องค์กรด้านสิทธิ-สื่อ ต้าน พ.ร.บ.ความมั่นคง

 

เมื่อวันที่ 13 ก.ค. เวลา 11.30 น. ที่บ้านพิษณุโลก คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) และเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชน นำโดยนายสมชาย หอมลออ นายจอน อึ๊งภากรณ์ นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ นายเมธา มาสขาว นายไพโรจน์ พลเพชร และนางอังคณา นีละไพจิตร เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีเพื่อคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร โดยระบุรัฐบาลเฉพาะกาลไม่ควรตรากฎหมายที่กระทบสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ชี้ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจแก่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.รมน.) คือผู้บัญชาการทหารบกโดยตำแหน่ง ซึ่งเป็นข้าราชการประจำอย่างมากมายและกว้างขวาง เทียบเท่าเช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรี


 

ซ้ำยังมีอำนาจบังคับบัญชาสั่งการหน่วยงานและเจ้าพนักงานของรัฐทุกหน่วยงานและทุกคนได้โดยไม่ต้องปรึกษาหรือขอความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี และมีอำนาจออกประกาศต่างๆ ที่จำกัดและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสิทธิมนุษยชน อันอาจก่อให้เกิดเผด็จการเบ็ดเสร็จ ซึ่งจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

 

ระบุการสร้างระบอบอำนาจนิยมที่มีกองทัพเป็นแกนนำอย่างถาวร และมีอำนาจเหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งย่อมจะเกิดเป็นระบบ "รัฐซ้อนรัฐ" อันจะทำให้การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง (ดูล้อมกรอบ)

 

องค์กรสื่อ เตือนรัฐบาลชั่วคราวออกกฎหมายด้านความมั่นคงเพิ่ม อาจถูกมอง สืบทอดอำนาจ

วันเดียวกัน ผู้แทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ได้แก่ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ได้เดินทางเข้าพบพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นหนังสือขอให้ ยุติการเสนอร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. .... โดยนายสุวัฒน์ ทองธนากุล ประธานสภาการน.ส.พ.แห่งชาติ กล่าวว่า เหตุผลหลักที่ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ คัดค้านร่างกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจาก เห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าว ขัดต่อหลักสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน กระบวนการบัญญัติกฎหมาย ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งๆ ที่เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจบุคคลหรือคณะบุคคลที่ไม่ได้มาจากกระบวนการเลือกตั้ง จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างชัดเจน นอกจากนี้ การออกกฎหมายระหว่างที่ประเทศปกครองโดยรัฐบาลชั่วคราวในขณะที่มีกฎหมายด้านความมั่นคงฉบับอื่นๆ อยู่แล้ว อาจทำให้ถูกมองว่ามีการสืบทอดอำนาจของกลุ่มเผด็จการทหาร ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลอย่างสิ้นเชิง

 

ด้านพลเอกสุรยุทธ์ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พร้อมที่จะเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็น และเชื่อว่าในขั้นของกฤษฎีกา ยังมีขั้นตอนการแก้ไขได้ อย่างไรก็ตามยังเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายนี้อยู่ เพียงแต่ต้องเป็นกฎหมายที่ทุกฝ่ายยอมรับ

    

"กฎหมายนี้ มีสอง กรอบ คือ องค์กร กับการใช้อำนาจตามกฎหมาย รัฐบาลไม่อยากใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก เพราะเก่าและล้าสมัย อยากจะให้มีการปรับปรุงแก้ไขก่อน รัฐบาลมีความตั้งใจที่จะร่างกฎหมายที่ได้รับการยอมรับ เปิดเผย โปร่งใส โดยจะไม่เร่งรัดทั้งในขั้น กรรมาธิการ และ กฤษฎีกา และก่อนกลับเข้าพิจารณาใน ครม.คงได้มีการหารือฝ่ายต่างๆ ก่อน รวมทั้งสื่อมวลชนด้วย ผมยืนยันในฐานะประธานของครม. จะยังไม่นำเข้าหากมีข้อขัดแย้งมากมายใหญ่โต เพื่อไม่ให้เป็นปัญหา "

 

นายกฯ กล่าวต่อว่า ในวันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม 2550 เวลา 9.00 น. ที่รัฐสภา จะมีการจัดเวทีเพื่อรับฟังความเห็นในเรื่องดังกล่าว โดยเป็นความร่วมมือกับ นายโคทม อารียา ประธานคณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วม สนช.

 

สำหรับ ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 6 แห่งที่ไปร่วมยื่นหนังสือ อาทิ นายสุวัฒน์ ทองธนากุล ประธานสภาการนักหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นายสมชาย แสวงการและนายเทพชัย หย่อง ที่ปรึกษาและนายเถกิง สมทรัพย์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นายดำฤทธิ์ วิริยะกุล และนายปรีชา พบสุข ทีปรึกษาสมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และนายเกษม อินทร์แก้ว นายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย เป็นต้น

 

 

 

 

 

ที่ 10/2550

13 กรกฎาคม 2550

 

เรื่อง ขอให้ยุติการเสนอร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ.....

กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์

 

 

 

            เนื่องด้วยเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบอนุมัติหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ..... ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากำลังพิจารณาก่อนที่รัฐบาลจะเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ให้พิจารณา ต่อไป นั้น

 

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนตามรายนามข้างท้ายนี้ ขอเรียนเสนอความเห็นและข้อเรียกร้องต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้

 

 1.ร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ........ ได้ให้อำนาจแก่ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.รมน.) คือผู้บัญชาการทหารบกโดยตำแหน่ง ซึ่งเป็นข้าราชการประจำอย่างมากมายและกว้างขวาง เทียบเท่าเช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรี ที่ใช้อำนาจตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยผู้บัญชาการทหารบก มีอำนาจบังคับบัญชาสั่งการหน่วยงานและเจ้าพนักงานของรัฐทุกหน่วยงานและทุกคนได้โดยไม่ต้องปรึกษาหรือขอความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี และมีอำนาจออกประกาศต่างๆ ที่จำกัดและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสิทธิมนุษยชน หรือ ให้อำนาจเจ้าพนักงาน ค้น จับกุม คุมขัง บุคคล ห้ามบุคคลใดๆออกนอกเคหสถาน ห้ามการเดินทางตามเส้นทางต่างๆ ได้ ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งยังมีอำนาจย้ายข้าราชการ เจ้าพนักงานของรัฐออกจากพื้นที่ได้ด้วย ตลอดจนสามารถใช้กำลังเข้าปราบปรามการกระทำที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ซึ่งเป็นการหมิ่นเหม่อย่างมากที่อาจมีการใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชนที่มีความคิดเห็นต่างจากรัฐได้ โดยอ้างความมั่นคงในราชอาณาจักร การใช้อำนาจดังกล่าวเป็นการกำหนดไว้อย่างถาวร โดยสามารถใช้อำนาจที่ไหนในเวลาใดก็ได้ โดยไม่มีขอบเขตโดยไม่ต้องปรึกษาหรือขอความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี และไม่ถูกตรวจสอบตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีทางปกครอง พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นกฏหมายหลักในการตรวจสอบการใช้อำนาจของข้าราชการตามหลักนิติรัฐ ซึ่งจะทำให้ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือรัฐบาลพลเรือน และมีลักษณะ "เผด็จการเบ็ดเสร็จ" อันจะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

 

นอกจากนี้ ยังยกเว้นเจ้าพนักงานผู้ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ต้องมีความผิดทั้งทางแพ่ง อาญา หรือวินัย จึงเท่ากับเป็นการสนับสนุนวัฒนธรรมผู้กระทำผิดลอยนวล ที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตน ทำให้ผู้ใช้อำนาจตามร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่ต้องถูกตรวจสอบโดยศาล รวมทั้งประชาชนที่อาจได้รับความเสียหายหรือผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ไม่อาจฟ้องร้องต่อศาลเพื่อแสวงหาความยุติธรรมและการเยียวยาความเสียหายได้ ยกเว้นแต่จะพิสูจน์ว่าเจ้าพนักงานนั้นได้กระทำโดยไม่สุจริต เลือกปฏิบัติและ เกินสมควรแก่เหตุ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะพิสูจน์ได้

 

ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ นอกจากจะเป็นการล่วงเกินอำนาจตุลาการ อันถือได้ว่าเป็นกฎหมายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกระบวนการยุติธรรม และขัดหลักกฏหมายอาญาแล้ว ยังจะส่งผลให้ระบบนิติรัฐของประเทศไทยที่ถูกเว้นวรรคจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายนปีที่แล้วต้องถูกแช่แข็งต่อไปด้วย การสร้างระบอบอำนาจนิยมที่มีกองทัพเป็นแกนนำอย่างถาวร และมีอำนาจเหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งย่อมจะเกิดเป็นระบบ "รัฐซ้อนรัฐ" อันจะทำให้การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นความตั้งใจของ ฯพณฯ และเป็นความคาดหวังของประชาชนไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง

 

2. หากจะยังคงมีความพยายามในการผลักดันให้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ให้ผ่านการรับรองของสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไปแล้ว ย่อมทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นความพยายามในการสืบทอดอำนาจของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่มีกองทัพบกเป็นแกนนำ ซึ่งจะสร้างความแตกแยกและขัดแย้งในสังคมต่อไปมากยิ่งขึ้น และจะนำพาการเมืองไทยกลับไปสู่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบอีกครั้งหนึ่ง อันจะส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อภาพลักษณ์ของกองทัพและรัฐบาลเฉพาะกาลที่นำโดย ฯพณฯ ที่กำลังเป็นที่จับตาของประชาคมโลก ซึ่งจะส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างแน่นอน

 

3. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน(กป.อพช.) และเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนเห็นว่า รัฐบาลเฉพาะกาลในปัจจุบันไม่ควรดำเนินการเพื่อให้มีการตรากฏหมายที่จะมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนทั้งสิ้น เพราะที่มาแห่งอำนาจของรัฐบาลปัจจุบันไม่ได้มาจากเจตจำนงของประชาชนที่แสดงออกโดยผ่านการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นเพียงรัฐบาลชั่วคราวเท่านั้น และยังไม่มีตัวแทนของประชาชนในการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวแต่อย่างใด

 

4. ขอเรียกร้องให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลเฉพาะกาล ให้ยึดมั่นและปฏิบัติตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติอย่างเคร่งครัด รวมถึงพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ โดยเฉพาะกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ICCPR) ซึ่งรับรองสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐานไว้ เพราะหลังจากการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ยังมีการคุกคามและละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่ต่อไปและมีแนวโน้มรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการกระทำของเจ้าหน้าที่บางคนของกองทัพบกในการแทรกแซงและลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยอ้างความมั่นคงของรัฐ ในบางพื้นที่ซึ่งมิใช่พื้นที่ชายแดนก็ยังมีการอ้างกฏอัยการศึก เพื่อกีดกันการชุมนุมที่กระทำโดยสงบและโดยปราศจากอาวุธ การเดินทาง ตลอดจนการปราศรัยแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะของพลเมืองที่มีความคิดเห็นต่างจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ซึ่งการเคลื่อนไหวและกิจกรรมดังกล่าว เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองและสิทธิของพลเมืองที่ชอบธรรม ที่รัฐบาลเฉพาะกาลหรือกองทัพบกจะตีความว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง ความปลอดภัยของชาติ หรือปฏิปักษ์ต่อราชอาณาจักรไม่ได้

 

จึงกราบเรียน ฯพณฯ ได้โปรดพิจารณาดำเนินการให้มีการยุติการเสนอร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ............ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และข้าพเจ้าทั้งหลายขอขอบพระคุณ ฯพณฯ มา ณ โอกาสนี้ด้วย

             

 

                                                                        ขอแสดงความนับถือ อย่างยิ่ง

 

(นายสมชาย หอมลออ) เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา

(นายจอน อึ๊งภากรณ์) ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน                                 (นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ) ที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน        

(นายไพโรจน์ พลเพชร) เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน                                           (นายเมธา มาสขาว) ผู้ประสานงานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน

(นางอังคณา นีละไพจิตร) ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ                    

(นายสุณัย ผาสุข) ผู้แทน Human Rights Watch ประเทศไทย

(นางสาวสมศรี หาญอนันทสุข) เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (ANFREL)       

(หม่อมหลวงวัลย์วิภา บุรุษรัตนพันธุ์) ที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน

(นายสมควร พรหมทอง)     รองเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย              

(นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์) ผู้อำนวยการองค์การเอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท