Skip to main content
sharethis

ชื่อบทความเดิม :


การครอบงำการเมืองไทยของฝ่ายอนุรักษ์นิยมผ่านวาทกรรม "คุณธรรมจริยธรรม"


จะแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นได้จริงหรือ ?


----------------------------                                         


วีระ สมความคิด


เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.)


31 กรกฎาคม 2550


 


 


                                               


การกำหนดรูปแบบการเมืองของไทยใหม่ภายหลังรัฐประหารในคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยกลุ่มพลังอนุรักษ์นิยม มีพื้นฐานมาจากความหวาดกลัวระบบการเมืองแบบเลือกตั้งและผู้นำการเมืองจากระบบเลือกตั้งที่สามารถแข่ง "บารมี" กับสถาบันสำคัญในสังคมไทยได้เป็นครั้งแรก ดังนั้น ภารกิจเร่งด่วนของการกำหนดรูปโฉมการเมืองไทยก็คือการกำจัด "เสี้ยนหนาม" ที่อาจสั่นคลอนเสถียรภาพของ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ไม่ให้บังเกิดขึ้นได้อีกต่อไป


 


ดังจะเห็นได้ว่า ภายหลังรัฐประหาร คณะรัฐประหารพยายามครอบงำการเมืองไทยโดยลดทอนความสำคัญของ "รัฐสภา" ซึ่งเป็นสถาบันที่สามารถผูกโยงที่มาทางอำนาจกับ "ปวงชน" ตามคติของระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่ (อย่างน้อยในทางทฤษฎี) โดยกระทำผ่านการโจมตีระบอบการเมืองดังกล่าวว่า เป็นของตะวันตก กล่าวหานักการเมืองว่าคอร์รัปชั่น ซื้อเสียง มีผลประโยชน์ทับซ้อน ขาดคุณธรรมจริยธรรม[1] และพยายามกำหนดและควบคุมทิศทางการเมืองไทย โดยอาศัยระบบราชการเป็นเครื่องมือ โดยออกแบบระบบการเมืองที่ผู้นำไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่านายกรัฐมนตรี วุฒิสภา องค์กรอิสระต่างๆ ที่มาจากการ "สรรหา" โดยกระทำผ่านการสร้างวาทกรรม "คุณธรรมจริยธรรม" หรือ "คนดี" โดยผ่านการการันตีจาก "ผู้มีบารมี" โดยไม่จำเป็นว่าประชาชนจะต้องตรวจสอบเพราะ "คนดี" เหล่านี้คู่ควรกับการปกครองบ้านเมืองแบบไทยๆ


 


จากปัญหาดังกล่าว บทความนี้จึงต้องการพิจารณาว่า "คุณธรรม" และ "คนดี" ที่ไม่สามารถตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ได้นั้น แท้จริงแล้วมีผลประโยชน์ "ทับซ้อน" เฉกเช่นเดียวกับนักการเมืองในระบบรัฐสภาหรือไม่ วิถีทางได้มาซึ่งอำนาจของบุคคลเหล่านี้เป็นอันตรายต่อสังคมไทยเพียงใด


 


ในประเด็นการครอบงำการเมืองไทยโดยระบบราชการภายหลัง 19 กันยานั้น มีผู้กล่าวถึงแล้วเป็นจำนวนมาก จึงไม่ขอกล่าวซ้ำในที่นี้ แต่จะขอรวบยอดคุณลักษณะเด่นๆ ของการหวนกลับของระบบราชการในครั้งนี้ ตามคำกล่าวของ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ ที่เรียกว่า "รัฐบาล เปรม 6" [2] เพราะบุคคลในคณะรัฐประหารและรัฐบาลสุรยุทธ์ ล้วนมีความเกี่ยวพันกับพลเอกเปรมในทางใดทางหนึ่ง[3] และหากพิจารณาจำเพาะลงไปอีกจะพบว่า ผู้ที่มีบทบาทควบคุมการเมืองไทยในปัจจุบันมีอยู่ 3 กลุ่ม ได้แก่ องคมนตรี ศาล ทหาร[4] และที่สำคัญสถาบันหรือกลุ่มการเมืองทั้งสามกลุ่ม ไม่สามารถหรือไม่พยายามยึดโยงตนเองกับปวงชนแต่อย่างใด ตรงกันข้ามสถาบันทั้งสามต่างอ้างอิงตนเองเข้ากับ "พระราชอำนาจ" อยู่เสมอ


 


กล่าวคือ องคมนตรีนั้นมาจากการแต่งตั้งของกษัตริย์ ศาลก็อ้างอยู่เสมอว่า กระทำการภายใต้พระปรมาภิไธย ส่วนทหารนั้นก็ประกาศตนผ่านพลเอกเปรม (ซึ่งมีอีกสถานะหนึ่งคือองคมนตรี) ว่าเป็น "ทหารพระราชา" และที่พิเศษยิ่งกว่านั้น รัฐประหารครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่องคมนตรีและศาลเข้าแทรกแซงทางการเมืองอย่างเปิดเผย[5] และภายหลัง บทบาทของศาลยิ่งสูงเด่นขึ้นในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งกรรมการสรรหาองค์กรอิสระทุกองค์กร ซึ่งฝ่ายตุลาการมีเสียงถึงสามในห้าของกรรมการสรรหา และยังเป็นคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ที่สำคัญคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภานั้นประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษาในศาลฎีกาฯ จำนวน 1 คน และตุลาการในศาลปกครองสูงสุดฯ จำนวน 1 คน ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ประธานองค์กรอิสระล้วนมาจากการ "สรรหา" ของฝ่ายตุลาการทั้งสิ้น[6] จากเนื้อหาสำคัญๆ ของร่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เห็นได้ชัดว่า การเมืองอยู่ภายใต้การครอบงำของศาลอย่างไม่มีทางปฏิเสธได้


 


อาจมีผู้แย้งว่า ศาลเป็นองค์กรที่เป็นกลาง ปราศจากซึ่งผลประโยชน์ ฯลฯ (ตรงตามสโลแกน "คุณธรรมจริยธรรม") แต่ทั้งนี้ การที่สังคมไทยมีความเชื่อเช่นนั้น เนื่องมาจากสังคมไม่สามารถตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ศาลได้ ที่สำคัญที่สุด ศาลเป็นองค์กรเดียวที่ใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนแต่ไม่ถูกตรวจสอบจากองค์กรอื่น[7] (ซึ่งเป็นคนละกรณีกับการตรวจสอบผู้พิพากษาเป็นรายบุคคลโดย ป.ป.ช. และวุฒิสภา)


 


ดังนั้น กระบวนการพิจารณาคดีและการวินิจฉัยของศาลไม่ว่ากรณีใด จึงไม่อาจถูกตรวจสอบหรือคัดค้านได้ เพราะมีกฎหมาย "หมิ่นศาล" เป็นเกราะที่สำคัญ ทั้งที่ความจริงแล้ว ศาลเองก็ไม่ได้แตกต่างไปจากองค์กรอื่น ในเรื่องนี้ผู้เขียนขอยกเอาคำกล่าวของ ไพสิฐ พาณิชย์กุล มาเพื่อให้เห็นภาพภายในแวดวงตุลาการดังนี้


 


"จริงๆ แล้ว ภาพของศาลเองก็ไม่ได้ต่างไปจากรัฐสภา มีกรณีผู้พิพากษาแย่งกันไปดูงานเมืองนอกก็มี มีการที่อำนาจทุนแบบ Rent Seeker ชนะคดีฟ้องร้องเพราะตนมีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายว่าความ มีล็อบบี้ก็มี เพียงแต่ศาลมีอำนาจตัดสินให้คนติดคุก เราก็เลยไม่ไปข้องแวะ ไม่ไปแฉ" [8]


 


โดยพื้นฐานดังกล่าว ทำให้การเข้าแทรกแซงทางการเมืองของศาลจึงไม่มีความชอบธรรม เพราะเป็นผู้ใช้อำนาจทั้งสามฝ่ายแทนปวงชน แต่ไม่ยอมให้ปวงชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตรวจสอบ การก้าวเข้ามาในปริมณฑลทางการเมืองย่อมอยู่ในสถานะของ "นักการเมือง" ที่สังคมสามารถตรวจสอบวิจารณ์ได้ แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันกลับเป็นว่าฝ่ายตุลาการเองได้ออกมาข่มขู่ผู้ที่กังขาและคิดจะตรวจสอบโดยการอ้างพระราชดำรัส [9]


 


ในส่วนขององคมนตรีนั้น เมื่อมีผู้วิพากษ์วิจารณ์ ก็จะมีบรรดา "ลูกหาบ" ออกมาปกป้องและห้ามปรามว่าเป็นการกระทำที่มิบังควร หมิ่นเหม่ต่อการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท และเลยเถิดไปถึงว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งที่องคมนตรีไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่อย่างใด บางคนถึงกับกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอยว่า ไม่ควรวิจารณ์พลเอกเปรมเพราะเป็นตัวแทนของ "คุณธรรม"[10] โดยไม่อธิบายบริบทใดๆ รองรับ และตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า องคมนตรีทั้งหลายต่างพากันเป็นกรรมการในองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนคนละหลายๆ แห่ง น่าคิดว่า "ผลประโยชน์" ที่คนเหล่านี้ได้รับจะมหาศาลขนาดไหน


 


ส่วนกองทัพนั้นเล่า ยิ่งไม่ต้องพูดถึง งบประมาณที่เป็นค่าใช้จ่ายในการรัฐประหาร รวมถึงงบลับและงบประมาณของกองทัพ รวมถึงเงินเดือนของ คมช. ก็ไม่เป็นที่เปิดเผยต่อสาธารณชน ยังไม่ต้องพูดถึงการที่บรรดานายทหาร "ตบเท้า" เข้าไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจทั้งก่อนและหลังการรัฐประหารแต่ห้ามไม่ให้สังคมตั้งคำถามในเรื่องดังกล่าว (และเป็นที่คาดหมายกันว่าทหารจะเข้าไปครอบงำวุฒิสภาเฉกเช่นในอดีต ถึงแม้จะต้องแบ่งสัดส่วนกับตุลาการก็ตาม) หนำซ้ำองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาสางทุจริตอย่าง คตส.ก็ปฏิเสธที่จะเข้าไปตรวจสอบ ทั้งที่บุคคลเหล่านี้อวดอ้างว่าตนเองรังเกียจการทุจริตคอร์รัปชั่นและยึดมั่น "คุณธรรมจริยธรรม" เป็นสรณะ


 


เมื่อตระหนักถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว รวมถึงเข้าใจว่าการเมืองเป็นเรื่องของการต่อสู้แย่งชิงผลประโยชน์และทรัพยากรของคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม เราก็จะเข้าใจสถานะของสถาบันการเมืองทั้งสามว่าแท้จริงแล้วก็เป็นกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มหนึ่ง ซึ่งย่อมตอบสนองผลประโยชน์ให้แก่สถาบันการเมืองของตนเองและผู้ที่ผลักดันให้ตนเองเข้ากุมอำนาจรัฐเช่นกัน


 


และเมื่อตระหนักว่าสถาบันทั้งสามอ้างอิงหรือยึดโยงตนเองเข้ากับ "พระราชอำนาจ" นั่นหมายความว่าระบบราชการและกองทัพเป็นฐานอำนาจของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ดังนั้นสามารถกล่าวได้ว่า นี่เป็นการเข้าควบคุมสถาบันการเมืองในระบบประชาธิปไตยรัฐสภาโดย "พระราชอำนาจ" อย่างเปิดเผย หรือกล่าวอีกอย่างได้ว่า นี่อาจจะเป็นชัยชนะของ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" เหนือประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของราษฎร ตามหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยและเจตนารมณ์ของคณะราษฎร


 


และเมื่อพระราชอำนาจเป็นสิ่งที่ตรวจสอบไม่ได้ในสังคมไทย ดังนั้น องค์กรที่มีฐานมาจากพระราชอำนาจย่อมอาศัยเรื่องดังกล่าวบวกกับ "คุณธรรม จริยธรรม" เพื่อที่จะอยู่เหนือการตรวจสอบ นั้น นับว่าอันตรายยิ่งกว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าในทางทฤษฎีหรือปฏิบัติ เพราะนอกจากขัดกับหลักที่ว่า "อำนาจสูงสุดเป็นของปวงชน" แล้วยังขัดกับหลักการพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาลในเรื่องการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐโดยปวงชน


 


นับจากนี้สิ่งที่น่าจับตาก็คือ การเมืองใหม่ภายใต้ "ความโปร่งใส มีคุณธรรม และจริยธรรม" จะสามารถชำระความสกปรกโสมมของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และจะสามารถแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทยได้จริงหรือไม่? ซึ่งท้ายที่สุดกาลเวลาจะเป็นผู้กระชากหน้ากาก "นักประชาธิปไตยจอมปลอม" ออกมาให้สังคมได้รับรู้ เพราะที่ผ่านมา ไม่ว่ากรณีครอบครองที่ดินเขายายเที่ยงของนายกฯ สุรยุทธ จุลานนท์ อย่างผิดกฎหมาย กรณีการเข้าไปอุ้มพนักงานของ ไอทีวี โดยไม่มีกฎหมายรองรองรับและเป็นการเลือกปฏิบัติ กรณีการสมรสซ้อนของพลเอกสนธิ บุญยรัตนกลิน กรณีพล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ขัดแย้งอย่างรุนแรงกับ ดร.วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ ในการนำเงิน 800 ล้านของ ทีโอที ไปใช้จัดซื้อเครื่องมือดักฟังเพื่อความมั่นคงอย่างมีเงื่อนงำ และกรณีข่าวอื้อฉาวการพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 20 ล้านเล่มเพื่อแจกจ่ายกับประชาชนเพื่อศึกษาและใช้ประกอบเป็นข้อมูลในการออกเสียงประชามติ ที่มีข่าวว่ามีการกินหัวคิวจากส่วนต่างที่โรงพิมพ์ของรัฐนำไปจ้างให้เอกชนพิมพ์ต่อทั้งที่เป็นการกระทำที่ผิดสัญญาอย่างชัดเจน


 


แต่ปรากฎว่า กรณีทั้งหมดนี้กลับไม่มีการตรวจสอบกันอย่างจริงจัง ตรงไปตรงมา ของฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล คมช. สนช. และสสร. เหมือนกับที่กระทำกับทักษิณและครอบครัว เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้ผู้รักความเป็นธรรมทั้งหลายรู้สึกว่ากลุ่มพลังอนุรักษ์นิยมทั้งหลายกำลังให้ฝ่าย "คุณน่ะทำ" แต่ "พวกผมไม่ต้องทำ ไม่ต้องมาตรวจสอบผม" คงอีกไม่นานเกินรอหรอกครับที่เราท่านทั้งหลายจะได้เห็น "ธาตุแท้ของกลุ่มพลังอนุรักษ์นิยม" กันในไม่ช้านี้






[1]           ไม่มีใครปฏิเสธว่าข้อกล่าวหาต่างๆ เหล่านี้ไม่เป็นความจริง แต่ทว่าการที่สังคมสามารถ "ชำแหละ" หรือ "ประณาม" นักการเมืองเหล่านี้ได้อย่างครึกโครมและสนุกปาก ก็เพราะคนเหล่านี้มาจากการเลือกตั้งมิใช่หรือ? ในทางกลับกันบุคคลที่อวดอ้างว่าตนเองจะเข้ามาชำระความโสมมที่เกิดขึ้น กลับไม่ยอมทนต่อการวิจารณ์หรือการตรวจสอบ ยกตัวอย่างเพียงประการเดียวตามข้อสังเกตของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่ปรากฏในกระดานข่าวแห่งหนึ่งว่า "จนบัดนี้มีใครรู้บ้างว่าเปรมมีทรัพย์สินเท่าไหร่?"




[3]           ดูรายละเอียดของความสัมพันธ์ดังกล่าวได้ใน สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี. "วิเคราะห์ระบอบสนธิ" ใน ธนาพล อิ๋วสกุล (บรรณาธิการ). รัฐประหาร 19 กันยา.กรุงเทพ: ฟ้าเดียวกัน,2550. หน้า 278 - 281.




[5]           สำหรับสถาบันตุลาการนั้น เข้าแทรกแซงอย่างเปิดเผยและต่อเนื่องภายหลัง 25 เมษายน พิจารณาในแง่นี้ 25 เมษายน จึงเปรียบเสมือน "ไฟเขียว" ของสถาบันตุลาการ



[6]         บทความชำนาญ จันทร์เรือง : ตุลาการมิใช่ผู้วิเศษ. http://sameskybooks.org/webboard/show.php?Category=sameskybooks&No=7289มชำนาญ จัรืง : ตุลาการมิใช่ผู้วิเศษ



[7]           ชำนาญ จันทร์เรือง. ปัญหาการเมืองหรือปัญหากฎหมาย. http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=3586&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai



[8]           บทสนทนาจากม. เที่ยงคืน: การต่อสู้ที่ไม่สร้างเครือข่าย รักในหลวง ห่วงทักษิณvs รักในหลวง เกลียดทักษิณ


http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=4320&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai



[9]           "วิชา" ยกดำรัสพระมหากษัตริย์ไว้ใจศาล ท่านจะประณามหรือ. http://www.midnightuniv.org/forum/index.php?PHPSESSID=7efabaf7c884a8971dd5561ffa9265fb&topic=1728.0



[10]          คำแถลงของ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก คมช.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net