Skip to main content
sharethis


ถอดความจากงานเสวนาทางวิชาการเรื่อง "ชำแหละร่าง พ...การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรความมั่นคงของใคร" ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2550 จัดโดย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯร่วมกับโครงการหลักสูตรสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยมหิดล และศูนย์ข่าวสารสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


0 0 0


 


 


ขอความสันติสุขมีแด่ทุกท่าน


 


ผมเห็นว่าถ้าจะมีการถอยกฎหมายนี้ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ในฐานะที่มันเป็นกฎหมาย โดยตัวมันเองก็เป็นกฎหมายที่ไม่ค่อยได้เรื่อง ตัวอย่างเช่น มาตรา 9 บอกว่าคนดูแลมันคือ ผบ.ทบ. แต่กฎหมายนี้ต้องอยู่ใต้สำนักนายกรัฐมนตรี อยู่ใต้นายกรัฐมนตรี ตกลงมันเป็นกฎหมายทหารหรือพลเรือน ถ้าเป็นกฎหมายทหารต้องรันโดยพระราชบัญญัติของทหาร 2521 ถ้าเป็นกฎหมายพลเรือนต้องรันโดยกฎหมายข้าราชพลเรือน ในแง่เทคนิคมันยุ่ง หรือหมวด 6 ยกมาจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินทั้งอัน ข้อต่างของมันคือเวลาประกาศต้องได้ความเห็นชอบจากครม. หมายความว่า เรื่องเรื่องเดียวกันมาได้จากสองแหล่ง จะใช้กฎหมายไหนดี ยังไงต้องพิจารณาใหม่อยู่ดี


 


สิ่งที่ผมอยากจะทำวันนี้เป็นการทดลอง เพราะผมไปพูดเรื่องนี้มาที่สภา พูดแทบเป็นแทบตายแต่ข่าวลงสิ่งที่อาจารย์ปณิธาน (วัฒนายากร)พูดหมดเลย ข่าวลงรูปหน้าผมด้วยแต่ไม่ลงอะไรที่ผมพูดออกมา ผมก็ประหลาดใจ พยายามจะฟังวิทยุ มีคลื่นหนึ่งบอกว่าอาจารย์ชัยวัฒน์พูดอย่างนี้ น่าแปลกมาก เพราะนั่นเป็นสิ่งที่พี่สมชาย (หอมลออ) พูดเรื่องสิทธิมนุษยชน ผมเลยคิดว่ามันอาจมีความผิดปกติในประสาทการพูดของผม จึงต้องทดลองอีกทีที่นี่


 


ผมอยากจะพูด 5 เรื่อง แต่ผมเริ่มจากสมมติฐานง่ายๆ คือ คนออกหรือประสงค์จะออกกฎหมายนี้ทำด้วยมีเจตนาดี แปลว่า ผมตัดประเด็นเรื่องว่าใครต้องการสืบทอดอำนาจทิ้งหมด ไม่สน


 


ประเด็นที่สองพระราชบัญญัตินี้เป็นอย่างไร พระราชบัญญัตินี้กำหนดว่าภัยมาจากบุคคลและกลุ่มบุคคล โดยอธิบายว่าลักษณะภัยเปลี่ยนไปคือ หลากหลายขึ้น รุนแรงขึ้น เร็วขึ้น ขยายตัว ทั้งหมดนี้ทำให้ผลคลี่ออกไปในวงกว้างและซับซ้อนขึ้น เกิดความไม่สงบต่อประเทศและประชาชน เป็นปัญหาต่อเอกราชและบูรณภาพแห่งดินแดน ทำให้ต้องมีหน่วยปฏิบัติงานหลักรับผิดชอบความมั่งคงในราชอาณาจักรคือ กอ.รอน. ทำหน้าที่ป้องกันและระงับภัยอย่างทันท่วงที จุดสำคัญของพระราชบัญญัตินี้คือพยายามจะป้องกัน ซึ่งต่างจากเรื่องอื่นที่พยายามจะจัดการกับความผิดที่เกิดขึ้น


 


ถ้าผมเข้าใจพระราชบัญญัตินี้ถูก คำถามที่สามต่อไปก็คือ แล้วพระราชนี้จะมีผลอย่างไร ต่อสังคมใดๆ ก็ได้ที่จะเอาพระราชบัญญัตินี้ไปใช้


 


เวลาคิดเรื่องนี้ ผมมอง 6 มิติ มติที่หนึ่งคือเรื่องเวลา มิติที่สองคือเรื่องพื้นที่ มิติที่สามคือความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน มิติที่สี่คือความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนด้วยกันเอง มิติที่ห้าคือความสัมพันธ์ระหว่างสังคมไทยกับโลกที่เหลือ มิติที่หกคือความสัมพันธ์ของสังคมไทยกับอนาคตของตัวเอง


 


(ก็เพราะพูดแบบนี้แหละถึงไม่ได้ลงข่าว บางที่ผมก็รู้ตัว พูดให้รู้เรื่องกว่านี้ก็ได้ แต่ช่วยไม่ได้ผมชอบแบบนี้ หัวเราะ)


 


เรื่องแรก ผลของกฎหมายนี้ต่อเวลา ถ้าดูจากมาตรา 3 วรรคหนึ่ง สิ่งที่มันทำคือมันเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ที่น่าเป็นสถานการณ์ยกเว้นให้กลายเป็นสถานการณ์ปกติ หมายความว่า กฎหมายหลายข้อเวลาออกมามันออกแบบมาจัดการกับปัญหาพิเศษในสถานการณ์พิเศษ เช่น ภาวะฉุกเฉิน กฎอัยการศึก และอื่นๆ ถามว่าเรื่องพวกนี้เกิดขึ้นได้ไหมในสังคมประชาธิปไตย แน่นอน เป็นเรื่องธรรมดา ในสังคมประชาธิปไตยทั้งหลายมีเวลาที่ต้องออกกฎหมายแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องออกกฎหมายที่ต้องรักษาสิทธิเสรีภาพตลอด เพราะมันมีเวลาเช่น เวลามีสงคราม เรื่องสิทธิเสรีภาพจะถูกยกออกไป การตัดสินใจต่างๆ ก็จะเปลี่ยนสภาพหมด นี่เป็นโจทย์ปกติของสังคมประชาธิปไตยมา 200 ปีแล้ว ถามว่าสิ่งที่กฎหมายนี้ทำคืออะไร มันเปลี่ยนสภาพยกเว้นเป็นสภาพปกติ ถ้าพระราชบัญญัตินี้มุ่งรักษาโรคให้หายป่วย แล้วโรคนี้เกิดในเวลาพิเศษ นานๆ เกิดที สิ่งที่มันทำคือทำให้ป่วยตลอดเวลา นี่เป็นปัญหาสำคัญที่สุด


 


ประเด็นที่สองเรื่องพื้นที่ ความน่าสนใจของพระราชบัญญัติคือ พูดเรื่องทั้งประเทศ พูดเรื่องภาค พูดเรื่องจังหวัด พูดเรื่องกทม. มันเปลี่ยนพื้นที่ทั้งหมดในประเทศเป็นพื้นที่ซึ่งถูกทำให้เป็นพื้นที่ความมั่นคงหมดหมดเลย พื้นที่ความมั่นคงต่างกับพื้นที่อื่นอย่างไร พื้นที่อื่นมีชีวิตปกติได้ พื้นที่ความมั่นมีไม่ได้ เมื่อรวม time กับ space แล้ว พระราชบัญญัตินี้จะผลักสังคมไทยไปสู่สภาพผิดปกติทั้งด้านพื้นที่และกาลเวลา


 


ประเด็นที่สาม ตัวละครในหลายมาตราคือ อัยการสูงสุด อัยการสูงสุดมีหน้าที่ฟ้อง พูดอีกภาษาหนึ่งก็คือเมื่อทำให้เรื่องนี้เป็นปัญหาทั่วไปเสียแล้ว แล้วเอาคนหน้าที่ฟ้องไปดูเขาก็ต้องดูทุกหย่อมหญ้าทุกกาลเวลาโดยหาเรื่องจะฟ้องเพราะเขาทำหน้าที่นี้ หมายความว่า ต้องมองหาความผิด คนผิด สิ่งผิดๆ ตลอดเวลา จะไม่มีความไว้วางใจ ฉะนั้นในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน ก็จะเปลี่ยนที่วางความสัมพันธ์นี้จากฐานอื่นๆ ที่เคยวางมาสู่ความไม่ไว้วางใจพร้อมจะถูกฟ้อง


 


ต่อมาคือ สายสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนเอง พอสายสัมพันธ์ของรัฐกับประชาชนเป็นแบบนั้น มีความพยายามจะควบคุม ไม่ใช่ administrative แต่เป็น controlling สิ่งที่ตามมาก็เป็นกฎเกณฑ์ เป็นอะไรเยอะแยะไปหมดโดยอยู่บนฐานของความไม่ไว้วางใจ ความไม่ไว้วางใจนี้มันจะระบาดสู่ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนด้วยกันเอง เวลาสงสัยกัน หลังเหตุการณ์ 911 มีเรื่องเล่าเยอะแยะ บนเครื่องบิน ในห้องสมุด เช่น บนเครื่องบินเวลามีคนหน้าตาแบบผม มีหนวดมีเคราหยิบพระคัมภีร์อัลกุรอานมาอ่าน ผู้โดยสารที่นั่งถัดๆ ไปก็รู้สึกถูกคุกคาม ต้องบอกสจ๊วตให้มาจัดการให้หยุดอ่าน เพราะเห็นแล้วไม่สบายใจ ฉะนั้นความไม่ไว้วางใจก็จะระบาดไปทั่ว คำอธิบายแบบนี้ก็คงจะเกิดเต็มไปหมด คงมีคนน่าสงสัยเต็มไปหมด


 


ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ เมื่อเรามีพระราชบัญญัติประเภทนี้ก็จะเป็นที่ชื่นชอบของหลายประเทศ เพราะในที่สุดไทยได้ทำอะไรหลายอย่างเหมือนกับเขา ขณะเดียวกันประเทศอีกจำนวนหนึ่งคงไม่มีความสุขเท่าไร เพราะเขามีเกณฑ์ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหลายชนิด วันนี้เราภูมิใจมากกับโรงงานทอผ้าที่ผ่านมาตรฐานของอียู เป็นโรงงานเดียวในโลกด้วย น่าสนใจว่ามาตรฐานของอียูไม่ได้อยู่บนเงื่อนไขของสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี อย่างเดียวเท่านั้น แต่อยู่บนเงื่อนไขด้านสิทธิมนุษยชนด้วย ซึ่งหมายความว่าการมีพระราชบัญญัติแบบนี้จะเพิ่มหรือลดโอกาสของประเทศไทยที่จะแข่งขันกับต่างประเทศ ก็ต้องคิดให้ละเอียด



 


สุดท้าย ความสัมพันธ์ระหว่างสังคมไทยกับอนาคตของสังคมไทย ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ออกจะยุ่งยาก แต่บังเอิญเราอยู่จังหวะที่ค่อนข้างจะดี เรามีร่างรัฐธรรมนูญที่จะต้องมีการลงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญนี้ก็น่าสนใจ มาจากการรัฐประหาร กำลังจะมีการลงประชามติเพื่อแสวงหาความชอบธรรมให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ และใครๆ ก็คาดหมายกันว่าคงจะผ่าน แต่ว่าร่างรัฐธรรมนูญ 2550 นี้ หรือรัฐธรรมนูญทุกฉบับก็ตาม มันเป็นสองอย่าง ทางหนึ่งมันเป็นภาพสะท้อนสัมพันธภาพทางอำนาจของสังคม อันนี้เอามาจากหนังสือของอาจารย์เสน่ห์ จามริก หมายความว่า การที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะปรากฏตัวในลักษณะนี้ได้ มันเป็นผลของการเปลี่ยนแปลงของอำนาจทางการเมืองที่เกิดขึ้น


 


ฉะนั้น ก็ไม่ประหลาดใจอะไรที่รัฐธรรมนูญนี้จะเป็นแบบนี้ ตอนแรกที่ฟังอาจารย์ศรีประภา เพชรมีศรี บอกว่า พระราชบัญญัติความมั่นคงของมนุษย์ของฟิลิปปินส์ระบุว่าการรัฐประหารเป็นการก่อการร้าย ก็ไม่แปลก รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ไม่ได้ระบุว่าการรัฐประหารถูกกฎหมาย ไม่มีรัฐธรรมนูญไหนว่าอย่างนั้น มาตรา 68 วรรค 1 ก็ยังอยู่ การรัฐประหารยังผิดอยู่ดี ฉะนั้น การที่เราจะทำอะไรซึ่งขัดกันเองอาจจะเป็นเรื่องปกติก็ได้ การแสวงหาการไม่ขัดกันต่างหากที่อาจจะแปลก


 


ถ้าเป็นอย่างนี้ รัฐธรรมนูญก็มีอีกอย่างหนึ่งด้วย คือมันมีความใฝ่ฝันของมันอยู่ ถามว่ารัฐธรรมนูญนี้ทำอะไร รัฐธรรมนูญนี้มี 3-4 อย่างที่ชัดเจน เช่น ต้องการลดการผูกขาดอำนาจรัฐ มาตรา 167 ให้องค์กรอิสระ ศาล ขอแปรญัตติต่อกรรมาธิการได้โดยตรงเรื่องงบประมาณ มาตรา 164 วรรค 9 ให้สมาชิกสภาเสนอกฎหมายโดยไม่ต้องผ่านพรรค และต้องการสร้างความโปร่งใส มุ่งคุณธรรม เช่น มาตรา 270 พูดเรื่องคุณธรรม มาตรา 250 พูดเรื่องทรัพย์สิน นอกจากนี้ยังต้องการความเข้มแข็งขององค์กรอิสระ การสรรหามาจากไหน ประธานสภาผู้แทนราษฎร อะไรก็แล้วแต่ แล้วก็เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน


 


พูดอีกอย่างก็คือ รัฐธรรมนูญ 2550 พยายามจะทำ 3-4 อย่างนี้ พระราชบัญญัตินี้ทำตรงข้ามทุกเรื่อง พระราชบัญญัตินี้ไม่ได้ส่งเสริมการลดการผูกขาดอำนาจรัฐ แต่ย้ายอำนาจรัฐไปที่อื่น มีอาจารย์บางท่านเสนอว่านี่เป็นอำนาจที่ 5 ในสังคมไทย เรื่องความโปร่งใสเป็นไปไม่ได้ภายใต้พระราชบัญญัติแบบนี้ มันต้องเต็มไปด้วยเงามืด ความเข้มแข็งขององค์กรอิสระก็ไม่ได้ เพราะความเข้มแข็งย้ายไปอยู่อีกกับหน่วยงานด้านความมั่นคง สิทธิเสรีภาพของประชาชนเมื่อเทียบกับความมั่นคงแล้วต้องยกไว้


 


นั่นแปลว่าอนาคตของสังคมไทยถ้ามันอยู่หรือฝากไว้ หรือเชื่อว่ามันฝากไว้ในรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญบรรจุทั้งความเป็นจริงและความใฝ่ฝันของสังคมไทยอยู่ ผมเชื่อว่าถ้าพระราชบัญญัตินี้ผ่าน มันจะบังคับให้สังคมไทยอยู่กับความจริงและทำให้ความใฝ่ฝันหายไป และความจริงที่ว่าคืออะไรเราก็ทราบอยู่


 


ประเด็นสุดท้าย พระราชบัญญัตินี้จะทำหน้าที่ส่งเสริมความมั่นคงได้หรือไม่ ถ้าทำลายความใฝ่ฝันของสังคมไทย เปลี่ยนแปลงเวลาหรือพื้นที่ไปหมด ไม่ว่าเราจะนิยามความมั่นคงยังไง


 


และไม่ว่าเราจะนิยามความมั่นคงยังไง มันต้องอาศัยพื้นฐานในสายสัมพันธ์ของมนุษย์ที่เข้มแข็ง ต้องอาศัยพื้นฐานความรักความสามัคคี อาศัยความไว้วางใจ


 


ถ้าผมถูก พระราชบัญญัตินี้จะไปกร่อนเซาะของพวกนั้นหมดเลย ถ้าไปกร่อนเซาะหมด ในที่สุดแล้วมันสามารถทำอะไร สิ่งที่มันจะเกิดขึ้นก็คือมันจะส่งเสริมความหวาดระแวง สถาปนาความหวาดระแวงให้กลายเป็นสถาบัน ซึ่งน่าจะทำให้การเสริมสร้างความมั่นคงในนิยามของการสร้างความรักความสามัคคีให้ยากขึ้นอีก


 


ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง อะไรคือผลรวมที่สุดต่อความมั่นคงในประเทศที่ทุกๆ ฝ่ายต้องการ ฟุตโน้ตของมันก็คือว่า คนที่นั่งค้านพระราชบัญญัตินี้เขาไม่ต้องการความมั่นคงหรือ ไม่ใช่ ใครๆ ก็ต้องการความมั่นคงในชีวิตทั้งนั้น เพียงแต่ว่าชนิดของความมั่นคงที่เราอยากได้ควรวางอยู่บนฐานของอะไร และพระราชบัญญัติชนิดนี้จะนำมาซึ่งความมั่นคงที่เราปรารถนาไหม ความมั่นคงที่เป็นอิสระจากความกลัว ความมั่นคงที่เป็นอิสระจากความหวาดระแวง ร่างพระราชบัญญัตินี้จะให้สิ่งนั้นกับเราได้ไหม หรือจะแย่งสิ่งนั้นไปจากเรา


 


 


 


…………………………….


เกี่ยวข้อง
เสวนา : ชำแหละร่างพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ความมั่นคงของใคร?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net