Skip to main content
sharethis

ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งไม่เพียงจะเป็นเรื่องหนักอกของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมชายฝั่งทะเลเท่านั้น เพราะดูเหมือนว่าสถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งทะเลยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี นับตั้งแต่มีโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งโดยการก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ โดยไม่รู้ว่าจะต้องย้ายหนีไปอีกเมื่อไหร่ หากเกิดคลื่นกัดเซาะรุนแรงโดยไม่ทันตั้งตัว


ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งไม่เพียงสร้างความเดือนร้อนให้กับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมชายฝั่งทะเลเท่านั้น แม้แต่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ซึ่งตั้งอยู่ริมชายฝั่งทะเลอำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ก็ประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเช่นกัน


เริ่มต้นปี 2550 ซึ่งมีช่วงฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือยาวนาน ทำให้ยังคงมีการกัดเซาะชายฝั่งอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณตลิ่งชายฝั่งทะเล ในเขตพระราชฐานชั้นนอกของพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ซึ่งเดิมชายฝั่งทะเลอยู่ห่างจากถนนทางเสด็จฯ พระราชดำเนิน ประมาณ 100 เมตร แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 8 เมตร


ด้วยเหตุดังกล่าวทางจังหวัดนราธิวาส ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าร่วมประชุมหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2550 ณ ห้องประชุมอาคารสิริกาญจนทักษิณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้นำเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเน้นให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดด้วยวิธีการถมทราย


จากการการสำรวจพื้นที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในวันเดียวกันนั้น ในเขตพระราชฐานชั้นกลางบางส่วน เขตพระราชฐานชั้นนอก และพื้นที่ด้านใต้พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ประมาณ 2 กิโลเมตร พบพื้นที่กัดเซาะชายฝั่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นบริเวณชายฝั่งของเขตพระราชฐานชั้นนอก ต่อเนื่องมาจากเขตพระราชฐานชั้นกลาง ลงไปทางใต้จนพ้นแนวรั้วพระตำหนักออกไปอีกประมาณ 100 เมตร ระยะทางประมาณ 1,100 เมตร (ตัวเลขของกรมอุทกศาสตร์)


จากการประเมินสาเหตุในเบื้องต้น คาดว่าน่าจะเกิดจากกองหินที่ปลายชายหาดบริเวณเขตพระราชฐานชั้นกลาง ซึ่งเดิมเป็นกองหินใต้ชายหาด แต่ถูกกัดเซาะอย่างต่อเนื่องมานาน จนกระทั่งโผล่พ้นชายหาดขึ้นมา จึงมีสภาพเป็นรอดักทราย และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชายหาดด้านใต้ของกองหิน 


ดังนั้น พื้นที่กัดเซาะจึงเกิดขึ้นตั้งแต่กองหินดังกล่าวขึ้นมาตามแนวชายฝั่งเขตพระราชฐานชั้นนอก ต่อเนื่องออกไปจนพ้นรั้วพระตำหนัก เนื่องจากในช่วงนี้ยังคงได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนืออยู่


ในการสำรวจพื้นที่กัดเซาะชายฝั่งเบื้องต้น พบว่ามีความชันหน้าหาดลึกประมาณ 3 เมตร พื้นที่ชายหาดสูญเสียไปประมาณ 30 เมตร


สำหรับพื้นที่ถมทรายจำเป็นต้องสำรวจอย่างละเอียด ซึ่งต้องใช้เจ้าหน้าที่สำรวจที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อให้ได้ผลที่ถูกต้องและรวดเร็ว จึงจะสามารถคำนวณปริมาณทรายที่ถูกต้องได้ ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ไม่มีเจ้าหน้าที่ดังกล่าวนี้ เนื่องจากไม่มีวิศวกร


 


การสำรวจพื้นที่กัดเซาะตลิ่งชายฝั่งทะเลพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์


วันพุธที่ 9 พฤษภาคม 2550




พื้นที่กัดเซาะตลิ่งชายฝั่งทะเลสิ้นสุดที่บริเวณด้านใต้พระตำหนักฯ


ห่างแนวรั้วเขตพระราชฐานชั้นนอกออกไปประมาณ 100 เมตร



สภาพแนวสันทรายบริเวณชายหาดด้านใต้พระตำหนักฯ ประมาณ 2 กิโลเมตร มีสภาพปกติ


 


 


 


กองหิน บริเวณปลายชายหาดในเขตพระราชฐานชั้นกลาง


ที่โผล่พ้นชายหาดขึ้นมา มีผลเช่นเดียวกับรอดักทราย


 


สำหรับสภาพชายฝั่งทะเลทั่วไปของจังหวัดนราธิวาส มีลักษณะเป็นชายหาดทรายยาวตรงในแนวเหนือใต้ ซึ่งเกิดจากกระแสน้ำชายฝั่ง (Long shore current) พัดพาตะกอนทรายเคลื่อนที่ตามแนวชายฝั่งจากใต้ขึ้นไปทางเหนือ เป็นตะกอนทรายที่เคลื่อนตัวตามแนวชายฝั่งต่อเนื่องจากประเทศมาเลเซียและจากแม่น้ำสุไหงโก - ลก

ตามปกติการเคลื่อนตัวของตะกอนทรายบริเวณนี้ ในอัตราประมาณ 700,000 - 1,000,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี เมื่อมีการก่อสร้างโครงสร้างดังกล่าวขึ้น ทำให้การเคลื่อนที่ของตะกอนทรายลดลงเนื่องจากถูกดักไว้บางส่วน



รูปรอดักทรายป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล จ.นราธิวาส ดำเนินการโดยกรมชลประทาน ปี 2539


ส่วนสาเหตุของการกัดเซาะในบริเวณดังกล่าว ในเอกสารโครงการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะตลิ่งชายฝั่งทะเลในเขตพระราชฐาน พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า สภาพการกัดเซาะชายฝั่งดังกล่าว เกิดจากชายหาดบริเวณหน้าพระตำหนักฯ ขาดตะกอนทรายมาหล่อเลี้ยงเป็นระยะเวลานานและต่อเนื่อง


ทั้งนี้ เนื่องจากตะกอนทรายที่เคยเคลื่อนตัวตามธรรมชาติ ถูกกักอยู่บริเวณเขื่อนกันทรายและคลื่น (Jetty) ที่ฝั่งประเทศมาเลเซีย และรอดักทราย (Groin) 33 ตัว ทางตอนใต้ของพระตำหนักฯ บริเวณปากแม่น้ำสุไหงโก - ลก ซึ่งมีระยะทางรวมประมาณ 20 กิโลเมตร


โครงสร้างทั้งหมด ซึ่งอยู่ห่างจากพระตำหนักฯ ประมาณ 10 กิโลเมตร ไม่ได้ส่งผลกระทบให้เกิดกระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางมากัดเซาะชายหาดหน้าพระตำหนักฯ โดยตรง แต่จะกักทรายที่ต้องมาหล่อเลี้ยงชายหาดหน้าพระตำหนักฯ จึงเกิดภาวะขาดสมดุลตามธรรมชาติขึ้น เพราะขาดตะกอนทรายมาหล่อเลี้ยง เป็นเหตุให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างต่อเนื่องทุกปี


ขณะที่ทรายที่อยู่ด้านเหนือโครงสร้าง ยังคงมีการเคลื่อนขึ้นไปทางเหนือโดยตลอด จึงยิ่งทำให้ชายหาดบริเวณหน้าพระตำหนักฯ สูญเสียสูญเสียทรายเพิ่มขึ้นทุกปี มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับขนาดคลื่นลม ซึ่งเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดความรุนแรงของการกัดเซาะชายฝั่งทะเล


สำหรับรอดักทราย (Groin) ดังกล่าวดำเนินการโดยกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อปี 2539 ส่วนการกัดเซาะอย่างรุนแรงในบริเวณชายฝั่งหน้าหาดพระตำหนังทักษิณราชนิเวศน์ นั้นเกิดขึ้นอย่างรุนแรงตั้งแต่ ปี 2543 เป็นต้นมา


ทั้งนี้ในการประชุมเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2550 นั้น นายการัณย์ สุภกิจวิเลขการ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นประธานการประชุม ได้แจ้งว่า ได้รับหนังสือแจ้งจากพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ สำนักพระราชวัง ระบุว่า ปี 2542 ได้เกิดคลื่นขนาดใหญ่ ซัดทำลายชายฝั่งรุนแรงมาก


ในขณะที่ผู้แทนกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ แจ้งว่า จากการสำรวจพื้นที่ชายฝั่งบริเวณตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ระหว่างปี 2543 - 2546 พบว่า หลังฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ ช่วงเดือนตุลาคม 2543 มีการกัดเซาะอย่างรุนแรงผิดปกติ แม้ปีต่อมา จะมีทรายมาทับถมดังเดิม แต่ก็มีแนวโน้มการกัดเซาะเพิ่มมากขึ้น


ส่วนแนวทางการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในเขตพระราชฐาน พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ที่ได้จากประชุมในวันดังกล่าวนั้นมีการเปรียบเทียบข้อดีขอเสียระหว่างการใช้โครงการสิ่งก่อสร้างในการแก้ปัญหา กับการถมทรายเลียนแบบธรรมชาติ ซึ่งแน่นอนว่าที่ประชุมเลือกแบบที่สอง


โดยได้ข้อสรุปว่า การแก้ปัญหาในระยะเร่งด่วน มี 2 แนวทาง คือ การทิ้งหินขนาดใหญ่แล้วใช้ทรายกลบ และใช้ทรายมาถมอย่างเดียว ซึ่งต่อมามีการเลือกใช้แนวทางแรกซึ่งเริ่มดำเนินการไปแล้ว


โดยทางจังหวัดนราธิวาสได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2550 เป็นต้นมา ในระยะทางยาว 625 เมตร ตามแนวชายหาดที่ถูกกัดเซาะ มีกำหนดแล้วเสร็จวันที่ 30 กรกฎาคม 2550 ใช้งบประมาณ 82 ล้านบาท


ทั้งนี้ เพื่อให้ทันการเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จฯ พระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถในเดือนสิงหาคม 2550 นี้


นั่นเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความพยายามแก้ปัญหาชายหาดพัง จะได้ผลมากน้อยเพียงใดต้องรอพิสูจน์ เพราะถึงอย่างไรสิ่งก่อสร้างที่ถูกระบุว่าเป็นต้นเหตุยังคงอยู่


 


 ...............................
ภาพจากเอกสารนำเสนอของตัวแทนจากกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 50

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net