Skip to main content
sharethis


มุกดาวรรณ ศักดิ์บุญ


 


 


วิวาทะระหว่างพล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ผู้ช่วยเลขาธิการ "คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ" และประธานคณะกรรมการบริษัททีโอที และนายสิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยี การสื่อสาร และสารสนเทศ ฝ่ายหนึ่ง กับนายวุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ อดีตกรรมการและรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัททีโอที อีกฝ่ายหนึ่ง ดูเหมือนจะตอกย้ำความคิดความเชื่อ ความเข้าใจที่ผิดๆ ในสังคม หรืออย่างน้อยก็ในความคิดของพล.อ.สพรั่ง และนายสิทธิชัย นั่นคือ


 


1)      ในนามความมั่นคงแห่งชาติแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ต้องพูดถึง-จบ ไม่ต้องมีคำถาม ไม่ต้องอธิบาย จะขอรับการสนับสนุนงบประมาณเท่าไหร่ก็ได้ เมื่อใดก็ได้ จากใครก็ได้ หน่วยงานใดก็ได้ ไปเพื่อทำอะไรก็ได้ เมื่อปิดป้ายความมั่นคงแห่งชาติแล้ว ก็เป็นอันถูกต้องเสมอ 


2)      สังคมไทยไม่เหมือนสังคมตะวันตก ผู้น้อยต้องเคารพผู้(เป็น)ใหญ่ ห้ามฉีกหน้า ห้ามพูด ห้ามเถียง ห้ามตั้งคำถามที่จะเป็นการทำให้ผู้(เป็น)ใหญ่เสียหน้า อย่าใช้คำพูดที่ทำให้ผู้(เป็น)ใหญ่เสียใจ ถ้ากล่าวคำใดเป็นการไม่เคารพ ต้องขอโทษและรับผิดชอบ


3)      ผู้ใดไม่มีลักษณะอันพึงประสงค์ของสังคมไทย ในเรื่องการวางตัวต่อหน้าผู้(เป็น)ใหญ่ จะเป็นผู้บริหารหน่วยงานไม่ได้


4)      เมื่อผู้มีอำนาจตั้งใครเข้ามาเพื่อทำงานในตำแหน่งใดๆในองค์กรแล้ว ก็ต้องทำงานรับใช้ผู้มีอำนาจนั้นๆ จะเป็นเรื่องถูก เรื่องผิด เรื่องมีคำถามทางจริยธรรมหรือไม่ ไม่ต้องไปสนใจ ขอให้ได้รับใช้ เออออ ห่อหมก คล้อยตาม ไม่คัดง้างผู้มีอำนาจเป็นอันใช้ได้ และดังนั้น ผู้มีอำนาจจะขอเงินสัก 800 ล้านบาท ไปทำอะไรก็ได้ ไปซื้ออะไรก็ได้ ตามใจท่าน อย่าไปถามท่าน จะเป็นการก้าวก่าย เป็นการเสียมารยาท


5)      เรื่องในที่ประชุม แม้จะมีข้อน่าสงสัย น่าซักถามเพียงใด มีปัญหาเรื่องความชอบธรรมเพียงใด ก็ให้เก็บเงียบไว้ ผลประโยชน์โดยส่วนรวมจะได้รับผลกระทบอย่างไรก็ไม่เป็นไร ขอให้เราปลอดภัยอยู่ได้ แค่นั้นก็พอ


 


หากแต่ข้าพเจ้าเห็นว่าความคิด ความเชื่อ ความเข้าใจ ผิดๆ ดังกล่าวข้างต้นนั้น เป็นอันตราย และมีปัญหาในเชิงจริยธรรม ในระดับเดียวกันกับกับการกล่าวอ้างเพื่อกระทำการใดๆ ในนามความเจริญก้าวหน้า และการพัฒนา เผลอๆจะเลวร้ายเสียกว่า เพราะผู้ชอบอ้างความมั่นคง มักเป็นผู้มีอำนาจกุมกระบอกปืน


 


ประการแรก ข้ออ้างเรื่อง "ความมั่นคงแห่งชาติ" มักถูกผูกขาด และกำหนดโดยกลุ่มคนที่มีอำนาจในมือบางกลุ่มเท่านั้น โดยเฉพาะพวกมีอาวุธ พวกเขาเหล่านี้ตั้งข้อกำหนดกฎเกณฑ์เอาเองว่าสิ่งใดที่จะถือเป็น "ความมั่นคงแห่งชาติ"  ความมั่นคงอื่นใดที่นิยาม จำกัดความโดยกลุ่มอื่นนอกเหนือจากพวกเขา และที่พวกเขาเห็นว่าท้าทายอำนาจของพวกเขาแล้ว ล้วนแต่มีสถานะที่ด้อยกว่า ไม่ใช่ความมั่นคงที่พึงรักษาไว้ ยิ่งไม่ใช่ "ความมั่นคงแห่งชาติ"


 


ประการที่สอง อะไรหรือคือ "แห่งชาติ" นิยาม "แห่งชาติ" นั้น เป็นคำกล่าวที่น่ารังเกียจ พึงระมัดระวัง และตั้งข้อสงสัยให้จงหนัก -  แห่งชาติ ของใคร อะไร และอย่างไร แม้แต่คำนิยามคำว่า "ชาติ" พวกท่านผู้มีอำนาจก็กำหนดมาจากเบื้องบนแล้ว แถมบังคับกะเกณฑ์เอาตามอำเภอใจว่าเป็นคำนิยามที่ถูกต้อง เหมาะสมที่สุดแล้ว ควรจะต้องท่องจำให้ขึ้นใจ ผิดไปจากนี้แล้วไม่ใช่ "ชาติ"โดยที่ไม่เคยสนใจ ไต่ถามว่าคนอื่นที่ร่วมอยู๋ใน"ชาติ" นั้นเขาคิดถึงนิยามของคำว่า "ชาติ" ว่าอย่างไร


 


ข้ออ้างเรื่องความมั่นคงด้วยนัยยะแห่งชาติ ถูกนำมาใช้ทุกครั้งประหนึ่งเป็นคาถาอันศักดิ์สิทธิ์ ในการอ้างความชอบธรรมของการกระทำของผู้ที่มีอำนาจ ซึ่งถือตัวเองว่าเป็นผู้เดียวที่มีอำนาจและความชอบธรรมในการกำหนดนิยามคำว่า "ความมั่นคง" และคำว่า "แห่งชาติ"


 


พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร จะเป็นคนสมถะ รักบ้านเมืองอย่างแท้จริง หรือไม่ ตามที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล ออกมารับประกัน หรือว่า นายวุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ จะเป็นคนที่มีอัตตาสูง อย่างที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล กล่าวหรือไม่ ข้าพเจ้าไม่ทราบ แต่ข้าพเจ้าไม่คิดว่าบุคลิกลักษณะนิสัยส่วนตัวของทั้งสองคนที่ถูกนายสนธิกล่าวถึง จะเป็นเหตุเป็นผลที่อธิบายได้โดยปราศจากข้อสงสัย (อย่างที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล อยากจะให้คนเชื่อ) ว่า;


 


1)      ความเป็นคนดีของพล.อ.สพรั่ง เป็นเครื่องรับประกันการกระทำและความคิดทุกอย่างของเขา เท่ากับว่า เมื่อเป็นคนดีแล้ว จะพูดจะทำอะไร ก็ต้องดี เป็นไปเพื่อเจตนาที่ดีทั้งหมด ห้ามซัก ห้ามถาม ไม่ต้องการเหตุผล ไม่ต้องการคำอธิบาย


2)      เป็นการสมควรแล้วที่นายวุฒิพงษ์ ซึ่งตามข้ออ้างของนายสนธิว่าเป็นคนที่ "มีอัตตาสูง ไม่มีสัมมาคารวะ ไม่เคารพผู้บังคับบัญชา ไม่ฟังความเห็นของผู้อื่น คิดว่าตัวเองเก่งอยู่คนเดียว" จะถูกปลดออกจากตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัททีโอที เพราะถ้าหากอธิบายตามตรรกะของนายสนธิ และพล.อ.สพรั่ง ก็คือ ไม่รู้จักบุญคุณคน เขาอุตส่าห์แต่งตั้งให้เข้ามาอยู่ในตำแหน่งหน้าที่นี้แล้ว แทนที่จะทำงานปกป้องเขา หรือให้ความเคารพ นอบน้อม กลับออกมาเปิดเผยเขา


 


ทั้งพล.อ.สพรั่ง และนายวุฒิพงษ์ ไม่ว่าเขาทั้งสองจะเป็นคนอย่างไรก็ตาม เป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่เป็นหัวใจของวิวาทะในครั้งนี้ การออกมาพูดเพื่อทำให้เรื่องที่มีข้อสงสัยใหญ่กลายเป็นแค่เรื่องความขัดแย้งระหว่างบุคคลนั้น ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง และชวนให้สงสัยว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล ต้องการอะไร เขายังพยายามชี้ให้เห็นเพื่อทำให้เกิดภาพความเข้าใจว่า นายวุฒิพงษ์นั้น เป็นคนที่มีปัญหาตลอดเวลา ทำงานกับใครก็ไม่ได้


 


พล.อ.สพรั่ง กล่าวลึกๆลับๆ เชิงกล่าวหานายวุฒิพงษ์ว่ามีเบื้องหลัง และว่าตนไม่ชอบถูกแบล็คเมล์ ในเมื่อเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับสิ่งที่นายวุฒิพงษ์ออกมาพูด เป็นเรื่องที่พล.อ.สพรั่งและนายวุฒิพงษ์ต้องชี้แจง เพราะไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งส่วนตัว แต่เกี่ยวพันกับงบประมาณที่เป็นเงินภาษีของราษฎร ไม่ใช่เรื่องที่ผู้บริหารองค์กรพอใจจะยกให้ใครก็ได้ สนับสนุนใครก็ได้ โดยไม่ต้องอธิบายเหตุผล ดังเช่นที่นายสิทธิชัย โภไคยอุดม กล่าวอ้าง


 


การขอรับการสนับสนุน หรือบริจาค เพื่อการทอดผ้าป่า หรือทอดกฐิน จากองค์กรที่มีศักยภาพที่จะให้ได้ อย่างที่ พล.อ.สพรั่งพูดถึง มันคนละเรื่องกับการมาขอเงินจากบริษัททีโอทีกว่า 800 ล้าน บาท นี่ออกจะเป็นผ้าป่า หรือกฐินที่แพงเกินไปหน่อย แถมไม่รู้รายละเอียดสักนิดจะไปทอดกันวัดไหน ใครจะได้ประโยชน์


 


ต้องอย่าลืมว่า สิ่งที่เป็นคำถามใหญ่ก็คือ กองทัพไทยโดยคำขอของ พล.อ.สพรั่ง ไปยังบริษัททีโอที เพื่อขอรับเงินสนับสนุน 800 ล้านบาท นั้น เอาไปซื้ออะไร เพื่อทำอะไร มีขั้นตอนอย่างไร ตรวจสอบได้หรือไม่ ทหารตำรวจชั้นผู้น้อยผู้ปฏิบัติหน้าที่เสี่ยงภัยอยู่ในฟื้นที่ภาคใต้ จะได้ประโยชน์จากข้ออ้างดังกล่าวจริงหรือไม่ อย่างไร


 


ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของการอ้างเรื่อง "ความมั่นคงแห่งชาติ" ก็คือ ข้ออ้างนี้ ไม่เปิดโอกาสให้แสงแห่งความโปร่งใส ได้ฉายส่องไปยังฉากหลังแห่งความมืด ที่ซึ่งความเคลือบแคลง และวาระที่ซ่อนเร้น แฝงกายของมันอยู่ ข้ออ้างเรื่อง"ความมั่นคงแห่งชาติ" เป็นเสมือนปราการปกป้องความมืดแห่งนี้ ให้ปลอดภัยจากการถูกตรวจสอบ ซักถาม ทั้งจากสาธารณชน และจากคนที่ถูกอ้างว่าจะได้รับประโยชน์จากการขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อ "ความมั่นคง" นั้น


 


เมื่อปิดป้ายความมั่นคงเสียแล้ว ก็เป็นอันว่า ไม่ต้องถาม ไม่ต้องอธิบาย ไม่ต้องมีเหตุผลนอกเหนือจากนั้น ถ้าเป็นเช่นนี้ ย่อมไม่มีโอกาสใดๆเลย ที่คนทั่วไปจะรู้ได้ว่า ที่อ้างว่าเป็น "ความลับของชาติ"นั้น เป็นเช่นนั้นจริง หรือเป็นแค่ความลับของหน่วยงาน ซึ่งต้องการที่จะกระทำการโดยลับๆ เพราะไม่มีเหตุผลความชอบธรรมเพียงพอ ไม่มีหน้าจะไปอธิบายกับผู้อื่นได้ เมื่อมีผู้ออกมาเป่านกหวีดให้คนอื่นได้ยินถึงความไม่ชอบมาพากลอันนี้ ก็แก้เกี้ยวไปเสียว่าเอา "ความลับของชาติ"มาขาย กลายเป็นความผิดไปตกอยู่กับผู้เปิดเผยความลับ ซึ่งแท้จริงแล้วอาจต้องการปกป้องผลประโยชน์โดยส่วนรวมมากกว่า


 


พล.อ.สพรั่ง กล่าวหานายวุฒิพงษ์ ด้วยข้อหาที่ใหญ่หลวงนัก ถึงขั้นว่าเป็นกบฏ ซึ่งหากเป็นยุคอดีต ข้อกล่าวหาเหล่านี้อาจทำให้นายวุฒิพงษ์ และครอบครัวของเขา ได้รับโทษทัณฑ์แสนสาหัส พล.อ.สพรั่ง มีหลักฐานอะไรถึงมากล่าวหาคนอื่นรุนแรงเช่นนั้น และที่กล่าวหาว่า นายวุฒิพงษ์ ไม่จงรักภักดี ไม่จงรักภักดีต่ออะไร ต่อใคร เป็นเรื่องที่ต้องมีความชัดเจน มิฉะนั้นแล้ว ผู้คนทั้งหลายจะเห็นว่า ที่จริงแล้ว ไปกล่าวหาเขา เพียงเพราะว่าเห็นเขาไม่จงรักภักดีกับตนเองเท่านั้น


 


พล.อ.สพรั่งอ้างว่า ไม่เห็นมีใครถาม สมัยที่รัชกาลที่หกจัดซื้อเรือดำน้ำ ว่าซื้อไปทำไม มีแต่คนที่พร้อมจะบริจาคเงิน การที่ พล.อ.สพรั่ง ยกเรื่องนี้มาเปรียบเทียบออกจะเป็นการเข้าใจปริบทของสังคมการเมืองผิดไปมาก (ถึงแม้ว่าจะมีความคล้ายคลึงกันของการอ้างถึงเรื่อง "ความมั่นคงแห่งชาติ" ก็ตาม) เพราะอำนาจของกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ทำให้คนทั่วไปแม้อยากจะถาม ก็ถูกปิดปากด้วยอำนาจดังกล่าว


 


ไม่เพียงแต่ในนามของความมั่นคงเท่านั้น พล.อ.สพรั่งยังพยายามที่จะปิดปากคนด้วยความคิดความเชื่อของเขาเองว่า ในเมื่อเขา (ได้สถาปนาตัวเอง) เป็นผู้ที่ปกป้องรักษา "ความมั่นคงแห่งชาติ" ดังนั้น การกระทำใดๆของเขาจึงเท่ากับดี เขาพูด เขาคิด เขาเชื่อ เขาทำอะไร ย่อมถูกต้อง เป็นเหตุเป็นผลหมด ห้ามถาม ไม่ต้องอธิบาย ดังนั้นเมื่อนักข่าวถามเรื่องขอเงินจากบริษัททีโอทีในโครงการจัดซื้ออุปกรณ์เพื่อความมั่นคง พล.อ.สพรั่งจึงพูดว่า อย่าถามว่าทำไมต้องซื้อ มั่นใจในความถูกต้องของตนเองขนาดนั้น


 


ถ้าอย่างนั้น จะมีใครหน้าไหน หรือมีเอกสารหลักฐานอะไร เป็นเครื่องยืนยันชี้แจงได้ว่า งบที่ขอไป 800 ล้านบาท เอาไปซื้ออะไร ซื้อจริงตามนั้นหรือไม่ หรือเอาไปทำอะไรอย่างอื่น ในเมื่อพวกเขาจัดการงบกันเอง หากมีอะไรที่ไม่ถูกต้อง จะมีหลักประกันอะไรให้เข้าไปตรวจสอบได้


 


พล.อ.สพรั่งว่า นายวุฒิพงษ์ ไม่มีสิทธิตัดสินว่า กองทัพควรจะใช้งบกลาโหม ไม่ใช่มาขอจากบริษัททีโอที แล้วพล.อ.สพรั่ง มีสิทธิอะไร ที่จะมาขอเงินทีโอที โดยไม่มีคำอธิบายให้กับประชาชน


 


แม้แต่ในนามความมั่นคง ก็ต้องทำทุกอย่างอย่างถูกต้อง โปร่งใส ชัดเจน และตรวจสอบได้ มิใช่หรือ มิฉะนั้นแล้ว พวกชอบอ้างความมั่นคงแห่งชาติจะมีหน้าหรือความชอบธรรมไปตรวจสอบใครคนอื่นได้อย่างไรกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net