชื่อถืออะไรเลยว่า การเลือกตั้งจะบริสุทธิ์ยุติธรรม

 

หลังการเลือกตั้ง เราก็จะได้พรรคการเมืองผสมที่อ่อนแอ หรือไม่ก็อาจจะได้พรรคการเมืองที่ได้เสียงมากๆ ไปเลยแล้วก็จะไปเจอปัญหาอีกแบบหนึ่ง ก็คือจะถูกจัดการจากกลุ่มผู้มีอำนาจ พันธมิตรของ คมช.ก็จะออกมาโวยวายต่ออีก เรียกร้องให้มีการจัดการกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีก เพราะความคิดเรื่องคณาธิปไตย ความคิดเรื่องกลุ่มบุคคลสามารถกำหนดความเป็นไปของบ้านเมืองได้ ไม่ใช่ประชาชน ยังมีอยู่ ถ้าเป็นรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ ขาดประสิทธิภาพ ขาดประสิทธิผล การแก้ไขปัญหาของประเทศก็จะทำไมได้ ผลที่ตามมาก็จะเป็นได้สองทาง ทางหนึ่งคือ ประชาชนก็จะเรียกร้องว่าต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ ให้ประเทศพ้นจากสภาพเหล่านี้ ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยก็จะเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญ ให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ประชาชนทั่วไปก็จะเรียกหาว่าต้องการรัฐบาลที่แก้ปัญหาได้ เพราะปัญหามันมากมายเหลือเกิน

 

ผลที่ตามมาอีกแบบหนึ่งก็คือ เมื่อรัฐบาลแก้ปัญหาไม่ได้ รัฐบาลก็อ่อนแอ พรรคการเมืองก็อ่อนแอ การตรวจสอบทุจริตก็จะล้มเหลว การตรวจสอบทุจริตนี่ต้องล้มเหลวอยู่แล้วเพราะองค์กรที่จะทำหน้าที่นี้ก็มาจากคณะ คมช. ไม่มีความเป็นอิสระจริง ไม่เป็นองค์กรอิสระจริง คือ ปปช. เป็นต้น

 

ผลตามมาอีกอย่างหนึ่งก็คือ การยึดอำนาจอีกครั้งหนึ่ง เพราะปูพื้นไว้แล้วนี่ พรรคการเมืองก็แย่ การรวมตัวของนักการเมืองก็แย่ มีการซื้อตัวนักการเมือง พรรคการเมือง รวมตัวกันโดยไม่มีหลักการ นโยบาย ทั้งที่ความจริงเรื่องเหล่านี้ การเคลื่อนไหวของพรรคการเมือง การจะมีรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ คือผลิตผลของการรัฐประหารและการดำเนินการหลังการรัฐประหารทั้งนั้น แต่ก็จะโยนบาปโยนความผิดทั้งหลายไปให้กับการเลือกตั้ง กับพรรคการเมือง  นักการเมือง โดยที่ไมได้คิดหรือไม่ยอมพูดว่า ในการเลือกตั้งของทุกประเทศก็ย่อมมีปัญหาเกิดขึ้น แต่ทุกประเทศที่เขาพัฒนาแล้วก็ได้เปิดโอกาสให้ระบบมันพัฒนาตัวเองไป แก้ปัญหาของมันไป ให้ประชาชนได้เรียนรู้

 

อีกแบบหนึ่งคือ มีรัฐบาลพรรคเดียว ได้เสียงข้างมากไปเลย ผมพูดแบบนี้ไม่ได้พูดแบบเลื่อนลอย นี่ก็ไม่ได้ต้องการมาพูดแบบในฐานะสังกัดพรรคใดพรรคหนึ่ง ไม่ต้องการพูดเพื่อพรรคใดพรรคหนึ่ง ถ้าเป็นพรรคเดียว มีพรรคได้เสียงข้างมากไปเลย การเมืองไทยคงเข้มข้น เกิดการไม่ยอมรับของพันธมิตร ของพวกคมช.เดิม

 

มีปัญหาว่าคนในสังคมไทยจะยอมรับกติกาไหม ถ้าเลือกตั้งมาแล้วยังบอกว่ายอมไม่ได้อีก ตรงนี้เรายังไม่ได้แก้ความคิดที่ว่า พอเห็นรัฐบาลไม่เป็นที่ถูกใจ ยอมไม่ได้.. อย่างในอังกฤษ เวลาเขาเถียงกันเรื่องจะมีบทบาทอย่างไรในอิรัก ต่างคนต่างเห็นว่าแบบนี้เสียหายต่อประเทศแน่นอน แต่ไม่มีใครบอกว่าอย่างนี้ยอมไม่ได้ ต้องเอาทหารมายึดอำนาจ แต่ของเราจะยังมีปัญหาแบบนี้อยู่

 

โดยสรุปของเรื่องที่ว่า เราจะเจอรัฐบาลแบบไหน การเมืองแบบไหน จากการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม พรรคการเมืองอ่อนแอ เป็นรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ หรือเป็นรัฐบาลพรรคเดียว ก็จะเจอปัญหาทางการเมืองอีกแบบหนึ่งนั้น ไม่ว่าแบบไหน รวมความแล้วก็คือ มันจะไม่เกิดสมดุลทางการเมือง สมดุลแบบที่ว่าทุกฝ่ายยอมรับว่าแบบนี้พอเป็นไปได้แล้วก็ให้มันพัฒนาต่อไป แต่มันจะเกิดภาวะที่ไม่สมดุล ไม่ว่าแบบไหนก็จะเกิดความขัดแย้งอยู่ ยังไม่ลงตัวอยู่ ประเทศจะยังไม่เกิดศักยภาพในการพัฒนาต่อไป ไม่ว่าจะมองจากคนในประเทศเอง คนวิเคราะห์การเมือง นักธุรกิจ นักลงทุนในประเทศ

 

แม้แต่ประชาชนทั่วไป ผมคิดว่าเขาจะมองได้ว่า แบบนี้ที่เคยเข้าใจว่าลงประชามติรับรัฐธรรมนูญไปก่อนแล้วทุกอย่างจะคลี่คลายราบรื่น มันจะไม่เป็นอย่างนั้น มองจากต่างประเทศมายิ่งเห็นว่าไม่เป็นอย่างนั้น เขาก็จะมองมาว่า รัฐธรรมนูญเป็นอย่างนี้ มันก็ไม่ใช่รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ผู้มีอำนาจก็ยังมีอำนาจกันอยู่ ถ้ายังไม่เป็นประชาธิปไตย ยังมีความล่อแหลม เพราะเราก็เห็นว่า รัฐมนตรีกลาโหมก็พูดว่ารัฐบาลอยู่ได้อย่างมากก็หนึ่งปี แล้วก็ไม่รับประกันว่าจะมีการรัฐประหารหรือไม่ ต่างประเทศมองมาก็แน่นอนว่า แบบนี้ประเทศนี้จะมีศักยภาพได้อย่างไร ไม่มาลงทุน ไม่มาค้าขาย แล้วเขาก็รู้ว่า ถ้าประเทศยังไม่มีประชาธิปไตย การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก็จะเกิดขึ้น

 

ซึ่งในส่วนนี้ก็น่าจะประเมินอยู่ด้วยเหมือนกันว่า ในหนึ่งปีมานี้ก็เห็นอยู่เหมือนกันว่า ถึงแม้พลังประชาธิปไตยจำนวนมากจะย้ายข้างไปสนับสนุนเผด็จการเสียแล้ว ปัญญาชนจำวนมากย้ายข้างไปแล้ว แต่ก็มีปัญญาชนส่วนหนึ่งยังยึดมั่นกับประชาธิปไตยอยู่ องค์กรประชาธิปไตย 'บางส่วน' ยังต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอยู่

 

แต่ที่สำคัญคือว่า ประชาชนที่เขาไม่รับเผด็จการ มีมากกว่าที่หลายฝ่ายคิด ดูได้จากการลงประชามติ ซึ่งถูกบิดเบือน ขัดขวาง ถูกสกัดกั้น ใช้กลไกสารพัดแล้ว ยังมีสิบล้านเสียง ในเสียงที่สนับสนุนนั้น 56% ก็ยังมีอีกหลายส่วนที่บอกว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ แต่ให้เลือกตั้งไปก่อน

 

ผมคิดว่านี่เป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมากสำหรับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เราเคยเข้าใจว่า มีแต่คนเอาดอกไม้ไปให้ แล้วก็มีคนไปคัดค้าน อย่างมากก็มีกลุ่มนั้นนี้เล็กๆ น้อยๆ  แต่จริงๆ พอลงประชามติออกมา ทั้งๆ ที่เป็นประชามติที่เขาทำสารพัดอย่างให้ผลออกมาเห็นชอบ ผลยังออกมาอย่างนั้น มันมีความหมายมากว่า อย่างนี้ก็มีวิธีที่ทำให้ประชาชนพร้อมใจกันต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย การทำลายพรรคการเมืองไม่สำเร็จอย่างที่ต้องการ จะด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง รวมทั้งความอ่อนหัดของ คมช.เอง การตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 111 คนของพรรคไทยรักไทย แล้วทำให้การจะไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ๆ เพื่อดึงคนออกไปจากพรรคไทยรักไทย ล่าช้า ทำไม่ทัน เพราะมุ่งจะทำลายอย่างเดียว พอถึงเวลากลายเป็นเกิดผลเสียกับตัวเอง ต้องการจะทำลายพรรคการเมืองก็ทำลายไม่สนิท

 

ที่ทำลายไม่ได้อีกอย่างหนึ่งก็คือประสบการณ์การเรียนรู้ของประชาชน ที่เรียนรู้ว่า ระบบรัฐสภา ระบบการเลือกตั้ง เรื่องพรรคการเมือง เรื่องนโยบายพรรค มันมีประโยชน์กับเขา ตรงนี้ยังทำลายไม่ได้ มันสะท้อนออกจากประชามติ และผมเชื่อว่า มันจะสะท้อนออกจากการเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย

 

และในสิ่งเหล่านี้ ในหนึ่งปีมานี้มันก็มีด้านที่ดีๆ ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน แล้วมันจะต่อเนื่องไป ข้อเสนอต่อการเมืองไทย แบ่งเป็นสองส่วน ระยะสั้นกับระยะยาว

 

ระยะสั้น ในส่วนของพรรคการเมือง ผมก็อยากเสนอว่า ฝ่ายผู้มีอำนาจ คมช. ซึ่งอำนาจก็ชักจะแผ่วลงแล้วด้วย เพราะประธาน คมช.ก็กำลังจะพ้นจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. กำลังสำคัญของคมช.ก็ไม่ได้กุมกำลังหลักของกองทัพแล้วด้วย ความจริงก็เป็นเงื่อนไขที่ดีที่ คมช. ผู้มีอำนาจทั้งหลาย ควรจะยุติความคิดที่จะสกัดกั้นทำลายล้างพรรคการเมือง หรือไม่สนับสนุนพรรคการเมืองจัดตั้งก็ดี การดำเนินการใดๆ ของพรรคการเมืองก็ดี เหมือนที่พยายามจะกำหนดว่า พรรคการเมืองใดจะเป็นรัฐบาลล่วงหน้า เรื่องนี้ คมช.และผู้มีอำนาจควรจะยุติความพยายามเหล่านี้

 

พรรคการเมืองควรจะเสนอนโยบาย ซึ่งวันนี้ ถ้าพูดกับพรรคพลังประชาชน ผมว่าจะเสนอกับเขาด้วยว่าควรจะเร่งหน่อย ในส่วนนี้ยังช้าอยู่ และพรรคการเมืองไม่ควรจะมีแนวความคิด หรือเสนอความคิดในทางคิดบัญชี หรือมีคำขวัญประเภทแค้นต้องชำระ ทุกพรรคควรจะเลิก นี่จะเป็นประโยชน์ต่อการเมืองไทยในระยะสั้นนี้

 

ส่วนการเลือกตั้ง ควรจะเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม อันดับแรกคือ กกต. คือ ถ้าไม่ติดปัญหาว่า กกต.ชุดนี้ ออกไปแล้ว ไม่รู้จะหากันใหม่อย่างไร ผมอยากจะเสนอให้ กกต.ทั้งหมดออกไปเลย แล้วหาใหม่ แต่หาใหม่ก็เกรงจะไปกระทบการเลือกตั้ง ก็ขอเรียกร้องให้ กกต.เป็นกลาง อย่างน้อยที่สุด เป็นกลางมากกว่าตอนทำประชามติ แล้วก็เป็นกลางในการกำหนดใบเหลืองใบแดง ทุกวันนี้พูดกันมากว่า ให้ระวัง กกต.จะให้ใบเหลืองใบแดงเฉพาะบางพรรค

 

อยากจะเรียกร้องให้คมช.เป็นกลางต่อการเลือกตั้ง ถ้าจะให้ดี คมช.ควรจะประกาศว่า ตนเองจะเป็นกลางในการเลือกตั้ง และทำให้ดูเป็นตัวอย่างสักเรื่องก็ยังดีว่า คมช.ควรจะออกมาประกาศยกเลิกคำขอแกมบังคับที่มีต่อสื่อมวลชนในการเสนอข่าว เพราะอย่าลืมว่า คำเรียกร้องนั้นเขาเชิญสื่อมวลชนทุกแขนงมา 50 คนแล้วบอกว่าห้ามเสนอข่าวบุคคลนั้น พรรคการเมืองนั้น เดี๋ยวนี้ก้ยังมีผลอยู่ มีการห้ามเชิญนักการเมืองบางคนไปออกทีวีอยู่ คมช.ควรแสดงความจริงใจออกมาประกาศเสียว่า คำขอนั้นที่เคยให้พลเอกสองคนมาขอสื่อมวลชน เป็นอันยกเลิก

 

ครม.ควรจะมีมติ ครม. ถึงแม้กฎหมายเลือกตั้งจะต้องให้ทุกฝ่ายเป็นกลางอยู่แล้ว แต่ ครม.ควรจะมีมติ ครม.ว่า ข้าราชการทุกหน่วย ทุกสังกัดต้องเป็นกลางในการเลือกตั้ง ถ้าไม่เป็นกลางถือว่าผิดวินัย และจะดำเนินการให้ทุกหน่วยลงโทษอย่างจริงจัง ความจริงมันก็ผิดวินัยอยู่แล้ว แต่เห็นตอนลงประชามติก็ทำกันเอิกเกริก มีมติ ครม.แล้วก็ไม่ได้ทำอะไรอย่างจริงจัง ครม.ไม่ได้ตามไปลงโทษใครเลย แถมไปพูดให้ท้ายด้วย

 

กองทัพก็ควรจะออกมาพูดว่า ที่บอกว่าตอนประชามตินั้นพลาดไป ขอแก้ตัวใหม่ หมายถึงจะแก้ตัวในการเลือกตั้ง ก็ต้องพูดใหม่ว่ากองทัพจะเป็นกลาง ผู้นำกองทัพ เมื่อได้รับแต่งตั้งโปรดเกล้าฯ แล้ว ก็ควรจะนำบรรดาผู้นำของตัวเองกลับกรมกองให้หมด และต้องประกาศเป็นกลางในการเลือกตั้ง

 

มหาดไทย นอกจากต้องกำชับว่าเป็นกลาง ไม่ใช่ผู้ว่าฯ พื้นที่สีแดงพื้นที่สีเขียว ใครเป็นสีแดงถูกย้าย ต้องประกาศให้ชัดว่าเป็นกลาง และไม่ว่ากฎหมายจะกำหนดอย่างไร มหาดไทยจะต้องไม่ขนคนไปลงคะแนน ไม่ว่าจะอ้างว่าเพื่ออำนวยความสะดวกอย่างไรก็ตาม ต้องไม่ทำ

 

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ควรจะส่งเสริมให้ประชาชนเลือกพรรคการเมือง เลือกนโยบายพรรคการเมือง ให้ความสนใจกับพรรคการเมือง ไม่ใช่ขึ้นคำขวัญแบบเดิม เลือกตั้งทั้งที่ ต้องเอาคนดีเข้าสภา มันไม่พัฒนาไปไหน

 

ในเรื่องการสังเกตการณ์เลือกตั้ง เราพบว่า ในการลงประชามติ ทุกฝ่ายลืมกันไปหมด พวกผมเสนอเรื่องการสังเกตการณ์การทำประชามติ แต่ก็ช้าไป แล้วสุดท้ายก็ไม่มีการสังเกตการณ์การทำประชามติ หลายหน่วยลงประชามติ คงจะเป็นหมื่นๆ หน่วย กากันเองได้ ตามไปตรวจสอบก็ไม่ได้ ไม่มีคนสังเกตการณ์เลย การเลือกตั้งผู้แทนฯ คงจะมีผู้แทนพรรคการเมืองได้รับสิทธิ์ที่จะไปสังเกตการณ์ แต่นั่นไม่เพียงพอ ข้อเสนอที่ให้องค์กรจากประเทศต่างๆ มาสังเกตการณ์เลือกตั้ง เป็นเรื่องที่ควรทำ ไม่เห็นจะต้องเขินอายอะไรที่จะให้มีคนมาสังเกตการณ์เลือกตั้ง นั่นไม่ใช่เรื่องน่าอายอะไรเลย ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาก็อนุญาตให้ประเทศอื่นเข้าไปสังเกตการณ์เลือกตั้ง แล้วถ้าการเลือกตั้งของเราบริสุทธิ์ ยุติธรรม จะกลัวอะไร ต้องเปิดโอกาสให้ใครอยากจะมาสังเกตการณ์เลือกตั้ง มาได้ แล้วพูดแบบนี้ ก็ไม่เห็นว่าจะต้องกลัวว่าจะถูกมองว่าเป็นเรื่องชักศึกเข้าบ้านแต่อย่างใด เป็นเรื่องทำให้ประเทศเราป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ

 

ในเรื่องการเลือกตั้ง เราพูดกันไปว่า รัฐธรรมนูญแบบนี้ เลือกตั้งออกมา ประชาชนก็ยังไม่มีอำนาจจริง อันนั้นก็เป็นความจริงอยู่ แต่เมื่อมีการเลือกตั้ง มันก็เหมือนการที่เขาคืนอำนาจบางส่วนให้ประชาชน ก็ควรจะใช้การเลือกตั้งให้เป็นกลไกหนึ่งในการแก้ปัญหาประเทศ

 

และผมคิดว่าความน่าสนใจเกิดขึ้นคือ การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นกลไกอย่างหนึ่งในการผลักดันให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย โดยผ่านการที่พรรคการเมืองต้องมาเสนอแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร โดยการที่ประชาชนจะไปเลือกให้ความสนใจกับรัฐธรรมนูญก็ดี ให้ความสนใจกับนโยบายพรคการเมืองก็ดี ประชาชนใช้บทเรียนของตัวเองจากการเลือกตั้ง 2 ครั้งในรัฐธรรมนูญปี 2540 ให้เป็นประโยชน์ มันจะเป็นการสื่อสารว่า ประชาชนเห็นดีเห็นงามกับการยึดอำนาจจริงหรือเปล่า ประชาชนต้องการกำหนดว่าใครเป็นรัฐบาล อยากได้นโยบายแบบไหน เพราะฉะนั้น การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เหมือนการเลือกตั้งหลายๆ ครั้งในอดีตซึ่งเป็นเรื่องชอบใครก็เลือกคนนั้น แต่ต่อไปนี้จะเป็นการเลือกนโยบายมากขึ้น การเลือกตั้งแบบเลือกนโยบายยังคงมีนัยยะสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้

 

ในส่วนของรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าในระยะสั้นนี้ คิดว่าถ้าเราต้องการประชาธิปไตย เราต้องมุ่งไปที่การแก้รัฐธรรมนูญขนานใหญ่โดยเร็ว ไม่ใช่บอกว่า ก็ให้บริหารไปสัก 4-5 ปีค่อยแก้เถอะ ก็เพิ่งร่างมาจะรีบแก้ทำไม ถ้าพูดแบบนี้ ก็เท่ากับคุณกลับคำพูด ก่อนหน้านี้บอกว่ายอมรับไปก่อนเถอะ แก้แน่ นักการเมืองฝ่ายที่เห็นด้วยก็๋บอกว่า เอาเถอะ ไม่เห็นด้วยเยอะแต่ก็รับไปก่อน แล้วเราจะแก้แน่ ฝ่ายสนับสนุนก็บอกแก้ ฝ่ายไม่สนับสนุนก็บอกแก้ เพราะฉะนั้นก็ต้องแก้แน่ ดังนั้น จึงไม่เป็นเหตุผลและไม่เป็นเรื่องดีเลยที่จะปล่อยให้ใช้รัฐธรรมนูญไป 4-5 ปีแล้วค่อยแก้ ผมอยากเสนอให้องค์กรประชาธิปไตยจับประเด็นนี้โดยเร็ว เรียกร้องให้พรรคการเมืองเสนอนโยบายให้ชัดเจน เรียกร้องให้ผู้สมัคร ส..ต้องระกาศนโยบายให้ชัดเจนว่า จะแก้รัฐธรรมนูญใหม่ แล้วพรรคการเมืองก็ควรเสนอนโยบายให้ชัดเจนว่า จะแก้รัฐธรรมนูญไหมในการเลือกตั้งครั้งนี้ เสนอเสียเลย พอหลังการเลือกตั้ง มีรัฐสภา ก็จัดการแก้มาตราว่าด้วยการแก้รัฐธรรมนูญก่อน ให้เกิดกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญขนานใหญ่ โดยประชาชนมีส่วนร่วม และควรจะให้ความสำคัญ ให้ความสนใจ ในเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งผมก็ยังคิดทางออกได้ไม่ชัดเจน

 

เรื่องที่ไม่ควรปล่อยให้ยาวไปถึง 4 ปีเป็นอย่างยิ่ง คือ การตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งนี่จะเป็นเรื่องที่กลไกของรัฐธรรมนูญที่สร้างไว้ การตรวจสอบการทุจริตมันทำไม่ได้ องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตมันไม่อิสระจริง มีที่มาของผู้มีอำนาจตั้งไว้ ตรงนี้ปล่อยให้เป็นจนครบเทอมไม่ได้ นี่อาจจะเป็นเรื่องต้องแก้ด่วน ต้องให้เปลี่ยนทันที และเมื่อจะใช้รัฐธรรมนูญใหม่ ต้องให้เปลี่ยนองค์กรตรวจสอบทุจริตโดยทันที ไม่งั้นจะไม่มีทางตรวจสอบการทุจริตได้ องค์กรพวกนี้มุ่งตรวจสอบกลุ่มบุคคลเดียว คณะเดียว ตอนนี้ แค่รัฐบาลปัจจุบัน คมช. ก็ไม่รู้จะเอาใครมาตรวจสอบแล้ว

 

ในส่วนของระยะยาว สิ่งที่สำคัญก็คือ เรื่องการสร้างองค์ความรู้ การพัฒนาความคิด การส่งเสริมให้เกิดปัญญา การสร้างบุคลากร ที่จะมาส่งเสริมทำความเข้าใจในเรื่องง่ายๆ เรื่องทีประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายเขาถือเป็นเรื่องพื้นฐาน เรื่องประชาธิปไตย เรื่องระบบรัฐธรรมนูญ เรื่องระบอบรัฐสภา เรื่องนิติรัฐ เรื่องเสรีภาพ ในระยะยาวต้องช่วยกันส่งเสริมให้ระบบพรรคการเมืองเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ แล้วเข้าไปบริหารประเทศด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ส่งเสริมให้มีองค์กรประชาธิปไตยที่หลากหลายขึ้น ที่เป็นองค์กรประชาธิปไตยจริง มิใช่เป็นแต่ชื่อ ก็ต้องสร้างองค์กรประชาธิปไตยขึ้นใหม่ สนับสนุนส่งเสริม ผู้รักประชาธิปไตย ผู้ที่จะเป็นกำลังสำคัญของระบอบประชาธิปไตยทั้งหลายให้มีบทบาทมากขึ้น ส่งเสริมประชาธิปไตยทางตรงมากขึ้น

 

องค์ความรู้ที่ว่านี้ ก็คือการต้องสรุปบทเรียนทางตรงของประเทศไทยเองในช่วงที่ผ่านมา เรียนรู้ความเสียหายที่เกิดจากการปกครองระบอบเผด็จการ หรือประชาธิปไตยครึ่งเสี้ยวครึ่งใบ ขณะเดียวกันคือเรียนรู้จากประเทศอื่นๆ ที่ผมคิดว่าน่าเสียดายมากคือ ประชาธิปไตยย้ายข้างไป ปัญญาชนย้ายข้างไป มันทำให้โอกาสในการที่ประเทศไทยจะเรียนรู้ สรุปบทเรียนจากประเทศอื่น มันทำได้น้อยลง เลยกลายเป็นว่า ต้องให้ประเทศไทยมาเรียนรู้ผลเสียของระบบเผด็จการด้วยตัวเอง ซึ่งมันเสียเวลานาน เกิดความเสียหายมาก ทั้งที่ความรู้เหล่านี้มันมีทั่วโลกไปหมดแล้ว แต่เราไม่มีข้อต่อสำคัญคือ ปัญญาชนที่ฝักใฝ่ประชาธิปไตยยังมีน้อยเกินไป และที่ควรรวบรวมและพัฒนาเอามาเป็นประโยชน์ได้มากคือ ประโยชน์จากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของสังคมไทยเอง

 

นี่ก็เป็นข้อเสนอระยะยาว ซึ่งบางส่วนอาจจะทับซ้อนกันเอง เช่นเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ การผลักดันความคิดเกี่ยวกับระบอบรัฐธรรมนูญ ผลักดันให้เป็นประชาธิปไตย มันก็จะคาบเกี่ยวกัน แต่ก็เป็นข้อเสนอที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเมืองไทยในช่วงต่อไปนี้ หวังว่าความเห็นที่ได้แสดงความเห็นมาจะเป็นประโยชน์อยู่บ้างในการผลักดันให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท