Skip to main content
sharethis


ช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ โลกข้างนอกอาจมีหลากหลายประเด็นให้สนใจ โดยเฉพาะว่าที่ ผบ.ทบ.คนใหม่ แต่สำหรับโลกเสมือนแล้ว ประเด็นหนึ่งที่ร้อนแรงในช่วงที่ผ่านมา คือการหายไปของนักท่องเว็บบอร์ด anti-royalist บางคนและข่าวลือการจับกุมพวกเขา



รายแรกคือ ข่าวลือหนาหูเรื่องการหายตัวไปของผู้ใช้นามในโลกเสมือนว่า "พระยาพิชัย" หลังจากเขาโพสต์ข้อความครั้งสุดท้ายในเว็บของเขาเมื่อ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา บางกระแสบอกว่า เขาถูกจับแล้ว ขณะที่มีบางคนยืนยันว่า เขายังสบายดี


 


"พระยาพิชัย" เป็นสมาชิกเว็บบอร์ดหลายที่ที่นักท่องโลกไซเบอร์ โดยเฉพาะเว็บบอร์ดการเมืองรู้จักดี จนกระทั่งเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เขาได้ก่อตั้งเว็บไซต์ "พร็อบพากันดา" อันล่อแหลมของตัวเอง ซึ่งแม้ต่อมาจะถูกบล็อกในประเทศไทย แต่ยังสามารถเข้าถึงผ่าน proxies ได้ เว็บนี้มีผู้เข้าเยี่ยมจำนวนไม่น้อยและมีสมาชิกเกือบ 800 คน


 


แต่ข่าวลือธรรมดาเริ่มสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวขึ้นจริงจังในโลกไซเบอร์ เมื่อสื่อต่างประเทศอย่าง "ไฟแนนเชียล ไทมส์" ฉบับสุดสัปดาห์วันที่ 1-2 กันยายน รายงานอ้างแหล่งข่าวระดับสูงระบุว่า มีผู้ถูกจับกุม 2 คน โดย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ที่เพิ่งประกาศใช้ใหม่หมาดเมื่อ 18 กรกฎาคม เนื่องจากแสดงความเห็นโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ในห้องสนทนาบนอินเทอร์เน็ต


 


ต่อมาวันที่ 2 กันยายน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) นายสิทธิชัย โภไคยอุดม ได้ให้สัมภาษณ์กับ "เดอะเนชั่น" ว่าเขาไม่ทราบเรื่องนี้ และหากมีผู้ถูกจับกุมด้วยกฎหมายฉบับนั้น เขาจะไม่ได้รับการแจ้ง


 


หลังจากนั้น เรื่องราวเริ่มชัดเจนขึ้นอีก เมื่อ "ประชาไท" ได้ข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องนี้จาก "สมบัติ บุญงามอนงค์" หรือ บก.ลายจุด ซึ่งอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เนื่องจากไม่ยอมประกันตัวกรณีที่พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร และพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ฟ้องหมิ่นประมาทเพราะทำซุ้มเกมปาเป้าล้อเลียน คมช.และพวกที่สนามหลวง "สมบัติ" ยอมถูกคุมขัง เพราะเชื่อว่ามีความชอบธรรมที่จะทำกิจกรรมดังกล่าว เขาเรียกร้องเสรีภาพของตนเองพร้อมๆ กับเรียกร้องเสรีภาพโดยรวมโดยให้ คมช.ยกเลิกกฎอัยการศึก


 


"ประชาไท" เข้าเยี่ยม "สมบัติ" ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อ 3 กันยายน และเขาได้แจ้งให้ทราบว่าพบผู้ต้องขังจากความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในเรือนจำเดียวกันนี้ โดยได้พูดคุยกับผู้ต้องหาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อว่าเป็น "พระยาพิชัย" แล้ว ขณะนี้เขาอยู่ในอาการหวาดกลัวอย่างเห็นได้ชัด แม้อยู่ในเรือนจำก็หวาดกลัวว่าจะถูกทำร้าย ทั้งยังไม่ได้พบญาติ และไม่มีการแต่งตั้งทนายแต่อย่างใด 


 


"เขากลัวมากอยู่ในนี้ และมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานทั้งหมด กฎหมายคอมพิวเตอร์อะไรเขาก็ไม่รู้เรื่องเลย ผมเป็นห่วงความปลอดภัยเขา อยากให้ช่วยติดต่อญาติให้เร็วที่สุด" สมบัติกล่าวผ่านห้องเยี่ยมในเรือนจำ


 


"สมบัติ" ระบุด้วยว่า ผู้ต้องขังจากความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ถูกจับกุมในวันที่ 24 สิงหาคม โดยถูกคุมขังที่กองปราบฯ 6 วัน ก่อนนำตัวมายังเรือนจำ และจากการสอบถามเจ้าตัว ไม่พบว่ามีการทำร้ายร่างกายแต่อย่างใด


 


วันต่อมา ระหว่างการเข้าเยี่ยมในเรือนจำอีกครั้ง "สมบัติ" ได้เป็นผู้สื่อข่าวพิเศษนำ ชื่อ-นามสกุล ของบุคคลดังกล่าว พร้อมทั้งที่อยู่คนที่เขาต้องการติดต่อมาให้ จนทำให้ "ประชาไท" สามารถติดต่อญาติของเขาได้ และในที่สุดเขาได้รับการประกันตัวในวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา


 


ผู้ต้องหาที่ตำรวจเชื่อว่าเป็น "พระยาพิชัย" รายนี้เป็นชายอายุ 37 ปี ถูกจับตามมาตรา 14 (1) และ (2) ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดโดยคอมพิวเตอร์ โดยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกจับในที่พัก และยึดคอมพิวเตอร์พีซี และโน้ตบุกไปทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่เขาโดนควบคุมตัว ปรากฏว่ายังคงมีชื่อ "พระยาพิชัย" ออนไลน์ใน MSN และในเว็บบอร์ดต่างๆ ยังคงมีผู้ที่ให้ข้อมูลว่าเขายังสบายดี เพียงไปต่างจังหวัดมาเท่านั้น ทำให้เกิดกระแสร่ำลือในโลกไซเบอร์ว่า อาจมีใครปลอมตัวเป็น "พระยาพิชัย" เพื่อหลอกล่อสาวไปยังเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง


 


ในเรื่องนี้ "สมบัติ" เชื่อว่า ทางเจ้าหน้าที่ได้ติดตามมานานแล้ว ส่วนเหตุผลในการรอมาจับกุมช่วงนี้ เพราะ 1.ต้องการจับให้ได้คาหนังคาเขา  2.ตั้งใจเชื่อมโยงทั้งขบวนการ และต้องการเฝ้าดูว่าคนเหล่านี้เป็นเครื่องมือของใคร แต่เรื่องนี้ต้องล้มเหลว เพราะเป็นการกระทำการในฐานะปัจเจกชน  


 


ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคือ จากการที่ "ประชาไท" ได้พูดคุยกับตัวผู้ต้องหาเอง ทำให้ทราบว่า เขาไม่ต้องการให้มีข่าวการจับกุมครั้งนี้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้กำชับว่า อย่าให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ในเรื่องนี้ "สมบัติ" ระบุเพิ่มเติมว่า จากการพูดคุยกับเจ้าตัวในเรือนจำทำให้ทราบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เกลี้ยกล่อมให้ผู้ต้องหารับสารภาพและไม่ให้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน โดยรับปากว่าจะลงโทษให้น้อยที่สุดเพียง 4 เดือน


 


"เขาคงใช้ลูกปลอบ แต่ 4 เดือนนั้น ผมไม่เชื่อเลยว่ามันจะเป็นไปได้ น่าจะเป็นการหลอกล่อเพื่อนำไปสู่คนอื่นๆ" สมบัติกล่าว


 


หลังจากเกิดเหตุการณ์ มีหลายองค์กรที่ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยเรื่องนี้ โดยเกรงว่าอาจมีการละเมิดสิทธิผู้ต้องหา และต้องการให้ทางการชี้แจงให้ชัดเจนในกรณีเหล่านี้ มีทั้ง คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน และสหพันธ์นักข่าวสากล นอกจากนี้ยังมีบล็อกรณรงค์ให้ปล่อยพระยาพิชัย http://freepichai.blogspot.com โดยในนั้นมีการอัพเดทข้อมูลข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย


 


ในขณะที่ทางการยังคงบอกปัดไม่รู้เรื่อง ผู้ต้องหาเองไม่ต้องการเป็นข่าว สื่อมวลชนภาษาอังกฤษสนใจติดตามเรื่องนี้เพียงฉบับเดียว แทบไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะสืบสาวหาผู้ถูกจับกุมอีก 1 ราย ตามที่ไฟแนนเชียล ไทมส์ รายงาน หรือบางทีอาจไม่มีใครถูกจับกุมแล้วก็เป็นได้


 


วันที่ 7 กันยายน "จอน อึ๊งภากรณ์" ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ประชาไท ได้รับโทรศัพท์ร้องเรียนจากบุคคลหนึ่งว่า ญาติของเขาถูกจับกุมด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์เช่นกัน ขณะนี้ถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิง


 


หลังจากทราบเรื่องนี้ มีการจัดหาทนายและ "ประชาไท" ได้เข้าไปเรือนจำอีกครั้ง แต่ในทัณฑสถานหญิง เธออายุ 37 ปี โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อว่าเป็นผู้ที่ใช้นามแฝงในเว็บบอร์ดว่า "ท่อนจัน" รวมทั้งเชื่อว่าเป็นเจ้าของเว็บบล็อกกิโยติน


 


ก่อนหน้านั้นชื่อของ "ท่อนจัน" ก็เป็นอีกชื่อที่มีข่าวลือหนาหูในเว็บบอร์ดต่างๆ ว่าเธอถูกจับ (และยังมีคนอื่นอีกหลายรายชื่อ) ทำให้เกิดความสับสนอลหม่านพอสมควรในโลกเสมือน


 


จอนระบุว่า พ่อของผู้ต้องหาเป็นผู้โทรแจ้ง และเล่าว่าการจับกุมเกิดขึ้นในเช้าวันที่ 24 สิงหาคม (ผู้ต้องหาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อว่าเป็น "พระยาพิชัย" ถูกจับช่วงบ่าย) โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 20 นายได้เข้ามาที่บ้าน และบุกขึ้นไปถึงห้องนอนขณะที่ผู้ต้องหากำลังนอนหลับอยู่ชั้นบน เจ้าหน้าที่ได้ทำการจับกุม และยึดโน้ตบุกกับโมเด็มไปด้วย เธอถูกคุมตัวที่กองปราบฯ 6 วันเช่นกัน ก่อนจะถูกนำตัวมาไว้ที่ทัณฑสถานหญิง


 


จีรนุช เปรมชัยพร ผู้จัดการเว็บไซต์ประชาไท ระบุว่า จากการเข้าเยี่ยมพบว่า เธอยังคงมีกำลังใจดี แต่มีปัญหาสุขภาพ เนื่องจากมีโรคประจำตัว ขณะนี้ยังไม่ได้รับการประกันตัว เนื่องจากทางครอบครัวไม่มีหลักทรัพย์เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ (15 ก.ย.) องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศแห่งหนึ่งกำลังดำเนินการประสานงานให้ความช่วยเหลือเพื่อการประกันตัวแล้ว


 


ถึงวันนี้คดียังไม่ขึ้นสู่การพิจารณาของศาล และทั้งหมดนี้คือความคลุมเครือที่ชัดเจนที่สุดท่ามกลางความมืดดำทั้งปวง ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความกลัวในโลกไซเบอร์ ท่ามกลางการทดลองกฎหมายใหม่ที่เป็นไปอย่างเงียบเชียบ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหา และทำให้เส้นแบ่งของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นมีอันต้องสั่นไหวอีกครั้งใหญ่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net