ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช : ความยอมรับของคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ

ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

บทนำ

            Lord Denning กล่าวว่า "คำพิพากษาของศาลเป็นของสาธารณะ" ซึ่งหมายความว่า เมื่อผู้พิพากษาได้วินิจฉัยข้อพิพาทเสร็จเรียบร้อยแล้ว สาธารณชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างเต็มที่ ผู้เขียนจึงขอใช้สิทธิวิจารณ์คำตัดสินคดียุบพรรคการเมืองด้วยประเด็นวิเคราะห์ แยกออกเป็น 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ

1. ประเด็นของตัวองค์กร

                       

1.1 ความชอบธรรมขององค์กร

            ตุลาการรัฐธรรมนูญนี้มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ในเมื่อตุลาการรัฐธรรมนูญขาดความชอบธรรมแล้ว คำถามมีว่าทำไมตุลาการทั้ง 9 ท่านจึงไม่ยอมใช้มโนธรรมสำนึกส่วนตนหรือความกล้าหาญทางจริยธรรมที่จะไม่นั่งร่วมพิจารณาคดีนี้ ซึ่งทางเลือกนี้ก็เคยมีผู้พิพากษาต่างประเทศของหลายประเทศยอมลาออก เช่น ผู้พิพากษาของประเทศโรดีเซีย ปากีสถาน ฟิจิ (Resignation of Office)[1] โดยอาจอ้างเหตุผลได้หลายประการ เช่น

ประการที่หนึ่ง อาจอ้างหลักที่ว่า หากองค์กรใดก็ตามถูกยุบ องค์กรใหม่ที่ถูกตั้งแทนขึ้นมานั้นจะต้องมีคุณสมบัติเหมือนกับองค์กรเดิมที่ถูกล้มล้างไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเขตอำนาจ อำนาจหน้าที่ ฯลฯ[2]  หลักการนี้ได้รับการยืนยันจากศาลสูงของประเทศไซปรัส จะเห็นได้ว่า แม้ศาลของต่างประเทศก็รู้จักหลักข้อนี้ แต่ทำไมตุลาการรัฐธรรมนูญจึงไม่หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาพิจารณา

ประการที่สอง ตุลาการทั้ง 9 ท่านน่าจะรู้เท่าทันถึงความไม่สุจริตมาตั้งแต่ต้นของ คปค. ที่ออกคำสั่งยุบศาลรัฐธรรมนูญ แต่คงไว้เฉพาะศาลยุติธรรมและศาลปกครอง คำถามมีว่าทำไมคณะรัฐประหารจึงยกเลิกเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น ทั้งๆ ที่ศาลรัฐธรรมนูญก็มีสถานะเป็น "องค์กรตุลาการ" ทำในนามพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ ดุจเดียวกับศาลยุติธรรมและศาลปกครอง อีกทั้งยังมีคำสั่งยุบเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญและกำหนดให้คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญโอนมาอยู่กับตุลาการรัฐธรรมนูญ ซึ่งหนึ่งในคดีที่สำคัญก็คือคดียุบพรรค คำถามมีว่า ทั้งๆ ที่คณะรัฐประหารมีอำนาจที่จะยุบพรรคได้อยู่แล้วทำไม่ทำ แต่กลับมายืมมือตุลาการเพื่อหลอกให้ประชาชนเห็นว่า คดียุบพรรคการเมืองได้ผ่านกระบวนการยุติธรรมแล้ว เป็นการลดกระแสแรงต้านทานของประชาชน

อีกทั้งภายหลัง คปค.ยังได้ออกประกาศฉบับที่ 27 เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งย้อนหลัง 5 ปีนั้น บ่งบอกให้เห็นว่ามุ่งหมายจะใช้กับพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง อันแสดงให้เห็นถึงความไม่สุจริตแล้ว ตุลาการรัฐธรรมนูญ ควรถอนตัวหรือให้เหตุผลว่า ตนเองไม่มีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีนี้

ประการที่สาม ตุลาการอาจอ้างทฤษฎี  "ปัญหาการเมือง" (political question) แม้ว่าทฤษฎีนี้จะเป็นที่ยอมรับกันในระบบคอมอนลอว์ก็ตาม แต่ระบบกฎหมายไทยในปัจจุบันก็ได้รับอิทธิพลจากกฎหมายอังกฤษเป็นจำนวนมาก ทฤษฎี "ปัญหาการเมือง" หมายความว่า ตุลาการจะไม่วินิจฉัยคดีประเด็นปัญหาที่เป็นข้อพิพาททางการเมือง

การที่ตุลาการรัฐธรรมนูญยังคงนั่งพิจารณาคดีนี้ต่อไปเท่ากับยอมตนเป็น "เครื่องมือ" ของคณะรัฐประหารแล้ว ซึ่งประเด็นเรื่องการแต่งตั้งตุลาการเฉพาะกิจนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติก็ได้แสดงข้อวิตกกังวลในเรื่องของที่มาของผู้พิพากษาของประเทศซีเรียแล้ว[3] ดังนั้น ในอนาคต ตุลาการรัฐธรรมนูญชุดนี้อาจถูกตั้งคำถามจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติได้

                       

1.2 ความเคลือบแคลงต่อหลักความเป็นอิสระและความเป็นกลาง

            แม้ตุลาการรัฐธรรมนูญจะออกมายืนยันถึงความเป็นอิสระและความเป็นกลางในการวินิจฉัยคดีก็ตาม แต่ความเป็นอิสระและความเป็นกลางนั้นมิได้มาจากคำพูดของตัวท่านเองอย่างเดียว แต่ต้องพิจารณาปัจจัยและสภาพแวดล้อมอื่นประกอบด้วย ที่สำคัญที่สุดก็คือที่มา ในเมื่อคณะรัฐประหารเป็นผู้แต่งตั้งตุลาการชุดนี้ ย่อมไม่พ้นข้อครหาไปได้ อีกทั้งก่อนวันตัดสินประธาน คมช. ได้เดินทางไปพบประธานศาลปกครองสูงสุดและรองประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่อาจห้ามให้ประชาชนตั้งแง่สงสัยถึงความเป็นอิสระได้

2. ประเด็นของกฎหมายที่ใช้ประกอบการตัดสิน
ในเมื่อผ่านประเด็นเรื่องเขตอำนาจศาล (Jurisdiction) มาแล้ว ตุลาการรัฐธรรมนูญก็ยังพอมีหนทางที่จะรักษาหลักนิติธรรมไว้ได้ โดยจะพิจารณาดังต่อไปนี้

                       

2.1 หลักห้ามลงโทษย้อนหลังใช้กับโทษอาญาเท่านั้นใช่หรือไม่

            หลักห้ามลงโทษทางอาญาย้อนหลังกับผู้กระทำความผิดนั้นเป็นหลักสากลที่นานาอารยประเทศรับรอง แต่หลักกฎหมายนี้ นักกฎหมายไทยส่วนใหญ่เข้าใจหรือตีความว่า ใช้เฉพาะกับโทษทางอาญา  5 สถานเท่านั้น คือ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และริบทรัพย์สิน เท่านั้น แต่การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มิใช่หนึ่งในโทษทางอาญา 5 สถานเพราะฉะนั้นจึงกระทำได้

แท้จริงแล้ว หลักนี้ใช้กับมาตรการที่มีลักษณะเป็นเชิงลงโทษอย่างร้ายแรงอีกด้วย (punitive measures)  ศาล European Court of Human Rights ได้วินิจฉัยในคดี Case of Welch v. The United Kingdom 1995, Application no. 17440/90)  ตัดสินเมื่อวันที่  9 กุมภาพันธ์ 1995 การตรากฎหมายให้มี "คำสั่งยึดทรัพย์" (confiscation order) ย้อนหลังได้นั้น ถือว่ามีความร้ายแรงเท่ากับการลงโทษทางอาญาแล้ว ผู้พิพากษาจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ขัดต่อหลักที่ว่า "โทษที่จะลงโทษผู้กระทำผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายในขณะที่ความผิดได้กระทำขึ้น" เหตุผลดังกล่าวก็ได้สอดคล้องจากผู้พิพากษาอังกฤษด้วย โดยเห็นว่า คำสั่งยึดทรัพย์นั้น มีผลร้ายเทียบเท่าหรือก่อให้เกิดโทษทางอาญาเหมือนกัน แม้แต่ผู้พิพากษาศาลอุธรณ์คือ เซอร์  Thomas Bingham  ก็กล่าวว่า "คำสั่งยึดทรัพย์"  ถือว่าเป็นบทลงโทษทางอาญา (penal provision) ในความหมายอย่างกว้างแล้ว

ดังนั้น การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเข้าข่ายเป็นมาตรการเชิงลงโทษอย่างร้ายแรงแล้ว หากตีความว่า ผู้มีอำนาจอาจตรากฎหมายย้อนหลังเป็นโทษอย่างไรก็ได้ ขอเพียงให้ไม่เข้าข่ายโทษอาญา 5 สถานเป็นอันใช้ได้ ก็เท่ากับอำนาจออกกฎหมายของคณะรัฐประหารไม่มีขีดจำกัด ซึ่งหมายความว่าต่อไปภายภาคหน้า รัฐบาลอาจออกกฎหมายย้อนหลังถอนสัญชาติไทยของ คมช. ทำให้ คมช.มีสถานะเป็น "คนต่างด้าว" ยังผลให้สามารถต้องคำสั่ง "เนรเทศ" ได้อีก ผลก็คือ คมช. ต้องออกจากประเทศไทยและไม่สามารถกลับเข้ามาในประเทศไทยได้อีกเพราะขาดคุณสมบัติตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง คำถามมีว่า เราจะยอมรับกติกาที่ว่า รัฐสามารถตรากฎหมายย้อนหลังได้ตราบเท่าที่ไม่ใช่โทษทางอาญา ไม่ว่าโทษที่ได้รับนั้นจะรุนแรงหรือไม่เป็นธรรมต่อผู้ได้รับผลร้ายมากน้อยเพียงใดก็ตามใช่หรือไม่ ถ้าคำตอบว่าใช่ ก็เป็นเรื่องที่ คมช.และ คตส.ต้องเตรียมตัวให้ดี มิให้เกิด "ดาบนี้คืนสนอง"

นอกจากนี้แล้วรัฐธรรมนูญบางประเทศอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาก็มีข้อห้ามในการตรากฎหมายย้อนหลัง (ex post facto) ด้วย ก่อนจบประเด็นนี้ ผู้เขียนขอยกคำพูดของศาสตราจารย์ Lon Fuller ได้เขียนในตำรามีชื่อของท่านคือ "ศีลธรรมของกฎหมาย" (the Morality of Law) ว่า "การตรากฎหมายย้อนหลัง (เป็นโทษ) เป็นความอัปลักษณ์อย่างแท้จริง"[4]

 

2.2 สถานะประกาศของ คปค. ฉบับที่ 27: การเพิกถอนสิทธิการเมืองย้อนหลัง 5 ปี

ตามหลักกฎหมายทั่วไปและกฎหมายสิทธิมนุษยชน คำว่า "กฎหมาย" นั้น มิได้พิจารณาแต่เพียง "รูปแบบ" ตามแบบพิธีเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาที่ "เนื้อหา" ด้วย แม้แต่คณะกรรมาธิการนักนิติศาสตร์ระหว่างประเทศ (International Commission of Jurists) ชี้ให้เห็นว่า คำว่า "the rule of law" นั้นมิได้มีความหมายเพียงแค่ "ความชอบด้วยกฎหมาย" (Legality) หรือ นักวิชาการบางท่านชี้ให้เห็นข้อแตกต่างระหว่าง "ปกครองด้วยกฎหมาย" (ruled by law) กับ "ปกครองโดยหลักนิติธรรม" (rule of law) อย่างแรกหมายถึงเป็นการปกครองโดยกฎหมายโดยไม่สนใจว่า กฎหมายนั้นจะชอบธรรมหรือเป็นธรรมหรือไม่ ขอให้ออกโดยผู้มีอำนาจเป็นอันใช้ได้ ขณะที่อย่างหลัง ให้ความสำคัญกับ "ที่มา" และ "เนื้อหาสาระ" ของกฎหมายด้วย คำถามมีอยู่ว่า สังคมไทยพอใจและพร้อมที่จะยอมรับกติกาแบบแรกใช่หรือไม่

หลักเกณฑ์ที่สำคัญที่ใช้พิจารณาว่า กฎหมายนั้นสอดคล้องกับหลักนิติธรรม (the rule of law) หรือหลักนิติรัฐ (Rechtstaat) หรือไม่ ให้พิจารณาอย่างน้อยสามหลักเกณฑ์ดังนี้

                        1) หลักความได้สัดส่วน (Proportionality)
                       
2) ความแน่นอนของกฎหมาย (Legal certainty)
                        3) ความสามารถในการเข้าถึงหรือการรับรู้ของกฎหมาย (Accessibility) หรือความคาดหมายได้ (foresee ability)

            จะเห็นได้ว่า คำประกาศให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งย้อนหลัง 5 ปีนั้น ขัดต่อหลักเกณฑ์ข้างต้น ดังต่อไปนี้

            ประการแรก คำประกาศให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งย้อนหลัง 5 ปีนั้นขัดต่อหลักความได้สัดส่วนหรือไม่กับข้อหาที่หลีกเลี่ยงกฎร้อยละยี่สิบ คำวินิจฉัยในหน้า 99 ตุลาการรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า "..พรรคการเมืองอันเป็นสถาบันหลักของการปกครองในระบอประชาธิปไตย ย่อมต้องมีภาระหน้าที่ในการผดุงไว้ซึ่งหลักการสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือการที่ประชาชนจะต้องเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศที่แสดงออกในการเลือกตั้ง….การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไปนั้น เป็นช่วงจังหวะเวลาและเป็นกระบวนการทางการเมืองที่มีความสำคัญยิ่งในระบบการเมืองแบบประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นการเปิดโอกาสอย่างกว้างขวางที่สุดแก่ประชาชนที่จะได้ร่วมกันใช้สิทธิแสดงเจตจำนงและตกลงใจที่จะกำหนดทิศทางการเมืองและคัดสรรผู้แทนเข้ามาทำหน้าที่ทั้งในฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร แสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 1 (พรรคไทยรักไทย) มิได้ให้ความสำคัญหรือเห็นคุณค่าของสิทธิเลือกตั้งของประชาชน"

คำถามมีว่า แล้วที่พรรคการเมืองปฏิเสธที่จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแสดงว่าพรรคการเมืองนั้นไม่ทำหน้าที่ผดุงหลักการสำคัญของประชาธิปไตยและไม่เห็นคุณค่าหรือความสำคัญของสิทธิเลือกตั้งของประชาชนใช่หรือไม่ ถ้าใช่ การที่พรรคการเมืองไม่ยอมส่ง ส.ส.ลงเลือกตั้งนั้น ไม่มีความผิดเลย หรือผิดน้อยกว่า หรือมากกว่าพรรคการเมืองที่ทำผิดกฎหมายการเลือกตั้ง คำถามนี้คงเป็นคำถามคาใจประชาชนไปอีกนาน

            ประการที่สอง คำประกาศให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งย้อนหลัง 5 ปีนั้นขัดต่อหลักความชัดเจนแน่นอนของกฎหมาย (Legal certainty) เนื่องจากประกาศดังกล่าวมิได้มีการกำหนดว่า ให้ลงโทษกรรมการบริหารพรรคเฉพาะที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด คำประกาศนี้จึงขาดความชัดเจนแน่นอนทางกฎหมาย

            ประการที่สาม คำประกาศให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งย้อนหลัง 5 ปีนั้นขัดต่อหลักความสามารถในการเข้าถึงหรือความคาดหมายได้ของเนื้อหาสาระของกฎหมาย โดยปกติแล้ว กฎหมาย หรือแม้กระทั่งระเบียบ ข้อบังคับ ก็จะต้องมีการประกาศใช้ล่วงหน้าเพื่อให้ประชาชนหรือบุคคลที่อาจได้รับผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพได้รับทราบถึงสาระสำคัญของกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น ในสังคมประชาธิปไตย การประกาศใช้กฎหมาย (หรือบางประเทศอาจรวมถึงสนธิสัญญาด้วย) จะต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้ประชาชนทราบล่วงหน้า เงื่อนไขข้อนี้ได้รับการยืนยันจากศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปในคดี Sunday Times v. United Kingdom ว่า แบบแผนหรือกฎเกณฑ์จะเป็นกฎหมายได้ก็ต่อเมื่อประชาชนสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าถึงเนื้อหาของกฎเกณฑ์นั้นได้ เพื่อที่ประชาชนจะสามารถควบคุมการกระทำของตนเองให้สอดคล้องกับแบบแผนหรือกฎเกณฑ์เช่นว่านั้น

             แต่ประกาศนี้ได้ประกาศใช้ ภายหลัง จากการกระทำที่ได้มีการจ้างวานพรรคเล็กเพื่อหาผู้สมัครลงรับสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่ง ส.ส.ของพรรคไทยรักไทยไม่อาจทราบล่วงหน้าได้ว่า การกระทำของตนนั้น หากถูกศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอื่นวินิจฉัยแล้ว ตนจะต้องสูญเสียสิทธิทางการเมืองถึง 5 ปีตามไปด้วย

            ตุลาการรัฐธรรมนูญควรจะนำเหตุผลข้างต้นสองสามประการข้างต้นมาวิเคราะห์ว่าคำประกาศเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งย้อนหลัง 5 ปีนั้นไม่มีผลทางกฎหมาย (invalid) ดุจเดียวกับที่ผู้พิพากษาในคดี Case of Welch v. The United kingdom ที่พิจารณาถึงองค์ประกอบต่างๆ ประกอบกัน เช่น ลักษณะ วัตถุประสงค์ และระดับของความรุนแรง (severity) ของมาตรการในเชิงลงโทษเพื่อประเมินว่า มาตรการนั้นเป็นมาตรการเชิงลงโทษ (punitive measure) หรือไม่  แต่ตุลาการรัฐธรรมนูญ (หกท่าน) กลับใช้ประกาศของคณะรัฐประหารไปอย่างเซื่องๆ โดยมิได้มีการวิเคราะห์ความสมเหตุสมผลหรือใช้นิติวิธี (Juristic method) ตีความอย่างแคบ เนื่องจากคำประกาศดังกล่าวให้ผลร้ายแรงกระทบสิทธิเสรีภาพทางการเมืองของประชาชน แต่ตุลาการรัฐธรรมนูญกลับตีความตามตัวอักษร (literal interpretation) เลย ตุลาการรัฐธรรมนูญแทบจะไม่ใช้ความรู้ทางนิติศาสตร์ ทฤษฎีทางกฎหมาย หรือการค้นคว้ากฎหมายและคำพิพากษาของศาลต่างประเทศว่า เวลาที่ตุลาการเผชิญกับคำสั่งหรือประกาศที่อยุติธรรมซึ่งออกโดยคณะเผด็จการนั้น ตุลาการต่างประเทศเขาหาทางออกกันอย่างไร ซึ่งจากการค้นคว้าแล้ว พบว่า ปัจจุบัน เนื่องจากการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองและหลักนิติธรรมนั้นกลายเป็นอุดมการณ์หลักของกระแสโลกในเวลานี้ ตุลาการจึงต้องดำรงตนเป็นผู้พิทักษ์หลักนิติธรรมโดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์ที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมาจากการแต่งตั้งของผู้ยึดอำนาจ

           

2.3 ประกาศของคปค. ฉบับที่ 27 มีผลเป็นการเพิกถอนสิทธิการเมืองย้อนหลัง 5 ปี

ขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง มาตรา 25

            ในธรรมนูญการปกครองชั่วคราว 2549 มาตรา 3  ซึ่งคณะรัฐประหารเป็นผู้ร่างขึ้นนั้นได้รับรองว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนย่อมได้รับความคุ้มครองตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่ ประเทศไทยเป็นสมาชิกกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง มาตรา 25 ได้รับรองสิทธิทางการเมือง (Electoral rights) ซึ่งรวมถึงสิทธิในการออกเสียงลงคะแนน (right to vote) และสิทธิที่จะได้รับเลือกตั้งในการเลือกตั้ง (right to be elected หรือ  right to stand in elections) สิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิที่มีความสำคัญประกอบขึ้นเป็นสาระสำคัญของความเป็นพลเมือง แต่คำประกาศที่ 27 มีผลเท่ากับเป็นการพรากความเป็นพลเมืองของผู้ต้องคำสั่งดังกล่าว อันเป็นการละเมิดมาตราที่ 25 แล้ว

ความอ่อนในการให้เห็นผลทางกฎหมาย
            ตุลาการรัฐธรรมนูญให้เหตุผลว่า การหลีกเลี่ยงกฎร้อยละยี่สิบเป็นการกระทำอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ขัดต่อกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยตุลาการรัฐธรรมนูญเห็นว่า "การกระทำดังกล่าวส่งผลให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยสั่นคลอนไม่มั่นคง" คำถามมีว่า แล้วการล้มล้างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 19 กันยายนปีที่แล้ว เป็นการการทำที่ส่งเสริมประชาธิปไตยใช่หรือไม่ การยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่เป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐใช่หรือไม่ การลิดรอนสิทธิเสรีภาพอันเป็นผลพวงมาจากการทำรัฐประหารไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนใช่หรือไม่

บทสรุป รัฐประหาร : ปฐมบทของความผิดพลาด
            ประวัติศาสตร์ของการยึดอำนาจหลายครั้งที่ผ่านมาเป็นหลักฐานอย่างดีที่ชี้ให้เห็นว่า การแก้ไขปัญหาของประเทศด้วยการทำรัฐประหารนั้นทำลายหลักนิติรัฐ ระบอบประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ระบบกฎหมายและระบบศาลตลอดจนวัฒนธรรมเคารพกฎหมายอย่างสิ้นเชิง มิพักต้องกล่าวถึงว่ารัฐประหารได้สร้างปัญหาทางกฎหมายต่างๆ ตามมามากเพียงไร รัฐประหารนั้นเปรียบเสมือน "เชื้อโรคร้าย" ของระบบกฎหมายปกติ เมื่อเข้ามาแล้วก็บั่นทอน "หลักกฎหมาย" และ "ระบบศาล" ดั่งที่เห็นกันอยู่ในเวลานี้ กฎหมายแทนที่จะเป็นเรื่องของ "เหตุผล" กับกลายเป็นเรื่องของ "อำนาจดิบ" หรือ "ความประสงค์ของผู้มีอำนาจ" โดยที่ไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าเนื้อหาสาระของกฎหมายนั้นมี "เหตุผล" หรือ "ความชอบธรรม" รองรับหรือไม่อีกต่อไป

บทส่งท้าย
            เกือบสองปีที่ผ่านมา สังคมไทยกล่าวถึง "ตุลาการภิวัตน์" มาก โดยประชาชนอยากเห็นตุลาการเป็นองค์กรที่ปราศจากการเมืองแทรกแซง ทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมอย่างตรงไปตรงมา พิทักษ์คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสง่างาม แต่ตุลาการรัฐธรรมนูญกลับทิ้งโอกาสนี้อย่างน่าเสียดาย นี่เป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่จะแสดงให้เห็นว่า "ตุลาการภิวัตน์" ที่แท้จริงคืออะไร ประเด็นที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ว่า ยุบพรรคการเมืองหรือไม่ แต่อยู่ที่การใช้โอกาสนี้เป็นการฟื้นฟู "หลักนิติรัฐ" "สิทธิมนุษยชน" "ความยุติธรรม" และ "ระบอบประชาธิปไตย" ที่กำลังเลือนหายไปจากสังคมไทยในเวลานี้

            สัญลักษณ์ของความยุติธรรมนั้นเป็นเทพีผู้หญิงผูกผ้าปิดตา (เพื่อป้องกันมิให้เกิดอคติเวลาตัดสินคดีว่ากำลังตัดสินใคร)  มือซ้ายถือ "ตราชั่ง" (สัญลักษณ์ของความยุติธรรม) มือขวาถือ "ดาบ" (สัญลักษณ์ของความกล้าหาญ) มาบัดนี้ เธอได้เลิกผ้าปิดตาขึ้นแล้ว มือขวาที่เคยถือดาบ เธอหันมาถือ "พัด" แทน และตราชั่งนั้นได้เอียงไปข้างหนึ่งแล้ว…..





[1] Tayyab Mahmud, Jurisprudence of Successful Treason: Coup d"etat & Common Law, Cornell International Law Journal, 1994,p.127


[2] Georghios M. Pikis, Constitutionalism-Human Rights-Separation of Powers: The Cyprus Precedent, (The Netherlands: Martinus Nijhoff Publishers,2006), p.34


[3] โปรดดู Concluding observations of the Human Rights Committee
: Syrian Arab Republic. 24/04/2001. CCPR/CO/71/SYR. (Concluding Observations/Comments
)
, para. 15

 


[4] Lon Fuller, The Morality of Law, p.53

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท