สมชาย ปรีชาศิลปกุล : เส้นทางกระฎุมพีไทย จาก 14 ตุลาต้านรัฐประหาร ถึง 19 กันยาหนุนรัฐประหาร

เมื่อวันที่ 16 .. 50 มูลนิธิตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดงานเสวนา "ครบรอบ 100 ปีปริทัศน์: รัฐธรรมนูญและกบฏปฏิวัติรัฐประหาร - การเมืองสยามประเทศไทยสมัยใหม่ พ..2454-2550" เป็นวันที่สอง ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวข้อหนึ่งในการเสวนาคือ "ปฏิวัติกฎุมพี—ประชาธิปไตยไทยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข : จาก 14 ถึง 6 ตุลา และพฤษภาประชาธรรม" มีวิทยากร ได้แก่ เกษียร เตชะพีระ สมชาย ปรีชาศิลปกุล เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวณิชย์ ดำเนินรายการโดย วิทยา สุจริตธนารักษ์

 

0 0 0

 

 

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  

 

 

ผมจะพูดถึงปฏิวัติกระฎุมพีหลัง 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา ถึงพฤษภาคม 2535 และจนมาถึงรัฐประหาร 2549 โดยจะเริ่มต้นจากคำถามว่า จาก 14 ตุลาถึงรัฐประหาร 49 ล้วนแต่มีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่กระฎุมพีไทยมีส่วนร่วมอย่างมาก แล้วอะไรทำให้การปฏิวัติกระฎุมพีในสมัย 14 ตุลาที่คัดค้านรัฐเผด็จการทหาร พอมาถึงปี 49 กระฎุมพีไทยจำนวนมากกลับหันไปสนับสนุนรัฐประหาร ในเวลาเกือบ 30 ปีนี้เกิดอะไรขึ้น ผมจะพิจารณาจากความเคลื่อนไหวทางสังคมในระดับกว้าง เพราะในเชิงปัจเจกกระฎุมพีแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป

 

หากพิจารณาอัตชีวประวัติกระฎุมพีไทย หลัง 14 ตุลา เป็นต้นมา ช่วงที่กระฎุมพีไทยคุ้นเคยและอยู่เย็นเป็นสุขมากที่สุด คือช่วงปี 2520-2540 ช่วงนี้ระบบการเมืองแตกกระจายเป็น 4 เส้า มีพรรคการเมือง ระบบราชการ กระฎุมพี ทั้งหมดอยู่ภายใต้อำนาจนำของกษัตริย์  ที่น่าสนใจคือ ในทางการเมืองกระฎุมพีไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ อาจจะผ่านสื่อมวลชน และสามารถขับไล่รัฐบาลได้ง่ายมาก เพียงม็อบสีลม คนไม่กี่ร้อยก็ไล่รัฐบาลได้

 

ช่วงปี 2530- 2540 กระฎุมพีไทยมีพลังทางการเมืองสูงมาก โดยไม่ต้องอาศัยพรรคการเมือง อาศัยอำนาจผ่านสื่อและเครื่องมือต่างๆ ในทางเศรษฐกิจรัฐบาลจะเข้มแข็งหรือไม่ไม่จำเป็น เพราะในแง่หนึ่งเราไปสัมพันธ์กับระบบโลก และระบบเศรษฐกิจโลกเป็นประโยชน์ต่อกระฎุมพีไทย ถ้าเรานึกถึงยัปปี้ในเมืองไทยที่เกิดขึ้นมาในทศวรรษ 2520 ทำงาน 12 เดือน โบนัส 12 เดือน เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น ในทางเศรษฐกิจไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนนโยบายทางเศรษฐกิจก็ตอบสนองต่อกระฎุมพีไทยอย่างมาก เขาได้ประโยชน์ชัดเจน ในทัศนะผม 2520-2540 จึงเป็นยุคทองของกระฎุมพีไทย ทั้งระบบเศรษฐกิจและการเมือง

 

หลังปี 2516-2549 กระฎุมพีไทยถูกคุกคามครั้งสำคัญ 2 ครั้ง ครั้งแรกถูกคุกคามโดยกระแสสังคมนิยมหลัง 14 ตุลา ผมไม่มีเวลาพูดในรายละเอียด ครั้งที่สอง ผมคิดว่าคุณทักษิณนี่แหละที่คุกคามกระฎุมพีไทย เพราะคุณทักษิณได้เปลี่ยนการเมือง ทำให้ฐานเสียงที่เดิมเคยเป็นแต่เพียงฐานเสียงของการเมืองกลายเป็นฐานนโยบายด้วย ในแง่นี้หากพิจารณาตามแนวทางที่อาจารย์อเนก เหล่าธรรมทัศน์ เคยพูดไว้ว่า "2 นัคราประชาธิปไตย-คนต่างจังหวัดตั้งรัฐบาล คนกรุงเทพฯ ล้มรัฐบาล" พอมาถึงรัฐบาลทักษิณ ทฤษฎีนี้มีปัญหา ตอนนี้ม็อบสองแสนก็ยังไม่พอ ทักษิณบอกมีเสียง 16 ล้าน มันทำให้กระฎุมพีไทยเป็นใบ้ เจอปรากฏการณ์พรรคไทยรักไทยเข้าไป

 

การคุกคามกระฎุมพีไทยจบลงอย่างไร ทั้งสังคมนิยมและทักษิณ มันจบที่กระฎุมพีไทยหันกลับไปจูบปากระบบราชการและสถาบันจารีต ซึ่งตกอยู่ในสถานะที่ถูกคุกคามด้วยกันทั้งคู่ ทั้ง 6 ตุลาคม 2519 และ 19 กันยา 49 กระฎุมพีไทยไปไม่เป็น ก็หันไปเชื่อมโยงดึงกลุ่มอื่นร่วมด้วย

 

ประการต่อมา โลกทัศน์ทางการเมืองของกระฎุมพีไทยในแง่สถาบันทางการเมือง กระฎุมพีไทยอยากได้ระบบเลือกตั้ง น่าตลกที่พูดถึงเรื่องเลือกตั้งก่อนมีรัฐธรรมนูญ และไม่ต้องการพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง รัฐธรรมนูญ 2540 สร้างรัฐบาลที่เข้มแข็ง กระฎุมพีอยากได้รัฐบาลเข้มแข็ง แต่ไม่อยากได้พรรคการเมืองที่เข้มแข็ง เพราะไม่จำเป็นต้องมีพรรคการเมือง กระฎุมพีไทยก็สามารถกดดันให้รัฐบาลออกนโยบายตอบสนองความต้องการของตนได้อยู่แล้ว กระฎุมพีไทยเกลียดพรรคการเมืองเป็นอย่างยิ่ง ไม่เชื่อลองถามว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยในเมืองไทยคนไหนเป็นสมาชิกพรรคการเมืองบ้าง ยกเว้นว่าตัดสินใจแล้วว่าจะเป็นหัวหน้าพรรค เพราะพรรคการเมืองที่เข้มแข็งทำให้เสียงตัวเองไม่ดังเหมือนเก่า พูดอะไรไปก็เจอ 16 ล้านดักคอ

 

ในแง่ของความเสมอภาค ผมคิดว่ากระฎุมพีไทยไม่มองความเสมอภาคออกนอกกลุ่มตัวเอง ในหมู่กระฎุมพีด้วยกันต้องธรรมาภิบาล เพราะจะทำให้กระฎุมพีเข้าไปแข่งขันได้ ใช้ประโยชน์ได้  แต่ถ้าเป็นคนต่างระดับกันเช่น เป็นรากหญ้า เวลาชาวบ้านลงคะแนนก็คิดเลยว่าเขาถูกซื้อเสียง เรื่องชาวบ้านถูกซื้อเสียงเริ่มตั้งแต่ 2520 เป็นต้นมา คือ "โรคร้อยเอ็ด" พอโรคนี้ระบาดมันทำให้ไม่ว่าชาวบ้านจะลงคะแนนอย่างไรเขาก็คือผู้ที่ขายเสียง ชาวบ้านไม่สามารถตัดสินใจด้วยสติปัญญาที่ถูกต้อง พอมาถึงประชานิยมก็เช่นกัน ชาวบ้านถูกหลอก ถูกซื้อ แม้กระทั่งไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ผู้มีอำนาจก็มาบอกจะไปให้ความรู้ประชาชนในพื้นที่สีแดงว่า รัฐธรรมนูญเป็นอย่างไร พวกพื้นที่สีเขียวฉลาดหมด เขียวฉลาด แดงโง่ ทั้งที่มันอาจโง่ได้พอๆ กัน โดยทัศนะทางการเมือง ผมคิดว่ากระฎุมพีไทยไม่เชื่อในอัตวินิจฉัย ระบบเลือกตั้งแม้เลือกมาแล้วก็ไม่สามารถสะท้อนสิ่งที่ดีที่ถูกต้องได้

 

ในทางเศรษฐกิจ หลังจาก 14 ตุลา 16 หลังจากกระแสสังคมนิยมหายไป ในสังคมไทยไม่มีการพูดถึงความเท่าเทียม นโยบายที่ถูกสร้างเพื่อความเท่าเทียม เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน การกระจายทรัพย์สิน เหล่านี้ไม่เกิดขึ้นเลย โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค แม้มีข้อบกพร่อง แต่สร้างความมั่นคงให้ทุกคน ถูกสร้างขึ้นในสมัยทักษิณ

 

ในช่วงปลายทักษิณ นักวิชาการเริ่มมาพูดแล้วว่า รัฐบาลทักษิณถลุงเงินของชนชั้นกลาง มอมเมาประชาชนรากหญ้า น่าสนใจว่า ก่อนหน้านี้ไม่มีการพูดเลยที่ถลุงเงินของคนทั้งประเทศเพื่อชนชั้นกลาง นโยบายการเท่าเทียมจึงไม่เกิดขึ้น โลกทัศน์ทางการเมืองแบบนี้สอดคล้องกับการดำรงอยู่ของสถาบันชั้นนำ สถาบันจารีตของเรา พรรคการเมืองที่เข้มแข็ง ไม่เพียงสั่นคลอนอำนาจของกระฎุมพีแต่ในแง่หนึ่งยังท้าทายอำนาจของสถาบันจารีตด้วย  ข้อกล่าวหาหนึ่งที่คุณทักษิณได้รับคือ การที่ทักษิณท้าทายกับสถาบันจารีต

 

ผมคิดว่ากระฎุมพีไทยมีแนวโน้มจะสอดรับกับพระราชอำนาจนำ ถ้าพิจารณาแนวทางการพัฒนาภายใต้พระราชอำนาจนำ จะเป็นแนวที่ไม่กระทบโครงสร้างทางสังคมที่เป็นอยู่ จะเป็นเรื่องการสร้างความเข้มแข็งในทางปัจเจก แบบนี้คือสิ่งที่กระฎุมพีไทยรับได้ เพราะไม่กระเทือนอะไรต่อสถานะและความมั่นคงของตนเอง

 

รัฐธรรมนูญปี 2550 จะไปรอดหรือไม่รอดไม่รู้ แต่มันคือรัฐธรรมนูญในฝันของกระฎุมพีไทย สังคมการเมืองไทยจะกลับไปสู่ยุคที่พรรคการเมืองไม่เข้มแข็ง กระฎุมพีไทยจะคุมนโยบายได้ คุมพรรคการเมือง ไล่รัฐบาลได้ ที่จริงทั่วโลก พรรคการเมืองที่ไม่ได้สังกัดกับชนชั้นก็เริ่มมีความสำคัญลดน้อยลง มันจึงได้รับการสนับสนุนจากกระฎุมพีไทย แต่ฝันนี้ไม่หวานมากนัก ผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือการปรากฏตัวขึ้นของรากหญ้าซึ่งถูกปลุกขึ้นโดย รัฐบาลทักษิณ ทำให้เกิดมวลมหาประชาชนขึ้น คิดดูว่าท่ามกลางการลงประชามติที่เบี้ยวแล้วเบี้ยวอีก ใช้อำนาจข่มขู่แล้วข่มขู่อีก ยังมีคนเป็น 10 ล้านที่จะออกไปบอกว่าไม่เอา ไม่เห็นด้วย อย่างนี้แล้วในอนาคต การเกิดขึ้นของคนกลุ่มรากหญ้าที่ตระหนักถึงพลังตนเอง รู้ว่าตนเองเป็นฐานทางการเมือง เป็นฐานทางนโยบายนี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องคิดถึงในอนาคต

 

อันที่สาม ในอดีตเรามักคิดว่า กระฎุมพีเป็นกองหน้าในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง นำไปสู่การเมืองแบบเสรีนิยม หากวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงในเมืองไทย จาก 14 ตุลา 16 จนถึงปัจจุบัน ผมคิดว่าอาจต้องตั้งคำถามใหม่ มันอาจเป็นการลื่นไถลหรืออะไรก็ตาม หลังจากปฏิวัติกระฎุมพี 14 ตุลา แนวทางมันจะไปสู่เสรีนิยมก็ไม่ใช่ จะเป็นประชาธิปไตยก็ไม่เชิง ถ้าจะเรียก 14 ตุลาว่าเป็นการปฏิวัติประชาธิปไตย มันก็ดูอิหลักอิเหลื่อ ไม่รู้ว่าจะนำสังคมไทยไปสู่ความเท่าเทียมเฉพาะในกลุ่มของกระฎุมพี หรือว่ารวมทั้งหมดของสังคม นี่เป็นสิ่งที่อยากจะตั้งคำถามและทิ้งท้ายไว้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท