Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 1 มิ.ย. 50 รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับรายการข่าวภาคเที่ยงของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี กรณีตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษายุบพรรคและตัดสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี ของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคพลังแผ่นดินไทย และพรรคพัฒนาชาติไทย ว่า เขาได้เคยเขียนบทความแสดงความเห็นไว้เมื่อเดือนตุลาคม 49 หลังจากประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 27 แล้วว่า การตรากฎหมายย้อนหลังซึ่งส่งผลร้ายต่อบุคคลไม่สามารถกระทำได้


รศ.ดร.วรเจตน์ กล่าวต่อว่า แม้วันนี้เมื่อตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว ความเห็นของเขายังคงเป็นอย่างเดิม เนื่องจากกฎหมายที่บังคับใช้ในขณะที่ระบุว่ามีการกระทำผิดนั้น กำหนดผลร้ายที่สุดเพียงแค่ว่า ห้ามกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบพรรคตั้งพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมตั้งพรรคขึ้นใหม่ นอกจากนี้ คดีนี้ยังเป็นคดีที่ค้างอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญก่อนการยึดอำนาจของ คปค. และประกาศของ คปค. ที่ให้เพิ่มโทษตัดสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค 5 ปี


ต่อข้อถกเถียงว่าระบบกฎหมายตราย้อนหลังได้หรือไม่นั้น รศ.ดร.วรเจตน์ มีความเห็นว่า โทษทั้งหลายที่เป็นผลร้ายต่อบุคคล ไม่สามารถตราเพื่อบังคับย้อนหลังได้ การตัดสิทธิเลือกตั้ง 5 ปีเป็นโทษรุนแรงที่พรากความเป็นพลเมืองไปจากบุคคลที่ถูกลงโทษ หากต้องการกำหนดโทษควรตรากฎหมายขึ้นก่อน ไม่ใช่ให้เหตุการณ์เกิดขึ้น เปลี่ยนแปลงไม่ได้และจบไปแล้ว


"หากการตรากฎหมายย้อนหลังทำได้แม้ไม่ใช่โทษทางอาญา เมื่อมีบุคคลทำผิด อาจมีโทษได้หลายประการ อาทิ ลดบำเหน็จบำนาญ กักบริเวณ หรือปรับเป็นแสน ความยุติธรรมของกฎหมายจะไม่มี จะไม่ใช่เรื่องของเหตุผล แต่เป็นเรื่องอำนาจ ถ้าเช่นนั้นก็ไม่ควรศึกษานิติศาสตร์กัน เพราะเขียนกฎหมายอย่างไรก็ได้" รศ.ดร.วรเจตน์ กล่าวและว่า เขามีความเห็นทางวิชาการว่า คำวินิจฉัยส่วนนี้เป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้อง ตัดสินไม่ได้


ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่าเรื่องนี้จะเป็นบรรทัดฐานหรือไม่ รศ.ดร.วรเจตน์ ตอบว่า ไม่ โดยเห็นว่ากฎหมายมีผลไปข้างหน้า นอกจากนี้ ในประกาศ คปค. ก็ไม่ได้ประกาศเอาไว้ว่าจะมีผลย้อนหลัง จึงต้องใช้ตั้งแต่ 30 ก.ย. ที่ออกประกาศ


รศ.ดร.วรเจตน์ กล่าวว่า ไม่คิดว่า (การตัดสินครั้งนี้) เป็นบรรทัดฐาน เป็นการตัดสินเฉพาะในคดีนี้ เป็นตุลาการรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งรับโอนคดีมาจากศาลรัฐธรรมนูญซึ่งสิ้นสภาพไปหลังรัฐธรรมนูญ 40 ถูกฉีก ซึ่งไม่ถูกหลักแต่แรกอยู่แล้ว


ทั้งนี้ เห็นว่า การตัดสินครั้งนี้น่าจะส่งผลต่อการเรียนการสอน เพราะต่อไปจะมีนักกฎหมายจำนวนหนึ่ง เชื่อ และสอนว่า การตรากฎหมายย้อนหลังทำได้หากไม่ใช่โทษอาญา


"ด้วยความเคารพ มันอธิบายไม่ได้ มันมีโทษที่แรงกว่าโทษอาญาเสียอีก แม้แต่การปรับเป็นเงิน 500 บาท เรายังรับกันว่าตรากฎหมายย้อนหลังไม่ได้ แล้วทำไมโทษนี้ถึงยอมรับได้ ถ้าเกิดรับว่า ตรากฎหมายย้อนหลังได้ ก็ต้องบอกว่า โทษอาญาก็ทำได้ด้วย และถ้าโทษอาญารับว่าทำไม่ได้ โทษที่มันหนักกว่านั้นตามสามัญสำนึกธรรมดายิ่งต้องทำไม่ได้" รศ.ดร.วรเจตน์ กล่าว


ผู้สื่อข่าวถามว่า กรรมการบริหารพรรคที่ถูกตัดสิทธิเลือกตั้งจะสามารถยื่นอุทธรณ์ได้หรือไม่ รศ.ดร.วรเจตน์ กล่าวว่า จากตัวกฎหมาย ถ้าเรายอมรับว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวเป็นกฎหมายสูงสุดและมีสภาพบังคับ ถ้ายอมรับว่าตุลาการรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจารณาคดี สภาพทางกฎหมายก็จะเด็ดขาดไป ไม่สามารถอุทธรณ์ได้  


"(คดี) เป็นอันปิดตายแล้ว แม้เป็นธรรมหรือไม่เป็นธรรมก็ตาม จึงเรียนว่ากระทบกับทางหลักนิติศาสตร์เป็นสำคัญ ส่วนตัวเคารพตุลาการรัฐธรรมนูญ แต่ยอมรับคำวินิจฉัยเรื่องนี้ไม่ได้ โดยเฉพาะประเด็นตัดสิทธิเลือกตั้งย้อนหลังของทุกพรรค" รศ.ดร.วรเจตน์ กล่าว


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net