Skip to main content
sharethis

 


ขณะที่สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงรุนแรงมากขึ้น สถิติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตพุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผู้ได้ความเดือดร้อนจำนวนมาก ในอีกด้านหนึ่งกระบวนการดำเนินคดีความมั่นคงที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้ก็ยังคงดำเนินต่อไป


 


หนึ่งในคดีความมั่นคงที่กำลังดำเนินการภายใต้กระบวนการยุติธรรมก็คือ คดีไต่สวนชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิต 78 คน จากการขนย้ายผู้ชุมนุมจากหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส มายังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2547


 


อันเป็นคดีหมายเลขดำที่ ช.16/2550 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดสงขลา ผู้ร้อง นางสีตีรอกายะ สาแล๊ะ กับพวกรวม 52 คน ผู้คัดค้าน และนายมาหามะ เล๊าะบากอ กับพวกรวม 78 คน ผู้ตาย


 


ก่อนหน้านี้ ศาลได้ไต่ส่วนพยานปากสำคัญๆ ไปแล้วหลายปาก ตามที่พนักงานอัยการจังหวัดสงขลานำมาเบิกความ ล่าสุดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คือวันที่ 26 - 29 มิถุนายน 2550 ศาลจังหวัดสงขลา ได้นัดไต่สวนพยานอีกชุดหนึ่ง เกือบทั้งหมดเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทำหน้าที่พลขับรถบรรทุกนำผู้ชุมนุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร


 


มีเพียงปากเดียวที่เป็นชาวบ้าน ผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม คือ นายสุริยา มามะ อายุ 39 ปี อาชีพขายน้ำชา อยู่ห่างจากสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบประมาณ 150 เมตร ที่มาเบิกความในวันที่ 29 มิถุนายน 2550 ในฐานะพยานฝ่ายผู้ร้อง คือ พนักงานอัยการจังหวัดสงขลา


 


นายสุริยา มามะ ถูกพนักงานอัยการจังหวัดสงขลา ส่งหมายเรียกให้มาเป็นพยาน แต่ต่อมาทางพนักงานอัยการจังหวัดสงขลา ได้ฝากหนังสือแจ้งยกเลิกการมาเบิกความกับตำรวจท้องที่เกิดเหตุ เนื่องจากต้องการไต่สวนพยานเจ้าหน้าที่รัฐให้หมดก่อน


 


ทว่า นายสุริยา มามะ ก็ยังคงเดินทางมายังศาล โดยแจ้งว่าได้รับหนังสือยกเลิกที่เขียนด้วยลายมือ แต่ไม่แน่ใจจึงเดินทางมาตามนัดเดิม พร้อมกับนำหมายเรียกมายืนยันต่อศาล ศาลจึงให้เบิกความทันที โดยพยานปากอื่นที่พนักงานอัยการจังหวัดสงขลาได้เตรียมนำมาเบิกความนั้น ศาลให้นัดหมายใหม่


 


ขณะที่ภรรยาของนายสุริยา มามะ ซึ่งเดินทางมาด้วย ระบุว่าปรึกษากันแล้ว คิดว่าน่าจะมาเบิกความ เพราะต้องการให้ความจริงปรากฏ


 


นายสุริยา มามะ เบิกความว่า วันที่ 25 ตุลาคม 2547 เวลาประมาณ 12.30 น. หลังจากละหมาดที่มัสยิดหมู่ที่ 7 ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบเสร็จ ได้ยินชาวบ้านพูดว่า มีการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบจึงเดินไปดู เห็นผู้ชุมนุมประมาณ 1,000 คน เรียกร้องให้ปล่อยตัวเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ไปยืนดูซักพัก เจ้าหน้าที่รัฐประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกลับบ้าน จึงเดินออกไปที่ศาลารักษ์ไทย บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอตากใบ ตั้งอยู่ริมคลอง ห่างจากที่ชุมนุมประมาณ 50 เมตร แต่มองไม่เห็นผู้ชุมนุม เนื่องจากมีอาคารสำนักงานที่ดินอำเภอตากใบบังอยู่ ที่นั่นมีชาวบ้านมาดูเหตุการณ์ประมาณ 50 คน


 


เวลาประมาณ 15.00 น. ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด จึงลุกออกไปหน้าศาลารักษ์ไทย เพื่อจะดูเหตุการณ์ เห็นคนจำนวนมากวิ่งเข้ามา จากนั้นได้ยินเสียงปืนดังรัวขึ้นจากหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จึงหมอบลง เมื่อเสียงปืนสงบมีทหารเดินมา และสั่งให้ชาวบ้านที่ลงไปอยู่ในคลองขึ้นมาบนฝั่ง และให้ทุกคนถอดเสื้อ


 


ขณะตนดึงเสื้อออก ทั้งที่ยังหมอบอยู่ โดยมือข้างหนึ่งถือหมวกกะปิเยาะไว้ มีทหารคนหนึ่งมาดึงแขนลากไปหน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ ระหว่างถูกลากตนโดนเตะชายโครงและเท้าหลายครั้ง จำได้ว่าทหารพูดว่า มึงมาทำไม และยังถูกทหารที่อยู่ในบริเวณนั้นเข้ามาร่วมเตะด้วย ขณะนั้นไม่ได้สังเกตว่า มีผู้ชุมนุมคนอื่นๆ ถูกลากไปด้วยหรือไม่


 


เมื่อถึงหน้าสถานีตำรวจ ถูกตีด้วยไม้กระบองบริเวณท้ายทอยจนสลบ ไม่ทราบว่าคนตีเป็นทหารหรือตำรวจ แต่ชาวบ้านไม่มีกระบอง มารู้สึกตัวอีกครั้ง เมื่อฝนตกลงมาพบว่า ถูกมัดมือไขว้หลังนอนอยู่บนถนนหน้าที่ทำการไปรษณีย์สาขาตากใบ และทราบว่าถูกกระสุนปืนจากด้านหลังทะลุออกไหล่ซ้าย ไม่ทราบว่าใครยิงและถูกยิงช่วงใด แต่ก่อนจะสลบยังไม่ถูกยิง เชื่อว่าคนยิงเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ใช่ชาวบ้าน เหตุที่ทราบว่าถูกยิงจากด้านหลัง เนื่องจากบาดแผลด้านหน้าเป็นรูกว้างกว่าด้านหลัง


 


ขณะรู้สึกตัวมีคนนอนอยู่ข้างๆ อีกหนึ่งคน ส่งเสียงร้องด้วยความเจ็บปวด มีเลือดออกมาก แต่ไม่ทราบจุดที่เลือดออก เนื่องจากปนกับน้ำฝน จากนั้นมีพยาบาล 2 คนนำตัวส่งโรงพยาบาลตากใบ ก่อนจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ รักษาตัวนาน 10 วัน แพทย์จึงให้กลับบ้าน ที่โรงพยาบาลยังมีคนถูกยิงในที่ชุมนุมมารักษาตัวด้วย 5 - 6 คน บางคนถูกยิงที่ตา บางคนถูกยิงที่ต้นขา บางคนถูกยิงที่น่องและชายโครง ระหว่างรักษาตัวไม่มีทหารหรือตำรวจมาเยี่ยม


 


ต่อมา ทราบว่าในการขนย้ายผู้ชุมนุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร มีผู้เสียชีวิตด้วย แต่ไม่ทราบสาเหตุ ทราบว่ามีชาวบ้านเจ๊ะเห ถูกควบคุมตัวไปด้วยหนึ่งคน แต่ไม่ได้พูดคุยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและทราบในภายหลังด้วยว่า มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ แต่ไม่ทราบว่ากี่คน จากนั้นอีกหลายเดือนตนได้เงินค่าช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลเป็นเงิน 30,000 บาท


 


ส่วนพยานปากอื่นๆ ที่ได้เบิกความในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประกอบด้วย วันที่ 26 มิถุนายน 2550 พนักงานอัยการจังหวัดสงขลาเบิกตัว ด.ต.สังเวียน กระจ่างยศ อายุ 57 ปี ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอสุไหงโก-ลก ซึ่งเป็นพลขับรถขนย้ายผู้ชุมนุม 6 ล้อ ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร


 


ด.ต.สังเวียน กระจ่างยศ เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุได้รับคำสั่งให้นำรถบรรทุกผู้ต้องหาไปยังสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ ถึงเวลาประมาณ 16.00 น. จากนั้น จึงเปิดประตูท้ายรถ ทหารได้ควบคุมผู้ชุมนุมขึ้นรถด้วยตัวเอง ขึ้นไปประมาณ 50 คน ถอดเสื้อ มัดมือไพล่หลัง จากนั้นได้ปิดล็อกประตูไว้ ไม่มีเจ้าหน้าที่ควบคุม แต่มีตำรวจอีกนายหนึ่งนั่งไปด้วย


 


ออกเดินทางเวลาประมาณ 18.00 น.เศษ ไปเป็นขบวน โดยรถคันหน้าเป็นรถบรรทุกทหาร มีทหารคุมอยู่ท้ายรถ 2 นาย แต่ไม่เห็นผู้ถูกควบคุม เนื่องจากฝากระบะสูงกว่าระดับสายตา ระหว่างทางไม่มีการหยุด และไม่เห็นการเผายางรถยนต์ขวางถนน และไม่พบตะปูเรือใบ ไปถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร เวลาประมาณ 22.00 น. เศษ มี เจ้าหน้าที่มาปลดล็อกประตูให้ผู้ชุมนุมเดินลงจากรถเอง ไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต


 


ส่วนอีกปากหนึ่งที่เบิกความในวันเดียวกันคือ จ.อ.บุญเฟื่อง อารี อายุ 30 ปี สังกัดกรมขนส่งทหารเรือ เบิกความสรุปว่า เวลาประมาณ 11.00 น. วันเดียวกัน ขณะอยู่ที่ค่ายจุฬาภรณ์ ได้รับคำสั่งให้นำรถบรรทุกไปยังสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ ตนนำรถไปจอดรออยู่ข้างวัดใกล้สถานีตำรวจ


 


กระทั่ง เวลาประมาณ 15.30 น. ทราบว่ามีการสลายการชุมนุม เห็นรถพยาบาลขับออกมาจากด้านหลังสถานีตำรวจ 2 คัน จากนั้น มีทหารมากวักมือเรียกให้ตนนำรถไปจอดที่หน้าสถานีตำรวจ เพื่อขนผู้ชุมนุม โดยมีผู้ชุมนุมขึ้นรถของตน 26 คน มีทหารพรานคุมอยู่ 4 นาย ตนไม่เห็นสภาพผู้ถูกควบคุมที่อยู่ท้ายรถ


 


ส่วนรถคันหน้าตน เห็นผู้ถูกควบคุม นั่งก้มศีรษะและมีทหารคุมอยู่ท้ายกระบะ ระหว่างตั้งขบวนได้ยินผู้ถูกควบคุมบ่น แต่ฟังไม่เข้าใจ เนื่องจากเป็นภาษามลายูท้องถิ่น ขบวนออกเดินทางเวลาประมาณ 19.00 น. โดยรถของตนอยู่ในขบวนที่สอง รวม 10 กว่าคัน ไปถึงค่ายอิงคยุทธบริหารเวลาประมาณ 22.30 น. ไม่มีคนเจ็บหรือเสียชีวิตภายในรถของตน


 


พยานปากต่อมาคือ ด.ต.ทวนทอง ทองเชื้อ อายุ 52 ปี จากสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ได้รับคำสั่งให้ไปบรรทุกขนย้ายผู้ชุมชุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร พยานปากนี้เบิกความว่า ได้นำผู้ถูกคบคุมตัวขึ้นรถประมาณ 20 คน ในลักษณะถูกมัดมือไขว้หลัง นั่งบนม้านั่งในรถ ตนถามผู้ถูกควบคุมว่ามาจากไหน ได้รับคำตอบว่า เพื่อนชวนมา


 


รถของตนออกเดินทางไปเป็นขบวน เมื่อเวลาประมาณ 19.00 น. โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ควบคุมท้ายรถ เนื่องจากสามารถปิดล็อกประตูได้ ไปถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร เวลาประมาณ 22.00 น. ในรถของตนไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ในการขนย้ายจะมีคนตายหรือไม่นั้น จำไม่ได้ เนื่องจากไม่ได้สนใจ เพิ่งทราบว่ามีคนตายถึง 78 คน เมื่อได้รับหมายนัดเป็นพยานในคดีนี้


 


พยานปากต่อมา คือ จ.ส.อ.สุชาติ ศักดิ์สูง อายุ 45 ปี เบิกความวันที่ 27 มิถุนายน 2550 ว่า ขับรถบรรทุก 6 ล้อขนาดใหญ่ ออกจากตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ไปพร้อมกันทั้งหมด 6 คัน โดยตนอยู่คันที่ 4 ไปถึงอำเภอตากใบเวลาประมาณ 17.40 น. แต่ไม่สามารถเข้าไปที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบได้ จึงจอดรอบริเวณสี่แยกทางเข้าสถานีตำรวจ 2 คัน ส่วนอีก 4 คันเข้าไปได้ หลังจากจอดรอประมาณครึ่งชั่วโมง ขบวนรถชุดเดียวกันขับออกมาเป็นขบวน เห็นผู้ถูกควบคุมในกระบะท้ายรถ นั่งหันไปทางหน้ารถและสวมเสื้อ แต่มองไม่เห็นมือ ไม่มีใครนอน


 


จากนั้น มีทหารเรียกให้ขับตาม เมื่อมาถึงด่านตรวจบุคคลและยานพาหนะ สามแยกสุไหงโก-ลก ห่างจากสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบประมาณ 1 กิโลเมตร มีเจ้าหน้าที่นำผู้ถูกควบคุมตัวขึ้นรถของตนประมาณ 30 คน ถูกมัดมือไขว้หลัง มีทั้งสวมเสื้อและไม่สวมเสื้อ ทั้งหมดเป็นวัยรุ่น ไม่มีอาการมึนเมา และไม่ทราบว่าเป็นผู้ชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบด้วยหรือไม่ โดยมีทหาร 2 นายเป็นผู้ควบคุม และให้ผู้ถูกควบคุมนั่งทั้งหมด


 


บริเวณไหล่ทางตรงด่านตรวจที่สามแยก มีรถจักรยานยนต์จอดเรียงกันอยู่หลายคัน แต่ไม่ทราบว่ามีโซ่คล้องด้วยหรือไม่ และไม่เห็นรถกระบะจอดอยู่ ระหว่างทางฝนตกแต่ไม่มีการหยุดรถ


 


รถที่ตนขับเป็นคันสุดท้ายของขบวน ข้างหน้ามีประมาณ 7 - 8 คัน เมื่อถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร ผู้ถูกควบคุมตัวได้กระโดดลงจากรถเข้าไปในเรือนจำ มีทั้งที่ยังถูกมัดมือไขว้หลังและที่เชือกหลุดแล้ว ไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตในรถของตน การนำผู้ถูกควบคุมตัวลงจากรถ เสร็จเวลาประมาณ 21.00 น. ระหว่างนั้น มีเจ้าหน้าที่นำอาหารและน้ำดื่มมาแจกให้พลขับทุกคน แต่จะให้ผู้ถูกควบคุมตัวด้วยหรือไม่ ไม่ทราบ


 


พยานปากต่อมา คือ จ.ส.อ.ภุชงค์ สังข์สม อายุ 42 ปี เบิกความว่า เวลาเกือบ 18.00 น. วันเกิดเหตุ ได้ขับรถบรรทุกขนาดใหญ่มีผ้าใบหลังคา แต่ไม่ได้ปิดผ้าใบด้านข้าง เป็นคันแรกที่เข้าไปจอดห่างจากสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบประมาณ 70 เมตร รอประมาณ 30 นาที มีตำรวจมาบอกให้หันหัวรถไปทางจังหวัดนราธิวาส และได้นำผู้ชุมนุมขึ้นรถ โดยถอดเสื้อ มัดมือไขว้หลัง มีเจ้าหน้าที่พยุงขึ้นรถและจัดให้นั่งหันหน้าไปทางหน้ารถประมาณ 4 แถว ไม่เห็นมีการนำน้ำให้ผู้ถูกควบคุมดื่ม


 


ตนขับรถออกจากสถานีตำรวจไปเป็นขบวน เวลาประมาณ 19.00 น. ถึงค่ายอิงคยุทธบริหารเวลาประมาณ 22.00 น. โดยได้ถอยท้ายเข้าไปยังเรือนจำภายในค่ายฯ แล้วเปิดฝาท้ายกระบะให้ผู้ถูกควบคุมตัวเดินลงเอง เนื่องจากท้ายกระบะต่ำ ไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตในรถ


 


พยานปากสุดท้ายที่มาเบิกความในรอบนี้ คือ จ.ส.อ.บุญรอด สังขชาติ อายุ 46 ปี เบิกความว่า ขับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ออกเดินทางจากพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ไปถึงเวลาประมาณ 16.00 น. จอดรอหน้าที่ว่าการอำเภอตากใบ ห่างจากสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบประมาณ 300 เมตร เห็นมีการควบคุมคนโดยให้นอนคว่ำหน้าและมัดมือไขว้หลังด้วยเชือก แล้วถอดเสื้อ เห็นเจ้าหน้าที่ทหารหน่วยนาวิกโยธิน ถือไม้กระบอง ตำรวจตระเวนชายแดน ถืออาวุธปืเอ็ม 16 และมีทหารพรานอีกประมาณ 30 นาย ถืออาวุธปืนเอ็ม 16 เช่นกัน


 


ทหารหน่วยนาวิกโยธินได้นำผู้ชุมนุมขึ้นรถของตนประมาณ 50 คน เป็นชายทั้งหมด จัดนั่งเรียงแถวบนพื้น สภาพไม่แออัด มีทหารพราน 4 นาย นั่งควบคุมไปด้วย ออกเดินทางเวลาประมาณ 19.00 น. เมื่อเคลื่อนขบวนไปได้ 200 เมตร รถคันหน้าถูกตะปูเรือใบ เป็นเหตุให้ไม่สามารถเคลื่อนขบวนต่อได้ จากนั้น ประมาณ 30 นาที จึงเคลื่อนขบวนต่อระหว่างทางไม่มีการหยุดรถ


 


ถึงค่ายอิงคยุทธบริหาร เวลาประมาณ 22.00 น. โดยสารวัตรทหารที่รอรับอยู่ได้นำเก้าอี้มาวางรองให้ผู้ถูกควบคุมเดินลง ในรถไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่ถูกทหารประคองลงจากรถประมาณ 10 คน ไม่เห็นมีการนำน้ำดื่มและอาหารให้ผู้ถูกควบคุม ส่วนตนเองได้ดื่มน้ำเวลาประมาณตีสอง


 


ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จะอยู่ในรถคันท้ายๆ แต่ไม่ทราบว่าแต่ละคันบรรทุกผู้ถูกควบคุมตัวจำนวนเท่าไหร่ ไม่ทราบว่ามีการนอนทับกันหรือไม่


 


นี่คือ ส่วนหนึ่งจากคำให้การของพยาน ในคดีประวัติศาสตร์ที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิสูจน์ของกระบวนการยุติธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net