"ข่ายอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ" ไม่วางใจ ห้ามป่าชุมชนแค่ "พื้นที่ป่าอนุรักษ์พิเศษ"

ประชาไท - 16 ก.ย.48 ในงานสัมมนา ป่าต้นน้ำกับพ.ร.บ.ป่าชุมชน จัดโดยศูนย์เศรษฐศาสตร์นิเวศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.วสันต์ จอมภักดี ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะอนุกรรมการลุ่มน้ำปิงตอนบน ประธานมูลนิธิธรรมนาถ กล่าวถึงการลงมติของคณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาร่างพ.ร.บ.ป่าชุมชน กำหนดให้มี "พื้นที่อนุรักษ์พิเศษ" ซึ่งห้ามทำป่าชุมชนราว 19 ล้านไร่จากพื้นที่อนุรักษ์ทั้งหมดราว 85 ล้านไร่ว่า คงต้องดูกันในรายละเอียดว่าพื้นที่ดังกล่าวนี้อยู่ตรงไหนบ้าง อย่างไรก็ตาม การอนุรักษ์ป่าที่ถูกต้องนั้นต้องอนุรักษ์เป็นผืนทั้งหมดเพื่อให้มีมวลพลัง ความชื้น ไม่ใช่การจำเพาะเป็นหย่อมๆ กระจัดกระจาย

ดร.วสันต์ ยังคงยืนยันว่าไม่ควรให้มีการจัดตั้งป่าชุมชนในผืนป่าอนุรักษ์ทั้งหมด และไปจัดตั้งในพื้นที่ป่าอื่นๆ รอบเขตอนุรักษ์ รวมทั้งมุ่งฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรมแล้วให้เป็นป่าชุมชน เนื่องจากป่าอนุรักษ์ส่วนใหญ่เป็นป่าต้นน้ำลำธาร ซึ่งไม่สามารถหาสิ่งใดมาทดแทนได้ และแม้กฎหมายจะมีเงื่อนไขการขอจัดตั้งป่าชุมชนที่รัดกุม แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของคนที่เป็นคณะกรรมการ ซึ่งถือเป็นช่องโหว่สำคัญที่อาจจะนำไปสู่การสูญเสียป่า

"รุ่นพ่อมีอาจมีจิตใจดี ตั้งใจดีที่จะรักษาป่า แล้วรุ่นลูกใครจะรับประกันว่าจะเป็นอย่างนั้น กฎหมายเป็นสิ่งที่เราต้องมองล่วงหน้า 50 ปี" ดร.วสันต์กล่าว

ศ.ดร.นิวัติ เรืองพาณิช อดีตคณบดีวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรกล่าวว่า ป่าต้นน้ำเป็นส่วนที่ล่อแหลม ไม่ควรไปแตะต้อง แต่ถ้ามีชุมชนอยู่มาก่อนนานแล้วก็สามารถอยู่ได้ หากอยู่แบบยังชีพซึ่งต้องยอมรับข้อจำกัด เช่น ต้องไม่ขยายประชากร แต่ไม่ควรออกกฎหมายรองรับ ไม่เช่นนั้นถนน ไฟฟ้าก็เข้าไป จนป่าถูกทำลายหมด

นายทรงธรรม สุดสว่าง ตัวแทนจากกรมอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า น่าจะระงับการออกพ.ร.บ.ป่าชุมชนไว้ก่อน เพราะขณะนี้ทางกรมฯ กำลังมีแนวคิดในการแก้ปัญหาชุมชนดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์อยู่แล้ว โดยจะตั้งโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม คาดว่าจะดำเนินการภายใน 2-3 ปีนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรูปแบบการจัดการอย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ยังมีตัวแทนชาวบ้านจากภาคต่างๆ มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ในการรักษาป่าร่วมกัน โดยส่วนใหญ่เห็นว่า "คน" ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดต่างก็เป็นตัวการทำลายป่าไม้ จึงควรกันพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำไว้เป็นสมบัติสาธารณะ ไม่ใช่สมบัติของชุมชนใดชุมชนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนจากภาคใต้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยเห็นด้วยกับพ.ร.บ.ดังกล่าว โดยเชื่อว่าการสร้างจิตสำนึกให้ชุมชนรักษาป่าจะเป็นการรักษาป่าได้ยั่งยืนที่สุด เพราะที่ผ่านมาในพื้นที่ภาคใต้พิสูจน์ชัดว่าเจ้าหน้าที่เพียงฝ่ายเดียวไม่สามารถรักษาป่าได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท