Skip to main content
sharethis


สำนักข่าวชาวบ้าน

http://www.thaipeoplepress.com


 


 


 


 


เร่งผลักกม.ให้สภาฯ ยอมรับองค์กรชุมชน


ช่วงเช้าวานนี้ (23 ส.ค.50) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดเวทีประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.... ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ กรุงเทพฯ มีตัวแทนจากภาครัฐ ผู้แทนองค์กรชุมชน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนักวิชาการ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นกว่า 60 คน โดยนายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มารับฟังความคิดเห็นในเวทีด้วย


 


นายไพบูลย์ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมว่า การรับฟังความเห็นต่อร่างพ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน จากหลายฝ่าย เป็นเวลาเกือบ 3 ชั่งโมงในวันนี้ ที่ประชุมโดยรวมเห็นว่า ร่างพ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน มีหลักการ เป้าหมาย วัตถุประสงค์ที่ดี ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน พร้อมส่งเสริมการร่วมพัฒนาท้องถิ่นร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรอื่นๆ แต่อย่างไรก็ดี ยังมีข้อความหลายส่วน หลายตอน ที่สมควรได้รับการพิจารณาแก้ไขปรับปรุง


 


"ในฐานะรมว. พม. ซึ่งดูแลเรื่องนี้ จึงเห็นว่าควรจะมีคณะเล็กๆ ที่เป็นตัวแทนของแต่ละฝ่ายมาช่วยกันแก้ไขปรับปรุงร่างที่มาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ ของพม. เดิม จนเห็นชอบร่วมกัน เป็นฉบับที่ พม. จะนำเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป โดยต้องรีบดำเนินการ เพราะต้องรีบนำเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาก่อนที่จะส่งกลับไปให้ ครม. ภายในวันที่ 11 ก.ย.นี้ เพื่อให้ ครม. ตัดสินใจส่งไปที่ สนช. ภายในวันที่ 13 ก.ย. อย่างไรก็ตาม วันจันทร์ที่ 27 ส.ค.นี้ จะมีการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนโดย สนช. ผมคิดว่าจะไปรับฟังด้วย เพื่อนำความเห็นต่างๆ มาประกอบการพิจารณาการแก้ไขปรับปรุง" นายไพบูลย์ ระบุขั้นตอนต่อจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้


 


ตัวแทน อบต. ไม่เห็นด้วยมี "องค์กร" เพิ่มในชุมชน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ซึ่งมีนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สมาชิก สนช.เป็นผู้ดำเนินรายการ มีการพูดคุยกันในประเด็นตั้งต้นว่า แต่ละฝ่ายอยากเห็นชุมชนเป็นอย่างไร ซึ่งทุกคนที่อภิปรายเห็นร่วมกันว่าต้องการให้ชุมชนเข้มแข็ง


 


อย่างไรก็ดี นายเจิมศักดิ์ กล่าวว่า จากการรับฟังคนหลายฝ่าย ดูเหมือนจะมี 2 แนวคิด แนวคิดแรกนั้น อยากเห็นชุมชนเข้มแข็ง พึ่งตัวเองได้ มีความสุข อบอุ่น มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีเวทีของตัวเอง โดยไม่สนใจว่าจะเรียกว่าอะไร ไม่สนอำนาจ ไม่สนรูปแบบ ส่วนอีกแนวคิดนั้น เป็นการมองจากองค์กรกลับมาที่ชุมชน อยากเห็นชุมชนเข้มแข็ง โดยให้มาพันกับองค์กรใหญ่ที่มีอยู่แล้ว อยากให้องค์กรหลุดจากระบบราชการ ไม่สบายใจที่ราชการเข้ามามีอิทธิพล


 


ช่วงหนึ่งของการประชุม นายมานพ ปัทมาลัย นายกสมาคมสันนิบาต อบต. แห่งประเทศไทย ได้อภิปรายยืนยันว่า ไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน ซึ่งเป็นการแยกชุมชนและท้องถิ่นออกจากกัน ตนตั้งข้อสังเกตว่า กระทรวง พม. กำลังจะสร้างสภาองค์กรชุมชนเพื่อนำองค์กรชุมชนมาอยู่ใน พม. หรือไม่ พม. มีนัยยะอะไรในการจะเอาพลังประชาชนมาอยู่ในกระทรวง ทั้งที่จริงๆ แล้วกฎหมายต่างๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่นั้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมอยู่แล้ว ตนไม่เห็นด้วยที่ พม. จะลงไปจัดตั้งองค์กรในชุมชน อบต.ทั้งหลายต่างก็อยากให้ชุมชนเข้มแข็ง แต่ไม่ไว้ใจระบบราชการ เกรงว่าหากมีการตั้งองค์กรขึ้นมาอีก ประชาชนจะถูกราชการครอบงำยิ่งขึ้นอีก


 


"ไพบูลย์" เสนอตัด พม. ออกจากร่างกม. ปลดล็อคท้องถิ่นไม่ไว้ใจ


หลังจากนั้นนายไพบูลย์ ได้กล่าวว่า ความเห็นของนายมานพนั้นสะท้อนความรู้สึกของคนที่มีต่อระบบราชการมาตลอด แต่ตนยืนยันว่า พม. ทำงานต่างออกไป โดย พม. สนับสนุนชุมชนมาตลอด ถ้าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าใจว่า พม. กำลังจะสร้างอาณาจักรโดยลงไปครอบงำชุมชนนั้น ตนยืนยันว่าไม่เป็นความจริง โดยการทำงานที่ผ่านมาของ พม. นั้นเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ และร่างพ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนนี้ เป็นกฎหมายที่ภาคประชาชนเสนอมา และพม.เสนอต่อไปยังครม. โดยไม่ได้ยึดติดกับตัวเอง


 


"เพื่อเป็นการปลดล็อคความไม่ไว้วางใจใน พม. ผมเสนอให้ตัดบทบาทของ พม. ออกจากร่าง พ.ร.บ. นี้ ไม่ต้องให้ พม. เป็นฝ่ายเลขานุการ โดยให้ชุมชนไปจัดตั้งกันเอง การตัด พม. ออกไปจากร่างพ.ร.บ. น่าจะทำให้ปลดล็อคเรื่องความไม่ไว้วางใจออกไปได้" นายไพบูลย์ เสนอต่อที่ประชุม


 


ด้านนายมานพ กล่าวยืนยันว่า มันไม่ใช่แค่การไม่ไว้ใจ พม. แต่การที่มีองค์กรมากขึ้นในชุมชน โดยธรรมชาติของคนไทย มันจะเกิดความแตกแยกมากขึ้น ตนเห็นว่าต้องทำให้มีองค์กรน้อยที่สุด ถ้ามีมาก มันจะกลายเป็นเครื่องมือของนักการเมือง จะถูกซื้อด้วยเงิน เนื่องจากประชาชนฐานรากนั้นต้องทำมาหากิน ตนไม่ได้ดูถูกประชาชน แต่ต้องยอมรับความจริงว่าคนเรานั้นต้องทำเพื่อความอยู่รอดของชีวิต


 


"ทฤษฎีของสภาองค์กรชุมชนนั้นใช้ได้ แต่ความเป็นจริงมันไม่ใช่ ถ้าไม่มีกฎหมายมารองรับ ประชาชนจะเป็นเจ้าของชุมชนเต็มๆ แต่ถ้ามีกฎหมายมารองรับ มันจะเกิดค่าย และจะถูกซื้อได้ง่าย" นายมานพ กล่าว


 


"ประชาชน" ยืนยันไม่ต้องการอำนาจ ขอพื้นที่ยืนมีปากเสียงพัฒนาชุมชน


ขณะที่นายจินดา บุญจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคใต้ และแกนนำเครือข่ายชุมชน กล่าวว่า ในฐานะที่ทำงานชุมชนมานาน ตนอยากให้มีองค์กรที่หลากหลายที่มีความยืดหยุ่นเชิงวัฒนธรรม ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความหลากหลายทางวัฒนธรรม ภาคประชาชนนั้นเสนอกฎหมายสภาองค์กรชุมชนโดยต้องการให้เป็นในรูปแบบองค์กรอิสระ ไม่ไปผูกกับกระทรวงไหน และอยากเห็นสมัชชาเครือข่ายองค์กรชุมชนเกิดขึ้น


 


"เราต้องมีเวทีเพื่อร้อยรัดคนเข้าด้วยกัน เพื่อต่อสู้กับพลังจากภายนอก ขบวนการชุมชนที่ร้อยรัดกันนี้จะต้องมีพลัง โดยกฎหมายที่รองรับสภาองค์กรชุมชนจะเป็นเครื่องมือที่รองรับความชอบธรรม ศักดิ์ศรี ของขบวนการชุมชน ชุมชนจะมีที่ยืน มีสถานะในการพูดคุย เสนอความเห็นอย่างเป็นระบบ ซึ่งที่ผ่านมานั้นกลุ่มต่างๆ ในชุมชนอยากจะลุกขึ้นพูด แต่เพราะไม่มีสถานะ หน่วยงานต่างๆ จึงไม่รับฟังและบางครั้งระแวงว่าเป็นกลุ่มการเมืองที่เสียผลประโยชน์" นายจินดา กล่าว 


 


ด้านนายสวงษ์ แสวงนิล ประธานเครือข่ายองค์กรชุมชนภาคตะวันออก กล่าวว่า ในฐานะที่มีส่วนร่วมร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มาแต่ต้น ยืนยันว่า ไม่ได้มีเจตนาในการร่างให้ประชาชนมีอำนาจ หากความจริงก็คือประชาชนนั้นถูกกำหนดจากภายนอกมาตลอด ทำให้ชุมชนอ่อนแอ ประชาชนถูกกีดกันจากโอกาสในการกำหนดอนาคตของตัวเองมาตลอด


 


"เราไม่ต้องการอำนาจ เราต้องการพลังที่จะไปพูดคุยกับหน่วยงานต่างๆ ท้องที่ ท้องถิ่นก็มีแล้ว เราขอแค่ที่ยืนให้ชุมชนเถอะครับ เราไม่ต้องการห้องแอร์ ขอแค่หลังบ้านใครสักคนเท่านั้นเอง" นายสวงษ์ กล่าว.


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net