ประชัน ประชามติ : "พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์" มองอนาคตสังคมการเมืองไทย..ถ้ารัฐธรรมนูญ 50 ผ่าน !

นับ ถอยหลัง 19 สิงหาคม วันลงประชามติ รับ-ไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งจะมีผลกำหนดอนาคตสังคมการเมืองไทยอย่างสำคัญ ท่ามกลางเหตุผลจุดยืนที่แตกต่าง ประชาไทสัมภาษณ์ เรียบเรียง รวมถึงหยิบยกประเด็นสำคัญๆ จากหลากหลายฝ่าย มาให้ผู้อ่านถ่วงดุลไตร่ตรอง ก่อนตัดสินใจ

 

 

 

 

000

 

"รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์"

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หนึ่งในคณะนักวิชาการเพื่อประชาธิปไตยและสันติวิธี (ค.ป.ส.)

 

 

 

 

 

อาจารย์จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550?

จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 อย่างแน่นอน อันนี้ไม่มีข้อกังขาใด ๆ

 

 

ด้วยเหตุผลอะไร?

เหตุผลหลักคือ ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 มีที่มาจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งทำลายระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ 2540 นำมาซึ่งเผด็จการทหารในปัจจุบัน อย่างที่ทราบกันดี ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 จึงไม่มีความชอบธรรมใดๆ เฉพาะข้อนี้ข้อเดียว ก็เพียงพอแล้วที่จะปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญ 2550

 

หมาย ความว่า ต่อให้ร่างรัฐธรรมนูญออกมาได้สวยหรู ไร้ที่ติ สมบูรณ์ที่สุดในโลก ผมก็จะยังปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญอยู่ดี เพราะไม่ได้มาจากประชาชน แต่มาจากรัฐประหาร ที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือ ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เองก็มีเนื้อหาที่ซ่อนเร้นเผด็จการอำมาตยาธิปไตยไว้อย่างแยบยล ไม่ได้ผิดไปจากที่ผมคาดเอาไว้ล่วงหน้าตั้งแต่หลัง 19 กันยายน 2549 ใหม่ๆ

 

เหตุผลอื่นๆ รองลงมาที่ปฏิเสธร่างรัฐธรรมนูญ 2550 คือกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ก็เป็นกระบวนการที่เป็นเผด็จการ ไม่โปร่งใส ดังจะเห็นได้ว่า องค์ประกอบของคณะผู้ร่างไม่ได้มาจากผู้แทนของประชาชนอย่างแท้จริง แต่อุปโลกน์กันขึ้นเองตามกระบวนการคัดเลือกโดยคณะรัฐประหาร และยังมีส่วนที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งเข้ามาโดยตรงอีกด้วย

 

 

ที่ว่าเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นการสืบทอดอำนาจของระบอบอำมาตยาธิปไตยนั้น เป็นอย่างไร ?

รัฐธรรมนูญ นี้มุ่งทำให้การเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอ่อนแอ แต่ทำให้ระบอบอำมาตยาธิปไตยของอภิชน ข้าราชการ และกองทัพมีอำนาจเข้มแข็ง เช่น สิ่งที่ปัจจุบันเรียกว่า "องค์กรอิสระต่างๆ" เมื่อย้อนไปดู จะเห็นว่า ถูกแต่งตั้งเข้ามาโดยคณะรัฐประหารหลัง 19 กันยายน 2549 และยังจะทำหน้าที่เป็น "องค์กรอิสระ" ต่อไปภายใต้รัฐธรรมนูญ 2550

 

แม้แต่วุฒิสภา ประมาณครึ่งหนึ่งก็ถูกแต่งตั้งโดยคณะบุคคลที่ส่วนหนึ่งมาจากบรรดา "องค์กรอิสระ" ที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร นี่คือสมาชิกวุฒิสภาประเภทแต่งตั้ง เพียงแต่เรียกให้สวยหรูไม่น่าเกลียดว่า "สรรหา" ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญที่อำมาตยาธิปไตยจะควบคุมนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะเพียงจำนวน 3 ใน 5 ของวุฒิสภาก็สามารถถอดถอนรัฐมนตรีได้ทุกตำแหน่ง ซึ่งเป็นหลักการที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างชัดแจ้ง เนื่องจากให้บุคคลที่มาจากการแต่งตั้งมีอำนาจถอดถอนบุคคลที่มาจากการเลือก ตั้งโดยประชาชนได้

 

รวม ทั้งมีเจตนาให้พรรคการเมืองมีขนาดเล็ก กระจัดกระจาย อ่อนแอ ไร้วินัย โดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสามารถออกเสียงสวนกับมติพรรคของตัวเองได้ ห้ามการควบรวมพรรคการเมืองในระหว่างอายุสภา เป็นต้น สิ่งที่จะได้คือ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค มีมุ้งเล็กมุ้งใหญ่ ผู้บริหารพรรคควบคุมวินัยของสมาชิกพรรคไม่ได้เลย นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะอ่อนแอ ไม่มีอำนาจที่แท้จริงในการบริหารบ้านเมือง และก็จะไม่มีเวลาบริหารด้วย เพราะมัวแต่วุ่นวายต่อรองและแลกเปลี่ยนผลประโยชน์อยู่กับความขัดแย้งในพรรค และในสภา

 

ที่เลวร้ายที่สุดคือ การออกพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรซึ่งให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแก่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.กอ.รมน.) ในการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน สามารถ "ใช้กำลังทหารเพื่อสนับสนุนฝ่ายความมั่นคง" ได้ตลอดเวลา อย่างนี้เท่ากับยังมีรัฐประหารอยู่ตลอดเวลาทุกชั่วโมงนาที แม้จะมีรัฐธรรมนูญ 2550 และมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้วก็ตาม

 

นายกรัฐมนตรีจะรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่า ถูกคุกคามโดยฝ่ายทหาร เหมือนถูกเอาปืนจี้หลังอยู่ตลอดเวลา ประเทศไทยจะเป็น "รัฐทหาร" อย่างแท้จริง

 

 

แล้วคิดอย่างไรกับกระบวนการรณรงค์ประชามติที่กำลังดำเนินอยู่ ทั้งของฝ่ายรัฐและฝ่ายอื่นๆ ?

ตอน นี้ประชาชนส่วนหนึ่งและภาคธุรกิจอยากให้มีการเลือกตั้งเร็วๆ และให้มีรัฐบาลใหม่ โดยเชื่อว่า หลังจากนั้น ทุกอย่างจะกลับมาดีเหมือนเดิม การเมืองจะมั่นคงมีเสถียรภาพ ต่างชาติจะกลับมายอมรับประเทศไทย การลงทุนและการใช้จ่ายจะฟื้นตัว วันคืนที่สงบและเศรษฐกิจดีจะกลับมา ซึ่งทางฝ่ายคณะรัฐประหารและรัฐบาลสุรยุทธ์รู้ดี จึงใช้ข้อนี้เป็นประเด็นในการขู่ประชาชนว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ ผ่านประชามติ ก็จะไม่มีการเลือกตั้งในปีนี้บ้าง ต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกนานบ้าง บ้านเมืองจะวุ่นวายบ้าง ซึ่งก็คือ ถ้าอยากเลือกตั้งเร็วๆ ก็ต้องรับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เท่านั้น ส่วนเนื้อหาที่ไม่ชอบใจก็ต้องทำเป็นไม่เห็นหรืออ้างว่า ไปแก้กันทีหลัง

 

ยิ่งกว่านั้น กระบวนการลงประชามติที่จัดวางไว้ก็ลำเอียงที่จะให้ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ผ่าน อย่างง่ายๆ เช่น อนุญาตให้หน่วยราชการขนคนไปลงประชามติได้ ซึ่งเท่ากับมีนัยให้ข้าราชการขนประชาชนไปลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญได้นั่นเอง รวมทั้งยังมีข่าวลือต่าง ๆ นานาว่า มีการข่มขู่ประชาชนและผู้นำชุมชนในพื้นที่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ มีการส่งคนเข้าไปจัดตั้งฐานคะแนนเสียงให้รับร่างรัฐธรรมนูญ

 

ที่ เลวร้ายที่สุดคือ กว่าค่อนประเทศไทยขณะนี้ยังอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก ทำให้มีการรณรงค์เคลื่อนไหวให้รับร่างรัฐธรรมนูญได้ แต่จะรณรงค์ไม่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะถือว่า "เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง" การที่ประชาชนไปลงประชามติในเขตกฎอัยการศึก ก็เท่ากับไปลงประชามติโดยมีปืนจี้ศีรษะอยู่นั่นเอง

 

โดยสรุป การลงประชามติครั้งนี้เป็นกลไกทางการเมืองที่คณะรัฐประหารหวังจะใช้สร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำของตัวเองเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นกลไกจัดตั้งโดยมีคำตอบล่วงหน้าที่ทำให้การร่างรัฐธรรมนูญและการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 "ดูดีมีความชอบธรรม" นั่นเอง ซึ่งต้องถือว่า เป็นความชาญฉลาดเจ้าเล่ห์ของเนติบริกรที่รับใช้คณะรัฐประหารชุดนี้

 

กลุ่ม ต้านรัฐประหารมีทางเลือกน้อยมากในการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะสื่อสารมวลชนกระแสหลักทั้งโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ถูกควบคุมโดยคณะรัฐประหารหมด กิจกรรมต้านรัฐประหารและรณรงค์ไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญจึงไม่มีปรากฏสู่ สาธารณะเลย ประชาชนส่วนมากไม่รู้เลยว่า มีการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอยู่ กลุ่มต้านรัฐประหารจึงอยู่ในสภาพถูกล้อมปราบทางการเมือง ต้องใช้กิจกรรมรณรงค์ผ่านสื่อทางเลือกคือ ใบปลิว ซีดีและอินเตอร์เน็ต ซึ่งก็จำกัดมาก แล้วยังเข้าไปรณรงค์ในเขตกฎอัยการศึกไม่ได้อีกด้วย รวมทั้งอารมณ์ของประชาชนส่วนหนึ่งก็ต้องการให้มีการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด เพราะเพ้อฝันว่า แล้วทุกอย่างจะกลับมาดีเหมือนเดิมโดยเร็ว ฉะนั้นโอกาสที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 จะผ่านประชามติจึงมีสูงมาก

 

 

การรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 สำคัญต่อการเมืองไทยอย่างไร ?

ก่อน อื่นต้องเข้าใจว่า การลงประชามติครั้งนี้ไม่ใช่แค่รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่มีความหมายทางหลักการมากกว่านั้นคือ จะปฏิเสธรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และกระบวนการเผด็จการทั้งหมดหลังจากนั้นหรือไม่

 

ถ้าเราเห็นว่า รัฐประหาร 19 กันยายนเป็นสิ่งเลวร้ายและต้องปฏิเสธมันอย่างไม่มีเงื่อนไข ก็ต้องลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเป็นผลผลิตของรัฐประหารเท่านั้น ไม่มีทางอื่น

 

หาก ประชาชนข้างมากลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็เท่ากับว่า ประชาชนข้างมากไม่เอารัฐประหาร คณะรัฐประหารและทุกสิ่งที่เผด็จการผลิตขึ้นถึงวันนี้ล้วนไม่มีความชอบธรรม ถ้าประชาชนที่รักประชาธิปไตยทำได้ตรงนี้ ก็ถือว่า เป็นชัยชนะสำคัญขั้นหนึ่ง

 

แต่ดูจากสถานการณ์แล้ว มันตีบตันมาก หากร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านประชามติ ซึ่งมีโอกาสสูงมาก เพราะเล่ห์กลฝ่ายรัฐมีมากมาย ก็เท่ากับว่า ฝ่ายเผด็จการอำมาตยาธิปไตยชนะ และฝ่ายประชาธิปไตยพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์ไปแล้วขั้นหนึ่ง ทางนี้ก็คงต้องเตรียมตัวว่า จะสู้ในขั้นยุทธศาสตร์ต่อไปอย่างไร

 

 

แล้วคาดการณ์อนาคตสังคมการเมืองไทยหลังเลือกตั้งอย่างไร ?

ผมเชื่อว่า ถึงแม้ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 จะ ผ่านประชามติและฝ่ายรัฐประหารชนะในขั้นนี้ แต่ท้ายสุด ประชาชนจะผิดหวังจากความเชื่อที่ว่า ถ้าเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่แล้ว ทั้งการเมืองและเศรษฐกิจจะกลับมา "ดีเหมือนเดิม" เพราะนี่เป็นแค่ความเพ้อฝันลมๆ แล้งๆ

 

ผม เชื่อว่า แม้จะมีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่แล้ว การเมืองจะยังไร้เสถียรภาพ ในขณะที่เศรษฐกิจจะยังคงประสบปัญหาต่อไปอีกยาวนาน การเมืองจะมีเสถียรภาพได้อย่างไรในเมื่อมีรัฐบาลผสมหลายพรรค ขัดแย้งกันเองไม่หยุดหย่อน มีนายกรัฐมนตรีที่อ่อนแอ ไม่มีอำนาจแม้แต่จะต่อรองหรือควบคุมสมาชิกพรรคของตัวเอง แล้วยังถูกคุกคามจากสมาชิกวุฒิสภาสายแต่งตั้งและผอ.กอ.รมน.อยู่ตลอดเวลาอีก ด้วย การเมืองจะวุ่นวายไม่มีเสถียรภาพ จะเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีบ่อยครั้ง พอไม่มีทางออกก็ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ สภาผู้แทนชุดใหม่อยู่ไม่ครบวาระแน่นอน การบริหารประเทศจะไม่มีทิศทาง รัฐบาลใหม่จะอยู่ได้ไม่นาน แค่ปีสองปีก็ไปแล้ว

 

ยัง มีนักการเมืองใหญ่อดีตผู้บริหารพรรคไทยรักไทยกว่าร้อยคนที่ถูกตัดสิทธิ์ทาง การเมืองอย่างไม่เป็นธรรม คนพวกนี้จะไม่อยู่เฉย ๆ ปล่อยให้นักการเมืองค่ายอื่นเล่นการเมืองกันอย่างสะดวกโยธิน แต่จะเคลื่อนไหวทั้งในสภาและนอกสภาให้เกิดความปั่นป่วนเพราะเขาถือว่าถูก รังแกอย่างไร้ความยุติธรรม

 

รวม ทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และอดีตพรรคไทยรักไทยก็ยังคงได้รับความนิยมอย่างสูงจากประชาชนนับสิบล้านคน ทั่วประเทศ ประชาชนส่วนนี้ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองที่ร่วมมือกับเผด็จการอย่างแน่นอน ถ้ายังมีพรรคที่สืบทอดจากอดีตพรรคไทยรักไทย (เช่น พรรคพลังประชาชน) พวกเขาก็จะเลือกพรรคนี้เข้ามา ซึ่งจะกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านที่เข้มแข็งมากในขณะที่พรรครัฐบาลผสมจะอ่อนแอ แต่ถ้าไม่มีพรรคที่สืบทอดจากอดีตพรรคไทยรักไทย (เช่น พรรคพลังประชาชนถูกสกัดจนอยู่ไม่ได้) ประชาชนส่วนนี้ก็จะไม่มีทางเลือกในการเลือกตั้ง

 

ผลก็คือ พวกเขาจะปฏิเสธการเมืองในระบอบรัฐธรรมนูญ 2550 ใน ที่สุด ในขณะที่นักการเมืองพรรคไทยรักไทยที่ไม่ถูกตัดสิทธิ์แต่ถูกสกัดในการเลือก ตั้ง ก็จะยังคงเคลื่อนไหวนอกสภาต่อไป แล้วยังมี พ.ต.ท.ทักษิณ อีก ซึ่งคงจะไม่กลับประเทศไทยเนื่องจากกลัวความไม่ปลอดภัย แต่ถึงแม้อยู่ต่างประเทศ ก็จะยังมีอิทธิพลต่อเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศอย่างสำคัญผ่านอดีตกลุ่ม ไทยรักไทยและฐานเสียงความนิยมนับสิบล้านเสียง เป็นเงาทะมึนที่ค้ำศีรษะรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งไป เรื่อย ๆ นายกรัฐมนตรีคนใหม่จะถูกแรงกดดันอย่างมากเช่นเดียวกับรัฐบาลสุรยุทธ์เพราะ ประชาชนยังไม่ลืม พ.ต.ท.ทักษิณ และประชาชนจะรู้สึกตลอดเวลาว่า นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีของพวกเขา

 

นอก จากนี้ กลุ่มต้านรัฐประหารก็จะยังไม่หายไปไหน แต่จะยังมีการเคลื่อนไหวต่อไปอีก เพราะเป้าหมายของกลุ่มคือต่อต้านอำมาตยาธิปไตย ซึ่งระบอบรัฐธรรมนูญ 2550 ก็ คือระบอบอำมาตยาธิปไตยที่มีเปลือกหุ้มเป็นการเมืองแบบเลือกตั้งนั่นเอง เพียงแต่ว่า รูปแบบและวิธีการเคลื่อนไหวของกลุ่มต้านรัฐประหารจะพลิกแพลงเปลี่ยนไปตาม สถานการณ์และบรรยากาศทางการเมืองในขณะนั้น

 

สรุปคือ หลังเลือกตั้ง มีแต่ความวุ่นวายไร้เสถียรภาพทางการเมืองอย่างแน่นอน

 

ใน ด้านเศรษฐกิจ เฉพาะหน้านี้ ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตเงินบาทแข็งค่าเนื่องจากการเก็งกำไรของทุนต่าง ชาติระยะสั้น การที่ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในเวลาเพียงไม่กี่ สัปดาห์ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจโดยรวมไม่ดีนั้น ต้องถือว่าเป็นฟองสบู่ขนาดย่อย ๆ เพราะต่างชาติเอาเงินหลายพันล้านดอลลาร์มาแลกบาท เช่น ที่ 35 บาท ต่อหนึ่งดอลลาร์ แล้วเอาเงินบาทไปซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ปั่นราคาหุ้นให้สูงขึ้น ทีนี้ก็รอจังหวะเท่านั้น ถ้าทุนต่างชาติเห็นว่า เงินบาทจะไม่แข็งค่าขึ้นต่อไปอีกแล้ว หรือราคาหุ้นสูงมากแล้ว พวกเขาก็จะเทขายหุ้นออกมาเป็นเงินบาท แล้วเอาเงินบาทมาแลกดอลลาร์เพื่อไหลออก ซึ่งขาออกนี้ 35 บาท จะแลกกลับได้มากกว่าหนึ่งดอลลาร์เพราะระหว่างที่ถือหุ้นอยู่ เงินบาทได้แข็งค่าขึ้นต่อไป เท่ากับว่า ทุนต่างชาติทำกำไรสองต่อคือ กำไรราคาหุ้นและกำไรค่าเงินบาท

 

ฉะนั้น วิกฤตที่เกิดขึ้นจะเป็นทั้งวิกฤตตลาดหลักทรัพย์และวิกฤตค่าเงินบาทไปพร้อม กัน ตอนนี้เพียงแต่รอดูว่า จะมีปัจจัยเฉพาะหน้าอะไรบ้างที่จะ "จุดระเบิด" ให้เกิดวิกฤตเทขายหุ้นและเทขายเงินบาทกันอย่างขนานใหญ่เท่านั้น

 

เศรษฐกิจ หลังเลือกตั้งถึงจะรอดพ้นจากวิกฤตเงินบาทแข็งค่ามาได้ ก็จะยังประสบปัญหาต่อไป ในเมื่อการเมืองไร้เสถียรภาพ มีแต่ความวุ่นวาย รัฐบาลอ่อนแอ แตกแยก นายกรัฐมนตรีไร้อำนาจ การบริหารบ้านเมืองไม่มีทิศทางอย่างนี้ เศรษฐกิจจะดีไปได้อย่างไร และอย่าลืมว่าการลงทุนระหว่างประเทศในวันนี้แตกต่างจากการลงทุนระหว่าง ประเทศเมื่อสิบปีก่อนอย่างมาก ในสมัยนั้นนักลงทุนข้ามชาติไม่มีทางเลือกมากนัก ประเทศไทยเป็นหนึ่งในทางเลือกไม่กี่แห่งในเอเซียที่เหมาะกับการลงทุนจาก ต่างประเทศ แต่วันนี้แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง นักลงทุนข้ามชาติมีทางเลือกที่ดีกว่ามากมาย ทั้งจีน อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ยุโรปตะวันออก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวียดนามและกัมพูชากำลังมาแรงมาก มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงสุดในอาเซียน ยิ่งกว่านั้นรัฐบาลใหม่จะยังสืบทอดกฎหมายเศรษฐกิจที่รัฐบาลสุรยุทธ์ทำไว้ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ต่อต้านทุนต่างชาติ เช่น พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ร.บ.ค้าส่งค้าปลีก พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น ล้วนเป็นกฎหมายที่ทุนต่างชาติไม่พอใจทั้งสิ้น แม้แต่ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในก็สร้างความหวาดกลัวให้กับทุนต่างชาติ เพราะฝ่ายทหารจะอ้างเรื่องความมั่นคงมาข่มขู่คุกคามพวกเขาเมื่อไรก็ได้

 

ฉะนั้น ถึงแม้จะเลือกตั้งกันไปแล้ว ทุนต่างชาติที่ย้ายฐานออกไปจะไม่กลับมา ส่วนทุนต่างชาติใหม่ก็จะไม่เข้ามาแน่นอน ทุนต่างชาติที่มาจะเป็นทุนระยะสั้น เข้ามาเก็งกำไรชั่วครั้งชั่วคราวแล้วก็ไป ไม่มีการพัฒนาใหม่ๆ

 

ผม เชื่อว่า ในที่สุด ประเทศไทยจะเป็นเหมือนฟิลิปปินส์ คือการเมืองแตกแยก รัฐบาลอ่อนแอไร้เสถียรภาพ เศรษฐกิจล้าหลังชะงักงันยาวนาน ถ้าร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านประชามติ

 

 

ถ้าร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ผ่านประชามติ ขั้นต่อไปต้องทำอย่างไร? มันจะเกิดความวุ่นวายอย่างที่กล่าวอ้างกันหรือเปล่า ?

ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 มีโอกาสสูงที่จะผ่านประชามติตามที่กล่าวไปแล้ว แต่ถ้าไม่ผ่านประชามติจริง ก็ต้องถือว่า ฝ่าย ต้านรัฐประหารได้รับชัยชนะทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญและจะสามารถใช้ผลประชามติ ไปเป็นแรงกดดันต่อคณะรัฐประหารและรัฐบาลสุรยุทธ์ให้นำเอารัฐธรรมนูญ 2540 ทั้งฉบับรวมทั้งกฎหมายลูกทั้งหมดกลับมาใช้โดยไม่แก้ไขและให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วเพื่อกลับคืนสู่ครรลองประชาธิปไตย

 

แต่ ถ้าฝ่ายรัฐยังคงดึงดันที่จะสถาปนาระบอบอำมาตยาธิปไตยด้วยการประกา ศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและมีเนื้อหาสืบทอดอำนาจเช่นเดียว กับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ละ ก็ ความวุ่นวายจะเกิดแน่นอน ประชาชนจะไม่ยอมและอาจนำไปสู่ความรุนแรงถึงนองเลือดได้ เพราะประชาชนแสดงมติแล้วว่า ไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเท่ากับปฏิเสธรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แล้วฝ่ายรัฐยังดื้อดึงต่อไป ถึงวันนั้น ก็คอยดูกันว่า ใครจะเป็นทรราชย์ตัวจริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท