Skip to main content
sharethis

รอมฎอน ปันจอร์


 


"เรายึดหลักสันติประชาธรรมในการชุมนุม จะไม่มีการยั่วยุให้มีการใช้ความรุนแรงใดๆ" ตูแวดานียา ตูแวมือแง ประธานเครือข่ายนิสิตนักศึกษาเพื่อพิทักษ์ประชาชนเปิดเผยระหว่างการให้สัมภาษณ์ใต้ร่มไม้ในเขตมัสยิดกลาง อันเป็นสถานที่ปักหลักชุมนุมมาเป็นวันที่ 3 แล้วของพวกเขา


 


 


 


 


ตูแวดานียา เปิดเผยว่า ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้มีเป็นกิจกรรมของนักศึกษามุสลิมที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ 4 - 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันประกอบด้วย ปัตตานี นราธิวาส ยะลา สตูล และสงขลา และกระจายตัวไปศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้งในพื้นที่และที่ส่วนกลาง ที่ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่มาตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา และต่างให้ความสนใจและเป็นกังวลต่อสถานการณ์ที่นับวันจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ


 


การเปิดเผยโดยการให้สัมภาษณ์ครั้งดังกล่าวมีขึ้นใต้ร่มไม้ในเขตรั้วของมัสยิดกลางปัตตานีก่อนที่จะมีวงเจรจาในช่วง 16.00 น.ของวันนี้ (2 มิ.ย.) ระหว่างตัวแทนภาครัฐกับตัวแทนนักศึกษากลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งมีเขาเป็นประธานเพียงไม่กี่ชั่วโมง หลังจากที่การชุมนุมก่อนหน้านี้ นอกจากจะมีแถลงการณ์ในวันแรกๆ แล้ว พวกเขาและชาวบ้านที่เข้าร่วมชุมนุมแทบจะปิดตัวเองจากการให้สัมภาษณ์ โดยปล่อยให้การเคลื่อนไหวครั้งนี้ถูกอธิบายผ่านเจ้าหน้าที่รัฐเสียเป็นส่วนใหญ่


 


เขาระบุว่า แม้นักศึกษาจะติดตามสถานการณ์มาโดยตลอดแต่ก็ยังไม่มีการเคลื่อนไหวอะไรมาก เพราะต่างก็ถูกจับตามองจากฝ่ายทางการมาโดยตลอดว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ ซึ่งที่จริงแล้วตนขอชี้แจงว่าตนในฐานะประธานเครือข่ายฯ ไม่ได้มีการติดต่อหรือประสานงานใดๆ จากกลุ่มดังกล่าว


 


"ผมไม่รู้จักหรอกว่าพวกเขาเป็นใคร และไม่อยากรู้จักด้วย" ตูแวดานียากล่าว


 


อย่างไรก็ตาม เขาให้ความเห็นว่า สถานการณ์ในระยะหลังมานี้เริ่มมีการเคลื่อนไหวของชาวบ้านในลักษณะการชุมนุมเกิดขึ้นหลายครั้ง แต่ที่ผ่านมาประชาชนไม่มีพลังเพียงพอให้ที่จะเรียกร้องความยุติธรรมจากรัฐได้ ประกอบกับสังคมต่างก็เรียกร้องให้พลังนักศึกษาแสดงออก จึงนำมาสู่การพูดคุยกันระหว่างนักศึกษากลุ่มต่างๆ ในแต่ละสถาบันเพื่อหาหนทางในการช่วยเหลือชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นองค์การนักศึกษา ม.รามคำแหง เครือข่ายนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิมและตกลงกันว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่นักศึกษาน่าจะแสดงบทบาทรับใช้สังคม


 


เขาเล่าว่า ก่อนหน้านี้ตัวแทนจากเครือข่ายนิสิตนักศึกษาไทยมุสลิมได้เคยลงพื้นที่เพื่อสอบข้อเท็จจริงกรณีการกราดยิงปอเนาะควนหรันที อ.สะบ้าย้อย โดยได้สัมภาษณ์ทั้งชาวบ้าน เด็กปอเนาะ และเจ้าของปอเนาะและได้รับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว จุดเริ่มต้นของการทำกิจกรรมจึงอยู่ที่สิ่งที่ไปรับรู้


 


ตูแวดานียา ระบุว่า ต้นเหตุของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้เริ่มต้นจากข้อมูลที่เขาและเพื่อนนักศึกษารับรู้คือมีการสังหารชาวบ้านที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ ต.ปะแต อ.ยะหา จ.ยะลา จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตรวม 4 คน โดยหนึ่งในนั้นคือหญิงสาววัย 21 ปี ที่ถูกฆ่าข่มขืนต่อหน้าต่อตาผู้เป็นแม่ซึ่งรอดชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งดังกล่าวได้อย่างหวุดหวิดและได้นำเรื่องราวดังกล่าวมาเล่าให้ชาวบ้านคนอื่นๆ ฟัง


 


"เหตุการณ์นี้เป็นเหมือนการจุดประกายหรือจุดชนวนให้เพื่อนๆ นักศึกษามีความรู้สึกว่าอยากจะช่วยชาวบ้านเรียกร้องความเป็นธรรม จึงคิดที่จะทำกิจกรรมพาเพื่อนนักศึกษาลงพื้นที่"


 


เขาระบุว่า เดิมทีกิจกรรมในครั้งนี้วางโครงการไว้ว่าจะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค. จนถึงวันที่ 5 มิ.ย. โดยจะมีกิจกรรมเสวนาที่เชิญนักสิทธิมนุษยชน ทนายความ และนักวิชาการมาให้ความรู้กับนักศึกษาและชาวบ้านที่เข้าร่วม หลังจากนั้นจะลงพื้นที่อย่างเช่น บันนังสตา สะบ้าย้อย และยะหา เพื่อพูดคุยกับชาวบ้านและกล้บมาสรุปข้อมูลร่วมกัน พร้อมทั้งจัดทำข้อเสนอเพื่อยื่นต่อผู้ใหญ่ที่มีบทบาทในการแก้ปัญหาต่อไป ทั้งนี้ ตูแวดานียา ระบุว่า นักศึกษาที่เข้าร่วมจะเป็นนักศึกษาในสถาบันต่างๆ ในกรุงเทพฯ และในพื้นที่


 


แม้ว่าในขณะนี้ จะมีการปฏิเสธจากองค์กรนักศึกษาหลายแห่งว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุมครั้งนี้ ตูแวดานียา ชี้แจงว่า จริงๆ แล้วกลุ่มของเขาได้ประสานงานติดต่อเพื่อนนักศึกษาแล้วและได้รับการตอบรับอย่างดี โดยเฉพาะองค์การนักศึกษา ม.รามคำแหง (อศ.มร.) ก็ได้รับการตอบรับจากนายกองค์การฯ ด้วยว่าจะเดินทางมาเข้าร่วมกิจกรรม แต่สาเหตุที่บอกปัดในตอนหลัง น่าจะเป็นเหตุมาจากมีการเมืองภายในผลักดัน


 


ประธานเครือข่ายฯ ระบุว่า พวกเขาเลือกใช้มัสยิดกลางปัตตานีดำเนินกิจกรรม เนื่องจากเห็นว่าสถานที่ดังกล่าวถือเป็นศูนย์กลางในเมืองปัตตานี นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ประวัติศาสตร์ที่เคยมีการชุมนุมใหญ่เมื่อปี 2518 จากกรณีประท้วงการสังหารชาวบ้านที่สะพานกอตอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวก็มีพยานผู้รอดเหตุการณ์เหมือนในกรณีที่เกิดขึ้นที่ปะแตในครั้งนี้


 


อย่างไรก็ตาม ตูแวดานียา ซึ่งเคยเป็นรองนายกองค์การบริหารนักศึกษา ม.รามคำแหง (อศ.มร.) ปี 2549 ระบุว่า หลังจากเริ่มกิจกรรมได้เพียงวันเดียวก็มีชาวบ้านจากหลายพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรม โดยวิเคราะห์ว่าน่าจะมาจากการบอกเล่าปากต่อปากว่ามีนักศึกษามาจัดกิจกรรม ประกอบกับความอึดอัดใจที่ชาวบ้านบางแห่งถูกกระทำต่างๆ นานา จนกลายเป็นการชุมนุมในที่สุด


 


การชุมนุมครั้งดังกล่าวจึงนำไปสู่ข้อเรียกร้อง 10 ข้อในวันแรก


 


แต่ถึงขณะนี้ เมื่อมีการชุมนุมยืดเยื้อเข้าสู่วันที่ 3 เสบียงที่ใช้หุงหาอาหารเริ่มร่อยหรอลงทุกวัน ตูแวดานียา ประเมินว่า ทางการคงจะไม่สามารถทำตามข้อเรียกร้องดังกล่าวได้หมด ต่อจากนี้ก็จะขึ้นอยู่กับความสมัครใจของชาวบ้านและเพื่อนนักศึกษาที่จะร่วมชุมนุมต่อไปหรือไม่


 


ด้วยเหตุนี้ ทางเครือข่ายฯ จึงออกแถลงการณ์อีก 10 ข้อใหม่ เพื่อรองรับการสลายการชุมนุมในเร็วๆ นี้ โดยมีเนื้อหาอาทิเช่น จะต้องรับรองความปลอดภัยของนักศึกษาและประชาชนที่มาร่วมชุมนุมอย่างสงบ รับรองความปลอดภัยของทีมเจรจา ไม่เอาผิดกับผู้ชุมนุมและเจ้าของรถที่ขนย้ายประชาชน เป็นต้น นอกจากนี้ ตูแวดานียา ยังย้ำด้วยว่า พวกเขายังคงต้องการให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีที่ชาวบ้านถูกกระทำเพื่อให้ความยุติธรรมต่อชาวบ้าน


 


"เราสนับสนุนที่ทหารจะอยู่ในพื้นที่ไหนก็ได้ทั้งประเทศ แต่ทหารจะต้องไม่ทำร้ายประชาชน รัฐบาลจะต้องให้ความเป็นธรรม" เขากล่าวในตอนท้าย


 


แม้ว่าผลการเจรจาต่อจากนั้น ในเบื้องต้นจะได้ข้อสรุปว่า เจ้าหน้าที่จะไม่ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมเนื่องจากยึดหลักสิทธิในการแสดงความคิดเห็น พร้อมทั้งจะเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมอิสระเพื่อตรวจสอบกรณีต่างๆ ที่ถูกระบุว่าชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมจะประชุมหารือเพื่อการกำหนดช่วงเวลาในการสลายการชุมนุม แต่ถึงกระนั้น สถานการณ์การชุมนุมยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง ไปพร้อมๆ กับการเฝ้าระวังเหตุร้ายต่างๆ ของเจ้าหน้าที่อย่างเข้มงวด


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net