Skip to main content
sharethis

หมายเหตุ : งานวิจัยชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ศูนย์เฝ้าระวังเชิงองค์ความรู้สถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch)


 


 


ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี


คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี


เครือข่ายรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้


 


ในท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่แปรผันไปอย่างรวดเร็วนั้น ความคิดเห็นและความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ในแต่ละห้วงเวลา มีความหมายต่อการหาทางออกในการแก้ปัญหา


 


ในการนี้ กลุ่มนักวิชาการจาก 5 สถาบันในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งประกอบด้วย คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ คณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยครัอิสลามยะลา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้ร่วมมือกันจัดตั้ง "เครือข่ายรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้" เพื่อทำงานทางวิชาการในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง


 


ทีมวิชาการได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นประชาชนวงการต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา (4 อำเภอที่มีสถานการณ์ไม่สงบ) และสตูลในระหว่างเดือนก.พ. ถึงเดือนเม.ย. 50


 


จุดมุ่งหมายของการประชุมระดมความคิดเห็น ก็เพื่อสร้างยุทธศาสตร์สันติวิธีในภาคประชาชนขึ้นมา เพื่อที่จะแก้ปัญหาความรุนแรงอันเกิดจาก "ความไม่ไว้วางใจ อคติ และความเกลียดชัง" ที่กำลังจะขยายตัวไปในจังหวัดชายแดนภาคใต้


 


ในการระดมความคิดเห็นของประชาชนประมาณ 400-500 คนนี้ ทีมวิชาการได้คัดเลือกตัวแทนมาจากผู้นำภาคประชาชน ผู้นำท้องถิ่น อบต. กำนันผู้ใหญ่บ้าน นักธุรกิจ รวมทั้งกลุ่มสตรีและเยาวชน กลุ่มประชาชนที่ถูกเลือกมาใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ให้ข้อคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ และเสนอแนะแนวนโยบาย ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของรัฐในหลายๆ ด้านเพื่อแก้ปัญหาความรุนแรง ผลการศึกษาจะได้นำไปสู่การทำข้อเสนอยุทธศาสตร์สันติวิธีภาคประชาชนเพื่อนำเสนอต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาต่อไป


 


สิ่งสำคัญที่ได้รับมาจากการระดมความคิดเห็นประชาชนก็คือข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับทัศนคติของประชาชนที่มีต่อรัฐ หน่วยงานรัฐและผู้นำประชาชนซึ่งอาจจะมีประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบายและแนวทางแก้ปัญหาภาคใต้ต่อไป ข้อมูลที่น่าสนใจที่จะนำเสนอในที่นี้คือระดับความพอใจในชีวิตของประชาชน ความรู้สึกต่อนโยบายสมานฉันท์และความรู้สึกต่อองค์กรรัฐและผู้นำวงการต่างๆ


 


ในส่วนของระดับความพึงพอใจในการดำรงชีวิตนั้น เป็นความรู้สึกต่อสภาพแวดล้อมการดำรงชีวิตประจำวันในด้านต่างๆ ของประชาชน ความรู้สึกเหล่านี้อาจจะสะท้อนปัญหาต่างๆ ที่นโยบายรัฐมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้เป็นอย่างดี ผู้วิจัยได้ถามผู้นำและประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่เข้าร่วมการประชุมระดมความคิดเห็น โดยแบ่งหัวข้อการดำรงชีวิตของประชาชนในด้านต่างๆ ทั้งในแง่การใช้ชีวิตทางศาสนา การศึกษา ความสัมพันธ์ในชุมชน ความสัมพันธ์ในครอบครัว การประกอบอาชีพ ความปลอดภัยในชีวิต การใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น


 


จากกิจกรรมชีวิตทั้งหมดรวม 11 รายการ สำหรับกลุ่มประชาชนทั้ง 5 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา (4 อำเภอ) และสตูล มีผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 260 คน ปรากฏว่า เรื่องการศึกษาของตนเองและครอบครัว การประกอบกิจทางศาสนาและความสัมพันธ์กับสมาชิกในชุมชนได้รับคะแนนสูงสุดอันดับหนึ่ง อันดับสอง และสาม ตามลำดับ เป็นค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.66, 4.59 และ 4.38 (จากคะแนนเต็มเท่ากับ 5 )  ส่วนคะแนนความพอใจที่อยู่ต่ำสุดก็คือการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ความปลอดภัยของตนเองและครอบครัว และการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอบายมุข ซึ่งได้คะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 3.53, 3.59 และ 3.77 ตามลำดับ


 



 


เมื่อแยกเฉพาะกลุ่มประชาชน 3 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ปรากฏว่า แบบแผนจะออกมาคล้ายคลึงกัน ความพอใจต่อการประกอบกิจทางศาสนามาเป็นอันดับแรก (3.93) ตามมาด้วยความสัมพันธ์กับสมาชิกในชุมชน (3.6) และเรื่องการศึกษาของตนเองและครอบครัว (3.53) ส่วนคะแนนความพอใจที่อยู่ต่ำสุดก็คือความปลอดภัยของตนเองและครอบครัว การแก้ไขปัญหายาเสพติดและอบายมุขและการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และซึ่งได้คะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 3.53, 3.59 และ 3.77 ตามลำดับ


  


ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับภาพโดยทั่วไปของสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และงานวิจัยอื่นๆ ก่อนหน้านี้ ซึ่งเน้นวิถีชีวิตทางศาสนาและความสัมพันธ์ในชุมชน ข้อมูลทัศนคติในที่นี้จึงสะท้อนให้เห็นภาพที่ว่า แม้ในปัจจุบันที่กระแสความรุนแรงและความขัดแย้งยังอยู่ในระดับสูง แต่ประชาชนส่วนใหญ่ในจังหวัดชายแดนใต้ ก็ยังพอใจกับการมีวิถีชีวิตที่มุ่งเน้นการปฏิบัติกิจทางศาสนาและการรวมกลุ่มกันในสังคมและชุมชน


 


แต่ในอีกด้านหนึ่งสิ่งที่เป็นปัญหาคุกคามพวกเขา ก็คือความปลอดภัยในชีวิตตนเองและครอบครัว ปัญหาการใช้กฎหมายและความยุติธรรม และปัญหายาเสพติดและสิ่งอบายมุขที่แพร่หลายโดยทั่วไปในชุมชนหลายแห่ง ข้อมูลอาจจะสะท้อนภาพให้เห็นว่า ประเด็นเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและการใช้กฎหมายในกระบวนการยุติธรรมจึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนมากไม่มีความสุขและต้องการการแก้ไขโดยด่วน


  


 


 


นโยบายสมานฉันท์ของรัฐบาลในปัจจุบัน มีข้อโต้แย้งมากว่าไม่ประสบความสำเร็จต่างๆ นานา ข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ มักจะออกมาทางสื่อและความคิดเห็นของคนบางส่วนว่า นโยบายนี้ใช้ไม่ได้ผล แก้ปัญหาความรุนแรงไม่ได้ และยิ่งเป็นการอ่อนข้อให้กับผู้กระทำผิด แต่จากการสอบถามความเห็นของผู้นำและประชาชนทั่วไปกลุ่มต่างๆ คณะผู้วิจัยพบว่า ผู้ตอบประมาณร้อยละ 61 บอกว่าเห็นด้วยและเห็นด้วยอย่างยิ่งกับนโยบายสมานฉันท์ ประมาณร้อยละ 24 บอกว่าเห็นด้วยปานกลาง ส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งมีอยู่ร้อยละ 15 เท่านั้น ข้อมูลความคิดเห็นเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนใต้ก็มีสัดส่วนใกล้เคียงกันมาก


 


จึงอาจจะสรุปได้ว่า แม้จะมีข้อคิดเห็นว่า การนำนโยบายสมานฉันท์มาสู่การปฏิบัติ หลายอย่างยังมีปัญหาอยู่ แต่โดยทั่วไปประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมากน่าจะยังคงมีความพึงพอใจต่อนโยบายสมานฉันท์ที่รัฐบาลใช้อยู่


 


 


 


 


  


ในประเด็นสุดท้าย สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ความรู้สึกไว้วางใจและไม่ไว้วางใจที่มีต่อองค์กรสาธารณะต่างๆรวมทั้งผู้นำท้องถิ่น รวม 26 องค์กร


 


เหตุที่เราต้องการศึกษาข้อมูลชุดนี้ ก็เพราะปัญหาสำคัญของความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็คือ ความรู้สึกไม่ไว้วางใจ ความรู้สึกหวาดระแวง ความมีอคติและ (แนวโน้ม) ความเกลียดชังที่เกิดขึ้นระหว่างประชาชนกับรัฐและระหว่างประชาชนต่างกลุ่ม เช่น ชุมชนพุทธกับมุสลิม ดังนั้น สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในปัจจุบัน ใครที่ประชาชนไม่ไว้วางใจและใครที่พวกเขาไว้วางใจมากที่สุด


 


ในการสอบถามผู้นำและประชาชนในทั้งห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้วิจัยพบว่าสถาบันและองค์กรที่ได้รับคะแนนความไว้วางใจสูงสุด 5 อันดับแรกก็คือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (4.97) สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ (4.65) กรมคุ้มครองสิทธิ กระทรวงยุติธรรม (4.6) สื่อโทรทัศน์มาเลเซีย (4.59) คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ (4.55) ส่วนองค์กรที่ได้รับคะแนนความไว้วางใจน้อยที่สุดคือเจ้าหน้าที่ทหาร (3.03) เจ้าหน้าที่ตำรวจ (3.05) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (3.12) รัฐบาล (3.23) และ นักการเมืองท้องถิ่น (3.25) ประเด็นที่น่าสังเกตก็คือองค์กรรัฐเกี่ยวกับความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชนยังได้รับการยอมรับในระดับสูง ส่วนที่ได้รับการยอมรับค่อนข้างต่ำก็คือทหารและตำรวจ   


 


 


 


 


 


ข้อมูลความไว้วางใจข้างต้นเป็นข้อมูลจากพื้นที่รวม 5 จังหวัด คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา (เฉพาะ 4 อำเภอ) และสตูล แต่ประเด็นที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ ในที่ที่เป็นศูนย์กลางของความรุนแรงคือปัตตานี ยะลา นราธิวาส ความคิดเห็นประชาชนจะเป็นอย่างไร


 


ข้อมูลเฉพาะ 3 จังหวัดแตกต่างกันเล็กน้อย ผู้ที่ได้รับการยอมรับสูงสุดคือคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด (3.88) ผู้นำทางศาสนา (3.7) กำนันผู้ใหญ่บ้าน (3.62) สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (3.51) นักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัย (3.45) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (3.38) และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ (3.28) ส่วนองค์กรที่ได้รับความไว้วางใจระดับต่ำ ก็คือเจ้าหน้าที่ทหาร (2.45) สื่อหนังสือพิมพ์ไทย (2.54) เจ้าหน้าที่ตำรวจ (2.57) สื่อโทรทัศน์ไทย (2.67) สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (2.82) สื่อวิทยุไทย (2.87) และรัฐบาล (2.87)


 


กล่าวสำหรับผู้นำและประชาชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นได้ชัดว่าองค์กรและผู้นำทางศาสนาได้รับการยอมรับและไว้เนื้อเชื่อใจสูงสุด ผู้นำท้องถิ่นฝ่ายปกครอง เช่น กำนันและผู้ใหญ่บ้านก็ได้รับการยอมรับเชื่อถือสูงเช่นกัน


 


นอกจากนี้ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติก็ได้รับการยอมรับค่อนข้างสูง แต่คงจะเป็นเพราะว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติฯ ส่วนใหญ่สำหรับในพื้นที่สามจังหวัด เป็นผู้นำศาสนาและนักการศาสนานั่นเอง


 


นอกจากนี้ นักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัยก็ได้รับการยอมรับเช่นกัน ซึ่งอาจจะเป็นเพราะนักวิชาการแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นกลางและสนับสนุนการคุ้มครองสิทธิของประชาชน องค์กรที่สนับสนุนสิทธิประชาชนเช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ก็ได้รับการยอมรับค่อนข้างสูง สะท้อนให้เห็นความต้องการให้มีการคุ้มครองสิทธิและการรักษากระบวนการยุติธรรม


 


ส่วนองค์กรที่ได้รับความยอมรับต่ำก็คือทหาร ซึ่งอาจจะเป็นภาพลักษณ์ที่น่ากลัวสำหรับประชาชน ที่น่าสังเกตก็คือ สื่อมวลชน หนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์ไทยที่ได้รับการยอมรับระดับต่ำ อาจจะเป็นเพราะปัญหาการรายงานสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ ซึ่งมีเนื้อหาที่ทำให้ประชาชนใน 3 จังหวัดไม่พอใจ หรืออาจจะเป็นประเด็นในเรื่องความเป็นกลางและเนื้อหาการนำเสนอของสื่อที่ควรได้รับการพิจารณาด้วยเพื่อให้สื่อเป็นตัวช่วยในการรักษาความเป็นธรรมและสันติภาพ    


  


 


 


กล่าวโดยสรุป จากการศึกษาความคิดเห็นของประชาชนและผู้นำในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในกรณีนี้ สิ่งที่น่าสนใจพิจารณาก็คือ ความพึงพอใจในวิถีชีวิตทางศาสนาและความสัมพันธ์ภายในชุมชน ที่สะท้อนความเข้มแข็งของอัตลักษณ์ของท้องถิ่นและชุมชนที่ค่อนข้างเข้มแข็ง อีกด้านหนึ่ง ประเด็นความปลอดภัยในชีวิต การใช้กฎหมายในกระบวนการยุติธรรม และปัญหายาเสพติด เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่วนมากไม่พอใจและต้องการการแก้ไข


 


ในส่วนของความรู้สึกเชื่อถือและยอมรับต่อองค์กรและบุคคลในพื้นที่ ผู้นำทางศาสนาและผู้นำท้องถิ่น เป็นกลุ่มคนที่ประชาชนยังให้การยอมรับและไว้วางใจมากที่สุด ประเด็นที่ต้องให้ความสนใจก็คือ องค์กรรัฐที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิและกระบวนการยุติธรรมที่ยังคงได้รับการยอมรับในระดับค่อนข้างสูง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว ต้องให้ความสนใจต่อผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่นและองค์กรในการรักษากระบวนการยุติธรรม นี่เป็นสิ่งที่ทำให้รัฐและอำนาจสาธารณะมีความชอบธรรมในการจัดการปัญหาความปลอดภัยและฟื้นคืนชีวิตที่เป็นสุขของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net