Skip to main content
sharethis

คำประกาศ


ว่าด้วยการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ


ฉบับออกเสียงประชามติ


 


เพื่อยืนยันว่าการทำลายอำนาจการตัดสินใจของประชาชนด้วยการรัฐประหาร


จะต้องไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไป


 


เพื่อแสดงให้เห็นว่าประชาชนทั้งหลายไม่ว่าจะมีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างไร


มีความสามารถเพียงพอในการกำหนดวิถีชีวิตของตนด้วยตนเองได้


 


เพื่อป้องกันมิให้ระบบกฎหมายของรัฐถูกทำลายจนเสียหลักแห่งความยุติธรรมไปมากกว่าที่เป็นอยู่


 


และเพื่อมิให้ร่างรัฐธรรมนูญที่ลดทอนอำนาจในสาระสำคัญของประชาชน


แต่เพิ่มอำนาจเหล่านั้นให้กับกลุ่มอำมาตยาธิปไตยบางกลุ่มนั้นมีผลใช้บังคับ


 


เรา คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังมีรายนามตอนท้าย


โดยอาศัยสถานะพลเมืองไทยและผู้ประกอบวิชาชีพด้านนิติศาสตร์


 ขอประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ....


 


เรามิเห็นพ้องด้วยว่าควรออกเสียงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพื่อให้มีรัฐธรรมนูญใช้บังคับไปพลางก่อนแล้วค่อยดำเนินการแก้ไขภายหลังการเลือกตั้ง เราเห็นว่าหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว กลไกตามรัฐธรรมนูญทั้งหลายย่อมดำเนินไปทันที องค์กรที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ย่อมถูกสถาปนาขึ้นและมีอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอนุวัติการตามรัฐธรรมนูญจะถูกตราขึ้นเพื่อใช้บังคับต่อไปตามลำดับ เมื่อเป็นเช่นนี้ นอกจากการแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญในภายหลังจะทำได้ยากหรืออาจทำไม่ได้แล้ว ความเสียหายทั้งปวงอันจะเกิดขึ้นจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็สายเกินไปต่อการเยียวยา


 


เรายืนยันว่าการออกเสียงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ส่งผลให้ไม่มีการเลือกตั้งหรือเหนี่ยวรั้งให้การเลือกตั้งล่าช้า ออกไป การเลือกตั้งย่อมสามารถเกิดขึ้นได้ทันที หากคณะรัฐประหารปรารถนาจะให้มี ด้วยการประกาศให้มีการเลือกตั้งทั่วไปตามกติกาเดิมที่มีมาก่อนรัฐประหาร ๑๙ กันยายน โดยอาศัยกลไกและวิธีการในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๑ โดยมิจำเป็นต้องรอให้มีการยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งขึ้นใหม่


 


เราตระหนักดีว่า การประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญโดยการไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นการนำตนเข้าไปอยู่ในกระบวนการที่คณะรัฐประหารกับพวกสร้างขึ้น แต่นี่หาใช่เป็นการยอมรับการรัฐประหาร อำนาจของคณะรัฐประหาร และผลผลิตของคณะรัฐประหารอย่างใดไม่ ตรงกันข้าม ในสถานการณ์ปัจจุบันที่คณะรัฐประหารและพวกมีและใช้อำนาจไปในทางลิดรอนสิทธิและเสรีภาพประชาชน ประกอบกับในสถานการณ์ปัจจุบันที่คณะรัฐประหารและพวกบีบหนทางการตัดสินใจของประชาชนในการกำหนดชะตากรรมของบ้านเมืองให้เหลือเพียงประการเดียว คือ การออกเสียงประชามติ เมื่อการออกเสียงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิทางการเมืองเพียงประการเดียวที่ยังเหลืออยู่ในขณะนี้ การใช้สิทธิดังกล่าวนี้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จึงเป็นหนทางอย่างสันติวิธีการเดียวที่เราจะสามารถใช้มโนธรรมสำนึกและเหตุผลในการต่อสู้กับคณะรัฐประหาร แม้กระบวนการออกเสียงประชามติดังกล่าวนี้ ตั้งแต่เริ่มต้นจนสุดท้าย แทบจะหาความยุติธรรมทั้งกับเราและประชาชนทั่วไปมิได้เลยก็ตาม


 


รองศาสตราจารย์ ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์


รองศาสตราจารย์ ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. จันทจิรา เอี่ยมมยุรา


อาจารย์ ดร. ฐาปนันท์ นิพิฎฐกุล


อาจารย์ ปิยบุตร แสงกนกกุล


อาจารย์ ธีระ สุธีวรางกูร


 


คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


๒๒ กรกฎาคม ๒๕๕๐


 


ข่าวประชาไทย้อนหลัง


6 คณาจารย์นิติ มธ. ออกแถลงการณ์ปฏิเสธร่างฯ 50 ด้วยเหตุ 26 ประการพร้อม 4 ข้อเสนอหากมหาชนไม่รับร่างฯ, ประชาไท, 22 ก.ค. 2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net