วัฒนธรรมของคนแพ้: การศึกษาที่ลวงตา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

sukkunsi

 

ผมเริ่มต้นจากความสนใจในคำกล่าวของ น.พ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ที่กล่าวถึง โดราเอมอน แมวจอมยุ่ง ใน "หนังสือการ์ตูนที่รัก" ถึงสาเหตุความนิยมของแมวกลมๆ ตัวนั้น มาจากลักษณะประการหนึ่ง คือ ความรู้สึกร่วมเกี่ยวกับตัวโนบิตะที่เป็น ผู้แพ้ เสมอ และสังคมที่เราอยู่อาศัยเองก็ผลิตความคิดของคนให้เป็นเช่นนั้น

 

ผู้คนในสังคมอยู่ในความรู้สึกของการเป็นคนแพ้เสมอมา...

 

สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าอยู่ในการเป็นผู้แพ้นั้น มาจากอะไรกัน? เราคงต้องมาตอบคำถามของปัญหานี้กันก่อน ผลิตผลความเป็นเราส่วนใหญ่อล้วนเกิดมาจาก "การศึกษา" ทั้งสิ้น สำหรับความเป็นเราที่อยู่ในระบบการศึกษาของรัฐ (รวมทั้งบางกรณีแม้นอกระบบการศึกษาของรัฐก็เถอะ) ต่างถูกกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม (socialization) ผ่านทางข้อมูลความรู้ในการศึกษา ทั้งในตำรับตำรา หรือ การบอกเล่าปากต่อปากจากความเชื่อที่ถูกกล่อมเกลามาเรียบร้อยแล้ว

 

จากข้อสังเกตนี้ นำไปสู่การศึกษาวิจัย ตัวแบบเรียนประถมศึกษาภาษาไทย "มานี-มานะ" หลักสูตรปีพุทธศักราช 2521 เพื่อศึกษาแนวคิดที่ปรากฏอยู่เบื้องหลังตัวหนังสือของแบบเรียนดังกล่าว

 

 

โดยหลักการแล้ว การศึกษานั้นถือเป็นกลไกในการผลิตบุคลากรให้เป็นผู้ที่มีความรู้และความรับผิดชอบในด้านต่างๆ เพื่อที่จะทำการสร้างสรรค์สังคมนั้นๆ ต่อไป แต่หากพิจารณาในบริบทของการครอบครองแนวคิดเกี่ยวกับแบบแผนพลเมืองไทยที่รัฐต้องการให้เป็นนั้น ระบบการศึกษาถือได้ว่าเสมือน "โรงงาน" ที่จะทำหน้าที่ผลิตพลเมืองที่มีลักษณะเป็นไปตามความต้องการของรัฐ เป็นผู้ยอมรับต่ออำนาจทางการเมืองที่ดำรงอยู่ขณะนั้น จากลักษณะเช่นนี้จะพบว่า เนื้อหาของแบบเรียนประถมศึกษาภาษาไทย-มานีมานะ นอกจากจะให้ความรู้ด้านอักขรวิธี และความรู้ทางด้านวิทยาการต่างๆ แล้ว ยังมีการสอนถึงความรู้และแนวคิดเกี่ยวกับแบบแผนพลเมืองที่รัฐต้องการ การสอนให้เป็นผู้ยอมรับและเชื่อฟังต่ออำนาจรัฐ

 

โดยเนื้อหาของแบบเรียนประถมศึกษา ภาษาไทย-มานีมานะ นั้นเป็นแบบเรียนที่ผูกและสร้างเรื่องผ่านกลวิธีทางวรรณกรรม เป็นเรื่องราวของ มานี-มานะ รักเผ่าไทย, ปิติ พิทักษ์ถิ่น, วีระ ประสงค์สุข, ดวงแก้ว ใจหวัง, ชูใจ เลิศล้ำ และผู้คนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในแบบของครอบครัวและชุมชนหมู่บ้าน โดยร้อยเรียงเป็นเรื่องเดียวกันตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 1 ไปจนถึง ประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งเนื้อหาของแบบเรียนจะเติบโตไปพร้อมกับตัวนักเรียนผู้อ่านพร้อมๆกัน การครอบงำทางสังคมที่มาจากโครงสร้างส่วนบนของรัฐจึงสามารถส่งผ่านระบบการศึกษาได้เป็นอย่างดี ซึ่งได้แสดงถึง ความพยายามครอบครองความเป็นเจ้าของแนวคิด (Hegemony) ของทางราชการ (รัฐ) ต่อประชาชนทั่วไป

 

จากการศึกษาโดยอ้างอิงแนวคิดของ อันโตนิโอ กรัมชี นั้น แบบเรียนประถมศึกษาวิชาภาษาไทยสามารถจัดอยู่ในกลุ่มของ Cultural Hegemony ที่หมายถึงการสถาปนาระบบคิด ระบบอุดมการณ์ ระบบวัฒนธรรมอันหนึ่งให้กลายเป็นระบบคิดหลักและวัฒนธรรมหลักของสังคม และกีดกันระบบคิดอื่นๆ วัฒนธรรมแบบอื่นๆ ให้กลายเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรมไป

 

การครอบครองความเป็นเจ้าของแนวคิด (Hegemony) หมายถึง กลไกของกลุ่มชนชั้นนำในการปก

ครองสังคม (Dominant class) ที่พยายามใช้วิธีทำให้คนกลุ่มอื่นๆ ในสังคมสมยอมคล้อยตาม ยอมรับเอาความคิดของตน (Dominant ideology) ไปเป็นความคิดของคนทุกๆ กลุ่ม โดยผ่านสถาบันที่กรัมชีเรียกว่า ประชาสังคม (Civil society)

 

เนื่องจาก "แบบเรียน" เป็นวิธีการสื่อสารจากรัฐ (ชนชั้นปกครอง) ที่ถูกนำมาใช้ในโรงเรียนเพื่อสร้าง "อุดมการณ์หลัก" ของรัฐต่อพลเมืองไทย แบบเรียนดังกล่าวใช้วิธีการผูกและสร้างเรื่องผ่านกลวิธีทางวรรณกรรม โดยใช้ชุดตัวละครหลักอันประกอบด้วย มานี - มานะ รักเผ่าไทย, ปิติ พิทักษ์ถิ่น,วีระ ประสงค์สุข, ดวงแก้ว ใจหวัง, ชูใจ เลิศล้ำ และผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันแบบหมู่บ้านในแบบเรียน

 

จากการวิเคราะห์เนื้อหาหลักของแบบเรียนตามที่รัฐต้องการให้เกิดต่อพลเมืองไทย ได้แก่ มีพันธะต่ออนาคตเหมือนกัน คือ ความเจริญเป็นปึกแผ่นของชาติ, มีประวัติศาสตร์ร่วมกัน คือ การดำรงรักษาเอกราชของชาติสืบมาแต่โบราณ และ เคารพสักการะพระมหากษัตริย์เหมือนกัน ซึ่งจะถูกใช้เป็นคติในการมอง และแก้ปัญหาความขัดแย้งในชาติ ตามที่ปรากฏในแบบเรียนเสมอ ด้วยลักษณะสำหรับการประนีประนอม หรือการสร้างทัศนคติที่ยอมรับความแตกต่างอย่างเสมอภาค (ในที่นี้ คือ ความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมและภูมิศาสตร์เป็นสำคัญ ไม่รวมถึงความแตกต่างหลากหลายในเรื่องของโอกาสและสภาพเศรษฐกิจ และการเมืองของคนกลุ่มต่างๆ ความแตกต่างหลากหลายจึงยิ่งไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง และการต่อสู้ทางการเมืองยิ่งขึ้นไปอีก)

 

เพื่อการไปสู่เนื้อหาหลักเกี่ยวกับคติ 3 ประการข้างต้น จะต้องผ่านกระบวนการสร้างวาทกรรมเกี่ยวกับความหมายของเนื้อหาอื่นๆอีก ได้แก่ วาทกรรมเกี่ยวกับความซื่อสัตย์, ความสามัคคี, ความรักชาติ, การมีวัฒนธรรมร่วมกันอย่างเดียวกัน, การลดปัญหาเหลือเพียงเรื่องของศีลธรรม

 

 

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า วาทกรรมหลักเกี่ยวกับแบบแผนพลเมืองไทยดังกล่าว ต่างถูกสร้างให้ผูกโยง และก่อตัวซ้อนทับกันในที เช่น ความสามัคคีก็เป็นไปเพื่อพันธะต่ออนาคตที่ต้องการความเจริญเป็นปึกแผ่นของชาติ เป็นต้น และโดยตัววาทกรรมหลักเหล่านี้ ก็ถูกสร้างและรองรับด้วยคติและวาทกรรมอื่นๆ อันได้แก่ ความเคารพอาวุโส, เชื่อฟังพ่อแม่ ครูอาจารย์, ความเกรงใจ, ความกล้าหาญ, ความเสียสละ, ความถ่อมตน, ความผ่อนปรน, ความอดทนพยายาม, ความกตัญญูกตเวที, ความประหยัด, การรู้บุญคุณและตอบแทนบุญคุณ ฯลฯ

 

ซึ่งทั้งหมดมุ่งเป้าไปสู่คติ 3 ประการ คือ พันธะต่ออนาคต, มีประวัติศาสตร์ร่วมกัน และเคารพสักการะพระมหากษัตริย์เหมือนกัน ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

 

เงื่อนไขของการนำแนวคิดที่รัฐต้องการสร้างต่อตัวพลเมืองที่รัฐต้องการก็คือ การใช้กลวิธีทางวรรณกรรมในการนำเสนอแนวคิดและวาทกรรมผ่านแบบเรียนประถมศึกษาภาษาไทย มานี-มานะ กลวิธีทางวรรณกรรมที่ถูกนำมาใช้มีทั้ง การเขียนบันทึกของตัวละครหลัก, การเขียนจดหมาย, การถ่ายทอดผ่านปากคำผู้มีอำนาจ/สถานภาพเหนือกว่า, การบรรยายของผู้ประพันธ์, การใช้กลวิธีทางวรรณศิลป์ (กลอน/โคลง), การยกนิทานหรือเรื่องเล่ามาประกอบ, การยกเพลงปลุกใจมาประกอบ, การใช้บทละครเวทีดำเนินเรื่อง และการสร้างตัวละครแบบฉบับ

 

จากกลวิธีทางวรรณกรรมดังที่กล่าวมานั้น การถ่ายทอดผ่านปากคำผู้มีอำนาจ/สถานภาพเหนือกว่า และ การสร้างตัวละครแบบฉบับ เป็นกลวิธีที่ถูกนำมาใช้ในการนำเสนอมากที่สุด ด้วยเงื่อนไขที่ถูกรองรับด้วยวาทกรรมของการเชื่อฟังผู้ใหญ่/ครู อาจารย์ รวมทั้งการมาโรงเรียนเป็นเรื่องดี ทำให้ข้อมูลที่มาจากผู้ที่มีอำนาจ/สถานภาพเหนือกว่า ถูกทำให้เป็นความจริงขึ้นมา และการสร้างตัวละครแบบฉบับนั้น มีสาเหตุมาจากแนวคิดที่ว่า เด็กมักมีแนวโน้มในการมีพฤติกรรมตามตัวละครที่อ่าน โดยการประเมินค่าตัวละครในเรื่องและตัวละครใดแสดงพฤติกรรมได้รับผลน่าพอใจ (ได้รับการยอมรับ/มีคำชม/ได้ผลตอบแทนดี) เด็กย่อมอยากเลียนแบบพฤติกรรมและความคิดนั้น ตรงกันข้ามถ้าตัวละครใดแสดงพฤติกรรมแล้วได้รับผลเสีย (ถูกทำโทษ/โดนว่ากล่าว) เด็กจะพยายามหลีกเลี่ยงพฤติกรรมนั้นๆ

 

ดังนั้นการใช้ตัวละครในเรื่องแต่งสำหรับเด็กจึงเป็นวิธีหนึ่งในการกล่อมเกลานิสัยของเด็ก ทำให้นักเรียนที่เรียนแบบเรียนประถมศึกษาภาษาไทย มานี-มานะ ยึดปฏิบัติตามลักษณะตัวละครที่ได้รับการรองรับว่าดีตามในแบบเรียนดังกล่าวเป็นแบบอย่าง

 

จากการศึกษา การครอบครองความเป็นเจ้าของแนวคิด (Hegemony) เกี่ยวกับการสร้างแบบแผน

พลเมืองไทย ในแบบเรียนประถมศึกษา ภาษาไทย มานี-มานะ จะเห็นว่า อุดมคติหลักที่รัฐเน้นย้ำเสมอใน

แบบเรียน คือ มีพันธะต่ออนาคตของชาติ, มีประวัติศาสตร์เอกราชร่วมกัน และเคารพสักการะในพระมหา

กษัตริย์เหมือนกัน ซึ่งผลจากการวิเคราะห์วาทกรรมพบว่าพลเมืองไทยที่ผ่านระบบการศึกษาของรัฐ (ที่

หากแบบเรียนมีประสิทธิภาพในการสร้างโลกทัศน์ให้พลเมืองไทยได้อย่างบริบรูณ์) พลเมืองไทยส่วนใหญ่จึงมีลักษณะที่มีความพร้อมที่จะยินยอม และเชื่อตามที่รัฐต้องการ, ไม่มีนิสัยตั้งคำถาม, แก้ปัญหาด้วยวิธีการประนีประนอม, ไม่กล้าที่จะแตกต่าง, มองปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมโดยไม่รู้สึกแปลกแยก และมองปัญหาต่างๆ ในสังคม เหลือเพียงเรื่องปัญหาศีลธรรม อันเป็นปัญหาที่ไม่นำไปสู่ความขัดแย้งใดๆ ในสังคม เพราะเรื่องของศีลธรรมนั้น - ในแง่หนึ่ง แก้ไขได้ง่ายเพราะชัดเจน

 

กล่าวคือ ในโลกมีคนชั่ว และเราก็รู้ว่าใครคือคนชั่ว อยู่แต่ว่าจะ แก้ไข ให้เขากลับเป็นคนดี หรือจะ ขจัด เขาออกไปได้อย่างไร และเมื่อรู้ว่าใครชั่วได้ ก็ย่อมรู้ว่าใครดีได้ ถึงตอนนั้นก็ยกอำนาจเด็ดขาดให้คนดีเพื่อแก้ไขคนชั่วหรือขจัดคนชั่วเสีย ทุกอย่างก็จะสงบเรียบร้อยไปเอง

 

ซึ่งทั้งหมดนำไปสู่ "ความสงบสุขราบคาบภายใต้ (ผลประโยชน์) การดูแลโดยรัฐ"

 

 

แต่ทว่า "การครอบครองความเป็นเจ้าของแนวคิด" (Hegemony) นี้ ไม่ได้มีอยู่แต่เพียงในแบบเรียน หรือโรงเรียนเท่านั้น ยังมีเงื่อนไขและกลไกอื่นๆ อีกที่สามารถทำการครอบครองความเป็นเจ้าของแนวคิดได้ เช่น ในกระบวนการสื่อสารมวลชน ศาสนา และวัฒนธรรม ทั้งนี้ ในวาทกรรมหลักที่รัฐนำเสนอก็ไม่อาจได้ผลประสิทธิภาพบริบูรณ์ เพราะในวาทกรรมหลักเองก็มีการต่อสู้แย่งชิงการนำอยู่เสมอ (ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ ที่จะเกิดกลไก "หนังสือต้องห้าม" หรือ "เพลงต้องห้าม" ในสังคมไทย) และภายใต้ความจริงที่ว่าเด็กได้เรียนรู้อะไรในสนามเด็กเล่นมากกว่าในห้องเรียน เราจึงไม่อาจกล่าวได้อย่างชัดเจนว่าพลเมืองไทยที่เป็นอยู่มีผลมาจากแบบเรียนเท่านั้น เด็กนักเรียนในปัจจุบันมีโลกกว้างกว่าตัวแบบเรียนในหนังสือเท่านั้น แต่การถ่ายทอดวาทกรรมของรัฐกลับไม่ได้หายไปตามแง่มุมที่มากขึ้นของโอกาสทางการสื่อสาร แม้จะมี การรับรู้ผ่านทางวิทยุ โทรทัศน์ หรือกระทั่งผ่านทางอินเตอร์เน็ตก็ตาม ค่าที่วาทกรรมหลักดังที่กล่าวมาแล้วนั้นฝังลึกในความเชื่อหลักของสังคมไทย จนทำให้ถูกถ่ายทอดผ่านตัวบุคคลอันมีลักษณะของ พลเมืองที่ดีของรัฐ ผู้ถืออำนาจในการผลิตสื่อมวลชนด้วย

 

ความน่ากลัวของการศึกษาถูกวางรากฐานความคิดมาจากปฏิรูปประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 ในครั้งนั้นสิ่งสำคัญ 3 สถาบันได้เกิดขึ้น คือ การศึกษา, การปกครอง และ การทหาร (กองทัพ) ซึ่งทั้งหมดเพื่อการควบคุมดูแลพลเมืองของรัฐ เป็นขั้นเป็นตอนไป ซึ่งก็ได้ผลเรื่อยมา มิพักต้องพูดถึงเหตุการณ์ที่นำกองทัพมาใช้กับประชาชนทั้งเดือนตุลาคม พฤษภาคม และกันยายน

 

ในสังคมไทย ผู้คนต่างดิ้นรนเข้าสู่ระบบการศึกษาเหมือนกัน ตั้งแต่วัยเด็กที่ต้องเรียนในโรงเรียนดีๆ (ในความหมายของการมีชื่อเสียง) การพยายามเพื่อให้ได้เรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐ การมีหน้ามีตาที่พร้อมจะถีบคนอื่นให้พ้นจากหนทางความก้าวหน้าที่ต่างดิ้นรนไปสู่ การพยายามแก่งแย่งแข่งขันจึงทำให้เกิด ผู้ชนะ และ ผู้แพ้ ขึ้น

 

แน่นอน...สัดส่วนของการไปยืนเป็นผู้ชนะนั้น ถูกทำให้น้อยลงทุกขณะที่ทุกคนเติบโตขึ้นในสังคม ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมจึงเป็นคนที่ถูกสร้างความหมายว่า พ่ายแพ้ เป็น "คนแพ้" ของระบบสังคมไทย

 

มันจะไปยากอะไรที่ทำให้ผู้คนในสังคมต่างก้มหน้ายอมรับชะตากรรม ร่วมเดินไปในหนทางเดียวกัน...

 

ก็เราต่างถูกครอบไว้ด้วยวาทกรรมที่ต้องการให้พลเมืองไทยมีลักษณะพร้อมที่จะยินยอม และเชื่อตามที่รัฐต้องการ, ไม่มีนิสัยตั้งคำถาม, แก้ปัญหาด้วยวิธีการประนีประนอม, ไม่กล้าที่จะแตกต่าง, มองปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมโดยไม่รู้สึกแปลกแยก และมองปัญหาต่างๆ ในสังคม เหลือเพียงเรื่องปัญหาศีลธรรม อันเป็นปัญหาที่ไม่นำไปสู่ความขัดแย้งใดๆ ยอมรับความเชื่อ ค่านิยม ที่รัฐ (สังคม) กำหนด ก้มหน้าเป็น คนแพ้ ต่อไป...

 

 

** บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่ sukkunsi.multiply.com

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท