Skip to main content
sharethis










ประชาไท, 4 มิ.ย. 50 - หลังการปักหลักชุมนุมที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีประณามการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำต่อประชาชนมลายูในพื้นที่เป็นเวลากว่า 5 วัน ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานว่าเมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. วานนี้ (4 มิ.ย.) กลุ่มผู้ชุมนุมหลายพันคนที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี นำโดยเครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน ได้ประกาศสลายตัวโดยตั้งขบวนที่หน้ามัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เคลื่อนไปยังถนนสาย 42 บริเวณบ้านดือราแฮ ตำบลตะลุโบ๊ะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร จากนั้นได้แยกย้ายกันขึ้นรถกลับภูมิลำเนา


สลายชุมนุมแล้วโดยสงบ ยันถ้ารัฐเบี้ยวจะมากันอีก


ระหว่างการเคลื่อนขบวน มีการปราศรัยระบุว่า เป็นการชุมนุมเพื่อร้องขอความเป็นธรรมจากหลายกรณีที่เกิดจากความไม่สงบในพื้นที่ รวมทั้งขอบคุณชาวบ้านที่ไม่ขัดขวางการชุมนุมที่มัสยิด สลับกับการร้องเพลงให้กำลังใจ พร้อมกับแจกจ่ายแถลงการณ์ให้ประชาชนทั้งสองข้างทาง


โดยแถลงการณ์ระบุสาเหตุของการสลายการชุมนุมว่า รัฐได้รับข้อเสนอให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในหลายกรณีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอคำสั่งแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรี หากขั้นตอนการลงนามในคำสั่ง ไม่เป็นไปตามข้อตกลง เครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน จะนัดชุมนุมใหญ่อีกครั้ง เพื่อผลักดันให้บรรลุข้อตกลงที่ให้ไว้


สำหรับผลการเจรจาที่มีการบันทึกไว้ในข้อตกลงระบุว่า ทางจังหวัดปัตตานีได้รับข้อร้องเรียนจากเครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชนทั้ง 10 ข้อ เช่น ให้ถอนทหารและทหารพรานออกจากพื้นที่ ให้ยกเลิกกฎอัยการศึก และยกเลิกประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการณ์ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น ส่วนข้อเรียกร้องที่ประชาชนเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เป็นผู้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริง


โดย สถาบันข่าวอิศรา รายงานว่า คณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงเหตุความไม่เป็นธรรม ประกอบด้วยที่ปรึกษา จำนวน 3 คน ได้แก่ นายโสภณ สุภาพงษ์ นายสุรสีร์ โกศลนาวิน และนางจิราพร บุนนาค


ส่วนคณะกรรมการประกอบไปด้วย ประธานคณะกรรมการอิสลามจว.ปัตตานี นายดือราแม มะมิงจิ ทำหน้าที่ประธานกรรมการ ส่วนคณะกรรมการคนอื่นๆประกอบด้วย 1.นายมูฮำหมัด อาลี เด็งนิ 2.นายต่วนดานียา ตูแวแมแง 3.นายอับดุลเลาะ อับรู 4.นายอับดุลอาซิ ตาเดอินทร์ 5.นายแพทย์อนันตชัย ไทยประทาน 6.นายอาดีลัน อาลีอิสเฮาะ 7.อนันต์ ไทยสนิท 8.นายนิรมาน สุไลมาน 9.นางอังคณา นีละไพจิต 10.นางโซรยา จามจุรี 11.นารี เจริญผลพิริยะ 12.สมชาย สัตยวัน 13.พล.ต.ต.จำรูญ เด่นอุดม 14.นางรอซิดะห์ ปูซู 15.นายอิสมาแอ ซาและ 16.นายอดุลย์ หวันสกุล 17.อนุกูล อาแวปูเตะ 18.นายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง 19.นายเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ 20.ผู้แทนศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ ฯ สภาทนายความ 21.ผู้แทนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 22.ตัวแทนผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี 4 จังหวัด 23.ผู้แทนอัยการทั้ง 4 จังหวัด 24.ผู้แทนของทหารในพื้นที่ 4 จังหวัด 25.ผู้แทนศอ.บต. 26.หัวหน้าศูนย์เยียวยา 4 จังหวัด 27.ประธานกรรมการอิสลาม อีก 3 จังหวัด 28.หัวหน้าพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด 4 จังหวัด 29.ผู้แทนผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด 4 จังหวัด


ทั้งนี้ คณะกรรมการชุดดังกล่าว ถูกปรับลดจากเดิมที่เสนอไว้ 45 คน เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2550


เป็นที่น่าสังเกตว่า ระหว่างการสลายตัวของกลุ่มผู้ชุมนุม ทางฝ่ายทหารได้แจกใบปลิวของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ชี้แจงข้อเท็จจริงในกรณีฆ่า 4 ศพ และข่มขืนฆ่า ที่บ้านซาลาแป อำเภอยะหา จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 มีเนื้อหาว่าเหตุการณ์ฆ่าข่มขืนเป็นเรื่องไม่จริง กลุ่มที่ลงมือไม่ใช่ทหารพราน เป็นการแอบอ้างโดยแต่งกายคล้ายกับทหารพราน


นายตูแวดานียา ตูแวแมแง ประธานเครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชน เปิดเผยว่า สาเหตุที่สลายการชุมนุม เนื่องจากบรรลุเป้าหมาย ที่ต้องการให้สังคมรับรู้ถึงความเดือดร้อน และความเป็นธรรมที่ชาวบ้านในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับ สำหรับคณะกรรมการฯ ที่จะตั้งขึ้น ต้องมีความเป็นกลางและเป็นอิสระอย่างแท้จริง หากมีแนวโน้มไม่เป็นอิสระ และชาวบ้านผู้บริสุทธิ์ถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐอีก เครือข่ายนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชนจะจัดชุมนุมใหญ่อีกครั้ง


"การชุมนุมครั้งนี้ ไม่ผิด เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย และชาวบ้านไม่รู้วิธีการ พวกผมจึงลงมาช่วยจัดการให้ หากจะจัดชุมนุมกันอีกครั้ง ก็สามารถระดมคนได้ทันที" นายตูแวดานียา กล่าว


หลังการสลายการชุมประมาณ 3 ชั่วโมง จึงมีการเปิดสัญญาณโทรศัพท์มือถือตามปกติ


"อังคณา"บุกสอบข้อเท็จจริงปมฆ่าข่มขืน


นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมาธิการศึกษาและสอบสวน เปิดเผยว่า เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 3 มิถุนายน 2550 ได้มีโอกาสพูดคุยสอบถามข้อเท็จจริงจากญาติผู้เสียหาย กรณีมีกลุ่มชายฉกรรจ์บุกสังหารชาวบ้าน และข่มขืนฆ่าสตรีมุสลิมวัย 21 ปี รวม 4 ศพ ที่บ้านซาลาแป ซึ่งทางกลุ่มผู้ชุมนุมระบุว่า ทหารพรานเป็นผู้ก่อเหตุ


นางอังคณา เปิดเผยต่อไปว่า ในเบื้องต้นข้อเท็จจริงที่รับฟังจากญาติ สอดคล้องกับการให้ปากคำของญาติผู้เสียหาย ที่อยู่ในที่เกิดเหตุอีกคน ที่ตนได้สอบถามทางโทรศัพท์มาก่อนหน้านี้ ที่ระบุตรงกันว่า มีกลุ่มผู้ชายชุดดำ ใส่รองเท้าคอมแบ็ทและหมวกไหมพรมปิดหน้า บุกเข้าไปกราดยิง ก่อนที่จะทำร้ายและข่มขืนฆ่าสตรีมุสลิม เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตรวม 4 คน


นายอังคณา กล่าวว่า กรณีนี้มีประจักษ์พยานบุคคลอยู่ในเหตุการณ์ แต่ยังขาดหลักฐาน ที่จะพิสูจน์ได้ว่า กรณีนี้มีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ทราบว่าผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ ญาติได้ฝังโดยไม่มีการอาบน้ำศพ จึงคิดว่าคงไม่ยากที่จะแสวงหาหลักฐานได้ ตนได้เน้นย้ำให้ผู้เสียหายเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม เพราะฉะนั้น ผู้เสียหายจะต้องให้ความร่วมมือในการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่


ตั้งกรรมการอำนวยความยุติธรรมชายแดนใต้


ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลัง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ไปยัง พล.ท.วิโรจน์ บัวจรูญ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 และนายพระนาย สุวรรณรัฐ ผู้อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยทั้งสองหน่วยงานได้รายงานถึงสถานการณ์ความมั่นคง รวมไปถึงการชุมนุมที่มัสยิดกลางปัตตานี ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภา 2550


แม่ทัพภาคที่ 4 ชี้แจงว่า มีการทำความเข้าใจและชี้แจงพูดคุยกับผู้ชุมนุมด้วยเหตุด้วยผล พร้อมทั้งได้รับความร่วมมือจากทางผู้นำทางศาสนาในพื้นที่ด้วย โดยกลุ่มผู้ชุมนุมยังคงเคลื่อนไหวด้วยความสงบ


ร.อ.นพ.ยงยุทธ แถลงอีกว่า ทางกอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการความยุติธรรมภาคประชาชนขึ้นมา โดยมีตัวแทนจากภาครัฐ ประชาชน ผู้นำศาสนาทั้ง 3 จังหวัด รวมถึงตัวแทนสถานบันการศึกษาเข้าร่วม ลงนามโดยแม่ทัพภาคที่ 4 นายกรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นแนวทางที่ดีและถูกต้อง ที่ทุกฝ่ายจะได้เจรจาหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ร่วมกัน


รถไฟตกรางที่ปัตตานี


เมื่อเวลาประมาณ 07.25 น. วันที่ 3 มิถุนายน 250 เกิดเหตุรถไฟขบวนที่ 456 วิ่งระหว่างยะลา - นครศรีธรรมราช ตกรางระหว่างสถานีนาประดู่ - ปัตตานี ในพื้นที่ตำบลป่าบอน อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี มีผู้โดยสารและพนักงานได้รับบาดเจ็บ 12 คน สาเหตุจากมีคนร้ายถอดหมุดยึดรางรถไฟ


นอกจากนี้ คนร้ายยังได้ถอดหมุดยึดรางรถไฟ ระหว่างสถานีรถตาเซะ - กองทราย และระหว่างสถานีตาเซะ - ยะลา ส่วนเส้นทางรถไฟระหว่างสถานีไม้แก่น - รามัน คนร้ายใช้ยางรถยนต์เผาไม้หมอนจนไหม้ และถอดหมุดยึดราง 4 ตัว บริเวณสะพานบนเส้นทางเดียวกัน คนร้ายได้ถอดหมุดยึดรางอีกหลายตัว รวมทั้งยังพบกล่องต้องสงสัย มีสายไฟโผล่ออกมาวางอยู่ใต้สะพาน ทำให้ขบวนรถไฟทั้งขาขึ้นและขาล่องจากสถานีหาดใหญ่ - สถานีสถานีสุไฟโก-ลก ต้องหยุดวิ่ง 24 ขบวน


นายทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์การเดินรถภาคใต้ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ของการรถไฟฯ พร้อมกองกำลังในพื้นที่ได้เข้าเคลียร์และซ่อมแซมจุดเกิดเหตุทั้งหมด ความเสียหายเบื้องต้นกว่า 10 ล้านบาท เนื่องจากหัวรถจักรได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก ต้องเปลี่ยนรางใหม่ 8 เส้น และหมอนรองอีก 150 ต้น การซ่อมแซมต้องใช้เวลาประมาณ 2 วัน และทำได้เฉพาะกลางวันเท่านั้น โดยจะนำเครื่องจักรกลหนักจากจังหวัดชุมพร มายกหัวรถจักร และกู้ตู้รถไฟ คาดว่าจะเปิดบริการได้ตามปกติในวันที่ 7 มิถุนายนนี้


นายทนงศักดิ์ระบุว่า โดยรถพิเศษช่วยอันตรายจากจังหวัดชุมพรที่เข้ามาสมทบจะเริ่มยกตู้โบกี้ในวันที่ 5 มิ.ย. สำหรับผู้โดยสารการรถไฟฯ จะเปิดจำหน่ายตั๋วโดยสารจากกรุงเทพฯ-หาดใหญ่และหาดใหญ่-กรุงเทพฯ เท่านั้น


สำหรับผู้ได้รับบาดเจ็บได้แก่ ด.ช.ชรินทร์ จีนเป็น นางสายพัน หอมคำแพทย์ ด.ช.อโนทัย หอมคำแพทย์ น.ส.อุไรรัตน์ ปทุมวัชรมาตร นายกิติ ปานเกศรินทร์ น.ส.เปมิกา รัตน์นิยม นางปานศรี รัตนสุทน นางยุพา ศรีภูเรือง นางอรุณสรี มณีโชติ นางอุไร สินพัฒนนุกูล และ ร.ต.ต.ไพโรจน์ นันฐพงษ์ ทั้งหมดเข้าสรักษาตัวที่โรงพยาบาลปัตตานี


สหภาพรถไฟหาดใหญ่ขอทัพภาค 4 คุ้มกัน


นายสุพิเชฐ สุวรรณชาตรี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย สาขาหาดใหญ่ เปิดเผยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคนร้ายหันมาพุ่งเป้าก่อกวนรถไฟใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกครั้ง ทางสหภาพรถไฟฯ หาดใหญ่ ขอเรียกร้องให้กองทัพภาคที่ 4 กำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยให้รัดกุมยิ่งขึ้น ตามที่มีข้อตกลงกันไว้ แม้ที่ผ่านมาจะจัดกำลังดูแลความเรียบร้อยตลอดเส้นทางใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างดี แต่ยังมีช่องว่างให้คนร้ายลงมือได้


สำหรับเหตุร้ายรายวัน ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเวลา 07.20 น. วันเดียวกัน เกิดเหตุระเบิดศาลาที่พักริมทาง ถนนสายโรงเรียนตากใบ - บ้านหัวคลอง หมู่ 4 ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต


ต่อมา เวลา 08.50 น. คนร้ายลอบวางระเบิด แล้วใช้อาวุธสงครามถล่มยิง เจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยครูโรงเรียนบ้านลาเวง ที่ถนนสายกะดี - ละเวง หมู่ 3 ตำบลเชิงคีรี อำเภอศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส เจ้าหน้าที่รับบาดเจ็บ 3 นาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net