Skip to main content
sharethis

ชำนาญ จันทร์เรือง


 


ผมไม่ติดใจต่อผลของคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในคำวินิจฉัยที่ 1-2/2550 และ 3-5/2550 ในกรณีที่มีคำวินิจฉัย ไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ และให้ยุบพรรคไทยรักไทย และที่เหลืออีก 3 พรรคตามคำร้องของอัยการสูงสุด เพราะจะกลายเป็นการ "ดันทุรัง" และไม่ยอมรับในกติกาที่มีอยู่ว่า เมื่อผลออกมาเช่นไรก็ควรที่จะต้องยอมรับและยุติ เพราะคณะตุลาการฯ ได้ทำหน้าที่จบแล้ว


 


แต่ผมติดใจในเหตุผลที่ใช้ในการอธิบายคำวินิจฉัยในประเด็นที่สำคัญๆ และมีผลต่อบรรทัดฐานของระบบกฎหมายไทยต่อไปภายหน้า เพราะมิได้อธิบายฐานที่มาแห่งอำนาจของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเองว่า เป็นการแต่งตั้งศาลพิเศษเฉพาะคดีที่เข้าข่ายเป็นการละเมิดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ของสหประชาชาติที่ไทยเป็นภาคีอยู่ด้วยหรือไม่ เพราะศาลรัฐธรรมนูญถูกยุบไปแล้ว คดีที่อยู่ในศาลรัฐธรรมนูญเดิมก็ควรจะตกไปตามกัน แต่กลับถูกรื้อฟื้นให้คืนชีพขึ้นมาใหม่เพื่อการนี้โดยเฉพาะ


 


แต่กลับไปอธิบายขยายความรับรองความชอบธรรมของคำสั่งที่ออกโดยคณะบุคคลที่ล้มล้างรัฐธรรมนูญว่า เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย และยังย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่บุคคลหรือคณะบุคคลอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากประเด็นดังต่อไปนี้


 


 


1) ประเด็นเกี่ยวกับประเพณีการปกครองของไทย


คำวินิจฉัยที่ 1-2/2550 หน้า 42 ใช้ถ้อยคำว่า "...เมื่อพิจารณาตามประเพณีการปกครองของประเทศไทยในอดีต เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยสิ้นสุดลงภายหลังการเข้ายึดอำนาจการปกครอง หากคณะผู้เข้ายึดอำนาจการปกครองไม่ประสงค์ให้กฎหมายที่มีเนื้อหาสาระเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ต่อไป ก็จะมีประกาศหรือคำสั่งให้ยกเลิก..."


 


ซึ่งเป็นการตีความกฎหมายโดยยึดหลัก "ประเพณี" แต่เป็นประเพณีของการยึดอำนาจตามแบบเผด็จการมิใช่ประเพณีของประชาธิปไตยแต่อย่างใด


 


 


2) ประเด็นเกี่ยวกับการยึดอำนาจการปกครองด้วยกำลังเป็นวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ


คำวินิจฉัยที่ 3-5/2550 หน้า 94 ใช้ถ้อยคำว่า "...ดังนั้น การได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงมิได้หมายความถึง การได้มาซึ่งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยการปฏิวัติรัฐประหารหรือยึดอำนาจการปกครองด้วยกำลัง ทำนองเดียวกับที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 65 ดังที่ผู้ถูกร้องที่ 1 กล่าวอ้างเท่านั้น...


 


ซึ่งก็แสดงว่า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเห็นว่า การทำรัฐประหารก็เป็นการได้มาซึ่งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ด้วยการยึดอำนาจการปกครองด้วยกำลังเป็นวิธีการที่มิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเช่นกัน แต่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็ยังพิจารณาคดีโดยอาศัยกฎหมายที่ออกโดยคณะบุคคลที่กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยตามข้อกล่าวหาเช่นเดียวกับผู้ถูกร้องเสียอีก


 


 


3) ประเด็นการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งย้อนหลัง


คำวินิจฉัยที่1-2/2550 หน้า 86 มีถ้อยคำว่า ...หลักการห้ามออกกฎหมายมีผลย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่บุคคลนั้น มีที่มาจากหลักที่ว่า ไม่มีกฎหมาย ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ แต่หลักการดังกล่าวใช้บังคับกับการกระทำอันเป็นความผิดอาญาเท่านั้น...แต่การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มิใช่โทษทางอาญา เป็นเพียงมาตรการทางกฎหมายที่เกิดจากผลของกฎหมายที่ให้อำนาจในการยุบพรรคการเมืองที่กระทำการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 เพื่อมิให้ผู้บริหารพรรคการเมืองที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมืองและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมีโอกาสที่จะกระทำการอันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายซ้ำอีกในช่วงเวลาหนึ่ง และแม้สิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนในสังคมที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่การมีกฎหมายกำหนดว่าบุคคลใดสมควรมีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้เหมาะสมแก่สภาพแห่งสังคมหรือเพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยในสังคมนั้นดำรงอยู่ย่อมมีได้...ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 27 ข้อ 3 จึงมีผลบังคับใช้ย้อนหลังกับการกระทำอันเป็นเหตุยุบพรรคในคดีนี้ได้..."


 


ซึ่งคงมีปัญหาตามมาว่า แล้วจะว่าอย่างไร หากต่อไปมีการดื้อตาใส ย้อนหลังไปยกเลิกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อเช็คบิลหรือนำตัวคนผิดมาลงโทษ เพราะเห็นว่า กฎหมายนิรโทษกรรมก็มิใช่กฎหมายอาญา เนื่องจากไม่มีการบัญญัติความผิดและโทษไว้ แต่เป็นเพียงกฎหมายที่ยกเว้นการจะต้องรับผิดเท่านั้น


 


ทั้งนี้ ก็อาจจะหมายรวมถึงความรับผิดทางแพ่ง ทางปกครอง ทางภาษี หรือทางวินัยด้วย ว่ามิใช่กฎหมายอาญาก็อาจออกย้อนหลังไปเป็นโทษได้เช่นกัน ซึ่งก็คงยุ่งดีพิลึก


 


กฎหมายย้อนหลัง หรือในภาษากฎหมายเรียกว่า ex post facto law นี้ ในรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาบัญญัติว่า No state shall pass any ex post facto law โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นคดีแพ่งหรืออาญา และโธมัส เจฟเฟอร์สันผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้ให้เหตุผลว่า กฎหมายย้อนหลังไม่เป็นธรรมกับสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ และกฎหมายย้อนหลังอาจมีโทษและผลร้ายได้แม้กระทั่งในคดีแพ่งมากเท่ากับคดีอาญา เมื่อตอนที่เขาร่างจึงจงใจละเว้นคำว่าแพ่งและอาญาเพื่อให้มีผลทางกว้างและไม่ก่อให้เกิดความอยุติธรรม


 


ในประเทศอื่น เช่น อิตาลี ก็บัญญัติว่า nobody can be punished but according to the law come into force before the deed was committed เช่นกัน


 


ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ มิได้หมายความว่าจะชักชวนหรือต่อต้านคำวินิจฉัยนี้ แต่เป็นการชี้ให้เห็นว่า ไม่มีความจำเป็นใดใดที่จะต้องอธิบายหรือขยายความไปจนทำให้เกิดเป็นนิติประเพณีใหม่ขึ้นมา


 


ที่สำคัญคือ แล้วจะให้คำตอบแก่ผู้ที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอย่างไร ว่านี่มิใช่การรับรองความชอบธรรมของประเพณีของการยึดอำนาจและรับรองความชอบธรรมของการทำรัฐประหารที่ละเมิดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายเช่นกันและเป็นกฎหมายสูงสุดเสียด้วยสิครับ


 


เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 6 มิถุนายน 2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net