Skip to main content
sharethis



 


ประชาไท - 13 ก.ค. 50 เมื่อวันที่ 12 ก.ค. เวลา 10.30น. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อ่านแถลงการณ์ เรื่องขอให้ระงับความคิดที่จะออกกฎหมายเผด็จการ โดยระบุว่า ตามที่รัฐบาลชั่วคราวกำลังเร่งรัดจัดทำร่างกฎหมายหลายฉบับ และคาดหวังที่จะผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดที่ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในปัจจุบัน ปรากฏว่า มีร่างกฎหมายที่ส่อไปในทางเผด็จการ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง ละเมิดต่อฐานทรัพยากรธรรมชาติ และไม่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน สวนกระแสเจตนารมณ์การปฏิรูปการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ร่าง พ.ร.บ.อนุรักษ์สัตว์ป่า ฯลฯ


 


แต่ด้วยความห่วงใยและปรารถนาดี ที่จะเห็นรัฐบาลได้ดำเนินการทั้งนโยบาย และมาตรการต่างๆ เพื่อเสริมส่งการพัฒนาประชาธิปไตย และสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตามความคาดหวังและเจตนารมณ์เพื่อการปฏิรูปการเมืองของสังคมไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงไม่เห็นด้วย และขอคัดค้าน เพื่อให้รัฐบาลได้รับทราบถึงความเหมาะควรในฐานะรัฐบาลรักษาการชั่วคราว


 


โดยเรียกร้องให้รัฐบาลยุติความคิดและการดำเนินการใดๆ ต่อการร่างกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกฉบับทันที เพราะขัดต่อเจตนารมณ์การปฏิรูปการเมือง ขัดต่อการรณรงค์ให้ประชาชนไทยรับร่างรัฐธรรมนูญที่อ้างว่าคุ้มครองสิทธิเสรีภาพมากขึ้นกว่าเดิม เพราะจะทำให้สิทธิเสรีภาพที่บัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญหมดความหมายไปตั้งแต่ยังไม่ทันมีโอกาสประกาศใช้ หรือเท่ากันว่าเป็นการรัฐประหารซ้อน และทำลายระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย อันจะทำให้ประชาชนไทยหมดศรัทธายิ่งขึ้น


 


รวมทั้ง ต้องไม่ใช้นโยบายที่มีการคุกคามและจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการร้องทุกข์ และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของผู้คนในสังคม เพราะประชาชนย่อมมีสิทธิแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน


 


และในฐานะรัฐบาลรักษาการชั่วคราว ไม่ควรดำเนินนโยบาย เร่งรัดออกกฎหมายใดๆ ที่มีผลกระทบต่อสังคมโดยรวม เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำให้ประชาชนไม่อาจรับรู้ ติดตามตรวจสอบ และมีส่วนร่วมในกระบวนการออกกฎหมายจำนวนมาก ทั้งในส่วนของคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อันอาจจะทำให้มีกฎหมายที่ไม่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ทำลายฐานทรัพยากรธรรมชาติ และละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน


 


ด้านนางสุนี ไชยรส กรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ และร่าง พ.ร.บ.อนุรักษ์สัตว์ป่า ว่า แม้ฟังดูไม่ใช่กฎหมายที่จะเป็นเรื่องเผด็จการ แต่จะเห็นว่า นอกจากไม่แก้ปัญหาบุกป่าที่เอื้อต่อธุรกิจแล้ว ยังกลับฉวยโอกาสเข้ามาร่างกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีเสียงคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ. ทั้งสองฉบับจึงยังไม่ได้เข้า ครม.


 


โดยร่าง พ.ร.บ. ทั้งสองนั้นลิดรอนสิทธิของชุมชนจำนวนมากที่อยู่ในเขตป่า เปิดช่องให้ธุรกิจเข้าไปใช้ประโยชน์ในเขตอุทยานรักษาพันธุ์สัตว์ป่า วนอุทยานได้อย่างเต็มที่ มีการร่างให้เช่าได้เลย 5ปี 10ปี ใช้โอกาสที่ไม่มีสภาฯ ตรวจสอบอย่างใกล้ชิดและประชาชนตามไม่ทัน นี่คือความน่ากลัว สะท้อนว่าถ้าไม่มีการระงับแนวคิดเหล่านี้ จะมีการช่วงชิงโอกาสการเป็นรัฐบาลรักษาการมาออกกฎหมายที่อันตรายในช่วงนี้


 


กรณีที่รัฐบาลขอความร่วมมือให้ทหารลงไปในทุกหมู่บ้านแล้วบอกว่าเป็นการทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญนั้น นางสุนี กล่าวว่า จากสถิติการร้องเรียนของกรรมการสิทธิฯ ในช่วงหลัง จะพบเรื่องที่เกี่ยวกับทหารมากขึ้น โดยเฉพาะการสกัดกั้นประชาชนไม่ให้ดำเนินการต่างๆ แม้แต่จะไปยื่นหนังสือร้องเรียนกับผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ถูกทหารสกัดไว้หมด นี่คือแนวคิดที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ไม่ควรให้ทหารลงไปเพราะไม่ใช่แค่รณรงค์ ยังตั้งด่านถี่ยิบ โดยใช้อำนาจกฎอัยการศึกพ่วงเข้าไปด้วยตลอดเวลา ทั้งนี้ ไม่ปฏิเสธว่ารัฐบาลมีสิทธิเข้าไปจัดการอะไรที่ไม่ถูกต้องได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่ด้วยกระบวนการที่ใช้อำนาจ


 


กรณีที่นายกรัฐมนตรีมักตอบหลังถูกซักถามเรื่องการออกกฎหมายลักษณะนี้ว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาสามารถแก้ไขได้ คล้ายโยนให้เป็นผู้ตัดสินใจแทนรัฐบาล ศ.เสน่ห์แสดงความเห็นว่า รัฐบาลตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของข้าราชการ ฟังแต่เสียงข้าราชการอย่างเดียว ตัวอย่างเช่น กรณีเขื่อนปากมูล ทั้งที่มีการศึกษาหลายครั้งจนมีนโยบายแน่นอน แต่รัฐบาลกลับตัดสินใจปิดประตูเขื่อน เป็นเรื่องน่ากลัวสำหรับรัฐบาลที่ปกครองโดยมีราชการเป็นกุนซือ จากประสบการณ์ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หน่วยงานราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้ เป็นหน่วยงานที่กระทำการละเมิดฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญตลอดเวลาและแทนที่รัฐบาลจะช่วยระงับยับยั้งกลับปล่อยให้เป็นไปตามความต้องการของระบบเหล่านี้


 


ส่วนกรณีนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ถูกกักตัวไว้ที่ค่ายเม็งรายมหาราช โดยอ้างกฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 6 ก.ค. เป็นเวลาประมาณ 23 ชั่วโมง ศ.เสน่ห์ กล่าวว่า การปราศรัยในพื้นที่กฎอัยการศึกเป็นเรื่องที่ทำได้ เพราะเป็นการแสดงความคิดเห็น ซึ่งไม่เกี่ยวกับความมั่นคง การใช้กฎหมายแบบนี้เป็นการใช้กฎหมายที่ผิด ชี้ให้เห็นว่าการใช้ดุลยพินิจมีปัญหามาก เหมือนรัฐบาลเผด็จการ ถ้าเห็นว่าอะไรคุกคามก็ตีความทันที นี่เป็นปัญหาของระบอบทหาร และแสดงให้เห็นถึงความกังวลของทหาร ว่าเวลานี้เป็นเรื่องความอยู่รอด ซึ่งน่าเป็นห่วง รัฐบาลที่ใช้กำลังเป็นรัฐบาลที่ขาดความมั่นใจ ทหารและรัฐบาลชุดนี้ขาดความสามารถและสติปัญญาในการวิเคราะห์วินิจฉัยสถานการณ์ต่างๆ ทำให้ยกประโยชน์ให้กับฝ่ายที่ต้องการทำลายจริงๆ


           


 


 


 


 


แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


เรื่อง ขอให้ระงับความคิดที่จะออกกฎหมายเผด็จการ


 


            ตามที่รัฐบาลชั่วคราวกำลังเร่งรัดจัดทำร่างกฎหมายหลายฉบับ และคาดหวังที่จะผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดที่ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในปัจจุบัน แต่ปรากฏว่า มีร่างกฎหมายที่ส่อไปในทางเผด็จการ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง ละเมิดต่อฐานทรัพยากรธรรมชาติ และไม่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน สวนกระแสเจตนารมณ์การปฏิรูปการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ ร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ร่าง พ.ร.บ.อนุรักษ์สัตว์ป่า ฯลฯ


 


            รัฐบาลชุดปัจจุบันที่เกิดจากการรัฐประหาร ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ และฉีกรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช ๒๕๔๐ ได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะเป็นรัฐบาลชั่วคราว เพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมให้เกิดการปฏิรูปการเมือง โดยการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มุ่งส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้ดีขึ้นกว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองลดอำนาจผูกขาดของธุรกิจการเมือง ขจัดการคอรัปชั่น และขจัดการแทรกแซงองค์กรอิสระ รวมทั้งจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐบาลตามวิถีทางประชาธิปไตยอย่างแท้จริง


 


            แม้ว่าประชาชนจำนวนมากจะไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ไม่ต้องการมีรัฐบาลที่มิได้มาจากวิถีทางระบอบประชาธิปไตย แต่ที่ผ่านมาโดยทั่วไปแล้วสังคมไทยได้พยายามให้ความเข้าใจและโอกาสรัฐบาลชั่วคราว เพื่อประคับประคองสถานการณ์ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ให้รัฐบาลสามารถดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินไปได้ ทั้งเร่งรัดแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทุจริตคอรัปชั่น และสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้


 


            คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีความห่วงใยและมีความปรารถนาดี ที่จะเห็นรัฐบาลได้ดำเนินการทั้งนโยบาย และมาตรการต่างๆ เพื่อเสริมส่งการพัฒนาประชาธิปไตย และสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตามความคาดหวังและเจตนารมณ์เพื่อการปฏิรูปการเมืองของสังคมไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงไม่เห็นด้วย และขอคัดค้าน เพื่อให้รัฐบาลได้รับทราบถึง ความเหมาะควรในฐานะรัฐบาลรักษาการชั่วคราว กล่าวคือ


 


1.ขอให้ยุติความคิดและการดำเนินการใดๆ ต่อการร่างกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกฉบับทันที เพราะขัดต่อเจตนารมณ์การปฏิรูปการเมือง ขัดต่อการรณรงค์ให้ประชาชนไทยรับร่างรัฐธรรมนูญที่อ้างว่าคุ้มครองสิทธิเสรีภาพมากขึ้นกว่าเดิม เพราะจะทำให้สิทธิเสรีภาพที่บัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญหมดความหมายไปตั้งแต่ยังไม่ทันมีโอกาสประกาศใช้ หรือเท่ากันว่าเป็นการรัฐประหารซ้อน และทำลายระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย อันจะทำให้ประชาชนไทยหมดศรัทธายิ่งขึ้น


 


2.ในสถานการณ์ปัจจุบัน ต้องไม่ใช้นโยบายที่มีการคุกคามและจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการร้องทุกข์ และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบของผู้คนในสังคม เพราะประชาชนย่อมมีสิทธิแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน


 


3.ในฐานะรัฐบาลรักษาการชั่วคราว ไม่ควรดำเนินนโยบาย การเร่งรัดออกกฎหมายใดๆ ที่มีผลกระทบต่อสังคมโดยรวม เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำให้ประชาชนไม่อาจรับรู้ ติดตามตรวจสอบ และมีส่วนร่วมในกระบวนการออกกฎหมายจำนวนมากที่กำลังเร่งรัดอยู่ ทั้งในส่วนของคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อันอาจจะทำให้มีกฎหมายที่ไม่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน มีการทำลายฐานทรัพยากรธรรมชาติ และละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน


 


 


                                                คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


๑๒ กรกฎาคม ๒๕๕๐


           


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net