การเคาะประตูที่ตัดสินอนาคต : พ.ร.บ. ความมั่นคงฯกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

โดย : ไมเคิล แชง (Michael Cheng)

Think Center

แปลและเรียบเรียงโดย : ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ

สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย (ฟอรั่ม-เอเชีย)

 

 

 

"การเคาะประตูที่ตัดสินใจอนาคตเกิดขึ้นกลางดึก นำผมไปสู่ชีวิตที่ไม่มีแสงอาทิตย์ พวกเขานำตัวผมไปจากครอบครัว โยนสิทธิและศักดิศรีของผมทิ้งไป"

 

กฎหมายเผด็จการเฉกเช่น พ.ร.บ. ความมั่นคงภายใน ได้ถูกใช้โดยรัฐบาลหลายประเทศเพื่อคุกคามการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างสันติ พ.ร.บ. เช่นนี้ได้รับอิทธิพลมาจากช่วงที่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ภายใต้อาณานิคมของสหราชอาณาจักร ปัจจุบันในภูมิภาคนี้ กฎหมายนี้ได้ถูกใช้ในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และบรูไน

 

เรจีโนล ฮุจ ฮิคลิง (Reginald Hugh Hickling) ทนายอังกฤษที่เป็นผู้ร่าง พ.ร.บ. ความมั่นคงในประเทศเหล่านี้ได้เขียนใน ค.ศ. 1989 ว่า "ผมไม่สามารถจิตนาการได้ในเวลานั้นว่า อำนาจในการคุมขังนี้...จะถูกใช้ต่อกลุ่มฝ่ายค้านทางการเมือง แรงงานที่เรียกร้องสวัสดิการ และประชาชนทั่วไปที่ดำเนินกิจกรรมเรียกร้องสิทธิอย่างสันติ"

 

แม้ว่าเราจะได้รับเสียงการวิพากษ์วิจารณ์ พ.ร.บ.นี้ ซึ่งรวมถึงหลักฐานมากมายที่โยง พ.ร.บ.นี้เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพทางการเมือง มันเป็นสิ่งที่น่ากังวลมากเมื่อเราได้ยินว่า ได้มีผลักดันให้มีกฎหมายลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยหรือฟิลิปปินส์

 

พ.ร.บ. ความมั่นคงภายใน เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐบาลในการควบคุมตัวบุคคลใดๆ ก็ได้เป็นระยะเวลาที่ไม่มีที่สิ้นสุด โดยการใช้คำอธิบายจากรัฐบาลว่า บุคคลนั้นๆ เป็นภัยกับความมั่นคงของประเทศ

 

ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์กฎหมายเช่นนี้อธิบายว่า กฎหมายนี้เป็นเสมือนใบผ่านทางที่รัฐบาลสามารถจับกุมใครก็ได้ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการยุติธรรมใดๆ เลย

 

"กฎหมายความมั่นคงในมาเลเซียได้ถูกคงไว้ตลอดเวลาอย่างต่อเนื่องเพราะมันเป็นเครืองมือที่สามารถใช้ได้อย่างง่ายดายโดยรัฐ นอกจากนี้ยังเป็นเครืองมือในการสร้างความกลัวโดยรัฐ และใช้อย่างต่อเนื่องกับนักกิจกรรมที่ต่อสู้เพื่อปกป้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของประชาชนมาเลเซีย" ดร. คัว เคีย ซูง (Kua Kia Soong) กล่าวถึง พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ในปี ค.ศ. 2005 ดร. ดัวเป็นนักสังคมศาสตร์และคณะกรรมการบริหารขององค์กรเสียงของประชาชนมาเลเซีย (SUARAM) องค์กรสิทธิมนุษยชนแนวหน้าของประเทศมาเลเซีย

 

เริ่มแรกกฎหมายเช่นนี้ถูกร่างและนำใช้เป็นอาวุธที่มีอำนาจเพื่อต่อต้านขบวนการคอมมิวนิสต์ในช่วงที่สหราชอาณาจักรปกครองประเทศเหล่านี้ แต่ต่อมารัฐบาลได้นำมาใช้เป็นอาวุธต่อต้านการเรียกร้องสิทธิทางการเมืองและสิทธิเสรีภาพการแสดงออก

 

ในปฎิบัติการลาแลง (Operation Lalang) ในปี ค.ศ. 1987 ประชาชนมาเลเซียมากกว่า 106 คนถูกควบคุมตัวภายใต้ พ.ร.บ. ความมั่นคงภายใน รัฐบาลอ้างว่าประชาชนที่ถูกคุมขังมีส่วนเกี่ยวข้องในกิจกรรมที่ "เป็นอันตรายกับความมั่นคงของมาเลเซีย" บุคคลที่ถูกคุมขังประกอบไปด้วย ลิม คิท เซีย (Lim Kit Siang) ผู้นำของฝ่ายค้าน ดร. ชานดร้า มูซาฟาร์ (Chandra Muzzafar) นักกิจกรรมทางด้านสิทธิมนุษยชน (ซึ่งบุคคลทั้งสองนี้ถูกคุมขังเป็นเวลาสองปี) นอกจากนี้ยังรวมถึงอาจารย์มหาวิทยาลัย นักสิ่งแวดล้อม นักธุรกิจ และสมาชิกของพรรคอัมโน (United Malays National Organisation) คนทั้งหมดต่างได้มีบทบาทวิพากษ์รัฐบาล

 

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2001 ก่อนการเตรียมการชุมนุมเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ครบรอบสองปีของการคุมขังนายอันวาร์ อิบบราฮิม (Anwar Ibrahim) นักโทษทางความคิด ตำรวจของมาเลเซียได้จับกุมตัวนักกิจกรรมทางการเมืองเก้าคนและนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนอีกหนึ่งคนโดยอ้างถึง พ.ร.บ. ความมั่นคงภายใน

 

เชีย ทาย โปห์ (Chia Thye Poh) อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคสังคมนิยมบารีสาน (Barisan Sosialis Party) ในสิงคโปร์ได้ถูกคุมขังโดยไม่ได้ขึ้นศาลตั้งแต่ปี 1966 และถูกคุมขังเป็นระยะเวลามากกว่า 23 ปีภายใต้กฎหมายความมั่นคงภายใน ทำให้เขาเป็นนักโทษทางความคิดที่ถูกจองจำนานที่สุดในประวัติศาสตร์รองจากเนลสัน เมนเดลลา นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและอดีตประธานาธิบดีของแอฟริกาใต้

 

ในปี 1962 (ก่อนการประกาศอิสรภาพของสิงคโปร์) ตนกู อับดูล รามัน (Tungkul Abdul Rahman) นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียในขณะนั้นได้กล่าวว่า นายลีกวนยู (Lee Kuan Yew) นายกรัฐมนตรีของสิงคโปร์ "ได้ใช้โอกาสในสถานการณ์การเมืองที่เร่งรีบในการคุมขังคู่ต่อสู้ทางการเมืองโดยใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ เพียงแค่พวกเขามีความคิดที่แตกต่าง"

 

ในปี ค.ศ. 1987 ชาวสิงคโปร์จำนวน 22 คนถูกกักขังภายใต้ข้อหาที่เกี่ยวข้องกับแผนการของก่อการร้ายโดยกลุ่มมาร์กซิสต์ ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่ถูกจับเป็นบุคคลที่ล้วนไม่มีความเป็นไปได้ว่าจะมีบทบาทที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเช่นนี้ รัฐบาลสิงคโปร์อ้างว่า ผู้ต้องสงสัยพยายามที่จะล้มล้างรัฐบาลโดยกระบวนการที่ผิดกฎหมาย นักวิจารณ์ได้ให้ข้อสังเกตว่า เป็นการปราบปรามทางการเมืองโดยเฉพาะเนื่องจากที่บุคคลเหล่านั้นเป็นอาสาสมัครหรือมีบทบาทเกี่ยวข้องกับพรรคแรงงานซึ่งเป็นพรรคการเมืองทางเลือกในประเทศ

 

ในปัจจุบัน ภายใต้สถานการณ์การเมืองโลกหลังเหตุการณ์ 11 กันยายน รัฐบาลต่างๆ พยายามสร้างความชอบธรรมโดยใช้กฎหมายความมั่นคงภายในเพื่ออ้างปฎิบัติการต่อต้านการก่อการร้าย ในสิงคโปร์มีผู้ต้องหาเกี่ยวข้องกับคดีก่อการร้ายมากกว่า 40 คนที่กำลังถูกกักขังในประเทศ ประชาชนมากกว่า 100 คนถูกคุมขังด้วยข้อหาคล้ายกันตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมาในมาเลเซีย ในจำนวนนี้ไม่มีผู้ต้องหาคนไหนเลยที่ถูกนำตัวขึ้นศาล ผ่านกระบวนยุติธรรม หรือมีสิทธิในการเข้าถึงทนาย

 

ผลกระทบกับ พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ ในสิงคโปร์เต็มไปด้วยประสบการณ์ที่น่าเศร้ามาก การละเมิดสิทธิเสรีภาพการแสดงออก เป็นผลผลิตอย่างหนึ่งที่ปฎิเสธไม่ได้ ในทุกกิจกรรมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในสิงคโปร์ (ที่มีน้อยมากในปัจจุบัน เนื่องจากการคุมคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ) มันไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นเจ้าหน้าที่จากกรมความมั่นคงภายใน (Internal Security Department) ปรากฎตัวอยู่ด้วยในการรณรงค์เหล่านั้น

 

วลีเช่น "พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ" หรือ "กรมความมั่นคงฯ" เมื่อเอ่ยขึ้นในการกระซิบและพูดคุยบนเกาะสิงคโปร์ยังคงสร้างความสนใจที่ปะปนความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นกับผู้ร่วมสนทนาอย่างต่อเนื่อง บรรยากาศแห่งความกลัวสืบเนื่องจากการใช้กฎหมายนี้ในอดีตได้ขัดขวางและผลักไสประชาชนออกจากการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองในปัจจุบัน

 

เบรมา มาธี (Braema Mathi) อดีตประธานของ Transient Workers Count Too (TWC2) ซึ่งเป็นองค์กรแรงงานในสิงคโปร์ได้พูดสั้นๆ ว่า "สิ่งที่ฝังแน่นลงไป คืออำนาจของรัฐและเครื่องมือที่รัฐสามารถใช้ได้ สิ่งที่เราได้กลับมาคือความกลัว และระยะเวลาที่ต้องใช้ในการกำจัดความกลัวนี้ทิ้งไป"

 

ซินาปัน แซมมี่โดรัย (Sinapan Samydorai) ประธานของ Think Center องค์กรสิทธิมนุษยชนในสิงคโปร์กล่าวว่า "ถ้าเป้าหมายของรัฐบาลคือเพื่อทำลายโครงสร้างในการปลุกประชาชนที่สามารถมีบทบาทตื่นตัวทางการเมืองให้ลุกขึ้นมา ผมคิดว่าพวกเขา [รัฐบาล] ไม่มากก็น้อย ได้ประสบความสำเร็จในเป้าหมายนี้แล้ว"

 

พ.ร.บ. ความมั่นคงภายใน เป็นตัวอย่างของกฎหมายที่ปราศจากความยุติธรรม และเป็นกฎหมายที่ทำลายพื้นที่ของประชาธิปไตย ภายใต้ พ.ร.บ. นี้ หลักสมมุติฐานซึ่งเป็นหลักพื้นฐานกฎหมายที่ว่าบุคคลๆ หนึ่งจะมีความบริสุทธิ์จนกว่าศาลจะตัดสินว่ามีความผิด จะถูกโยนทิ้งออกนอกหน้าต่าง รัฐบาลไม่จำเป็นต้องมีข้อกล่าวหาใด ๆ ทั้งสิ้นต่อผู้ต้องสงสัยในศาล ดังนั้นผู้ต้องสงสัยจะสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างไร

 

ภายใต้กฎหมายลักษณะเช่นนี้ ผู้ต้องสงสัยจะถูกปฎิเสธสิทธิที่จะเข้าถึงทนาย ครอบครัว และการรักษาพยาบาลที่เป็นอิสระ นอกจากนี้ยังสามาถเป็นเหยื่อกับการทำทารุณกรรมและกระบวนการไต่สวนที่ไร้ซึ่งหลักมนุษยธรรม มีหลายกรณีที่ผู้ต้องสงสัยที่ถูกกล่าวหาภายใต้ พ.ร.บ. ความมั่นคงภายในถูกทรมานทั้งทางจิตใจและทางร่างกาย

 

สิ่งที่น่าตกใจ คือคนจำนวนมากไม่ได้ตระหนักหรือเลือกที่จะไม่ใส่ใจว่า พ.ร.บ. ความมั่นคงภายในเป็นกฎหมายที่ขัดกับหลักรัฐธรรมนูญ ในฐานะที่ประเทศๆ หนึ่งเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ ประเทศนั้นๆ มีหน้าที่ในการเคารพและยินยอมทำตามกติกาและอนุสัญญาต่างๆ ของสหประชาชาติ ประเทศไทยและฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นสองประเทศที่พยายามผ่านกฎหมายความมั่นคงภายในนอกเหนือจากเป็นสมาชิกของสหประชาติ และยังได้ลงสัตยาบันกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR)

 

การกระทำของรัฐบาลเหล่านี้กำลังเป็นปฎิปักษ์อย่างชัดเจนกับผลผลิตของพฤติกรรมที่ได้รับการยอมรับในเวทีสากล รัฐบาลเหล่านี้ นอกเหนือจากปฎิเสธความรับผิดชอบกับกฎหมายระหว่างประเทศที่รัฐเหล่านั้นเป็นภาคียังได้ทำร้ายสถานภาพของตัวเองในเวทีประชาชาติอีกด้วย

 

ปัจจุบันนี้เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลต่างๆ กำลังคุกคามและละเมิดสิทธิมนุษยชนและริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยการผ่านกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายและ พ.ร.บ. ความมั่นคงภายใน เราต้องคอยตระหนัก จับตาดู และระมัดระวังกับปฎิกิริยาของรัฐบาล

 

ในสถานการณ์ที่ "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" กำลังเกิดขึ้น มันเป็นเรื่องที่ง่ายผ่านวาทกรรมและการข่มขู่ของรัฐบาลที่จะทำให้เรายอมรับว่าปรากฎการณ์นี้กำลังเกิดขึ้นจริง แต่เราต้องไม่ยอมที่จะสละพื้นที่แม้แต่นิ้วเดียวในการปล่อยให้รัฐบาลกระทำการในการคุกคามสิทธิมนุษยชนของเรา

 

ปัจจุบันได้มีขบวนการรณรงค์ต่อต้าน พ.ร.บ. ความมั่นคงภายในเกิดขึ้นในหลายประเทศ..

 

ถ้าคุณไม่กล้าพูดต่อต้าน พ.ร.บ. ความมั่นคงฯ คุณกำลังให้อำนาจทุกอย่างกับรัฐบาล

 

คุณกำลังให้อำนาจรัฐบาลในการมาเคาะประตูบ้านคุณและนำตัวคุณไป

 

คุณกำลังยอมสูญเสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไป

 

และ...คุณกำลังยอมสูญเสียสิทธิของคุณไป

 

.....................................................................................

 

ไมเคิล แชง (Michael Cheng) เป็นรองเลขาธิการของ Think Centre องค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศสิงคโปร์ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการวิพากษ์วิจารณ์ และศึกษาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการทางการเมือง ประชาธิปไตย นิติธรรม สิทธิมนุษยชน และภาคประชาสังคม

 

กิจกรรมของ Think Center คือ งานวิจัย เผยแพร่เอกสาร จัดกิจกรรมการรณรงค์ และสร้างเครือข่าย Think Center ปัจจุบันเป็นองค์กรสมาชิกของสภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย (ฟอรั่ม-เอเชีย)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท