Skip to main content
sharethis

 


 



 



 



 



 



 


 



 



 


 



 


 


 


ประชาไท - 3 ก.ค. 50 คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ได้ประสานกับเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ อาทิ เครือข่ายคนพิการ เครือข่ายชุมชนแออัด เครือข่ายโรคเอดส์ เครือข่ายผู้ป่วย เครือข่ายสิทธิมนุษยชน เครือข่ายแรงงานนอกระบบ พรรคแนวร่วมภาคประชาชน ฯลฯ เพื่อร่วมกันยื่นหนังสือขอให้รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ทบทวนการออกร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายใน พ.ศ.... ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ประตูฝั่งตรงข้ามกับอาคารคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)


 


องค์กรภาคประชาชนทั้งหมด เริ่มรวมตัวกันในช่วงเวลาประมาณ 9.00 น. บริเวณป้ายรถเมล์ฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล โดยบางส่วนได้ถือป้ายรณรงค์เนื้อความ "ฮิตเลอร์ตายไปนานแล้ว" โดยหันหน้าออกให้ผู้ใช้รถบนท้องถนนอ่าน สักครู่หนึ่งจึงจัดเป็นขบวนยาว ถือป้ายผ้า รวมแล้วประมาณเกือบ 100 คน เดินไปข้างๆประตูทำเนียบรัฐบาลโดยมีรถเครื่องเสียงจอดรออยู่ก่อนแล้ว


 


นายจอน อึ๊งภากรณ์ ประธานกป.อพช. ขึ้นไปกล่าวบนรถเครื่องเสียงว่า ความรู้สึกของพวกเราต่อการที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ออก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายใน พ.ศ.... รุนแรงมาก เราผ่านยุคเผด็จการมานานแล้ว แต่พ.ร.บ.ฉบับนี้จะถูกผลักดันผ่านมติของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อสร้างเผด็จการถาวร ประเทศไทยจะอยู่ในภาวะฉุกเฉินตลอดกาลและทุกพื้นที่ โดยอยู่ในอำนาจของผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.รมน.) ซึ่งก็คือผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และตรวจสอบไม่ได้ ห้ามฟ้องศาลปกครอง ห้ามการเดินทาง ห้ามการชุมนุม จับกุมได้โดยไม่ต้องมีข้อหา ควบคุมตัวได้ 7 วัน ต่ออายุการควบคุมตัวได้ถึง 30 วัน โดยไม่ต้องมีหมายศาล


 


นายจอนกล่าวอีกว่า การมาในวันนี้เพื่อจะยื่นหนังสือถึงผู้แทนนายกรัฐมนตรี จากนั้นจึงได้อ่านแถลงการณ์ โดยมีข้อเรียกร้องที่สำคัญคือ ให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนยุติการออกร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวนี้ (รายละเอียดในไฟล์ประกอบ)


 


ถัดจากนั้น นางอังคณา นีละไพจิตร คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวเป็นคนต่อไปว่า ขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการออก พ.ร.บ. ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน หวังว่ารัฐบาลโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) จะยุติการสืบทอดอำนาจ และตั้งคำถามว่าทำไมรัฐบาลจะต้องลุกลี้ลุกลนในการออก พ.ร.บ. ฉบับนี้มา ทั้งที่จะมีการเลือกตั้งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า อีกทั้งสิทธิมนุษยชนเองก็ถูกวิจารณ์มาตลอด และกฎหมายนี้จะยิ่งให้อำนาจไปลิดรอนสิทธิมนุษยชน


 


ต่อมาผู้ดำเนินรายการบนรถเครื่องเสียงขององค์กรภาคประชาชนได้ประกาศว่า ได้ถูกเจ้าหน้าที่ปรับฐานทำผิด พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงแล้ว 200 บาท แต่ก็ยังปราศรัยต่อไปโดยเตือนว่าหากกฎหมายนี้ออกมาได้ แม้แต่การชุมนุมคงทำไม่ได้เลย


 


ทางด้านเครือข่ายคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ซึ่งประกอบด้วย 27 องค์กร นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย เป็นผู้กล่าวบนรถเครื่องเสียง โดยระบุว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้สืบทอดอำนาจชัดเจน จึงขอให้ ครม.และประธาน คมช. ยกเลิก เพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและนำไปสู่ความไม่เป็นประชาธิปไตย


 


หลังจากนั้นบนรถเครื่องเสียงมีตัวแทนองค์กรภาคประชาชนกลุ่มต่างๆ ผลัดกันขึ้นไปพูดในมุมมองและท่าทีของแต่ละองค์กรต่อ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายใน พ.ศ.... ส่วนทางนายจอน นางอังคณา นางสาววิไลวรรณ และตัวแทนจากเครือข่ายคนพิการ ได้ไปยื่นหนังสือที่หน้าประตูทำเนียบ โดยมีนายสุรพงษ์ ชัยนาม ที่ปรึกษาคณะรัฐมนตรีฝ่ายต่างประเทศ มาเป็นตัวแทนรับพร้อมรับปากจะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี


 


นายจอนได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนหลังการยื่นหนังสือแล้วเสร็จว่า จะประท้วงเรื่องนี้ให้ถึงที่สุด เพราะเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ และเชื่อว่าประชาชนก็ยอมไม่ได้เช่นกัน เพราะกฎหมายแบบนี้สร้างเผด็จการถาวร เราจะสู้เรื่องนี้จากภายในประเทศก่อนและถือว่าเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลปัจจุบันที่จะต้องยกเลิกเสีย


 


กฎหมายความมั่นคงเป็นกฎหมายที่ละเอียดอ่อน เป็นเรื่องเลวร้ายที่ให้อำนาจทหารเหนือรัฐบาลพลเรือน เรื่องแบบนี้ยอมกันไม่ได้ในรัฐที่เป็นประชาธิปไตย


 


นายจอน ยังให้ความเห็นอีกว่า การผ่านกฎหมายนี้จะทำให้ประชาชนทั้งประเทศรู้สึกไม่มั่นคงในสิทธิเสรีภาพและอาจถูกกลั่นแกล้ง ในขณะที่ประเทศไทยก็มีกฎหมายความมั่นคงอยู่หลายฉบับรองรับอยู่แล้วทั้ง พ.ร.ก.ก่อการร้าย และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งไม่เห็นด้วยกับกฎหมายเหล่านั้นเช่นกัน กลับจะถูกซ้ำเติมด้วยกฎหมายนี้อีก


 


"การแก้ปัญหาความขัดแย้งไม่ได้มาด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่แก้ด้วยการเคารพสิทธิมนุษยชน ถึงไม่ได้ออกมาต่อต้านตั้งแต่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แต่ตอนนี้ยอมรับไม่ได้" นายจอนกล่าว


 


ในพื้นที่เดียวกัน เวลาใกล้เคียงกัน นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มาทำการรณรงค์คัดค้านรัฐบาลในการออกกฎหมายลิดรอนสิทธิเสรีภาพเพื่อประชาชน โดยเฉพาะ พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.... ร่าง พ.ร.บ.ภาพยนต์และวิดิทัศน์ พ.ศ.... ซึ่งในการรณรงณ์ได้มาร่วมใช้รถเครื่องเสียงเดียวกันในการกล่าวแถลงการณ์จุดยืนของกลุ่ม


 


นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า พ.ร.บ.การกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จะมีผลต่อการเซ็นเซอร์สื่อหรือการใช้อุปกรณ์สื่อสารในอนาคต ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้หลังวันที่ 18 ก.ค. เป็นต้นไป และจะทำให้รัฐมีอำนาจในการคุมสื่อสมัยใหม่อย่างคอมพิวเตอร์ ส่วนในระยะอันใกล้นี้รัฐบาลก็จะผลักดันกฎหมายเกี่ยวกับสื่ออีกหลายฉบับเข้าไปสู่ สนช.


 


สำหรับ พ.ร.บ.ภาพยนต์และวิดิทัศน์ พ.ศ... นั้น แม้จะปรับปรุงหลังมีความต้องการให้แก้กฎหมาย พ.ร.บ.ภาพยนตร์ พ.ศ.2473 ที่ไม่เคยแก้ไขมาเลยนั้น กฎหมายใหม่ก็ไม่ได้แก้อะไร ยังให้อำนาจในการเซ็นเซอร์ ตัดต่อ ปิดกั้นภาพยนต์ที่รัฐมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง สามารถดำเนินคดีกับสื่อที่มีเนื้อหาขัดต่อความมั่นคงได้ ซึ่งตรงนี้สามารถตีความได้กว้าง เช่น อาจเพราะขัดต่อผู้มีอำนาจในขณะนั้นก็ถือว่าขัดต่อความมั่นคงได้


 


ทาง คปส. เรียกร้องให้หยุด พ.ร.บ.เกี่ยวกับสื่อสารมวลชนทุกฉบับ เนื่องจากแม้จะมีรัฐธรมนูญรับรองสิทธิประชาชนไว้ แต่ในความหมายจริงรัฐธรรมนูญสามารถถูกเปลี่ยนได้ใน 5-10 ปี แต่ พ.ร.บ.ที่มีเนื้อหาเผด็จการกลับไม่เคยเปลี่ยนเลย อย่าง พ.ร.บ.ภาพยนต์ที่มีมาตั้งแต่พ.ศ.2473 เรื่องนี้จึงสำคัญมากเพราะหากออกมากฎหมายเหล่านี้ก็จะอยู่ไปชั่วชีวิต รัฐจะเข้มแข้งขึ้นแต่สิทธิเสรีภาพประชาชนจะลดลง คปส.จึงขอร่วมต้าน พ.ร.บ.ทุกฉบับที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน แล้วรอให้รัฐบาลที่มาจากประชาชนเป็นผู้มาทำหน้าที่ผลักดันกฎหมาย


 


หลังจากนั้น กลุ่มสมัชชาแรงงาน 1550 ได้มาอ่านแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ.... โดยกลุ่มดังกล่าวนี้ ได้เคลื่อนไหวต่อต้านการรัฐประหารมาตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 เมื่อกล่าวจบ กลุ่มสมัชชาแรงงาน 1550 ได้เคลื่อนกลุ่มแยกย่อยออกไปจากกลุ่มที่มากับ กป.อพช. ไปรณรงค์ต่อให้ใกล้บริเวณประตูทำเนียบรัฐบาลมากขึ้น ในขณะที่องค์กรที่มากับ กป.อพช.ได้ประกาศปิดการชุมนุมไปก่อน


 


นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มที่มาร่วมด้วย แต่ไม่ได้ขึ้นไปกล่าวที่รถเครื่องเสียง แต่นำแถลงการณ์มาแจก เช่น ฟอรั่ม - เอเชีย โดยมีเนื้อความสำคัญอันเป็นความเห็นจากนายอัลเซโม่ ลี ผู้อำนวยการฟอรั่ม - เอเชียที่ว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้เป็นการเดินถอยหลังเนื่องจากสิทธิมนุษยชนและนิติธรรมได้ถูกดึงถอยหลังกลับไป และจะทำให้ กอ.รมน.มีอำนาจมากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคต


 


ในส่วนของการที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติ มีพันธกิจระหว่างประเทศในการปฏิบัติตามข้อตกลงด้านสิทธิมนุษยชนโดยไม่ให้มีการเกิดขึ้นของกฎหมายเช่นนี้ ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศมาเลเซียหรือสิงคโปร์เกี่ยวกับกฎหมายนี้เป็นเพียงการส่งเสริมให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้นกว่าเดิม นายกรัฐมนตรีรักษาการในฐานะที่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกสิทธิมนุษยชนในอาเซียนควรจะเข้าใจว่าเมื่อ พ.ร.บ.นี้ผ่านเป็นกฎหมาย กลไกทางสิทธิมนุษยชนในประเทศ ซึ่งร่วมถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะไม่สามารถปฎิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหาก พ.ร.บ. นี้ได้รับการสนัีบสนุนจากรัฐบาลโดยไม่ได้เล็งเห็นผลกระทบ อาจจะเป็นข้อแสดงให้เห็นว่าคำสัญญาของนายกรัฐมตรีเป็นเพียงคำพูดอย่างสวยงามโดยมิได้มีความสนใจที่เป็นรูปธรรมแต่อย่างใด


 


 



                                                                                                           


                                                                                                            ที่กป.อพช 021./2550


 


                                                                        วันที่ 3 กรกฎาคม 2550


 


 


 


เรื่อง ขอให้พิจาณาทบทวนยุติการออกร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. ….


 


เรียน ฯพณฯ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี


 


 


ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. …. เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2550 ตามข้อเสนอของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา เพื่อเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป นั้น


 


คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) มีความเห็นว่า สาระของร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรดังกล่าว ได้สถาปนาอำนาจกองทัพให้มีอำนาจซ้อนกับอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ให้กองทัพใช้อำนาจโดยปราศจากการควบคุมถ่วงดุล และสามารถใช้อำนาจล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ตามดุลพินิจของบุคคลเพียงคนเดียว ดังเหตุผลต่อไปนี้


 


ประการที่หนึ่ง การจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ซึ่งมีผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน มีอำนาจดำเนินการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ทั้งในภาวะปกติและภาวะไม่ปกติ อันถือได้ว่าเป็นการให้อำนาจกับทหารเข้ามามีบทบาทในการบริหารประเทศในนามของผู้พิทักษ์ความมั่นคงของรัฐได้อย่างกว้างขวางและอย่างถาวร ดังการให้นิยามคำว่า "การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร" ว่าหมายถึง "การดำเนินการเพื่อให้ประชาชนมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างปกติสุข มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย มีความรักและหวงแหนวัฒนธรรมและผืนแผ่นดินไทย ดำรงไว้ซึ่งเอกราชและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตลอดจนให้ประชาชนและทุกๆ องค์กรมีความสามัคคี เข้มแข็งพร้อมที่จะเผชิญภยันตรายต่อความมั่นคงของรัฐที่คาดว่าจะเกิดขึ้นทั้งในภาวะปกติและภาวะไม่ปกติ " ทั้งที่โดยแท้จริงแล้ว ทหารควรจะเข้ามามีบทบาทเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉินที่เป็นภัยคุกคามความอยู่รอดของชาติเท่านั้น ซึ่งก็จะต้องมีการประกาศกฎอัยการศึก หรือการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเสียก่อนตามกฎหมายที่มีอยู่แล้ว มิฉะนั้นทหารจะกลายเป็นผู้ถือครองอำนาจรัฐเสียเองแทนรัฐบาลที่มาจากประชาชน


 


ประการที่สอง ผู้บัญชาการทหารบกในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) สามารถรวมศูนย์การใช้อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมทางอาญาไว้ที่บุคคลคนเดียว อันเป็นการขัดกับหลักการประชาธิปไตย ที่ยึดหลักการ "การถ่วงดุลและการตรวจสอบอำนาจซึ่งกันและกัน" เป็นสำคัญ สำหรับการใช้อำนาจบริหารของผู้อำนวยการกอ.รมน. ซึ่งระบุไว้ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้แก่ การใช้อำนาจบังคับบัญชาหน่วยงานของรัฐ การแต่งตั้งบุคคลากร การสั่งย้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐ ส่วนการใช้อำนาจนิติบัญญัติของผู้อำนวยการ กอ.รมน. คือ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในสามารถออกข้อกำหนดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะ ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ห้ามการแสดงมหรสพ ห้ามการโฆษณา เป็นต้น และการอำนาจออกประกาศให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจในการจับกุม ควบคุมตัว ปราบปราม เรียกบุคคลมารายงานตัว การค้น การยึดหรืออายัดทรัพย์สิน นอกจากนี้ยังให้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ไม่เกินสามสิบวัน ตลอดจนการปราบปรามบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กรได้ เป็นต้น ส่วนการใช้อำนาจแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมทางอาญาของผู้อำนวยการ กอ.รมน. เช่น การแต่งตั้งเจ้าพนักงานร่วมฟังการสอบสวน หรือเรียกสำนวนการสอบสวนคดีอาญามาตรวจดูได้ และการมีความเห็นว่าไม่สมควรดำเนินคดีกับผู้ต้องหา


 


ประการที่สาม ผู้บัญชาการทหารบกในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในมีอำนาจออกข้อกำหนดหรือออกประกาศที่อาจละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรือสิทธิมนุษยชน ตามที่ระบุแล้วในประการที่สอง นั้น สามารถกระทำได้โดยได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกตรวจสอบโดยศาลปกครอง จึงเป็นการใช้อำนาจที่ปราศจากการจากการตรวจสอบจากสถาบันตุลาการ อันเป็นสถาบันที่สำคัญในการประกันและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน


 


ประการที่สี่ เจ้าหน้าที่สามารถใช้อำนาจตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ถูกตรวจสอบทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย อาจจะทำให้เจ้าหน้าที่ใช้ตามอำเภอใจได้ง่ายยิ่งขึ้น แม้จะมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นการกระทำที่สุจริตไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ หรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น เพราะจะเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ยากมากในทางปฏิบัติ ประกอบกับวัฒนธรรมการใช้อำนาจแบบอำนาจนิยม จึงเป็นการส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรม "คนทำผิดลอยนวล" และอาจจะก่อให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น


 


 


 


ดังเหตุผลที่เรียนมาข้างต้น กป.อพช.จึงใคร่ขอเรียกร้องให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้โปรดพิจารณาทบทวนยุติการออกร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. …. เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่ากองทัพจะไม่สืบทอดอำนาจ ด้วยการออกกฎหมายอันถือเสมือนเป็นรัฐประหารเงียบให้กองทัพมีบทบาทในการเมืองไทยต่อไป เฉกเช่นผู้ก่อการรัฐประหารชุดต่างๆ ที่ประพฤติปฏิบัติเสมอมาในอดีต แต่ควรจรรโลงให้ระบอบประชาธิปไตยพัฒนาต่อไป สมดังที่ ฯพณฯ ได้แสดงเจตจำนงในการขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้ตั้งแต่แรก


 


จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา


 


 


                                                                                    ขอแสดงความนับถือ


 


                                                                                    (นายจอน อึ๊งภากรณ์)


                                                   ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช)


 


 



 


ข่าวแถลงจาก


"สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย (ฟอรั่ม-เอเชีย)"


 


 


ประเทศไทย : ร่างพรบ.ความมั่นคงภายใน เป็นการถอยหลังสำหรับสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม


 


 


(กรุงเทพฯ 3 กรกฎาคม 2550) สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย (ฟอรั่ม-เอเชีย) องค์กรพัฒนาเอกชนระดับภูมิภาคทางด้านสิทธิมนุษยชน ขอแสดงความกังวลกับแผนของรัฐบาลทหารไทยในการผลักดันให้ผ่านร่างพระราชบัญญัติความมั่นคงภายใน ซึ่งเมื่อปลายเดือนที่ผ่านมาร่างนี้ได้รับการให้ไฟเขียวโดยคณะรัฐมนตรีใน รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์


 


ร่าง พ.ร.บ.นี้ปัจจุบันอยู่ในกระบวนการแก้ไขโดยคณะกรรมการกฤษฎีกา และจะถูกส่งต่อไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาแก้ไขทางกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.นี้มีเป้าหมายที่จะนำกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) กลับมามีอำนาจอีกครั้ง ทั้งนี้ กอ.รมน. เป็นองค์กรของทหารที่มีบทบาทผลักดันนโยบายที่สร้างความกลัวในหมู่ประชากรในสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ในปีคริสตศตวรรษที่ 1970 อีกทั้ง กอ.รมน. ยังมีบทบาทในเหตุการณ์ละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายกรณีในช่วงระยะเวลานั้น


 


นายอัลเซลโม่ ลี ผู้อำนวยการฟอรั่ม-เอเชีย ให้ความเห็นว่า " ร่าง พ.ร.บ.นี้เป็นการการเดินถอยหลังเนื่องจากสิทธิมนุษยชนและนิติธรรมจะถูกดึงถอยหลังกลับไป และเป็นการนำประเทศกลับไปสู่ช่วงที่มีการปกครองโดยทหาร พ.ร.บ.นี้จะให้อำนาจกับ กอ.รมน. ซึ่งผู้บัญชาการทหารบกจะเป็นบุคคลที่เป็นผู้อำนวยการองค์กรนี้ และจะทำให้ กอ.รมน. สามารถมีอำนาจได้มากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคต"


 


หลักการพื้นฐานทางด้านสิทธิมนุษยชน เช่น สิทธิในการคมนาคมเคลื่อนที่ สิทธิในการชุมนุม และสิทธิในการรวมตัวเป็นสมาคม จะได้รับการริดรอนหากร่าง พ.ร.บ.นี้ผ่านการเห็นชอบจาก สนช. นอกเหนือจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.นี้จะให้อำนาจผู้อำนวยการ กอ.รมน. ในการจับกุม ควบคุมบุคคล และสามารถควบคุมไว้ในสถานที่ที่กำหนดได้ซึ่งไม่ใช่สถานีตำรวจหรือทัณฑยสถาน มากกว่าระยะเวลาเจ็ดวันโดยไม่ต้องมีหมายค้น ในกรณีนี้เป็นการละเมิดหลักกฎหมายและกติการะหว่างประเทศทางด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคีโดยตรง


 


การคุมขังบุคคลที่สถานที่อื่นที่ไม่ได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากล และเป็นที่ ๆ ทนายความ องค์กรที่ทำการตรวจสอบทัณฑสถาน หรือครอบครัวของผู้ต้องหา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ไม่สามารถเข้าได้ยังตั้งประเด็นคำถามถึงความเป็นไปได้ในการสร้างบรรยากาศให้มีการทรมานผู้ต้องหา และประเด็นที่สร้างความกังวลใจให้มากกว่านี้ คือ ในมาตรา 26 วรรค 2 ที่ "ให้ ผอ.กอ.รมน. ออกประกาศให้เจ้าพนักงานมีอำนาจ ดำเนินการปราบปรามบุคคล กลุ่มบุคคล หรือกล่มองค์กรที่...เป็นภัยต่อความมั่นคง "


 


ในหลาย ๆ กรณี การนิยามคำว่า "ความมั่นคงแห่งชาติ " มักจะได้รับความสับสนระหว่างความมั่นคงที่รัฐให้ความสำคัญกับความมั่นคงของมนุษย์ สำหรับรัฐบาลทหารนี้และกลุ่มองค์กรเรียกร้องประชาธิปไตยและองค์กรที่แสดงความต่อต้านกับร่างรัฐธรรมนูญอาจจะถูกมองได้ว่าเป็น " ภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ"


 


นอกเหนือจากนี้ ร่าง พ.ร.บ.นี้ยังให้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ " ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย" ซึ่งได้ตั้งคำถามและความกังวลให้กับความเป็นไปได้ของการใช้อำนาจเกิดขอบเขตโดยเจ้าหน้าที่รัฐ


 


"จากเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการที่ผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ได้รับการลงโทษเป็นจำนวนมากมีหลายกรณีที่เชื่อว่ากองกำลังของรัฐบาลมีความเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการที่ประชาชนมากกว่าสองพันคนเสียชีวิตในเหตุการณ์สงครามยาเสพติดในปี 2003 กรณีการทรมานและการสังหารนอกกฎมายในภาคใต้ และกรณีการเสียชีวิตของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมากกว่า 20 คนโดยที่บุคคลที่มีีส่วนร่วมในการสังหารนักปกป้องสิทธิมนุษยชนยังไม่ได้รับการดำเนินคดี เราจึงมีความกังวลอย่างมากว่าสถานการณ์จะเลวร้ายกว่านี้ถ้าร่าง พ.ร.บ.นี้ได้รับการเห็นชอบโดย สนช." นายอัลเซลโม่ ลีกล่าว


 


ประเทศไทยในฐานะเป็นสมาชิกของสหประชาชาติมีพันธกิจระหว่าประเทศในการปฎิบัติตามข้อตกลงทางด้านสิทธิมนุษยชนโดยไม่ให้มีการเกิดขึ้นของกฎหมายเช่นนี้ ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศมาเลเซียหรือสิงคโปร์เกี่ยวกับกฎหมายนี้เป็นเพียงการส่งเสริมให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนเพิ่มขึ้นกว่าเดิม ฯพณฯ สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีรักษาการในฐานะที่ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกสิทธิมนุษยชนในอาเซียนควรจะเข้าใจว่าเมื่อพรบ.นี้ผ่านเป็นกฎหมาย กลไกทางสิทธิมนุษยชนในประเทศ ซึ่งร่วมถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะไม่สามารถปฎิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหาก พ.ร.บ.นี้ได้รับการสนัีบสนุนจากรัฐบาลโดยไม่ได้เล็งเห็นผลกระทบ อาจจะเป็นข้อแสดงให้เห็นว่าคำสัญญาของนายกรัฐมตรีเป็นเพียงคำพูดอย่างสวยงามโดยมิได้มีความสนใจที่เป็นรูปธรรมแต่อย่างใด


 



 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :


นักเคลื่อนไหวราว 200 คน นัดรวมพล ค้านพ.ร.บ.ความมั่นคงหน้าทำเนียบ 2-06-07


คปส.กดดันยุติลิดรอนสิทธิ กป.อพช.ขยับ ชุมนุมหน้าทำเนียบเลิก กม.ความมั่นคง 1-07-07


บทความ : หยุดสถาปนาอำนาจเหนือรัฐผ่าน พ.ร.บ. รักษาความมั่นคงฯ 30-06-07


ความเห็นนักศึกษาและนักกิจกรรมรุ่นใหม่และคำประกาศ "เราไม่เอา พ.ร.บ. เผด็จการ" 29-06-07


เคลื่อนไหวหน้าทำเนียบรัฐบาล ค้านสืบทอดอำนาจผ่าน "พ.ร.บ. รักษาความมั่นคงภายในฯ" 28-06-07


"ฮิวแมนไรท์เฟิร์ส" เตือนกฎหมายความมั่นคง = สูตรยาโด๊ปเพิ่มการละเมิดสิทธิ 27-06-07


เปิดร่าง พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงฯ เขี้ยวเล็บ"กอ.รมน."! 26-06-07


ชำแหละร่าง พ.ร.บ. ความมั่นคงภายใน "อำนาจ ผบ.ทบ. เหนืออธิปไตยไทยทั่วประเทศชั่วชีวิต" 26-06-07


บทความ : ปิดปากเราในนามความมั่นคง 24-06-07


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net