กกต.-นายกฯ ปัดไม่ใช่เมืองขึ้น ไม่เซ็นเอ็มโอยูให้สภาพยุโรปตรวจสอบเลือกตั้ง 23 ธ.ค.

การกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปเป็นวันที่ 23 ธ.ค. 2550 แม้ว่าจะยังมีทั้งความเห็นสนับสนุนและความเห็นคัดค้าน แต่ปรากฏว่ากลุ่มประเทศสหภาพยุโรป หรืออียู (The European Union-EU) ขอเข้ามาตรวจสอบการเลือกตั้งในประเทศไทย และขอทำบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU (Memorandum Of Understand) กับคณะกรรมการการเลือกตั้งและรัฐบาลไทย โดยอียูจัดประเภทอยู่ในกลุ่มประเทศที่ล้มเหลว (Fail State) เช่นเดียวกับประเทศติมอร์

ก่อนหน้านี้ในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สถานทูตอเมริกาก็ได้ติดต่อโดยตรงไปยังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำจังหวัดสุรินทร์ เพื่อขอตรวจสอบการลงประชามติ

 

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังหารือกับนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.ถึงกรณีที่สหภาพยุโรปต้องการส่งคณะเข้ามาสังเกตการณ์เลือกตั้งของไทยในช่วงปลายปีนี้แล้วเห็นตรงกันว่า ทางการไทยจะไม่ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจดังกล่าว ซึ่ง กกต.ได้มีหนังสือตอบกลับไปให้ทางอียูรับทราบแล้ว

 

"ได้มีการหารือกับประธาน กกต.ซึ่งแนวทางมี 2 วิธีการ คือ มาสังเกตการณ์หรือมาควบคุม ซึ่งการลงนามถือเป็นการควบคุมมากกว่า ซึ่งท่าน (ประธาน กกต.) ก็ไม่เห็นด้วย" พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าว

 

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับกำหนดวันเลือกตั้งนั้นยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่เห็นว่าที่ได้กำหนดไว้ในเบื้องต้นเป็นวันที่ 23 ธ.ค.นั้นมีความเหมาะสมแล้ว

         

ส่วนกรณีที่มีผู้ตังข้อสังเกตถึงการกำหนดวันเลือกตั้งโดยไม่ได้ฟังความเห็นจากพรรคการเมืองอาจส่งผลให้การเลือกตั้งเป็นโฆษะเหมือนปี 49 นั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เรื่องนี้พรรคการเมืองที่มีข้อสงสัยสามารถสอบถามจาก กกต.ได้ แต่เท่าที่ฟังแล้วเห็นว่าพรรคการเมืองส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับการกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 23 ธ.ค.50

 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังระบุว่า ประเด็นเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ไม่น่าจะส่งผลกระทบให้ต้องเลื่อนจัดการเลือกตั้งออกไป เพราะบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปีจะดำเนินการเสร็จเรียบร้อยภายในเดือน ก.ย.นี้

 

ด้านน.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับที่จำเป็นต่อการเลือกตั้ง สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวกรณีที่กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป(อียู)จะขอส่งตัวแทน เข้ามาสังเกตการณ์การเลือกตั้งว่า เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยแต่ที่ไหนที่มีการเลือกตั้ง อียูก็จะให้ความสนใจมาสังเกตการณ์ ซึ่งขึ้นอยู่กับฝ่ายรัฐบาลว่าต้องการให้อียูเข้ามาในแบบใด โดยรัฐบาลต้องไปปรึกษากับ กกต. ในการกำหนดขอบเขต ทั้งนี้หากประเทศไทยจะปฏิเสธก็สามารถทำได้แต่ไม่ดี อย่างไรก็ตามตนเห็นว่า อียู ควรมาเพียงแค่สังเกตการณ์ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยบริสุทธิ์ ยุติธรรมเท่านั้นไม่ควรที่จะมายุ่ง เกี่ยวกับกระบวนการจัดการเลือกตั้งที่ถือเป็นกิจการภายใน

 

"เราเปิดโอกาสและอำนวยความสะดวกให้กับอียู ในบางเรื่องเท่านั้นแต่จะให้อำนวยความสะดวก ทุกอย่างไม่ได้ ซึ่ง กกต.ต้องทำความเข้าใจว่าเขามีอำนาจในขอบเขตแค่ไหน จะให้เขาเข้ามาจู้จี้ไม่ได้ เพราะเป็นกิจการภายในของเรา เรามีกฎหมายเลือกตั้งของเราอยู่ " น.ต.ประสงค์กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากรัฐบาลไทยปฏิเสธอียู จะมีผลกระทบในเรื่องการค้าตามมาหรือไม่ น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า อียูมีสติที่จะพิจารณา ว่าเรื่องไหนมีอำนาจทำได้และสามารถทำได้แค่ไหน

 

เมื่อถามว่าประเทศไทยถูกจับตามองการจัดการเลือกตั้งเป็นพิเศษ เพราะมีการปฏิวัติเกิดขึ้นใช่หรือไม่ น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า ต่างประเทศให้ความสนใจการเลือกตั้งภายใต้รัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งว่าจะมีการช่วยเหลือและสนับสนุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษหรือไม่ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต.ในการจัดการ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้ตั้งข้อสังเกตหรือไม่ว่าการที่อียูขอเข้ามาสังเกตการณ์มีเงื่อนงำอื่นซ่อนอยู่ น.ต. ประสงค์กล่าวว่า อียู มีผู้แทนอยู่ในประเทศไทยคือเอกอัครราชฑูต โปรตุเกส ในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมาไม่นานได้เชิญตนไปรับประทานอาหารร่วมกัน

 

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี ที่สหรัฐอเมริกา เรียกร้องให้ยกเลิกประกาศกฎอัยการศึก 35 จังหวัดก่อนการเลือกตั้ง น.ต.กล่าวว่า ตนไม่ทราบข่าว ที่สหรัฐจะมาเรียกร้องอย่างนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้และตนเห็นว่าไม่จำเป็นต้องยกเลิกกฎ อัยการศึกเพราะต้องให้สิทธิเจ้าหน้าในการรักษาความสงบเรียบร้อยและกฎอัยการศึก ก็ไม่ได้เป็นอันตรายกับประชาชนที่เป็นคนดี สำหรับกลุ่มการเมืองโดยเฉพาะกลุ่มไทยรักไทยเดิมที่เรียกร้องในเรื่องนี้ตนเข้าใจว่ามีความประสงค์บางอย่าง หรือต้อง การอำนวยความสะดวกให้กับหัวคะแนนในพื้นที่ อย่างไรก็ตามกฎอัยการศึกคงไม่ได้คงอยู่ตลอดเพราะเมื่อมีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่คงจะยกเลิกได้

 

นายนิตย์ พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึง การที่อียูขอเข้ามาดูการเลือกตั้งของไทยว่า จริงๆแล้ว ก็ยินดีอยู่แล้ว ไม่ใช่เฉพาะทางอียูอย่างเดียวเท่านั้นที่จะเข้ามาสังเกตการณ์ อยู่ที่ กกต.ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศก็ได้ให้ข้อคิดเห็นไปว่า เอ็มโอยู หรือบันทึกช่วยจำที่ต้องทำร่วมกับเขานั้น ตนเห็นว่า มันคงยากในทัศนะของ กกต. คงไม่ไหว ถ้าจะให้คน 4-5 ร้อยคนเข้ามา แล้วเราจะทำอย่างไร เรามีประวัติศาสตร์ของเราในการเลือกตั้ง เราไม่ใช่ประเทศที่จะมานั่งเข้าไปในเต๊นท์ ไปดูว่าเป็นอย่างไร ส่วนตัวเห็นว่า ไม่น่าจะมีความจำเป็นที่ลงนามเอ็มโอยู

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากไม่ยอมในการลงนามเอ็มโอยู จะชี้แจงอย่างไร นายนิตย์ กล่าวว่า ไม่เห็นเป็นไร ไม่ลงนามก็คือไม่ลงนาม กกต.ก็ต้องตัดสินใจ ซึ่งเอ็มโอยูนี้ ตนได้ส่งผ่านไปยัง กกต. และที่ผ่านมาไทยก็ไม่เคยมีกรณีนี้มาก่อน แต่ในประเทศอื่นอาจจะมี เมื่อถามต่อว่า ถ้าเราไม่ลงนามจะส่งผลกระทบ ต่อความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยของไทยหรือไม่ในมุมมองต่างประเทศ นายนิตย์ กล่าวว่า คงไม่

 

"คุณคิดว่า จะต้องมีใครมาสอนให้เรามีการเลือกตั้งและมาคอยดูว่าคุณเข้าไปกากบาทถูกหรือผิด ประเทศเรามีประวัติในการเลือกตั้งมามากมายพอสมควร ในหัวใจผม ฐานะที่ผมเป็นคนไทย ผมไปลงคะแนนทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง และที่อ้างว่า เพราะประเทศล้มเหลวในการเลือกตั้งนั้น อยากถามพวกคุณว่ามันจริงหรือไม่ ผมคนหนึ่งที่คิดว่าไม่รับกับข้อกล่าวหานี้ เพราะผมไม่คิดว่ามันล้มเหลว โอเค เรามีปัญหาของเรา แต่เราก็แก้ของเราได้" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าว

 

ด้านนายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เรื่องนี้เราคงไม่สามารถยอมได้ เพราะจะทำให้เราเป็นเหมือนเมืองขึ้น เราตั้งใจทำการเลือกตั้งให้ตรงไปตรงมาอยู่แล้ว ใครๆ ก็มาดูได้ว่าโปร่งใสหรือไม่ แต่เขาไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ว่าใครจะมาอยู่เหนือกฎหมายของเรา ดังนั้น คนที่จะมาตรวจสอบต้องอยู่ในกฎของเราเท่านั้น

 

"อยู่ๆ จะเข้าไปในหน่วยไปชะโงกดูในคูหาคงไม่ได้ และอย่างก่อนหน้านี้ กลุ่มอียู ก็เคยทำอย่างนี้ในประเทศอินโดนีเซีย ตอนแรกบอกว่าจะเข้ามาไม่กี่สิบคน แต่สุดท้ายเข้ามาสองร้อยห้าสิบคน ทำให้ทำงานลำบาก ส่วนของเรานี่เขาแจ้งว่าต้องการเข้ามาถึง 250 คน ซึ่งผมก็ขอย้ำกับเจ้าหน้าที่ว่าหากจะมีคนมาตรวจสอบการเลือกตั้ง ก็ขอให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้อยู่ในขอบเขต"

 

นายอภิชาต กล่าวด้วยว่า อียู ติดต่อมาว่าจะขอเข้ามาตรวจสอบการเลือกตั้ง และขอทำเอ็มโอยู ซึ่งเขาจะส่งตัวแทนเข้ามาพูดคุยในปลายเดือนหน้า โดยมากประเทศที่เขาเข้ามาตรวจสอบจะเป็นประเทศเล็กๆ ซึ่งเราก็ยินยอมที่จะให้เขาเข้ามาสังเกตการณ์ แต่ต้องอยู่ในขอบเขตของกฎหมายเราเท่านั้น และจะไม่มีการทำเอ็มโอยู อย่างเด็ดขาด เพราะถ้าทำก็เท่ากับว่าเราต้องอยู่ภายใต้กฎหมายของเขา ซึ่งการเข้าไปตรวจสอบของเขาก็ไม่ได้มีการทำเอ็มโอยูกับทุกประเทศแต่ทำกับบางประเทศเท่านั้น และการที่จะเข้ามาถึง 250 คน เราเห็นว่ามันมากเกินไป เพราะจะทำให้เราดูแลลำบากโดยเฉพาะเรื่องการรักษาความปลอดภัย

 

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ กกต. เปิดเผยว่า ระหว่างที่มีการหารือเรื่องวันเลือกตั้งกับพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี  ได้แจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบแล้ว และนายกฯ ก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้ทำเอ็มโอยู เพราะหากเราไปทำสัญญาผูกมัดจะทำให้เจ้าหน้าที่ของเราทำงานลำบาก และเขายังจะไม่อยู่ภายใต้กฎหมายของเราอีกด้วย

 

ทั้งนี้ เอ็มโอยู ที่ทำกันตามปกตินั้นจะมีสองประเภท คือ ประเทศที่พัฒนาแล้ว  และประเภทที่ล้มเหลว (Fail State) เช่น ติมอร์ ซึ่งเขาจัดไทยอยู่ในกลุ่มหลังนี้

 

"เอ็มโอยูที่เขาทำกับเรานั้นจะให้เจ้าหน้าที่ของเขามีอำนาจอย่างมาก อาทิเช่น เข้าไปในหน่วยเลือกตั้งได้ ทั้งๆ ที่กฎหมายของเราห้ามคนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไป เขาสามารถติดต่อขอข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ทุกคนแม้แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูง เขาสามารถแถลงข่าวในนามของตัวเองก็ได้ ซึ่งเรามองว่าเรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ที่เขาจะไม่อยู่ใต้กฎหมายของเรา"

 

นายสุทธิพล กล่าวว่า ได้คุยกับ กกต.อินโดนีเซีย ที่อียูเคยเข้าไปตรวจสอบ แม้ว่า กกต.อินโดนีเซีย ไม่ยอม แต่รัฐบาลยอมเซ็น ทำให้เขาทำงานได้ยากลำบากและมีความอึดอัดใจเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ของเรานายกฯ บอกแล้วว่าจะไม่ยอมเซ็นเอ็มโอยูเช่นนี้

 

นอกจากนี้ เขาจะกำชับกับเจ้าหน้าที่ให้ดูแลเรื่องคนที่จะมาตรวจสอบการเลือกตั้ง เพราะเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเขามีวัตถุประสงค์อะไร เพราะหากเขาต้องการจะตรวจสอบก็ควรจะทำเรื่องผ่านมาที่ กกต. เพื่อให้เป็นไปตามระบบไม่ใช่ทำอย่างนี้ ดังนั้น หากใครจะมาขอตรวจสอบต้องเข้ามาที่ กกต.ไม่ใช่ติดต่อไปเองตามที่ต่างๆ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท