Skip to main content
sharethis


ไอดา อรุณวงษ์


แปลจาก บทบรรณาธิการ "article 2"


 






article 2 คือวารสารของ "ศูนย์ข้อมูลทางกฎหมายแห่งเอเชีย" (Asian Legal Resource Centre -- ALRC) องค์กรซึ่งมีสถานภาพเป็นที่ปรึกษาทั่วไปในสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ หน่วยงานตั้งอยู่ในประเทศฮ่องกง มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและสนับสนุนกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ในด้านกฎหมายและสิทธิมนุษยชน ในระดับท้องที่และระดับประเทศตลอดทั่วทั้งภูมิภาคเอเชีย

 


 


 


สิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และระบอบรัฐธรรมนูญของประเทศไทย มีอันต้องถอยหลังกลับไปหลายปีหลังจากที่ทหารกลับมามีอำนาจอีกครั้งเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังการยึดอำนาจ คณะรัฐประหารซึ่งนำโดย พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ได้มีคำสั่งยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 มีการยุบศาลรัฐธรรมนูญ และได้ออกมาตรการต่างๆ มาเป็นชุดเพื่อให้กองทัพสามารถเดินตามแผนที่วางไว้ต่อไปได้อีกหลายเดือนโดยอาศัยฉากหน้าสารพัดรูปแบบ อาทิ การเขียนรัฐธรรมนูญจอมปลอมฉบับใหม่ และการใช้ศาลและอัยการมาจัดการกับอดีตนายกรัฐมนตรี ตลอดจนฐานอำนาจการเมืองและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง


 


ความสำคัญประการหนึ่งของรัฐธรรมนูญ 2540 ก็คือเป็นฉบับที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญต่อกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของไทย ทั้งนี้ นอกเหนือจากบทบัญญัติในหมวดสิทธิและเสรีภาพแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังให้หลักประกันสิทธิอีกหลายประการในขั้นของกระบวนการพิจารณาความ ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดอำนาจของตำรวจในการควบคุมตัวโดยไม่มีหมายศาล และการให้อำนาจศาลในการออกหมายจับ (มาตรา 237) การพิจารณาคำขอประกันตัวผู้ต้องหาอย่างรวดเร็ว, การเรียกหลักประกันที่เหมาะสม  และการต้องให้เหตุผลกรณีปฏิเสธการประกันตัว และมีสิทธิที่จะอุทธรณ์การประกัน (มาตรา 239)  สิทธิที่จะได้รับการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และเป็นธรรม  สิทธิในการให้ทนายความเข้าฟังการสอบปากคำในชั้นสอบสวน (มาตรา 241) และการคุ้มครองพยานและผู้เสียหาย (มาตรา 244 และ 245) ซึ่งปูทางไปสู่กฎหมายคุ้มครองพยานและหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการคุ้มครองพยานเป็นครั้งแรกของประเทศ นอกจากนี้ยังให้สิทธิผู้บริสุทธิ์ที่ตกเป็นจำเลยในคดีอาญาและถูกคุมขัง สามารถเรียกค่าชดเชยได้ด้วย (มาตรา 246)


 


บทบัญญัติหลายประการในรัฐธรรมนูญ 2540 ได้รับการผนวกไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาความทางอาญา และประมวลขึ้นเป็นหลักเกณฑ์ในกฎหมายเฉพาะอื่นๆ อีก อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติและกฎหมายเหล่านี้ รวมถึงตัวสถาบันศาลที่เป็นผู้ใช้กฎหมายเอง ล้วนกำลังเผชิญกับการท้าทายอย่างครั้งใหญ่ ทั้งที่เป็นผลมาจากการบิดเบือนการใช้อำนาจศาลในช่วงสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และที่ยิ่งซ้ำร้ายเข้าไปอีกเมื่อรัฐบาลทหารเข้ามามีอำนาจอีกครั้งหนึ่ง


 


 


ตุลาการรัฐธรรมนูญกับการลงดาบ


ตุลาการรัฐธรรมนูญซึ่งแต่งตั้งโดยทหาร ประกอบไปด้วยผู้พิพากษาศาลฎีกา 6 คน ผู้พิพากษาศาลปกครองสูงสุด 3 คน โดยมีประธานศาลทั้งสองร่วมอยู่ด้วย ได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมให้ยุบพรรคไทยรักไทย เนื่องจากความผิดฐานกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคร้อยกว่าคนรวมทั้งตัวทักษิณเองด้วยเป็นเวลา 5 ปีตามคำสั่ง คปค.ฉบับที่ 27  กลายเป็นว่า คณะตุลาการซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งและเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตย ได้เป็นผู้มาตัดสินการกระทำของพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งที่ถูกล่าวหาว่าเป็นผู้บ่อนทำลายกระบวนการประชาธิปไตย คำตัดสินดังกล่าวอิงกับกฎหมายที่เขียนขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งถูกฉีกโดยคณะทหารชุดเดียวกัน อีกทั้งบทลงโทษก็เป็นไปตามประกาศของคณะทหารด้วย


 


ก่อนหน้านี้ article 2 ได้เคยรายงานไว้โดยละเอียดอย่างชัดเจนถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนจำนวนมากในสมัยรัฐบาลที่แล้ว อาทิ การใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบ การแทรกแซงองค์กรอิสระ ความไม่ยี่หระต่อมาตรฐานสากลและหลักนิติธรรม และการใช้อำนาจตำรวจที่ไปกระทบต่อชีวิตประชาชน ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยอยู่แล้วว่ารัฐบาลประเภทไหนที่ครองอำนาจอยู่ในประเทศนี้มาจนถึงเดือนกันยายนปีที่แล้ว แต่ก็ไม่ต้องสงสัยเช่นกันว่า คณะตุลาการที่แสดงบทบาทอยู่ในตอนนี้ หรือคณะทหารผู้ให้กำเนิดตุลาการชุดนี้ จะทำอะไรอื่นได้นอกจากทำให้ทุกอย่างยิ่งแย่ลงไปอีก ดังที่ได้ประจักษ์กันตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว ว่าทหารได้ลากประเทศนี้กลับไปสู่ยุคอำนาจนิยมเหมือนเมื่อสมัยยี่สิบกว่าปีก่อน และตั้งหน้าตั้งตารวบเอาองค์กรและสถาบันสำคัญๆ ให้อยู่ใต้การบังคับบัญชาก่อนที่จะลงจากหลังเสือ


 


อย่างไรก็ตาม ในเมื่อทหารก็คงจะไม่มาคอยปกป้องประโยชน์ของสถาบันศาล และผู้พิพากษาก็ได้ทำให้สถาบันของตนหมดความหมายเสียเองแล้ว  ผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร?  ถ้าไม่นับผลกระทบของคำตัดสินเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมแล้ว  คำถามที่ยังไม่มีคำตอบก็คือ คำตัดสินนี้จะมีผลอย่างไรต่อศาล และต่อความคิดความเข้าใจในหลักนิติธรรมและระบบรัฐธรรมนูญของไทย?


 


สำหรับคำตอบต่อเรื่องนี้ มีตัวอย่างคดีก่อนหน้านี้ที่สำคัญและสอดคล้องกันอย่างยิ่ง แม้ว่าจะไม่ใช่คดีที่เกิดจากการยึดอำนาจโดยทหาร แต่คดีนี้มาจากศาลสูงของสหรัฐอเมริกา ซึ่งในปี 2543 ได้รับคำร้องให้ตัดสินคดีที่เกี่ยวกับคะแนนเสียงจำนวนหนึ่งในฟลอริดาจะเป็นตัวชี้ขาดว่าใครจะได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนต่อไป  ซึ่งแม้ว่าศาลในที่สุดได้ตัดสินตามคำร้องของผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนปัจจุบัน แต่มีผู้พิพากษา 4 คนที่แสดงความเห็นคัดค้านไว้ชัดเจนว่าศาลไม่ควรที่จะรับคดีนี้ไว้ตั้งแต่แรก  ผู้พิพากษาเบรย์เยอร์ได้กล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า "ศาลคิดผิดที่รับคดีนี้" และได้อธิบายต่อว่า


 


แน่นอนว่าการคัดเลือกประธานาธิบดีนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในระดับชาติ แต่ความสำคัญที่ว่านั้นเป็นความสำคัญทางการเมือง ไม่ใช่ทางกฎหมาย  และศาลก็ควรยืนกรานปฏิเสธที่จะมาแก้ไขข้อพิพาทที่แทบไม่เกี่ยวกับกฎหมาย ซึ่งสุ่มเสี่ยงว่าจะเป็นการชี้ขาดผลการเลือกตั้งด้วย


 


เบรย์เยอร์ กล่าวโดยสรุปว่า คดีใดๆก็ตามที่มีความสำคัญทางการเมืองอย่างยิ่งนั้น ศาลควรที่จะระมัดระวังอย่างมากในการที่จะกระโจนเข้ามาหาทางออกให้โดยไม่ตรวจสอบให้ดีว่าฐานะของศาลอยู่ตรงจุดไหนและผลที่จะตามมาจากการกระทำนั้นคืออะไร


 


ขณะเดียวกัน ดังที่กล่าวไว้แล้ว ศาลไม่ได้ต้องมาพิสูจน์ความถูกต้องชอบธรรมของหลักการพื้นฐานใดๆของรัฐธรรมนูญ เช่นเรื่องความจำเป็นที่จะต้องปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคล  และที่สำคัญ ในเรื่องที่เป็นประเด็นการเมืองอย่างยิ่งเช่นนี้ การมีคำวินิจฉัยที่เห็นต่างกันก็จะทำให้เสี่ยงต่อการลดทอนความเชื่อมั่นของสาธารณะต่อตัวศาลเอง  ความเชื่อมั่นนี้เป็นสมบัติมีค่าของสาธารณะที่ค่อยๆสร้างสมมาตลอดระยะเวลาหลายปี  เป็นองค์ประกอบที่จำเป็นอย่างชนิดที่ขาดเสียมิได้ในการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐานและตัวหลักนิติธรรมเอง  เรากำลังเสี่ยงที่จะกรีดแผลบนตัวเราเอง เป็นบาดแผลที่ไม่เพียงเป็นอันตรายต่อศาล แต่ยังเป็นอันตรายต่อชาติด้วย


 


ผู้พิพากษาสตีเวนส์กล่าวไปไกลยิ่งกว่านั้นว่ามูลเหตุของการร้องต่อศาลสูงสุดก็คือ "การขาดความเชื่อมั่นในความเป็นกลางและความสามารถของผู้พิพากษาของรัฐ" นั่นเอง  เขายังกล่าวอีกว่า


 


ความเชื่อมั่นในบุคคลที่ทำหน้าที่บริหารระบบยุติธรรมนั้นต่างหากเล่าที่เป็นเสาหลักของนิติธรรม  กาลเวลาคงจะสมานแผลอันเกิดจากการตัดสินในวันนี้ได้  แต่ที่แน่ๆก็คือว่า  แม้ว่าเราอาจจะไม่มีทางรู้ได้ว่า ใครจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในครั้งนี้ แต่ผู้แพ้นั้นชัดเจน ก็คือความเชื่อมั่นต่อศาลที่ควรจะเป็นผู้พิทักษ์หลักนิติธรรม


 


จะเห็นได้ว่าข้อคิดเห็นของผู้พิพากษาเบรย์เยอร์และสตีเวนส์ในหลายประเด็นนั้น สามารถนำมาใช้ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา (ทั้งนี้ยังไม่ต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่าตุลาการรัฐธรรมนูญของไทยก็ไม่ได้มีหลักรัฐธรรมนูญให้พิจารณา ในเมื่อตอนนี้ก็ไม่มีสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญหลงเหลืออยู่แล้ว)  แต่ถึงกระนั้น คำเตือนถึงอันตรายที่จะเกิดกับความเชื่อมั่นของสาธารณะจากการที่ศาลเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับคดีที่มีความเป็นการเมืองสูงเช่นนี้ กลับไม่ได้รับความสนใจเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในวอชิงตัน  อาศัยการลงดาบเพียงฉับเดียว พรรคไทยรักไทยก็ล้มครืนลงไป  แต่ทว่าผลกลับมิได้มีเพียงเท่านั้น


 


ลำพังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายนนั้น ก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการศาล ว่าจะสามารถเข้ามาแก้ปัญหาความยุ่งยากทางการเมืองและกฎหมาย และพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายจากการกระทำของรัฐบาลได้  การที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งคณะตุลาการขึ้นมาแทนที่ศาลรัฐธรรมนูญ ในสภาวะที่ไร้รัฐธรรมนูญ โดยตั้งธงว่าจะจัดการพรรคไทยรักไทยนั้น เท่ากับว่าพวกเขาไม่เพียงให้ศาลมารับรองการล้มเลิกระบอบการเมืองเดิมเท่านั้น แต่เป็นการให้ความชอบธรรมแก่การทำลายระบบกฎหมายที่อาจคุกคามถึงตัวกองทัพในภายภาคหน้าด้วย  และการยอมตามเช่นนี้เอง ทำให้ศาลได้ลดทอนความน่าเชื่อถือของตนเองลง และสุ่มเสี่ยงที่จะสั่นคลอนต่อความเชื่อถือของสาธารณะในระยะยาว  เวลาจะช่วยเยียวยาบาดแผลที่เกิดขึ้นในเมืองไทยได้หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องดูกันต่อไป แต่ในกรณีของสหรัฐอเมริกาเมื่อเจ็ดปีที่แล้ว ผู้แพ้ตัวจริงก็คือความเชื่อมั่นของคนในชาติที่มีต่อศาลอย่างไม่ต้องสงสัย  และด้วยความที่กรณีนี้เป็นกรณีที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างสูง การตัดสินใจในครั้งนี้ก็จะสร้างความสับสนขนานใหญ่เกี่ยวกับบทบาทของศาลทั้งสถาบันเลยทีเดียว


 


 


ความยุติธรรมกับความชอบด้วยกฎหมาย
ในช่วงใกล้จะมีคำวินิจฉัยในเดือนพฤษภาคม พระมหากษัตริย์ของไทยได้ทรงมีพระราชดำรัสสองครั้งถึงความสำคัญของการที่ผู้พิพากษาจะต้อง
"ผดุงความยุติธรรม"  โดยทรงชี้ว่าความเชื่อมั่นของสาธารณะต่อสถาบันศาลเป็นประเด็นสำคัญอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน และศาลมีบทบาทสำคัญในการรักษาความสงบและความอยู่รอดของประเทศ


 


คำถามที่ผุดขึ้นมาโดยอัตโนมัติก็คือ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะผดุงความยุติธรรมใดๆภายใต้บรรยากาศทางศีลธรรมและการเมืองที่บิดเบี้ยวของเผด็จการทหารเช่นนี้ ?  เกิดอะไรขึ้นกับความยุติธรรมเมื่อกองทัพโยนรัฐธรรมนูญที่แท้จริงฉบับเดียวที่ประเทศนี้เคยมีมาทิ้งไป ?  เกิดอะไรขึ้นกับความยุติธรรมเมื่อกองทัพยุบศาลรัฐธรรมนูญแล้วตั้งอะไรอย่างอื่นขึ้นมาแทน ?


 


ตรงนี้เองที่การแยกแยะความต่างระหว่างความยุติธรรมกับความถูกต้องตามกฎหมายเป็นเรื่องที่สำคัญ  เพราะการยึดความถูกต้องตามกฎหมายโดยเคร่งครัดนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปได้อยู่แล้วไม่ว่าภายใต้รัฐบาลแบบใด สไตน์ นักกฎหมายของอังกฤษให้ความเห็นไว้ว่า


 


ประวัติศาสตร์ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การยึดหลักเสียงส่วนใหญ่และการยึดความถูกต้องตามกฎหมายโดยเคร่งครัดนั้น ไม่ได้เป็นหลักประกันที่จะคัดง้างอำนาจเผด็จการ  กระทั่งในท่ามกลางการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในประเทศเยอรมันสมัยนาซี หลักการของความถูกต้องตามกฎหมายส่วนหนึ่งก็ยังคงอยู่  ในตอนนั้น ผู้ต้องหาที่ถูกลงโทษจำคุกตั้งแต่ ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ก็ยังไม่ถูกแตะต้องในระหว่างการรับโทษในคุกนั้น  ต่อเมื่อครบกำหนดโทษแล้วนั่นเองที่เกสตาโปจะไปยืนรอรับพวกเขาที่ประตูเรือนจำเพื่อส่งพวกเขาไปค่ายมรณะ  ฉะนั้นก็ต้องถือว่ากระทั่งในเยอรมันสมัยนาซี แนวคิดยึดหลักกฎหมายก็ยังพอมีอยู่เป็นกระสาย....


 


ในยุคของนโยบายแบ่งแยกสีผิว คนผิวดำนับล้านในอัฟริกาใต้ต้องอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการและความโหดร้ายในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดและพัฒนามากที่สุดในทวีปอัฟริกา  สิ่งที่มักไม่ค่อยกล่าวถึงกันนักก็คือ ส่วนใหญ่แล้วรัฐบาลใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการกดขี่  ในทศวรรษที่ 1980 ที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉินอย่างต่อเนื่อง เกือบทุกคดีที่จะเข้าสู่ศาลสูงสุดจะได้รับการพิจารณาโดย "คณะฉุกเฉิน" ก่อน ซึ่งก็จะตัดสินเข้าข้างรัฐบาลแทบทุกครั้งไป 


 


อีกตัวอย่างหนึ่งคือในชิลี  หลังจากรัฐประหารในเดือนกันยายน 1973 คนนับพันถูกจับกุม ถูกทรมาน และถูกฆาตกรรมโดยคำสั่งของนายพลปิโนเชต์  แต่ระบบกฎหมายที่ศิวิไลซ์และอิงอยู่กับรัฐธรรมนูญของประเทศนี้ก็ยังไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นทางการ ซึ่งก็ไม่จำเป็นแต่อย่างใด  รัฐตำรวจที่นายพลปิโนเชต์สร้างขึ้นนั้น ทั้งข่มขู่และประนีประนอมกับฝ่ายศาล และประชาชนก็หมดที่พึ่งทางกฎหมาย...


 


ถึงตรงนี้ผมขอพักเพื่อสรุปว่า ทำไมผมจึงเห็นว่าตัวอย่างของเผด็จการที่สำคัญของศตวรรษที่ยี่สิบนั้นเป็นบทเรียนที่สำคัญ  ตัวอย่างเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าลำพังหลักเสียงข้างมากและความถูกต้องตามกฎหมายนั้น ไม่เพียงพอที่จะเป็นหลักประกันสำหรับสังคมที่เป็นธรรมได้  กระทั่งรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จส่วนใหญ่ก็ทำตามกฎหมายของประเทศตัวเอง  ตัวอย่างเหล่านี้ยังแสดงให้เห็นถึงอันตรายของอำนาจบริหารที่ปราศจากการควบคุม  และแสดงให้เห็นว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะรักษาความเป็นอิสระทางศาลที่แท้จริงได้ในสภาวะเผด็จการ ("Democracy, the Rule of Law and the Role of Judges", The Attlee Foundation Lecture, 11 April 2006).


 


ดังนั้น ลำพังการยึดมั่นในกฎหมายจึงไม่พอที่จะทำให้เรามั่นใจได้ว่าจะมีความยุติธรรมเกิดขึ้น  นี่เป็นความแตกต่างที่สำคัญระหว่างหลักนิติธรรม (rule of law) กับการปกครองด้วยกฎหมาย (rule by law)  ถ้าเช่นนั้นความยุติธรรมที่ไม่ใช่ความถูกต้องตามกฎหมายนั้น จะขึ้นอยู่กับอะไร ?


 


อันดับแรก ความยุติธรรมนั้น ขึ้นอยู่กับว่าทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายและศาลทั่วไปหรือไม่ แต่ปัจจุบันในประเทศไทยยังมีคนบางจำพวกที่อยู่เหนือกฎหมาย  ทหาร ตำรวจและเจ้าหน้าที่ในส่วนอื่นๆที่กำลังใช้อำนาจตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในภาคใต้ หรือตามกฎอัยการศึกซึ่งยังมีผลบังคับใช้ในพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ ทำให้ได้รับการคุ้มครองจากการถูกฟ้องร้องสำหรับการกระทำที่เข้าข่ายความผิดทางอาญา  ฝ่ายผู้นำคณะรัฐประหารเองก็ใส่ข้อความที่ป้องกันการถูกฟ้องร้องไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแล้ว ซึ่งก็จะมีผลสืบต่อไปในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหลังพ้นอำนาจไป  ดังนั้นแล้ว การเรียกหาความยุติธรรมในประเทศไทยจะเกิดขึ้นจริงได้อย่างไรหากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางกฎหมายเหล่านี้ยังไม่ถูกหยิบยกขึ้นมา


 


ประการที่สอง ความยุติธรรมนั้นขึ้นอยู่กับบทบาทของศาลในการวินิจฉัยการกระทำในทางบริหารและนิติบัญญัติ หมายความว่าศาลต้องสามารถให้ความเห็นได้ว่าการกระทำต่างๆของส่วนอื่นๆของรัฐนั้นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่  ก่อนที่ทหารจะเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ 19 กันยายนนั้น ก็เป็นที่รับรู้กันอยู่ว่าศาลจำเป็นที่จะต้องเข้ามามีบทบาท ด้วยเหตุการณ์ประพฤติมิชอบต่างๆ ของรัฐบาลชุดที่แล้ว  แต่หลังจากนั้นการถกเถียงในเรื่องดังกล่าวก็มีอันต้องยุติลง  และศาลสูงก็เป็นเช่นที่เคยเป็นมา คือยอมสยบแต่โดยดีต่อการยึดอำนาจของทหาร และอำนาจตุลาการก็ถูกทำให้เป็นเบี้ยล่างอำนาจส่วนอื่นของรัฐบาลอีกครั้ง แทนที่จะมีสถานะที่เท่าเทียมกัน ซึ่งคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมคือตัวอย่างชั้นยอดของการยอมตามคำบัญชาของผู้ปกครองที่กำลังมีอำนาจอยู่ในขณะนั้น  ดังนั้นจึงเกิดสภาพปกครองด้วยกฎหมาย ไม่ใช่ปกครองด้วยหลักกฎหมาย  ซึ่งไม่ต่างไปจากอัฟริกาภายใต้ยุคเหยียดผิว ศาลไทยได้แสดงให้รัฐบาลรัฐประหารเห็นว่าสามารถวางใจในฝีมือศาลได้อย่างแน่นอน  ฉะนั้นตราบใดที่ยังไม่มีการหยิบยกปัญหาของการสยบยอมเช่นนี้ขึ้นมา เราก็ไม่ต้องคาดหวังหรอกว่าระบบ "ยุติธรรม" ของไทยจะทำหน้าที่ของมันได้ในระยะเวลาอันใกล้  และโชคร้ายที่ในขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2540 ได้วางรากฐานไว้สำหรับการสร้างหน่วยงานศาลที่เป็นอิสระให้มีความเข้มแข็งเท่าเทียมกับหน่วยงานนิติบัญญัติและบริหาร แต่เราไม่สามารถคาดหวังอะไรแบบนั้นได้จากรัฐธรรมนูญฉบับใดก็ตามที่เขียนขึ้นภายใต้รัฐบาลทหารอย่างที่เป็นอยู่ ไม่ว่ารัฐบาลหรือบรรดาผู้ที่ร่างรัฐธรรมนูญ จะพยายามทำให้มันดูเลิศหรูเพียงใดก็ตาม


 


 


แล้วเรื่องนี้เกี่ยวกับเราตรงไหน?
เมื่อครบรอบรัฐประหารได้ราวหกเดือน หนังสือพิมพ์ในกรุงเทพฯฉบับหนึ่งตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ขนาดยาวของพล.อ.สุจินดา คราประยูร อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร ซึ่งนำคณะทหารยึดอำนาจเมื่อปี 2534 และต่อมาในปี 2535 ก็ถูกบีบให้ต้องออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่เขาได้มาโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง หลังจากเกิดการประท้วงขนานใหญ่ในกรุงเทพฯ ซึ่งมีคนตายและบาดเจ็บในเหตุการณ์ดังกล่าวนับร้อย เมื่อสุจินดาถูกถามว่าเขายังเห็นด้วยกับความคิดที่ว่านายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ เขาตอบว่าเห็นด้วย "ร้อยเปอร์เซนต์" และอธิบายต่อว่า


 


และ [ผม] ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญที่มีรายละเอียดยิบกระดิกตัวไม่ได้ รัฐธรรมนูญไม่ควรมีหลายมาตรา และมีเฉพาะที่จำเป็น ควรเขียนกว้างๆ แล้วไปวางหลักเกณฑ์ในกฎหมายลูกดีกว่า ซึ่งการทำประชาพิจารณ์ ผมก็ไม่เห็นด้วย เพราะประชาชนจะรู้อะไร ขนาดผมเองรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมายังไม่ได้อ่านเลย เพราะเป็นคนไม่สนใจการเมือง ลองไปถามประชาชนว่ามีกี่มาตรา เขายังไม่รู้เลย แล้วจะทำประชาพิจารณ์เพื่ออะไร ประชาชนรู้อะไร (มติชน 12 มีนาคม 2550)


 


คำสัมภาษณ์ของพลเอกสุจินดาเผยให้เห็นวิธีคิดที่แท้จริงของบรรดาผู้นำการรัฐประหารของไทย ไม่ว่าจะในปีพ.ศ. 2549, 2534 หรือก่อนหน้านั้น  ว่ากันง่ายๆ ประชาชนไม่รู้อะไร นักการเมืองไม่ชอบธรรม รัฐธรรมนูญไม่สอดคล้อง คำถามที่ต้องถามต่อก็คือว่า ระบบรัฐธรรมนูญแบบไหนหรือ ที่จะสามารถพัฒนาขึ้นมาได้โดยบรรดาคนที่ไม่ได้มีความใส่ใจกับรัฐธรรมนูญจริงๆ จังๆ ?


 


ในยุคสมัยใหม่ เครื่องมือพื้นฐานในการสถาปนารัฐที่จะทำหน้าที่ของรัฐได้ และสร้างสถาบันต่างๆ ขึ้นบนหลักกฎหมาย ก็คือรัฐธรรมนูญ  ซึ่งแม้จะยังไม่ถึงกับเป็นสากลทุกประเทศ และไม่มีฉบับไหนที่สมบูรณ์ไร้ที่ติ แต่รัฐธรรมนูญทุกฉบับก็ได้วางแนวปฏิบัติสำหรับการทำงานของรัฐ ที่จะจำกัดการใช้อำนาจตามอำเภอใจให้น้อยที่สุด พร้อมกับจัดโครงสร้างเพื่อให้มีการจัดการความขัดแย้งอย่างมีเหตุผล  ตราบใดที่แนวปฏิบัติพื้นฐานของรัฐธรรมนูญนั้นได้รับการเคารพอยู่บ้างไม่มากก็น้อยและได้รับการพัฒนาไปอย่างช้าๆ ซึ่งเราก็ยังคาดหวังได้ว่ารัฐเองก็จะก้าวต่อไปข้างหน้าได้


 


ตรงกันข้าม การรัฐประหารเป็นการกระทำชนิดที่ตามอำเภอใจอย่างที่สุดแล้ว  เป็นการปฏิเสธหลักนิติธรรมอย่างถึงที่สุด เป็นการส่งสารว่าแนวทางปฏิบัติเหล่านั้น (ไม่ว่าจะบกพร่องหรือไม่อย่างไร) ไม่ได้มีอยู่จริง และคนจำนวนหนึ่งมีสิทธิที่จะทำอะไรตามมาตรฐานอีกชุดหนึ่งที่เป็นคนละชุดโดยสิ้นเชิง  การฉีกรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งแล้วสั่งให้เขียนอีกฉบับหนึ่งขึ้นมาใหม่ เท่ากับหัวหน้าคณะรัฐประหารกำลังส่งสารว่ารัฐธรรมนูญไม่มีความสำคัญ ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่ได้มีความชอบธรรมอะไรเป็นพิเศษ และสาธารณะชนก็ไม่ได้มีสิทธิมีเสียงอะไรต่อความเป็นไปของบ้านเมือง  สารที่ว่านี้ได้รับการยืนยันโดยคำกล่าวของ พล.อ. สพรั่ง กัลยาณมิตร ที่สงวนสิทธิของทหารในการที่จะก่อการรัฐประหารอีกในอนาคตเมื่อไหร่ก็ตามที่สถานการณ์เปิดช่องให้ทำ  เขากล่าวว่า "ผมคิดว่าการปฏิวัติจะเกิดขึ้นเสมอ ถ้ามีเหตุให้เกิด"  นั่นทำให้ความคิดเรื่องระบอบรัฐธรรมนูญไร้ความหมายไป ไม่ว่าสิ่งที่ติดป้ายกันว่าเป็น "รัฐธรรมนูญ" นั้นจะมีอยู่หรือไม่ก็ตาม  


 


ดังนั้นเอง คณะรัฐประหารจึงไม่กังวลที่จะให้มีคนสักกลุ่มหนึ่งมาร่างกฎหมายสูงสุดฉบับใหม่ เพราะก็รู้ว่าอย่างไรเสียมันก็ไม่ใช่สิ่งจะนำมาใช้กับพวกเขา  มีรายงานข่าวว่า ในพื้นที่ที่มีการจัดรับฟังความคิดเห็นสำหรับข้อเสนอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ซึ่งล้อกันกับการประชุมแบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงที่จัดขึ้นทั่วประเทศที่นำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับ 2540) รัฐบาลกระหายที่จะให้ประชาชนเข้ามาร่วมเวทีอภิปรายแลกเปลี่ยนที่ไร้ความหมายนี้ มากถึงขนาดที่ต้องใช้กลยุทธ์ประชานิยมแบบที่รัฐบาลที่แล้วทำมา และเป็นสิ่งที่รัฐบาลนี้ได้วิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด เช่นการเลี้ยงอาหารฟรีและการแจกของ


 


ไม่กี่สัปดาห์หลังการยึดอำนาจ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC) ได้รับจดหมายตอบจากสำนักงานอัยการสูงสุด เกี่ยวกับอดีตรัฐมนตรีสี่คนของรัฐบาลที่แล้วที่ถูกคณะรัฐประหารควบคุมตัวโดยไม่มีการแจ้งข้อหาในช่วงวันแรกๆหลัง 19 กันยายน สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตอบประเด็นดังกล่าวไว้ว่า


 


เราขอแจ้งให้ท่านทราบว่าเราเข้าใจความกังวลของท่าน แต่คำร้องที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครอง มิใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับอำนาจและหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุด


 


ภายในประโยคเดียว ข้าราชการผู้เขียนหนังสือตอบรายนั้นได้จับจุดปัญหาอันเป็นหัวใจของความอยู่รอดของรัฐธรรมนูญไทยโดยไม่ได้ตั้งใจ  ประชาชนทั่วไป ผู้พิพากษา เสมียน และคนอื่นๆทั้งหมดที่อยู่นอกวงอำนาจที่นิยามโดยคณะรัฐประหารและลูกมือ ล้วนถูกสั่งให้กลับเข้าไปอยู่ในบทบาทที่เป็นมาตลอดในประวัติศาสตร์ คือเป็นผู้ดูอยู่ข้างเวทีการแสดงระดับชาติ  คนพวกนี้ได้รับอนุญาตให้ปรบมือ หรือกระทั่งกระแอมอย่างสุภาพหรือโห่ฮาได้บ้างเป็นครั้งๆไป แต่พวกเขาไม่มีสิทธิอีกแล้วที่จะเข้ามามีส่วนร่วม  ไม่ว่าจะในระบอบรัฐธรรมนูญ หลักนิติธรรม หรือสิทธิมนุษยชน ล้วนไม่ใช่เรื่องที่คนพวกนี้จะมาตัดสินใจ  แม้ว่าโวหารที่พูดกันอยู่จะเป็นไปในทางตรงข้ามก็ตาม แต่มากสุดแล้วที่เราจะคาดหวังได้ภายใต้รัฐบาลของไทยในปัจจุบัน ก็คือหน้าฉากของความชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่ความยุติธรรม  ความมุ่งหวังถึงระบอบรัฐธรรมนูญ (แทนที่จะเป็นของปลอมที่กำลังสร้างกันอยู่ตอนนี้) นั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อกองทัพออกไป  แต่มันก็จะเป็นหนทางอีกยาวไกลกว่าจะกลับไปถึงจุดที่ประเทศไทยเคยเป็นอยู่ก่อนวันที่ 19 กันยายน (ไม่ว่ารัฐบาลในตอนนั้นจะก่อความเสียหายอะไรไว้ก็ตาม) และหนทางนั้นก็คงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเป็นแน่


 


 


สองผู้พิพากษากับหนึ่งข้าราชการ
ขณะที่บทความชิ้นนี้กำลังจะตีพิมพ์ ก็มีการเผยแพร่เทปอัดเสียงชิ้นสำคัญที่ (หากว่าเป็นของจริง) เปิดโปงให้เห็นว่าศาลสูงของไทยนั้นถูกทำให้รอมชอมและถูกควบคุมโดยคนนอกได้ขนาดไหน  เทปบันทึกเสียงดังกล่าวถูกเผยแพร่สู่สาธารณะโดยจักรภพ เพ็ญแข ผู้เป็นโฆษกของรัฐบาลพลเรือนชุดที่แล้วและเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารนั้น มีเนื้อหาที่เข้าใจว่าเป็นบทสนทนาทางโทรศัพท์ในราวกลางปี
2549 ระหว่างข้าราชการระดับสูงที่เรียกชื่อเล่นว่า "พี่เป็ด" กับนายวิรัช ชินวินิจกุล เลขานุการศาลฎีกาในขณะนั้น และนายไพโรจน์ วนานุช ผู้พิพากษาศาลฎีกา  ทั้งสามคนสนทนากันถึงปัญหาที่จะให้กรรมการการเลือกตั้งลาออกจากตำแหน่งด้วยข้อกล่าวหาร้ายแรงในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลชุดที่แล้ว เพื่อจะได้ปูทางไปสู่การจัดการเลือกตั้งใหม่ (ซึ่งก็ไม่ได้เกิดขึ้นเนื่องจากทหารยึดอำนาจเสียก่อน)


 


ในเทปบันทึกเสียงดังกล่าว ทั้งเลขาฯศาลฎีกาและข้าราชการระดับสูงแลกเปลี่ยนความเห็นถึงวิธีการที่จะทำให้กกต.ลาออก ฝ่ายหลังขอคำแนะนำว่ารัฐบาลควรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป และได้รับคำแนะนำว่าถ้ากกต.ลาออกจริง ศาลฎีกาก็จะแต่งตั้งคนของศาลเข้ามาทำหน้าที่แทน (ตามมาตรา 138 ของรัฐธรรมนูญ 2540)  ข้าราชการระดับสูงคนเดิมสงสัยว่าแล้วจะทำอย่างไรกับคดีฟ้องร้องกกต.ที่ยังคาอยู่ในศาลอาญาและศาลปกครอง วิรัชให้ความมั่นใจว่า "การที่ กกต.ลาออกนี่ ผมบอกได้เลยน่ะว่าเป็นผลดีกับคดีที่ฟ้องอยู่..."


 


ต่อจากนั้น ก่อนที่ผู้พิพากษาไพโรจน์จะเข้ามาร่วมวงด้วย เลขานุการศาลฎีกาได้พูดถึงเขาว่ามี "ตัวเชื่อม" กับพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีซึ่งเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีผู้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง  ตัวเชื่อมนี้ต้องเข้าไปที่บ้านของฝ่ายหลังทุกวันก่อนการประชุมของศาลฎีกา แล้วพล.อ.เปรมก็ได้คุยโทรศัพท์กับประธานศาลฎีกาด้วย  ต่อมาผู้พิพากษาไพโรจน์เข้ามาพูดสายโดยตรงกับข้าราชการระดับสูงผู้นั้น และเห็นด้วยว่ากกต.จะต้องถูกบีบให้ลาออก และรับประกันอีกครั้งว่าคดีฟ้องกกต.ที่ค้างอยู่ในศาลอาญาก็จะเป็นอันยุติ  ข้าราชการคนเดิมบอกว่าตนจะไปคุยกับประธานกกต.ด้วยตนเอง ซึ่งผู้พิพากษาไพโรจน์ก็ตอบว่า "ต้องบอกน่ะ ไม่งั้นไม่ปลอดภัยกับเขาหรอก"  แน่นอนว่ากกต.ปฏิเสธที่จะลาออก ซึ่งเป็นการบีบให้ฝ่ายตุลาการต้องลงมือทั้งที่พยายามหลีกเลี่ยงแล้ว


 


เทปบันทึกเสียงดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ใช่แค่เพราะมันเผยความจริงจนหมดเปลือกว่าตุลาการสูงสุดของไทยตกอยู่ภายใต้อำนาจส่วนอื่นๆของรัฐบาลขนาดไหน แต่เพราะมันยังแสดงให้เห็นว่าตลอดช่วงเวลาของวิกฤติรัฐธรรมนูญและวิกฤตการเมือง ตุลาการสูงสุดได้ถอยจากแนวคิดพื้นฐานของความถูกต้องตามกฎหมายมาไกลแสนไกลขนาดไหน  ไม่มีจุดไหนเลยที่เรื่องการผดุงความยุติธรรม (ไม่ใช่เกมการเมือง) จะเข้ามาในความคิดของบุคคลากรระดับอาวุโสสูงสุดของฝ่ายยุติธรรม  กลายเป็นว่าเนื้อหาของบทสนทนาที่ถูกอัดเสียงไว้ สามารถสรุปออกมาได้ดังนี้ : ผู้พิพากษาสูงสุดและเจ้าหน้าที่ศาล ร่วมกับข้าราชการระดับสูงของรัฐบาล รวมหัวกันที่จะทำให้คนจำนวนหนึ่งลาออกจากหน้าที่ของตน แลกด้วยการที่ศาลจะละทิ้งความยุติธรรมและกระบวนการทางอาญาแล้วปล่อยคนเหล่านี้ให้รอด  ไม่ต้องคิดถึงเรื่องกฎหมาย นี่เป็นแค่การยื่นหมูยื่นแมว  ศาลถูกคนนอกเข้ามาแทรกแซงได้อยู่แล้ว และนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนรัฐประหาร 19 กันยาด้วยซ้ำ  คำวินิจฉัยของตุลาการเป็นกรณีพิเศษเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม คือเครื่องบ่งชี้ว่าสิ่งต่างๆ แย่ลงมามากเพียงใดนับจากนั้นมา และกำลังจะยิ่งแย่ลงต่อไปอีกเพียงใด


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net