เกษียร เตชะพีระ : ทางแพร่งแห่งการปฏิวัติกระฎุมพีไทย

เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2550 มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดงานเสวนา "ครบรอบ 100 ปีปริทัศน์: รัฐธรรมนูญและกบฏปฏิวัติรัฐประหาร - การเมืองสยามประเทศไทยสมัยใหม่ พ..2454-2550" ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวข้อหนึ่งในการเสวนาคือ "ปฏิวัติกระฎุมพี--ประชาธิปไตยไทยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข: จาก 14 ถึง 6 ตุลา และพฤษภาประชาธรรม" โดยมีวิทยากรร่วมเวที ได้แก่ สมชาย ปรีชาศิลปกุล เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวณิชย์ ดำเนินรายการโดย วิทยา สุจริตธนารักษ์

 

รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ให้เห็นภารกิจของการปฏิวัติกระฎุมพีในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และทางแพร่งของการเมืองไทยหลังรัฐประหาร 19 กันยา ที่เดินทางมาสู่จุดที่ต่างตาบอดกันคนละข้าง ละทิ้งหลงลืมภารกิจอีกด้านของการปฏิวัติกระฎุมพีไปเสียสิ้น 

 

0 0 0

 

 

รศ.ดร.เกษียร  เตชะพีระ

 

 

ผมมีเวลาจำกัด แล้วหัวข้อก็ใหญ่ เรื่องปฏิวัติกระฎุมพี ผมจะพยายามพูดถึงการปฏิวัติกระฎุมพีในเมืองไทย 75 ปี ในเวลา 20 นาที ผมแบ่งเป็น 6 หัวข้อ

 

หนึ่ง เกริ่นนำ 2475 กับ 2516

สอง ปมปริศนาของการปฏิวัติกระฎุมพีในประเทศกำลังพัฒนา

สาม จาก 2475 ผ่าน 14 ถึง 6 ตุลาคม

สี่ พฤษภาประชาธรรม กับวิกฤตโลกาภิวัตน์ไทย

ห้า รัฐประหาร 19 กันยายน 2549

และ หก สรุป

 

 

เกริ่นนำ 2475 กับ 2516

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคใหม่ มีเหตุการณ์สองครั้ง ที่ถูกเอ่ยถึงว่าเป็นการปฏิวัติกระฎุมพี ได้แก่ หนึ่ง การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 สอง การลุกฮือของนักศึกษาประชาชนเมื่อ 14 ตุลาคม 2516 ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างของคนที่บอกว่า 2475 เป็นการปฏิวัติกระฎุมพี

 

อันแรก เพลงมาร์ช มธก.ของคุณทวีป วรดิลก ซึ่งแต่งขึ้นในช่วงทศวรรษ 2490 เลือกใช้ทำนองเพลงลา มาร์แซร์แยส (La Marseillaise) ซึ่งเป็นเพลงชาติฝรั่งเศส ที่ถือกำเนิดขึ้นหลังการปฏิวัติฝรั่งเศส ปี ค.ศ 1789 เลือกอย่างจงใจ ผมรู้เพราะว่า ผมมีโอกาสคุยกับคุณทวีป เมื่อสักสิบยี่สิบปีก่อน คุณทวีปเลือกทำนองเพลงลา มาร์แซร์แยส อย่างจงใจ เพราะอะไร? คุณทวีปบอกว่าเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยและภารกิจทางประวัติศาสตร์ ท่านที่อยู่ธรรมศาสตร์คงเคยได้ยินอยู่บ้าง

 

...อันธรรมศาสตร์สืบนามความสามัคคี           ร่วมรักในสิทธิศรีเสรีชัย

สัจจธรรมนำเราเร้าในดวงใจ             โดมดำรงธงชัยในวิญญาณ...

 

มันก็มาจากเพลงลา มาร์แซร์แยสนั่นเอง (ร้องท่อนหนึ่งของเพลงลา มาร์แซร์แยส)

 

อันที่สองนะครับ ผมเคยพบหนังสือภาษาไทยเก่า เรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789 เล่มหนึ่งในหอสมุดแห่งชาติโดยบังเอิญ ผมไปเจอหลัง 14 ตุลา 2516 ตอนนั้นเป็นเด็กนักเรียน ผมอ่านดูคำนำ พบว่าหนังสือเล่มนั้นตีพิมพ์หลัง 2475 ไม่นาน มีคำชี้แจงของผู้เขียน ซึ่งผมจำไม่ได้แล้วว่าผู้เขียนเป็นใคร ชื่ออะไร แต่ผู้เขียนพูดในคำนำ เขาบอกว่า ตีพิมพ์ออกมาก่อนหน้า 2475 ครั้งแรก หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจึงได้พิมพ์ออกมารับกับสภาพการที่เปลี่ยนไป ก็คือมันมีคนจำนวนหนึ่งที่จินตนาการว่า 2475 ก็คือการปฏิวัติกระฎุมพี

 

และสุดท้ายตอนที่อาจารย์ปรีดีถึงแก่อสัญกรรม เมื่อปี 2526 อันนี้ผมอ้างตัวเอง ก็น่าเกลียดหน่อย (หัวเราะ) แต่ก็ไหนๆ แล้วนะ ผมเคยแต่งกลอนตอนที่อาจารย์ปรีดีเสียไว้ว่า

 

...ใช่ที่ว่าปริศนายังไม่เห็น               ใช่ที่ว่าความฝันซึ่งยังต้องสร้าง

รัฐธรรมนูญยิ่งใหญ่ใส่พานวาง          แต่ทวยราษฎร์เป็นเบี้ยล่างเสมอมา

แต่หากไร้คณะราษฎรสู้                  ราษฎรคงอยู่เป็นไพร่ข้า

ก้าวแรกแห่งการล้มสมบูรณา           เป็นก้าวสั้นแต่ทว่ายั่งยืนยาว...

 

ในกรณี 14 ตุลา 2516 ปรากฏในบทความของอาจารย์เบน แอนเดอสัน ชื่อบทความ "Murder and Progress in Modern Siam" หรือ "การฆาตกรรมและความก้าวหน้าในสยามสมัยใหม่" มันมีข้อความตอนหนึ่งในบทความนั้น ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ 1990 แปลเป็นไทยก็คือ ถ้าท่านทั้งหลายลองคิดถึงปี 2516 เหมือนกับมันเป็นการปฏิวัติ 2475 ของสยาม ท่านก็จะสามารถมองช่วงระยะเวลาหลังจาก 14 ตุลายาวๆ ทั้งหมดเลย ด้วยกล้องเดียวกัน...กล้องส่องทางไกลอันเดียว กล่าวคือ ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นการต่อสู้ของชนชั้นกระฎุมพี เพื่อพัฒนาอำนาจทางการเมืองของตัว และเพื่อประคับประคองอำนาจทางการเมืองของตัว ซึ่งปรากฏอยู่ในรูปสถาบันรัฐสภา ปกป้องอำนาจการเมืองของกระฎุมพีจากอะไร? ก็จากภัยคุกคามทั้งจากฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ฝ่ายซ้ายก็คือภาคประชาชน และฝ่ายขวาก็คือกลไกรัฐราชการ

 

ในงานอีกชิ้นของครูเบน ซึ่งแปลเป็นไทยแล้ว ชื่อว่า "ศึกษารัฐไทย วิพากษ์ไทยศึกษา" พิมพ์ในฟ้าเดียวกัน เมื่อกรกฎาคม-กันยายน 2546 ภาษาอังกฤษตีพิมพ์เมื่อปี 1979 ครูเบนได้วิเคราะห์วิจารณ์เปรียบเทียบ 24 มิถุนา 2475 กับ 14 ตุลา 2516 เขาบอกว่ารัฐสมบูรณาญาสิทธิ์สยามอายุสั้น แค่ราว 40 ปี จากปี 2435 ถึง 2475 คือจากปลายรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 เนื่องจากอายุสั้น จึงเปลี่ยนแปลงสังคมเศรษฐกิจไทยไปไม่มาก ไม่ลึกซึ้งพอ ฉะนั้น 24 มิถุนา ซึ่งเป็นผลผลิตของและปฏิกิริยาทางการเมืองต่อรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์สยาม จึงแคบและเล็ก เป็นเรื่องของภาคราชการทำ ไม่ค่อยมีมวลชนเข้าร่วม เป็นแค่กบฏข้าราชการครึ่งๆ กลางๆ ไม่ได้ขุดรากถอนโคนรัฐสมบูรณาญาสิทธิ์จริงจังอย่างที่สุด

 

หลัง 2475 มันจึงยังคงอยู่กับปัญหาในรูปรัฐราชการเผด็จการ หรือที่เรียกว่าอำมาตยาธิปไตย เทียบกันแล้ว การลุกฮือ 14 ตุลา 2516 เป็นผลผลิตของและปฏิกิริยาทางการเมืองต่อระบอบเผด็จการทหารอาญาสิทธิ์เพื่อการพัฒนาของสฤษดิ์ ถนอม ประภาส นาน 15 ปี ซึ่งส่งผลเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจสังคมไทยลึกซึ้งกว่ามาก อำนาจรวมศูนย์เด็ดขาด มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจต่อเนื่อง 15 ปี หลัง 15 ปีที่สฤษดิ์ ถนอม ประภาส ปกครองก่อน 14 ตุลา เมืองไทยเปลี่ยน พลิกโฉมหน้าชนชั้นกระฎุมพีไทย ไปสู่ระดับใหม่ทันที

 

ผมไม่มีเวลาลงรายละเอียด แต่ว่าความเปลี่ยนแปลงทางสังคมไทยช่วงนี้ลึกซึ้งกว่ามาก ดังนั้น 14 ตุลา 2516 เป็นขบวนการมวลชนที่ใหญ่โตชนิดที่ 24 มิถุนา 2475 ไม่มีโอกาสได้เป็น

 

0 0 0

 

 

ปมปริศนาการปฏิวัติกระฎุมพีในประเทศกำลังพัฒนา

ปมปริศนาการปฏิวัติกระฎุมพีในประเทศกำลังพัฒนาในเมืองไทยเกิดจากสาเหตุ 2 ประการคือ

 

ประการแรก สังคมเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในโลกพัฒนาไปไม่สม่ำเสมอกัน บางประเทศพัฒนาทุนนิยมไปก่อน บางประเทศพัฒนาตามทีหลัง ตะวันตกพัฒนาจากสัตยาบันทุนนิยมและการปฏิวัติกระฎุมพีล่วงหน้าไปเรียบร้อยแล้ว ประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยเรา กลับพัฒนาทุนนิยมทีหลัง

 

ข้อสอง เมื่อทุนนิยมเติบโตถึงขั้นเป็นจักรวรรดินิยม ก็แพร่เข้าครอบประเทศต่างๆ ทั่วโลก เป็นระบอบอาณานิคมทั้งเก่าและใหม่ ผลของมันคืออะไร? มันทำให้สังคมเศรษฐกิจในประเทศที่พัฒนาทีหลัง หรือที่เรียกว่ากำลังพัฒนา มีลักษณะที่สลับซับซ้อนกว่า เผชิญปัญหาเชิงซ้อน กล่าวคือมีทั้งปัญหาความล้าหลังของรัฐเผด็จการศักดินา และมีทั้งปัญหาการขูดรีดเอาเปรียบของกลุ่มทุนต่างชาติที่เชื่อมโยงกับกลุ่มทุนในประเทศ

 

การปฏิวัติกระฎุมพีแบบคลาสสิก แบบปฏิวัติ 1789 ในฝรั่งเศส ที่ถือภารกิจโค่นรัฐเผด็จการศักดินา ช่วงชิงสิทธิเสรีภาพของประชาชนเพียวๆ จึงไม่สอดคล้องกับปัญหาความเป็นจริงที่ประสบในประเทศที่กำลังพัฒนาทีหลังหรือกำลังพัฒนา และถูกมองว่าไม่เพียงพอ

 

บ่อยครั้งการปฏิวัติประชาธิปไตยในประเทศกำลังพัฒนา มันจะไถลเลื่อนไปอยู่ที่..ประธานเหมาเรียกว่า ปฏิวัติประชาธิปไตยแผนใหม่ ที่มีภารกิจทับซ้อน กล่าวคือ ควบรวมทั้งภารกิจปฏิวัติประชาธิปไตยกระฎุมพี ต่อต้านรัฐเผด็จการศักดินา เพื่อสิทธิเสรีภาพประชาธิปไตย ควบรวมเข้ากับภารกิจปฏิวัติสังคมนิยม ต่อต้านเศรษฐกิจทุนนิยม เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม หรือสังคมนิยม

 

0 0 0

 

 

จาก 2475 ผ่าน 14 ถึง 6 ตุลา

ผมยกหลักปมปริศนาอันนี้ขึ้นมา เพราะผมคิดว่าเมืองไทยเจอเหมือนกัน กระบวนการปฏิวัติกระฎุมพีไทยก็เจอปมปริศนาเดียวกัน และมีปฏิกิริยาตอบโต้ในการเมืองไทยตลอดระยะเวลาอันยาวนาน ซ้ำแล้วซ้ำอีก ผมขอยกสามตัวอย่าง

 

หนึ่ง ปรีดี พนมยงค์ จากการปฏิวัติ 2475 มีหลักข้อสามของคณะราษฏร ซึ่งจากหลักของสามพัฒนามาเป็นเค้าโครงการเศรษฐกิจปี 2475 แก่นสารของเค้าโครงการเศรษฐกิจในความเห็นผม คือลัทธิสหกรณ์โดยรัฐแบบสมานฉันท์ คือทุนนิยมไม่ไหว ไม่เวิร์ค เห็นมาแล้ว มันมีวิกฤต stock market crash ที่นิวยอร์ค กระทบกระเทือนไปทั่ว เมืองไทยก็โดนสมัยรัชกาลที่ 7 ถึงได้มีการดุลข้าราชการออกเยอะ

 

ดังนั้น อ.ปรีดี หลังจากยึดอำนาจแล้ว ไม่ต้องการให้เมืองไทยเดินในเส้นทางที่มีคนเดินแล้ว เห็นว่าผิด คือทุนนิยม จึงเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจ เดินทางที่ไม่ทุนนิยม ในเค้าโครงการเศรษฐกิจข้อความตอนหนึ่งของ อ.ปรีดี ว่าอย่างนี้

 

"ก็เมื่อการที่รัฐบาลประกอบเศรษฐกิจเสียเองเช่นนี้ เป็นการที่ทำให้วัตถุประสงค์ทั้งหกประการของคณะราษฎรได้สำเร็จไปตามที่ได้ประกาศแก่ราษฎรไว้แล้ว สิ่งที่ราษฎรทุกคนพึงปรารถนาคือ ความสุขความเจริญอย่างประเสริฐ ซึ่งเรียกกันเป็นศัพท์ว่า ศรีอริยะ ก็จะพึงบังเกิดแก่ราษฎรโดยถ้วนหน้า ไฉนเล่าพวกเราที่ได้พร้อมใจกันไขประตูเปิดช่องทางให้แก่ราษฎรแล้วจะรีๆ รอๆ ไม่นำราษฎรต่อไปให้ถึงต้นกัลปพฤกษ์ ซึ่งราษฎรจะได้เก็บผลเอาจากต้นไม้นั้น คือผลแห่งความสุขความเจริญ ดั่งที่ได้มีพุทธทำนายกล่าวไว้ในเรื่องศาสนาพระศรีอารีย์"

 

ไขประตูคือยึดอำนาจเมื่อ 2475 เค้าโครงการเศรษฐกิจไปสู่ศรีอารียะ คือต้นกัลปพฤกษ์ เป็นสองภารกิจที่แกต้องการจะควบรวมกัน

 

สอง พคท.- พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เสนอภารกิจปฏิวัติประเทศไทยในลักษณะปฏิวัติประชาธิปไตยแผนใหม่ หรืออีกนัยหนึ่งปฏิวัติประชาธิปไตยกระฎุมพีนี่แหละ แต่มีชนชั้นกรรมาชีพเป็นกองหน้า ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเมื่อเอาการปฏิวัติกระฎุมพีไปให้กองหน้าชนชั้นกรรมาชีพ แล้วให้พรรคคอมมิวนิสต์ มันก็ไม่เป็นทุนนิยม มันก็มุ่งสู่สังคมนิยมโดยตรง โดยไม่ผ่านเส้นทางการพัฒนาแบบทุนนิยม

 

สาม เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เคยให้สัมภาษณ์สะท้อนสภาพทางความคิดของนักศึกษากิจกรรมหลัง 14 ตุลาไว้ในหนังสือปากคำประวัติศาสตร์ คือ 14 ตุลามีคนบอกเป็นการปฏิวัติกระฎุมพี ผมจะบอกว่ามันมีอาการไถลเลื่อนอย่างไร

 

ทีนี้พอหลัง 14 ตุลา ขบวนการลงสู่ชนบทเผยแพร่ประชาธิปไตยนี่ มันพาเราไปสู่ทางซ้ายโดยไม่ทันตั้งตัวเลย เพราะเราจะไปเผยแพร่ประชาธิปไตยนี่ มันกลายเป็นของฟุ่มเฟือยสำหรับคนที่ยากไร้ เขาถูกรุมล้อมด้วยปัญหาที่ดิน ปัญหาปากท้องนานาประการ ปัญหาไม่เป็นธรรม ถูกข่มเหงรังแกโดยผู้ที่มีเครื่องแบบมีอำนาจ พอรู้ปัญหาเหล่านั้น เราก็เอามาเสนอกับทางรัฐบาล มาประท้วงบ้าง มาเสนอให้แก้ไข มาประสานกับทางรัฐบาลบ้าง เสนอไปมากๆ เราชักเวียนว่ายอยู่กับปัญหาเหล่านั้น ไม่มีเวลามาคิดถึงประชาธิปไตยแล้ว รูปแบบการประท้วงหรือว่าการเอาปัญหาเหล่านั้นมาเสนอโดยตัวของมันเองนี่ มันทำให้เรากลายเป็นซ้ายโดยอัตโนมัติ เช่นปัญหาค่าแรง หรือว่าปัญหาที่ดิน อย่างนี้ในทัศนะของผู้ปกครอง เขาก็ว่าเราเป็นซ้ายไปแล้วโดยที่เราไม่ทันรู้ตัว…"

 

มันเป็นข้อแสดงว่าปฏิวัติกระฎุมพีในประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย มันยากที่จะทำให้มันเพียว เนื่องจากปัญหาทุนนิยมเข้ามาขูดรีด มันจึงมีลักษณะทับซ้อน เช่นปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตยไม่พอ ต้องเดินหน้าไปแก้ปัญหาต่อไปอีก ต้องแก้ปัญหาทุนนิยมตามมา

 

การฆ่าหมู่และรัฐประหาร 6 ตุลา 2519 ส่งผลก่อเกิดปฏิกิริยาหลอมรวมสองการปฏิวัติ คือการปฏิวัติประชาธิปไตยกระฎุมพี กับการปฏิวัติสังคมนิยมกรรมาชีพเข้าด้วยกัน ก่อนหน้า 6 ตุลา มันมีสองขบวนแยกกัน มันมีขบวนประท้วงทางการเมืองของนักศึกษาปัญญาชนในเมือง กับขบวนการต่อสู้ของคอมมิวนิสต์ในชนบท พอเกิด 6 ตุลา สองขบวนหลอมรวม นักศึกษาเข้าป่า มันเป็นจุด เป็น landmark สำคัญ เพราะมันทำให้ขบวนสองขบวนและการปฏิวัติสองอย่างหลอมรวมเข้าด้วยกัน

 

แต่ก็อย่างที่รู้แหละครับ ประวัติศาสตร์มักเล่นตลกกับเรา ห้าปีต่อมา ขบวนการหลอมรวมแนวร่วมนี้แตกกระจาย พคท. ล่มสลาย นักศึกษาปัญญาชนออกจากป่าคืนเมือง คำถามคือ เกิดอะไรขึ้นกับภารกิจการปฏิวัติทั้งสอง?

 

ผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับภารกิจปฏิวัติสังคมนิยมต่อต้านทุนนิยม คือ เลิก (หัวเราะ) ล้มเลิกเพราะมันเกิดท่ามกลางวิกฤตอุดมการณ์ระบบสังคมนิยมทั่วโลก มันเปลี่ยนรูปภารกิจแบบต่อต้านทุนนิยม เรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม เปลี่ยนเป็นการเมืองภาคประชาชนเพื่อเศรษฐกิจพอเพียงใต้พระราชอำนาจนำ มันมีกระบวนท่าต่อต้านทุนนิยมอยู่ แต่มันเปลี่ยนรูปกลายเป็นการเมืองภาคประชาชนเพื่อเศรษฐกิจพอเพียงใต้พระราชอำนาจนำ ที่เน้นทัดทานด้านที่สุดขั้วเกินเลยของทุนนิยมและเสนอตัวเป็นทางเลือกของชุมชน อันนี้เป็นสิ่งที่เหลือหลังปฏิวัติสังคมนิยมล่มสลาย

 

ส่วนภารกิจปฏิวัติประชาธิปไตยกระฎุมพีเพื่อจะต่อต้านรัฐราชการเผด็จการ...แพ้ เปลี่ยนรูปเป็นความพยายามจะปฏิรูปรัฐราชการภายใต้พระราชอำนาจนำ เปลี่ยนไปอีกเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ เปลี่ยนไปอีกเป็นระบอบเลือกตั้งธิปไตย ภายใต้พลตรีซึ่งต่อมาเป็นพลเอกชาติชาย ในจังหวะที่มันเปลี่ยนไปเป็นระบอบเลือกตั้งธิปไตย เกิดปฏิกิริยาตอบกลับของพลังราชการเผด็จการในรูปรัฐประหาร รสช. 2534

 

0 0 0

 

 

พฤษภาประชาธรรมและวิกฤตโลกาภิวัตน์ไทย

ขบวนการพฤษภาประชาธรรม 2535 ดังที่นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยชี้ความแตกต่างนี้ไว้ในบทความชื่อ "ชาตินิยมของขบวนการประชาธิปไตย" ในปี 2535 คือ พฤษภาประชาธรรมมีลักษณะ เจตจำนง และพลวัตรต่อมา เป็นการปฏิวัติประชาธิปไตยกระฎุมพีล้วนๆ ปลอดเปล่ามิติของภารกิจด้านต่อต้านทุนนิยมหรือสังคมนิยมแทบหมดสิ้น

 

ไม่เหมือน 14 ตุลาเลยนะครับ หลัง 14 ตุลา แป๊บเดียวเอียงซ้ายกลับไปสังคมนิยม หลังพฤษภา 35 แป๊บเดียวกลับเข้าตลาดหุ้น (หัวเราะ) คือมันปฏิวัติประชาธิปไตยกระฎุมพีล้วนๆ เลย กูต้องการสิทธิเสรีภาพในการปั่นหุ้น แล้วเชิญทหารกลับกรมกอง...จบ

 

นับจากนั้นมา การเมืองเข้าสู่ระบอบเลือกตั้งธิปไตยภายใต้พระราชอำนาจนำที่พยายามปฏิรูปรัฐราชการอำนาจนิยม ซึ่งล้าสมัยรวมศูนย์และเป็นปัญหากีดขวางการพัฒนาทุนนิยมในสภาพโลกาภิวัตน์สืบต่อไป คือโจทย์มันเปลี่ยน โจทย์ก็คือว่า พฤษภา 35 ทหารกลับกรมกองแล้ว ต่อไปนี้จะปฏิรูประบบราชการ ทำยังไงที่มันจะรับใช้เศรษฐกิจยุคโลกาภิวัตน์ได้ดี นี่คือรูปการใหม่ของมิติต่อต้านรัฐราชการเผด็จการ ของภารกิจปฏิวัติกระฎุมพีหลัง 35

 

ในช่วงหลัง 35 มา เป็นระยะเวลา 10 กว่าปี ขอบฟ้าแห่งความเป็นไปได้ทางสังคมเศรษฐกิจการเมืองในจินตนาการหรือในวิสัยทัศน์หลังพฤษภา 35 ประกอบด้วยสองอย่าง แปลว่าไกลที่สุดที่คนจินตนาการเมืองไทยไปได้เป็นอย่างนี้ หนึ่ง "ทุนนิยมโลกาภิวัตน์" สอง "พระราชอำนาจนำ"

 

ขอบฟ้านี้เป็นพรมแดนของกระแสและกระบวนการปฏิรูปการเมืองหลังพฤษภา 35 ที่มีขึ้นเพื่อปรับระบบการเมืองการปกครองให้สามารถตอบสนองความเปลี่ยนแปลง ช่วงชิงโอกาส รับมือการท้าทายจากสภาวะทุนนิยมโลกาภิวัตน์ได้ และเพื่อธำรงรักษาและจรรโลงสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มั่นคงเข้มแข็งยั่งยืน ภายใต้สภาพการเศรษฐกิจการเมืองที่เปิดเสรี และเป็นประชาธิปไตยรัฐสภายิ่งขึ้น

 

ทว่าเส้นทางทุนนิยมโลกาภิวัตน์ นำไปสู่ two great unexpected สองคาดไม่ถึงที่ยิ่งใหญ่ คาดไม่ถึงที่หนึ่งทางเศรษฐกิจ คือวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 คิดไม่ถึงว่า เดินมานิดหน่อยเจอวิกฤตเศรษฐกิจ ทำลายชนชั้นนายทุนใหญ่จังๆ 65% หรือ 2 ใน 3 มี 3 คนเจ๊งไป 2

 

สืบเนื่องกันมา anther great unexpected เป็นเรื่องการเมือง คือ "ระบอบทักษิณ" วิกฤตเศรษฐกิจส่งผลทางการเมืองให้เกิดโอกาส และเกิดการตัดสินใจของกลุ่มทุนใหญ่ที่เหลือรอดจากวิกฤต ให้เข้าสู่วงการเมืองโดยตรง เขาตั้งพรรคไทยรักไทยขึ้น ให้คุณทักษิณเป็นหัวหน้า หรือซีอีโอทางการเมืองของชนชั้นนายทุนไทย เขาสถาปนาระบอบทักษิณ หรือระบอบประชาธิปไตยอำนาจนิยม หรือประชาธิปไตยไม่เสรี อย่างที่ อ.นิธิเรียกก็ได้

 

ภายใต้อำนาจนำทางการเมืองของกลุ่มทุนใหญ่โลกาภิวัตน์ ระบบนี้มีปัญหาใหญ่สองอย่าง คือกดขี่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพและทำลายหลักนิติรัฐ และสอง คุกคามท้าทายระบอบเลือกตั้งธิปไตยภายใต้พระราชอำนาจนำโดยตรงในที่สุด

 

0 0 0

 

 

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ปรากฏว่าขบวนการการเมืองภาคประชาชนส่วนหนึ่ง หันไปยอมรับสนับสนุนรัฐประหารเพื่อราชบัลลังก์ของ คปค.หรือคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อต่อต้านเผด็จการทุนนิยม

 

ทำอย่างนี้แปลว่าอย่างไร? บอกต่อและละทิ้งภารกิจด้านต่อต้านรัฐราชการเผด็จการ หลับหูหลับตาต่อด้านที่รับใช้และเกี่ยวพันกับทุนนิยมโลกาภิวัตน์อย่างลึกซึ้งของรัฐราชการเผด็จการและชนชั้นนายทุนขุนศึกศักดินา เรียกร้องให้ใช้พระราชอำนาจเปลี่ยนนายกฯ ในลักษณะสมบูรณาญาสิทธิ์เฉพาะกิจ ชักนำพลังประชาชนไปสร้างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ฉวยใช้วาทกรรมมรณะ เรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของพวกขวาจัด มาข่มขู่โจมตีปรปักษ์และผู้เห็นต่างทางการเมือง

 

ในทางกลับ ขบวนการต่อต้านรัฐประหารและเผด็จการทหารบางส่วนก็นำเสนอระบอบประชาธิปไตยของปวงประชามหาชน เชิดชูโลกาภิวัตน์+ประชาธิปไตย+ความเป็นธรรมทางสังคม ขึ้นมา เป็น "ธงชาติไทยสามผืนในกระแสโลกาภิวัตน์" อันนี้เป็นชื่อบทความในหนังสือของ อ.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ชื่อ "หมายเหตุประเทศไทย"

 

แนวทางนี้ต่อต้านคัดค้านศักดินา คุณจักรภพ เพ็ญแข ก็พูด แปลว่าอะไรไม่ทราบ คงต้องไปถามคุณจักรภพเอาเอง เน้นการเลือกตั้งเป็นสารัตถะของประชาธิปไตยในลักษณะลัทธิเลือกตั้ง บอกต่อและละทิ้งมิติภารกิจด้านต่อต้านทุนนิยมโดยสิ้นเชิง หลับหูหลับตาต่อด้านที่เผด็จอำนาจ กดขี่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพและซื้อขายสัมปทานอำนาจรัฐของกลุ่มทุนโลกาภิวัตน์ เหมือนกับสิ่งเหล่านี้ไม่เคยเกิดขึ้น ไม่สำคัญ เป็นเรื่องธรรมดา

 

กลับตาลปัตร ไตรลักษณ์ทางความคิดของปรีดี พนมยงค์ สำหรับปรีดี พนมยงค์ ตามความเข้าใจของผม อุดมการณ์ของ อ.ปรีดี มีสามเสาหลัก คือชาตินิยม ประชาธิปไตย สังคมนิยม มาจนถึงปัจจุบัน สิ่งที่ขบวนนี้เสนอคือ โลกาภิวัตน์+ประชาธิปไตย+ความเป็นธรรมทางสังคม ซึ่งไปกับทุนนิยมโลกาภิวัตน์ กลับตาลปัตรอุดมการณ์ของ อ.ปรีดี ทั้งหมด

 

ที่สำคัญในความเห็นผม วิธีคิดแบบนี้สละทิ้งพื้นที่ "ชาติ" ให้อุดมการณ์ "ราชาชาตินิยม" ไม่พูดถึงเรื่อง "ชาติ" เพราะไม่คิดว่า "ชาติ" สำคัญ พอคุณไม่พูด พื้นที่ "ชาติ" ก็ตกอยู่ใต้อิทธิพลของอุดมการณ์ราชาชาตินิยมเพียวๆ สละละทิ้งวาทกรรมต้านทุนนิยมให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

 

0 0 0

 

 

สรุป

75 ปีหลัง 2475 และ 34 ปีหลัง 2516 กระบวนการปฏิวัติกระฎุมพีไทยมาถึงทางแพร่ง ที่ตาบอดคนละข้าง แล้วแยกทางกันเดิน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งคือ การปฏิวัติกระฎุมพีไทยได้เปลี่ยนสีแปรธาตุจากเดิม แนวทางตุลาคมที่ต้านรัฐราชการเผด็จการและต้านอำนาจทุนไปพร้อมกัน มาเป็นแนวทางพฤษภาคม ต้านรัฐราชการเผด็จการและศักดินาล้วนๆ กับแนวทางกันยายนต้านอำนาจทุนล้วนๆ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท