Skip to main content
sharethis

ชำนาญ  จันทร์เรือง


 


  


เราจะได้ยินคำกล่าวอยู่เสมอ ๆ ว่า การวิจารณ์คำพิพากษานั้นสามารถทำได้ แต่ "ต้องเชิงวิชาการ" นะ ไม่เช่นนั้นอาจจะโดนข้อหาละเมิดอำนาจศาลหรือหมิ่นศาลได้ ซึ่งปัญหาก็คือว่าอะไรคือ "วิชาการ"  แล้วถ้ามิใช่วิชาการล่ะ จะวิจารณ์ไม่ได้เลยหรือ


 


คำว่า "วิชาการ" นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายไว้ว่า "วิชาการ  น.วิชาความรู้สาขาใดสาขาหนึ่ง หรือหลายสาขา เช่น บทความวิชาการ สัมมนาวิชาการ การประชุมวิชาการ"  ซึ่งกล่าวโดยสรุปก็คือ ต้องเกี่ยวข้องกับ "ความรู้" และเป็นที่เข้าใจว่าต้องมีระบบระเบียบวิธีการวิจารณ์อย่างเป็นทางการหรือกระทำโดยนักวิชาการเท่านั้น  หากเป็น "ความเห็น"ของประชาชนคนธรรมดาก็จะไม่ถือว่าเป็นวิชาการ


                       


เมื่อเรากลับมาดูรัฐธรรมนูญทุกฉบับในหมวดที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ ซึ่งแม้ว่าฉบับถาวรที่กำลังร่างอยู่ยังไม่เสร็จก็ตาม แต่ก็คงมีเนื้อหาที่ไม่แตกต่างไปจากของเดิมเป็นแน่ เพราะแทบจะไม่มีใครที่ให้ความสนใจใยดีกับเนื้อหาสาระในหมวดนี้ โดยคิดว่าเป็นเพียงแต่การเขียนให้สวยหรูเท่านั้นเอง


 


อย่างไรก็ตามเราจะพบว่าในเนื้อหาสาระของหมวดนี้มีขอบเขตแห่งสิทธิเสรีภาพที่ผูกพันกับการใช้อำนาจอธิปไตย คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงขอบเขตแห่งการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานอยู่ หากประชาชนหรือผู้ใดใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแล้วย่อมไม่อาจนำกฎหมายที่มีศักดิ์ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญซึ่งมิใช่กฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ไปลงโทษลงทัณฑ์ได้ เช่น กฎหมายว่าด้วยความสะอาดเรียบร้อย หรือกฎหมายห้ามการใช้เสียงที่ไปจำกัดสิทธิการชุมนุมโดยสงบและสันติ ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ฯลฯ  แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการ "หมิ่นศาล" เท่านั้น


           


ผมเชื่อว่ารัฐธรรมนูญที่จะประกาศใช้ต่อไปไม่ว่าจะเป็นฉบับ สสร.หรือฉบับ คมช.บวกกับ ครม.หยิบขึ้นมาประกาศใช้ในกรณีที่ไม่ผ่านประชามติก็ตาม ก็จะมีหลักการไม่ต่างไปจากบทบัญญัติ มาตรา 29 และ มาตรา 39 ของรัฐธรรมนูญปี 40  ซึ่งก็คือ


           


"มาตรา 29 วรรคหนึ่ง การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้ และเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้"


                       


"มาตรา 39 วรรคหนึ่ง บุคคลจะย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น      การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น"


 


แต่ที่ผ่านมา เราไม่เคยนำบทบัญญัติที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเหล่านี้ขึ้นมาพิจารณาเลย การติชมหรือแสดงความคิดเห็นหรือวิจารณ์คำพิพากษานั้นเราจะดูแต่เพียงว่าเข้าข่ายละเมิดอำนาจศาลตามกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือไม่ เข้าข่ายหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นตามกฎหมายอาญาหรือไม่ เข้าข่ายละเมิดตามกฎหมายแพ่งหรือไม่ ฯลฯ  และว่ากันโดยเฉพาะแล้วการวิจารณ์เชิง "วิชาการ" นั้น ก็มีแต่เฉพาะกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 64 เท่านั้นที่บัญญัติยกเว้นไว้ว่าหากวิจารณ์การพิจารณาหรือการพิพากษาคดีของศาลปกครองโดยสุจริตหรือวิธีการเชิงวิชาการ ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหรือดูหมิ่นศาลหรือตุลาการ ซึ่งการติชม แสดงความคิดเห็นหรือวิจารณ์คำพิพากษาของศาลนั้น อาจเป็นการติชม แสดงความคิดเห็นหรือวิจารณ์คำวินิจฉัยในคำพิพากษาโดยไม่เกี่ยวกับศาลหรือตุลาการซึ่งเป็นผู้วินิจฉัยนั้นเลยก็ได้


 


ความผิดฐานหมิ่นศาลหรือตุลาการนั้นมีในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 กับความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา 136 ฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 ถึงมาตรา 328 และฐานดูหมิ่นตามมาตรา 393 ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ ความผิดทั้งหมดนั้นล้วนเป็นการกล่าวใส่ความดูหมิ่นตัวบุคคลโดยตรง แม้ฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามมาตรา 136 นั้น จะมีองค์ประกอบที่ว่าซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ก็เป็นการกระทำต่อตัวเจ้าพนักงานโดยตรง คือดูหมิ่นเจ้าพนักงานนั้นโดยตรง ซึ่งผู้พิพากษาหรือตุลาการเป็นเจ้าพนักงานตามมาตรานี้


 


คำพิพากษาเป็นผลผลิตของการกระทำการตามหน้าที่ของเจ้าพนักงาน ซึ่งมีตำแหน่งเป็นตุลาการหรือผู้พิพากษา ไม่มีบทกฎหมายฉบับใดห้ามการติชมแสดงความเห็น หรือวิจารณ์คำพิพากษาและกำหนดโทษอาญาไว้


 


แต่การกระทำดังกล่าวอาจเป็นการใส่ความผู้พิพากษาหรือตุลาการต่อบุคคลที่สาม ซึ่งเป็นได้แต่เพียงความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ถึง มาตรา 328 ซึ่งความผิดฐานนี้มีการยกเว้นความผิดไว้ในมาตรา 329 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า


 


                        "ผู้ใดแสดงความเห็นหรือข้อความโดยสุจริต


                        (1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนเอง หรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม


                        (2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่


                        (3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ


                        (4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือ
ในการประชุม


                        ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท"


                        ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า หากกระทำโดย "สุจริต" และการแสดงความเห็นหรือข้อความ


โดยสุจริตนั้นเป็นไปเพื่อเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งในสี่อนุมาตรานี้ ผู้นั้นย่อมได้รับยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งผมเห็นว่าย่อมหมายรวมถึงการยกเว้นความผิดฐาน "หมิ่นศาล" ด้วยเช่นกัน


 


ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่า การติชม แสดงความเห็นหรือการวิจารณ์คำพิพากษาโดยสุจริตนั้นย่อมกระทำได้ แม้มิใช่ "เชิงวิชาการ" ที่จำกัดเฉพาะผู้ที่อยู่ในแวดวงอันจำกัด และเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจตุลาการที่เป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตย โดยไม่ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ด่าเสียๆ หายๆ อย่างที่บางกลุ่ม บางคนเขากระทำกัน                  


 



 


---------------------------


เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 4 กรกฎาคม 2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net