ฉลอง สุนทราวาณิชย์ : รัฐประหาร 19 ก.ย. ล้มเหลวที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่

มูลนิธิตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดงานเสวนา "ครบรอบ 100 ปีปริทัศน์: รัฐธรรมนูญและกบฏปฏิวัติรัฐประหาร - การเมืองสยามประเทศไทยสมัยใหม่ พ.ศ.2454-2550" ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

หัวข้อหนึ่งในการเสวนาคือ "รัฐประหารสำเร็จ-รัฐประหารไม่สำเร็จ" โดยมีผู้ร่วมอภิปราย คือ ฉลอง สุนทราวาณิชย์ อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ  ดำเนินรายการโดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 50

 

 

 

"แปลว่าทุกๆ 4 ปีเราก็มีการยึดอำนาจกันหนหนึ่ง

ทุกๆ 4 ปีเราก็มีรัฐธรรมนูญอีกฉบับหนึ่ง

เพราะฉะนั้นปี 2550 นี้มันคงไม่เกินปี 2554

ขอทำนายไว้ก่อนนะครับ

เดี๋ยวเราจะมาดูกันว่าจะทำนายถูกไหม"

 

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

 

 

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กล่าวนำในการเสวนาว่า ความหมายของคำว่า "รัฐประหาร" โดยใช้ความหมายที่แปลว่า ทุกสิ่งที่ใช้อำนาจในการยึดอำนาจ ใช้ปืนในการยึดอำนาจ ซึ่งตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า คูเดตา (coup d'état) แต่ว่าเนื่องจากในภาษาไทยซึ่งมีความร่ำรวยทางภาษามาก คำว่าการยึดอำนาจของไทย จึงมีทั้งกบฏ ปฏิวัติ รัฐประหาร และคำว่าอภิวัฒน์ ของท่านปรีดี พนมยงค์

 

ชาญวิทย์ กล่าวถึงการยึดอำนาจในช่วง 100 ปีว่า เมื่อย้อนไปยังกบฏ ร.ศ.130 ปี พ.ศ.2454 (นับแบบเก่า เหตุการณ์ในเดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนที่ 11 ก่อนมีการเปลี่ยนปฏิทิน) หลังรัชกาลที่ 5 สวรรคตเมื่อปี 2543 เพียง 15 เดือนหลังจากนั้น ก็มีความพยายามของนายทหารหนุ่มกว่า 91 คน อายุโดยประมาณเพียงแค่ 20 ปี พยายามจะยึดอำนาจ หลังจากนั้น 21 ปี ใน พ.ศ.2475 หรือ ปี ค.ศ.1932 ก็มีกลุ่มคณะราษฎรที่อายุเฉลี่ยโดยประมาณ 30 กว่าปี โดยนับจากปีเกิดของอาจารย์ปรีดี คือ ค.ศ.1900 ดังนั้นอาจารย์ปรีดียึดอำนาจเมื่ออายุ 32 ปี

 

กลุ่มที่มายึดอำนาจอีกครั้งในปี 2490 มีอายุประมาณ 40 กว่าปี อาทิ จอมพลผิน ชุณหะวัณ พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มาถึง พ.ศ.2500 คาดว่ามีอายุประมาณ 50 ปี และการรัฐประหารครั้งล่าสุดในปี พ.ศ.2549 โดยกลุ่ม คปค. (คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ซึ่งกลุ่มที่ว่านี้มีอายุประมาณ 59 ปี นี่คือสิ่งที่น่าสนใจ เพราะจะเป็นคณะผู้ทำการยึดอำนาจที่แก่ที่สุดของประเทศไทย

 

"ผมเคยทำวิจัยเล็กๆ อยู่ชิ้นหนึ่ง คือก่อนที่คณะราษฎรจะทำการยึดอำนาจเมื่อปี 2475 คณะเสนาบดีของรัชกาลที่ 7 เป็นคณะเสนาบดีที่มีอายุโดยเฉลี่ยแก่ที่สุดในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือคนรุ่นหนึ่งพอมาถึงยุคที่แก่ที่สุด อีกรุ่นก็จะขึ้นมาพลิก ซึ่งจะตรงข้ามกัน

 

"ผมคิดว่าปี 2549-2550 จะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมากในทางเดินอันยาวไกลของประวัติศาสตร์การเมืองสยามประเทศไทย" ชาญวิทย์กล่าว

 

ชาญวิทย์ กล่าวต่อโดยอ้างถึงข้อมูลจากหนังสือ "เมืองไทยหลังขิงแก่ 2" ซึ่งธำรงค์ศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ได้รวบรวมไว้ว่า ในช่วงเวลาเกือบ 1 ศตวรรษที่ผ่านมา มีความพยายามทำการกบฏ ปฏิวัติ รัฐประหาร ทั้งหมด 27 ครั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2454-2450 เฉลี่ยแล้ว 4 ปีต่อ1 ครั้ง และหากนับตั้งแต่ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ฉบับวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ซึ่งเป็นฉบับแรกและใช้คำว่าสยาม ก็จะเป็นเวลา 75 ปี มีรัฐธรรมนูญทั้งหมด 18 ฉบับ โดยสถิติเวลา 4 ปี มีรัฐธรรมนูญหนึ่งฉบับ

 

"แปลว่าทุกๆ 4 ปีเราก็มีการยึดอำนาจกันหนหนึ่ง ทุกๆ 4 ปีเราก็มีรัฐธรรมนูญอีกฉบับหนึ่ง เพราะฉะนั้นปี 2550 นี้มันคงไม่เกินปี 2554 อันขอทำนายไว้ก่อนนะครับ เดี๋ยวเราจะมาดูกันว่าจะทำนายถูกไหม" ชาญวิทย์กล่าว

 

ในตอนท้ายการเสวนา อาจารย์ชาญวิทย์ ยังได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า

 

"ผมคิดว่า ณ จุดนี้ไป ถ้าเราหวังความสงบเรียบร้อย ก็เหมือนอย่างที่อาจารย์นิธิได้วิเคราะห์ไว้ คือเป็นไปไม่ได้ ผมอยากจะบอกว่าเมื่อ 2500 ปีที่แล้ว เพลโตบอกว่า ระบบประชาธิปไตย เป็นระบอบการปกครองที่แสนจะมีเสน่ห์ และปราศจากความเป็นระเบียบเรียบร้อย เพราะให้ความเสมอภาคแก่ทุกๆ คนที่ไม่เสมอภาคกันในสังคม"

 

และต่อจากนี้ คือการอภิปรายของ ฉลอง สุนทราวาณิชย์

 

0 0 0

 

ฉลอง สุนทราวาณิชย์

อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

 

 

เมื่อพูดถึงนิยามของรัฐประหาร รัฐประหารคือการใช้พลังยึดอำนาจรัฐ หรือเปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยวิถีทางที่ขัดกับกระบวนการทางการเมืองที่เป็นปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยึดอำนาจโดยกองทัพ

 

สำหรับการรัฐประหารที่สำเร็จหรือล้มเหลวนั้น จะไม่ประเมินในแง่คุณค่า ดี เลว เชิงศีลธรรม หรือปรัชญาการเมือง แต่จะดูว่า มันบรรลุนิยามความหมายของรัฐประหาร ซึ่งคือการยึดอำนาจรัฐ เป็นรัฐบาลด้วยวิถีทางที่ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือเปล่า สอง มันสามารถบรรลุเป้าหมายที่มันตั้งไว้หรือไม่อย่างไร

 

โดยจะประเมินจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ว่า มีรัฐประหารครั้งไหนที่ไม่สามารถบรรลุการยึดครองอำนาจรัฐได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยทันที หรือดูว่ามันมีการเคลื่อนไหวต่อต้านอย่างเปิดเผยจากกลุ่มต่างๆ ในสังคมมากน้อยแค่ไหน หรือสามารถกุมสถานการณ์ได้รับความชอบธรรมในการรัฐประหาร ได้รับความชอบธรรมจากสาธารณชนมากน้อยเพียงใด และในท้ายสุด มันสามารถบรรลุเป้าหมายของการรัฐประหารที่วางไว้มากน้อยเพียงไร

 

อย่างที่เราทราบกันว่า ในการรัฐประหารแต่ละครั้งจะมีเป้าหมายที่ประกาศออกมาแตกต่างกันไปตามบริบทและสถานการณ์ เช่น บางครั้งอ้างเป้าหมาย คือการชำระล้างทุจริตคอร์รัปชั่นในแวดวงการเมือง หรืออ้างปัญหาเรื่องความมั่นคง การคุกคามภายนอก หรืออ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคงภายใน เช่น ความยากจน ความวุ่นวาย ความรุนแรง ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ปัญหาอาชญากรรม ก็จะดูว่ามีครั้งไหนบ้างที่บรรลุหรือไม่บรรลุความหมายของการรัฐประหารมากที่สุด

 

โดยรัฐประหารในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ที่ล้มเหลวที่สุด คือรัฐประหารครั้งนี้ ทั้งที่ยังมีอายุความตามกฎหมายถูกต้อง โดยรัฐประหาร 19 ก.ย. เป็นรัฐประหารที่ล้มเหลวที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ทั้งแง่ของความหมายของรัฐประหาร และการบรรลุเป้าหมายของการทำรัฐประหารที่ประกาศมาในวันที่ 19 ก.ย. 2549

 

แม้เราจะเห็นภาพจากภาพยนตร์สั้นเรื่อง "ไม่มีอะไรให้ดู" ของสุชาติ สวัสดิ์ศรี ที่ผู้คนเอากุหลาบสีเหลือง ไปถ่ายรูปกับรถถัง ในความเป็นจริงจะพบว่า รัฐประหาร 19 ก.ย. เป็นรัฐประหารที่มีการเคลื่อนไหวต่อต้านจากฝ่ายไม่เห็นด้วยจากหลากหลายกลุ่ม เราไม่เคยเห็นภาพเหล่านี้จากรัฐประหารครั้งก่อนๆ เช่น ตอน รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบ้อยแห่งชาติ 2534) อาจมีการเคลื่อนไหวต่อต้าน แต่จะเป็นจากกลุ่ม-สองกลุ่ม หรือกลุ่มเสียประโยชน์โดยตรง แต่รัฐประหาร 19 ก.ย. ถ้ามองมุมกลับ จะพบความสำเร็จในการเรียกร้องการต่อต้านจากกลุ่มคนหลากหลายผลประโยชน์หลากหลายวิธีคิดมากที่สุดครั้งหนึ่ง

 

เช่นเดียวกัน รัฐประหาร 19 ก.ย. นำไปสู่ข้อถกเถียงของการทำรัฐประหารมากที่สุด ไม่คิดว่าจะมีรัฐประหารครั้งไหนที่ถูกท้าทาย หรือตั้งคำถามเรื่องความชอบธรรมมากเท่ากับรัฐประหาร 19 ก.ย.

 

ประการต่อมา เรื่อง "การบรรลุเป้าหมายของการรัฐประหาร 19 ก.ย." จะเห็นได้ชัดว่า ล้มเหลวมากที่สุด เพราะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายใดๆ ทั้งสิ้น ไม่สามารถบรรลุการกำจัดระบอบทักษิณ พรรคไทยรักไทย หรือการตรวจสอบทุจริตคอร์รัปชั่นในแวดวงการเมืองซึ่งเป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหารได้ จนกำลังจะครบ 1 ปีของการรัฐประหาร ใน 2-3 วันข้างหน้า เราก็ยังไม่เห็นผลเชิงรูปธรรมของการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นที่บอกว่ามีมากมายมหาศาล เราไม่เห็นความสำเร็จในการสร้างกลไกป้องกันการทุจริตในองค์กรภาครัฐ การสร้างความสมานฉันท์ ซึ่งเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ที่พูดกันติดปาก แต่ไม่เห็นเป็นรูปธรรม หรือสิ่งที่เรียกว่า การเมืองใสสะอาดโดยผ่านรัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งมีการประกาศใช้ไป เพราะฉะนั้น ทั้งหมดนี้เป็นความล้มเหลวที่เห็นได้ชัดจากรัฐประหารครั้งนี้

 

ถ้าถามว่าอะไรทำให้รัฐประหาร 19 ก.ย. ล้มเหลว คิดว่า ประการแรก อาจเพราะรัฐประหาร 19 ก.ย. เกิดขึ้นในบริบทสังคมไทยที่มีความหลากหลายของกลุ่มผลประโยชน์ในสังคมไทยสมัยใหม่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งทำให้การกุมสถานการณ์และความชอบธรรมมีปัญหา

 

การขยายตัวของสื่อและการเข้าถึงสื่อสมัยใหม่ ทำให้ความเห็นที่หลากหลาย ขัดแย้ง มีพื้นที่ต่อสู้ทางการเมืองกันมากขึ้น นี่คือสิ่งที่รัฐประหาร 19 ก.ย. ไม่สามารถไปควบคุมจัดการตรงนี้ได้ ความล้มเหลวของการบรรลุความหมายของการรัฐประหารและปัญหาของการบรรลุความชอบธรรมของการรัฐประหาร ทำให้ต้องรีบประกาศเร่งร่างรัฐธรรมนูญ ประกาศใช้รัฐธรรมนูญเพื่อคืนอำนาจการเลือกตั้งให้ประชาชน

 

อีกด้าน อาจเป็นการสะท้อนวุฒิภาวะทางการเมืองของกลุ่มคนจำนวนมากในประเทศที่ไม่สามารถยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยการใช้กำลังยึดอำนาจแบบนี้

 

สุดท้าย ข้อเสียเปรียบของรัฐประหารที่เกิดขึ้นอย่าง 19 ก.ย. คือกระแสประชาธิปไตยที่ต่อต้านเผด็จการในระดับสากลไม่อนุญาตให้ใช้กำลังบังคับ และปราบปรามอย่างเด็ดขาดได้อย่างในอดีต

 

ส่วนรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย คือรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501 หรือสิ่งที่จอมพลสฤษดิ์เรียกว่าเป็นการปฏิวัติ โดยถ้าย้อนกลับไปดูเป้าหมายสำคัญของการยึดอำนาจมี 3-4 ประการ คือยุติความขัดแย้งทางการเมืองภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งระหว่างนักการเมือง สอง รักษาความมั่นคงที่ถูกคุกคามจากภายนอก คือช่วงของกระแสสงครามเย็นที่พุ่งสูงขึ้น เป็นที่รบกวนชนชั้นนำจำนวนมาก สาม คือเรื่องความมั่นคงภายใน ไม่ว่า ปัญหาสังคม อาชญากรรม ผลผลิตต่ำ

 

การรัฐประหารใน 2501 บรรลุนิยามความหมายของคำว่ารัฐประหารอย่างไร เห็นได้ชัดเลยว่า 20 ตุลา สฤษดิ์สามารถยึดกุมอำนาจได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดทันที เทียบกับครั้งอื่นๆ เป็นการยึดอำนาจที่ปราศจากการต่อต้านอย่างเปิดเผย แม้แต่การต่อต้านแบบคลื่นใต้น้ำ ก็ต้องเคลื่อนไหวอย่างปิดลับ ไม่สามารถออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านอย่างจริงจังและเปิดเผย รวมทั้งสะท้อนให้เห็นในภาพลักษณ์ที่คนสมัยต่อๆ มามีกับการปฏิวัติ หรือการรัฐประหาร คือการต่อต้านที่มีอยู่ ไม่มีฐานการสนับสนุนจากกลุ่มผลประโยชน์อื่นในสังคมในวงกว้าง

 

ความสำเร็จของการยึดกุมอำนาจรัฐในปี 2501 ทำให้กองทัพสามารถผูกขาดอำนาจรัฐได้ยาวนานถึง 11 ปี ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 20 มิถุนายน 2511 และคืนการเลือกตั้งให้ประชาชน สำหรับประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ รัฐประหาร 2501 เป็นรัฐประหารที่สามารถให้กองทัพกุมอำนาจรัฐอย่างเบ็ดเสร็จยาวนานที่สุด เพราะกองทัพสามารถใช้กำลังทั้งของตนเองและตำรวจในการจับกุมปราบปรามฝ่ายตรงข้ามหรือศัตรูของภาครัฐได้อย่างเด็ดขาดรุนแรง โดยไม่ต้องพะวงกับปัญหาการเคลื่อนไหวของเอ็นจีโอในประเทศ หรือในต่างประเทศ หรือแม้แต่จากรัฐบาลต่างประเทศอย่างที่รัฐประหารที่ผ่านมาถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาการรับรองสถานะ ในแง่นี้จึงบรรลุความหมายของรัฐประหารอย่างไม่มีข้อสงสัย

 

สิ่งที่น่าสนใจอยู่ตรงที่ การที่สฤษดิ์เรียกรัฐประหารของตนเองว่า "การปฏิวัติ" เพราะถึงไม่เรียกเอง ก็คิดว่า นักประวัติศาสตร์รุ่นหลังคงต้องยอมยกคำนี้ให้ เพราะรัฐประหารครั้งนั้นได้ทำการปฏิวัติในความหมายที่แท้จริงของการปฏิวัติ โดยเป็นการปฏิวัติทางการเมืองให้กลับไปสู่ระบบการเมืองในอุดมคติดั้งเดิม ซึ่งมีจริงหรือไม่สุดแท้แต่ นั่นคือ กลับไปสู่สังคมที่ปราศจากความเห็นที่ขัดแย้ง ปราศจากความขัดแย้งของสังคมด้านความเห็นทางการเมือง เป็นสังคมที่มีความสงบ มีสันติภาพ มีความสามัคคีระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ในรัฐ ภายใต้การปกครองโดยผู้ปกครองที่รอบรู้ ซึ่งจริงๆ ไม่ได้ต่างไปจากความหมายของธรรมราชา ที่หมายถึงราชาที่มีธรรม ราชาที่รู้ว่าประชาชนต้องการอะไร เพราะฉะนั้นประชาชนไม่ต้องมาสะเออะบอกว่าต้องการอะไร ในความหมายนี้ ผู้ปกครองเป็นผู้ให้ ขณะเดียวกันจะเป็นผู้ลงโทษ ปราบศัตรูที่จะทำลายความสงบสุขของสังคม

 

เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า รัฐประหารของสฤษดิ์ เป็นรัฐประหารที่ประสบความสำเร็จและบรรลุเป้าหมาย ไม่ใช่แค่ยึดอำนาจรัฐ แต่ในช่วงที่เรียกกันว่า "ระบอบสฤษดิ์" สฤษดิ์จัดการเรื่องอบายมุขต่างๆ ไม่ว่า โสเภณี ยาเสพติด ไม่ว่าความเห็นทางการเมืองของเราต่อเรื่องเหล่านี้จะเป็นอย่างไร แต่ในแง่ของความสำเร็จของการบรรลุเป้าหมาย ในปี 2501 สามารถบรรลุเป้าหมายนี้อย่างไม่ต้องสงสัย ด้วยการที่สฤษดิ์ใช้อำนาจของหัวหน้าคณะปฏิวัติ และอำนาจของนายกรัฐมตรี มาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครอง 2502

 

นอกจากนี้ ความสำเร็จของรัฐประหาร 2501 ยังเห็นได้จากเป้าหมายของการปฏิวัติในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถแปลงโฉมเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมไทยได้อย่างที่ไม่เคยมีระบอบใดๆ ก่อนหน้านี้สามารถจะบรรลุได้ การพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า การสร้างอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าเสื้อผ้า เครื่องใช้ตั้งแต่หัวจดเท้า ส่งเสริมการลงทุนจากทุนภายนอก การขยายตัวของสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน สอดคล้องกับคำขวัญของสฤษดิ์ "น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ" รวมถึงการปรับโอกาสของธนาคารพาณิชย์และการขยายตัวของธนาคารพาณิชย์เพื่อเป็นสถาบันเงินทองเพื่อการลงทุน การขยายตัวของภาคการเกษตรเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชไร่ การปศุสัตว์

 

ความสำเร็จของรัฐประหาร 2501 ยังเห็นได้จากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของอำนาจรัฐผ่านระบบราชการ ที่เติบโตขึ้นสนองการพัฒนาเศรษฐกิจ กรมพัฒนาชุมชน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว การขยายพื้นฐานการศึกษาจาก 4 ปีเป็น 7 ปี การขยายอุดมศึกษาไปต่างจังหวัด การขยายสาธารณสุขไประดับอำเภอ

 

ในมุมกลับอีกด้าน คือการขยายตัวของระบบราชการ ซึ่งไม่คิดว่ามีระบบราชการยุคใดขยายตัวเท่ายุคสฤษดิ์ ระบบราชการเข้ามาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของประชาชน ตั้งแต่ "ครรภ์มรรดาจนถึงเชิงตะกอน" โดยผ่านระบบราชการที่ขยายตัวในยุคสฤษดิ์ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้การพัฒนาของการปฏิวัติประสบความสำเร็จ

 

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ถ้าเป้าหมายของการรัฐประหาร 2501 คือ "การปฏิวัติ" ทั้งในความหมายของการกลับคืนสู่จุดเริ่มต้นของสังคมไทยที่สงบสันติ พอมีกินมีใช้ ปราศจากความขัดแย้งและการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งความหมายของการปฏิวัติที่เปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างที่ฉับพลันรุนแรง รัฐประหาร 2501 บรรลุเป้าหมายทั้งสองอย่าง เป็นความสำเร็จที่ไม่มีรัฐประหารใดก่อนหน้านี้สามารถบรรลุได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท