Skip to main content
sharethis

สุรชาติ  บำรุงสุข


 


"ปัญหาของรัฐสมัยใหม่ไม่ใช่เรื่องของการกบฏด้วยกำลังอาวุธ


แต่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างผู้เชี่ยวชาญในการใช้อาวุธ (ทหาร)


กับนักการเมือง"


                                                                        แชมมวล  ฮันติงตัน


                                                                        The Soldiers and the State (1957)


 


            สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย และดูจะเป็นเรื่องที่ฝ่ายทหารเก็บความลับได้เป็นอย่างดีก็คือ การเตรียมร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรฉบับใหม่ จนกระทั่งเมื่อผ่านเข้าไปสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้ว สังคมโดยรวมจึงได้มีโอกาสรับรู้จากการแถลงของโฆษกรัฐบาล


 


            สาระหลักของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็คือ การมอบอำนาจให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เข้ามารับบทบาทหลักในการ "รักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร" และทำหน้าที่ในการ "บูรณาการและประสานการปฏิบัติร่วมกับทุกส่วนราชการ" เพื่อก่อให้เกิด "ความสงบเรียบร้อยในประเทศ" และไม่เป็น "ภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชน" (ดูรายละเอียดในส่วนหลักการของร่างฯ) ดังนั้นหากกล่าวถึงองค์กรที่ถูกชุบชีวิตให้กลายเป็น "ยักษ์ใหญ่" ก็คือ กอ.รมน. ทั้งที่เมื่อมีการยกเลิก พรบ. การกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์แล้ว องค์กรนี้ก็น่าจะต้องจบชีวิตลงด้วย เพราะเป็นองค์กรที่ถูกตั้งขึ้นในยุคสงครามคอมมิวนิสต์  แต่องค์กรกลับดำรงอยู่เรื่อยมา  แม้จะไม่มีภารกิจที่ชัดเจนรองรับ  จนกระทั่งเมื่อแนวคิดที่จะสร้างฐานทางการเมืองเพื่อรองรับต่อบทบาทของทหารขึ้นในอนาคต จึงนำไปสู่การปลูกชีวิตของ กอ.รมน.ให้ฟื้นขึ้นมาอีก


 


            ถ้าสมมติว่าฝ่ายรัฐตัดสินใจในที่สุดที่จะผลักดันให้กฎหมายนี้เกิดขึ้นจริง ๆ ปัญหาสำคัญที่ติดตามมาก็คือ การนิยามว่าอะไรคือการกระทำที่เป็น "ภัยต่อความมั่นคงในราชอาณาจักร" ซึ่งในมาตรา 3 ข้อ 2 ได้ระบุไว้อย่างกว้างขวาง ได้แก่


            1.  การมุ่งทำลายหรือทำความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐ


            2.  การจารกรรม


            3.  การก่อวินาศกรรม


            4.  การก่อการร้าย


            5.  การก่ออาชญากรรมข้ามชาติ


            6.  การบ่อนทำลาย


            7.  การโฆษณาชวนเชื่อ


            8.  การยุยง การปลุกปั่นให้ใช้กำลังประทุษร้าย โดยมีเจตนามุ่งหมายให้เกิดความไม่สงบสุข


            9.  กระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐ


           


ดังนั้นเพื่อให้เกิดการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ในมาตรา 6 จึงได้จัดให้มี "คณะกรรมการรักษาความมั่นคงภายใน" ขึ้น ซึ่งประกอบด้วย


            1.  นายกรัฐมนตรี (ประธาน)


            2.  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (รองประธาน)


            3.  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (รองประธาน)


            4.  ปลัดกระทรวงกลาโหม (กรรมการ)


            5.  ปลัดกระทรวงมหาดไทย (กรรมการ)


            6.  ปลัดกระทรวงยุติธรรม (กรรมการ)


            7.  ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ (กรรมการ)


            8.  ปลัดกระทรวงการคลัง (กรรมการ)


            9.  ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (กรรมการ


            10. เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (กรรมการ)


            11. ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรอง (กรรมการ)


            12. อัยการสูงสุด (กรรมการ)


            13. ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (กรรมการ)


            14. ผู้บัญชาการทหารบก (กรรมการ)


            15. ผู้บัญชาการทหารเรือ (กรรมการ)


            16. ผู้บัญชาการทหารอากาศ (กรรมการ)


            17. ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (กรรมการ)


            18. เสนาธิการทหารบก (กรรมการและเลขานุการ)


           


หากพิจารณาในประเด็นข้างต้น จะเห็นได้ว่าองค์กรเช่นนี้มีความคล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกับสภาความมั่นคงแห่งชาติอย่างมาก ซึ่งหากพิจารณาถึงมิติของการบริหารจัดการ ก็ไม่น่าจะมีความจำเป็นอะไรที่จะจัดตั้งองค์กรในลักษณะที่เหมือนกับสภาความมั่นคงแห่งชาติให้เกิดความซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก และอาจจะนำไปสู่ปัญหาในอนาคต โดยเฉพาะในเรื่องของการกำหนดและการกำกับนโยบายความมั่นคงของประเทศ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ไม่น่าจะเป็นหนทางปฏิบัติที่ดีแต่อย่างใด 


 


            อีกทั้งมูลฐานความผิดใน พรบ. ฉบับนี้ครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง จนอาจกลายเป็นกฎหมายที่เอื้อให้รัฐมีอำนาจอย่างกว้างขวางอย่างไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งการนิยามความผิดอย่างกว้างขวางเช่นนี้ อาจจะก่อให้เกิดปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ง่าย  และทั้งในบางกรณีก็ไม่มีความชัดเจนว่า การกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของรัฐจะกินความเพียงใด เป็นต้น และในบางกรณีของความผิดที่ถูกหยิบขึ้นมา ก็ไม่น่าจำเป็นต้องถึงขั้นใช้กฎหมายพิเศษอะไรรองรับเช่น ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งกฎหมายอาญาและกฎหมายฟอกเงินที่มีอยู่ก็น่าจะเพียงพอในการรับมือ และผู้รับบทบาทหลักก็น่าจะเป็นตำรวจและทหารควรเล่นบทบาทเสริมมากกว่า


 


            นอกจากนี้จะเห็นได้ว่า อำนาจสำคัญอยู่ในมาตราที่ 25 และ 26 โดยใน ม.25 ให้อำนาจแก่   ผู้บัญชาการทหารบกในฐานะของผู้อำนวยการ กอ.รมน. คือ


1) ห้ามบุคคลนำอาวุธออกนอกเคหสถาน


2) ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือยานพาหนะ


3) ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ห้ามการแสดงมหรสพ ห้ามการโฆษณา


4) ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานตามเวลาที่กำหนด


5) ให้บุคคลนำอาวุธที่กำหนดไว้มามอบให้เป็นการชั่วคราว


6) ให้เจ้าของกิจการหรือผู้จัดการจัดทำประวัติพนักงานหรือลูกจ้าง เพื่อแจ้งพฤติกรรมของบุคคลดังกล่าวให้พนักงานทราบ


7) ออกคำสั่งให้การซื้อ ขาย ใช้ หรือมีสิ่งที่เป็นภัยต่อความมั่นคงไว้ในครอบครอง จะต้องรายงานแก่เจ้าหน้าที่


8) ออกคำสั่งใช้กำลังทหารหรือตำรวจเพื่อระงับหรือควบคุมสถานการณ์เพื่อให้เกิดความสงบได้


 


อีกทั้งยังให้อำนาจแก่ ผอ.รมน. อย่างมาก จนดูไม่ต่างจากอำนาจที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารในปี 2519 ซึ่งรัฐสามารถจับกุมบุคคลในข้อหาเป็น "ภัยต่อสังคม" ได้ ดังจะเห็นได้จากสาระที่ถูกกำหนดไว้ใน ม.26 อีกได้แก่


            1)  มอบอำนาจให้เจ้าพนักงานมีอำนาจจับกุมและควบคุมบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง


            2)  ดำเนินการปราบปรามบุคคล กลุ่มบุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคง


3)  สามารถออกหนังสือเรียกบุคคลมารายงานตัว


4)  มีอำนาจในการตรวจค้นยานพาหนะ หรือสถานที่ที่ต้องสงสัย


5)  สามารถยึด/อายัดทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่เป็นภัยต่อความมั่นคงได้


           


จากอำนาจในมาตราทั้งสอง จะเห็นได้ว่า กอ.รมน. ได้กลายเป็น "ยักษ์ใหญ่" ซึ่งจะมีอำนาจมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน จนทำให้เกิดความกังวลว่า อำนาจที่เพิ่มมากขึ้นเช่นนี้ จะส่งผลให้เกิด "กระบวนการทำให้เป็นทหาร" (Militarization) กับการเมืองไทย อันอาจทำให้ไทยกลายเป็น "รัฐทหาร" ได้  หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ จะส่งผลให้เกิดอาการ "เอียงขวา" มากขึ้น จนอาจนำไปสู่การเปลี่ยนรัฐไทยให้เป็น "รัฐความมั่นคง" ได้ไม่ยากในอนาคต  แต่สิ่งที่จะเห็นได้อย่างชัดเจน หากเมื่อกฎหมายนี้ถูกประกาศใช้ก็คือ การเกิด "รัฐซ้อนรัฐ" ที่อำนาจการเมืองจะถูกโอนจากนักการเมือง (และรวมทั้งคณะรัฐมนตรี) ไปไว้ที่ผู้นำทหาร


 


            ปัญหาอีกประการหนึ่งก็คือ อำนาจด้านความมั่นคงที่ปรากฏในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งน่าจะมีอยู่พอเพียงในการบริหารจัดการกับปัญหาความมั่นคงไทยได้ในอนาคต แต่หากฝ่ายรัฐคิดว่าไม่พอที่จะจัดการกับปัญหา ก็น่าจะทดลองแก้ไขกฎหมายเดิม โดยไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายใหม่ เว้นแต่การออกกฎหมายนี้ก็เพื่อเป็นหลักประกันทางการเมืองแก่ผู้นำทหาร เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า ไม่ว่าการเมืองไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไร หรือการเมืองจะต้องหันกลับไปสู่การเลือกตั้งอีกในอนาคต แต่อำนาจสำคัญจะยังคงอยู่กับฝ่ายทหาร และผู้นำทหารจะยังคงเป็น "ผู้มีอำนาจจริง" ในการเมืองไทยตลอดไป!


 


โปรดติดตาม บทความ "รัฐประหารเงียบ!" โดยสุรชาติ บำรุงสุข ที่ประชาไทในวันพรุ่งนี้


บทความ "สุรชาติ บำรุงสุข" : รัฐประหารเงียบ !

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net