Skip to main content
sharethis

วิทยากร บุญเรือง


 


 



นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนปัจจุบันของไทย


(ที่มาภาพ : http://www.energyfantasia.com)


 


ปิยสวัสดิ์ปฎิเสธซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนสาละวิน


 


วันที่ 10 มิ.ย. 50 ผู้เขียนบังเอิญไปเจอข่าวหนึ่งของสำนักข่าว Bernama ของมาเลเซียที่มีความน่าสนใจ จึงอยากนำมาบอกเล่ากับผู้อ่าน ...


 


Bernama ได้ลงข่าวว่านายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของประเทศไทย ได้ปฏิเสธที่จะซื้อพลังงานจากโครงการเขื่อนสาละวินของรัฐบาลทหารพม่า โดยกล่าวว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะไม่มองหาแหล่งพลังงานจากประเทศพม่า


 


ตามเนื้อข่าวของ Bernama ปิยสวัสดิ์ได้บอกกว่ากระทรวงพลังงานของไทยยังไม่ได้เคยเซ็นสัญญาซื้อขายพลังงานใดๆ กับประเทศพม่า เพียงแต่ที่ผ่านมาแค่ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนี้เท่านั้น (conduct a feasibility study on the project)


 


"นโยบายของรัฐบาลชุดนี้แตกต่างจากรัฐบาลชุดที่แล้ว มันแตกต่างจากเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา" ปิยสวัสดิ์กล่าวกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่ตามเขาลงไปที่จังหวัดกระบี่ (ในรายงานข่าวของ Bernama กล่าวว่าเป็นที่ซักแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของประเทศ แต่เมื่อเช็คจากสื่อภายในประเทศแล้วพบว่าเป็นการนำผู้สื่อข่าวทั้งในและต่างประเทศไปเยี่ยมชมโครงการเกี่ยวกับพลังงานที่จังหวัดกระบี่)


 


ในส่วนการซื้อพลังงานจากลาว 5000 เมกกะวัตต์นั้น ก็จะยังคงดำเนินการต่อไป และก็กำลังมองหาการร่วมลงทุนกับจีน ซึ่งทั้งหมดนั้นอาจจะเริ่มดำเนินการในรัฐบาลหน้า


 


เนื้อข่าวยังกล่าวต่อไปว่า รัฐบาลชุดที่แล้วมีความผูกพันโยงใยกับรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าในด้านผลประโยชน์ทางธุรกิจ ทำให้กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนออกมาวิพากษ์วิจารณ์หลายครั้งถึงกรณีที่รัฐบาลไทยจะซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนสาละวิน


 


กระบอกเสียงที่สำคัญของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าอย่างหนังสือพิมพ์ "New Light of Myanmar" เคยรายงานว่าบรรษัท MDX ของไทยได้เข้าไปลงทุนถึง 6 พันล้านดอลลาร์แล้ว สำหรับการสร้างเขื่อนท่าซางในแถบตะวันออกของรัฐฉาน หนึ่งในโครงการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน


 


และการก่อสร้างเขื่อนขนาดความยาว 868 เมตร สูง 227 เมตร ได้เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมาแล้ว โดยเขื่อนแห่งนี้อยู่ห่างจากพรมแดนไทยประมาณ 75 กม. เท่านั้น


 


ซึ่งถ้าหากโครงการนี้สำเร็จ ในขั้นแรกไฟฟ้าพลังน้ำที่ได้จากเขื่อนแห่งนี้ก็จะมีขนาดถึง 7110 เมกกะวัตต์ โดยโครงการนี้คาดหวังที่จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้ 35446 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี (หรือ35.446 ล้านเมกกะวัตต์) ชั่วโมงต่อปี (อ่านเพิ่มเติม : Thailand Not Buying Power From Myanmar's Salween River - zPiyasvasti)


 


 






 


เกี่ยวกับ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์


 


นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ (เกิด 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2496) นักวิชาการด้านพลังงาน อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในรัฐบาลชั่วคราว หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549


 


นายปิยสวัสดิ์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาเอกคณิตศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับ 1) จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ปริญญาโทและปริญญาเอก สาขาวิชาเอกเศรษฐศาสตร์ จาก London School of Economics ประเทศอังกฤษ


 


นายปิยสวัสดิ์ เริ่มรับราชการเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2523 ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน ระดับ 4 กองวางแผนเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จนได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการกองวิเคราะห์และประมาณการเศรษฐกิจ เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2535 และได้โอนและเลื่อนระดับตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในปีเดียวกัน นายปิยสวัสดิ์ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2537 และอยู่ในตำแหน่งรวม 6 ปี ก่อนจะย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 และตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2543


 


นายปิยสวัสดิ์ มีแนวคิดเห็นด้วยกับการเปิดเสรีด้านพลังงาน และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เคบขัดแย้งกับนายแพทย์พรหมมินทร์ เลิศสุริยเดช รัฐมนตรีกำกับดูแลด้านพลังงานในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เรื่องโครงสร้างค่าไฟฟ้า และนโยบายการแปรรูปปตท. และกฟผ. จึงลาออกจากราชการเมื่อ พ.ศ. 2545 เพื่อไปดำรงตำแหน่งในบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย


 


 


ที่มา : ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


 


 


 


0 0 0


 


การกลับมาของเขื่อนและโรงไฟฟ้าในประเทศ : กระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ประชาชนจะยอมเรอะ?


 




เขื่อนปากมูล เขื่อนเจ้ากรรมที่ทำให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนต้องออกมาสู้กับรัฐบาลเกือบทุกชุด


(ที่มาภาพ : http://members.thai.net/uboncity)


 


อ่านแล้วก็อย่าคิดว่ารัฐบาลไทยชุดชั่วคราวนี้ จะมีนโยบายส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชนในพม่าด้วยการเลิกลงทุนกับรัฐบาลทหารพม่านะครับ ... มีหลายอย่างให้น่าคิดกว่านั้น


 


ไทยเป็นประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นความต้องการทางพลังงานจึงเป็นสิ่งจำเป็น  แต่หลายปีที่ผ่านมานี้การเติบโตของขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่ต่อต้านการสร้างเขื่อน การสร้างโรงไฟฟ้าเข้มแข็งขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด


 


เพราะชาวบ้านได้เรียนรู้จากบทเรียนในอดีต ไม่ว่าจะเป็นกรณีของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หรือกรณีพื้นที่ใกล้เคียงเขื่อนต่างๆ ที่ประสบกับปัญหามากมาย  --- ทำให้ใครต่อใครไม่ต้องการให้ "โรงไฟฟ้าและเขื่อน"เข้าไปอยู่ในชุมชนของตนเอง หรือสถานที่ใกล้เคียง


 


จะด้วยเหตุที่ชาวบ้านในแต่ละพื้นที่กำลังตื่นตัวเรื่องการป้องกันชุมชนออกจากแหล่งสร้างมลพิษและสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ ทำให้นโยบายของรัฐตั้งแต่ชุดที่แล้วเป็นต้นมาเห็นว่า การผลักภาระความสูญเสียทางสิ่งแวดล้อมสู่ประเทศเพื่อนบ้านคงเป็นสิ่งที่คุ้มค่ากว่า


 


แต่ก็ใช่ว่าจะหยุดพัฒนาโครงการพลังงานในประเทศ คงแต่เป็นการรอฉกฉวยจังหวะสถานการณ์ดีๆ เท่านั้น


 


และอาจกล่าวได้ว่าจังหวะมันน่าจะมาแล้วสำหรับการเสนอต่อสังคมว่า เราควรมีโรงไฟฟ้า มีเขื่อนในประเทศได้แล้ว ทั้งนี้มีการประเมินถึงความเป็นไปได้ที่การพัฒนาแหล่งพลังงานในประเทศโดยนายทุนเอกชน จะเป็นหนทางหนึ่งที่ถูกขุดขึ้นมาปัดฝุ่นหลังจากขาดหายไปหลายปี


 


และก็ไม่ใช่แค่เรื่องการสร้างเสถียรภาพทางพลังงานในอนาคตอย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องของการกระตุ้นภาคเศรษฐกิจในวันนี้อีกด้วย


 


ซึ่งขณะนี้ความเคลื่อนไหวมันเริ่มปรากฏแล้ว ...


 


ดร.คุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงานกล่าวว่า การลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าโรงหนึ่งขนาดกำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ จะมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ดังนั้นคาดว่าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่หรือ ไอพีพี 4-5 แห่งที่กำลังจะเปิดประมูลกันในเดือนมิถุนายน 2550 นี้เพื่อผลิตไฟฟ้า 3,200 เมกะวัตต์นั้นจะต้องใช้เงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท โดยทยอยลงทุนตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจ และสร้างความมั่นคงให้ระบบพลังงานของประเทศ


 


ทั้งนี้ การรับซื้อไฟฟ้าจากไอพีพี เป็นไปตาม PDP 2007 ในช่วงปี 2550-2564 กำลังผลิต 39,676.25 เมกะวัตต์ โดยแบ่งแผนการจัดหาแหล่งผลิตออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 โครงการที่ได้รับอนุมัติแล้วและอยู่ระหว่างก่อสร้างในปี 2550-2553 รวม 7,885.25 เมกะวัตต์ และช่วงที่ 2 โครงการที่จะดำเนินการในปี 2554-2564 รวม 31,791 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โครงการที่ กฟผ. ดำเนินการเอง 16 โครงการ จำนวน 12,400 เมกะวัตต์ (ในส่วนนี้จะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2,800 เมกะวัตต์) โครงการ IPP 18 โครงการ 12,600 เมกะวัตต์ โครงการ SPP 1,700 เมกะวัตต์ และการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน 5,091 เมกะวัตต์ รวมวงเงินลงทุนตามแผนใหม่ 2.08 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นเงินลงทุนที่ กฟผ. ใช้ในระบบผลิตและระบบส่งไฟฟ้า 1.37 ล้านล้านบาท และเงินลงทุนในส่วนของ IPP SPP และต่างประเทศ 0.71 ล้านล้านบาท (ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์ 4 มิ.ย.50)


 


ด้านนายปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ นักวิจัยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า จากการพิจารณาเรื่องศักยภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานในประเทศ ทั้ง 25 ลุ่มน้ำ สามารถสร้างโรงไฟฟ้าได้ถึง 15,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเป็นเขื่อนอเนกประสงค์ขนาดเล็กกั้นลำน้ำผลิตไฟฟ้าไม่เกิน 200 เมกะวัตต์ หากประเทศไทยวางแผนวิจัยและพัฒนาที่ดีก็น่าจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้อย่างน้อย 5,000 เมกะวัตต์ จากที่ปัจจุบันประเทศไทยมีเขื่อนผลิตไฟฟ้าได้เพียง 3,500 เมกะวัตต์ โดยในเรื่องนี้จะต้องมีการส่งเสริมเรื่องความเข้าใจของประชาชนว่า การผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนขนาดเล็กมีความสำคัญช่วยลดความผันผวนของราคาพลังงาน จะเห็นตัวอย่างจากญี่ปุ่นหรือยุโรปก็ให้ความสำคัญเรื่องเขื่อนพลังน้ำเช่นกัน



นอกจากนี้ ในลุ่มแม่น้ำโขงพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว ตั้งแต่จังหวัดเลย-อุบลราชธานี ก็มีศักยภาพสร้างโรงไฟฟ้าได้อีก 5,000 เมกะวัตต์ โครงการเหล่านี้จะเกิดได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความร่วมมือระหว่างประเทศ   (ที่มา : เผยไทยมีศักยภาพสร้างโรงไฟฟ้ากั้นลุ่มน้ำได้ถึง 15,000 เมกะวัตต์)


 


นี่เป็นข้อมูลที่กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำต่างๆ ต้องหนาวๆ ร้อนๆ และเตรียมตัวสำหรับการต่อสู้ไว้เนิ่นๆ


 


ทั้งนี้การสร้างโรงไฟฟ้าและเขื่อนขนาดเล็กก็ยังจะเป็นตัวช่วยเพิ่มการลงทุน โดยนายปิติ ตัณฑเกษม ผู้บริหารธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย ได้ออกมากล่าวว่า การระดมทุนผ่านหุ้นกู้และสินเชื่อร่วม (ซินดิเคตโลน) ขนาดใหญ่จะกลับฟื้นคืนมาอีกครั้งช่วงครึ่งหลังปีนี้


 


โดยจะมีธุรกิจโรงไฟฟ้าเป็นตัวนำ หลังจากที่นายปิยสวัสดิ์  อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีนโยบายที่จะเปิดประมูลโรงไฟฟ้าอิสระ โรงไฟฟ้าขนาดย่อม และโรงไฟฟ้าขนาดจิ๋ว ในเร็วๆ นี้ หลังจากการประมูลโครงการใหญ่ๆ ห่างหายจากการระดมเงินมาหลายปี


 


อย่างไรก็ดี การระดมทุนในรูปของการออกหุ้นกู้ การกู้ผ่านทางตราสารหนี้ ไม่น่าจะส่งผลต่อการขยายสินเชื่อธนาคารพาณิชย์มากนัก เพราะการลงทุนต้องใช้ระยะเวลาเบิกถอนสินเชื่อ


 


"ตอนนี้ยังคาดคะเนวงเงินลำบาก ต้องรอดูว่าจะมีผู้ประมูลได้กี่ราย โรงไฟฟ้าจะมีกำลังการผลิตรวมเท่าไร ถ้าประกาศกำลังผลิตรวมก็พอจะคำนวณได้ กำลังการผลิตที่ 1 เมกะวัตต์ จะใช้เงินลงทุนประมาณ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 35 ล้านบาท" นายปิติ กล่าว


 


ด้านนายธเนศ ภู่ตระกูล ประธาน เจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า เชื่อว่าตลาดหุ้นกู้จะกลับมาคึกคักแน่นอนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เพราะต้นทุนการออกหุ้นกู้ถูกลง


 


นายสมชาย  สัญญลักษณ์ศิริ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารเพิ่งปรับลดประมาณการตลาดหุ้นกู้ปีนี้ลงเหลือ 1.5-1.6 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่ได้เติบโตมากนักเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นกู้ในปีที่แล้วซึ่งมีมูลค่าตลาดประมาณ 1.55 แสนล้านบาท เพราะมีบริษัทขนาดใหญ่เลื่อนแผนการออกหุ้นกู้ออกไป เพราะความจำเป็นทางแผนธุรกิจ (ที่มา : โพสต์ทูเดย์ 7 มิถุนายน 2550)


          


จากข้อมูลจะเห็นได้ว่าการกลับมาของโรงไฟฟ้าและเขื่อนในประเทศกำลังจะกลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง การปฏิเสธซื้อพลังงานจากเขื่อนสาละวินนั้นอาจจะเป็นเพียงการระงับกระแสการกดดันไว้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว เพราะตามกำหนดการแล้วในปี พ.ศ. 2556 - 2557 นู่นถึงจะมีการดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้


 


ในด้านหนึ่งการปฎิเสธการซื้อพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนสาละวิน จะเป็นเหตุผลรองรับในการหาพลังงานทดแทนในประเทศ ซึ่งก็คือการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและเขื่อนในประเทศแทนที่ เพราะโครงการร่วมทุนกับจีนนั้นยังไปไม่ถึงไหน ส่วนกำลังกระแสไฟฟ้าจากการซื้อมาจากประเทศลาวก็เทียบไม่ได้กับการที่ต้องสูญเสียไปจากเขื่อนสาละวิน เพราะซื้อจากลาวแค่ 5000 เมกกะวัตต์ แต่กำลังการผลิตจากเขื่อนท่าซางเต็มที่มีสูงถึง 35.446 ล้านเมกกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี


 


รวมถึงการที่ สกว.ออกมาหนุนเสริมว่าศักยภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานในประเทศ ทั้ง 25 ลุ่มน้ำ สามารถสร้างโรงไฟฟ้าได้ถึง 15,000 เมกะวัตต์นั้น ก็เป็นเหมือนข้อมูลเชิงวิชาการที่รัฐบาลจากนี้ไปนำมาเป็นข้ออ้างในการสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าพลังน้ำในเขตต่างๆ ทั่วประเทศ


 


แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่าสิ่งที่ปิยสวัสดิ์พูดนั้นจะเป็นจริง การรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินก็ยังเป็นแผนการฉุกเฉิน (หรือไม่ก็เป็นแผนหลักเลยทีเดียว) สำหรับการสร้างเสถียรภาพทางพลังงานในประเทศ เพราะหากขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่ต่อต้านการสร้างเขื่อน การสร้างโรงไฟฟ้า ยังคงความเข้มแข็งอยู่ ... ก็คงเป็นการยากที่ฝันของรัฐบาลและธุรกิจพลังงานจะสามารถสร้างตัวปั้มเงินนี้ ในประเทศได้เพิ่มอีก


 


อีกเหตุผลคือบรรษัทของไทยได้ลงทุนไปอย่างมหาศาลสำหรับโครงการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน .. และการก่อสร้างนั้นก็ยังคงดำเนินอยู่!


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net