Skip to main content
sharethis

ปิยบุตร แสงกนกกุล


 


 







หมายเหตุ


-          ผู้เขียนวิจารณ์คำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 3-5/2550 ก็เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ ไม่ได้มีเจตนาเป็นอย่างอื่น และไม่ได้มุ่งหมายให้มีผลทางการเมือง ด้วยตระหนักถึงคำยืนยันของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็ดี บรรดาผู้พิพากษา ตุลาการก็ดี ที่ว่า การวิจารณ์และให้ความเห็นทางวิชาการต่อคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ย่อมทำได้


-          หากบทความนี้พอมีประโยชน์อยู่บ้าง ขออุทิศความดีแด่บรรพชนผู้ร่วมอภิวัตน์ 24 มิถุนายน 2475 และสามัญชนผู้ยึดมั่นประชาธิปไตยทั้งหลาย

 







"Il suffit d'ajouter "militaire" à un mot pour lui faire perdre sa signification. Ainsi la justice militaire n'est pas la justice, la musique militaire n'est pas la musique."


 


"หากเราเพิ่มคำว่า "ทางทหาร" ต่อท้ายคำใด ก็เพียงพอแล้วที่ทำให้คำคำนั้นสูญเสียความหมายที่แท้จริงของมันไป ดังนั้น ความยุติธรรมทางทหาร จึงไม่ใช่ความยุติธรรม ดนตรีทางทหาร ก็ไม่ใช่ดนตรี"



 


                                                                                           จอร์จ เคลม็องโซ


 นักการเมืองฝ่ายซ้ายคนสำคัญของฝรั่งเศส


                                                                           อดีตนายกรัฐมนตรีสมัยสาธารณรัฐที่ 3


                                                                        ผู้ต่อต้านระบอบทหารและการล่าอาณานิคม



 



 


 


0 0 0


 


 


วันที่ 30 พฤษภาคม 2550 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 3-5/2550 ยุบพรรคไทยรักไทยและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี มีประเด็นวิจารณ์ทางกฎหมาย เพื่อประโยชน์แก่วิชาการ ดังนี้


 


 


1. การยอมรับอำนาจรัฐประหาร


ในระบบกฎหมายไทย มีคำพิพากษาศาลฎีกาหลายฉบับ ยอมรับการดำรงอยู่ของรัฐประหาร โดยถือหลักว่า เมื่อเริ่มแรก รัฐประหารเป็นสิ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย จนกระทั่งคณะรัฐประหารได้กระทำการจนสำเร็จและยึดอำนาจได้อย่างบริบูรณ์ สามารถยืนยันอำนาจของตนและปราบปรามอำนาจเก่าหรือกลุ่มที่ต่อต้านให้เสร็จสิ้น เมื่อนั้นคณะรัฐประหารก็มีสถานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจออกรัฐธรรมนูญใหม่หรือยกเลิกรัฐธรรมนูญเก่า ตลอดจนการออกกฎหมายและยกเลิกกฎหมายได้


 


กล่าวให้ถึงที่สุด ระบบกฎหมายไทยยอมรับความถูกต้องของรัฐประหารโดยพิจารณาจาก "อำนาจ" ในความเป็นจริงเป็นสำคัญ มากกว่าจะพิจารณาถึงความถูกต้องของ "กระบวนการได้มาซึ่งอำนาจ" นั่นเอง


 


ในโลกปัจจุบัน รัฐประหารเป็นของแปลกปลอมซึ่งไม่มีวันเข้ากันได้กับระบอบประชาธิปไตย คำว่า "ประชาธิปไตย" ไม่มีทางอนุญาตให้คณะรัฐประหารนำไปแอบอ้างเป็นอันขาด ประชาธิปไตยในแต่ละประเทศ อาจมีความแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด แต่ลักษณะร่วมกัน คือ อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน รัฐสภาและรัฐบาลมีฐานที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และรัฐประหารเป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น รัฐประหารที่อ้างว่าเป็นไปเพื่อประชาธิปไตยอันมีลักษณะเฉพาะของถิ่นใดถิ่นใดหนึ่ง แท้จริงแล้วเป็นการแอบอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมเท่านั้น


 


เมื่อคำนึงถึงเนื้อหาของประชาธิปไตยแล้ว น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่วงการตุลาการไทยละทิ้งโอกาสครั้งสำคัญในการกลับหลักตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาเดิมให้มาสอดคล้องกับประชาธิปไตย ตรงกันข้าม กลับตอกย้ำหลักการความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของคณะรัฐประหาร ให้แน่นหนาขึ้นไปอีก ดังปรากฏให้เห็นในกรณียืนยันถึงที่มาและอำนาจของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเองว่า "ต่อมาวันที่ 19 กันยายน 2549 ขณะที่คดีนี้อยู่ระหว่างผู้ถูกร้องทั้งสามยื่นคำชี้แจงข้อกล่าวหา คปค. เข้าทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ และมีประกาศ คปค. ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 ข้อ 1 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 สิ้นสุดลง และข้อ 2 ให้ศาลรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นอันสิ้นลงตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 แต่ต่อมามีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 ... การที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 มาตรา 35 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้มีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ และมาตรา 35 วรรคสี่ บัญญัติให้อรรถคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง โอนมาอยู่ในอำนาจและความรับผิดชอบของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ไม่ว่าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะเป็นศาลหรือองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการหรือไม่ก็ตาม" (คำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 3-5/2550 หน้า 39 - 40)


 


เนื้อหาในคำวินิจฉัยที่ตัดตอนมาข้างตน ไม่มีทางแปลความเป็นอื่นไปได้ นอกจากคณะตุลาการรัฐธรรมนูญยืนยันว่า ประกาศ คปค.ฉบับที่ 3 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 ซึ่งมาจากกระบอกปืนของคณะรัฐประหารนั้น ถูกต้องชอบธรรมทุกประการ อีกนัยหนึ่ง คือ ยอมรับให้คณะรัฐประหารมีอำนาจยกเลิกรัฐธรรมนูญได้ มีอำนาจยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญได้ มีอำนาจตั้งองค์กรเฉพาะกิจทำหน้าที่แทนศาลรัฐธรรมนูญได้ ตลอดจนมีอำนาจยกเลิกกฎหมายใดๆได้นั่นเอง


 


การยอมรับอำนาจรัฐประหารอย่างเต็มภาคภูมิของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ยังปรากฏให้เห็นอีกในการวินิจฉัยประเด็นผลบังคับใช้ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเมื่อรัฐธรรมนูญถูกยกเลิก ซึ่งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ยอมรับว่า คณะรัฐประหารมีอำนาจยกเลิกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือยืนยันให้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับต่อไป


 


ต่อประเด็นปัญหาเรื่องผลบังคับใช้ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเมื่อรัฐธรรมนูญถูกยกเลิก มีความเห็น 2 แนวทาง หนึ่ง รัฐธรรมนูญเป็นฐานที่มาของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญถูกยกเลิกไปแล้ว ก็เท่ากับว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต้องสิ้นผลตามไปด้วย เว้นแต่ว่าคณะรัฐประหารจะให้การรับรองหรือให้ความสมบูรณ์ (validation) แก่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญใด สอง รัฐธรรมนูญกับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแยกขาดจากกัน การรัฐประหารเป็นการกระทำที่มุ่งเปลี่ยนผู้ทรงอำนาจเท่านั้น หาได้มุ่งต่อระบบกฎหมายไม่ จริงอยู่ที่รัฐธรรมนูญให้กำเนิดกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ตัดขาดจากกัน ความสมบูรณ์ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นกับตัวของมันเอง ไม่ได้ขึ้นกับการดำรงอยู่ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเมื่อคณะรัฐประหารยกเลิกรัฐธรรมนูญไปแล้ว กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็ยังอยู่ต่อไป เว้นแต่คณะรัฐประหารจะไปยกเลิกภายหลัง (annulation)


 


คณะตุลาการรัฐธรรมนูญยืนยันตามแนวทางที่สอง โดยให้เหตุผลว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติทั่วไป เพราะ มีกระบวนการตราและแก้ไขเหมือนกัน มีกระบวนการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญเหมือนกัน การยกเลิกหรือทำให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญสิ้นผลใช้บังคับ จึงต้องใช้วิธีเดียวกัน คือ ต้องมีกฎหมายยกเลิก ประกอบกับพิจารณาจากประเพณีการปกครองของประเทศไทย เมื่อรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงภายหลังมีการยึดอำนาจ หากคณะผู้เข้ายึดอำนาจไม่ประสงค์ให้กฎหมายที่มีเนื้อหาเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับต่อไป ก็จะมีประกาศหรือคำสั่งให้ยกเลิก กรณีนี้ หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คณะรัฐประหารไม่ได้มีคำสั่งให้ยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ดังนั้นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 จึงมิได้สิ้นผลไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญ 2540 (ดูคำวินิจฉัย หน้า 47-49)


 


อย่างไรก็ตาม ประกาศ คปค ฉบับที่ 15 กำหนดให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มีผลใช้บังคับต่อไป และเน้นย้ำอีกครั้งในประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ว่าการยกเลิกรัฐธรรมนูญมิให้กระทบกระเทือนต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 การออกคำสั่งในลักษณะนี้ ย่อมหมายความว่า คณะรัฐประหารตีความตามแนวแรก เมื่อรัฐธรรมนูญถูกยกเลิกไปแล้ว ก็เท่ากับว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต้องสิ้นผลตามไปด้วย เมื่อคณะรัฐประหารยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2540 ในวันที่ 19 กันยายน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 ก็ต้องสิ้นผลไปในวันเดียวกัน แต่คณะรัฐประหารต้องการให้มีผลต่อ จึงตามมาให้การรับรองหรือให้ความสมบูรณ์ (validation) ด้วยประกาศฉบับที่ 15 และ 27 ดังนั้น ระหว่างวันที่ 19 กันยา จนถึงวันที่มีประกาศฉบับที่ 15 และ 27 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 จึงไม่มีผล


 


ความข้อนี้ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญบอกว่า ประกาศทั้งสองฉบับเป็นเพียงการยืนยันให้ชัดเจนของการมีผลใช้บังคับอยู่ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าก่อนหน้านั้น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองไม่มีผล แล้วจึงต้องมารับรองภายหลัง (ดูคำวินิจฉัย หน้า 50)


 


 


2. อำนาจยุบพรรคการเมืองของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ


ดังที่กล่าวมาแล้วว่าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้ยืนยันที่มาและอำนาจของตนเอง ด้วยการยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหารในการยุบศาลรัฐธรรมนูญเดิม และตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาทำหน้าที่แทน


 


เมื่อพิจารณาจากบริบท และช่วงเวลาแล้ว อาจกล่าวได้ว่า อำนาจสำคัญอำนาจหนึ่งของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารหยิบยื่นให้ด้วยความเต็มใจ คือ การยุบพรรคการเมือง ส่วนการควบคุมกฎหมายมิให้ขัดรัฐธรรมนูญ คงเป็นอำนาจเสริมเท่านั้น


 


การยุบพรรคการเมืองเป็นการกระทบสิทธิเสรีภาพพลเมืองอันสำคัญ จึงควรมอบให้เป็นอำนาจขององค์กรตุลาการในฐานะที่มีความเป็นกลางและอิสระ รัฐธรรมนูญ 2540 ก็ให้อำนาจนี้แก่ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจตุลาการ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเองก็ไม่ได้ยืนยันแน่ชัดว่าตนมีสถานะเป็นศาลหรือองค์กรผู้ใช้อำนาจตุลาการหรือไม่ หากบอกเพียงแค่ว่าคณะรัฐประหารโอนอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญมาให้แล้ว ตนจึงมีอำนาจยุบพรรคการเมือง เหตุผลเพียงเท่านี้ ย่อมไม่เพียงพอ


 


 


3. การกระทำของพล.อ.ธรรมรักษ์และนายพงษ์ศักดิ์ ถือเป็นการกระทำของพรรคหรือไม่ และเป็นเหตุให้ต้องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทุกคนหรือไม่


คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า 1.) พล.อ.ธรรมรักษ์และนายพงษ์ศักดิ์เป็นกรรมการบริหารพรรค และดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นรัฐมนตรีกระทรวงใหญ่ แสดงให้เห็นว่าเป็นบุคคลสำคัญของพรรค และได้รับความไว้วางใจอย่างยิ่งจากคณะกรรมการบริหารพรรคและหัวหน้าพรรค ย่อมต้องมีบทบาทในการบริหารงานและการดำเนินกิจการทางการเมืองขอพรรคอย่างสูง 2.) การกระทำของพล.อ.ธรรมรักษ์และนายพงษ์ศักดิ์ เชื่อได้ว่าเป็นการดำเนินการเพื่อมิให้เกิดปัญหาการเลือกตั้งที่ยืดเยื้อและไม่มีความแน่นอนว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด เพื่อให้พรรคไทยรักไทยกลับคืนสู่อำนาจได้โดยเร็ว 3.) พล.อ.ธรรมรักษ์และนายพงษ์ศักดิ์ ไม่ได้รับประโยชน์ใดๆเป็นการส่วนตัวจาการกระทำดังกล่าว แต่เป็นพรรคไทยรักไทยที่ได้ประโยชน์ 4.) พล.อ.ธรรมรักษ์ มีบทบาทสำคัญในการรับผิดชอบผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคในภาคอีสาน และเรื่องก็เกิดขึ้นในเขตเลือกตั้งภาคอีสาน และ 5.) นายจาตุรนต์เบิกความว่า ไม่มีการประชุมพรรคหลังจากพล.อ.ธรรมรักษ์และนายพงษ์ศักดิ์ถูกกล่าวหา ทั้งๆที่เป็นเรื่องที่กระทบต่อภาพลักษณ์ของพรรค (คำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 3-5/2550 หน้า 90-91)


 


จากข้อเท็จจริงดังกล่าว "เชื่อได้ว่า" การกระทำของพล.อ.ธรรมรักษ์และนายพงษ์ศักดิ์ ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารพรรค จึงถือเป็นการกระทำของพรรคและมีผลผูกพันพรรค


 


จริงอยู่ เราคงไม่อาจบอกได้ว่า การกระทำผิดของสมาชิกพรรค ต้องมีมติพรรคให้กระทำเท่านั้น จึงจะถือเป็นการกระทำของพรรคและผูกพันพรรค เพราะคงเป็นไปได้ยากที่พรรคจะมีมติให้สมาชิกไปกระทำผิด การพิสูจน์ว่าการกระทำใดถือเป็นการกระทำของพรรคจึงจำเป็นต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงอื่นและพยานหลักฐานแวดล้อมประกอบ ไม่ใช่พิจารณาที่ตัวมติพรรค


 


อย่างไรก็ตาม การนำข้อเท็จจริงเพียงว่าสมาชิกที่กระทำผิดเป็นกรรมการบริหารคนสำคัญ เป็นรัฐมนตรีตำแหน่งสำคัญ และการกระทำนั้นทำให้พรรคได้ประโยชน์แล้ว จึง "เชื่อได้ว่า" การกระทำนั้นเป็นการกระทำของพรรค ย่อมเป็นอันตรายต่อความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง และไม่สอดคล้องกับเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง อีกทั้ง คดีดังกล่าวยังส่งผลถึงการยุบพรรคและตัดสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งในทางการเมืองถือเป็นโทษที่รุนแรงที่สุด ยิ่งต้องตีความอย่างเคร่งครัดและพิสูจน์ให้สิ้นสงสัย


 


หากเดินตามคำวินิจฉัยนี้ ต่อไปภายหน้า สมาชิกพรรค 1-2 คน ไปกระทำความผิด ย่อมทำให้พรรคทั้งพรรคต้องล่มสลายไปหมด และสมาชิกพรรคทั่วประเทศต้องสูญหายไปหมด อย่างนั้นหรือ?


 


นอกจากนี้ ในคำวินิจฉัย ไม่ปรากฏข้อความใดเลยที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้พิสูจน์ว่ากรรมการบริหารพรรคทั้งหมดมีส่วนรู้เห็นกับการกระทำของพล.อ.ธรรมรักษ์และนายพงษ์ศักดิ์ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพียงยกข้อเท็จจริง 5 ข้อข้างต้น เพียงเท่านี้ แล้วคณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็ "เชื่อ" ทันทีว่าคณะกรรมการบริหารพรรค 100 กว่าคน รู้เห็นเป็นใจกับการกระทำของพล.อ.ธรรมรักษ์และนายพงษ์ศักดิ์ จึงต้องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคทุกคน


 


ลองพิจารณาด้วยใจเป็นธรรม เป็นไปได้หรือว่าเพียงข้อเท็จจริง 5 ข้อดังกล่าว แสดงว่ากรรมการ "ทุกคน" รู้และยินยอมให้พล.อ.ธรรมรักษ์และนายพงษ์ศักดิ์ไปกระทำการดังกล่าว?


 


เมื่อคำสั่ง คปค ฉบับที่ 27 มีโทษเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี ซึ่งเป็นโทษอันร้ายแรงที่สุดในทางการเมือง การวินิจฉัยลงโทษผู้ใด ยิ่งต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนและพิสูจน์ให้ปราศจากข้อสงสัย หากข้อเท็จจริงยังคลุมเครือ ไม่แน่ชัด ก็ต้องไม่เพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรคทุกคน แต่เพิกถอนเฉพาะผู้กระทำการและผู้ที่รู้เห็นเท่านั้น


 


การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคทุกคน โดยปราศจากข้อเท็จจริงอย่างแน่ชัดว่ากรรมการบริหารพรรคทั้ง 111 คนมีส่วนรู้เห็นกับการกระทำของ ย่อมไม่เป็นธรรมต่อกรรมการบริหารพรรค และกระทบต่อสิทธิทางการเมือง อันเป็นปัจจัยสำคัญของความเป็นพลเมือง


 


 


4. การกระทำที่เข้าเกณฑ์ตามมาตรา 66 (1) และ (3)


บรรทัดฐานทางกฎหมายมีโครงสร้าง 2 ส่วน ส่วนแรก คือ องค์ประกอบส่วนเหตุ ส่วนที่สอง คือ ผลในทางกฎหมายเมื่อองค์ประกอบส่วนเหตุครบถ้วน บทบัญญัติในมาตรา 66 (1) มีองค์ประกอบส่วนเหตุ คือ "กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ" ส่วนผลทางกฎหมาย ได้แก่ "อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง"


 


จะเห็นได้ว่า มาตรา 66 (1) มีองค์ประกอบส่วนเหตุเป็นถ้อยคำทางกฎหมายที่มีความหมายไม่เฉพาะเจาะจง อาจถกเถียงกันได้ว่าหมายความว่าอย่างไร คณะตุลาการรัฐธรรมนูญต้องตีความว่าอย่างไรจึงถือเป็น "การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย" อย่างไรจึงถือเป็น "การกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ" จากนั้นคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจึงปรับข้อเท็จจริงในคดีนี้ให้เข้ากับองค์ประกอบส่วนเหตุเหล่านั้น


 


จากคำวินิจฉัย คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้ตีความว่า "การได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หมายถึง การได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยความยินยอมพร้อมใจจากประชาชนส่วนใหญ่ที่แสดงออกในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะทำหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นเป็นายกรัฐมนตรี ... โดยกระบวนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังจะต้องเป็นไปโดยสุจริต เพื่อก่อให้เกิดความชอบธรรมในการเข้าสู่อำนาจของพรรคการเมืองนั้น ในทางตรงกันข้าม การได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยการเลือกตั้งที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือเป็นไปโดยไม่สุจริต ย่อมถือได้ว่า เป็นการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงมิได้หมายความถึง การได้มาซึ่งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ โดยการปฏิวัติรัฐประหารหรือยึดอำนาจการปกครองด้วยกำลังเท่านั้น" (ดูคำวินิจฉัย หน้า 93-94)


 


การตีความดังกล่าว นับเป็นการตีความหรือให้ความหมายเกินกว่าตัวอักษรอย่างยิ่ง คำว่า "การกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ" ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่า หมายถึง การใช้กำลังทหารยึดอำนาจ การรัฐประหาร ไม่ผ่านกระบวนการเข้าสู่อำนาจด้วยการเลือกตั้ง หากยึดถือตามการตีความของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ขยายความให้รวมไปถึง "การได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยการเลือกตั้งที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือเป็นไปโดยไม่สุจริต" แสดงว่า ต่อไปนี้ พรรคใดที่มีสมาชิกไปซื้อเสียงหรือไปกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือถูก กกต. วินิจฉัยให้ใบเหลือง-ใบแดง ก็ถือว่าพรรคนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงต้องยุบพรรค อย่างนั้นหรือ? ความข้อนี้ ย่อมเป็นอันตรายต่อความเป็นสถาบันของพรรคการเมือง และมุ่งบั่นทอนบอนไซไม่ให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง


 


กรณีนี้ จึง "เชื่อได้ว่า" คณะตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่ามีอะไรบ้าง แล้วจึงไปตีความหมายขยายความคำว่า "กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ" ออกไปให้สอดรับกับข้อเท็จจริง ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะ โดยหลัก ต้องตีความและให้ความหมายคำว่า "กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ" เสียก่อน จากนั้นจึงพิจารณาว่ามีข้อเท็จจริงใดบ้างที่ตรงกับความหมายดังกล่าว


 


มีข้อควรสังเกตว่า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญกล้าบอกว่าพรรคไทยรักไทยกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่กลับไม่กล้าหาญปฏิเสธรัฐประหาร อำนาจรัฐประหาร และการใช้อำนาจของคณะรัฐประหาร ทั้งๆที่รัฐประหาร โดยตัวของมันเองแล้ว เป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ


 


วิญญูชนพึงตรึกตรองเอาเองเถิดว่า อำนาจที่มาจากการรัฐประหาร กับ อำนาจที่มาจากการเลือกตั้งหลังจากยุบสภา อันไหนเป็นการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิถีทางตามรัฐธรรมนูญ และอันไหนไม่เป็น


 


อนึ่ง คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้กล่าวอย่างชัดเจนในคำวินิจฉัย หน้า 93 ว่า "การได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หมายถึง การได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยความยินยอมพร้อมใจจากประชาชนส่วนใหญ่ที่แสดงออกในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะทำหน้าที่พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นเป็นายกรัฐมนตรี..." จึงน่าคิดว่า หากมีผู้ใดริเริ่มกระบวนการจนเรื่องไปถึงคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาว่า รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร?


 


นอกจากนี้ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญยังวินิจฉัยว่าพรรคไทยรักไทยยังกระทำการเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ขัดต่อกฎหมาย และขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา 66 (3) อีกด้วย เพราะ พรรคไทยรักไทย "เข้าแทรกแซงบิดผันกระบวนการเข้าสู่อำนาจในการปกครองประเทศ เพื่อสร้างภาพลวงตาว่ามีการแข่งขันกันตามระบอบประชาธิปไตย ทั้งที่โดยเนื้อแท้มิได้เป็นเช่นนั้น ย่อมส่งผลให้ประชาธิปไตยสั่นคลอน ไม่มั่นคง ทำให้ประชาชนที่รู้ข้อเท็จจริง เสื่อมศรัทธาต่อระบบการเมือง อาจนำไปสู่การต่อต้านการใช้อำนาจปกครองโดยไม่ชอบธรรมของพรรคการเมือง" (คำวินิจฉัย หน้า 95) การให้เหตุผลในข้อนี้ ก็เป็นเพียงพรรณาโวหารไปในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ผู้ถูกร้องเท่านั้น ข้อเท็จจริงไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานคุณค่าทางกฎหมายที่มีน้ำหนักมากเพียงพอ


 


การปรับข้อเท็จจริงเรื่องการแก้ไขฐานข้อมูลสมาชิกพรรคและการจ้างวานสมาชิกพรรคขนาดเล็กให้ลงรับสมัครเลือกตั้ง ให้เข้ากับ "กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ" ก็ดี หรือให้เข้ากับ "กระทำการเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ขัดต่อกฎหมาย และขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน" ก็ดี เป็นความพยายามตีความให้ถ้อยคำ "กระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ" และ "กระทำการเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ ขัดต่อกฎหมาย และขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน" ขยายออกไปให้ถึงข้อเท็จจริง


 


 


5. เมื่อมีการกระทำตามมาตรา 66 (1) และ (3) แล้ว ควรยุบพรรคหรือไม่


ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ถ้ามีข้อเท็จจริงเข้ากับองค์ประกอบส่วนเหตุของมาตรา 66 แล้ว ผลทางกฎหมาย คือคณะตุลาการรัฐธรรมนูญอาจยุบพรรคการเมืองนั้นได้ คำว่า "อาจ" แสดงว่าจะยุบหรือไม่ยุบก็ได้ ในทางกฎหมาย เราเรียกว่า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมี "ดุลพินิจตัดสินใจ"


 


คณะตุลาการรัฐธรรมนูญใช้ดุลพินิจตัดสินใจให้ยุบพรรคไทยรักไทย เพราะ พรรคไทยรักไทย "ไม่อาจดำรงความเป็นพรรคการเมืองที่จะสร้างสรรค์และจรรโลงความชอบธรรมทางการเมืองแก่ระบอบการปกครองของประเทศโดยรวมได้อีกต่อไป" โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า "การยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 มีสาเหตุมาจากเรื่องส่วนตัวของหัวหน้าพรรค" การผลักดัน พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของครอบครัว แสดงให้เห็นว่า "หัวหน้าพรรคผู้ถูกร้องที่ 1 มีอำนาจเหนืออุดมการณ์ของพรรคอย่างเด็ดขาดในการกำหนดความเป็นไปของพรรค" อีกทั้งการกำหนดวันเลือกตั้งภายหลังยุบสภาเพียง 37 วันนั้น "เป็นการช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง" และ "ทำให้พรรคการเมืองฝ่ายค้านทั้งสามพรรคนำมาเป็นข้ออ้างในการไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง" นอกจากนี้พรรคไทยรักไทยยังทำให้ "การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นเพียงแบบพิธีที่จะนำไปสู่การผูกขาดอำนาจทางการเมือง" แสดงให้เห็นว่า "มิได้ให้ความสำคัญหรือเห็นคุณค่าของสิทธิเลือกตั้งของประชาชน" และ "ยังแสดงถึงการไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง" ยิ่งไปกว่านั้นยังบ่งชี้ได้ว่าพรรคไทยรักไทย "มิได้มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่มุ่งพัฒนาประเทศชาติเพื่อให้คนในชาติมีความสุขทั่วหน้า" แต่ "มุ่งประสงค์เพียงดำเนินการในทุกวิถีทางเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ นอกเหนือไปจากครรลองที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศตลอดจนกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง" (คำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 3-5/2550 หน้า 97-99)


 


หากตัดถ้อยคำพรรณาโวหารเพื่อโน้มน้าวให้บุคคลทั่วไปเห็นในทางไม่เป็นคุณต่อพรรคไทยรักไทยออกไป (ตั้งแต่ประโยคที่ว่า "แต่ผู้ถูกร้องที่ 1 กลับทำให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ..." จนถึง "... กรณีจึงมีเหตุอันควรยุบพรรคผู้ถูกร้องที่ 1" ในหน้า 99-100) แล้วสกัดข้อเท็จจริงที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญนำมาประกอบการใช้ดุลพินิจตัดสินใจยุบพรรค พบว่ามี 3 ข้อเท็จจริงที่ใช้เป็นเหตุผล ดังนี้


 


หนึ่ง การยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 มีสาเหตุมาจากเรื่องส่วนตัวของหัวหน้าพรรค


 


ในทางทฤษฎี การยุบสภาเป็นกลไกการถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ใช้ในกรณีมีความขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ปัจจุบันทฤษฎีนี้ไม่ได้การยอมรับในปัจจุบัน เพราะ ฝ่ายบริหารและเสียงข้างมากในฝ่ายนิติบัญญัติเป็นพวกเดียวกัน การยุบสภาจึงเปลี่ยนบทบาทมาเป็นเครื่องมือในการคืนอำนาจสู่ประชาชน เมื่อมีประเด็นปัญหาขัดแย้งกันในระดับชาติ หรือมีวิกฤตการณ์บางอย่าง ยิ่งไปกว่านั้น ในอังกฤษและฝรั่งเศส ระยะหลัง การยุบสภา ทำไปด้วยเหตุผลทางเทคนิคล้วนๆเพื่อกำหนดปฏิทินการเมืองและการเลือกตั้งให้สอดคล้องกับสถานการณ์


 


กล่าวสำหรับฝรั่งเศส ประธานาธิบดีเดอโกลล์ ยุบสภาในปี 1968 เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งกรณีพฤษภาคม 1968 ที่มีการชุมนุมประท้วงและนัดหยุดงานทั่วประเทศ, ประธานาธิบดีมิตแตรองด์ยุบสภาในปี 1981 และ 1988 เพื่อเรียกร้องให้ประชาชนเลือก ส.ส.ฝ่ายซ้ายพวกเดียวกับตนเอง อันเป็นประโยชน์ต่อเสถียรภาพของการบริหารประเทศ, ล่าสุดประธานาธิบดี ชีรัค ยุบสภาในปี 1997 เพราะเกิดการชุมนุมประท้วงและนัดหยุดงานเพราะไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีจุ๊ปเป้


 


ในทางปฏิบัติ เมื่อพิจารณาจากประวัติศาสตร์การเมืองไทย รัฐบาลเกือบทุกชุด ล้วนแล้วแต่ยุบสภาเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง โดยไม่ได้มีเหตุความขัดแย้งระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับคณะรัฐมนตรี ย้อนไปไม่ไกลนัก รัฐบาลชวน หลีกภัย รอบ 2 ก็ยุบสภาในขณะที่อีกไม่กี่วันสภาจะครบวาระ 4 ปี ทั้งๆที่สภานั้นเป็นสภาที่ไม่มีพรรคฝ่ายค้านอยู่นานหลายเดือน ย้อนไปให้ไกลขึ้น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็เคยยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อหลบเลี่ยงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล


 


ถามว่าการยุบสภาจะถูกศาลหยิบยกใช้เป็นเหตุผลทางกฎหมายได้หรือไม่? การยุบสภาเป็นการกระทำในทางการเมืองโดยแท้ ซึ่งหลุดพ้นจากการตรวจสอบโดยองค์กรตุลาการในทุกกรณี องค์กรตุลาการไม่มีอำนาจตรวจสอบว่าการยุบสภามีเหตุผลเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร เมื่อปีที่แล้ว ศาลปกครองก็เคยสั่งไม่รับฟ้องเรื่องการยุบสภานี้ เมื่อการยุบสภาเป็นเรื่องการเมือง การที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญนำประเด็นเหตุการยุบสภามาประกอบการพิจารณาว่าควรยุบพรรคไทยรักไทยหรือไม่ จึงเป็นการนำข้อเท็จจริงที่มีคุณค่าทางการเมืองมาใช้พิจารณาประเด็นทางกฎหมาย


 


สอง การผลักดัน พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจของครอบครัว แสดงให้เห็นว่าหัวหน้าพรรคมีอำนาจเหนืออุดมการณ์ของพรรคอย่างเด็ดขาดในการกำหนดความเป็นไปของพรรค


 


จริงอยู่มีข้อเคลือบแคลงใจอยู่ว่ารัฐบาลทักษิณ ผลักดันกฎหมายนี้ ในช่วงเวลาที่เหมาะเจาะเพื่อเอื้อประโชน์แก่ธุรกิจของครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ข้อสงสัยนี้ก็เป็นข้อกล่าวหาทางการเมือง และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสาธารณชน แต่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ตามกระบวนการทางกฎหมาย คณะตุลาการรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจนำข้อเท็จจริงที่มีลักษณะทางการเมืองอยู่มาใช้พิจารณาได้ นอกจากนี้คณะตุลาการรัฐธรรมนูญยังยอมรับอีกว่าประเด็นดังกล่าวนำมาจากความเห็นของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ฉบับลงวันที่ 8 มกราคม 2550 (ดูคำวินิจฉัยในหน้า 97) ซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับผู้ถูกร้องในคดีอย่างชัดเจน


 


สาม การกำหนดวันเลือกตั้งภายหลังยุบสภาเพียง 37 วัน เป็นการช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง และทำให้พรรคการเมืองฝ่ายค้านทั้งสามพรรคนำมาเป็นข้ออ้างในการไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง


 


โดยหลัก นอกจากการยุบสภาจะเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีแล้ว การกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ก็เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีอีกเช่นกัน เพียงแต่นายกรัฐมนตรีต้องหารือกับ กกต. ในฐานะผู้ทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งเสียก่อน นายกรัฐมนตรีมีดุลพินิจในการกำหนดวันเลือกตั้งใหม่วันใดก็ได้ ภายใน 60 วันนับแต่ยุบสภา


 


เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงเมื่อต้นปีที่แล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้เหตุผลว่าที่ต้องกำหนดให้เลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน เพราะ ต้องการเลือกตั้งให้ได้ ส.ส. และจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยก่อนพระราชพิธีเฉลิมฉลองการครองราชย์ 60 ปี แล้วเหตุใดคณะตุลาการรัฐธรรมนูญไม่นำเหตุผลที่ พ.ต.ท.ทักษิณ อ้าง มาประกอบการพิจารณาด้วย


 


นอกจากนี้ หากพิจารณาประวัติศาสตร์การเมืองไทย การกำหนดให้มีการเลือกตั้ง ในระยะเวลาไม่นานหลังยุบสภา หรือ ระยะเวลาพอๆกันกับ 37 วัน ก็ไม่ใช่ไม่เคยปรากฏมาก่อน


 


"จึงฟังได้ว่า" การกล่าวอ้างของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในประเด็นต้องวินิจฉัยข้อ 11 (หน้า 96 - 100) เป็นเพียงพรรณนาโวหารเพื่อให้ไปสู่ผล โดยปราศจากพยานหลักฐานทางกฎหมายมารองรับ ข้อเท็จจริงที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญหยิบยกขึ้นมาประกอบดุลพินิจตัดสินใจ ก็เป็นลักษณะคุณค่าทางการเมือง หาใช่คุณค่าทางกฎหมายไม่ เช่น เหตุแห่งการยุบสภา การกำหนดวันเลือกตั้ง การไม่ลงเลือกตั้งของพรรคฝ่ายค้าน


 


โดยหลักแล้ว การให้เหตุผลประกอบคำวินิจฉัยต้องเป็นภาววิสัย กล่าวคือ เหตุผลที่หยิบยกมานั้น วิญญูชนทั่วไปเห็นตรงกันว่าเป็นเหตุเป็นผลและยอมรับได้ หรือเป็นมาตรฐานในสายตาของวิญญูชน แต่เมื่อพิจารณาจากเหตุผลที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญหยิบยกมา มีความเป็นภาววิสัยน้อยมาก คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเพียงแต่พรรณนาว่ากล่าวไปในทางร้าย แล้วก็ตีขลุมเอาดื้อๆว่า พรรคไทยรักไทย "ไม่อาจดำรงความเป็นพรรคการเมืองที่จะสร้างสรรค์และจรรโลงความชอบธรรมทางการเมืองแก่ระบอบการปกครองของประเทศโดยรวมได้อีกต่อไป" จึงมีเหตุอันสมควรยุบพรรคไทยรักไทย


 


เมื่อเหตุผลที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญใช้อ้างเป็นเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่มีคนกล่าวว่า คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็คือคำอภิปรายไม่ไว้วางใจพรรคไทยรักไทยนั่นเอง


 


เพื่อความชัดเจน ลองเปรียบเทียบกับตัวอย่างต่อไปนี้


 


สมมติว่า เส้นชัยมีสองสี ดำกับขาว นาย ก. ชอบสีดำ มีคำตอบในใจแล้วว่าอย่างไรต้องเอาสีดำ นาย ก. ก็พยายามดั้นด้นไปให้ถึงสีดำให้ได้ ไม่ว่าหนทางจะเคี้ยวคด และไกลกว่าระยะทางอื่นก็ตาม ในขณะที่ นาย ข. พิจารณาศึกษาเส้นทางการเดินทางอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว เห็นว่าระยะทางไปหาสีขาวสะดวกกว่า จึงเลือกทางไปหาสีขาว


 


วิญญูชนลองตรึกตรองดูเถิดว่า คำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในประเด็นต้องวินิจฉัยข้อ 11 (หน้า 96 - 100) เหมือนกรณีนาย ก.หรือกรณีนาย ข.


 


 


6. การห้ามออกกฎหมายมีผลย้อนหลังอันเป็นผลร้าย


หลักการห้ามออกกฎหมายมีผลย้อนหลังอันเป็นผลร้าย เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ระบบกฎหมายหลายประเทศยอมรับอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม หลักการห้ามออกกฎหมายมีผลย้อนหลังอันเป็นผลร้าย ได้ขยายความออกไป จากเดิมจำกัดเฉพาะกฎหมายอาญาเท่านั้นที่ห้ามบังคับใช้ย้อนหลัง แต่ปัจจุบัน ยังรวมไปถึงกฎหมายอื่นๆที่เป็นผลร้ายอีกด้วย


 


ในนิติรัฐ นอกจากหลักความชอบด้วยกฎหมายแล้ว ยังมีอีกหลักการหนึ่งที่อยู่เคียงคู่กันไป คือ หลักการคุ้มครองความเชื่อถือไว้วางใจในกฎหมาย หลักการดังกล่าวเรียกร้องว่า บุคคลที่อยู่ภายใต้อำนาจรัฐ ต้องได้รับหลักประกันจากรัฐว่า บุคคลสามารถเชื่อมั่นในความคงอยู่ของกฎหมาย กฎเกณฑ์ คำสั่ง หรือการตัดสินใจใดๆของรัฐ โดยไม่ถูกยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไม่เป็นธรรมและปราศจากเหตุผล


 


หลักการคุ้มครองความเชื่อถือไว้วางใจในกฎหมาย (Le principe de confiance légitime) ปรากฏในระบบกฎหมายหลายประเทศ เช่น เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส กรีซ และสหภาพยุโรป เป็นต้น โดยนำไปบังคับใช้ทั้งในระดับรัฐธรรมนูญและกฎหมายปกครองในฐานะหลักกฎหมายทั่วไป และผูกมัดทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายปกครอง เช่น การไม่มีผลย้อนหลังของกฎหมาย การไม่มีผลย้อนหลังของคำสั่งทางปกครอง การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองต้องคำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้รับคำสั่งและผู้เกี่ยวข้องได้รับไปแล้วโดยสุจริต ความรับผิดของรัฐในกรณีออกกฎหมายและคำสั่งที่ส่งผลเสียต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นกรณีเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นต้น


 


เมื่อพิจารณาหลักการห้ามออกกฎหมายมีผลย้อนหลังอันเป็นผลร้าย ประกอบกับหลักการคุ้มครองความเชื่อถือไว้วางใจในกฎหมายแล้ว เราอาจสรุปได้ดังนี้


๑.      ห้ามออกกฎหมายที่มีโทษทางอาญาย้อนหลังไม่ว่ากรณีใด


๒.      การออกกฎหมายอันเป็นผลร้ายย้อนหลัง อาจทำได้ในกรณีที่ไม่ใช่กฎหมายอาญา แต่ต้องทำในกรณียกเว้นเป็นอย่างยิ่ง เฉพาะจำเป็นและเพื่อประโยชน์สาธารณะ


๓.      การออกกฎหมายย้อนหลังดังกล่าว ต้องออกโดยองค์กรนิติบัญญัติ


๔.     การออกกฎหมายย้อนหลังดังกล่าว ต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่ใช่มุ่งหมายกับบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ


๕.     ในกรณีที่ออกกฎหมายย้อนหลังเพื่อประโยชน์สาธารณะ แล้วบังเอิญเกิดผลเสียต่อบุคคลกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด ต้องมีการเยียวยาหรือชดใช้ความเสียหายให้แก่บุคคลกลุ่มนั้นด้วย


 


จากเงื่อนไขดังกล่าว นำมาพิจารณากับคำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 3-5/2550 ได้ดังนี้


 


1. คณะตุลาการรัฐธรรมนูญยืนยันว่า "หลักการห้ามออกกฎหมายมีผลย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่บุคคลนั้น มีที่มาจากหลักการที่ว่า ไม่มีกฎหมาย ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ แต่หลักการดังกล่าวใช้บังคับกับการกระทำอันเป็นความผิดอาญาเท่านั้น" แต่ "การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมิใช่โทษทางอาญา เป็นเพียงมาตรการทางกฎหมายที่เกิดจากผลของกฎหมายที่ให้อำนาจยุบพรรคการเมือง" ย่อมมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้ (ดูคำวินิจฉัยหน้า 102-103)


 


ความข้อนี้ก็น่าคิดอีกว่า การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนั้น เป็นโทษร้ายแรงในทางการเมือง เป็นการลดความเป็นพลเมือง ทำให้ไม่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งในทุกระดับ ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในทุกระดับ ไม่มีสิทธิเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่มีสิทธิเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย ไม่มีสิทธิลงประชามติ เช่นนี้ จะพิจารณาได้หรือไม่ว่าการออกกฎหมายเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งให้มีผลย้อนหลัง ก็ควรต้องห้ามในทุกกรณีเหมือนโทษทางอาญา หากยึดหลักตามที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญยืนยัน คงเป็นเรื่องประหลาด หากการออกกฎหมายให้มีผลย้อนหลังเพื่อเพิ่มโทษปรับจากเดิม 200 บาทเป็น 500 บาท ไม่สามารถทำได้ แต่การออกกฎหมายให้มีผลย้อนหลังโดยมีเนื้อหาเปลี่ยนโทษทางวินัยจากพักราชการเป็นปลดออก หรือเพิ่มอัตราภาษีอีกร้อยละ 10 หรือกำหนดโทษเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง กลับสามารถทำได้


 


2. สมมติยึดตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาแบบเดิมๆว่า การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ใช่โทษอาญา จึงมีผลย้อนหลังได้ ก็ต้องมาพิจารณาต่อว่าผลร้ายย้อนหลังนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือไม่ หากเป็น ก็ต้องนำมาพิจารณาว่าประโยชน์สาธารณะที่ได้รับได้สัดส่วนกับผลร้ายที่เกิดขึ้นกับบุคคลหรือไม่


 


คณะตุลาการรัฐธรรมนูญเห็นว่า การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี ก็เพื่อ "มิให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมืองและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย มีโอกาสที่จะกระทำการอันเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายซ้ำอีกในช่วงระยะเวลาหนึ่ง" และ "แม้สิทธิเลือกตั้งเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนในสังคมที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่การมีกฎหมายกำหนดว่าบุคคลใดสมควรมีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้เหมาะสมแก่สภาพแห่งสังคม หรือเพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยในสังคมนั้นดำรงอยู่ ย่อมมีได้" (คำวินิจฉัย หน้า 103)


 


ประโยชน์ที่ได้จากการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี ย้อนหลังไปตามที่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญกล่าวมานั้น น่าคิดว่าเป็นประโยชน์สาธารณะหรือไม่? และประโยชน์สาธารณะเช่นว่านั้นได้สัดส่วนกับสิทธิของบุคคลที่สูญเสียไปหรือไม่? ก็ในเมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์แวดล้อมที่คณะรัฐประหารซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาลเก่าและพรรคไทยรักไทย (ก่อการรัฐประหารเขา ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามีลักษณะเป็นปฏิปักษ์กันอย่างแน่นอน) ประกอบกับช่วงเวลาที่คณะรัฐประหารยึดอำนาจแล้ว ก็ออกประกาศนี้ออกมา โดยในช่วงเวลานั้นมีคดีเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองที่ค้างอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญเพียงคดีของ 5 พรรคนี้เท่านั้น จึงเป็นที่เคลือบแคลงสงสัยอย่างยิ่งว่า ประโยชน์จากประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ข้อ 3 เช่นว่านั้น เป็นประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ของคณะรัฐประหารกันแน่? เมื่อพิจารณาในแง่ประโยชน์แล้วก็ยังมิแจ้งชัด แล้วประโยชน์เช่นว่าจะไปได้สัดส่วนกับการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปีซึ่งเป็นการลิดรอนสิทธิอย่างร้ายแรง ได้อย่างไร


 


3. แล้วประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 ออกโดยองค์กรนิติบัญญัติหรือไม่? คำพิพากษาศาลฎีกาหลายฉบับ ยืนยันว่าประกาศหรือคำสั่งของคณะรัฐประหารมีสถานะเป็นกฎหมาย เพราะคณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ย่อมมีอำนาจออกกฎหมายใช้บังคับได้


 


สมมติว่าเรายึดตามหลักการดังกล่าว ก็ต้องพิจารณาต่อว่า คณะรัฐประหารซึ่งประกอบไปด้วยบุคคลไม่กี่คน ไม่มีฐานที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ใช้ปืนเข้ามายึดอำนาจ และเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นในสภาวะ "อปกติ" เช่นนี้ ย่อมไม่สมควรให้มีอำนาจในการออกกฎหมายที่มีผลย้อนหลังอันเป็นผลร้ายหรือลิดรอนสิทธิเสรีภาพอันสำคัญ


 


4. ประกาศ คปค ฉบับที่ 27 ไม่ได้ออกเป็นการทั่วไป อาจอ้างว่า ใน ข้อ 3 นั้น ไม่ได้ระบุให้ใช้กับคดีของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง แต่เมื่อพิจารณาถึงช่วงเวลาของการออกประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ในขณะนั้น มีคดีเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองที่ค้างอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญเพียงคดีของ 5 พรรคนี้เท่านั้น จึง "เชื่อได้ว่า" ประกาศ คปค.ฉบับที่ 27 ข้อ 3 นี้ ต้องการใช้บังคับกับพรรคการเมืองทั้ง 5 พรรคนั่นเอง


 


กรณีที่ศาลไทยและนักกฎหมายส่วนใหญ่ยึดถือและท่องจำกันตลอดมาว่า "ห้ามใช้กฎหมายมีผลย้อนหลังเป็นผลร้าย เฉพาะกรณีกฎหมายอาญา" นับเป็นเรื่องล้าสมัยและควรถึงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง แต่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญก็ยังคงยืนกรานตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาเดิมๆ โดยไม่คำนึงถึงหลักการคุ้มครองความเชื่อถือไว้วางใจในกฎหมาย


 


หากคิดว่าหลักกฎหมายเหล่านี้สลับซับซ้อน ก็ลองคิดง่ายๆว่า หากวันหนึ่งเราตัดสินใจกระทำการบางอย่างบางประการ ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นความผิดหรือมีโทษ (ไม่ว่าจะอาญาหรือไม่ก็ตาม) วันข้างหน้า มีกฎหมายกำหนดให้การกระทำนั้นถือเป็นความผิดและมีโทษ (ไม่ว่าจะอาญาหรือไม่ก็ตาม) และให้มีผลย้อนหลังไปใช้บังคับการกระทำที่เกิดขึ้นก่อนออกกฎหมายนี้ด้วย วิญญูชนพิจารณาแล้ว กฎหมายนี้เป็นธรรมหรือไม่?


 


ตัวอย่างดังกล่าว อาจไกลตัวเกินไป ลองเปลี่ยนตัวอย่างให้เกี่ยวข้องมากขึ้น


 


สมมติว่า วันหนึ่ง มีการออกพระราชบัญญัติ กำหนดให้ผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่วินิจฉัยคดีโดยใช้และตีความกฎหมายผิดเพี้ยนหรือสร้างหลักการประหลาด อาจถูกปลดให้พ้นจากตำแหน่งได้ ถ้าเกษียณอายุไปแล้ว ก็ให้ตัดเงินบำเหน็จบำนาญ ทั้งนี้ไม่ว่าการวินิจฉัยนั้นจะเกิดก่อนหรือหลังพระราชบัญญัตินี้ ต่อมา มีกระบวนการกล่าวหาว่า ตุลาการกลุ่มหนึ่งที่ร่วมกันวินิจฉัยในคดีหนึ่งเมื่อ 10 ปีที่แล้วว่า ได้ร่วมกันสร้างหลักการประหลาดในระบบกฎหมายไทย นำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติภูมิต่อนักกฎหมายและบรรพตุลาการ ศาลที่ทำหน้าที่พิจารณาคดีเห็นด้วยกับข้อกล่าวหา เพราะการปลดออกจากตำแหน่งผู้พิพากษาและการตัดเงินบำเหน็จบำนาญไม่ใช่โทษทางอาญา ย่อมมีผลย้อนหลังได้ จึงวินิจฉัยให้ปลดผู้พิพากษาศาลฎีกาและตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่เคยร่วมวินิจฉัยคดีดังกล่าวออกจากตำแหน่ง


 


ถามว่า ในสายตาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน คำวินิจฉัยในคดีสมมตินี้ชอบด้วยหลักนิติรัฐและเป็นธรรมหรือไม่ พระราชบัญญัติสมมตินี้ชอบด้วยหลักนิติรัฐและเป็นธรรมหรือไม่? หากคำตอบคือไม่ ฉันใดฉันนั้น ประกาศ คปค ฉบับที่ 27 ข้อ 3 และคำวินิจฉัยที่ 3-5/2550 ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 5 ปี ก็ย่อมขัดกับหลักนิติรัฐและไม่เป็นธรรมดุจกัน


 


 


7. นิรโทษกรรมผู้บริหารพรรค 111 คน?


ภายหลังคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทยและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 5 ปี มีกระแสข่าวว่า คณะรัฐประหารอาจผลักดันให้มีการนิรโทษกรรมให้แก่กรรมการบริหารพรรค ต่อประเด็นดังกล่าว มีข้อควรพิจารณา ดังนี้


 


หนึ่ง การนิรโทษกรรม หมายความว่า มีการกระทำใดเป็นความผิดเสียก่อน จึงมีการยกเว้นความผิดและนิรโทษกรรมตามมา ดังเช่น กรณีรัฐประหาร ในขณะที่ลงมือรัฐประหาร ณ เวลานั้น ยังคงมีบทบัญญัติที่กำหนดให้รัฐประหารเป็นความผิดและไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นธรรมเนียมมักง่าย ที่หลังจากยึดอำนาจแล้วคณะรัฐประหารจะเขียนบทบัญญัติเพื่อยกเว้นความผิดของการกระทำรัฐประหาร


 


การนิรโทษกรรมเรื่องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี จึงเกิดประเด็นปัญหาตามมาว่า จะยอมรับตรงกันหรือไม่ว่า กรรมการบริหารพรรคทั้งหมดกระทำความผิดจริง กล่าวให้ไกลกว่านั้น คือ จะยอมรับนับถือว่าคำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีค่าบังคับทางกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเกี่ยวพันอย่างแยกไม่ออกกับประเด็นปัญหาทางนิติปรัชญา


 


สอง หากยอมให้คณะรัฐประหารนิรโทษกรรม นั่นก็หมายความว่า คณะรัฐประหารมีอำนาจเด็ดขาด และถืออาญาสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียว จะทำอะไรก็ได้ ออกกฎกติกาใดๆก็ได้ ต่อไปใครว่าอะไร คณะรัฐประหารไม่พิใจก็ออกกฎหมายมาประหัตประหารได้โดยชอบ และยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าบ้านเมืองนี้ มีกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยว และไม่ประกันสิทธิให้แก่ประชาชน หากวันไหน คณะรัฐประหารต้องการลงโทษใคร ก็ออกคำสั่งตั้งคณะตุลาการพิเศษมาจัดการ หากวันไหน เจรจาผลประโยชน์ต้องตรงกันหรือประนีประนอมยอมความกันได้ ก็ยกเลิกโทษนั้นเสียดื้อๆ


 


สาม หากยึดถือกันตามธรรมเนียบมปฏิบัติแบบไทยๆที่ว่า ประกาศและคำสั่งของคณะรัฐประหาร มีค่าบังคับทางกฎหมาย ก็ต้องพิจารณาว่าประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 มีสถานะเทียบเท่ารัฐธรรมนูญ? หรือเทียบเท่าพระราชบัญญัติ? หรือมีสถานะเพียงกฎของฝ่ายบริหาร? แล้วอำนาจวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจในระดับใด อำนาจในระดับรัฐธรรมนูญ หรืออำนาจทางปกครอง? การออกกฎหมายมา "ลบ" คำวินิจฉัยที่ 3-5/2550 ต้องออกโดยกฎหมายในระดับใด? แล้วหากถือกันว่าคำวินิจฉัยที่ 3-5/2550 เป็นผลิตผลจากอำนาจตุลาการ การออกกฎหมายซึ่งเป็นผลิตผลจากอำนาจนิติบัญญัติ จะสามารถทำได้หรือไม่ มีเงื่อนไขอย่างไร


 


0 0 0


 


เมื่อพรรคไทยรักไทยเป็นผลิตผลของทักษิณ ชินวัตร และเป็นกลไกหนึ่งของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร


 


เมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในวันที่ 19 กันยายน 2549


 


เมื่อคำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ วันที่ 30 พฤษภาคม 2535 ยุบพรรคไทยรักไทย และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 5 ปี อันเปรียบเสมือนการประหารชีวิตทางการเมืองของพรรคไทยรักไทยและสมาชิกอย่างแท้จริง


 


จึงอาจ "เชื่อได้ว่า" คำวินิจฉัยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญนี้เสมือนเป็นรัฐประหารซ้ำอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้รัฐประหาร 19 กันยายน เบ็ดเสร็จเด็ดขาด และกำจัดปฏิปักษ์ทางการเมืองของคณะรัฐประหารให้สิ้นซาก


 


คณะตุลาการรัฐธรรมนูญไม่อาจปฏิเสธได้ว่าตนเพียงแต่ทำตามหน้าที่ ก็ในเมื่อประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 ที่ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 5 ปี ออกมาภายหลังเพื่อใช้กับคดียุบพรรค แล้ว ณ เวลานั้นมีเพียงคดีของ 5 พรรคการเมืองนี้เท่านั้นที่ค้างอยู่ในสารบบความ เมื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีโอกาสในการปฏิเสธประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 แล้ว แต่ไม่ทำ ตรงกันข้ามกลับยอมรับบังคับใช้อย่างเต็มภาคภูมิ เช่นนี้แล้ว จะไม่ให้ "ฟังได้ว่า" คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตกเป็นกลไกหนึ่ง -ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ก็ตาม- ในการร่วมมือกับคณะรัฐประหาร ได้อย่างไร


 


หากยังยืนยันว่าคณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีหน้าที่เพียงเท่านี้ วินิจฉัยอย่างไรก็เป็นอันยุติ แล้วคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะไม่ตระหนักสักนิดเลยหรือว่า การตัดสินแบบนี้ได้ส่งผลกระทบต่อหลักกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมอย่างไร


 


จะเป็นเช่นไร หากมีการตอบโต้กันไปมาด้วยการออกกฎหมายให้มีผลย้อนหลังอันเป็นผลร้ายเพื่อขจัดศัตรู เพราะเมื่อคุณยืนยันแล้วว่า ฝ่ายที่มีอำนาจทำได้ วันข้างหน้า หากอีกฝ่ายหนึ่งกลับมามีอำนาจบ้าง เขาก็ต้องคิดว่าเขาทำได้เหมือนกัน


 


นี่เป็นผลเสียระยะยาว จากการที่คณะรัฐประหาร ซึ่งปรารถนาเป็นเผด็จการรุ่นใหม่ สวมเสื้อคลุมประชาธิปไตย (ซึ่งอย่างไรแล้ว เนื้อแท้ก็เป็นเผด็จการ) จึงพยายามสร้างกลไกทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และยืมมือกลไกเหล่านั้นในการปราบปรามศัตรูทางการเมือง


 


เมื่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเข้าผสมโรงกับรัฐประหาร -ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ก็ตาม- แล้วเราจะเหลือองค์กรตุลาการใดที่รับประกันหลักนิติรัฐได้อีกเล่า


 


เป็นอันว่าต่อไป ผู้ใดมีอำนาจ ผู้ใดมีอาวุธ ผู้นั้นจะกำหนดกฎหมายอย่างไรก็ได้ ผู้นั้นจะกำหนดความถูกผิดอย่างไรก็ได้ อย่างนั้นหรือ


 


คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 จึงไม่เพียงแต่ทำให้พรรคไทยรักไทยตายเท่านั้น...


 


หากยังทำให้ตุลาการตายไปจากนิติรัฐและประชาธิปไตยอีกด้วย


 


ฤาวันนี้ไม่มีนิติรัฐในประเทศไทย


 


 


..................


ที่มาของภาพหน้าแรก : AFP

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net