Skip to main content
sharethis


 


ประชาไท - 15 มิ.ย.2550 เราเรียกร้องให้ผู้คนลุกขึ้นต่อต้านการตื่นเช้า คือ ข้อความรณรงค์ที่กลุ่ม B-Society ซึ่งก่อตั้งโดย ดร.คามิลลา คริง (Camilla Kring) ใช้เรียกร้องความสนใจจากประชาชนในเดนมาร์ก โดยอ้างถึงผลงานวิจัยที่สถาบันพันธุศาสตร์หลายแห่งได้สรุปไว้ว่า "เวลาชีวภาพ" หรือ Biological Clock ที่กำหนดตารางเวลาในชีวิตประจำวันของมนุษย์ขึ้นอยู่กับยีนควบคุมเวลาชีวภาพ (Human Clock Genes) อันมีลักษณะแตกต่างกันออกไป ทำให้มีการแบ่งประเภทของบุคคลเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ กลุ่ม A (A Person) และ กลุ่ม B (B-Person)


 


กลุ่ม A จะเป็นบุคคลที่มีลักษณะเหมือน "นกลาร์ค" ที่ตื่นแต่เช้าเพื่อออกหากินในเวลากลางวันไปจนถึงเย็น ในขณะที่ กลุ่ม B คือบุคคลที่มีลักษณะเหมือน "นกฮูก" หรือนกเค้าแมว ที่ออกหากินหรือใช้ชีวิตในเวลาสาย เรื่อยไปจนถึงเวลากลางคืน


 


กลุ่มเคลื่อนไหวในเดนมาร์กที่ใช้ชื่อ B-Society ได้ประกาศว่าการครอบงำวิถีชีวิตและเวลาการทำงานที่เป็นอยู่ในสังคมปัจจุบัน ถูกกำหนดตามความเคยชินของบุคคลกลุ่ม A ทำให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตของคนกลุ่ม B อย่างหนัก เนื่องจากเวลาชีวภาพของคนกลุ่ม B ไม่เหมาะกับเวลาทำงานตั้งแต่ 8 โมงเช้า ถึง 4 โมงเย็น การตื่นเช้าตรู่เพื่อมาทำงานในเวลาดังกล่าว ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการทำงานของพวกเขาลดลง และสาเหตุนี้จะนำไปสู่การกล่าวหาว่าคนกลุ่ม B คือพวกเกียจคร้าน, ขาดความกระตือรือร้น และไม่มีความเป็นมืออาชีพ


 


ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้กลุ่ม B-Society ถูกก่อตั้งขึ้นในเดนมาร์กเมื่อ 4 เดือนก่อน และปัจจุบันทางกลุ่มมีสมาชิกถึง 4,800 คน จนสามารถต่อรองให้สภาเทศบาลกรุงโคเปนเฮเกนตระหนักถึงข้อเท็จจริงนี้ และจัดให้มีการหางานที่เหมาะสมกับคนกลุ่ม B ที่ต้องการทำงานตั้งแต่เวลา 10 โมงเช้า ไปจนถึง 2 ทุ่ม (หรือดึกกว่านั้น) รวมถึงโรงเรียนมัธยมบางแห่งได้เปิดให้มีการเรียนการสอน ณ เวลา 10 โมง นอกเหนือจากการเรียนในเวลา 8 โมงเช้าตามปกติ


 


นอกจากนี้ คามิลลา คริง ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า คนกลุ่ม B ในประเทศต่างๆ ตอบรับกระแสการเรียกร้องของ B-Society อย่างเห็นได้ชัด จนถึงขั้นที่มีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นในประเทศใกล้เคียง เช่น สวีเดน ฟินแลนด์ และนอรเวย์


 


ทางด้าน "คาริน่า คริสเตนเซน" รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบด้านการส่งเสริมสถาบันครอบครัวได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่ออังกฤษ โดยสนับสนุนการรณรงค์ของกลุ่ม B-Society ว่า "เราทั้งหมดคงมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ ถ้าหากการดำรงอยู่ของพวกเราไม่ต้องถูกครอบงำด้วยนาฬิกาปลุก"


 


ข้อมูลอ้างอิงและอ่านเพิ่มเติม


 


Late risers unite in Denmark By Chris Morris 


 


It's genes that count, Rebecca Hardy


 


จุลสาร พันธุศาสตร์ GENETICS NEWSLETTER ปีที่ 22 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม - ธันวาคม พ.ศ. 2545

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net