Skip to main content
sharethis

 



 


 



 


 



 


ประชาไท - 3 ก.ค. 50 จากกรณีที่ "กลุ่มโดมแดง" กลุ่มอิสระที่เกิดจากการรวมตัวของนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อต่อต้านการรัฐประหารอันทำลายกระบวนการและระบอบประชาธิปไตย ล่าสุดได้รณรงค์เรื่อง "โหวตล้มรัฐธรรมร่างรัฐธรรมนูญ คมช." นั้น ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา การรณรงค์ของกลุ่มโดมแดง แต่เมื่อวันจันทร์ที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมา โปสเตอร์รณรงค์ที่ติดในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกปลดและฉีกทำลายทั้งหมด และเมื่อติดซ้ำในวันที่ 27 มิ.ย. ก็ถูกฉีกทำลายอีกทั้งหมดเช่นกัน


 


โดยครั้งหลังเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ทราบในภายหลังว่าคือ นายจุลินทร์ วรรณเมธี นายช่างอิเล็กทรอนิกส์ ระดับ 5 เข้ามาข่มขู่ว่า "ติดโปสเตอร์ ขออนุญาตหรือยัง ไม่อย่างนั้นจะโดนฉีกอีก" แม้ในทางปฏิบัติแล้ว จะเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า การติดโปสเตอร์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามารถทำได้โดยทั่วไป


 


ทางกลุ่มโดมแดง จึงทำหนังสือ (รายละเอียดตามล้อมกรอบ) ลงนามโดย นายสุรัช คมพจน์ และนายอุเชนทร์ เชียงเสน เพื่อเสนอข้อเรียกร้องต่อ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในเวลา 13.00 น. ณ ตึกโดม เมื่อถึงเวลา ศ.ดร.สุรพล มอบหมายให้ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาลงมาประสานงานกับนักศึกษา โดยบอกว่าให้คุยกันที่ห้องรับรอง แต่ไม่นำป้ายที่ทางกลุ่มโดมแดงถือมารณรงค์ขึ้นไปด้วยได้หรือไม่


 


ทางกลุ่มโดมแดงจึงชี้แจงว่า ป้ายรณรงค์ของกลุ่มเป็นเพียงโปสเตอร์ที่ถูกปลดและป้ายเนื้อความว่า "ไหนบอกว่ามีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว" และ "หยุดรับใช้เผด็จการคุกคามนักศึกษา" ซึ่งไม่ใช่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมแต่เป็นการแสดงออกทางความเห็น จึงขอนำขึ้นไปด้วย ดร.ปริญญา จึงโทรศัพท์ขึ้นไปถาม ศ.ดร.สุรพล ว่าอนุญาตตามที่นักศึกษาขอหรือไม่ ซึ่งก็ได้รับอนุญาต


 


เมื่อกลุ่มโดมแดงขึ้นไปที่ห้องรับรองสักครู่หนึ่ง ศ.ดร.สุรพล จึงมารับหนังสือ พร้อมทั้งถามชื่อและคณะที่เรียนที่เรียน จากนั้น นายสุรัช จึงอ่านเนื้อความในหนังสือที่นำมายื่นเพื่อให้อธิการบดีรับทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมทั้งข้อเรียกร้อง


 


ต่อมา ศ.ดร.สุรพล จึงตอบทุกประเด็นที่กลุ่มโดมแดงเขียนไว้ในหนังสือ ประเด็นแรกคือ ทำไมจึงเชื่อว่าทางมหาวิทยาลัยมีนโยบายไม่เปิดพื้นที่ให้แสดงความคิดเห็น แล้วถามกลับไปว่า หลังการรัฐประหารในวันที่ 19 ก.ย.49 นั้น มหาวิทยาลัยก็อนุญาตให้จัดชุมนุมใช่หรือไม่ ซึ่งทางโดมแดงอาจจะไม่รู้ว่า ในสถานการณ์ตอนนั้นมหาวิทยาลัยลำบากแค่ไหน มีพล.อ.คนหนึ่งโทรมาบอกว่าจะขอนำทหารมาดูแลหลังทราบว่าจะมีการชุมนุมภายในมหาวิทยาลัย จึงได้ตอบเขาไปว่าเป็นเด็กของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทางมหาวิทยาลัยดูแลได้


 


ศ.ดร.สุรพล บอกอีกว่า โปสเตอร์ของทางกลุ่มโดมแดงที่นำมาติดเป็นโปสเตอร์ที่ดี และถ้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่อนุญาตให้ติดโปสเตอร์แบบนี้ก็คงไม่มีที่ใดในโลกให้ติด แม้แต่หนังสือของ รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ ที่วางขายที่ใดไม่ได้ก็สามารถขายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้


 


นอกจากนี้ ศ.ดร.สุรพล ยังกล่าวด้วยว่า รู้สึกดีใจที่นักศึกษาธรรมศาสตร์สนใจการเมือง ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารก็ตาม เพียงแต่เรามักนึกกันว่า ผู้ไม่เห็นด้วยเป็นฝ่ายตรงข้ามแล้วจะเป็นปรปักษ์กันด้วยการหาทางกันอีกฝ่าย ผู้บริหารไม่ได้เป็นปรปักษ์กับนักศึกษา เพียงแต่เห็นต่างและไม่ได้คุกคามนักศึกษา มีแต่นักศึกษามาคุกคามอย่างที่มีคนเอาปลอกคอหมามาใส่ให้คนที่มีป้ายเขียนว่า "สุรพล" หรือ "นรนิติ" (นักศึกษากลุ่มโดมแสบ) ทั้งนี้ แม้จะรู้สึกว่าถูกคุกคามและรู้ว่าเป็นใคร คณะอะไร แต่ก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะในเรื่องทางการเมืองนั้น เคยคุยกับ ดร.ปริญญาว่ายินดีให้นักศึกษาทำ ถ้าอยู่ในขอบเขต แต่อยากให้เป็นรูปแบบที่เป็นวิชาการ


 


ส่วนกรณีการฉีกโปสเตอร์ของกลุ่มโดมแดง ศ.ดร.สุรพล ยืนยันว่า มหาวิทยาลัยไม่มีนโยบายหรือสั่งเจ้าหน้าที่ให้กระทำเรื่องดังกล่าว เพราะเป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ และยังจะทำความเสียหายต่อมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเองก็จะถูกด่าด้วย


 


สำหรับข้อเรียกร้องที่ต้องการให้ตั้งคณะกรรมการสอบ นายจุลินทร์ วรรณเวธี ซึ่งเป็นผู้ฉีกโปสเตอร์นั้น เพิ่งได้ยินเรื่องจาก ดร.ปริญญา อีกทั้งไม่ใช่การตัดสินใจของมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตาม ในความเห็นส่วนตัวคิดว่าทัศนคติต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย มีทั้งคนรักและคนเกลียด ดังนั้น หากจะมีคนแสดงความปฏิปักษ์ก็เป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยห้ามไม่ได้ ในทางกลับกัน ถ้ามีคนเห็นด้วยก็ห้ามไม่ได้เช่นกัน การติดหรือฉีกโปสเตอร์ก็เหมือนกับการที่คนขับไล่ คมช. มายืนด่าหน้ามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยห้ามความคิดต่างไม่ได้ มหาวิทยาลัยเปิดโอกาสเต็มที่และดีใจ


 


จากนั้น นายอุเชนทร์ เชียงแสน หนึ่งในผู้มายื่นหนังสือถามว่า คนที่ฉีกโปสเตอร์เป็นเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย มันจึงเป็นเรื่องของผู้มีอำนาจ (Authority)


 


ศ.ดร.สุรพล ตอบว่า จะถามไปทางรองอธิการบดีที่รับผิดชอบเรื่องนี้ว่าเป็นอย่างไร ขอประกาศต่อหน้าสื่อที่มาวันนี้ว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเวทีสาธารณะทางการเมือง และก่อตั้งมาเพื่อเรื่องนี้ มหาวิทยาลัยยืนยันว่าจะรับรองสิทธินี้ และถ้าใครใช้ความเป็นเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยมาทำให้กระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพขอให้แจ้งมาได้


 


สำหรับกรณีการฉีกโปสเตอร์โดยเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ต้องตรวจสอบว่าใช้สิทธิเกินขอบเขตหรือไม่ ยืนยันว่าทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่ได้บงการ ในทางตรงกันข้าม กลับสนับสนุนนักศึกษา นักศึกษาธรรมศาสตร์ต้องทำแบบนี้ ต้องมีที่ยืน


 


เมื่อนายอุเชนทร์ถามในประเด็นที่ 2 เรื่องการขอพื้นที่ในการจัดเวทีสาธารณะเกี่ยวกับความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ศ.ดร.สุรพล บอกว่า ทางมหาวิทยาลัยรับที่จะจัดเวทีโต้เถียงระหว่างผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อการรับร่างรัฐธรรมนูญนี้ แต่เหตุที่ยังไม่จัดเวทีแบบนี้ก่อนหน้านี้ เพราะต้องการรอให้ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก่อนแล้วค่อยวิจารณ์ เมื่อเสร็จแล้ว ในวันที่ 6 ก.ค. นี้ จะตอบความเห็นส่วนตัวด้วยว่า ควรรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนี้ พร้อมทั้งเหตุผล ส่วนเรื่องที่นักศึกษาจะจัดเวทีเองนั้นก็ยินดี อาจเป็นลานริมแม่น้ำก็ได้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นพื้นที่เปิดทางการเมือง แต่ขอให้ทำอย่างอารยะ ถ้าเป็นการอภิปรายกันก็ยินดี และขอเป็นกำลังใจให้ทำต่อไป สิ่งที่นักศึกษากลุ่มนี้กำลังทำคือสิ่งที่นักศึกษาธรรมศาสตร์ตั้งแต่ยุคเริ่มแรกเคยทำมาก่อน เป็นจิตวิญญาณของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักศึกษามหาวิทยาลัยต้องยกย่อง


 


ส่วนนายสุรัช ตั้งคำถามเกี่ยวกับความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ 2550 โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องที่มา ศ.ดร.สุรพล ตอบว่าส่วนตัวแล้วปฏิเสธความชอบธรรมของการรัฐประหาร แต่ 2-3 วันหลังการรัฐประหารจะนำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้ได้อย่างไร จะให้ใครตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง มันต้องมีใครที่ทำให้มันเกิด คิดว่าการให้ทหารกลับกรมกองเร็วที่สุด สันติที่สุด ก็คือการเลือกตั้งให้เร็วที่สุด


 


หลังจากนั้นการพูดคุยระหว่างอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับนักศึกษากลุ่มโดมแดงก็จบลง เมื่อออกมาข้างนอกห้องรับรอง ผู้สื่อข่าวถามว่า การฉีกโปสเตอร์ถือเป็นการทำลายทรัพย์สินของนักศึกษาหรือไม่ และหากมองว่าเป็นสิทธิในการเห็นต่างจะทำให้เกิดเรื่องการทำลายโปสเตอร์ตามมาอีกเรื่อยๆหรือไม่


 


ดร.สุรพล ตอบว่าต้องแยกเป็น 2 ประเด็น ประเด็นแรก จะสั่งเจ้าหน้าที่ให้ดูแลเป็นพิเศษในเรื่องการแสดงความเห็น เพียงแต่ถ้าไม่เหมาะสมคงต้องเอาออก อย่างไรก็ตาม โปสเตอร์ของกลุ่มโดมแดงถือว่าธรรมดาและมหาวิทยาลัยต้องคุ้มครอง


 


ประเด็นที่ 2 การที่นักศึกษาส่งภาพเจ้าหน้าที่ในมหาวิทยาลัยมาให้นั้น หากเป็นคนที่มีอำนาจในการสั่งการในเรื่องนี้เช่นเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย อย่างนั้นคงต้องตั้งคณะกรรมการสอบ แต่ถ้าไม่เกี่ยวข้องอย่างคนนี้ เป็นเจ้าหน้าที่อิเล็กโทรนิกส์ ต้องดูว่าเป็นวิธีการแสดงความเห็นส่วนตัวแต่ละเมิดสิทธิคนอื่นหรือไม่ การแสดงความคิดเห็นแล้วไปทำลายทรัพย์สินอย่างนี้เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง


 


 






กลุ่มอิสระ "โดมแดง"


มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


2 กรกฎาคม 2550


เรื่อง ขอให้สอบสวนการกระทำของนายจุลินทร์ วรรณเมธี นายช่างอิเล็กทรอนิกส์ ระดับ 5, เปิดพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น และการแสดงออกทางการเมืองของนักศึกษา และประชาคมธรรมศาสตร์


เรียน ศ. ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


กลุ่มโดมแดง เป็นกลุ่มอิสระที่เกิดจากการรวมตัวของนักศึกษาปัจจุบัน และศิษย์เก่า ม.ธรรมศาสตร์จำนวนหนึ่ง เพื่อต่อต้านการรัฐประหารซึ่งเป็นการทำลายกระบวนการและระบอบประชาธิปไตย ซึ่งขณะนี้ได้ทำการรณรงค์ "โหวตล้มรัฐธรรมร่างรัฐธรรมนูญ คมช."เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการปฎิเสธ ไม่ยอมรับการรัฐประหาร หยุดยั้งการรื้อฟื้นระบอบอำมาตยาธิปไตย และผลักดัน ให้ คมช. นำรัฐธรรมนูญ 2540 ทั้งฉบับมาประกาศใช้ โดยการแก้ไขเพื่อการนี้ ต้องไม่กระทบสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกำหนดให้มีการเลือกตั้งภายใน 60 วัน ในส่วนของกระบวนการแก้ไขหรือปฏิรูปการเมืองนั้น ให้ดำเนินการโดยสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน


ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มโดมแดงได้ทำการรณรงค์ โหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ คมช. ในธรรมศาสตร์ ทั้งแจกคู่มือ แผ่นพับของกลุ่ม รวมทั้งติดโปสเตอร์รณรงค์ ปรากฏว่าโปสเตอร์ที่ติดในวันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน ถูกปลด ฉีกทำลายทั้งหมด และเมื่อทำการติดซ้ำใหม่ในวันที่ 27 มิถุนายน ก็ถูกฉีกทำลายอีกทั้งหมดเช่นเดียวกัน โดยในครั้งหลังนี้ มีเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้น ทราบในภายหลังว่าคือ นายจุลินทร์ วรรณเมธี นายช่างอิเล็กทรอนิกส์ ระดับ 5 ได้เข้ามาข่มขู่ว่า "ติดโปสเตอร์ ขออนุญาตหรือยัง ไม่อย่างนั้นจะโดนฉีกอีก" แต่พวกเรายืนยันว่า สามารถกระทำได้ เนื่องจากในทางปฏิบัติและเป็นที่ทราบกันโดยทั่วกันว่า แม้จะมีระเบียบดังกล่าวนี้ แต่การติดโปสเตอร์ในธรรมศาสตร์สามารถทำได้โดยทั่วไป เมื่อนักศึกษาโต้แย้ง นายจุลินทร์ วรรณเมธี จึงได้ทำการฉีก ทำลายโปสเตอร์ในจุดดังกล่าว (ละเอียดตามเอกสารแนบที่ 1 และ 2)


จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กลุ่มโดมแดง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมธรรมศาสตร์ มีความเห็น และข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้


1. การกระทำนายจุลินทร์ วรรณเมธี เป็นการขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง และปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ของนักศึกษาอย่างไร้อารยะ ซึ่งการทำลาย ปลดโปสเตอร์ทั้งสองครั้งเชื่อได้ว่าเป็นฝีมือของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเดียวกัน เนื่องจากนายจุรินทร์ ทราบเรื่องการปลดโปสเตอร์ครั้งที่ 1 หลังจากโต้แย้งกับนักศึกษาแล้ว เขาก็ได้ทำการทำลายในบริเวณอื่นๆ ต่อไป โดยในวันนั้น โปสเตอร์รณรงค์ที่ติดตามจุดอื่น ถูกปลดทำลายทั้งหมด และเชื่อว่า ในฐานะของเจ้าหน้าที่ไม่มีสิทธิอำนาจหรือมีส่วนเกี่ยวข้อง ย่อมไม่อาจหาญที่จะกระทำการเช่นนั้น หากไม่มีผู้ใหญ่ในระดับที่สูงกว่าให้การสนับสนุนหรือมีส่วนรู้เห็น


ทางกลุ่มจึงเรียกร้องให้มหาวิทยาลัย ตั้งคณะกรรมการสอบสวนการกระทำของนายจุลินทร์ วรรณเมธี และกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องในฐานะผู้ร่วมลงมือหรือให้การสนับสนุน และดำเนินการลงโทษตามความผิดที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นเยี่ยงอย่างมิให้การกระทำที่เป็นการริดรอน ปิดกั้น การใช้สิทธิเสรีภาพของนักศึกษาหรือส่วนอื่นๆ เกิดขึ้นอีกในอนาคต ทั้งนี้การสอบสวนจะต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ยุติธรรม และเปิดเผยให้ประชาคมรับทราบโดยทั่วกัน


2. ในขณะที่เราตกอยู่ภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหารซึ่งพื้นที่ในการสื่อสารความคิดเห็น แสดงออกทางการเมืองที่แตกต่างทางการเมืองแทบจะเป็นไปไม่ได้ และการแสดงทางการเมือง ไม่ว่าจะสนับสนุนหรือคัดค้านระบอบการเมืองที่เป็นอยู่ เป็นสิ่งสำคัญในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ควรจะดำรงไว้ซึ่ง พื้นที่ในการแสดงออกทางการเมืองอย่างเสรี โดยมีนโยบายหรือคำสั่งไปยังหน่วยงานราชการ คณะต่างๆ ให้ยุติการปิดกั้นและอำนวยความสะดวกในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของนักศึกษา และส่วนอื่นๆ ในประชาคมแห่งนี้ ไม่ว่าจะมีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร


3. ต่อกระบวนการประชามติร่างรัฐธรรมนูญ คมช. ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 19 สิงหาคม นี้ ซึ่งถือเป็นการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีความหมายต่ออนาคตการเมืองไทยเป็นอย่างยิ่ง แต่ด้วยกระบวนการประชามติที่ถูกกำหนดขึ้นอย่างไม่ยุติธรรม และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ใช้กลไกต่างๆ โกหก หลอกลวง บีบบังคับให้ประชาชนจำยอมต้องรับร่างของตนเองเสียมากกว่า กลุ่มโดมแดงเห็นว่า การถกเถียงเรื่องรับ ไม่รับ รัฐธรรมนูญก่อนการประชามติ เป็นกระบวนการที่จำเป็นและสำคัญ ดังนั้นจึงเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นเจ้าภาพ เป็นเวทีกลางในการถกเถียงในเรื่องนี้อย่างจัง ทั้งฝ่ายสนับสนุนและคัดค้าน ที่เป็นนักวิชาการ ข้าราชการ พนักงาน และนักศึกษา เพื่อให้ส่วนต่างๆ มีข้อมูล เห็นประเด็นข้อถกเถียง และพิจารณาอย่างมีเหตุผลและรอบด้านในการตัดสินใจลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ


จึงเรียนมาเพื่อทราบ และโปรดดำเนินการ


 


 ขอแสดงความนับถือ 


 นายสุรัช คมพจน์


นายอุเชนทร์ เชียงเสน


 ตัวแทนกลุ่มโดมแดง


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net