Skip to main content
sharethis

11 มิ.ย. 50 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 18.30 น. คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้มีมติให้อายัดทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภรรยา ประกอบด้วยการอายัดบัญชีจากเงินฝากที่ขายหุ้นให้เทมาเส็ก 20 บัญชี และอายัดเงินฝากของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมานทุกบัญชี ทุกธนาคารและทุกสถาบันการเงินเนื่องจากมีพฤติกรรมทุจริต และใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้ตัวเองและครอบครัว


 


นายนาม ยิ้มแย้ม ประธาน คตส.พร้อมด้วย นายสัก กองแสงเรือง และ นายแก้วสรร อติโพธิ กรรมการคตส.ได้ร่วมกันแถลงข่าวสำคัญนี้


 


สาระสำคัญในคำสั่งอายัดทรัพย์ระบุว่า ผลการสอบสวนคดีต่างๆ มีพยานหลักฐานเชื่อได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณทุจริต ประพฤติมิชอบ เอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจของครอบครัว โดยเฉพาะเอื้อผลประโยชน์ให้กับบริษัทชินคอร์ป ก่อให้เกิดความเสียหาแก่รัฐจำนวน 5 คดี คือ


 


          1. ทุจริตการซื้อที่ดินถนนรัชดาภิเษกจำนวน 772 ล้านบาทจากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน


          2 คดีทุจริตการจัดซื้อกล้ายางพาราของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรฯ สร้างความเสียหายจำนวน 1,440 ล้านบาท


          3. คดีจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด ซีทีเอ็กซ์ ทำให้รัฐเสียหาย 1,500 ล้านบาท


          4. ออกสลากพิเศษ(หวยบนดิน) ทำให้รัฐเสียหาย 37,790 ล้านบาท


          5. การปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยกับนักการเมืองโดยมิชอบจำนวน 5,185 ล้านบาท


 


ส่วนพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ มีพยายนหลักฐานเชื่อว่าได้ยังถือหุ้นบริษัทชินคอร์ป ตั้งแต่เป็นนายกฯ แต่ได้ให้ญาติ-บุตรเป็นผู้ถือหุ้นเอาไว้แทน และใช้อำนาจเอื้อประโยชน์หลายประการคือ 1 แก้ไขสัญญา ลดส่วนแบ่งรายได้ค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินสดล่วงหน้า เอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอไอเอส ทำให้รัฐเสียประโยชน์ตลอดอายุสัมปทาน 71,667 ล้านบาท แก้ไขสัญญาแบ่งสัดส่วนกับทีโอที เพื่อเอื้อประโยชย์กับบริษัทเอไอเอสทำให้รัฐเสียหายจำนวน 700 ล้านบาท


 


กำหนดภาษีสรรพสามิตในกิจตการโทรคมนาคม และได้มีมติครมแปลงภาษีสรรพามิตให้ประโยชน์ให้ไอไอเอสทำให้วิสากิจเสียหายประมาณ 30,667 ล้านบาท


 


ให้บริษัททีโอทีเช่าคลื่นความถี่ดาวเทียมของบริษัทโดยมไม่จำเป็นทำให้รัฐเสียหายประมาณ 700 ล้านบาท ให้เอ็กซิมแบงก์ให้พม่ากู้เงินซื้อสินค้าของชินแซทเทิลไลท์ในเงินกู้ 1 พันล้านบาท


 


อาศัยการค้าระหว่างประเทศแลกเปลี่ยนบุกเบิกธุรกิจดาวเทียมในเครือของบริษัทชินคอร์ป ทำให้เพิ่มมูลค่ากับบริษัทชินฯ เป็นอันมาก ซึ่งสรุปได้มีการอายัดทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมานจำนวน 21 บัญชี


 


นายแก้วสรร อติโพธิ เลขาธิการ คตส.กล่าวว่า การอายัดครั้งนี้เป็นการอายัดชั่วคราว โดยที่เจ้าของทรัพย์สินสามารถยื่นคัดค้านการอายัดทรัพย์เพื่อพิสูจน์การได้มา ภายใน 60 วัน และถ้าหากมายื่นเมื่อไหร่ก็พร้อมไต่สวนเมื่อนั้น


 


"มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีความประพฤติมิชอบรวยผิดปกติ ประกาศคปค.ให้อำนาจคตส.ที่จะอายัดทรัพย์ ไว้ก่อนได้ทั้งหมดนี้จึงมีคำสั่งอายัดทรัพย์ เราได้ติดตามบัญชีธนาคารครอบครัวนี้มาตลอดจนเงินก้อนที่เรามองคือการขายหุ้นชิน เชื่อว่าเป็นของพ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงแม้แตกเป็นบัญชีบุตรและพี่น้องก็เป็นการถือแทนพ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิง ซึ่งเงินจำนวน 7.3 หมื่นล้าน เหลือ 52,884 ล้าน การยักย้ายถ่ายโอนเกิดขึ้น เราไม่ได้สั่งอายัดวันนี้ด้วยมูลเหตุจูงใจทางการเมือง แต่อันนี้เป็นเหตุจำเป็นทางหลักฐาน ไม่ได้คิดว่า จะมีม็อบหรือร้อนขึ้นเย็นลง แต่อายัดโดยเหตุร่ำรวยความผิดปกติ" นายแก้วสรรกล่าว


 


เว็บไซต์คมชัดลึกระบุว่ามีรายงานว่า มาตรการในการอายัดทรัพย์สินของครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณ ดังกล่าวยังได้รับการเห็นชอบจากการหารือร่วมกันของบุคคล 3 คน คือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รมว.กลาโหม และ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เพื่อตัดท่อน้ำเลี้ยงที่สนับสนุนกลุ่มม็อบให้ก่อความวุ่นวายเพื่อต่อรองทางการเมืองและมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยการหารือของทั้งสามคนได้ข้อยุติเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา หลังการตีกอล์ฟร่วมกัน


 



พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) แถลงผลประชุม คมช.ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช.เป็นประธานการประชุม ว่า ที่ประชุมไม่ได้มีการหารือถึงการอายัดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพียงแต่มีหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่า การอายัดทรัพย์น่าจะทำให้เกิดผลดี แต่บางคนก็บอกว่า ณ เวลานี้ เขาคงไม่ใช้เงินตรงนี้ แต่ใช้เงินจากที่อื่น ซึ่งต่างฝ่ายต่างวิพากษ์วิจารณ์กันไป มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่สำหรับ คมช.ไม่มีความคิดเห็นในเรื่องนี้ กำลังปรึกษาหารือกันว่า มีความเหมาะสมหรือไม่เพียงใด


 



นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและครอบครัวชินวัตร กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่า ที่ประชุมค ตส.อาจมีการสั่งอายัดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า ฝ่ายกฎหมายได้ศึกษาข้อกฎหมายอย่างละเอียดยืนยันว่า คตส.ไม่มีอำนาจยึดทรัพย์ตามประกาศ คปค. เพราะการยึดทรัพย์จะเกิดขึ้นได้ตามประมวลกฎหมายรัษฎากร โดยอธิบดีกรมสรรพากรจะเป็นผู้ยึดทรัพย์ กรณีของภาษีที่ไม่ยื่นหลักทรัพย์ค้ำประกันเท่านั้น ส่วนการอายัดทรัพย์ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะต้องเป็นความผิดมูลฐาน


 



อนึ่ง คตส.ใช้อำนาจในการสั่งอายัดทรัพย์สินตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 30 เรื่องการแก้ไขประกาศ คปค.ฉบับที่ 23 เรื่อง การตรวจสอบทรัพย์สิน ตรวจสอบการดำเนินงานและโครงการต่างๆ ที่ได้รับอนุมัติ หรือเห็นชอบโดยบุคคลใน ครม. หรือ ครม.ในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2549



 


 


 


------------------------------------


เรียบเรียงจาก - เว็บไซต์คมชัดลึก เว็บไซต์กระแสหุ้นออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net